Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2530
ปูนซีเมนต์นครหลวง (ภาคสอง) ในภาวะแข็งนอกอ่อนใน สมเกียรติ ลิมทรง-อินทรีปีก (อาจ) หัก!!?             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ปูนซีเมนต์นครหลวง, บมจ.
Cement
สมเกียรติ ลิมทรง




สิบแปดปีกับการเจริญเติบใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ในของปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นเรื่องที่มิอาจปฏิเสธเสียงสรรเสริญเยินยอ ทว่าจังหวะรุกซึ่งพร้อมจะปีกกล้าขาแข็งไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นเรื่องที่จำต้องพูดถึงเช่นกัน ด้วยว่าภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของอินทรีผยองเดช "สมเกียรติ ลิมทรง" นัยว่านโยบายและกลไกต่าง ๆ ขององค์กรออกจะลักหลั่นจนน่าหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่อาจเกี่ยวโยงมายังระบบความมั่นคงของเศรษฐกิจส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง!!!

"ผู้จัดการ" จำต้องเขียนถึงปูนซีเมนต์นครหลวงอีกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่า

1. จากผลประกอบการของบริษัทฯ ที่สามารถฝ่าคลื่นลมแรงเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและธุรกิจการก่อสร้างที่หดตัวลงมาได้อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยผลกำไร ณ สิ้นปี 2529 564,714,710.88 บาท ซึ่งเปรียบเทียบกับปี 2527 ที่อยู่ในภาวะเดียวกันสามารถทำกำไรเพิ่มได้ถึง 100% โดยปีนั้นได้เพียง 284,257,000 บาท

ในภาวะไข้เศรษฐกิจที่ยังไม่พ้นห้อง ไอ.ซี.ยู. คงมีองค์กรธุรกิจไม่มากนักที่จะทำได้เยี่ยงเดียวกับปูนซีเมนต์นครหลวง ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ยอมจะไม่สนใจไม่ได้!?

2. จากการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแห่งใหม่ ที่ กม. 131 ต. ทับกวาง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี อีกปีละ 1,750,000 ตัน โดยจะ TEST RUN ในเดือนกรกฎาคมนี้เมื่อบวกกับกำลังผลิตเดิมจะสูงถึงปีละ 4.6 ล้านตันห่างกันแค่นิ้วมือเดียวกับปูนซีเมนต์ไทย การขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับผู้ผลิตรายอื่นในภาวะตลาดที่ยังทรงตัวและเปลี่ยนอำนาจต่อรองมาเป็นของผู้ซื้อมากขึ้นทำให้การผลิตเหลือมาก

จากจุดนี้ทำให้ปูนนครหลวงฯ จำต้องตัดสินใจขยายฐานประกอบการไปในวงธุรกิจอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากที่สงบเสงี่ยมมาหลายสิบปี โดยได้ลงทุนในกิจการดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น

บริษัท นครหลวงกระเบื้องและท่อถือหุ้นร้อยละ 99.99

บริษั ทีจี. สุขภัณฑ์ ถือหุ้นร้อยละ 51.00 ซึ่งผลิตสุขภัณฑ์สำหรับตลาดทั้งในและนอกประเทศ

บริษัท ทีจี. เซรามิคส์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 51.00 ผลิตเครื่องโต๊ะอาหารคุณภาพสูงชนิดปอร์สเลนสำหรับตลาดในประเทศ

บริษัท เซ็นทรัล เซรามิคส์ จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตเคื่องโต๊ะอหารคุณภาพสูงชนิดโบนไซน่า ปอร์สเลนและสโตนแวร์ การขยายตัวครั้งนี้ถ้าไม่นับอุตสาหกรรมเสถีรภาพและบัวหลวงเซรามิคที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ล้มครืนมาแล้วนั้น อาจกล่าวว่าเซ็นทรัลฯ เป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงสุด

ดูตาราง 1. เงินลงทุนในบริษัทในเครือ)

ปี 2530 เป็นปีที่ ชวน รัตนรักษ์และสมเกียรติ ลิมทรง สองกุญแจดอกสำคัญที่ไขความสำเร็จมาให้ปูนนครหลวงฯ ประกาศกล้าว่า จะเป็นต้นร่างของการขยายตัวในระยะยาวต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด!!!

