|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลาดรถไทยร้อนแรงฉุดไม่อยู่ ตัวเลขยอดขายปรับเพิ่มทุกเดือน ปิดไตรมาสแรกทะลุ 1.66 แสนคัน เติบโตถึง 54% จนเริ่มมองไกลประเมินภาพรวมตลาดถึง 6.5 แสนคัน จากเดิมคาด 6.1 แสนคัน หากปัญหาการเมืองจบเร็ว ส่งผลไม่เพียงตลาดสดใส ไทยยังได้รับมั่นใจให้เป็นฐานการผลิตระดับโลก ปลายเดือนเม.ย.นี้ “ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี” เตรียมประกาศตั้งโรงานแห่งใหม่ในไทย มูลค่าลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีมาสด้าเข้ามาเอี่ยวเหมือนที่ผ่านมา เพื่อผลิตเก๋ง “ฟอร์ด โฟกัส” โดยเฉพาะ
รายงานข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่น หรือเจซีซี(JCC) และสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลตลาดรถยนต์ในไทยช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2553 นี้ มียอดขายจำนวนกว่า 1.66 แสนคัน เทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกันขยายตัวประมาณ 54%
ทั้งนี้หากพิจารณาแต่ละเดือนจะพบว่า โดยในเดือนมกราคมมีจำนวนกว่า 4.94 หมื่นคัน เดือนกุมภาพันธ์ทำได้ 5.41 แสนคัน และเดือนมีนาคมยอดขายขยายตัวเป็นกว่า 6.3 แสนคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาทางการเมืองวุ่นวายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงปัจจุบันก็ตาม
นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การเมืองมีผลกระทบน้อยกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากไม่เกิดความรุนแรงจนส่งผลกระทบมากๆ และจากภาพรวมเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม ถือว่ามีอัตราการเติบโตไปได้ด้วยดี จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นและจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อดูปัจจัยบวกต่างๆ แล้ว และหากปัญหาการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว คาดว่าถึงสิ้นปีตลาดจะเติบโตได้เหนือกว่าเป้าหมายที่เคยประเมินไว้ 6.1 แสนคัน และอาจจะถึง 6.5 แสนคัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของกำลังการผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน จะสามารถตอบสนองการเติบโตดังกล่าวได้หรือไม่ นับเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”
สำหรับยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรก นับว่ามีการขยายตัวในทุกประเภท โดยเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน ที่ตกลงเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่มาปีนี้ตลาดกลับฟื้นมาอีกครั้ง ด้วยการทำตัวเลขที่กว่า 7.74 หมื่นคัน เพิ่มมากถึง 56% เช่นเดียวกับกลุ่มรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีและพีพีวี ทำได้ทั้งหมดกว่า 1.18 หมื่นคัน เติบโต 67% หรือหากเฉพาะตลาดรถพีพีวีทำได้ถึง 9.2 พันคัน ปรับเพิ่มจากปีที่แล้ว 69%
ในส่วนของรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง นับว่าเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเก๋งแบบซับคอมแพ็กต์ยังคงเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 3.4 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 43.5% ซึ่งโตโยต้า วีออส ทำยอดขายได้มากสุด 1.2 หมื่นคัน ทางด้านมาสด้า2 ที่เพิ่งเปิดตัวทำตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สามารถรักษาความร้อนแรงไว้ได้ จนปิดไตรมาสแรกของปีนี้ทำยอดขายแซงหน้า ฮอนด้า แจ๊ซ คว้าตำแหน่งผู้นำตลาดรถซับคอมแพ็กต์ 5 ประตู หรือแฮ็ทช์แบ็ก ด้วยจำนวนยอดขายกว่า 3.49 พันคัน
ทั้งนี้คาดว่าตลาดเก๋งจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อล่าสุดนิสสันได้แนะนำ “มาร์ช” รถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์สู่ตลาดเป็นรายแรก ด้วยราคาเริ่มต้น 3.75- 5.35 แสนบาท ทำให้ภายหลังจากแนะนำสู่ตลาดเพียงไม่กี่สัปดาห์ สามารถทำยอดจองจากผู้บริโภคชาวไทยไปแล้วกว่า 8 พันคัน
จากความร้อนแรงของตลาดรถยนต์ไทย และความพร้อมต่างๆ ในการรองรับ จนปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถยนต์จากทั่วโลก ล่าสุดมีรายงานข่าวจากฟอร์ด มอเตอร์ส คัมปะนี ตัดสินใจจะลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย มูลค่าการลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท โดยจะประกาศการลงทุนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้
สำหรับฟอร์ดที่ตัดสินใจลงทุนในไทย นอกจากปัจจุบันเป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาคอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการลงทุนร่วมกับมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ในการตั้งโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ หรือเอเอที(AAT) 2 แห่ง โรงงานแรกผลิตปิกอัพฟอร์ด เรนเจอร์ และมาสด้า บีที-50 ส่วนอีกแห่งที่เพิ่งเปิดโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์นั่งมาสด้า2 และฟอร์ด เฟียสต้า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ซื้อหุ้นใหญ่คืนจากฟอร์ด ทำให้การดำเนินธุรกิจเริ่มแยกจากกันชัดเจน ดังนั้นเมื่อฟอร์ดมีโครงการผลิตรถยนต์ระดับโลก โมเดลเดียวผลิตทำตลาดทั่วโลก ด้วยการกระจายฐานผลิตประจำอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ(BOI) ได้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ประเภทใหม่ขึ้น เพื่อจูงใจให้บริษัทรถย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นมายังไทย
โดยบีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุน อาทิ ต้องลงทุนสร้างสายการผลิตรถประเภทใหม่ ที่ไม่เคยผลิตในไทยมาก่อน ปริมาณการผลิต 1 แสนคันต่อปี ภายใน 5 ปีแรกของการผลิต และมีมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท(ไม่รวมที่ดินและเงินหมุนเวียน) เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ คล้ายๆ กับโครงการอีโคคาร์ ยกเว้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์
จากความสอดคล้องดังกล่าว จึงทำให้ฟอร์ดตัดสินใจลงทุนในไทย จึงได้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอเมื่อปีที่แล้ว เพื่อผลิตรถยนต์ ฟอร์ด โฟกัส โฉมใหม่ ที่เป็นโมเดลระดับโลก รองรับการทำตลาดในไทยและส่งออกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นประเทศจีน และอินเดีย ที่ฟอร์ดได้ประกาศลงทุนไปแล้ว แต่รองรับเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
โดยการประกาศลงทุนในไทยครั้ง ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ได้ร่วมทุนกับมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเดิมเตรียมจะประกาศการลงทุนเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เกิดปัญหาเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของกลุ่มเหมราช ที่ฟอร์ดจะใช้สร้างโรงงานแห่งใหม่ ติดปัญหากฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด จึงได้เลื่อนการประกาศลงทุนไปก่อน
จนกระทั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่แล้ว เรื่องพื้นที่สร้างโรงงานใหม่ของฟอร์ดสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว จึงเตรียมประกาศลงทุนเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมี อลัน มูลัลลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จะบินมาแถลงข่าวลงทุน แต่ติดปัญหาเรื่องการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง จึงได้เลื่อนมาประกาศปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
|
|
|
|
|