ไฮเออร์ เปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ งัดแคมเปญ I Love Haier ถล่มราคาคู่แข่ง พร้อมเดินเกมมัดใจคู่ค้า ชิงช่องทางคู่แข่ง ขณะที่มิตซูฯ อัดงบเพิ่มรักษาความสัมพันธ์คู่ค้า ส่วนแบรนด์เกาหลี ซัมซุง แอลจี เร่งอัปเกรดตลาด ลอนช์สินค้าที่มีเทคโนฯ สูงขึ้น ชูอินเวอร์เตอร์สร้างมูลค่า ขณะที่ซิงเกอร์งัดแคมเปญเงินผ่อนกระตุ้นยอดขาย
ตลาดเครื่องปรับอากาศมีปริมาณความต้องการในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 680,000 เครื่อง ส่วนในปี 2553 คาดว่าปริมาณความต้องการจะเพิ่มเป็น 720,000 เครื่อง โดยปัจจุบันอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศของครัวเรือนไทยมีเพียง 20% โอกาสในการขยายตลาดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ที่มักติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันหลายค่ายต่างมีทีมขายเจาะตลาดโครงการโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างตลาดรีเพลสเมนต์หรือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ใช้เครื่องปรับอากาศอยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องรุ่นใหม่แทน โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ด้วยการเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่น้อยกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เครื่องปรับอากาศที่ดีซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟในระยะยาว
โดยแบรนด์ผู้นำแต่ละค่ายต่างพยายามเพิ่มรุ่นที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รุ่นที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้ตลาด ชดเชยกับราคาเครื่องปรับอากาศที่ตกต่ำลงทุกปี โดยผู้นำตลาดอย่าง มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ชูคอนเซ็ปต์ Select The Right โดยซอยเซกเมนต์เครื่องปรับอากาศออกเป็น 4 กลุ่ม ตามรูปแบบการใช้งาน โดยรุ่นท็อปคือ ซูเปอร์อินเวอร์เตอร์ ชูประสิทธิภาพในการทำความเย็นและการประหยัดพลังงาน รองลงมาเป็นรุ่นมูฟอาย ซึ่งมีเซ็นเซอร์ในการจับตำแหน่งที่ที่มีอุณหภูมิสูง จากนั้นก็จะส่งลมเย็นไปยังตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษ ขณะที่รุ่น Wide & Long สามารถพ่นลมเย็นได้ไกลเหมาะสำหรับห้องที่มีความยาว และรุ่นอีโคโน แอร์ เป็นรุ่นราคาประหยัด ทั้งนี้ มิตซูบิชิ อีเลคทริค จะมีการลอนช์เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ 16 รุ่น
ขณะที่พานาโซนิคมีการใช้ เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ เป็นพรีเซนเตอร์ ที่มาพร้อมกับประโยคที่ว่า 'ประหยัดไฟเพิ่มขึ้น ผมก็ยิ้มได้กว้างขึ้น' โดยชูเรื่องความประหยัด นอกจากนี้พานาโซนิคยังมีการซอยเซกเมนต์เป็น 4 รุ่น โดย 3 รุ่นแรกคือ ซูเปอร์ เดอลุกซ์ อินเวอร์เตอร์, เดอลุกซ์ อินเวอร์เตอร์ และเดอลุกซ์จะเน้นการประหยัดไฟและระบบฟอกอากาศ จะแตกต่างกันก็ที่ประสิทธิภาพในแต่ละรุ่นแตกต่างกัน ส่วนรุ่นสแตนดาร์ด เป็นรุ่นไฟติ้งโมเดล ทว่าก็มีแผ่นฟอกอากาศ
ด้านค่ายเกาหลีอย่างซัมซุงเดินเกม Step Up เพิ่มมูลค่าตลาดเครื่องปรับอากาศ ลอนช์ 4 เซกเมนต์ใหม่ เพิ่มระบบอินเวอร์เตอร์ 2 เซกเมนต์คือ Mont Blanc และ Vivaldi Inverter ยกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค พร้อมชูระบบฟอก S.Inverter ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Vivaldi ซึ่งแตกต่างจาก Vivaldi Inverter ในเรื่องของดีไซน์ ส่วนรุ่น Super Max จับตลาดแมส โดยรุ่นซูเปอร์แม็กซ์มีราคาเริ่มต้นที่ 15,400 บาท รุ่นวิวาลดิ มีราคาเริ่มต้นที่ 18,400 บาท รุ่นวิวาลดิ อินเวอร์เตอร์ มีราคาเริ่มต้นที่ 23,900 บาท ส่วน มงต์ บลองก์ มีราคาเริ่มต้นที่ 30,400 บาท ที่ขนาด 10,000 BTU และแพงสุดราคา 35,400 บาท ที่ขนาด 13,000 BTU
