|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้ไปดูสารคดีเรื่อง Food, Inc. ที่ โรงภาพยนตร์ House RCA และก็นึกเสียใจที่โรงหนังในดวงใจตลอดกาลของผู้เขียน อย่างสยาม ลิโด สกาล่า ซึ่งมักฉายหนังทางเลือกมาโดยตลอด แต่ในระยะหลังๆ กลับหันเหไปทางฮอลลีวู้ดอย่างโรงหนังทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยละทิ้งความเป็นโรงหนัง alternative ไปทีละน้อย ผิดกับ House RCA ที่ยังคงยืนหยัด ฉายภาพยนตร์ที่มีคุณค่าและให้ข้อคิดที่แตกต่างแก่ผู้ชมชาวกรุงเทพฯ ต่อไป
Food, Inc. เป็นสารคดีเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารแบบโรงงานในสหรัฐอเมริกา ตอบสนองชีวิตเร่งรีบของอเมริกันชน แต่หารู้ไม่ว่าอาหารสำเร็จรูปที่ตัวเองตักเข้าใส่ปากแต่ละวันนั้นมีกรรม วิธีในการผลิตอย่างไรบ้าง
ใบปะหนังโฆษณาว่า หากท่านดูสารคดีเรื่องนี้แล้ว ท่านอาจจะไม่อยากรับประทานอาหารอีกเลยแม้แต่คำเดียวก็ได้
แม้ว่าเนื้อหาของสารคดีเรื่องนี้จะไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนักสำหรับผู้เขียน เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหาร และบทวิจารณ์จากนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และนักคิดนักเขียนเกี่ยวกับปัญหาของระบบห่วงโซ่อาหารในปัจจุบันมาพอสมควร ในระยะหลายปีที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนก็ยังคิดว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกมากมายจากหนังสารคดีเรื่องนี้
หนังกล่าวถึงระบบการผลิตอาหาร โดยโรงงานและบริษัทขนาดใหญ่เพียง 4-5 บริษัทในอเมริกา จากเดิมที่มีชาวไร่ชาวนาเป็นหมื่นเป็นแสนคนที่เป็นเอกเทศ เป็นไทแก่ตน ผลิตอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทานกันสดๆ ในท้องถิ่นนั้น
แต่ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครอบ ครองธุรกิจอาหารในสหรัฐฯ เหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น Tyson Foods, Cargill, Monsanto ซึ่งควบคุมการผลิตอาหารในสหรัฐฯ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานประกอบอาหารสำเร็จรูป จนถึงช่องทางการกระจายสินค้าอาหารเหล่านี้ไปตามห้างร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจนถึง มือผู้บริโภค
สารคดีตีแผ่ปัญหาของระบบการผลิตอาหารในสหรัฐฯ โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเพื่อผลิตอาหาร โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด ก่อให้เกิดปัญหาอาหาร ล้นตลาด ทำให้ภาครัฐเเละเอกชนต้องหันไปคิดค้นว่าจะนำอาหารส่วนเกินที่ผลิตออก มาไปทำอะไรดี เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่บริษัทอาหารขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่สุดลูกหูลูกตาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องอาศัยสารเคมีจำนวนมากที่จะสามารถ ควบคุมวัชพืชและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิ ภาพและพืชที่สหรัฐฯ ปลูกมากเป็นอันดับ ต้นๆ คือข้าวโพด
ผู้ดำเนินเรื่องตั้งคำถามถามผู้ชมว่า เรารู้กันหรือเปล่าว่าอาหารที่เราทานเข้าไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์จะมีส่วนประกอบของข้าวโพดรวมอยู่ด้วย ผู้เขียนเองพอได้ทราบ ก็แปลกใจ ที่พืชธรรมดาๆ ชนิดนี้จะถูกนำ ไปดัดแปลง เปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางพันธุกรรมให้กลายมาเป็นน้ำตาล น้ำเชื่อม สารเคมี ฯลฯ
แม้แต่วัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะกินแต่หญ้าเป็นอาหาร เพราะวัวมี 4 กระเพาะ ซึ่งสามารถนำหญ้าที่กินแล้วไปพักไว้ในกระเพาะหนึ่งที่มีความจุประมาณ 45 แกลลอนเพื่อให้แบคทีเรียในกระเพาะได้ทำงานเปลี่ยนเซลลูโลสในหญ้าให้กลายเป็นโปรตีนและไขมันเลี้ยงตัวเองได้
