เคลย์ แอนด์ มินเนอรัล (ประเทศไทย) เป็นบริษัทน้องใหม่ล่าสุดในเครืออเมริกันสแตนดาร์ดที่เพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้
ฮอเรส เอ็ม.วิตเทิลซี กรรมการผู้จัดการบริษัท เคลย์ แอนด์ มินเนอรัล (ประเทศไทย)
หรือเรียกย่อๆ "เคลย์มิน" ได้กล่าวเปิดตัวน้องใหม่รายนี้ว่า "บริษัทเคลย์มินเป็นบริษัทที่มุ่งผลิตดินดำก่อตั้งจากการร่วมทุนของผู้ถือหุ้น
3 ฝ่าย คือ ฝ่ายไทยบริษัทเครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด
ร่วมมือกับบริษัทอเมริกันสแตนดาร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา และบริษัทวัตส์ เบลค
แอนด์ เบอนร์ พี.เอล.ซี. จำกัด สัญชาติอังกฤษ ซึ่งมีชื่อย่อว่า W.B.B.โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ถือหุ้น
60% อเมริกา 20% และอังกฤษอีก 20% วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็เพื่อให้มีการนำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศมาใช้
เพื่อเป็นการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมเซรามิกส์ในเมืองไทยให้ดีขึ้น หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือบริษัทจะช่วยส่งเสริมดินดำนี้ให้เป็นสินค้าออกของประเทศเป็นการหารายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย"
กิตติ โสมนัย รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเคลย์มิน ได้เล่าให้ฟังว่า เคลย์มิน
นี้เป็นบริษัทที่ผลิตดินดำ (Ball Clay) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย
กิตติได้พูดต่อว่า "บริษัทอเมริกันสแตนดาร์ด เป็นบริษัทแรกที่ได้นำเอาดินดำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมเซรามิกส์
ซึ่งในสมัยก่อนนั้นการขุดเจาะยังต้องใช้แรงคน เดิมที่เราก็รับซื้อมาจากชาวบ้านก่อน
ต่อมาเราก็เลยซื้อเหมืองต่อจากชาวบ้านไว้เองประมาณ 4 ล้านบาท ที่อำเภอแม่ทะ
จังหวัดลำปาง พอดีกับทางประเทศอังกฤษ คือ บริษัท W.B.B. ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตดินดำที่ใหญ่ที่สุดในโลกบริษัทหนึ่งต้องการที่จะได้แหล่งดินทางแถบเอเชีย
พอเขาทราบว่าทางเราพบแหล่งดินที่ดี ก็ส่งคนติดต่อมายังทางเรา พร้อมกันนั้นก็แนะนำว่า
ควรจะนำดินนี้ขึ้นมาอย่างไรให้ได้คุณภาพ วิธีนี้ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์และความชำนาญคือ
ดินนี้จะต้องนำมาตกแต่งอีกทีและดินมันก็อยู่ปนกับดินประเภทอื่นด้วย เช่น
ดินที่ใช้กับกระเบื้อง ใช้กับอิฐทนไฟ ตลอดจนเครื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งก็ต้องนำมาแยกประเภทก่อน
ว่าประเภทไหนใช้กับผลิตภัณฑ์อะไร ทางเราก็มาคิดดูเห็นว่า W.B.B. นี้เป็นบริษัทที่ผลิตดินดำมาเป็นเวลานาน
ทั้งผลิตและจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 80 ประเทศแล้ว จึงเชื่อว่าเขาจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และความชำนาญก็ตกลงร่วมมือกับเขา"
ในแง่การลงทุนนั้นกิตติได้กล่าวเสริมต่อว่า "เราใช้ทุนในการจดทะเบียนประมาณ
30 ล้านบาท และในช่วงแรกได้ตั้ง Target ที่จะขายไว้ประมาณ 28,000 ต้นต่อปี
และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มอัตราการผลิตอีก 15% ต่อปี โดยที่เราจะป้อนให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศช่วงแรกนี้จะส่งให้แถบทวีปเอเชียก่อน
อย่างเช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีดินดำที่ดีอย่างเรา
เราจึงมีโอกาสที่จะ Export ไปยังประเทศเขา ส่วนการ Supply ให้กับบริษัทในเครือระยะแรกคงประมาณ
10-15% นอกจากนี้บริษัทในเครือที่ต่างประเทศอย่างเช่น อเมริกันสแตนดาร์ด
ที่อินโดนีเซีย ประมาณ 10% ในตอนนี้ก็มีลูกค้าได้ติดต่อสั่งจองมาแล้ว ทั้งๆ
ที่โรงงานของเรายังไม่เปิด ก็มีอาร์มิเทจแชงค์ ที่มาเลเซีย, Kia Standard
ที่อินโดนีเซีย เดือนหนึ่งๆ คงส่งประมาณการให้ 100 ตันขึ้นไป"
สำหรับในด้านการตลาด "ผู้จัดการ" ได้สอบถามสุเมธอินทามระ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ
อเมริกันสแตนดาร์ด ก็ได้ความว่า ในด้านการตลาดช่วงแรกอาจยังไม่มีปัญหา เพราะโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเซรามิกส์แห่งอาเซียน
"เดิมทีโครงการนี้เคยเข้าที่ประชุมแห่งอาเซียนมาแล้ว ทีแรกทางอินโดนีเซียจะรับไป
แต่เขาไม่มีดินที่ดีอย่างเรา เขาก็เลิก Project เราจึงรับมา แต่ Project
ที่รับมาไม่ใช่ Project ในนามของอาเซียน เป็น Project ของในนามบริษัท เคลย์มิน
แต่อาเซียนก็ให้การสนับสนุนด้วยดี" สุเมธบอกให้ฟัง
ในวงการเครื่องสุขภัณฑ์และเซรามิกส์นั้นอเมริกันสแตนดาร์ด ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดรายหนึ่งที่คู่แข่งสำคัญก็คงไม่พ้นอามิเทจแชงค์ซึ่งเพิ่งจะถูกกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการเมื่อไม่นานมานี้
สำหรับอเมริกันสแตนดาร์ดแล้ว เคลย์มิน ก็คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่กุญแจสำคัญในการเอาชนะคู่แข่ง
ในฐานะที่เคลย์มินจะเป็นผู้จัดสรรวัตถุดิบสำคัญให้อเมริกันสแตนดาร์ด "และก็จะเป็นผู้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ
เข้ามาปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าด้วย" แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ
"ผู้จัดการ"
ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจังหวะก้าวนี้ของอเมริกกันสแตนดาร์ดจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างไรจากกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย
เพราะขึ้นชื่อว่าปูนฯ แล้วก็คงไม่มีเสียล่ะ ที่จะไล่หลังคู่แข่ง