Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
Cartoon Character ธุรกิจที่เริ่มจากทำเล่นๆ ของ “กฤษณ์ ณ ลำเลียง”             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ทู สปอต คอมมูนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด

   
search resources

Animation
กฤษณ์ ณ ลำเลียง
ทู สปอต คอมมูนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย), บจก.
อัครัชญ์ จารุศิลาวงศ์




นานมาแล้วที่โลกสร้าง "ตัวการ์ตูน" ขึ้นมาเพื่อให้ความสุขกับเด็ก แม้เวลาผ่านไป การ์ตูนหลายตัวก็ยังคงเติมเต็มความสดใสให้กับโลกของผู้ใหญ่ แม้จะเป็นเพียง "ของเล่นๆ" หาใช่สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ตัวการ์ตูนก็ขับเคลื่อนโลกได้มหาศาล นอกจากสร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้ผู้คน การ์ตูนเหล่านั้นก็ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลให้โลกด้วย

พูดถึงตัวการ์ตูนลูกแมวเพศเมีย ตัวสีขาว ติดริบบิ้นสีแดงหรือสีชมพู ดูน่ารักหวานแหวว คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก "Hello Kitty" และก็คงมีไม่กี่คนที่ไม่รู้จัก "Mickey Mouse" เจ้าหนูสีดำ สวมกางเกงเอี๊ยมสีแดง ใบหน้ายิ้มแย้มสนุกสนานตลอดเวลา รวมถึงเจ้าหมีเหลืองตัวปุ๊กลุกผู้รักการผจญภัยอย่าง "Winnie the Pooh"

เมื่อไม่นานมานี้ สาวทั้งโลกก็ต้องเปิดใจรับการ์ตูนตัวใหม่ ซึ่งเป็นเด็กหญิงตัวน้อยลูกหลานเจ้าของร้านอาหารจีนอย่าง "Pucca" เด็กหญิงทรงพลังผู้ลุ่มหลงวิชาการต่อสู้เป็นที่สุด ขวัญใจตัวนี้เป็นน้องใหม่มาจากประเทศเกาหลี

ส่วนตัวการ์ตูนรูปกระต่ายหน้าตาดุดันมือสองข้างถือ ดาบซามูไรในแอ๊คชั่นบู๊เลือดสาด ดูน่ารักแบบโหดๆ อย่าง "Bloody Bunny" หรือเจ้าแกะหน้าง่วงที่มีขอบตาดำคล้ำด้วย โรคนอนไม่หลับอย่าง "Unsleep Sheep" และเจ้าแพนด้ากับเหล่าแพนกวินในชุดนักโทษกับแผนหลบหนีที่ผิดพลาดทุกครั้งไป อย่าง "P4 & the Escape Plan" ณ วันนี้อาจมีน้อยคนนักที่รู้ว่าตัวการ์ตูนขำๆ กวนๆ เหล่านี้เป็นฝีมือออกแบบโดยคนไทย

และมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าตัวการ์ตูนสัญชาติไทยเหล่านี้ ถูกขายเป็นลิขสิทธิ์ไปแล้ว หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล สเปน เม็กซิโก โปรตุเกส ทั้งยังส่งออกไปในหลายทวีปทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ในรูปแบบ Digital Content Download

คงแทบไม่มีใครรู้ว่า Bloody Bunny มีวางขายที่แผนกของเล่นในห้างชื่อดังของแอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น และเจ้ากระต่ายโหดตัวนี้ยังเป็นตัวการ์ตูนไทยตัวเดียวที่ได้เป็นสมาชิกตัวการ์ตูนกระต่ายของ Picto Pasma ศูนย์รวมคาแรกเตอร์การ์ตูนในประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ คาแรกเตอร์ทั้ง 3 ตัวออกแบบโดยอัครัชญ์ จารุศิลาวงศ์ Character Designer แห่งบริษัท 2SPOT Communications จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ทั้ง 3 ตัว และยังมีอีกนับร้อยตัวที่ออกแบบไว้แล้ว

