Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2530
จิม ทอมป์สันไหมไทยบนจุดเปลี่ยนโค้ง             
 


   
www resources

โฮมเพจ จิม ทอมป์สัน (อุตสาหกรรมไหมไทย)

   
search resources

อุตสาหกรรมไหมไทย, บจก
จิม ทอมป์สัน
Silk




จิม ทอมป์สัน ได้สมญาว่า KING OF THAI SILK ชื่อของเขากลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีค่า GOODWILL สูง ภายหลังหายตัวลึกลับไปในป่ามาเลเซียเมื่อ 20 ปีก่อน เรื่องราวชีวิตของเขาอย่างละเอียดได้จากหนังสือของ WILLIAM WARREN แต่ธุรกิจไหมไทยในประเทศไทยที่เขาวางรากฐานไว้ "ผู้จัดการ" ได้นำเสนอเนื้อหากะทัดรัด ครั้งแรก ณ ที่นี่….

"นายห้างหายตัวลึกลับ มีส่วนทำให้กิจการจิมทอมป์สันรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว" พนักงานเก่าแก่ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย อันเป็นชื่อบริษัทที่คนรู้จักน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชื่อ "Jim Thompson" หลายเท่ากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ทีเล่นทีจริง

หากพิจารณาอย่างละเอียดอ่อนแล้ว สมมติฐานข้อนั้นนักการตลาดต้องชั่งใจอย่างมาก?!

เพราะจากบ่ายวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2510 หรือเพียง 10 วันหลังพิธีเปิดเรือนไทย อาคารแห่งใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย บริเวณมุมถนนสุรวงศ์ เจ้าของกิจการผู้บุกเบิกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้หายตัวลึกลับจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 20 ปีเต็มแล้ว กิจการเพียงแต่เรือนทรงไทยไม่ใหญ่โต ได้ขยายเพิ่มตึก 6 ชั้นด้านหลัง มีโรงงานทอผ้าไหมที่โคราช 200 กว่ากี่ และในไม่ช้านี้จะมีโรงงานพิมพ์ผ้าตึก 6 ชั้น ริมถนนสุรวงศ์ ห่างจากที่เดิม 800 เมตร

จากยอดขายปีละไม่กี่สิบล้าน ในปี 2510 ได้ทะยานเป็น 455 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2529 จากผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศไม่กี่ประเทศ เพิ่มเป็นเกือบ 40 ประเทศในจุดสำคัญ ๆ ของโลก

ไม่มีเหตุการณ์ครั้งใดสะเทือนใจผู้ถือหุ้นและพนักงานรุ่นแรกของจิม ทอมป์สัน เหมือนเมื่อนายห้างทอมป์สันหายไปลึกลับ และปกคลุมอยู่ในอารมณ์เนิ่นนาน ในอีกทางหนึ่งได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างสรรค์งานจนกิจการขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ

ความคำนึงเกือบหายไปจากความทรงจำครั้งนั้นแล้ว หากไม่มีเหตุการณ์ที่ปะทุชัดเจนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2528 บ่งชี้ถึงความแตกร้าวลึก ๆ ในบรรดาผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ร่วมปลุกปั้นกิจการมาตั้งแต่เริ่มแรก

ความขัดแย้งในเบื้องแรกมาลงเอยที่ศาล วงการธุรกิจคาดหมายต่อว่าคงอาจขยายตัวออกไปอย่างคาดไม่ถึง?

จากความขัดแย้งนี้ มีปริศนาตามมาก็คือ จะ "สั่นคลอน" ความเป็นปึกแผ่นอันรุ่งโรจน์ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยหรือไม่อย่างไร?

บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยก่อตั้งเมื่อต้นปี 2494 โดยมีสองแรงแข็งขัน JIM THOMPSOM และ GEORGE BARRIE "ในช่วงนั้นเอง เพื่อนคนหนึ่งชื่อจอร์จ แบร์รี่ เดินทางมาจากแคลิฟอร์เนียผ่านมาที่กรุงเทพฯ เขาเป็นนักธุกิจเต็มตัว ชอบลงทุนในกิจการแปลก ๆ แต่เป็นธุรกิจ เขาเห็นกิจการทอผ้าของจิม ทอมป์สัน และเรื่องราวของไหมไทย เขาสนใจ ผลักดันในการก่อตั้งบริษัทเป็นจริงขึ้น โดยจะเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทด้วย" WILLIAM WARREN เขียนในหนังสือ JIM THOMPSON, The legendary America of Thailand ซึ่งเป็นหนังสือเล่มพิมพ์ขายภายหลังการหายตัวของจิม ทอมป์สันไม่นาน

หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดมากทีเดียว อีกตอนหนึ่งกล่าวว่าบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25,000 เหรียญสหรัฐ (5 แสนบาทในขณะนั้น) แบ่งออกเป็น 500 หุ้น ๆ ละ 50 เหรียญสหรัฐ (1,000 บาท) โดยครั้งแรกผู้ถือหุ้นจ่ายค่าหุ้นเพียง 25% "และก็จ่ายครบ 100% จากนั้นมาอีก 8 ปี โดยเงินปันผลจากกำไร"

หุ้นจำนวน 500 หุ้นตามสูตร 51% ถือโดยคนไทย ที่เหลืออีก 49% ทอมป์สันและแบร์รี่ถือเท่ากับคนละ 18.2% หรือคนละ 91 หุ้น จากนั้นไม่นานทอมป์สันได้ยกหุ้นของตนเองจำนวน 7 หุ้นให้คนอื่นไปอีก อาทิ เช่น ผู้ทอผ้าไหมคนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างบ้านทรงไทยของเขา

จนถึงปี 2510 ช่วงปีที่เขาจากไปลึกลับ จิม ทอมป์สัน มีหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยเพียง 84 หุ้นหรือ 16.4% เท่านั้น

กิจการได้รุ่งเรืองขึ้นเรื่อย WILLIAM WARREN เขียนบรรยายในช่วงนายห้างมีชีวิตอยู่ว่า ผู้ถือหุ้นลงเงินครั้งแรก 250 บาท/หุ้น (จ่าย 25% ของมูลค่าหุ้น) เพียงปีแรกก็ได้รับเงินปันผล และจากนั้นมาทุกปีถึงปี 2510 (ความจริงต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็จ่ายไม่ว่างเว้นแม้ปีเดียว) มูลค่าหุ้นเริ่มจาก 250 บาท/หุ้นได้เพิ่มเป็น 860 เหรียญสหรัฐ/ต่อ (ประมาณ 17,200 บาท/หุ้น)

พิจารณาในแง่ยอดขายได้เพิ่มจากนับล้านบาทในระยะเริ่มแรกเป็นประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาท ในวันที่นายห้างจากไป

หนังสือเล่มนี้พยายามบรรยายถึงความเสียสละของนายห้างจิมทอมป์สันอย่างมาก นับตั้งแต่หุ้นของตนเองในกิจการลดลง รายได้ของนายห้างก็ไม่ได้เพิ่มหรือมากเท่าที่ควรจะเป็น ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจิม ทอมป์สันมีรายได้ปีละประมาณ 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 60,000 บาท/ปี หรือเพียงเดือนละ 5000 บาทเท่านั้น และในวันที่เขาหายตัวลึกลับไปที่ CAMERON HIGHILAND ประเทศมาเลเซีย เขามีรายได้จากบริษัทประมาณ 660,000 บาท บวกกับเงินโบนัสเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม WARREN มิได้พูดถึง จอร์จ แบร์รี่อีกเลย เพียงแต่พูดไว้ในตอนต้นว่า "well-to-do and adventurous minded businessman" ซึ่งแตกต่างกับนายห้างสะสมของเก่า นักโบราณคดี สถาปนิกสร้างบ้านทรงไทยอย่างวิจิตรพิสดาร แทบไม่มีความเป็น businessman เอาเสียเลย

บทบาทในกิจการของจอร์จ แบร์รี่ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ นอกจากข้อมูลพื้น ๆ ว่าเขาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจนเขาตายไปก่อนบริษัทตำแหน่งนั้นจึงกลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงภรรยาเขาเท่านั้น

