เมื่อวานนี้ พร สิทธิอำนวย ยังเป็น Tycoon ที่มีกิจการมีทรัพย์สินเป็นพันๆ
ล้าน
และเมื่อไม่นานมานี้เมื่อกลุ่มตึกดำของ สุธี นพคุณ มลายหายจากวงการไป ทุกคนก็ยังเชื่อว่า
พร สิทธิอำนวย อยู่ได้ เพราะฐานเขาแข็งและหลักเขาดี
พร สิทธิอำนวย มีหลักที่ดีมาก นอกจากจะมีประสบการณ์งานที่ดีแล้ว พื้นฐานการศึกษายังประเสริฐสุดอีกด้วย
มีตั้งแต่ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโตเกียว โท จาก London School of Economics
และ MBA จาก Harvard
และวันนี้ พร สิทธิอำนวย กลายเป็นคนไม่มีอะไรแล้วเมื่ออาณาจักร PSA ของเขาพังลงเหมือนปราสาททรายที่ถูกน้ำทะเลเซาะทลายลงไป
ทุกคนก็งงและถามว่า "เกิดอะไรขึ้น"
บางคนที่ผมรู้จักเตือนผมมาว่า ผมไม่ควรเขียนเรื่อง พร สิทธิอำนวย เพราะว่าผมเคยเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดเขามากที่สุดคนหนึ่ง
บางคนบอกว่าถ้าผมเขียนมันจะเป็นลักษณะ "Bad Taste" ไป
ผมชั่งใจอยู่นานและในที่สุดก็ตัดสินใจจะเขียนด้วยเหตุผลหลายประการ
และเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็อยู่ตรงที่ว่าพรเองเป็นเหมือนครูผมในเชิงธุรกิจ
และตัวเขาเองก็เป็นนักหนังสือพิมพ์เก่าคนหนึ่งที่ย่อมจะเข้าใจว่าอาชีพของผมคืออาชีพที่ต้องเขียนและวิพากษ์วิจารณ์
หาไม่แล้วผมก็คงจะทำมาหากินไม่ได้ อุปมาอุปไมยดั่งอาชีพนายธนาคาร ถ้าไม่คิดดอกเบี้ยหรือไม่ปล่อยเงินกู้แล้วไซร้ก็ย่อมมิใช่อาชีพนายธนาคาร
การเดินทางของคนคนหนึ่งก็เหมือนกับการขึ้นเขาลูกหนึ่ง บางช่วงอาจจะชันและดูอันตรายแต่พอพ้นไปแล้วก็จะประสบช่วงที่เดินสบายขึ้น
ได้พักผ่อนพักเหนื่อยแล้วค่อยลุกขึ้นไปต่อ
ชีวิตคนเราไม่มีใครที่จะได้เดินบนทางเรียบไปตลอดหรอก
การล้มลุกคลุกคลานนั้นเป็นครูสอนให้เรารู้ว่าเมื่อถึงทางเดินช่วงต่อไปเราต้องไม่ประมาท
หาไม่แล้วก็คงจะต้องหกล้มตีลังกาอีก
ในชีวิตผมก็เคยล้มมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยที่ทำสำนักพิมพ์การเวก การล้มครั้งนั้นก็ได้รับความเมตตาปรานีจากเพื่อนร่วมวงการหลายคน
ตั้งแต่คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์บางฉบับที่รายงานข้อผิดพลาดของผมในหน้าคอลัมน์ของเขาไปจนถึงนักเขียนบางคน
เช่น น้ำมนต์ อยู่สกุล ที่เขียนเรื่อง "การเวกอับปางในทะเลน้ำหมึก" ลงในหนังสือหนุ่มสาวของปกรณ์
พงศ์วราภา กันให้ครึกครื้นและครื้นเครงกันไปหมด
เมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้ว ผมก็รู้สึกดีใจที่ได้มีการกล่าวขวัญถึงผมถึงแม้จะถูกบ้างไม่ถูกเสียส่วนใหญ่
เพราะสิ่งที่เขาพูดกันอย่างน้อยมันเป็นกระจกส่องหน้าให้เราได้ดูตัวเองและเตือนใจเราอยู่แล้ว
ขอแต่เพียงให้เราทำใจหนักแน่นไว้เท่านั้นก็จะเป็นประโยชน์อย่างที่สุดแล้ว
อย่างน้อยที่สุด ผู้อ่านบทความของนายน้ำมนต์ อยู่สกุล ในช่วงนั้นก็คงจะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของผมจากข้อเขียนของน้ำมนต์
ซึ่งถึงแม้จะมีส่วนถูกน้อย แต่ก็เป็นอานิสงส์ให้ได้คิดเพื่อเกิดปัญญาความรู้กันบ้าง
ฉันใดก็ฉันนั้น พร สิทธิอำนวย ก็เคยเป็นคนที่สอนคนในเรื่องการบริหารงานมาตลอด
ข้อผิดพลาดของเขาอย่างน้อยก็น่าจะเป็นบทเรียนที่คนอื่นสามารถนำไปพิจารณา
หรือนำไปเป็นตะเกียงส่องทางเดินต่อไปในอาชีพของแต่ละคนในอนาคตข้างหน้า
เมื่อจะพูดถถึงพร สิทธิอำนวย แล้วเราคงจะต้องพูดถึง Background ของเขาเพื่อทำความเข้าใจกับตัวเขาเสียก่อน
พร สิทธิอำนวย เป็นคนทางใต้ มีความผูกพันกับอาชีพการค้ามาตั้งแต่เล็กเพราะพ่อเป็นนายเหมือง
พรไปโตเอาที่เมืองนอก เริ่มตั้งแต่การเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นมัธยมจนไปจบปริญญาตรีทางชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว
ซึ่งถือว่าดีที่สุดในญี่ปุ่น แล้วพรก็ไปจบปริญญาโทที่ London School of Economics
ซึ่งถือว่าเป็นสถานศึกษาของบรรดาหัวก้าวหน้าทั้งหลาย พรเคยพูดกับผมถึงอิทธิพลที่เขาได้รับมาจากโรงเรียนนี้ว่า
"เมื่อผมเรียนจบที่นี่ใหม่ๆ ผมมีความรู้สึกว่าผมอยากจะเปลี่ยนโลกนี้ให้มันน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้
แต่พอสักพักหนึ่ง ความต้องการผมก็แคบลงมาเหลือเพียงแต่ต้องการเปลี่ยนแค่ประเทศไทยเท่านั้น
พอผมกลับมาทำงานที่เมืองไทยเจอปัญหาและอุปสรรคมากมาย ความใฝ่ฝันผมก็หลงเหลือเพียงแค่ทำให้บริษัทหรือกิจการของผมให้ดีเท่านั้นเอง"
พร สิทธิอำนวย ไปเรียนต่อที่ Harvard Business School-MBA อันดับหนึ่งของอเมริกา
พอจะพูดได้ว่า พร สิทธิอำนวย สมบูรณ์แบบที่สุดเพราะเรียนทางวิทยาศาสตร์มาแล้วรับอิทธิพลที่มีความปรารถนาจะทำสังคมให้ดีขึ้นจาก
London School of Economics มาต่อด้วยหลักวิชาการบริหารธุรกิจที่ดีที่สุดในโลกจากมหาวิทยาลัย
Harvard
พร สิทธิอำนวย โชคดีที่มี connection ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น เขาก็เลยได้เป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขา
New York คนแรก และก็เป็นที่ New York นี้แหละที่เขาได้เจอ วนิดา หรือเอด้า
สิทธิอำนวย ในงานเลี้ยงรับรองแห่งหนึ่ง
พรเป็นคนที่ทำอะไรในชีวิตด้วยสัญชาตญาณ ถ้าเขาคิดว่าอะไรมันเข้าท่าเขาจะเดินหน้าเข้ามาหามันทันทีและเขาก็จะทุ่มเทให้กับมันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง
เรื่องของวนิดาหรือเอด้านั้นก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น!