แม้จะจบทัศนศิลป์ด้านการเขียนภาพ (Painting) แต่ด้วยความชอบดูการ์ตูนและชอบเขียน การ์ตูนมาตั้งแต่เล็ก ทันทีที่เรียนจบ อัครัชญ์เลือกมาสมัครงานในตำแหน่ง "Character Designer"ที่นี่ ทั้งที่ตอนนั้นเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอะไร เพราะเขาก็ไม่เคยได้ยินชื่อตำแหน่งนี้มาก่อน เพียงแต่มั่นใจว่าจะทำได้ดีเพราะได้ทำในสิ่งที่ชื่นชอบ

ความชอบการ์ตูนของอัครัชญ์อาจไม่ช่วยให้เขาได้ทำในอาชีพที่รัก หากเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผู้บริหารของ "2SPOT" ไม่เปิดใจรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านกราฟิก และไม่มีแม้แต่วุฒิการศึกษาที่ตรงกับสายงาน คุณสมบัติเดียวที่มีคือความหลงใหลคลั่งไคล้ที่ได้ขีดเขียนการ์ตูน

"วันนั้นผมถามเขาย้ำๆ ว่าชอบเขียนการ์ตูนใช่ไหม ถ้าใช่แค่นั้นก็จบ เราไม่ดูทักษะเพราะคิดว่าของแบบนี้ต้องมาลองกันดู" กฤษณ์ ณ ลำเลียง กล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการของ "2SPOT"

แม้จะเป็นลูกชายคนโตของนักบริหารใหญ่ระดับอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งเครือปูนซิเมนต์ไทย อย่างชุมพล ณ ลำเลียง แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางครอบครัว ตรงนี้นัก

กฤษณ์ก็ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านกราฟิกหรือดีไซน์แต่อย่างใด เขาจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์จาก Arizona State University และจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ สาขาบริหารกลยุทธ์และการตลาดจาก The Wharton School, University of Pennsylvania

ทั้งยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจขายลิขสิทธิ์การ์ตูนคาแรกเตอร์ แต่อย่างใด กฤษณ์เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งวิศวกรอาวุโสด้าน GSM Mobile ของบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค ในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็ไปทำงานกับบริษัท Goldman Sachs ที่ฮ่องกง และตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาเปิดบริษัทของตัวเอง คือเป็นที่ปรึกษาในบริษัท A.T. Kearney (ประเทศไทย) จำกัด

คล้ายกับอัครัชญ์ กฤษณ์มีเพียงความชื่นชอบในหนังสือการ์ตูนและคาแรกเตอร์ และมีความสุขในวัยเด็กยามที่ได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกการ์ตูนเป็นเครื่องหนุนนำ บวกกับความเชื่อมั่น ในความคิดสร้างสรรค์ทางการออกแบบของคนไทยเป็นแรงส่งให้เขาตัดสินใจเปิดบริษัทที่ทำด้านการ์ตูนคาแรกเตอร์ครบวงจร

"2SPOT Communications" เป็นบริษัทออกแบบคาแรกเตอร์ ให้บริการดาวน์โหลดคาแรกเตอร์ ขายลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และขายสินค้าคาแรกเตอร์ที่ออกแบบเอง โดยก่อตั้งในปี 2547 ซึ่งนับว่าเป็นผู้บุกเบิกรายแรกในการสร้างแบรนด์ให้กับคาแรกเตอร์เพื่อการขายลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ

4 ปีก่อน ตลาดคาแรกเตอร์โลกเกิดกระแสคลั่งไคล้คาแรกเตอร์อาหมวยจากเกาหลีใต้ "Pucca" โด่งดังไปทั่วโลกมีแฟนคลับใน 130 ประเทศ และมีสินค้าลิขสิทธิ์ของ Pucca หลากหลายกว่า 3 พันประเภท ถือเป็นตัวการ์ตูนสัญชาติเอเชียเจเนอเรชั่นใหม่ หลังจากโลกเอเชีย ปล่อยให้ Hello Kitty ครองใจคนทั่วโลกมานานหลายสิบปี

ว่ากันว่า ในปี 2548 คาแรกเตอร์น้องใหม่ตัวนี้สร้างรายได้จากทั่วโลกให้กับบริษัท Vooz ผู้สร้าง Pucca มากถึง 147 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 พันล้านบาท และมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ร่วม 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 170 ล้านบาท