แต่การเลี้ยงวัวด้วยหญ้านั้น มันไม่ได้ทำให้วัวโตเร็ว สหรัฐฯ จึงคิดค้นวิธีที่จะป้อนอาหารวัวด้วยอย่างอื่น ซึ่งปัจจุบันก็คือ ธัญพืช เช่น ข้าวโพด เพราะทำให้วัวอ้วนเร็ว เมื่อประมาณ 75 ปีมาแล้ว วัวที่เข้าโรง ฆ่าสัตว์มีอายุประมาณ 4-5 ปี แต่ปัจจุบัน แค่อายุ 14-16 เดือนก็สามารถเชือดได้แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะการให้วัวกินข้าวโพดนี่เอง
การบังคับให้วัวกินข้าวโพดแทนหญ้า นั้น เป็นการทำลายระบบย่อยอาหารของวัว จนอาจทำให้วัวตายได้ ถ้าไม่ให้ยาปฏิชีวนะ แก่วัวตลอดเวลา เนื่องจากว่าหากวัวได้กิน หญ้า และแบคทีเรียทำหน้าที่ของมัน วัวก็จะผลิตแก๊สภายในกระเพาะซึ่งจะระบายออกมาโดยการเรอ แต่หากวัวได้รับอาหารที่มีแป้งเยอะแต่มีกากใยน้อย กระบวนการย่อยกากก็จะหายไป แต่กระเพาะจะผลิตชั้นผิวของฟองอากาศซึ่งจะเป็นตัวกักกั้นแก๊สในกระเพาะของวัว ฟองอากาศเหล่านี้ จะโป่งพองเป็นลูกโป่ง และจะไปดันปอดของวัว ซึ่งหากไม่หาทางถ่ายอากาศออกมา เพื่อลดความดันในปอดให้วัวแล้ว วัวก็อาจ ขาดอากาศหายใจได้
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การให้ เมล็ดธัญพืชเป็นอาหารแก่วัวเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดการแพร่เชื้อของแบคทีเรียที่ชื่อ E.coli 0157:H7 ในสัตว์ ทั้งนี้เพราะเมล็ดธัญพืช เช่นข้าวโพดจะทำให้กระเพาะของวัวมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะแบค ทีเรียชนิด "อีโคไล" ได้อย่างดี และทำให้มนุษย์ที่ทานเนื้อที่ไม่ได้ทำให้สุกอย่างทั่วถึง อาจได้รับอันตรายถึงตายได้
เช่นในกรณีของเด็กชายวัย 2 ขวบที่ทานแฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่สุกลงไป และเสีย ชีวิตโดยกะทันหัน โดยการติดเชื้อแบคทีเรีย E.coli 0157:H7 จนทำให้คุณแม่ของเด็ก ชายออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาของสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามชื่อลูก ชายของตนว่า 'Kevin's Law' ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่มอบเขี้ยวเล็บให้แก่แผนกการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA-United States Department of Agriculture) มากขึ้นในการสร้างมาตรฐานอาหารของตนเอง ขึ้นมา เพื่อบังคับใช้กับบริษัทหรือโรงงาน ผลิตอาหาร และให้มีอำนาจในการใช้มาตรฐานที่ตนสร้างขึ้นเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบ และสามารถสั่งปิดโรงงานผลิตอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของ USDA ได้*
แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
นอกจากเนื้อวัวแล้ว สารคดียังกล่าว ถึงการเลี้ยงไก่ในสหรัฐฯ ของเกษตรกรแบบ มีพันธะสัญญากับบริษัทผลิตและแปรรูปไก่รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Tyson Foods ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรสร้างโรงเรือนที่มืดสนิทให้สัตว์ปีกเหล่านี้นับพันตัวอาศัยอยู่ โดยไม่มีช่องระบายอากาศตามธรรมชาติ มีแต่เพียงพัดลมที่คอยเป่าฝุ่นละออง ขนไก่ ฯลฯ ให้ลอยละล่องภายในโรงเรือน แต่ละโรงจะมีความยาวยาวกว่าสนามฟุตบอล และจุไก่ได้ถึงประมาณ 25,000 ตัวต่อโรง การก่อสร้างโรงเรือนแต่ละโรงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 200,000 ดอลลาร์
การบังคับให้เกษตรกรสร้างโรงเรือน ที่ปิดสนิทมืดมิด ก็เพื่อที่จะให้ไก่เคลื่อนไหวน้อยที่สุด จะได้ไม่สูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ แต่หากเกษตรกรรายใดปฏิเสธที่จะไม่ทำโรงเรือนแบบดังกล่าว ก็มีสิทธิที่จะไม่ได้รับการต่อสัญญาจากทางบริษัท