พรมีภรรยาแล้วเป็นชาวสิงคโปร์จบกฎหมายที่ลอนดอนแล้วมีบุตรชายด้วยกันสองคน
แต่ทั้งสองก็แยกกันอยู่โดยไม่ได้หย่าตามกฎหมาย
ส่วนวนิดานั้นเป็นลูกสะใภ้ของถาวร พรประภา และสามีวนิดา คือตระกูลพรประภาคนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งถาวรเองถึงกับลงหนังสือพิมพ์ประกาศตัดพ่อตัดลูกกันอย่างเด็ดขาด
วนิดาเป็นคนบริหารงานบริษัทสยามเครดิต จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือสยามกลการในขณะนั้น
"ผมเห็นเอด้าในงานเลี้ยงวันนั้นแล้วมันสะดุดตาสะดุดใจไปหมด และผมพูดกับตัวเองว่า
ผมต้องจีบเขาให้ได้" พร สิทธิอำนวย เคยพูดถึงรักแรกพบของเขาให้ผมฟัง
รักครั้งนั้นก็จบลงตรงที่ทั้งสองตัดสินใจจะมาร่วมชีวิตกันและร่วมกันทำมาหากิน
โดยวนิดาขอซื้อกิจการสยามเครดิตออกมาจากพ่ออดีตสามี ในวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท
และพร สิทธิอำนวย ก็ลาออกจากธนาคารกรุงเทพ จากตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคาร
ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขา
คนในวงการที่รู้จักทั้งสองคนเคยพูดออกความเห็นว่าคนสองคนนี้ (พรและวนิดา)
เป็นเหมือนเครื่องมือสองชิ้นที่เมื่อมาใช้ด้วยกันแล้วจะสมบูรณ์แบบที่สุด
เพราะพรจะมีในสิ่งที่วนิดาขาด คือความคิดสร้างสรรค์ การมองระยะยาว แต่วนิดาจะมีในสิ่งที่พรขาดเอามากๆ
คือ การบริหารงานที่เด็ดขาดและการไม่พึ่งน้ำบ่อหน้า หากจะขวนขวายเอาจากสิ่งที่มีอยู่
ในวงการเช่าซื้อรถยนต์แล้วก็ต้องให้เครดิตกับพรว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มอย่างมืออาชีพจริงๆ
การที่พรเอาธนาคาร First Chicago เข้ามาร่วมหุ้นด้วยนั้นเป็นการตัดสินใจที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น
MBA จาก Harvard จริงๆ เพราะ First Chicago นอกจากจะมีวงเงินที่เอามาจากนอกเพื่อปล่อยหมุนเวียนให้เช่าซื้อ
แล้วยังเอาระบบคอมพิวเตอร์และวิธีการบริหาร Receivables เข้ามาบริหารงานด้านนี้ด้วย
สยามเครดิตตั้งแต่พรและวนิดามาจับร่วมกันก็เจริญเติบโตขึ้นไปเป็นบริษัทเช่าซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ในตอนต้นเป็นบริษัทที่มีผลกำไรสูง
พรเป็นคนที่มีโชคมากตรงที่มีผู้ใหญ่เชื่อถือฝีมือ และผู้ใหญ่คนนั้นก็ดันชื่อ
บุญชู โรจนเสถียร ซึ่งก็เผอิญสมัยนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในธนาคารกรุงเทพ
ยกเว้น ชิน โสภณพนิช เพียงคนเดียว
สัจธรรมในวงการธุรกิจมันไม่มีอะไรมากไปกว่าฝีมือบ้างแล้วมีผู้หลักผู้ใหญ่หนุนหลังที่ว่ายากมันก็เป็นง่ายไปเสียหมด!
ฉันใดก็ฉันนั้น การโตของพรหลังจากที่มีสยามเครดิตนั้นเป็นการโตที่ทั้งพรและบุญชูเองมีความเห็นตรงกันว่าต้องโต
ก่อนอื่นผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจ vision ของบุญชูเสียหน่อย บุญชูนั้นอาจจะเป็นคนขี้เหนียวอย่างหาตัวจับยาก
แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของแผนงาน หรือโครงการที่ทำไปแล้วจะส่งผลให้ในระยะยาวถึงจะต้องขาดทุนในระยะต้นนานหน่อยบุญชูก็ไม่รีรอที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่
ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาของพร เพราะพรคิดว่าการทำธุรกิจนั้นมันต้องหวังผลระยะยาว
ซึ่งเงินที่จะขาดทุนนั้น สำหรับพรแล้วถ้า Amortize มันเสีย 10 ปี มันก็จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่
เผอิญพอเหมาะพอเจาะที่ในสายตาบุญชูแล้วพรเป็นหมอที่เก่งในการรักษาโรคทางการบริหาร
อาจจะเป็นเพราะพรเองเป็นคนพูดเก่งและมีพรสวรรค์ในการทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้มแล้วก็เชื่อ
ประกอบกับความรู้รอบตัวที่เขามีอยู่มากมาย เลยทำให้พรเป็นคนที่พูดแล้วเหมือนอัจฉริยะ
หรืออาจจะเป็นเพราะว่าพรเองเมื่อสมัยอยู่ธนาคารกรุงเทพเขาเป็นคนฝึกอบรมและสอนพนักงานระดับสูงในเรื่อง
MBO (Management by Objectives) ซึ่งเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมันเป็นของที่ใหม่เอามากๆ
ในเมืองไทย
ทั้งหมดนี้เลยทำให้พรดูเหมือนว่าเป็นผู้เก่งกาจในวิธีการบริหาร!
ซึ่งก็ไม่ผิดนักเพราะในเรื่องวิชาการบริหารธุรกิจแล้ว พรเป็นคนเก่งมากๆ
เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องการลงมือทำเองแล้ว พรกลับบริหารสู้ไม่ได้แม้กระทั่งเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวคนหนึ่ง
ที่พูดเช่นนี้เพราะผมได้เรียนรู้จากพรมาหลายอย่างและวิธีการของพรมันก็ได้ซึมซาบเข้ามาตัวผมพอสมควร
ทำให้บางครั้งตัวเองต้องหยุดคิดว่าทำไมมันเละเทะแบบนี้เมื่อมองย้อนหลังไปถึงรู้ว่าเพราะตัวเองได้รับอิทธิพลการบริหารมาจากพรนั่นเอง!
พรเป็น Idealistแต่มีความคิดที่ขัดแย้งในตัวเองสูงมาก หลายครั้งเมื่อพรสอนเรื่อง
perception พรจะเน้นให้ผู้บริหารของเขาให้ระวังจุดนี้ให้มากๆ เขามักจะพูดว่า
"Even coin has two sides" แต่ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว พรมักจะมองด้านเดียวเสมอ
เมื่อเขามีความเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว เขาจะเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นจนถึงบางครั้งจะเชื่อแบบหัวชนฝาเลย
แต่นั่นแหละ! คุณสมบัตินี้ไม่ใช่ไม่ดีไปหมด แท้ที่จริงแล้วคุณสมบัตินี้คือคุณสมบัติของ
Entreprenuer (ผู้ประกอบการ หรือเถ้าแก่) นั่นเอง
ถ้าเรามองชีวิตของคนเช่น ชิน โสภณพนิช วานิช ไชยวรรณ จางหมิงเทียน จอห์นนี่
มา และอีกหลายๆ คน แล้วเราจะเห็นว่าทุกคนมีเลือดบ้าแทรกอยู่ทั้งนั้น!!
และก็อย่าลืมว่าอาณาจักรส่วนใหญ่นั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยผู้นำเพียงคนเดียวที่เป็นศูนย์รวมความเชื่อมั่นของทุกๆ
คนที่พร้อมจะขายชีวิตให้เขา ความเชื่อมั่นนี้จะไม่มีวันสั่นคลอนถ้าอาณาจักรนั้นยังคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม
แต่เมื่อใดมีรอยร้าวแตกและมีสัญญาณว่าอาณาจักรนั้นจะล่มลงแล้ว ความเชื่อมั่นดังกล่าวก็จะสูญหายไปเร็วเสียยิ่งกว่าแก๊สที่ถูกเผาไหม้เสียอีก
ความที่คนคิดว่าพรเป็นปรมาจารย์ทางการบริหาร ประกอบกับฐานเก่าของพรนั้นมาจากธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาของธนาคารนี้และธนาคารทุกๆ แห่งในโลกคือ การจะแก้ปัญหาอย่างไรให้กับกิจการที่ธนาคารเข้าไปเกื้อหนุนแต่ทำท่าจะไปไม่รอด
บทบาทของพรก็เลยเหมือนชุดเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์ที่สวมเข้าได้พอดี
พรได้มีโอกาสที่จะเข้าไปรับรู้และพิจารณาถึงกิจการหลายแห่งที่ใกล้จะมอดมลาย
หรือเอียงเป็นหอเอนปิซ่า และถ้ากิจการนั้นมีปัญหาในการบริหารแล้ว พร สิทธิอำนวย
มักจะได้รับเชิญให้เป็นผู้เข้าไปรักษาพยาบาล
แน่นอนเมื่อถูกเชิญเข้าไปเช่นนั้น เงื่อนไขและข้อตกลงก็มักจะออกมาในรูปที่ค่อนข้างจะประเสริฐสุด
บางบริษัทพรแทบจะได้มาฟรี เช่น ทัวร์รอแยล ฯลฯ
ชื่อเสียงของพรเริ่มขจรขจายออกไปเหมือนขวดน้ำหอมที่ตกมาแตกและส่งกลิ่นฟุ้งไปเต็มห้อง
ไม่เพียงแต่ในเมืองไทยเท่านั้นที่พรเป็นที่รู้จักดี แม้แต่ต่างประเทศเองก็ให้ความสนใจพรเป็นอย่างสูง
บริษัทเงินทุนซีซีซี (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ซิตี้แบงก์เป็นเจ้าของและเอือมระอากับมันมาก
อยากจะปล่อยไปเสียที (เดิมบริษัทนี้ชื่อบริษัทเครดิตการพาณิชย์ แต่ตอนนี้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว
เพราะถูกยุบ) ในที่สุดก็ต้องยกบริษัทนี้ให้พรไป
คนเราเวลาดวงมันขึ้น นั่งเฉยๆ โชคลาภมันก็วิ่งเข้ามาชนเอง!