"ตอนนั้นเราดู Pucca แล้วก็คิดว่าจริงๆ คนไทยก็ทำได้ แฟลชแอนิเมชั่นเราก็ทำเป็น กราฟิกเราก็ไม่แพ้ใคร ตอนแรกก็นึกว่าทำเล่นๆ แต่มาวันนี้ก็ปีที่ 6 แล้ว" กฤษณ์หัวเราะ

จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ณ วันแรก กว่า 5 ปี ผ่านมา ทุนจดทะเบียนเพิ่มสูงถึง 20 ล้านบาท

แม้ปากจะบอกว่า "ทำเล่น" แต่ดูเหมือนเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นดูจริงจังและยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็น แค่ "ของเล่นๆ" ความมุ่งหวังของเขาคือพัฒนาคาแรกเตอร์ของไทยให้เป็นสากลและทำให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกให้ได้

ย้อนไปกว่า 5 ปี วันที่อัครัชญ์เอาภาพสเกตช์ของ Bloody Bunny ซึ่งพัฒนาจากความชอบกระต่ายและความต้องการออกแบบตัวการ์ตูนฮีโร่ ผสานกับบุคลิกขัดแย้งของเขาเองซึ่งมีทั้งมุมคิกขุและแอบร้ายอยู่ในคนเดียว จึงกลายมาเป็นฮีโร่พันธุ์ใหม่ที่ดูน่ารักและโหดร้ายไปพร้อมกัน

ทันทีที่เห็นกิมมิคและลายเส้นกราฟิก กฤษณ์มั่นใจว่า ฮีโร่กระต่ายตัวนี้จะขายได้เพราะมีความต่างจากตัวการ์ตูนฮีโร่อื่นในตลาดคาแรกเตอร์ของไทย

ในกระบวนการทำงาน ดีไซเนอร์แต่ละคนออกแบบการ์ตูน 4-5 แบบ แล้วให้ทีมงานทั้งหมดออกความเห็นและโหวตหาแบบที่ถูกใจมากที่สุด เพื่อพัฒนาเป็นคาแรกเตอร์ที่สมบูรณ์ กำหนดลักษณะเบื้องต้นให้กับตัวการ์ตูนนั้นๆ เช่น เพศ, นิสัยพื้นฐาน, บุคลิกเด่น และชื่อ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์คาแรกเตอร์ที่ 2SPOT ผลิตมีทั้ง Digital Content เช่น วอลล์เปเปอร์ สกรีนเซฟเวอร์ และ E-card เป็นต้น สินค้าอุปโภค เช่น เสื้อผ้า หมวก เครื่องนอน เครื่องเขียน ถ้วยกาแฟ นาฬิกา โน้ตแพด ตุ๊กตา พวงกุญแจ แผ่นซีดี โปสต์การ์ด ของเล่น เป็นต้น โดยขายผ่านเว็บไซต์ ร้านที่สยามสแควร์ และตามห้างอีกกว่า 20 แห่ง บางครั้งสินค้าบางอย่างก็วางขายในร้าน 7-11 ด้วย

แม้จะเชื่อว่ามีศักยภาพแต่เพื่อความมั่นใจ จึงนำสินค้า Bloody Bunny ไปทดลองตลาด ที่สยามสแควร์ แหล่งวัยรุ่นและคนทำงานรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพสูง

เพราะไม่เพียงเป็นลูกค้าที่ดี คนกลุ่มนี้ยังเป็น "พรีเซนเตอร์" ที่น่าเชื่อถือในการช่วยทำให้คาแรกเตอร์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์

ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มนี้มักชอบคาแรกเตอร์แปลกๆ ที่มีเรื่องราวและเปลี่ยน แปลงตามแฟชั่นและเทรนด์ของตลาดอยู่เสมอ เพื่อทำให้ตัวการ์ตูนดูมีชีวิตชีวา มีอารณ์ และสัมผัสได้ แม้ไม่ได้ด้วยมือก็ด้วยจินตนาการ