ไก่ทั้งหลายได้แต่กินอาหารตลอดทั้งวัน โรงเลี้ยงไก่ที่มีขนาดใหญ่แต่กลับมีไก่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ทำให้ไก่ไม่มีพื้นที่เดินไปมามากพอ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขาเล็กๆ ทั้งสองของตัวเองไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้อีกต่อไป และการที่ผู้บริโภคมักชอบรับประทานเนื้อไก่ ก็ทำให้บริษัทที่ผลิตไก่คิดค้นวิธีเปลี่ยนพันธุกรรมไก่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะ ส่วนหน้าอก ไก่ปัจจุบันจึงมักน้ำหนักตัวมากกว่าไก่ที่เกษตรกรเลี้ยงกันเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วเป็น 2 เท่าโดยใช้เวลาเลี้ยงแค่ครึ่งหนึ่งของเมื่อก่อนเท่านั้น ไก่ตายในโรงเรือน อยู่ทุกวันและเหยียบย่ำอุจจาระของเสียของตัวเองอยู่ไปมา ทำให้เกิดโรคเท้าเปื่อย ในสัตว์ปีกอยู่บ่อยๆ ไก่ที่ติดโรคในโรงเรือน ก็มักจะได้รับยาปฏิชีวนะอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึงว่ามนุษย์ที่บริโภคไก่เหล่านี้ก็ได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากเนื้อไก่ เนื้อวัว ก็มาถึงเมล็ดพันธุ์พืช สารคดี Food, Inc เล่าให้ฟังถึงด้านมืดของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่ไม่ได้ถกถึงประเด็นที่ว่าพืชตกแต่งพันธุกรรมนั้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลดีผลเสีย ต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง เพราะผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในด้านผลกระทบระยะยาวนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
แต่สิ่งที่สารคดีนำเสนอก็คือประเด็น ปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอรายใหญ่ของโลกกับเกษตรกรรายย่อยในสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นมุมมองเดียวกันกับผู้เขียน เพราะประเด็นที่ผู้เขียนมองว่าสำคัญมากมา โดยตลอด ก็คืออำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านการเกษตรที่เข้ามาควบคุมชีวิตของเกษตรกรรายย่อย ควบคุมปัจจัยการผลิต เงินทุน รายได้ของเกษตรกร จนเกษตรกรขาดความเป็นอิสรภาพทั้งในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตของตน
ตั้งแต่มีการคิดค้นเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุญาตให้เอกชนสามารถ จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตได้ ทั้งที่การจดทะเบียนเป็นเจ้าของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ไม่เคยปรากฏ มาก่อนในอดีต บริษัทเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโออย่างมอนซานโต้ (Monsanto) จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชจีเอ็มโอของตน เช่น ถั่วเหลือง จีเอ็มโอ Round Up Ready Soybean
ซึ่งต้านทานต่อยากำจัดวัชพืชของมอนซาน โต้ คือเมื่อฉีดยากำจัดวัชพืชลงไปในแปลง วัชพืชทั้งหลายจะตายหมด ยกเว้นต้นถั่วเหลืองจีเอ็มโอนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศสหรัฐฯ (และขณะนี้ได้แพร่ขยายไปจนถึงบราซิล อาร์เจนตินา และจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกแล้ว) ได้เพาะปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มโอ Round Up Ready กันมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากมอนซานโต้ก็จะต้องมีการเซ็นข้อตกลงระหว่างกัน ว่าเกษตรกรจะไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต้ไว้ปลูกในปีต่อไป
นอกจากนี้ มอนซานโต้ยังตั้งศูนย์รับข้อมูลจากเกษตรกร ที่ต้องการแจ้งให้มอนซานโต้ทราบว่าเกษตรกรเพื่อนบ้านรายใดของตนเก็บเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอของมอนซานโต้ไว้ทำพันธุ์เอง หรือปลูกในฤดูกาลถัดไป โดยมอนซานโต้เรียกศูนย์ดังกล่าวว่า Support Center โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งที่จะแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้มอนซานโต้ไปตรวจสอบได้อย่างสะดวกสบาย เบอร์โทรของศูนย์เป็นเบอร์โทรฟรี เจ้าหน้าที่ของมอนซานโต้จะไม่เห็นเบอร์โทรของผู้โทร และจะได้ก็เพียงข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับเกษตรกรที่ละเมิดสิทธิบัตรของทางบริษัทเท่านั้น