ในช่วงปี 2518 เป็นต้นไป พรค่อยๆ ขยายอาณาจักรของเขาออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้งทั้งๆ
ที่พรเองไม่มีทุนเลย!!!
จากปี 18 จนถึงปี 21 ถึงปีที่พรขยับขยายปีกของตนเองออกไปอย่างเต็มที่จนอาณาจักรของพรมีตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงบริษัทส่งออก
ฯลฯ
การแตกแยกกันระหว่างพรกับสุธี นพคุณ นั้นก็เป็นเรื่องที่ให้บทเรียนกับผู้บริหาร
และผู้ประกอบการที่ร่วมมือกันสร้างบริษัทขึ้นมา เมื่อโตแล้วก็ต้องแยกจากกันไป
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ลงใน "ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้" ก็ขออนุญาตคัดลอกเหตุการณ์ตอนนั้นมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่งสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยอ่านเรื่องนี้มาก่อน
"ผมยังจำได้ดี เมื่อสมัยที่ผมเพิ่งเข้าไปในพีเอสเอใหม่ๆ สมัยนั้นพีเอสเอยังเล็กอยู่
สำนักงานใหญ่ของพีเอสเออยู่บนตึกเชลล์ หรือที่เรียกว่าอาคารเคี่ยนหงวนในปัจจุบัน
มันเป็นห้องเล็กๆ เนื้อที่ไม่ถึง 150 ตารางเมตร พอเดินเข้าไปก็จะเป็นที่รับรองแขก
รวมทั้งพนักงานต้อนรับที่ทำหน้าที่รับโทรศัพท์ เดินผ่านเข้าไปทางขวามือห้องแรกก็จะเป็นห้องของสุธี
นพคุณ ติดกับห้องสุธี นพคุณ ก็จะเป็นห้องของ พร สิทธิอำนวย
ในยุคนั้นพีเอสเอยังเล็กอยู่ มันเป็นยุคของความฝันที่สุธีและพรต่างใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งข้างหน้าบริษัทเล็กอย่างพีเอสเอนั้นจะเติบโตและกลายเป็นปลาหมึกยักษ์ที่มีหนวดออกมาหลายๆ
เส้น ครอบคลุมในธุรกิจหลายๆ แห่ง
ผมยังจำได้ในช่วงนั้น พรและสุธีมักจะเดินเข้าไปคุยในห้องซึ่งกันและกัน
และแต่ละคนก็จะพูดถึงสิ่งที่ท้าทายอยู่ข้างนอก มันเป็นความฝันของคนหนุ่ม
ซึ่งในขณะนั้นทั้งสองเพิ่งจะอายุในวัย 40 ต้นๆ พรดูเหมือนจะอายุ 41 หรือ
40 ส่วนสุธีก็เช่นกัน
ผมยังจำแววตาที่เป็นประกายของทั้งสองได้เมื่อสุธีพูดถึงโครงการบางโครงการ
และเมื่อพรพูดถึงการบริหารงานในรูปแบบทันสมัยที่จะทำให้โครงการนั้นเจริญก้าวหน้าไป
พรมีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก แต่ขณะเดียวกันสุธีเองกลับมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าพรเสียอีก
และนี่แหละคือนิยายของการเริ่มต้นของทุกๆ องค์กร ที่ผู้ก่อตั้งจะมองแต่อนาคตที่เห็นขอบฟ้าเป็นสีทองพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่อสู้
ทำงานจนถึงดึกถึงดื่นเพียงพอที่จะพิชิตในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน
ทั้งสองคนยังเป็นคนหนุ่มอยู่ เขาทั้งสองคนอาจจะยังไม่มีเงินเท่าใดนัก แต่ทั้งสองคนมีไฟ
และที่สำคัญพวกเขามีความฝัน
จากวันนั้นต่อมาเพียงไม่กี่ปี ทั้งพรและสุธีดูเหมือนจะลืมเหตุการณ์สมัยที่ตนทั้งสองได้พำนักอาศัยสร้างวิมานในความฝันด้วยกันที่ตึกอาคารเคี่ยนหงวน
เพราะจากวันนั้นไปพีเอสเอก็เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว จากบริษัทเล็กๆ เพียงไม่กี่บริษัท
พีเอสเอเพิ่มจำนวนบริษัทขึ้นมาชนิดแทบจะเก็บรักษา Record ของตัวเองจนแทบจะไม่ทัน
ทั้งคนใหม่ก็ถูกนำเข้ามาตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเอ็มบีเอจากต่างประเทศ หรือจะเป็นคนหนุ่มไฟแรงจากองค์กรซึ่งได้ทำงานจนประสบความสำเร็จและพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว
หรือที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ที่พรและสุธีให้ความเชื่อมั่นนำเข้ามา
มันเป็นนิยายขององค์กร ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ องค์กรที่เหิดขึ้นทุกวันนี้ในประเทศไทยจะประสบพบและผ่านความขมขื่นและความเจ็บปวดอันนี้มา
เมื่อองค์กรยังเล็กอยู่ผู้ก่อตั้งก็จะอยู่กันจนดึกจนดื่นคุยกันถึงอนาคต
แววตาก็จะฉายแสงสะท้อนแสดงถึงความทะเยอทะยานที่ประกอบด้วยความเชื่อมั่นอย่างสูง
พรและสุธีก็ไม่มีข้อยกเว้น แต่เมื่อองค์กรเริ่มโตขึ้นและเมื่อมีคนเก่งที่เข้ามามากขึ้น
และที่สำคัญและร้ายที่สุดเมื่อองค์กรนั้นได้ผ่านช่วงวิกฤติการณ์ของความลำบากยากเย็นของการหมุนเงินหมุนทองขององค์กร
ที่จะต้องไปตายเอาดาบหน้าหรือแม้แต่บางครั้งของการที่จะหมุนเงินเพียงเพื่อมาจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในองค์กรนั้น
กระทั่งมาจนถึงจุดที่องค์กรนั้นประสบความร่ำรวย จะด้วยวิธีใดก็ตามจนมีเงินเหลือมหาศาล
และเมื่อนั้นแหละ คือสัญญาณอันตรายที่เริ่มจะมีการแตกแยก!