"ยอมรับว่าผู้ผลิตสินค้าไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเสี่ยง เลยหันไปซื้อลิขสิทธิ์ การ์ตูนดังจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อจำหน่ายแทนการ์ตูนไทย เพราะเชื่อว่าทำยอดขายและกำไรได้ง่ายกว่า ดังนั้น ประเด็นสำคัญของเราคือจะทำอย่างไรให้แบรนด์การ์ตูนของเราเป็นที่รู้จักและยอมรับ คำตอบก็คือต้องทำการตลาด"

นอกจากรีเทลและ Digital Content Download อีกช่องทางที่ทำให้ Bloody Bunny กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว คือการเป็น "Station ID" ให้กับรายการ Channel V โดยไม่ใช่แค่วัยรุ่นไทยแต่ฐานแฟนคลับเจ้ากระต่าย โหดตัวนี้ยังขยายไปอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย

อีกช่องทางการตลาดที่สำคัญ ได้แก่ เว็บไซต์บริษัท, Hi5 และ Facebook ตลอดจนงานเทรดโชว์ที่เกี่ยวข้อง เช่น งาน BIG, Animation Fair และ Toy & Comic Expo เป็นต้น รวมถึงการแต่งตั้งตัวแทนดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์หลักในประเทศไทยขึ้น อันได้แก่ บริษัท A.I.(Thailand) ผู้นำเข้าลิขสิทธิ์ ตัวการ์ตูนโดเรม่อนและชินจังจากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในไทย

สำหรับการทำตลาดในต่างประเทศ กฤษณ์ใช้วิธีออกงานแฟร์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ที่จัดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เช่น NY Licensing, HK Licensing Tokyo Animation Fair และ Singapore Toy, Game & Comic เป็นต้น ซึ่งหลายงาน 2SPOT ถือเป็นรายแรกของเมืองไทยที่ยอมจ่ายค่าบัตรราคาแพงเพื่อเข้างาน อีกทั้งยังใช้กลยุทธ์สร้างสัมพันธ์อันดีกับตัวแทนลิขสิทธิ์ (Licensing Agent) ในประเทศต่างๆ

ครั้งหนึ่งตัวการ์ตูนของ 2SPOT เกือบกลายเป็นแอนิเมชั่นในค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Cartoon Network เมื่อบริษัทหลุดเข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือกคาแรกเตอร์จากข้างนอกมา ใช้ในบริษัท แต่แล้วโปรเจ็กต์นี้ก็พับไป หลังจากที่ Cartoon Network สร้างตัวการ์ตูน Ben Ten ขึ้นมาได้

หลังจากทำธุรกิจมากว่า 5 ปี ดูเหมือนเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทที่เน้นรายได้จากลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์เป็นหลักนั้นจะเริ่มเห็นเค้าลางขึ้นบ้างเมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายมาซื้อลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนของ 2SPOT เพื่อไปทำโปรโมชั่นหรือ เป็นแพ็กเกจให้สินค้า

ในจำนวนนั้นมีนมโฟร์โมสต์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ตัว Bloody Bunny ไปเป็นลายข้างกล่องนม และ K-Bank ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ไปเป็นลายบนบัตรเครดิต รวมถึงการขายลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์รูปแบบ Digital Content ให้โทรศัพท์มือถือค่ายโซนี่อิริคสัน และไอ-โมบาย

จากวันแรกถึงวันนี้ 2SPOT มีคาแรกเตอร์ออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ตัว แต่มีเพียง 10 คาแรกเตอร์ที่มีศักยภาพในการทำตลาด โดยในบรรดา 10 ตัวนี้ Bloody Bunny เป็นตัวทำรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุดถึงราว 50% ของรายได้ทั้งหมด โดยมี P4 และ Unsleep Sheep ผลัดกันเป็นอันดับสองอย่างทิ้งห่าง

กฤษณ์มักเปรียบเทียบ 2SPOT กับบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่อย่าง Sanrio ที่แม้จะมีคาแรกเตอร์มากกว่า 450 ตัว แต่มีเพียง Hello Kitty ที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก และสร้างรายได้ให้บริษัทไม่น้อยกว่า 80%

