เห็นหุ่นใครๆ ก็จำได้ บอกชื่อใครๆ ก็รู้จัก บุรุษร่างเล็กแต่ความสามารถเกินตัวชื่อ
ดุษฎี สวัสดิ-ชูโต คนนี้ เมื่อก่อนเขามีงานทำล้นมือและแต่ละงานที่อยู่ในมือ
เขาจัดการได้เรียบร้อยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นงานที่แบงก์ชาติหรือที่ธนาคารออมสิน
ในฐานะผู้อำนวยการที่อยู่นานที่สุดแต่บังเอิญจริงๆ ที่เขาไปเจองานหินเข้าที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ
และมีอันต้องเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าออกมาเมื่อเร็วๆนี้ งานที่เคยล้นมือก็เหลือเพียงตำแหน่งประธานฯ
ตลาดหลักทรัพย์ตำแหน่งเดียวที่ต้องมาประชุมเป็นครั้งคราวเท่านั้น
หลายคนว่าดุษฎีต้องออกจากสากลเคหะ เพราะเป็นคนแข็งไม่เข้าใครออกใครซึ่งก็คงติดนิสัยใหญ่จนเคยตัวจากธนาคารออมสินเลยทำเอาคนที่นั่นเกร็งกันตลอดเวลา
แต่ก็มีบางคนบอกว่าดุษฎีทนไม่ได้ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นลูกน้องเก่าเปลี่ยนใจไม่ยอมเอาสากลเคหะเป็นบริษัทแม่แต่กลับไปเลือกไทยเงินทุนแทน
(ตามแผนการรวมกลุ่มบริษัทเงินทุน 5 แห่งของอดีตผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยคนก่อนเริงชัย
มะระกานนท์)
ที่ลึกไปกว่านั้นเขาว่าเป็นแผนล่อเสือออกจากถ้ำของคลังที่ขอให้ดุษฎีเขียนใบลาออกพร้อมผู้บริหารคนอื่นๆ
เขาก็เขียนแต่ตอนจบมีใบลาของเขาคนเดียว! คนอื่นมิปรากฎ
และที่แน่ๆ คือรายการโดนอัดเป็นประจำจากผู้ถือหุ้นของสากลเคหะในเรื่องที่ดุษฎีไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
และเรื่องที่จะให้สากลเคหะกับบริษัทเงินทุนอีก 4 แห่ง ที่กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่เข้าไปอุ้มน้ำอัดลมเซเว่น
อัพ…ให้เป็นน้ำอัดลมแห่งชาติ…
…เรื่องของเรื่องก็คือ วันหนึ่งสมัยที่เขายังนั่งเป็นประธานฯ สากลเคหะตามแผนพัฒนาสถาบันการเงินของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง
เขาก็อยากจะช่วยบริษัทน้ำอัดลมรสมะนาวยี่ห้อเซเว่น อัพ ที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสากลเคหะขึ้นมา
เนื่องด้วยเขาเป็นคนที่ยึดถือหลักการเป็นยิ่งนัก และกรรมการสากลเคหะรุ่นที่เขาเป็นประธานฯ
มีมติแน่ชัดว่า จะสนับสนุนบริษัทในเครือหรือลูกหนี้ที่พิจารณาแล้วว่าสามารถจะดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยดี…แล้วคนอย่างดุษฎีหรือจะมองเซเว่น
อัพ พลาด "ตั้งแต่ผมเข้ามาที่สากลเคหะภาวะของที่นี่ก็ดีขึ้น หนี้สินของผู้บริหารเก่าเราก็จัดการเร่งรัดได้มากขึ้นบริษัทลูกหนี้ใดที่คิดว่าไปรอดแน่เราก็สนับสนุน
ส่วนพวกที่เสียหายมากเราก็จำเป็นต้องปล่อย…" ดุษฎีกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
จะว่าไปเซเว่น อัพ ตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งจนถึงขณะนี้มีอายุได้ 33 ปีแล้ว
จดทะเบียนครั้งแรกด้วยเงินทุน 6 ล้านบาท โดยกลุ่มเหตระกูลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาโดยตลอด
และมีการเพิ่มทุนเป็น 12 ล้านเมื่อปี 2523 จนถึงขณะนี้การดำเนินกิจการยังขาดทุนอยู่มาก
เมื่อดุษฎีเข้ามาเป็นประธานฯสากลเคหะ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเซเว่น อัพ
ก็พยายามหาทางช่วยเหลือด้วยการผลักดันให้มีการเพิ่มทุนอีกประมาณ 200 ล้านบาท
โดยให้กลุ่มบริษัทเงินทุนเครือกระทรวงการคลัง 5 แห่งเข้าช่วย ซึ่งก็ได้แก่สากลเคหะ,
ไทยเงินทุน, ไฟแนนเชียลทรัสต์, สกุลไทย และสากลสยาม
แต่จู่ๆ ความฝันเรื่องการเพิ่มทุนอีก 200 ล้าน ตอนนั้นต้องมีอันสลายเพราะกลุ่มเหตระกูลซึ่งขณะนั้นถือหุ้นอยู่
26% คัดค้านอย่างหนัก ถึงกับมีหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการแจ้งไปถึงพาณิชย์จังหวัดนนทบุรี
(บริษัท เซเว่น อัพ บอตตลิ่ง จำกัด อยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี) เมื่อต้นเดือน
ก.พ.นี้
"ทางกลุ่มนั้นเขาต้องการขายหุ้นละ 300 ก็ต่อรองลงมาเรื่อยๆ จนตกลงกันได้ขณะนี้เขายอมขายให้
100 บาทต่อหุ้น" แหล่งข่าวภายในเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อทางกลุ่มเหตระกูลยอมขายหุ้นทั้งหมดให้ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท
การเพิ่มทุนก็คงสะดวกโยธิน แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะทางสากลเคหะและอีก
4 แห่ง ยังพิจารณาไม่เสร็จว่าแห่งไหนจะซื้อหุ้นเป็นจำนวนเท่าไร…และยิ่งตอนเพิ่มทุนก็คงต้องพิจารณาอีกยาวแน่กว่าจะแบ่งสัดส่วนกันถูก
"ถ้าคุณดุษฎียังอยู่ที่สากลเคหะ ป่านนี้ทุกอย่างเรียบร้อยไปแล้ว"
แหล่งข่าวระดับสูงของเซเว่น อัพ บอก "ผู้จัดการ"
ก็คงใช่ เพราะตอนนี้คนชื่อดุษฎีไปแล้ว (ถึงอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่า)
แต่เซเว่น อัพ จะอยู่หรือไม่คนที่รู้ดีที่สุดเห็นจะได้แก่ นิพัทธ์ พุกกะณะสุต
ประธานฯ สากลเคหะคนปัจจุบัน