Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
เส้นทางท่องเที่ยว 4 ชาติลุ่มน้ำโขง โอกาสที่กำลังผุดขึ้นท่ามกลางวิกฤติ             
โดย เอกรัตน์ บรรเลง
 


   
search resources

Tourism
International
Greater Mekong Subregion




ความพยายามของทุกฝ่ายที่จะผลักดันเส้นทางท่องเที่ยวใน 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ขณะนี้เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้ว

วันที่ 2-3 ธันวาคม 2552 Jiang Pusheng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำสิบสองปันนา และประธานสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศสิบสองปันนาได้นำคณะตัวแทนภาครัฐ-เอกชนสิบสองปันนา ทั้ง Chen Qizong รองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา Lu Jingquan ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา Den Xiping รองประธาน Yunnan Airport Group Co.,ltd. ฯลฯ เดินทางมาลงนามในบันทึกข้อตกลงกับสภาการท่องเที่ยวเชียงใหม่ เชียงราย

เพื่อร่วมผลักดันเส้นทางการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนร่วมกัน โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 8 ประเด็นหลักคือ

1. สำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ จะร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ร่วมกัน

2. ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันวางแผนการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม เผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยว ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางไปมาระหว่างกันให้สมดุล

3. ร่วมสนับสนุนศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการทั้ง 2 เมือง ด้วยการเปิดสำนักงานของจีนขึ้นที่เชียงใหม่ และของไทยที่สิบสองปันนา

4. ร่วมมือกันสร้างชื่อเสียงการท่อง เที่ยวร่วมกัน สร้างระบบแลกเปลี่ยนนักท่อง เที่ยว และจัดตั้งหน่วยงานควบคุมดูแลการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว วางแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ฯลฯ ร่วมกัน

5. ช่วยกันผลักดันให้การคมนาคมทางบก น้ำ อากาศ ให้นักท่องเที่ยวทั้งสอง ฝ่ายได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

6. ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่นักท่องเที่ยวประสบ เพื่อสร้างยุคทองของการท่องเที่ยวใน GMS

7. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการว่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยว ฯลฯ

และ 8. ร่วมกันจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันทุก 6 เดือน โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา (2553) ตัวแทนจาก 6 จังหวัด/แขวง ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ทั้งจากไทย สปป.ลาว สป.จีน ประกอบด้วยเมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง มณฑลหยุนหนัน (สป.จีน) เมืองเชียงราย/เชียงใหม่ (ไทย) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทาและ เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง (สปป.ลาว) ได้ร่วมกันจรดปากกาลงนามใน MOU เพื่อร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ที่เมืองจิ่งหงอีกครั้งหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นท่ามกลาง อุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุในกรุงเทพฯ และข้อถกเถียงกันระหว่างชาติต่างๆ ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ถึงปัญหาการลดลงของระดับน้ำจนกำลังจะกลายเป็นวิกฤติ

ในส่วนของจีน มีเตา หลินอิน ผู้ว่า การเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา (จิ่งหง) เป็นผู้ร่วมลงนามร่วมกับอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ สุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ เดินทางไปร่วมลงนามแทนสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ขณะที่ สปป.ลาว มีเจ้าแขวงทั้ง 3 แขวงร่วมลงนามด้วย ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเส้นทางท่องเที่ยวสายนี้ออกสู่ตลาดโลก

เป็นการมองถึงอนาคต โดยตัดตัว แปรซึ่งกำลังเป็นปัญหาเฉพาะหน้าออกไปอย่างสิ้นเชิง

สมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ ประธานสภา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย และนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย บอกว่า บันทึกข้อตกลงร่วม 6 เมืองครั้งนี้ มุ่งแก้ปัญหาทั้งภาคการท่องเที่ยว การค้า โดยเฉพาะจะผลักดันให้เส้นทาง R3a และคุน-มั่น กงลู่ เกิดผลสัมฤทธิ์ให้คนและสินค้าสามารถเดินทางผ่านเข้า-ออกได้สะดวก ลดอุปสรรคการเข้าออกเมืองของนักท่องเที่ยวทุกชาติ

พร้อมกับส่งเสริม สนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางคมนาคม ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงมาจนถึงภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะเส้นทาง R3a ที่มีบทบาททางการค้า การท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีตัวกลางที่จะเข้ามาดูปัญหา หรือผลักดันให้มีการต่อยอดการพัฒนา หลังเส้นทางแล้วเสร็จ