ในช่วงการเริ่มต้นนั้นผมจำได้ดีว่า สุธี นพคุณ จะเป็นผู้บริหารและคุมบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน
ส่วนพรก็มอบให้สุรินทร์ ลิมปานนท์ เป็นผู้คุมบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์
หรือพูดกันง่ายๆ ว่ากลุ่มพีเอสเอจะมีฐานการเงินอยู่ 2 แห่ง คือบริษัทพัฒนาเงินทุนและบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์
ทั้งสองแห่งนี้จะเป็นแหล่งดึงดูดเงินจากประชาชน และทั้งสองแห่งจะต้องสรรหาเงินมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจในเครือพีเอสเอให้ดำเนินต่อไปให้ได้ผลดี
ในช่วงต้นของการดิ้นรนนั้นทุกคนจะไม่มีอะไรเกี่ยงงอนกันมากนักกับการที่จะต้องช่วยเหลือบริษัทในเครือ
ทุกคนมีความรักใคร่กัน บริษัทนี้อาจขาดเงิน 10 ล้าน บริษัทนั้นขาดเงิน 5
ล้าน พัฒนาเงินทุนหรือเครดิตการพาณิชย์ก็จะช่วยกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินและก็ช่วยบริษัทนั้นๆ
ไป
เพราะทุกคนรู้ดีว่าในช่วงที่ตั้งไข่นั้นทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจและรักใคร่สามัคคีกันแน่นแฟ้น
ในช่วงนั้นเราลำบากมากพอสมควร เพราะจากการที่ขาดเงินทุนมาประกอบการ ทำให้บริษัทใดก็ตามที่เกิดขึ้นในเครือพีเอสเอในช่วงหลังจะกลายเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนที่ต่ำ
แต่ว่าจะใช้วิธีการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Debt Financing โดยหวังว่าสักวันหนึ่งที่องค์กรนั้นทำประสบความสำเร็จมีกำไรเข้ามามหาศาล
นอกเหนือจากจะยืนได้ด้วยเงินทุนจดทะเบียนที่ต่ำแล้ว ในขณะเดียวกันบริษัทเงินทุนที่หนุนหลังอยู่ก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย
เมื่อมาคิดดูหรือเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในปีที่แล้ว
เราจะเห็นได้ชัดว่าวิธีการของพีเอสเอนั้นก็ไม่ได้ต่างกับวิธีการของบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทเงินทุนต่างๆ
ที่พากันล้มระเนระนาดกันในปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย
จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ทั้งพรและสุธีเริ่มที่จะตั้งป้อมกันมาทีละนิดทีละนิด
มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน
ในจุดแรกตามความเห็นของผมคือการที่มีคนใหม่ได้เข้ามาร่วมในองค์กรพีเอสเอ
เราต้องอย่าลืมว่า ในยุคแรกของพีเอสเอนั้นมีคนอยู่ 3 คนเท่านั้น ที่เป็นตัวเด่นคนแรกคือ
พร สิทธิอำนวย คนที่สองคือ วนิดา หรือเอด้า สิทธิอำนวย และคนที่สามคือ สุธี
นพคุณ
ทั้ง 3 คนนี้ร่วมกันเริ่มพีเอสเอมาในยุคแรก
ในตอนต้นๆ นั้น เอด้าจะไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับพีเอสเอมากนักเพราะว่าเธอมัวแต่ดูแลกิจการหนึ่งของเธอซึ่งเปรียบเสมือนลูกรักของเธอ
นั่นคือ บริษัทสยามเครดิตในอดีต หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าสยามราษฎร์ลิซซิ่ง
เพราะฉะนั้นแล้วในพีเอสเอจริงๆ แล้วก็จะมีแต่เพียงพรและสุธีเท่านั้นเป็นผู้ดูแล
จวบจนกระทั่งพรเริ่มขยายอาณาจักรพีเอสเอ โดยไปซื้อบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์
โดยไป take over บริษัททัวร์นอแยล ขยายงานบริษัท Advance Products และทำอีกหลายต่อหลายกิจการ
และการที่มีคนนอกเข้ามานั้น ระบบการทำงานก็ย่อมเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปจากการที่พรปรึกษากับสุธีเพียง
2 คน กลายเป็นพรจะต้องปรึกษากับกรรมการบริษัทให้มากขึ้น
อาจจะเป็นเหตุผลอันนี้แหละทีทำให้พรเริ่มมองเห็นว่าความสำคัญของสุธีจริงๆ
แล้วมีอยู่ในเพียงบางส่วน และก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผน
และในด้านของศักยภาพทางการเงิน เพราะว่าสุธีไม่ได้เป็น Finance man สุธีเป็น
Operation man
คนที่พรเอาเข้ามานั้น พรเองก็ได้สร้างลักษณะวัฒนธรรมขององค์กรที่ผิดอีกประการหนึ่ง
คือในกรณีที่เป็นคนของพรที่เอาเข้ามา พรก็จะดูแลคนนั้นอย่างใกล้ชิด หรือพรก็จะออกคำสั่งให้คนคนนั้นทำงานโดยตรง
โดยพรจะเป็นผู้สั่งให้ผู้บริหารที่พรนำเข้ามานั้นรายงานกับพรโดยตรง โดยไม่ต้องรายงานกับสุธี
เพราะฉะนั้นแล้วมันก็เลยเกิดการแบ่งเส้นพรมแดนกันขึ้นมาว่า คนนี้เป็นคนของพร
ที่พรเอาเข้ามา เพราะฉะนั้นแล้วเขามีหน้าที่อยู่อย่างเดียวคือ ทำตามคำสั่งพร
ส่วนทางด้านของสุธีนั้น ก็นำเอาคนของสุธีเข้ามาหลายคน และวิธีการมันก็คล้ายกันคือ
คนที่เข้ามาในด้านของสุธีก็จะเชื่อฟังในคำสั่งของสุธี ส่วนคนที่พรเอาเข้ามาก็จะเชื่อในคำสั่งของพร
เพราะฉะนั้นในองค์กรๆ หนึ่งเราก็จะเห็นค่ายอยู่ 2 ค่าย อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน
และอันนี้แหละจะเป็นจุดต่อเนื่องให้แตกหักในที่สุด
ความจริงแล้วสภาวการณ์แตกหักระหว่างพรกับสุธีนั้น คงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าปราศจากคนคนหนึ่ง
ซึ่งมาจากมาเลเซีย
คนคนนั้นชื่อนาย อึ้ง วาย ชอย!
อึ้ง วาย ชอย เป็นที่ปรึกษาการลงทุนและเป็นทั้งนักเล่นหุ้น และนักปั่นหุ้นตัวฉกรรจ์ที่พรเอาเข้ามาจากมาเลเซีย
เพื่อเอามาเตรียมตัวที่จะรับสภาวการณ์ของการ Boom ของตลาดหุ้นในช่วงประมาณปี
2519-2520 ในขณะนั้นบริษัทรามาทาวเวอร์ซึ่งมีโรงแรมไฮแอทรามา (ในเวลานั้นโรงแรมยังอยู่ภายใต้การบริหารของเครือไฮแอท)
เป็นหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอะไรนัก
มูลค่าราคาหุ้นก็อยู่ในราคาประมาณ 80 กว่าบาท ต่อราคา Par Value 100 บาท
อาจจะเป็นเพราะว่ามันถึงคราวแล้วที่ตลาดหุ้นจะต้อง Boom และมันก็มีเค้าและวี่แวว
เพราะฉะนั้นแล้วหน้าที่ของนาย อึ้ง วาย ชอย ที่สำคัญที่สุดหน้าที่หนึ่งก็คือการดูแลความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น
และหาทางที่จะเก็งกำไรจากหุ้นในมือที่มีอยู่เพื่อที่จะทำผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอย่างสูงที่สุด
และการที่ อึ้ง วาย ชอย จะทำเช่นนั้นได้ ก็ย่อมหมายถึงว่าเขาจะต้องเข้าไปรับทราบว่า
ในบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทรามาทาวเวอร์ เจ้าของโรงแรมไฮแอทรามามีผู้ใดบ้างที่เป็นเจ้าของหุ้น?
และจากการที่จะต้องเข้าไปค้นคว้าอันนี้แหละทำให้วันหนึ่งพรพบว่ามีอยู่หลายบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นของโรงแรมรามา
แต่หลายบริษัทนั้นแทนที่จะเป็นพรถือหุ้นใหญ่ กลับเป็นสุธีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปในที่สุด
และอันนี้เป็นจุดเริ่มที่สร้างรอยร้าวและเป็นสาเหตุที่ทำให้พรต้องให้นายอึ้ง
วาย ชอย เช็กอย่างลับๆ ตลอดเวลาว่าในบรรดาบริษัทในกลุ่มพีเอสเอ และในบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหลายในบริษัทของพีเอสเอ
จะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีอันใดบ้างที่สุธีได้แอบเพิ่มทุนในบริษัทนั้น
และก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ขึ้นมาบ้าง
นอกจากประเด็นที่กล่าวแล้ว การเข้ามาของนายอึ้ง วาย ชอย ก็สร้างความไม่พอใจให้กับสุธีมากมายหลายประการ
คงจะเป็นเพราะว่า การไม่เคยชินกับการเล่นหุ้นของคนไทย ทำให้บทบาทของนายอึ้ง
วาย ชอย ในขณะนั้นดูสูง
พรเชื่อในฝีไม้ลายมือของนายอึ้ง วาย ชอย มาก เหตุผล เพราะนายอึ้ง วาย ชอย
เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการเล่นหุ้นในตลาดสิงคโปร์ มาเสเซีย และฮ่องกง มาแล้ว
แต่ว่าตลาดหุ้นของเมืองไทยในขณะนั้นเพิ่งจะเริ่ม Boom เป็นครั้งแรก ผลของการที่หุ้นได้
Boom ขึ้นและได้มีการซื้อมาขายไป ซื้อมาราคาต่ำขายไปราคาสูง อะไรทำนองนั้นกับบริษัทรามาทาวเวอร์
และการที่บริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ซึ่งอยู่ในกลุ่มพีเอสเอ ได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์
และบริษัทสยามเครดิตซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์
ตลอดจนมีการเพิ่มทุนกันเกือบจะทุกๆ เดือนหรือ 2 เดือนนั้น ทำให้กลุ่มพีเอสเอ
ได้มีกำไรจากการซื้อขายหุ้นนี้ เป็นกำไรถึงหลายร้อยล้านบาท และก็สามารถพลิกสถานภาพของกลุ่มพีเอสเอ
ซึ่งอยู่ในสถานภาพวิกฤติการณ์ทางการเงินกลายเป็นผู้ที่มีเงินเหลืออยู่มากทีเดียว
จุดนี้แหละก็เป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้ สุธี นพคุณ เริ่มคิดที่จะไปสร้างอาณาจักรของตัวเองอยู่
ซึ่งสุธีเองก็ทำอยู่ก่อนที่จะร่ำรวยจากการซื้อหุ้น โดยการขยายงานของสุธีหลายจุดนั้น
ที่สุธีได้ทำไปโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรเลย
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต จากวิวิทย์ วิจิตรวาทการ
และการที่สุธี นพคุณ เอาบริษัทอินเตอร์ไลฟ์และบริษัททัวร์รอแยล และบริษัทพัฒนาเงินทุนเข้าไปเกี่ยวกันกับการดำเนินงานของบริษัทสายการบินแอร์สยามโดยที่พรไม่รู้เรื่อง
จนเป็นข่าวขึ้นมาในท้องตลาดว่ากลุ่มพีเอสเอ กำลังจะเข้าไป take over บริษัทแอร์สยาม
ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก
วันหนึ่งขณะที่พรกำลังทานข้าวเย็นอยู่ห้องอาหารโรติซซารี่ที่มีชื่อโรงแรมไฮแอทราม
พรก็ได้มีโอกาสเจอธรรมนูญ หวั่งหลี และฉัตรชัย บุญยอนันต์ เมื่อถูกถามว่า
พีเอสเอจะเข้าไปซื้อแอร์สยามหรือ พร สิทธิอำนวย ถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก
การที่สุธีไปสร้างตึกดำที่ถนนศรีอยุธยานั้น ก็ไม่ได้เป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์ที่เลวร้ายดีขึ้นไปกว่าเดิม
สุธี นพคุณ มักจะพูดอยู่เสมอว่า ตัวเขานั้นถูกพรและเอด้า หรือวนิดา บีบออกให้ออกมาจาก
พีเอสเอ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วทั้งพรและเอด้ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้สุธี
นพคุณ นั้นคงอยู่ในพีเอสเอตลอดไป เพียงแต่ว่าพรและเอด้าได้ขอร้องให้สุธี
นพคุณ โอนหุ้นทั้งหลายที่สุธีมีอยู่ให้เข้าไปอยู่ในบริษัทแม่คือ บริษัท พีเอสเอ
และพรกับเอด้า ก็จะจัดสรรหุ้นซึ่งอยู่ในบริษัทแม่นั้นให้กับสุธี นพคุณ (ผมยังบอกไม่ได้ว่าประมาณเท่าไร
แต่คิดว่าประมาณ 25-33%) และพรก็ได้มอบตำแหน่ง President ของพีเอสเอ เพียงแต่พรและเอด้าหวังว่าสุธีจะเดินอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น
นั่นคือการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และสุธีก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ
ท่ามกลางคน 2 คน คือ สุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย ก็มีคนยืนอยู่ตรงกลางและคนคนนั้นชื่อบุญชู
โรจนเสถียร
ถ้าจะเปรียบเทียบบุญชู โรจนเสถียร เป็นดอน คอลิออน หรือ ก๊อดฟาเธอร์ นิยายของมาริโอ
พูโซ ก็คงจะไม่ผิด
จะผิดก็ตรงที่ว่า ดอน คอลิออน ที่ชื่อบุญชู โรจนเสถียร นั้นไม่ใช่ดอน คอลิออนของมาริโอ
พูโซ ที่สั่งฆ่าคนโน้นหรือทำลายคนนี้ แต่บุญชู โรจนเสถียร เป็นก๊อดฟาเธอร์ที่เป็นผู้สร้างทั้งพรและสุธี
อาจจะเป็นเพราะว่าพร ที่เป็นพร สิทธิอำนวย ทุกวันนี้ หรือสุธี นพคุณ ที่เป็นสุธี
นพคุณ ที่ตกระกำลำบากทุกวันนี้จะไม่เป็นเช่นทุกวันนี้ได้ถ้าไม่มีคนชื่อบุญชู
โรจนเสถียร
"คุณบุญชูเป็นคนที่ทำให้ผมเกิด ทุกวันนี้ที่ผมมีอะไร ที่ผมมีสายสัมพันธ์ที่มี
connection ก็เป็นเพราะคุณบุญชูเป็นคนให้ผมมา"พร สิทธิอำนวย มักจะพูดอยู่เสมอ
"คุณรู้ไหมว่าผมทำงานกับคุณบุญชูมา 10 กว่าปี 10 กว่าปีมานี้ผมทำงานทุกอย่างให้คุณบุญชู
ไม่ว่าคุณบุญชูจะต้องการอะไรผมจะรีบเร่งให้ คุณบุญชูสั่งงานเช้านี้และก็จะต้องการให้ได้งานงานภายในคืนนี้ผมก็จะอยู่ทำงานจนดึกจนดื่น
ผมทนทำเช่นนี้เพื่ออะไร ผมทำเช่นนี้ไปเพียงเพื่อผมจะได้เรียนรู้สายสัมพันธ์
connection ของคุณบุญชู และสายสัมพันธ์ที่คุณบุญชูมีอยู่นั้น ก็คือสายสัมพันธ์ที่จะมาช่วยในอนาคตทางการงานของผม"
พร สิทธิอำนวย เคยเล่าให้ผมฟัง และก็เป็นบุญชู โรจนเสถียร นี่เองล่ะที่เป็นคนแนะนำสุธี
นพคุณ ให้มาทำงานกับพร สิทธิอำนวย บุญชู โรจนเสถียรไปพบสุธี นพคุณ ที่อเมริกา
และก็ชวนสุธี กลับเข้ามาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ โดยกลับมาทำงานครั้งแรกก็มาอยู่แผนกคอมพิวเตอร์
และก็ถูกบรรดาลูกน้องในแผนกคอมพิวเตอร์สไตรํค์ขับไล่จนกระทั่งบุญชูต้องย้ายสุธี
นพคุณ ไปอยู่กับพร สิทธิอำนวย ที่แผนกวางแผน และในที่สุดเมื่อพร สิทธิอำนวย
ลาออกจากธนาคารกรุงเทพออกมาตั้งตัวเอง สุธี นพคุณ ก็ลาตามมาด้วยเพื่อที่จะมาร่วมสร้างอาณาจักรกับพร
สิทธิอำนวย
ความใกล้ชิดสนิทสนมที่สุธีมีต่อบุญชูและบุญชูให้ความไว้วางใจในตัวสุธีนั้น
ส่วนใหญ่มาจากการแนะนำของพร สิทธิอำนวย
บุญชูไว่ใจสุธีมากในระยะหลังจนถึงจุดจุดหนึ่ง สุธีจะเป็นผู้จัดสรรเกี่ยวกับการเงินการทองให้กับบุญชูในเรื่องเกี่ยวกับทางด้านการเมือง
สุธีจะเป็นตัวนายหน้าที่ติดต่อบรรดานักการเมืองทั้งหลาย หรือในช่วงการหาเสียงในช่วงที่บุญชูเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น
สุธี นพคุณ มีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะต้องทำตามที่บุญชูสั่ง คือเข้าไปรับใช้
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว จนกระทั่งวันหนึ่ง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ค่อยชอบอกชอบใจคนที่ชื่อสุธี นพคุณ เท่าไรนัก จึงไม่ได้เป็นเลขานุการส่วนตัวอีกต่อไป
แต่ก็นั่นแหละ สุธี นพคุณ นอกเหนือจากการทำธุรกิจในกลุ่มพีเอสเอ หน้าที่หนึ่งก็คือการดูแลการใช้เงินส่วนตัวของบุญชู
โรจนเสถียร รวมทั้งการลงทุนบางประเภทของบุญชูด้วย
ความใกล้ชิดสนิทสนมอันนี้แหละที่ทำให้ทั้งสุธีและทั้งพรจะต้องฟังบุญชู
ไม่ว่าบุญชูจะพูดในเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสุธีกับพรนั้น
ทั้งสองฝ่ายพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เข้าหูบุญชู (อย่างน้อยก็ทางด้านพรนั่นแหละไม่เคยนำเรื่องนี้ไปพูดกับบุญชูเลย
ถ้าจะมีก็ทางด้านสุธีนั่นแหละซึ่งเป็นผู้คาบข่าวไปเล่าให้บุญชูฟังว่าเขาอยู่ในกลุ่มพีเอสเอแล้วเขาอึดอัดใจเพราะว่าเขาทำงานร่วมกับเมียของพรไม่ได้
จนกระทั่งถึงจุดจุดหนึ่งบุญชูเคยพูดให้คนฟังว่าพรนั้นเสียเพราะเมีย)
ข้อตกลงระหว่างพร สิทธิอำนวย สุธี นพคุณ และเอด้าหรือวนิดา สิทธิอำนวย
ในการที่จะให้สุธี นพคุณ นั้นโอนหุ้นทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาอยู่ในบริษัทแม่
และทางบริษัทแม่คือพีเอสเอก็จะโอนหุ้นให้กับสุธีประมาณ 25-33% นั้น เป็นข้อตกลงที่ทั้งพรและเอด้าขอร้องสุธีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในเมื่อพูดกันแล้วก็ควรจะมีสัญญาลูกผู้ชายว่าจะไม่ไปพูดให้บุญชูฟัง
แต่สุธีก็ไปเล่าให้บุญชูฟังถึงความแตกแยกอันนี้ในที่สุด!!
