วันก่อนได้ยินข่าวที่อาจจะทำให้วงการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์จะต้องสั่นสะเทือนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกูเกิ้ลประกาศว่า พวกเขาจะให้บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นโครงการทดลองทำให้กับหลายๆ เมืองทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน นั่นหมายความว่า กูเกิ้ลกำลังจะกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP รายใหม่ โดยจะเริ่มต้นให้บริการอินเทอร์เน็ตกับลูกค้าจำนวนเล็กน้อยก่อน (ประมาณ 50,000-500,000 รายขึ้นอยู่ว่าพวกเขาจะเลือกให้บริการที่เมืองไหนบ้าง) ซึ่งกูเกิ้ลจะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตนอกเหนือจากบริษัทโทรศัพท์กับเคเบิลทั่วๆ ไปที่ให้บริการอยู่
จริงๆ แล้ว การประกาศตัวเข้าสู่วงการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของกูเกิ้ลครั้งนี้ อาจจะไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรมากมายนัก ถ้าเราติดตามการเคลื่อนไหวของกูเกิ้ลอยู่เรื่อยๆ เราจะพบว่ากูเกิ้ลได้ไล่ซื้อบริษัทที่ให้บริการไฟเบอร์ออพติกความเร็วสูงที่ตั้งขึ้นในช่วงอินเทอร์เน็ตบูม ประมาณปลายทศวรรษ 1990 อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้ได้วางเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกไว้จำนวนมากแต่ไม่ได้เอาไปใช้งาน ให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นที่จับตามองของเหล่านักสังเกตการณ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และพวกเขาก็มองว่ากูเกิ้ลน่าจะทำอะไรบางอย่างกับสิ่งที่พวกเขาซื้อมาเหล่านี้ในอีกไม่ช้าไม่นาน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกูเกิ้ลกลับเป็นการก้าวกระโดดเกินกว่าที่เหล่านักสังเกตการณ์ได้คาดคิดไว้ค่อนข้างมาก นั่นคือกูเกิ้ลกำลังจะทำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงถึง 1 กิกะบิตต่อวินาทีสำหรับการใช้งานตามบ้าน ซึ่งสูงเป็นประมาณ 100 เท่าของที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปตอนนี้
สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไมกูเกิ้ลต้องทำแบบนี้นั้น คำตอบของกูเกิ้ลค่อนข้างชัดเจนว่า อนาคตของธุรกิจของกูเกิ้ลอยู่ที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีขึ้นกว่าโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน เมื่อมองสิ่งต่างๆ ที่กูเกิ้ลเกี่ยวข้องโดยรอบแล้วล้วนมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเร็วขึ้นๆ, ฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ในราคาที่ลดลง รวมถึงซอฟต์แวร์รวมถึงโอเอสต่างๆ ที่ทำงานได้ดี มากขึ้นๆ แต่เมื่อมองถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้วกลับนิ่งๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นความเร็วที่ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ราคาก็ไม่ได้ถูกลง หรือความกว้างขวางของการใช้งานก็ไม่ได้แพร่หลายมากขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งอินเทอร์เน็ตที่เราใช้ๆ กันมีความเร็วมากขึ้นเท่าใดย่อมทำให้กูเกิ้ลพัฒนาบริการหรือแอพพลิเคชั่นที่มีศักยภาพมากขึ้นมาใช้งานได้ ซึ่งส่วนใหญ่บริการหรือแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นจะต้องมีขนาดใหญ่และต้องการแบนด์วิธที่ใหญ่ขึ้น ปัญหาคือ กูเกิ้ลต้องยืมจมูกคนอื่นโดยต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของคนอื่นเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนี้ในปัจจุบันก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย กูเกิ้ลจึงต้องลงมาเล่นเอง ลงมาแผ้วถางธุรกิจนี้ไว้ก่อน ทางหนึ่งพวกเขาอาจจะทำจริงๆ จังๆ แต่อีกทางหนึ่งพวกเขาอาจแค่ต้องการจะกระตุ้นตลาดธุรกิจนี้ให้เกิดความกระตือรือร้นในการแข่งขันให้มากขึ้นก็ได้
จริงๆ แล้วที่ผ่านมากูเกิ้ล พยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องบริการอินเทอร์เน็ตในประเทศสหรัฐอเมริกา มานานแล้ว โดยกูเกิ้ลประสบความสำเร็จในการล็อบบี้คณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติหรือ FCC (Federal Communications Commission) ให้ออกนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเสรีสำหรับการเชื่อมต่อมือถือเจนเนอเรชั่นใหม่ รวมถึงได้ผลักดันรัฐบาลให้ใช้ White space ซึ่งเป็นช่วงความถี่คลื่นวิทยุที่อยู่ระหว่างช่องการกระจายสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อกแบบเก่าเพื่อมาใช้เป็นช่องสัญญาณสำหรับอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย อย่างไรก็ตาม