คาดยังมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่ออีก ดันดัชนีไปใกล้ๆ 850 จุดได้ เน้นหุ้นตัวใหญ่พื้นฐานดี แต่เตือนยิ่งสูงยิ่งหนาวต้องระวังถูกลากขึ้นไปทุบ แนะได้กำไรแล้วต้องลดพอร์ตบ้าง
มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) วรรณ ประเมินว่า ดัชนีหุ้นตลาดไทยมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึง 800-820 จุดได้ในเร็วๆ นี้ เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายที่เข้ามาหนาแน่นตั้งแต่ช่วง 5-10 นาทีแรกที่เปิดตลาด ชี้ให้เห็นว่ามีเงินจำนวนมากรอเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
"เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาน่าจะเป็นเงินของนักลงทุนจีนที่ทางการจีนอนุญาตให้ ออกมาลงทุนนอกประเทศได้ และอีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน เพราะเชื่อว่าหากค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคนี้แข็งค่า ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ได้กำไรจากค่าเงินอีกต่อ"
หากดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปถึง 820 จุด จะต้องระมัดระวังอย่างมาก นักลงทุนไม่ต้องรอให้เข้าใกล้ 858 จุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 13 เท่า ก็ควรจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน โดยพยายามจะขายทำกำไรบางส่วนเอาไว้และเปลี่ยนการถือครองหุ้นที่มีสภาพคล่อง น้อยออกไปถือหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อให้ขายได้ง่ายหากตลาดปรับตัวลง และอาจจำเป็นต้องลดสัดส่วนการถือครองหุ้นจาก95% เป็น 90%
“ประเมินว่าหุ้นขึ้นรอบนี้ยังเป็นแค่คลื่นลูกเล็กเท่านั้น และคาดว่าคลื่นลูกใหญ่ของจริงจะมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มากกว่า เพราะเป็นเวลาที่เศรษฐกิจโลกเติบโตจริงๆแล้ว ไม่ใช่เป็นแค่การฟื้นตัวเหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา”
ด้าน ธนัทเทพ จันทรกานต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง คาดว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ มีโอกาสจะแตะจุดสุงสุดที่ระดับ 830-840 จุดได้ โดยประเมินว่าเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติ มีโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในอดีตเม็ดเงินต่างชาติเคยเข้ามาถึง 8% ของมูลค่าตลาดรวม (market capitalization) แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 4.5%
หากพิจารณาจากเงินปันผลตอบแทน(Dividend Yield) จากการลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรอายุ 10 ปี หรือ Bond Yield ซึ่งอยู่ที่ 4% อย่างไรก็ดี บนพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวกลับมา ผลตอบแทนโดยปกติจากการลงทุนในหุ้นจะต้องต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนใน พันธบัตร ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากพันธบัตรมาลงทุนในหุ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
"กระแสเงินทุน(Fund Flow)ยังน่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยทั้งปีนี้น่าจะได้เห็นตัวเลขซื้อสุทธิของต่างชาติประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เทียบสถิติหลายปีที่ผ่านมาซึ่งก็มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาเฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาทเช่นกัน"
การไหลเข้าของ Fund Flow ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ 20 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์ของการไหลเข้า ซึ่งมีทั้ง บมจ.ปตท (PTT), บมจ.บ้านปู (BANPU),บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), บมจ.ซีพีออล์ (CPALL),บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นตัวกดดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย คือ นโยบายทางการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศจีน ซึ่งได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าในเดือนเมษายนมีโอกาสที่จีนจะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นในระยะกลาง ประกอบกับหากพิจารณาจากค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยพบว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆใน ภูมิภาค
ส่วนปัญหาการเมืองในขณะนี้คงไม่ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่มีการกระจายการลงทุน อีกทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็มีการพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านการ เมืองไว้แล้ว ทั้งนี้มองว่าต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิด ขึ้นเป็นเรื่องที่ยังควบคุมดูแลได้
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใน ปีนี้จะเติบโต 16-17% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะเติบโตกว่า 10% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากได้ข้อสรุปและมีทางออกจะมีกลุ่มบริษัทฯที่จะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว คือ กลุ่มปตท. ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมเติบโตเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ ไว้อีก 5%
ทั้งนี้จากสถิติพบว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายทำกำไรหากได้ผลตอบแทนจากการลง ทุนอยู่ที่ระดับ 20-25% โดยปัจจุบันผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 17-18% แล้ว
|