"ผมเชื่อว่า หลังจากตัวแทนจาก 6 หัวเมืองลุ่มน้ำโขงเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ชัดเจนอย่างนี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุน การพัฒนาเข้ามาอีกมหาศาล" สมเกียรติย้ำ

ที่สำคัญ การผลักดันในครั้งนี้จีน โดยเขตปกครองตนเองสิบสองปันนากระโดดลงมาเล่นด้วยตนเอง

ซึ่งนัยหนึ่งก็เป็นไปเพื่อผลักดัน ยกระดับให้สิบสองปันนาหรือเชียงรุ่ง/เชียงรุ้ง ขึ้นเมืองหน้าด่าน-เมืองท่องเที่ยว ทางตะวัน ตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนที่จะถูกบดบัง เมื่อ เทียบกับหัวเมืองชายแดนอื่นๆ เช่น เต๋อหง ชายแดนจีน-พม่า หรือหนานหนิง ชายแดนจีน-เวียดนาม

(อ่านเรื่อง "เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม" ในนิตยสารผู้จัด การ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ขณะเดียวกัน สิบสองปันนาก็ต้องการสร้างสิ่งดึงดูดใหม่ๆ นอกเหนือไปจากจุดเด่นเดิม คือวิถีชีวิต 13 ชนเผ่า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว 16 แห่ง โรงแรม 41 แห่ง บริษัททัวร์ 17 บริษัท และไกด์ที่ได้มาตรฐานมากกว่า 1,000 คน ตลอดจนอาหาร-แหล่งบันเทิง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจีนต่างมณฑล เดินทางเข้ามาเที่ยวมากขึ้น

เมื่อเดือนธันวาคม 2550 รัฐบาลท้องถิ่นสิบสองปันนาโดยสำนักงานการท่องเที่ยวของเมือง ทำแผนเสนอรัฐบาล กลางให้สนับสนุนให้คนจีนเดินทางเที่ยว 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงได้โดยสะดวก เริ่มจากเส้นทางสิบสองปันนา-สปป.ลาว (ถนน R3a) เข้ามาไทย แล้วย้อนกลับไปเข้าพม่าผ่านเส้นทางสาย R3b (ท่าขี้เหล็ก-เมืองลา) กลับเข้าจีนทางต้าล่อ โดยใช้เพียงบัตรผ่านแดน (Border pass)

ซึ่งจีนมีข้อตกลงร่วมกับพม่าและ ลาว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้โดยไม่ต้องอาศัยพาสปอร์ตมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ในฐานะที่เป็นเมืองที่มีชายแดนติดกัน

แต่กรณีของประเทศไทยยังต้องผ่าน หน่วยราชการอีกหลายระดับ เพราะไม่ใช่ประเทศที่มีพรมแดนติดกันเหมือนสอง ประเทศข้างต้น

"ถ้าทำได้ เฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน จะทำให้การท่องเที่ยวย่านนี้โตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1-2 เท่าตัว" Yuan Song Qing ตัวแทนการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน เคยกล่าวระหว่างหารือกับคณะผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากเชียงราย เมื่อ 2 ปีก่อน

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลกลาง ปักกิ่งที่ในรอบ 20 ปีมานี้ ได้มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของสิบสองปันนา เมืองชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้แห่งนี้ การคมนาคมสะดวกทุกเส้นทาง ทั้งทางบกผ่านถนนคุน-มั่ง กงลู่, ทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงไปถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และทางอากาศ อันเป็นไปตามนโยบายเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน

(อ่านเรื่อง "คุน-มั่น กงลู่ เส้นทางจีนสู่อาเซียน" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

ในปี 2550 ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในมณฑลหยุนหนัน อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 5 ล้านกว่าคน ได้เดินทางมาที่เชียงรุ่งหรือสิบสองปันนา ทำเงินสะพัดในปีนั้นมากกว่า 3,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 5 บาทต่อ 1 หยวน)

จนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่ Jiang Pusheng เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำสิบสองปันนาและประธานสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศสิบสองปันนา ได้นำคณะมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย พร้อมกับลงนามใน MOU พัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับสภาการท่องเที่ยวทั้ง 2 จังหวัด ได้มีการยืนยันตัวเลขอีกครั้งว่า ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังเชียงรุ่งได้เพิ่มเป็น 7 ล้านกว่าคนต่อปีแล้ว

Jiang Pusheng ยังบอกไว้อีกว่า ถ้านักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้เข้ามาเที่ยวในภาคเหนือของไทย หรือใน สปป.ลาว ย่อมทำให้การท่องเที่ยวแถบนี้เติบโตไปด้วยอีกมากแน่นอน