Design for Health เป็นแนวคิดในการทำตลาดเครื่องปรับอากาศที่ดำเนินต่อจากปีที่ผ่านมาเพื่อสื่อถึงนวัตกรรมที่ยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีระบบปรับอากาศคู่กับระบบฟอกอากาศ
'ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ประกอบกับราคาเครื่องปรับอากาศในปีนี้ที่มีแนวโน้มลดลงอีก น่าจะทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 10-15% โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ 13,000 BTU โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16,000-17,000 บาท' สมพร จันกรีนภาวงศ์ หัวหน้าผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการใช้ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งนอกจากการที่ อั้ม เคยมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นไข้หวัด 2009 แล้ว น่าจะเป็นความพยายามขยายฐานไปสู่ตลาดแมสหรือบรรดาแฟนละคร เนื่องจากดาราถือเป็นเทรนด์เซตเตอร์ของผู้ชม ซึ่งจะเป็นการสร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีการใช้สื่อและพนักงานขายหน้าร้านในการเอ็ดดูเคตและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้ตลาดมีการเติบโตมากขึ้น ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์มีไม่เกิน 10% ของความต้องการในตลาดโดยรวม ดังนั้นโอกาสยังเปิดกว้างในการสวิตชิ่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับแอลจีที่ชูคอนเซ็ปต์ 4S ซึ่งประกอบด้วย SILENT, SAFE, SAVING, และ STYLISH เพื่ออัปเกรดตลาดเครื่องปรับอากาศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยมีการเพิ่มรุ่นจากปีก่อนที่ลอนช์ไป 11 รุ่น เพิ่มเป็น 16 รุ่นในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 4 ซีรีส์ ประกอบด้วย เฮลธ์พลัส อินเวอร์เตอร์, เฮลธ์พลัสเดอลุกซ์, เฮลธ์พลัสอีโคโน่ และอาร์ทคูล ขณะที่ซัมซุงเกทับลอนช์เครื่องปรับอากาศกว่า 20 รุ่น โดยมี บัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งแอลจีมีการโฆษณาอย่างหนักโดยหวังว่าจะสามารถสร้าง Brand Awareness
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ของแอลจีมีการใส่ฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าไปภายใต้คอนเซ็ปต์ 4S ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยรุ่นที่ถูกที่สุดคือ 9000 บีทียู มีราคาอยู่ที่ 17,900 บาท ซึ่งแพงกว่ารุ่นธรรมดา 1,000-2,000 บาท เป็นช่องว่างที่แคบพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อยเพื่อประหยัดค่าไฟในระยะยาว และเป็นการอัปเกรดไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคให้ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ายอดขายให้กับแอลจี
ล่าสุด ไฮเออร์ ลอนช์เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ LEA Series ชู 3 in 1 Integrated Smart Air Conditioner ประกอบด้วยระบบ Healthy intelligent Air ปรับทิศทางกระจายความเย็น, ระบบ Smart N-ion ฟอกอากาศด้วยประจุลบและระบบ Air-Purify พร้อม Photocatalyst Filters กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ พร้อมด้วยดีไซน์หน้าจอ LED โดยชูจุดเด่นในเรื่องของการรับประกัน 3 ปี ในขณะที่คู่แข่งในตลาดส่วนใหญ่รับประกันเพียง 1 ปี โดยมี 4 ขนาดคือ รุ่น HSU-10LEA03-T (E6) ขนาด 10000 BTU ราคา 13,900 บาท, รุ่น HSU-13LEA03-T (E6) ขนาด 13000 BTU ราคา 15,900 บาท, รุ่น HSU-18LEA03-T (E6) ขนาด18000 BTU ราคา 23,900 บาท และรุ่น HSU-24LEA03-T (E6) ขนาด 24,000 BTU ราคา 29,900 บาท ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งประมาณ 1-2 พันบาท นอกจากนี้ยังมีแคมเปญเงินผ่อน 0% 12 เดือน