แต่สิ่งที่แบร์รี่ได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงผลตอบแทนกรรมการที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เขายังได้ชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ล่าสุดมีมากถึง 28.4% เพิ่มจากเดิมถึง 10% เต็ม "ผู้จัดการ" ไม่ทราบว่าซื้อจากใคร แต่เท่าที่ตรวจเอกสารผู้ถือหุ้นครั้งแรกก่อตั้งบริษัทกับปัจจุบันได้พบข้อสังเกตว่า ท้าวแพง ชนะนิกร ซึ่ง WILLIAM WARREN ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่าเป็นเพื่อนกับนายห้างคนหนึ่ง ชื่อนี้เคยถือหุ้น 40 หุ้นหรือ 8% ในครั้งแรกได้อันตรธานไปแล้วในปัจจุบัน

ชุมชนบ้านครัว แห่งพักอาศัยของชาวอิสลามกลางกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของจิม ทอมป์สันไหมไทย ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ทอผ้าไหมเป็นงานอดิเรก ต่อมานายห้างจิม ทอมป์สันมาแนะนำ ส่งเสริมพัฒนาเป็นอาชีพอย่างแท้จริง ด้านหนึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการย้อมสีสรร และลวดลาย อีกด้านหนึ่งรับซื้อไหมไทยหาตลาดให้ เป้าหมายในช่วงนั้นคือ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในที่สุด ชุมชนบ้านครัวได้กลายเป็นแหล่งผลิตไหมไทยขึ้นชื่อ ในเวลาต่อมานายห้างได้นำไหมไทยขึ้นโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งนายห้างมีความผูกพันในฐานะผู้ร่วมทุนคนหนึ่งในขณะนั้น 3 ปีที่ไหมไทยถูกแนะนำจากปากต่อปากของชาวต่างประเทศ จนทำให้นายห้างมั่นใจขยายกิจการ ประจวบเหมาะกับมีทุนจากจอร์จ แบร์รี่ สมทบจึงได้ตัดสินใจตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูป เปิดร้านอยู่ริมถนนเจริญกรุง เป็นห้องแถวคูหาเดียว จากจุดยืนตรงนั้น เป็นเวลาประมาณ 5 ปี ร้านจิม ทอมป์สันได้ขยายกิจการเช่าตึกแถว 2 คูหาฝั่งตรงข้ามจากร้านเดิม พร้อมๆ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์พิมพ์ผ้าครั้งแรก

ย่นย่อประวัติในช่วง 10 ปีต่อจากนั้นถือเป็นช่วงสะสม GOODWILL ของไหมไทยจิม ทอมป์สัน นายห้างเดินทางต่างประเทศ พกไหมไทยเร่ขายและแนะนำเป็นประจำ จากถนนเจริญกรุงก้าวกระโดดขึ้นตึกไทย ริมถนนสุรวงศ์ในปี 2510

การวางรากฐานของนายห้างจิม ทอมป์สันก็จบลงแค่นั้น

อันเป็นเวลาใกล้เคียงกับชุมชนบ้านครัวเริ่มเสื่อม ข้อสมมติฐานจากคนคลุกคลีบ้านครัวก็ว่าเป็นผลกระทบจากวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ในเวลาเดียวกันนั้น ชุมชนทอผ้าไหมที่กระจายทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีการพัฒนาต่อเนื่องทดแทนมาก่อนแล้ว ดังนั้นการสูญเสียชุมชนผลิตไหมไทยชั้นหนึ่งของไทยในย่านกรุงเทพฯ จึงดูเหมือนไม่กระทบกระเทือนบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย

อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งผลิตไหมไทยแห่งใหม่ป้อนจิม ทอมป์สันอย่างเป็นการเป็นงานหลังนายห้างจากไปประมาณ 5 ปี เป็นต้นมา จวบจนทุกวันนี้

ปี 2518 บริษัทซิลโก้การ์เม้นท์ตั้งขึ้นเพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นการรกรากขยายชนิดผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ มูลค่าเพิ่ม