ชวน รัตนรักษ์ ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "บริษัทจะพยายามดำเนินกิจการด้วยความระมัดระวังและจะปฏิบัติงานอย่างสุขุมรอบคอบเพื่อให้บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น ๆ ไปในอนาคต"

สัจจะสัญานี้ถึงจะมีน้ำหนักหนักแน่นเพียงใดทว่าเมื่อมองทวนกระแสเข้าไปในองค์กรซึ่งผ่านพ้นช่วงของการก่อร่างสร้างตัวมาหมาด ๆ มิผิดอะไรกับวัยรุ่นลำพองที่ริจะเรียนรักในขณะที่ความเป็นจริงยังจะต้องสะสมเรียนรู้ประสบการณ์อีกมากมาย

ความเปราะบางและความแข็งแกร่งที่ยืนตระหง่านท้าทายจนแยกแทบไม่ออกจากกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การสนใจและเฝ้าติดตามยิ่งนัก

3. การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ในสิ้นปีนี้ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งร่วมปลุกปั้นบริษัทฯ มาตั้งแต่ต้นบางคนถึงเวลาเกษียณอายุ และบางคนแสดงความประสงค์จะขอลาออกเพื่อเปิด "ไฟเขียว" ให้คนรุ่นหลังก้าวขึ้นมา จุดของการปรับเปลี่ยนขบวนที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ และอาจเป็นครั้งแรกของบริษัทฯ ที่มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนครั้งใหญ่

เนื่องเพราะปูนซีเมนต์นครหลวงได้เคยทดลองสับเปลี่ยนผู้บริหารภายในครั้งย่อยมาครั้งหนึ่ง ด้วยความไม่พรักพร้อมความไม่เข้าใจอย่างแจ่มชัดในทิศทางการพัฒนางานของบริษัทฯ ถึงกับทำให้การสับเปลี่ยนครั้งที่ผ่านมา ก่อให้เกิดภาวะซวนเซอย่างเงียบ ๆ ไปไม่น้อย

คงไม่ต้องประเมินค่าเสียหายออกมาเป็นตัวเลขว่าเท่าใด เพราะเรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ รู้แจ้งแก่ใจดีว่า บทเรียนครั้งนั้นเจ็บพิลึกถึงเนื้อในเพียงใด!?

"ปูนกลางไม่แตกต่างอะไรกับพีรามิดที่เอาหัวตั้งลง ยอดบนมองดูถึงการขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน แต่คนที่สัมผัสความเป็นจริงจะรู้ดีว่าฐานล่างที่จะรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร นโยบายการทำงาน ล้วนแต่ยังเปราะบางสิ้นดี" อดีตพนักงานของบริษัทฯ คนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความเป็นห่วง

ถ้าบาดแผลในอดีตจะเป็นเครื่องตอกย้ำสำนึกดุจดั่งเข็มทิศชี้อนาคตที่ดีก็จำเป็นที่จะต้องนำมากล่าวอ้างให้ได้พูดถึงปูนซีเมนต์นครหลวงอีกเป็นครั้งที่สอง!

หากมีใครนึกสนุกตั้งคำถามกับพนักงานเก่า ๆ ของปูนซีเมนต์นครหลวงว่าระหว่าง ชวน รัตนรักษ์ ศุลี มหาสันทนะ และสมเกียรติ ลิมทรง สามคนนี้ใครเก่งกว่าใคร และใครที่เก่งเยี่ยมยอดที่สุด คำตอบที่จะออกมาอย่างไม่ลังเลเลยก็คือว่า "เก่งพอกัน เหนือฟ้าอาจมีฟ้า แต่เหนือคนในสามคนนี้ไม่มีแน่นอน"

ชวน รัตนรักษ์-ในฐานะเจ้าของทุนรายใหญ่จากชาติกำเนิดและวิถีการไต่เต้าจนสามารถดำรงสถานะผู้ประกอบการธนาคารรายใหญ่รายหนึ่ง (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา) ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของเขาเพิ่งเริ่มจุดพลุเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เจ้าของกิจการรายอื่น ๆ สะสมอิทธิพลบารมีมานับสิบ ๆ ปี แต่ที่สุดชวนก็ทำให้หลายคนประจักษ์ว่า มาช้าหรือเร็วไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าพริกเม็ดไหนจะเผ็ดร้อนแรงกว่ากันเท่านั้น!?