'ปีนี้ไฮเออร์ให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย โดยไฮเออร์ได้ปฏิรูปทุกๆ ฟังก์ชั่นการทำงาน เริ่มจากเบอร์โทร.ฟรี 1800 ที่ลูกค้าสามารถโทร.สอบถามข้อมูลสินค้า โปรโมชั่น สั่งซื้ออะไหล่ และรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมบำรุง และในปีนี้ไฮเออร์จะจัดตั้งศูนย์บริการหลังการขายใน 5 จังหวัดให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศคือในกรุงเทพมหานคร, ขอนแก่น, เชียงใหม่, พัทยา และภูเก็ต เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น' อู๋ หย่ง กรรมการผู้จัดการไฮเออร์ อิเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) กล่าว
ไฮเออร์ยังให้ความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้แทนจำหน่าย โดยปีนี้บริษัทฯ จะขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายให้ครอบคลุม 76 จังหวัด เพื่อช่วยกระจายสินค้าไฮเออร์สู่ผู้บริโภค และมีสิทธิประโยชน์มากมายที่เตรียมไว้ตอบแทนการสนับสนุน อาทิ การสนับสนุนด้านการตลาดและพนักงานขาย ชอปดิสเพลย์ บริการด้านเงินผ่อน และโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับอีกหลายค่ายที่พยายามมัดใจช่องทางจำหน่ายเหล่านี้ ทำให้ผู้นำอย่าง มิตซูบิชิ อีเลคทริค ต้องเพิ่มงบกว่า 15% เพื่อสร้างความพอใจและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้าต่างๆ
ปัจจุบันไฮเออร์มีดีลเลอร์กว่า 350 ราย มีร้านค้ากว่า 450 ร้าน โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถขยายจุดขายเพิ่มเป็น 600 จุด ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย 70-80% มีสินค้าของไฮเออร์ครบไลน์ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะเปิดแบรนด์ชอปไฮเออร์ร่วมกับร้านค้าในต่างจังหวัด เพื่อดิสเพลย์สินค้าไฮเออร์แบบครบไลน์ และยังใช้เป็นสถานที่ในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับสินค้าของไฮเออร์ได้อย่างใกล้ชิด การรุกตลาดภูธร ทำให้ไฮเออร์ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะใช้สงครามราคาเป็นตัวนำตลาดได้
นอกจากการเจาะช่องทางที่เป็นร้านดีลเลอร์แล้ว ไฮเออร์ยังมีแผนที่จะรุกตลาดโครงการต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของราคา บริษัทยอมรับว่าไม่สามารถตั้งราคาเท่าคู่แข่งที่เป็นแบรนด์เกาหลีและญี่ปุ่นได้ เนื่องจากการยอมรับแบรนด์แตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้น บริษัทจึงต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่าเล็กน้อย แต่จะเพิ่มแวลูที่มากกว่าเพื่อจูงใจผู้บริโภค โดยรุ่นไฟติ้งโมเดลจะมีราคาต่ำกว่าแบรนด์เนมประมาณ 10%
'เราเสนอสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าคู่แข่งให้กับร้านค้าต่างๆ โดยมุ่งไปที่เจ้าของร้านซึ่งทุ่มเทให้กับการขายมากกว่าพนักงานขายตามโมเดิร์นเทรดทั่วไป โดยเจ้าของร้านจะช่วยโปรโมตแบรนด์ไฮเออร์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้ของไฮเออร์ปัจจุบันมาจากต่างจังหวัด 80% อีก 20% เป็นร้านค้าในกรุงเทพฯ' วัชรพงษ์ อนันตพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) กล่าว
นอกจากนี้ยังมียักษ์หลับอย่างซิงเกอร์ที่กลับมารุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วยการทำแคมเปญ '30 บาท นอนแอร์' โดยลูกค้าสามารถผ่อนชำระเดือนละ 900 บาท หรือคิดเป็นวันละ 30 บาท ซึ่งบริษัทคาดว่าแคมเปญดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดี และจะทำให้บริษัทสามารถสร้างยอดขายเครื่องปรับอากาศในปีนี้ได้ 20,000 เครื่อง
|