ซิลโก้การ์เม้นท์ เริ่มต้นจากจักรเย็บผ้าเพียง 20 ตัว ได้เพิ่มเป็น 100 ตัวในปัจจุบัน และกำลังขยายเป็น 200 ตัวในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้พร้อมกับการโยกย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ตึก 6 ชั้นริมถนนสุรวงศ์ ห่างจากที่เดิมประมาณ 800 เมตร เพราะตึก 6 ชั้นหลังบ้านไทยคับแคบเกินไปแล้ว

ปี 2521 ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยและการพิมพ์ผ้า ดำเนินกิจการพิมพ์ผ้าโดยร่วมทุนกับบริษัทพิมพ์ผ้ามีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมันชื่อ TAUNUS TEXTILERUCK ZIMMER GBH & CO. ในอัตราส่วนไทย/เยอรมัน 75/25 ตั้งอยู่ที่ถนนเทพารักษ์ สมุทรปราการ

เดิมรับจ้างพิมพ์ผ้า 40% ของงานที่เหลือจากงานพิมพ์ผ้าของจิม ทอมป์สัน แต่ปัจจุบันมีเวลาเหลือเพียง 20% เท่านั้น สำหรับรับงานนอกเพราะการขยายตัวของจิม ทอมป์สันไหมไทยไม่หยุดยั้ง

อีกเพียง 2 ปี (2523) จากนั้น บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ได้เปิดโรงงานทอผ้าของตนเองขึ้นที่ อ. ปักธงไชย เริ่มจากไม่กี่กี่จนถึงประมาณ 240 กี่ในปัจจุบัน สามารถผลิตผ้าไหมได้ประมาณ 4 แสนหลาต่อปี อันเป็น 60% ของผ้าไหมจิม ทอมป์สันขายหน้าร้านริมถนนสุรวงศ์และส่งออกต่างประเทศ

ภายหลังนายห้างจากไป ชื่ออุตสาหกรรมไหมไทย อันเป็นชื่อที่จิม ทอมป์สัน ตั้งขึ้นได้ปรากฏรูปร่างชัดเจนตามจินตภาพทีละน้อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ แจ่มชัดเจิดจ้าแล้ว !!

"แต่แรกผู้ซื้อก็รู้กันว่าไหมจากจิม ทอมป์สัน แตกต่างจากร้านอื่นอย่างไร เราไม่ถึงกับต้องปั๊มชื่อในผืนผ้า แต่สักประมาณ 10 ปีมานี้ ชื่อนี้จึงถูกติดหราในผ้าไหมทุกเมตรจากร้าน รวมไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูปชนิดอื่น ๆ" ผู้บริหารจิม ทอมป์สัน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

GOODWILL มีค่าเพิ่มขึ้น ๆ พร้อมกับอุตสาหกรรมไหมไทยได้ก่อรูปอย่างชัดเจนในแง่ของการลงทุนครบวงจร ล่าสุดนี้บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยกำลังดำเนินโครงการสาวไหมด้วย เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียเส้นไหม ในขณะปริมาณผลิตไหมไทยจริง ๆ ลดลงอย่างน่าวิตก

อุตสาหกรรมครบวงจรก็ยังเอกลักษณ์เดิมไว้ ยังคงงานที่ต้องใช้มือ (HAND-MADED) อยู่เช่นเดิม เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็นงานศิลปะ เป็นหัตถกรรมดั้งเดิม เครื่องจักรทันสมัยมิอาจเข้าแทนที่ทั้งหมด ทั้งในแง่ความรู้สึกของผู้บริโภค ชอบไหมไทยเพราะเป็น HAND MADED นี่เอง

ทิศทาง 20 ปีหลังจาก นายห้างจิม ทอมป์สันจากไป เป็นทิศทางของอุตสาหกรรมผ้าไหมครบวงจร เป็นสภาพจากผู้ค้ามาเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมด ชาวบ้านทอผ้าไหมค่อย ๆ หายหน้าหายตาไป ลูกหลานของเขากลายเป็นคนงานในโรงงานของจิม ทอมป์สัน