"วันหนึ่งบุญชูโทรมาหาผมและถามผมว่า Paul what' s the matter whit you
ทำให้ผมงงไปหมด ผมก็เลยถามคุณบุญชูกลับไปว่าไม่มีอะไรนี่ แต่ในที่สุดคุณบุญชูก้ถามถึงเรื่องของสุธีที่มีความขัดแย้งกับทางผม"
พร สิทธิอำนวยเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังครั้งหนึ่ง และนี่แหละคือจุดที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดที่ทั้งพรและเอด้าถือว่าสุธีไม่รักษาคำมั่นสัญญา
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วก็หมายถึงว่าทั้งสามคนจะอยู่ร่วมกันไม่ได้
และแล้วการแบ่งสมบัติก็ได้เริ่มเกิดขึ้น
ความจริงการแบ่งสมบัติในครั้งนั้น พร สิทธิอำนวย ปรารถนาอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือไม่ต้องการที่จะมีอะไรเกี่ยวข้องกับสุธีอีกต่อไปแล้ว
จึงให้สุธีนั้นเป็นผู้เลือกว่าสุธีต้องการจะเอาอะไรไป
เดิมทีนั้นนายอึ้ง วาย ชอย ได้แนะนำพรไม่ให้ปล่อยบริษัทรามาทาวเวอร์ เจ้าของโรงแรมไฮแอทรามาไป
เพราะนายอึ้ง วาย ชอย เห็นว่าโรงแรมไฮแอทรามามีทรัพย์สินคือที่ดินที่บนถนนสีลมที่นับวันจะเพิ่มพูนมูลค่า
แต่ด้วยการที่พรต้องการจะตัดปัญหาไปให้หมดสิ้นเลยก้เลยปล่อยโรงแรมไฮแอทรามาโดยขายหุ้นส่วนที่เหลือของพรให้กับสุธีไป
รวมทั้งหุ้นหลายๆ อันที่อยู่ในบริษัท เช่น บริษัทพัฒนาเงินทุน บริษัทบ้านและที่ดินไทย
บริษัทประกันชีวิตอินเตอร์ไลฟ์ บริษัททัวร์รอแยล ฯลฯ ให้กับสุธี ซึ่งคนในวงการคนใกล้ชิดกับพรในขณะนั้นเล่าให้ฟังว่า
ราคาที่สุธีซื้อนั้นเป็นราคาที่ถูกมากๆ มิหนำซ้ำยังสมามรถผ่อนได้โดยทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
โดยจ่ายให้เป็นงวดๆ
ถ้าจะนับสถานภาพของสุธีในช่วงที่แยกออกจากพรนั้น จะต้องยอมรับว่าเป็นสถานภาพที่แข็งเอาอย่างมากเลย
เพราะว่า ตัวบริษัทแม่คือบริษัทรามาทาวเวอร์นั้นเป็นบริษัทที่แข็งมากในขณะนั้น
นอกจากจำนวนหนี้ซึ่งลดลงน้อยมากแล้ว รามาทาวเวอร์เองก็เพิ่งจะมีฐานเงินหมุนซึ่งเพิ่งจะเพิ่มทุนขึ้นเป็น
1,200 ล้านบาท และสามารถจะเรียกระดมทุนเข้ามาได้ ส่วนตัวหนี้สินของบริษัทอื่น
นั้นถ้าจะมีก็คงมีแต่เพียงบริษัททัวร์รอแยลอยู่บริษัทเดียวเท่านั้นเอง แต่ปัญหาหนี้สินก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่เมื่อเทียบกับพื้นฐานทางการเงินที่รามาทาวเวอร์มีอยู่ในขณะนั้น
และในที่สุดสุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย ก็ได้หย่าขาดจากกันในช่วงเวลาที่บุญชู
โรจนเสถียร เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเปรม ที่หนึ่ง
เมื่อผมมามองน้อนหลังถึงวันที่เขาแยกกันแล้ว มาคิดดูให้ลึกอีกทีมีหลายเสียงที่กล่าวหาว่า
เหตุผลอันใหญ่ที่สุดที่ทำให้สุธีต้องแยกออกจากพรนั้นเป็นเพราะว่าภรรยาของพร
คือ วนิดา สิทธิอำนวย
เพื่อความเป็นธรรมแล้วหลังจากที่เรามาวินิจวิเคราะห์กันอย่างละเอียด ผมไม่คิดว่าวนิดา
สิทธิอำนวย จะเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่เป็นตัวการที่สำคัญให้สุธี นพคุณ จะต้องแยกออกจากพร
สิทธิอำนวย ด้วยข้อเท็จจริงแล้วในช่วงนั้นวนิดา สิทธิอำนวย ไม่ได้มีบทบาทอะไรอยู่ในพีเอสเอเลยแม้แต่นิดเดียว
เธอสนใจและก็ยุ่งอยู่อย่างเดียวและก็ไม่ให้ใครมายุ่งเลยนั้นคือบริษัทสยามเครดิต
หรือในปัจจุบันเรียกว่าบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่ง
ผมมจำได้ว่าเธอรักบริษัทสยามเครดิตหรือสยามราษฎร์ลิซซิ่งปานแก้วตา เธอจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นและไม่ต้องการให้ใครก็ตามที่จะเดินเข้ามาในอาณาจักรของเธอคือบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งเป็นอันขาด
เพราะฉะนั้นแล้วคำกล่าวหาที่ว่าเธอเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้พรและสุธีต้องแยกจากกันไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่เธออาจจะเป็นสาเหตุเพียงเล็กๆ เพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้นเอง
ในช่วงของการบริหารพีเอสเอในช่วงนั้น ตกอยู่ในเงื้อมมือของพรและสุธีเท่านั้นเอง
นอกเหนือจากนั้นแล้วแทบจะไม่มีใครได้เข้าไปบริหารและตัดสินใจ ถ้าหากจะมีตัวการทีทำให้พรและวนิดามองสุธีไปในรูปที่ไม่ค่อยจะสบอารมณ์นักก็คงจะเป็นนายอึ้ง
วาย ชอย นี่แหละ เพราะคนสองคนนั้นนอกจากศรศิลป์ไม่กินเส้นกันแล้ว ก็เป็นที่รู้กันอยู่ในกลุ่มพีเอสเอว่าไม่ถูกกัน
นอกเหนือจากไม่ถูกกันในเรื่องอื่นแล้ว ยังจะต้องมีการบลั๊ฟกันในเรื่องของผู้หญิงอีกด้วย
ในช่วงแรกของการแตกแยกนั้น ฝุ่นก็ยังตลบอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วอะไรต่ออะไรก็ยังเห็นไม่ชัด
แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปได้สักพักทุกคนที่อยู่วงนอกก็เริ่มเห็นได้ชัดว่าสุธีและพรต่างฝ่ายต่างยืนอยู่ที่ใด
ถ้าในช่วงนั้นจะถามคนประมาณ 10 คน ก็มีคนไม่ต่ำกว่า 8 คน ที่จะตอบว่า สุธี
นพคุณ มีแบ็กที่แข็งกว่า อาจจะเป็นเพราะบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี
ก็มีสำนักงานและคณะอยู่บนตึกดำที่เดียวที่สุธี นพคุณ นั่งอยู่ และอาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจยังไม่เลวร้าย
อัตราดอกเบี้ยยังไม่สูง และโรงแรมไฮแอทรามาและรามาทาวเวอร์ก็อยู่ในสภาวะเหมือนกับม้าเปรียวที่กำลังคึกคะนองมีพลกำลังและฐานทางการเงินที่เข้มแข็ง
ทุกคนมองไปว่าพร สิทธิอำนวย นั้นก็คงจะเล็กลงและก็คงเล็กลงไปเรื่อยๆ สำหรับพรนั้นสิ่งที่เขาเก็บเอาไว้นั่นคือบริษัทเงินทุน
2 บริษัท คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยามและบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์
นอกจากนั้นแล้วพรก็ยังเก็บบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียโปรดักส์ รวมทั้งบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งเอาไว้อีก
ธุรกิจของพรในช่วงนั้นถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่พรพูดกับผู้ใกล้ชิดเสมอว่าอยากจะอยู่อย่าง
เงียบๆ Low Profile
คำถามที่หลายๆ คนมักจะถามผมว่าพรเจ็บปวดหรือเปล่ากับการแตกแยกอันนี้?