ชวน-มีลักษณะนายทุนใหม่เต็มตัวเข้าใจ และรู้จักช่วงชิงสถานการณ์มาเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ตนให้ได้มากที่สุด ไม่มีลักษณะรั้งรอหรือขลาดกลัวต่อความผิดพลาด ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ นอกจากต้องการผลผลิตมาตอบสนองต่อธุรกิจบ้านจัดสรรที่มีอยู่ด้านหนึ่งชวนมองว่าต่อไปการขอใบอนุญาต ก่อตั้งโรงงานจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

ดังนั้นในขณะที่กลุ่มถนอม-ประภาส ณรงค์ ยังเรืองอำนาจและมีความสัมพันธ์สนิทชิดเชื้อกับตนเป็นอย่างดี ชวนจึงไม่ลังเลที่จะสุ่มเสี่ยงขอใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานทันที ซึ่งความคิดของเขาก็ไม่ผิดเสียด้วย เพราะระยะหลัง ๆ ถึงจะมีผู้ต้องการตั้งโรงงานแต่ก็ไม่ง่ายเสียแล้ว!

ศุลี มหาสันทนะ-นักบริหารมืออาชีพที่ผ่านการเพาะบ่มกลั่นกรองอย่างดีมาจากบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ศุลีได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมกันในตัว เช่นเดียวกับที่เป็นทั้งนักบริหารและนักปฏิบัติในเวลาเดียวกันโดยไม่มีช่องว่างให้ผิดพลาด

ศุลี-เป็นมือปืนรับจ้างโดยแท้จริงสามารถกระทำได้ทุกอย่าง ขอให้เป็นงานที่รับผิดชอบดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่กริ่งเกรงต่อเจ้าของทุน นอกจากนี้ยังเป็นคนช่างจำนรรจาสามารถเกลี้ยกล่อมเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้ให้กลับเป็นจริง ประจักษ์พยานข้อนี้ดูได้จากการที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลเปรม 2 โดยถูกวางหมากให้เป็นผู้ต่อรองเรื่องราคาน้ำมันกับบริษัทข้ามชาติอย่างชนิดที่ฝรั่งต้องปวดแสบปวดร้อนไปตาม ๆ กัน

แม้จะมีเสียงกล่าวขานว่า ในแง่การทำงานศุลีออกจะขัดแย้งกับสมเกียรติอยู่บ่อย ๆ จนเมื่อเขาต้องจากไปมือดี ๆ ที่เคนเคียงข้างกันมาล้วนถูกฉาบแช่แข็งไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด แต่กระนั้นศุลีก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ลงหลักปักฐานให้กับปูนซีเมนต์นครหลวงโดยแท้จริง

สมหมาย ลิมทรง-ไม่ว่าใครจะมองเขาว่าเป็นคนแบบไหน…แบบไหน…ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมยกให้ก็คือว่า "สมเกียรติเกิดมาเพื่อเป็นผู้สร้างโดยแท้" นอกเหนือไปจากเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เจียดไปให้กับความสวยงามของสาว ๆ ริมขอบเวทีประกวดนางสาวไทย ตามประสาคนหนุ่มที่ยังโสดและซิง เวลาที่เหลือทั้งหมดเขาทุ่มเทไปให้กับการทำงานอย่างไม่ระย่อท้อ (ประวัติสมเกียรติลงละเอียดใน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 33)

สมเกียรติเก่งฉกาจมากในเรื่อง FINANCING เคยถูกแบงก์ชาติทาบทามให้เข้าไปเป็นกรรมการธนาคารนครหลวงไทยในฐานะผู้ถือหุ้น แต่เมื่อมองดูสถานภาพที่ง่อนแง่นเต็มทีของธนาคารนครหลวงไทยในขณะนั้นนอกจากจะปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยแล้วยังเทหุ้นขายฟันกำไรอย่างสบาย ๆ ก่อนที่แบงก์จะล้มครืนเสียอีก!