จะเป็นเจตนารมย์ของนายห้างหรือไม่? ไม่ทราบ แต่ธุรกิจคงเป็นธุรกิจ ตามแนวคิดของจอร์จ แบร์รี่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ก่อตั้งคนหนึ่งอย่างแท้จริง

จิม ทอมป์สัน เป็นนักธุรกิจเข้มแข็งมากองค์กรหนึ่ง ดำเนินนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและเน้นหนักมากกว่าด้านการตลาด

QUALITY CONTROL เป็นนโยบายเริ่มตั้งแต่สมัยนายห้างจิม ทอมป์สัน รับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านทอผ้าไหม นายห้างกำหนดคุณภาพผ้าอย่างเข้มงวด เช่น ทอแน่น สีสัน ลวดลายงดงามจนกระทั่งต้องโดดลงแนะนำเทคนิคของการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การก่อตั้งโรงงานทอผ้าไหมเอง โรงพิมพ์ผ้าและล่าสุดโครงการสาวเส้นไหมจากรังไหมซื้อจากชาวบ้านมาตีเกลียว แก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอ โดยจะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาดำเนินการ แผนการล่าสุดนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2531

PRODUCT LINES หากเปรียบปริมาณการทอผ้าผืนผ้าไหมที่เพิ่มขึ้นกับยอดขายของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยแล้ว จะพบข้อเท็จจริงประการสำคัญประการหนึ่งคือ สิ่งหลังนำหน้าและทิ้งห่างมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้เนื่องมาจาก PRODUCT LINE ได้เพิ่มขึ้น ๆ ไม่หยุด การเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ เริ่มจากผ้าพันคอ เนคไท ตั้งแต่สมัยนายห้างจนมาถึงเสื้อผ้า หมอน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากมายในปัจจุบัน ทำให้มูลค่าเพิ่ม (VALUE ADDED) เพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น การตั้งโรงงานซิลโก้ และอีกไม่ช้าจะขยายไปอยู่ในสถานที่กว้างขวางกว่า เพื่อเป้าหมายนี้โดยตรง

GOOD DESIGN ผลพวงต่อเนื่องจนก่อรูปเป็นแผนกงานล่าสุดของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เรียกกันกว้าง ๆ ว่า แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ แท้ที่จริงขอบข่ายงานเพียงการออกแบบ (DESIGN) ผลิตภัณฑ์ในเชิง Comercial Art แผนกงานตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพนักงานร่วม 20 คน และแน่นอนดีไซเนอร์หัวหน้าเป็นชาวต่างประเทศ อันเนื่องมาจากไหมไทยของจิม ทอมป์สัน นั้น ตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ

ไหมไทย จิม ทอมป์สัน จึงได้ชื่อว่ามีคุณภาพที่ดี และงดงามยืนยงตราบเท่าทุกวันนี้

ด้านการตลาด บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยจะมีเพียงตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (Sole Agent) ในแต่ละประเภท โดยจะเน้นในประเทศที่มีผู้บริโภคมากพอ Sole Agent จะต้องวางเป้าหมายในการขายสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% ต่อปีเป็นอย่างน้อย ยกเว้นบางประเทศที่บริโภคสินค้านี้มากเป็นพิเศษเช่นในสหรัฐอเมริกาอาจจะเป็น 15-20% การเปลี่ยนแปลง Sole Agent มีน้อยมาก นอกเสียจากว่ายอดสินค้าตกต่ำนาน ๆ อย่างไม่มีเหตุผล

Jim Thompson ได้กลายเป็น Trademark อันมีค่า Goodwill เพิ่มขึ้น ๆ โดยคาดไม่ถึง ต่อมาจึงกลายเป็นทรัพย์สินมีค่ามากชิ้นหนึ่งของตระกูล Thompson ต่อไปในอนาคตสิ่งนี้อาจจะเป็น "ไพ่" ใบสำคัญ หากมีปัญหาความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน

และเพราะการจากไปอย่างลึกลับของนายห้าง จิม ทอมป์สัน เป็นข่าวที่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศให้ความสนใจวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานา การประโคมข่าวต่อเนื่องกลายเป็นการโฆษณาไหมไทย จิม ทอมป์สัน อย่างช่วยไม่ได้

ยอร์จ แบร์รี่ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2527 แคโรไลนา วินสตัน แบร์รี่ ภรรยาจึงได้รับแต่งตั้งกรรมการแทน จนถึงเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2528 บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ลงมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายนปีเดียวกัน ก็ได้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอีกครั้ง ข้อใหญ่ใจความเพื่อยืนยันมติเพิ่มทุนในการประชุมครั้งก่อน

ในการประชุมครั้งนี้ ศรีลำพูน ธรรมเกษม ผู้ถือหุ้น 400 หุ้นหรือ 0.0002% ได้เสนอในที่ประชุมลงมติถอดถอน คาโรไลนา แบร์รี่ออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยเสนอแต่งตั้ง นาท ชัยเจริญ เข้าแทน ศรีลำพูน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า แบร์รี่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถอุทิศเวลา และปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้อย่างเต็มที่และระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปีแบร์รี่ไม่ได้ช่วยกิจการของบริษัทเท่าที่ควร

นาท ชัยเจริญ เคยเป็นเลขานุการส่วนตัวนายห้างจิม ทอมป์สัน เมื่อสมัยนายห้างยังมีชีวิต ปัจจุบันถือเป็นพนักงานคนไทยเพียง 1 ใน 3 คนที่เคยทำงานร่วมกับนายห้าง อายุเลยวัยเกษียณแล้ว แต่บริษัทยังจ้างให้ทำงานครึ่งวัน

จากจุดนี้ คาโรไลนา แบร์รี่จึงตัดสินใจพึ่งศาลแพ่งฟ้องข้อหาละเมิด และเรียกสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,016,001 บาท ต่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย กับพวกรวม 12 คน ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทไปจนถึงกรมทะเบียนการค้าและพนักงานรับจดทะเบียน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2529

แบร์รี่ต่อสู้ว่าการประชุมครั้งนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ระบุว่ามีวาระตอนถอนหรือแต่งตั้งกรรมการ

สินไหมทดแทนที่แบร์รี่เรียกนั้น รวมตั้งแต่ค่าบำเหน็จกรรมการปีละ 1 แสนบาท ไปจนกว่าจะถึงอายุ 85 หรืออีก 26 ปี ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-สหรัฐ-อเมริกา อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งทุกปี จนถึงอายุ 85 ปี ค่าที่พักระหว่างพำนักในประเทศไทยที่โรงแรมโอเรียลเต็ล ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ๆ ละ 2 สัปดาห์ และค่าสินไหมทดแทนความเสียหายด้านชื่อเสียงอีก 20 ล้านบาท

เป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว จนผู้ตรวจสอบบัญชีต้องบันทึกไว้ในงบการเงิน เมื่อสิ้นปี 2529 ด้วย

ผู้สันทัดกรณีกล่าวถึงลักษณะพิเศษ โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย 2 ประเด็น หนึ่ง-แม้จะเป็นไปตามกฎหมาย กำหนดว่าหุ้นชาวต่างประเทศไม่เกิน 49% ก็ตาม แต่โครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทนี้ กลุ่มคนไทยเป็นลักษณะ "เบี้ยหัวแตก" มีผู้ถือหุ้นประมาณ 70 คน กระจายกันไป มากที่สุดไม่เกิน 10% เช่น ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคลและครอบครัว (8%) หรือมีเซียม ยิบอินซอย (3%) ส่วนชาวต่างประเทศนั้นค่อนข้างเป็นก้อนใหญ่ ๆ อยู่ 2 กลุ่ม ครอบครัวแบร์รี่ 24.4% ตระกูลทอมป์สัน (บริษัทวีวเวอร์ส อิสเทอร์น และเฮนรี่ บี ทอมป์สัน) 16.86%

"หุ้นคนไทยอีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานเก่าแก่ที่ภักดีต่อนายห้างจิม ทอมป์สัน อีกนับ 10%" ผู้สันทัดกรณี ซึ่งติดตามความเป็นไปของบริษัทนี้มาตลอดกล่าว