คงจะตอบได้ยาก เพราะว่าหลายต่อหลายครั้งพรมักจะพูดเสมอว่าการแตกแยกระหว่างสุธีกับเขานั้นเขาเจ็บปวดมาก
แต่ให้ตายเถอะ ถ้าให้ผมตอบตอนนี้ เวลานี้ ขณะนี้ หลังจากเหตุการณ์หลายๆ
อย่างที่เกิดขึ้นกับคนในอดีตที่เคยอยู่พีเอสเอหลายๆ คน ผมต้องขอโทษที่จะพูดว่าผมไม่ค่อยจะเชื่อหรอกว่า
พร hurt! "
เมื่อสุธีแยกออกจากพรในครั้งนั้นแล้ว ต่อมาสุธีก็พังลงไปเพราะอะไรก็คงจะไม่ต้องพูดกันให้ยาวนักเพราะ
"ผู้จัดการ" เองก็เคยลงให้อ่านกันอย่างจุใจเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว (ฉบับที่
3 และฉบับที่ 10)
เมื่อตอนสุธี นพคุณ ล้มนั้นแทบจะไม่มีใครประหลาดใจนัก เพราะทุกคนเชื่อว่าในการมองการณ์ไกลและการบริหารงานแล้ว
สุธีย่อมจะสู้พรและเอด้าไม่ได้
"พื้นฐานของสุธีและการศึกษานั้นต่างกว่าพรมาก ประกอบกับพรเองมีเอด้าซึ่งขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องการทำงานที่เฉียบขาด
ก็เลยทำให้มองเห็นได้เด่นชัดว่ากลุ่มของพรและเอด้าน่าจะอยู่ยงคงกระพันได้นานกว่า"
นายธนาคารที่เป็นเพื่อนของพรและสุธีพูดให้ฟัง
เมื่อเป็นเช่นนี้พอพรล้มตึงลงไปก็ทำเอาแทบทุกคนในวงการต้องตกตะลึงกันเป็นแถว
"จริงๆ แล้วถ้าคุณติดตามข่าวให้ดีๆ จะเห็นว่า พรเริ่มเซตั้งแต่เมื่อมีการลดค่าเงินบาทครั้งนั้นแหละ"
นายธนาคารคนเก่าพูดให้ฟัง
ถ้าเราจะตรวจสอบกันแล้วจะเห็นได้ว่า พีเอสเอนั้นประสบปัญหาหลายจุดและแต่ละจุดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันทั้งสิ้น
เหมือนอย่างที่พรเคยพูดเป็นปรัชญาชีวิตให้ผมฟังว่า "คนเรานั้นจะประสบความสำเร็จต้องมีองค์ประกอบดังนี้
มีความมุมานะ 25% มีความรู้ความสามารถ 25% และดวงต้องดีอีก 50%"
ถ้าจะยึดเอาปรัชญานั้นเป็นหลักก็แสดงว่า ดวงของเขาไม่ดีเลย
มันเริ่มจากการร่วมลงทุนกับเท็กซัสแปซิฟิกเพื่อส่งแก๊สออกถูกรัฐบาลไทยห้าม
ต่อมาด้วยการลงทุนขุดเจาะน้ำมันในขณะที่ราคาน้ำมันขายกันบาร์เรลละ 32 เหรียญ
แล้วก็ตกลงมาเหลือเพียง 12 เหรียญ
ต่อมาด้วยการสร้างตึกมรกต (Emerald Tower) ตรงหัวมุมซอยร่วมฤดีตัดกับถนนวิทยุที่สร้างแล้วขายไม่ออกเลย
ต่อมาด้วยการลดค่าเงินบาทที่บริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งต้องขาดทุนเป็นร้อยๆ
ล้านบาท ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ตลอดมา
แต่นักการเงินบางคนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ เขากล่าวว่า "พรเจ๊งนั้นไม่ใช่ดวงหรอก
เขาเจ๊งเพราะตัวเขาเอง ประการแรก การขุดเจาะน้ำมันนั้นจริงๆ แล้วเขาลงอย่างมากก็สองร้อยล้านบาท
ตัวตึกมรกตนั้น ถ้าหักทรัพย์สินลงไปแล้วก็คงขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนลดค่าเงินบาทนั้นก็ประมาณ
200 กว่าล้าน ทั้งหมดเบ็ดเสร็จขาดทุนประมาณ 700 ล้านบาท แต่ ณ วันนี้พรมีทรัพย์สินสองพันกว่าล้าน
มีหนี้สินสี่พันกว่าล้าน ส่วนที่ขาดหายไปนี้พรเอาไปไว้ไหน?" เจ้าหนี้ของพรคนหนึ่งบ่นพึมพำออกมาอย่างหงุดหงิดใจมาก
เมื่อมองกันให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่าพีเอสเอของพรนั้นตั้งแต่ทำมาก็ไม่มีบริษัทไหนได้กำไร
ยกเว้นสยามราษฎร์ลิซซิ่งเท่านั้นที่มีกำไร ว่ากันว่าเฉพาะเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยามและเงินทุน
ซีซีซี สองแห่งนี้แบกหนี้บริษัทในเครือไว้ร่วมเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท
ที่ทุกๆ คนนอกจากจะงงงวยว่า พรเอาเงินที่เหลือไปไหนแล้วบรรดาเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารต่างประเทศก็พากันหงุดหงิดในหัวใจอย่างมากๆ
เมื่อตัวเองมารู้ทีหลังว่าพรเองแอบมาทำ double financing กับพวกตน
"เราเชื่อในตัวพรและการให้สินเชื่อที่เราให้กับพรไปนั้นมันก็เหมือนให้
clean loan เพียงแต่เอา receivables ซึ่งเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจำนองไว้กับเราเท่านั้น
แต่พอเรื่องกลับตาลปัตรแบบนี้เราก็พบว่า พีเอสเอมี original ของ receivable
ของสัญญาเช่าซื้อไว้หลายชุดและก็เอาไปจำนองไว้กับสถาบันการเงินหลายที่เหมือนกัน"
ตัวแทนธนาคารต่างชาติในไทยคนหนึ่งกัดฟันเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ไม่เคยมีใครคิดว่าคนอย่างพร สิทธิอำนวย บัณฑิตจาก LSE (London School of
Economics) MBA จาก Harvard จะกล้าหาญชาญชัยพอที่จะทำ double หรือ triple
financing แบบนี้ได้
"แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้วและก็เกิดขึ้นจากฝีมือของเขาด้วย เจ้านายผมในเมืองนอกถึงกับอุทานมาว่า
ไม่น่าเชื่อเลย" ตัวแทนธนาคารต่างชาติคนเก่าพูดให้ฟังต่อ
ลักษณะแบบนั้นมันน่าจะเกิดกับบรรดาเจ้าสัวที่บริหารบริษัทการเงินต่างๆ
ที่ล้มลงไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้มากกว่า
ดูเหมือนพรและเอด้าก็คงรู้ว่าตัวเองนั้นเหมือนกับล้มละลายทางเกียรติยศไปหมดสิ้นแล้ว
แต่ทั้งสองก็ยังพยายามเชิดหน้าและบอกว่าตัวเองไม่มีอะไรอีกแล้วทุกอย่างที่เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวก็ให้ธนาคารยึดไปเป็นหลักประกันหมด
ยังไม่ทันที่คำพูดของพรและเอด้าจะจางหายไป ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็สวนควันปืนโดยฟ้องพรและเอด้าล้มละลายทันที
ทั้งๆ เจ้าหนี้ทั้งหลายกำลังอยู่ในช่วงจัดโครงสร้างหนี้สินเสียใหม่
"เราจำเป็นต้องฟ้องเพราะเราค้นพบว่า เขามีบ้านอยู่ที่ประเวศน์หลังหนึ่งใหญ่มาก
แล้วเขาแอบขายให้ญี่ปุ่นในวงเงินประมาณ 20 กว่าล้านบาท ถ้าเราไม่ฟ้องเราก็อด"
เจ้าหน้าที่ระดับบริหารคนหนึ่งของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอธิบายเหตุผลในการฟ้องให้ฟัง
ถ้าถามทุกคนที่เป็นเจ้าหนี้ก็คงจะได้คำตอบว่า เขาไม่เชื่อว่าพรและเอด้าจะไม่มีอะไรเหลืออยู่?
"ข่าวลือมันมากมายเหลือเกิน บางคนก็ว่าทั้งคู่มีสวนอยู่ที่จันทบุรีเป็นพันไร่
บางแหล่งข่าวก็บอกว่า เอด้ามีไร่อยู่ที่ออสเตรเลีย และพรมีชอปปิ้งมอลล์อยู่ในแคลิฟอร์เนีย"
แหล่งข่าวในบรรดาเจ้าหนี้พูดให้ฟัง
แน่นอนที่สุดข่าวพวกนี้ก็จะไม่เป็นมงคลกับทั้งพรและเอด้า เพราะเป็นธรรมชาติของเจ้าหนี้ที่เขาจะต้องหาทางบีบให้ลูกหนี้คายทรัพย์สินออกมาให้ได้
ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรและเอด้านั้นมันก็ไม่ได้ต่างไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจอห์นนี่มา
แห่งธนาคารเอเชียทรัสต์ หรือกับคำรณ เตชะไพบูลย์ แห่งธนาคารมหานคร ฯลฯ เลยแม้แต่น้อย
"คุณใจเย็นๆ เอาไว้เรามี case ที่มีน้ำหนักพอที่จะดำเนินคดีอาญากับพรและเอด้าในข้อหา
fraud" เจ้าหนี้คนหนึ่งพูดอย่างมั่นใจกับ "ผู้จัดการ"
วันนี้เวลานี้พรและเอด้าหายไปไหนไม่มีใครรู้? บนชั้นสุดท้ายของตึกไทยที่เคยเป็นแหล่งบัญชาการของพรเงียบสงัด
แม้กระทั่งเลขาคู่ใจที่อยู่กันมาสิบกว่าปีก็ลาออกไปได้ 3-4 เดือนแล้ว
สยามราษฎร์ลิซซิ่งก็ดำเนินการต่อไป แต่อนาคตจะเป็นเช่นไรก็ไม่มีใครรู้?