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา บริษัท 2SPOT มีรายได้กว่า 10 ล้านบาท โดยกว่า 80% เป็นรายได้จากในประเทศ เพราะการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศในล็อตใหญ่เพิ่งเริ่มต้น เช่นเดียวกับการขายลิขสิทธิ์ ในประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มก้าวสำคัญก้าวแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว

"ธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูนระยะยาวแต่ก็กินยาว ถ้าเริ่มขายลิขสิทธิ์ได้แล้วก็จะขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจริงๆ อุตสาหกรรมนี้ก็ไม่เคยตก ไม่ว่าตลาดในประเทศหรือตลาดโลก เพียงแต่ใครจะพัฒนาตัวการ์ตูนไปชิงส่วนแบ่งได้มากได้น้อย แต่น่าเสียดายที่คนไทยมีส่วนแบ่งตรงนี้น้อยมาก" กฤษณ์กล่าว

จากข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูนบ้านเราอยู่ที่ปีละกว่าหมื่นล้านบาท แต่ก็เทียบไม่ได้กับขนาดตลาดลิขสิทธิ์การ์ตูนทั่วโลกที่สูงเกือบ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 ล้านล้านบาท โดยตลาดที่เฟื่องฟูที่สุดต้องยกให้ "ฮอลลีวูด" หรือตลาดอเมริกา

ในบริษัท 2SPOT กฤษณ์มีความฝันอันสูงสุดอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การพาตัวการ์ตูนไทยของเขาเข้าไปบุกตลาดอเมริกาได้สำเร็จ เพราะถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่ก็เข้ายากมาก การทำให้ Bloody Bunny และคาแรกเตอร์ของเขามีเส้นทางเดินเหมือน Hello Kitty คือแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปีแล้ว แต่เจ้าเหมียวหวานแหววตัวนี้ก็ยังขายได้ขายดี

นิตยสารฟอร์บ ปี 2547 รายงานว่า Hello Kitty ทำรายได้ ราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 แสนล้านบาท เป็นรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เกือบ 9 พันล้านบาท แถมยังมีข่าวแว่วว่าบิล เกตส์ สนใจเสนอซื้อสิทธิ์ (right) ในแบรนด์ "คิตตี้" ด้วยราคาสูงถึง 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท

ความนิยมใน Hello Kitty ทำให้เกิดสินค้าตราแมวคิตตี้นานาชนิดในท้องตลาด นับตั้งแต่การ์ดอวยพร ผ้าขนหนู เครื่องปิ้งขนมปัง และสินค้าอื่นอีกร่วม 5 หมื่นชนิด ตลอดจนทำให้เกิดสวนสนุกภายใต้ชื่อ "Sanrio" อีกด้วย

แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันที่ Bloody Bunny, Unsleep Sheep, P4 หรือคาแรกเตอร์อื่นของ 2SPOT ก้าวขึ้นแท่นเทียบเท่าการ์ตูนคลาสสิกของโลกอย่าง Hello Kitty กฤษณ์คงต้องฝ่าฟันอุปสรรคบนหนทางนี้อีกหลายครั้งและคงต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอีกหลายเพลา ...แต่อย่างน้อยความหวังก็ยังพอมี

เมื่อกลับไปดูจุดเริ่มต้นของบริษัท Sanrio เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน Hello Kitty จะพบว่าบริษัทนี้ก่อกำเนิดขึ้นจากความชอบ อ่านและเขียนการ์ตูนของผู้ก่อตั้งคือ Tsuji...เช่นเดียวกับกฤษณ์

มีบทพิสูจน์หลายต่อหลายครั้ง เมื่อธุรกิจเกิดจากความชอบ ที่พัฒนากลายเป็นความหลงใหลคลั่งไคล้ จนเป็นแรงผลักดันให้คน คนหนึ่งสร้างธุรกิจจากสิ่งที่ตนรัก ธุรกิจนั้นมักจะนำมาซึ่งความสำเร็จ...แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเชื่อมั่นในความคิดและความฝันนั้น แล้วทำให้กลายเป็นจริง!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us