ปัจจุบันสมเกียรติเป็นอินทรีที่กางปีกครอบคลุมอาณาจักรปูนซีเมนต์นครหลวงเพียงผู้เดียว ยุคของเขาเป็นยุคการเติบโตอย่างรุ่งโรจน์ที่สุดสำหรับปูนซีเมนต์นครหลวง การขยายตัวทั้งในส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ และที่ขยับขยายไปยังสายผลิตภัณฑ์อื่น (PRODUCT LINE) ล้วนเป็นผลผลิตจากมันสมองของเขาทั้งสิ้น

จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ปูนซีเมนต์นครหลวงจะอยู่หรือไป?! อินทรีจะองอาจผงาดฟ้าหรือปีกหักอย่างบ้อท่าย่อมขึ้นอยู่กับสมเกียรติเป็นสำคัญ!! เพราะเดี๋ยวนี้สมเกียรติยังคงมุ่งมั่นปรารถนาที่จะสำแดงฝีมือให้ลือลั่น ในรูปแบบข้าขอลิขิตขีดเส้นชะตาที่ไม่ต้องการให้ใครกำหนดด้วยตัวของตัวเองเพียงหนึ่งเดียว

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่จะต้องเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ตามภาวะการณ์จะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่า "สมเกียรติจะผ่อนคลายความตึงของตัวเองลงมาสักแค่ไหน"?

แต่ยังมิทันเคลื่อนไหวพนักงานบางคนก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเปรยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไม่ว่าจะมีแผนการลึกซึ้งแค่ไหน แต่ที่สุดอำนาจซึ่งจะสนับสนุนความรุ่งเรืองหรือเหนี่ยวรั้งบริษัทฯ ให้ต่ำลง ยังจะต้องเป็นมือไม้หรือเป็นคนที่สามารถรับคำสั่งจากข้างบนได้โดยไม่มีเสียงขัดแย้งหรือซักถามให้วุ่นวายใจ"

รูปแบบการบริหารงานของปูนซีเมนต์นครหลวงปัจจุบันนอกจาก สมเกียรติที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดยังมีผู้บริหารระดับรองที่คอยรองรับคำสั่งงานมายังพนักงานระดับล่างช่วยเหลืออีก 2 คน คือ ประมวล ศกุนตนาค ลูกหม้อดั้งเดิมของบริษัทฯ รับผิดชอบงานสายการตลาด กับ ดร.สุโรจน์ รับผิดชอบด้านการผลิต

ตำแหน่งหน้าที่ของ ดร.สุโรจน์ ดูจะไม่มีปัญหาให้เป็นที่กังวลมากนัก เนื่องจากสมเกียรติให้ความเกรงใจฝ่ายผลิตค่อนข้างสูง เพราะว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้พอ โดยเฉพาะกับยุทธ ยุคแผน ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน สมเกียรติแทบจะไม่ย่างกายเข้าไปข้องแวะให้ยุ่งยากใจเลย

ทว่ากับตำแหน่งหน้าที่ที่ ประมวล ศกุนตนาค นั่งทับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของบริษัทฯ ส่อเค้าความยุ่งยากมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้เนื่องจากสายงานด้านนี้ สมเกียรติไม่เคยปล่อยให้คราดคราไปจากสายตาของตนเลยแม้แต่น้อย และคงต้องยุ่งยากขึ้นอีกเมื่อประมวลจะต้องเกษียณอายุในปี 2531

แม้ตำแหน่งที่เปรียบเสมือนขุนพลของบริษัทฯ จะรู้ล่วงหน้าเป็นปี ๆ ว่าต้องว่างลงแน่นอน แต่ปัจจุบันหาได้มีการขยับเพื่อเตรียมคนที่จะขึ้นมารองรับแต่อย่างใด พฤติกรรมเยี่ยงนี้ผิดแผกแตกต่างไปจากองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ในระดับเดียวกันมากทีเดียว

แหล่งข่าวในปูนซีเมนต์นครหลวงเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงสภาพภายในที่เป็นอยู่ในขณะนี้ว่า ระดับผู้จัดการฝ่ายที่อยู่ในตำแหน่งรองลงไปจากประมวลและอยู่ในอันดับที่มีโอกาสจะขึ้นทดแทนได้มีการวิ่งเต้นกันสุดขีด แต่ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวรับความขมขื่นไว้ไม่น้อย ด้วยเกรงว่าอาจมีการดึงบุคคลภายนอกเข้ามารับภาระหน้าที่ซึ่งก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ไม่น้อย จนทำให้ขวัญและกำลังใจในการทำงานแทบจะไม่มี