ความพยายามทั้งหลายของกูเกิ้ลในการปฏิวัติบรอดแบนด์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เองดูจะยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างไร ก่อนหน้านี้กูเกิ้ลก็ตั้งความหวังไว้สูงกับระบบ Wi-Fi สาธารณะ ซึ่งในที่สุดหลายๆ เมืองก็ล้มเลิกโครงการนี้ภายหลังจากที่บริษัทที่รับผิดชอบโครงข่ายเกิดความผิดพลาดในการเปิดตัวโครงการนี้ และในที่สุด ก็ได้ล้มเลิกโครงการไปในที่สุด นอกเหนือจากนี้ กูเกิ้ลได้ให้บริการ Wi-Fi ฟรีในเมือง ที่กูเกิ้ลตั้งอยู่ คือ Mountain View รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกูเกิ้ลก็พยายามจะแอบให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยผ่านการขายมือถือ Nexus One ของพวกเขาให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งกูเกิ้ลมองดูว่าจะไม่เป็นการทำร้ายวงการโทรคมนาคมมากมายนัก เพราะดูเหมือนเป็นการใช้งานในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เมื่อวิเคราะห์ดูดีๆ แล้ว การเข้าสู่วงการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของกูเกิ้ลถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่ธุรกิจอย่างกูเกิ้ลจะทำ ซึ่งทางกูเกิ้ลเองก็ยอมรับว่าในระยะยาวแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ต้องการจะอยู่ในธุรกิจ นี้แต่อย่างใด พวกเขาเพียงแต่ต้องการทำให้ลูกค้าของพวกเขาเห็นถึงศักยภาพของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงๆ ว่าสามารถนำมาใช้งานกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร พวกเขารู้ดีและเข้าใจว่าการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นมันเป็นเรื่องน่าเวียนหัวเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการให้บริการลูกค้ารวมถึงการสนับสนุนทางด้านเทคนิคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม หากกูเกิ้ลตั้งใจจะมุ่ง สู่วงการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจริงๆ แล้ว พวกเขาก็อาจจะไปได้ดีถ้าพวกเขาเลือกเมืองที่จะให้บริการได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโน โลยี ไม่ว่าจะเป็นซานฟรานซิสโก, ออสติน, บอสตัน, เทกซัส หรือเมืองแถวๆ วอชิงตัน ดี.ซี. รวมถึงนิวยอร์ก ซึ่งล้วนเป็นเมืองที่คน ในเมืองเหล่านั้นจำนวนมากล้วนต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ รวมถึงพวกเขามีความสามารถที่จะจ่ายค่าใช้บริการด้วย ซึ่งถ้ากูเกิ้ลตัดสินใจที่จะขโมยเหล่าลูกค้าชั้นดีของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเมืองเหล่านี้ ย่อมน่าจะช่วยให้พวกเขาตัดสินทำอะไรบางอย่างถ้าพวกเขายังไม่อยากเสียลูกค้าของตัวเอง โดยเฉพาะถ้าลูกค้าเหล่านี้ได้มีประสบการณ์ลิ้มลองอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 1 กิกะไบต์ พวกเขาย่อมไม่อยาก กลับไปจมจ่อมอยู่กับอินเทอร์เน็ต บ้านๆ อย่างทุกวันนี้แน่นอน
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนี้ ย่อมมีศักยภาพมากพอที่จะสร้าง ความเปลี่ยนแปลงต่อโมเดลธุรกิจของอุตสาหกรรมทั้งหมดได้อย่างแน่นอน เมื่อรวมกับกระแสของ cloud computing นี่ย่อมจะเป็นการเดินทางไปสู่จุดสิ้นสุดของโทรทัศน์และโทรศัพท์ ไปในที่สุด
จากรายงานล่าสุดของ Akami เกี่ยวกับสถานะการใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นรายงานรายไตรมาส โดยล่าสุดรายงาน ถึงไตรมาสที่สามของปีกลายพบว่า อัตราความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.8 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 18 ตามหลังประเทศอย่างเดนมาร์ก, สาธารณรัฐเชก, แลตเวีย, โรมาเนีย, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มผู้นำด้าน ความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตซึ่งอยู่ที่ 11 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่รายงาน ล่าสุดของ Berkman Center for Internet & Society ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งศึกษาถึงการให้บริการบรอดแบนด์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว, ราคา และการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในอันดับกลางๆ ในกลุ่มผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตยุคแรกๆ ซึ่งถือว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาตามหลังประเทศในกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยุคถัดๆ มา ค่อนข้างมาก ซึ่งในรายงานของ Akamai ก็ได้พูดถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว สูงจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศเกาหลี ใต้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตระดับความเร็ว 25 เมกะบิตต่อวินาที ในขณะที่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาเองมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วระดับนั้น