สอดคล้องกับคำบอกเล่าจากพนักงานต้อนรับของโรงแรม รวมถึงผู้บริหารของโรงแรมหลายแห่งในหลวงพระบาง ที่บอกกับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ราคาห้องพักของหลวงพระบางจะเพิ่มขึ้นเป็นคืนละกว่า 1,000 บาทในช่วงเทศกาลจากปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ 500-700 บาท

ช่วง "เทศกาล" ในความหมายของคนเหล่านี้ หมายรวมถึงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ที่จะมีคนจีนเข้ามาเที่ยวหลวงพระบางเป็นจำนวนมาก เพราะใช้เอกสารแค่ Border Pass เท่านั้น ก็สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวใน สปป.ลาวได้แล้ว

(อ่านเรื่อง "เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง หาใช่แค่...ไปกินมื้อเที่ยง" ในนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือ ใน www.gotomanager.com ประกอบ)

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเดินทางผ่านเส้นทางในย่านนี้ ทั้งในมิติของการท่องเที่ยวและการค้า ยังมีอุปสรรคอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบการผ่านแดนของตรวจคนเข้าเมืองและพิธีการทางศุลกากรแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับหลากหลายหน่วยงาน ทำให้ความพยายามในการแก้ไข ผลักดันให้ "คน-สินค้า" Flow เป็นไปได้ยาก

แต่หลังการลงนามร่วมระหว่างตัวแทนทั้ง 6 เมืองในลุ่มน้ำโขงตอนบนคราวนี้แล้ว

สมเกียรติเชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการคลี่คลายเร็วขึ้น เมื่อทำ MOU ร่วมกันแล้ว ผู้บริหารระดับสูง ทั้ง 6 เมือง จะนัดประชุมใหญ่ร่วมกันปีละอย่างน้อย 4-6 ครั้ง แต่ละเมืองจะตั้ง คณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลแต่ละเรื่อง ก่อนที่จะนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่แต่ละครั้งต่อไปได้

"MOU 6 เมืองลุ่มน้ำโขงตอนบนครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในรอบ 5-10 ปีของความร่วมมือในลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าอดีต ที่ผ่านมามีแต่การพบปะกันเฉยๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง"

ในส่วนของเชียงราย ก็มีวางแผนต่อยอดว่าจะทำให้ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่เป็นตลาดของคนทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

เขายังได้เสนอแนวทางพัฒนาเอาไว้ว่า ในขั้นแรกการนำนักท่องเที่ยวไทยเข้ามณฑลหยุนหนัน ขณะนี้สามารถทำได้แล้วทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพราะเส้นทางคมนาคมใกล้เสร็จสมบูรณ์ ขั้นที่ 2 การนำนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย ขณะนี้ทำได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีพาสปอร์ต ส่วนประเด็นเรื่องบัตรผ่านแดนยังจะ ต้องผลักดันกันต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และเอกชนในเชียงราย เสนอต่อรัฐบาลไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

ขั้นที่ 3 ผลักดันให้ ททท.-สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงคลัสเตอร์ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร แหล่งบันเทิง ฯลฯ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน คือไทย พม่า ลาว จีน จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับร่วมกันขึ้นมา จากนั้นทำ Road Show ในตลาดโลก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใน 4 ประเทศ

ทั้ง 4 ประเทศต้องสำรวจแหล่งท่องเที่ยว กำหนดจุดเที่ยวและโปรแกรมร่วมกัน ถ้ามีปัญหาใดๆ จะต้องแก้ไขก่อน อย่างจีนอาจต้องแก้เรื่องสุขอนามัย-ห้องน้ำ รวมถึงกฎระเบียบเรื่องการนำรถยนต์ทะเบียนไทยเข้า สป.จีนที่ต้องวางเงินค้ำประกันสูงถึง 50,000 หยวน หรือ 230,000 กว่าบาท เป็นต้น จากนั้นดึงเอเยนต์ทัวร์เข้ามาดู จึงจะเริ่มทำโรดโชว์ในตลาดโลก "การขายโปรแกรมทัวร์ ก็ต้องขายโปรแกรมทั้ง 4 ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีนขาย หรือไทยขายก็ตาม"

แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจากยุโรป-อเมริกา ไม่มีปัญหาเรื่องเอกสารผ่านแดน กำลังซื้อ และกำลังแสวงหาโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ อยู่แล้ว ซึ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงสามารถขายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

และเมื่อสามารถทำได้ในกรอบ 4 ประเทศนี้แล้ว อนาคตอาจขยายไปถึงเวียดนาม และกัมพูชา เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวกลุ่ม 6 ประเทศ GMS ต่อไปอีก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us