เว็บไซต์ของมอนซานโต้อธิบายถึงเหตุผลในการต้องปกป้องสิทธิบัตรและดำเนินคดีกับเกษตรกรที่ละเมิดสิทธิบัตรของตนว่า ทางบริษัทลงทุนทำวิจัยใช้เงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปีในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของเมล็ดพันธุ์พืชให้ได้ผล ผลิตสูงขึ้น จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน อีกประการหนึ่งก็คือการอนุญาตให้เกษตรกรบางรายเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เอง ก็จะไม่เป็นการยุติธรรมต่อเกษตรกรรายอื่นที่ซื่อสัตย์ ซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี เพราะถ้าเปรียบเทียบระหว่างเกษตรกร 2 รายที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเท่ากัน ต้นทุน เท่ากัน รายได้เท่ากัน แต่รายหนึ่งจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ส่วนอีกรายหนึ่งไม่ยอมซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ ก็จะได้กำไรจากการไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปีไปแล้ว แถมยังสามารถนำเงินที่ประหยัดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ไปลงทุนทางการเกษตรด้านอื่น ได้ผลกำไรงอกเงยเพิ่มขึ้นอีก อย่างนี้มอนซานโต้มองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อตัวเกษตรกรด้วยกันเอง
การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป เป็นวิธีปฏิบัติที่มีมาอย่างช้านานแล้ว ในหมู่เกษตรกรทั่วโลก และไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมทางเทคนิคของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีปฏิบัติทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่เช่นกัน แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเกษตรกรทางตอนใต้ของประเทศก็คัดเเยก เมล็ดพันธุ์และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองมาเป็นเวลาช้านานแล้ว
แต่ในปี ค.ศ.1970 รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Plant Variety Protection Act (PVPA) 1970 อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้ แต่ยังคงให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อไปได้อยู่ จนมาถึงกฎหมาย PVPA 1994 ที่เพิ่มอำนาจให้บริษัทเอกชนครอบครองเป็นเจ้าของสิทธิเหนือเมล็ดพันธุ์ที่ตนพัฒนาขึ้นมาได้แต่เพียงผู้เดียว และห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพืชไว้ทำพันธุ์เองหรือจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาตอีกต่อไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ลองนึกภาพชาวนาของไทยที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ทำพันธุ์เองในอดีต แต่กลับต้องมาซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี รายได้ที่น้อยนิดอยู่แล้วจะต้องนำมาชำระเป็นค่าเมล็ดพันธุ์อีก แล้วอย่างนี้ชาวนาของเราจะยืนหยัดอยู่ได้กระนั้นหรือ
เท่าที่ได้พูดคุยกับเกษตรกรไทย ผู้เขียนมักได้รับการบอกเล่าว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เองนั้นทำได้อย่างมากก็แค่ 3 ปี แล้วเมล็ดก็จะกลายพันธุ์ ทำให้ได้ข้าวที่ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ชาวนาจึงมักจะซื้อหา เมล็ดพันธุ์มาใหม่และเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุก 3 ปีอยู่แล้ว น้อยรายนักที่จะใช้เมล็ดพันธุ์เดิมของตนไปเรื่อยๆ นานนับสิบปี