ตำนานการก่อร่างสร้างตัวของ Tycoon ที่ชื่อพร สิทธิอำนวย ก็คงจะเป็นตำนานที่ต้องลือเล่ากันปากต่อปากไปอีกนานแสนนาน
คงจะมีทั้งข้อเท็จจริงผสมสีสันคละกันไปให้เละเทะไปหมดสุดแต่ว่าคนพูดจะเป็นมิตรหรือศัตรู
เมื่อเรามามองเหตุการณ์ย้อนหลังดูเราเองก็คงจะอดถามตัวเองไม่ได้ว่า พร
พลาดตรงไหน?
ด้วยคุณสมบัติการศึกษาอย่างพร ด้วยธุรกิจอย่างสยามราษฎร์ลิซซิ่งที่เป็นบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ใหญ่ที่สุด
พรไม่น่าจะเป็นกิ้งกือที่หกคะเมนได้!!!
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้?!!!
การที่จะตอบคำถามนี้ได้เราคงจะต้องทำใจเข้าข้างพรเสียก่อนโดยยกประโยชน์ให้กับจำเลยว่าพรไม่ได้เบียดบังซ่อนเร้นเงินไปใช้ส่วนตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราค่อยหันมาดูการลงทุนของพร การลงทุนในก๊าซธรรมชาติ
การลงทุนกับเท็กซัสแปซิฟิก ในการจำหน่ายก๊าซนี้เป็นความคิดที่ประเสริฐสุด
เพราะทุกอย่างพร้อมหมดและดูสดใส
แต่พรพลาดตรงที่ไปมองรัฐบาลไทยในแง่ดีจนเกินไป! ทั้งๆ ที่พรเคยสอนผมแล้วสอนผมอีกว่า
"ค้าขายอะไรก็ค้าขายได้แต่อย่าไปค้าขายกับรัฐบาลไทยเป็นอันขาด!" การขุดเจาะน้ำมัน
ก็ต้องยอมรับว่าพรเองเป็นคนมองการณ์ไกล คงจะมีคนไทยไม่กี่คนกระมังที่กล้าพอจะกระโดดเข้าไปจับธุรกิจการขุดเจาะน้ำมัน
ผมยังจำได้เมื่อผมแวะไปหาพรเพื่อทานข้าวเย็นที่ตึกไทย พรจะตื่นเต้นมากกับเรื่องการเจาะน้ำมัน
เขาจะเอาผลการสำรวจที่เขาลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศด้วยตนเองมาแสดงให้ผมดู
แล้วพูดอย่างไม่หยุดว่า โอกาสที่เขาจะเจอน้ำมันนั้นมีมาก
แต่พรเองก็คงจะไม่รู้ว่า นักขุดเจาะน้ำมันในโลกนี้ที่มีข้อมูลแบบพรนั้นก็มีมากกว่ามากและก็กลายเป็นยาจกไปแล้ว
และพรเองก็คงไม่ได้คิดว่าราคาน้ำมันเมื่อตอนพรเริ่มลงทุนนั้นขายบาร์เรลละ
32 เหรียญ และได้ตกลงไปเหลือเพียงบาร์เรลละสิบกว่าเหรียญเท่านั้นเอง! การสร้างอาคารชุดเอ็มเมอราลด์
ที่ดินที่สร้างอาคารชุดนี้เดิมทีเป็นของ ทำนุ กลุเศรษฐศิริ อดีตนักค้าคอมโมดิตี้ที่ลี้ภัยไปอยู่ไทเป
(โปรดดู "ผู้จัดการ" ฉบับ 22 ) ซึ่งได้หย่าขาดจากภรรยา แล้วเอามาจำนองกับสยามเครดิต
(ชื่อในเวลานั้น) ทำนุ กุลเศรษฐศิริ คือคนที่สร้างตึกไทยแต่สร้างไม่เสร็จ
แล้วขายต่อให้พรและเอด้า เสร็จแล้วก็เอาเงินส่วนหนึ่งมาซื้อหุ้นสยามเครดิต
(ชื่อในเวลานั้น)
ทำนุ กุลเศรษฐศิริ ยังเป็นเจ้าของบริษัทแคนาดาดราย ซึ่งมากู้เงินสยามเครดิตจนเป็นหนี้ล้นพ้นตัวก็ยกบริษัทแคนาดาดรายให้พรและเอด้าทำต่อจนเจ๊งมากเข้า
ที่ดินผืนที่เป็น Emerald Tower นั้นก็ถูกยึดเอามา เดิมทีจะสร้างเป็นสำนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยาม
แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็นสร้างตึกมรกต เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้สั่งให้เปลี่ยนผังเมืองเพื่อให้สร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลได้
ซึ่งก็ยังเป็นผลพลอยได้ให้กับตึกมรกตนี้ด้วย
ตึกมรกตนี้สร้างขึ้นตามอุปนิสัยใจคอของพรแท้ๆ นั่นคือ ดีที่สุดและแพงที่สุด
ว่ากันว่า ยูนิตที่ถูกที่สุดนั้นราคาก็เกือบสิบล้านบาทเข้าไปแล้ว
ก็เหมือนฝัน เพราะหาคนซื้อแทบจะไม่ได้เลย และค่าก่อสร้างที่สุมิโตโมเป็นคนสร้างส่วนหนึ่งก็ยังจ่ายไม่หมด
และตอนนี้ก็ถูกธนาคารกรุงเทพยึดไปแล้ว!
มีคนเคยถามผมหลังจากที่พรล้มแล้วว่า "ทำไมพรเขาถึงไม่หยุดและตั้งใจทำแค่บริษัทเช่าซื้อรถยนต์อย่างเดียว?"
คำตอบคงจะออกมาได้สองทาง
คำตอบแรกก็คือ คงจะทำไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วบริษัทของพรทุกบริษัทตั้งแตกแยกกับสุธีออกมานั้นไม่มีกำไรเลย!
ยอดขาดทุนนั้นถูกบริษัทเงินทุนสองบริษัทคือ ปฐมสยาม และซีซีซี แบกเอาไว้
หนี้ก้อนนี้ก็คงจะต้องปูดขึ้นมาสักวันหนึ่ง ฉะนั้นพรก็ต้องหาอะไรที่มันให้ผลตอบแทนได้เร็วและได้สูงมาจัดการกับหนี้ก้อนที่สองบริษัทเงินทุนนั้นแบกเอาไว้
คำตอบที่สองก็คงจะเหมือนคำตอบแรกที่ว่า พรก็คงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ และคำตอบนี้คือคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมพรถึงเป็น
กิ้งกือหกคะเมน?!
พร สิทธิอำนวย จอห์นนี่มา สุพจน์ เดชสกุลธร โค้วเฮงท้ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติของ
Entrepreneure หรือการเป็นเถ้าแก่ ด้วยกันทั้งสิ้น
ทุกคนมีความคิดริเริ่ม มีกำลังใจในการต่อสู้ มียุทธวิธีที่แตกต่างกันไป
แต่ล้วนแล้วแต่เป็นการไม่ยอมแพ้
ทุกคนอาจจะมีพื้นฐานการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน มี connection ที่ต่างกันมากๆ
ราวฟ้ากับดิน มีสังคมกันคนละแบบ บางคนชอบนักร้องไต้หวัน บางคนอาจชอบเพลงของ
Mozart หรือบางคนอาจชอบภาพเขียนของแวนโก๊ะ ฯลฯ
แต่ทุกคนในที่นี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหมือนกันและเป็นคุณสมบัติที่ไม่ว่าจะจบ
ป.4 แบบสุพจน์ หรือ MBA Harvard แบบพร ล้วนแต่คุณสมบัตินี้ทั้งสิ้น
นั่นคือ ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็น นักเสี่ยงโชค!
เสี่ยงโชคในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การไปเล่นการพนันตามคำจำกัดความ
แต่ทุกคนมีวิญญาณของการชอบเสี่ยง
ทุกคนพร้อมจะเสี่ยงในบางครั้งเมื่อไม่จำเป็นต้องเสี่ยง และจะเสี่ยงมากขึ้น
พร้อมที่จะเทเค้าหน้าตักตัวเองให้หมดไปในตาเดียว เพียงเพราะพวกเขาคิดว่า
โอกาสเป็นของเขาแล้ว!
และนี่คือคุณสมบัติที่อยู่ในตัวพร
และนี่กระมังคือการหาคะเมนของกิ้งกือ!!!!