เป็นเรื่องน่าสนใจว่าประเทศที่ถือว่า มีเสรีภาพของการแข่งขันทางการค้าสูง ในสายตาคนนอกอย่างเราที่มองประเทศสหรัฐ อเมริกากลับพบสาเหตุง่ายๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ความล้าหลังของการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศสหรัฐอเมริกาคือบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของประเทศสหรัฐ อเมริกาขาดการแข่งขันที่แท้จริง
ปัจจุบันคนในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้อินเทอร์เน็ตสองทางคือ ผ่านทางผู้ให้บริการเคเบิลในประเทศ และผ่านบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์และจากรายงาน Home Broadband Adoption 2009 ก็พบว่า คนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ในประเทศ สหรัฐอเมริกาจะใช้บริการจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นทำให้ เมื่อคนสหรัฐอเมริกาใช้อินเทอร์เน็ตกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งแล้ว พวกเขาก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนเจ้าไปใช้กับรายอื่น และนั่นทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่คิดที่จะ ปรับปรุงบริการใดๆ ของพวกเขาเพราะขาดซึ่งแรงจูงใจใดๆ ที่จะทำ การเข้าสู่วงการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของกูเกิ้ล จึงถูกมองว่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้
แน่นอนว่า กูเกิ้ลมิใช่มูลนิธิที่จะสงเคราะห์การใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบฟรีๆ แต่พวกเขามองว่า ยิ่งอินเทอร์เน็ตเร็วมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็จะสามารถทำเงิน ได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่กูเกิ้ลจะสามารถสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงๆ เท่านั้น พวกเราก็จะได้รับประโยชน์อีก มากมาย ด้วยความเร็วระดับ 1 กิกะบิตต่อวินาทีด้วยเช่นกัน
ณ ความเร็วระดับ 1 กิกะบิตต่อ วินาที ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดาวน์โหลด ภาพยนตร์ความละเอียดสูงในเวลาเพียงไม่กี่นาที เช่นเดียวกับการเข้าฟัง เพลงแบบสดๆ ตลอดเวลาด้วยภาพ และเสียงที่ชัดแจ๋ว รวมถึงเกมออนไลน์ที่มีกราฟิกเจ๋งๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับที่หลายๆ บริษัทลงทุนไปกับระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์สามมิติ หรือ immersive video-conferencing systems ที่ใช้กล้องความละเอียดสูงและโปรเจ็กเตอร์ในการสร้างบรรยากาศการประชุมเสมือนจริงระหว่างพื้นที่ห่างไกลกัน ซึ่งล้วนต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเพิ่มการร่วมมือประสานงานของทีมงานที่อยู่ห่างไกลกันได้ รวมถึงหุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัดระยะไกลที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของแพทย์ในการรักษาคนไข้ที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลหรือแพทย์เฉพาะทางได้มากขึ้น
ดูเหมือนว่า กูเกิ้ลกำลังจะทำบุญครั้งใหญ่แล้วครับ
อ่านเพิ่มเติม:
1. รายงานของ Akamai, http://www.akamai.com/stateoftheinternet/
2. รายงานบรอดแบนด์ของ The Berkman Center, http://cyber.law.harvard.edu/pubrelease/broadband/
3. Higginbotham, S. (2010), "Google Doesn't Want to Be an ISP - It Wants to Be a Rabble-rouser,' http://gigaom.com/2010/02/10/google-doesnt-want-to-be-an-isp-it-wants-to-be-a-rabble-rouser/
4. ข้อมูลการให้บริการ Wi-Fi ฟรีในพื้นที่เมือง Mountain View ของกูเกิ้ล, http:// wifi.google.com/
5. Broache, A. (2007), "Google lobbies for -open' wireless networks,' http://news.cnet.com/Google-lobbies-for-open-wireless-networks/2100-1039_3-6190863.html
6. "A vote for broadband in the -white spaces,'Google blog, http://googleblog.blogspot.com/2008/11/vote-for-broadband-in-white-spaces.html
7. รายงาน Home Broadband Adoption 2009, http://pewinternet.org/Reports/ 2009/10-Home-Broadband-Adoption-2009.aspx?r=1
8. ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์สามมิติ, http://www.polycom.com/products/telepresence_video/telepresence_solutions/immersive_telepresence/atx.html
9. Manjoo, F. (2010), -Faster, Faster!,' http://www.slate.com/id/2245180/pagenum/all/#p2
10. โครงการ Wi-Fi ฟรีจากกูเกิ้ล, http://www.freeholidaywifi.com/
|