สอง- ปกติกฎหมายไทยมิได้กำหนดชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นจำนวนเท่าใดจึงจะมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งกรรมการ แต่ในทางปฏิบัติ (ธรรมเนียม) ถือหุ้นเพียง 10% ก็ควรจะมีกรรมการรักษาผลประโยชน์ของตน

"กรณีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งกลุ่มเสียงข้างมากเกิน 51% เลือกกรรมการจากฝ่ายตนเท่านั้นเข้าบริหารกิจการ โดยไม่สนใจเสียงข้างน้อย นั่นแสดงว่า บริษัทมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น" เขาสรุป

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย กลุ่มผู้ถือหุ้นมากที่สุดตามกฎหมาย 24.4% มีกรรมการรักษาผลประโยชน์ของตนเพียงคนเดียวตลอด ก็ถือว่าไม่มีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว หรือหากพิจารณาในแง่บทบาทหรือการทำงานอันอันเป็นปกติของสังคมธุรกิจไทยที่มิได้พิจารณาสำคัญไปกว่าครองหุ้นในมืออยู่แล้ว ผู้สังเกตการณ์หลายคนมักมองเรื่องที่เกิดขึ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกประหลาดพอสมควร

"เท่าที่ทราบ ทายาทของนายห้างจิม ทอมป์สัน ไม่ค่อยจะชอบมิสซิสแบร์รี่" ผู้อยู่วงการว่ากันอย่างนั้น แต่ไม่ยอมเปิดเผยถึงรายละเอียดเรื่องดังกล่าว

เคยมีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลกนั้น แทนที่จะเป็น brandname ไทยๆ กลับกลายเป็นเป็นชื่อฝรั่ง (Jim Thompson) เช่นเดียวกัน เมื่อพูดถึงไหมไทย จิม ทอมป์สันซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย คนที่ฟังคิดว่า ฝรั่งคงจะเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นข้างมาก) ความจริงคนไทยถือหุ้นมากกว่า แต่คนที่มีอำนาจบริหารสูงสุดในกิจการนี้กลับเป็นฝรั่งอีก

หากพิจารณาเฉพาะในแง่ธุรกิจ หุ้น 51% ของคนไทยสมควรจะมีส่วนในการบริหารกิจการนี้ และไม่เป็นเช่นนั้นมีคนตั้งข้อสังเกตจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของคนไทยแบบ "เบี้ยหัวแตก" ไม่สามารถรวมกันติดนั่นเอง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นฝรั่งเป็นก้อนใหญ่ ๆ และง่ายต่อการรวมตัวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยของไทยไม่น้อยภักดีต่อครอบครัวทอมป์สันเสียด้วย

เหตุการณ์เช่นนั้นผ่านไปแล้ว ชนิดไม่หวนกลับ เช่นเดียวกับการจากไปของนายห้างจิม ทอมป์สัน

เป็นจุดปะทุครั้งแรกของความ "เปราะบาง" ของบริษัท เป็นอาณาจักรที่สร้างมาด้วยความยากลำบากของนายห้างจิม ทอมป์สัน

ตัวเร่งอยู่ที่ไหน?

"อยู่ที่ทีท่าของผู้ถือหุ้นต่างประเทศ 2 ฝ่ายในคดีว่าจะเป็นอย่างไร ประนีประนอมหรือไม่" นักธุรกิจไหมไทยคนหนึ่งกล่าว

อยู่ที่ความภักดีของผู้ถือหุ้นรายย่อยคนไทย ต่อตระกูลทอมป์สัน อยู่ที่ตระกูลแบร์รี่ซึ่งแทบไม่เคยแตะต้องธุรกิจนี้มาก่อน จะใช้เวลาเรียนรู้อีกนานแค่ไหน

และก็อยู่อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เราให้นักธุรกิจทั้งหลายอยากเข้าเป็นเจ้าของกิจการ

นักธุรกิจจับตามองกันอย่างนั้นจริง ๆ!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us