ช.การช่างเนื้อหอม นักลงทุนแห่จีบขอร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรีที่ลาว คาดว่าจะสรุปหาพันธมิตรได้ใน 3 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกัน 4แบงก์พาณิชย์ไทยเป็นลีดเดอร์ในการจัดหาและปล่อยเงินกู้แบบซินดิเคต 7.5หมื่นล้านบาท ลั่นไม่มีแผนขายหุ้นน้ำประปาไทยเพิ่ม โดยจะถือ30.79%
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าไซยะบุรี สปป.ลาวจำนวน 7-8 ราย ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรร่วมทุนอยู่ โดยจำนวนนักลงทุนที่ให้ความสนใจนั้นมีเพียง 3 รายที่เข้าข่ายยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปการหาผู้ร่วมทุนได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้
สำหรับแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว ขณะนี้ 4 แบงก์ไทยเป็นผู้นำในการปล่อยกู้คือ แบงก์กรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์และกสิกรไทย โดยการปล่อยกู้จะเป็นแบบซินดิเคต มูลค่าเงินกู้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ช.การช่างได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อวัตถุประสงค์ในการรับสัมปทานในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยใช้ชื่อว่า Xayaburi Power Company Limited (XPCL) มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท ซึ่งช.การช่าง จะถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 100% เบื้องต้น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) แสดงความสนใจที่จะเข้าไปร่วมทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าไซยะบุรี หลังจากที่โครงการดังกล่าวได้ลงนามบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีรายละเอียดใน MOU เกี่ยวกับราคาค่าไฟเฉลี่ย (Levelized tariff) จะเท่ากับ 2.159 บาท/หน่วย โดยกฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 1,220 เมกะวัตต์
โครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์ โดยมูลค่าโครงการดังกล่าวรวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช.การช่าง จะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักในโครงการ คาดว่าการก่อสร้างจะดำเนินการแล้วเสร็จ และทำการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ กฟผ.ได้ประมาณปี 2562
นายปลิวกล่าวว่า ตามที่บริษัทได้ทยอยขายหุ้นสามัญบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน)(TTW) จนปัจจุบันถือ หุ้นอยู่ TTW อยู่1,228,777,400 หุ้น หรือ 30.79% ของทุนจดทะเบียนจากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 31.55%นั้น ช.การช่างยืนยันไม่มีแผนจะขายหุ้นบริษัทดังกล่าวเพิ่มเติมอีกแล้ว โดยมองว่าสัดส่วนการถือหุ้นเหมาะสมแล้ว
ส่วนยอดงานในมือใหม่ (backlog) เพิ่มขึ้นน่าจะเกิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ใกล้จะลงนามสัญญาภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ และยังมีโครงการวางท่อส่งน้ำบางพระในช่วงไตรมาส 2 นี้ด้วย ทำให้backlogในปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปี2553 บริษัทจะมีผลการดำเนินงานเติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.39 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 89.7 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกปีนี้ผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากจากภาวะการเมือง ซึ่งทุกโครงการยังเดินหน้าต่อไปได้
|