การที่มอนซานโต้บังคับให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ด้วยเกรงว่าเกษตรกรจะเก็บของเก่าไว้ทำพันธุ์เองไปเรื่อยๆ จนทางบริษัทขาดทุนนั้น อาจจะเป็นความวิตกมากเกินกว่าเหตุ จริงอยู่ทางบริษัทอาจมีรายได้น้อยลงจากการไม่สามารถขายเมล็ดพันธุ์ได้ทุกปี แต่ถ้าสินค้าของทางบริษัทมีคุณภาพดี ก็ไม่น่าจะกังวลอะไรมากนัก เพราะคงจะมีเกษตรกรหลายรายที่ผลิตเพื่อการค้าและต้องการจะใช้แต่เมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง และยินดีจะเสียเงินเพื่อการนี้ทุกปีอยู่แล้ว
ปัญหาก็คือการแพร่กระจายของเมล็ดจีเอ็มโอกับพืชสายพันธุ์ตามธรรมชาติ ด้วยความที่ไร่นาของเกษตรกรอยู่ติดกัน เมล็ดของจีเอ็มโออาจจะตกไปอยู่ในไร่ของคนที่ไม่ได้ใช้จีเอ็มโอ ในกรณีดังกล่าว หาก เกษตรกรไม่ได้ตั้งใจจะใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่กลับปรากฏว่าพืชที่ตนปลูกเป็นจีเอ็มโอแล้ว จะทำอย่าง่ไร
ดูสารคดีแล้วก็ทำให้นึกถึงอนาคตของคนไทยที่ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงของสารพิษ สารปนเปื้อนและความไม่มั่นคงทางด้านความปลอดภัยในอาหารที่ตนต้องรับประทานอยู่ทุกวัน มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราไม่มีทางเลือกมากนัก คนวัยทำงาน ส่วนใหญ่ที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบไม่สามารถดูแลตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่สามารถซื้อผักอินทรีย์มาปรุงเองได้ทุกมื้อทุกวัน จึงยังคงต้องฝากท้องไว้กับร้านค้าร้านอาหารนอกบ้านอยู่บ่อยๆ
ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่โตมากับอาหารตามสั่งนอกบ้าน รับประทานอยู่ทุกวันโดยไม่ได้คิดว่าหมูเห็ดเป็ดไก่ที่พ่อค้าแม่ขายซื้อมาประกอบอาหารให้เรากินนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร
ลองมองไก่ที่แขวนอยู่ตามร้านข้าวมันไก่ทุกวันนี้ แล้วนึกดูสิว่าทำไมมันถึงได้ตัวใหญ่ อกใหญ่ขนาดนั้น เมื่อเทียบกับข้าวมันไก่เมื่อ 20-30 ปีก่อนที่ไก่จะตัวผอม เพรียว ไก่ทอดที่ดูน่ารับประทานตามข้างถนน ถูกทอดด้วยน้ำมันที่ผ่านการทอดไก่มาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง หากเราไปจ่ายตลาดซื้อผัก ผลไม้ ซึ่งจะได้ของสดราคาถูกกว่าหากซื้อตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตมาก แต่ก็เชื่อแน่ว่า คงประกอบไปด้วยยาฆ่าแมลงในปริมาณเกินกว่าที่ อ.ย.กำหนดอย่างแน่นอน
ครั้นจะซื้อผักออร์เเกนิกตามห้างมารับประทาน ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ แต่ราคาก็ต่างจากการไปช้อปที่ตลาดสดถึง 2-3 เท่า เงินจำนวน 1,000 บาทสมัยนี้ สามารถนำผักผลไม้กลับมาบ้านได้ไม่ถึง 10 รายการ หากซื้อตามห้างทั่วไป และเป็นผักอินทรีย์ ตลาดนัดผู้บริโภคกับเกษตรกรผู้ปลูกอินทรีย์ หรือ Farmers' Market อย่างในต่างแดนก็ไม่มี หากต้องการซื้อหมูหรือไก่ตามห้าง เราก็คงพอจะเดากันได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทไหน ซึ่งมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหมู เนื้อไก่ในประเทศ
แล้วจะเรียกว่าผู้บริโภคของไทยมีทางเลือกมากมายได้อย่างไร
เรามักเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า Vote with your Pocket หรือลงคะแนนเสียงด้วยเงินในกระเป๋าสตางค์ของคุณเอง ซึ่งหมายถึงว่าผู้บริโภคสามารถบอกร้านค้าได้ว่าตนจะไม่ยอมซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปนเปื้อนสารพิษ ไม่ได้มาตรฐานอีกต่อไป ด้วยการหันไปซื้อสินค้าอื่นที่ปลอดภัยกว่า แต่ถ้าสินค้าทางเลือกที่ปลอดภัยไม่มีวางขายอยู่ในตลาดทั่วไปมากนัก หรือถ้ามี ราคาก็มักจะเกินจำนวนเงินในกระเป๋าของเราๆ ท่านๆ ไปมาก และในเมื่อทางเลือกดูเหมือนจะเป็นทางตัน จะมีสักกี่คนที่จะสามารถโหวตด้วยกระเป๋าสตางค์ของตัวเองได้
หมายเหตุ :
* ดูคำปราศรัยของ Congresswoman Anna G.Eschoo แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย http://eshoo.house.gov/index.php? option=com_content&task=view&id=104
|
|
|
|
|