อดีตพนักงานของบริษัทฯ คนหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า สมเกียรติเคยกล่าวกับคนใกล้ชิดที่ต้องไปไหนกับเขาอยู่บ่อย ๆ ว่า "ถึงตำแหน่งผู้บริหารชั้นสูงจะต้องว่างลงอีกตำแหน่ง แต่เขายังจะไม่ตัดสินใจอะไร เพราะเขาไม่เคยเชื่อใจใครว่าจะเก่งไปกว่าเขาอีกแล้ว"

"มองในแง่สายงาน ประมวลอาจคุมงานทั้งหมด แต่ในแง่การทำงานอำนาจที่ได้รับค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยเต็มทน เรื่องที่สำคัญ ๆ จะต้องให้สมเกียรติเป็นคนตัดสินใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโยกย้ายพนักงาน เรื่องส่งเสริมการขายกับดีลเลอร์ต่าง ๆ คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ระดับหัวหน้าฝ่ายไม่มีแม้แต่อำนาจจะเซ็นเบิกของได้ด้วยตัวเอง" แหล่งข่าวกล่าว

การวางนโยบายปฏิบัติการระหว่างระดับสูงกับระดับล่างของปูนซีเมนต์นครหลวงเท่าที่ "ผู้จัดการ" ติดตามมาโดยตลอด พบว่า แม้ว่าบริษัทฯ จะมีการวางมาตรการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานค่อนข้างจะรัดกุม ไม่มีการใช้เส้นสายมากมายนักซึ่งทำให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพค่อนข้างสูงดังจะดูได้จาก

จำนวนพนักงานเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังผลิตของทั้ง 3 ปูน สัดส่วนการทำงานของพนักงานปูนซีเมนต์นครหลวงมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่าทุกแห่ง โดยกำลังการผลิต 2.8 ล้านตัน ใช้พนักงานผลักดันความก้าวหน้าทั้งบริษัท (การตลาด-การผลิต-ธุรการ) เพียง 1,040 คน ขณะที่ปูนซีเมนต์ไทยที่มีกำลังการผลิต 6.3 ล้านตัน ใช้พนักงานถึง 4,000 คน และชลประทานซีเมนต์ที่มีกำลังผลิต 0.85 ล้านตันใช้พนักงาน 1,100 คน

กำรี้กำไรและความสำเร็จที่งอกเงยเป็นก่ายเป็นกองมากขึ้น ๆ ทุกปีย่อมสะท้อนภาพที่ชัดเจนที่สุดว่า พนักงานปูนซีเมนต์นครหลวงเยี่ยมยอดเพียงใด แต่เป็นที่น่าเสียดายมากกว่า เมื่อก้าวมาถึงระดับของการเป็นผู้จัดการแผนกซึ่งหลายคนมีแววว่าจะรุ่งเรืองกลับต้องถูกดองไม่ให้โตมากไปกว่าที่เป็นอยู่!?

อดีตพนักงานคนหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า อย่าได้ไปถามหาทุนศึกษาต่อจากบริษัทฯ เลย โดยเฉพาะในส่วนการตลาด หากคิดจะเรียนต่อก็ต้องลาออก เรื่องนี้จะกล่าวโทษประมวลที่เป็นผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นก็ไม่ถูกต้องมากนัก เพราะว่าตัวประมวลเองเท่าที่ผ่านมาก็ถูกกดดันให้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดคำสั่งงานเท่านั้น

"อาจจะดีหน่อยกับฝ่ายโรงงานที่คุณยุทธแกกล้าขัดแย้ง กล้าโต้ตอบกับสมเกียรติ จนสามารถตั้งทุนให้กับพนักงานโรงงานมีสิทธิไปเรียนต่อได้ ซึ่งผลที่ได้รับทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอยู่ปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับโรงงานอื่น ๆ"

และให้น่าแปลกใจมากขึ้นอีกว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างฝ่ายการตลาดกับฝ่ายโรงงานในแง่ประสิทธิภาพของงานที่ปรากฎออกมามิได้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้กุมนโยบายของบริษัทฯ คิดที่จะดำเนินแก้ไขเพื่อลดช่องว่างให้น้อยลงแต่อย่างใด พนักงานส่วนการตลาดมากคน ตกอยู่ในสภาพเคว้งและคว้างจนเหลือที่จะอดทน

จริงอยู่ที่ว่าปูนซีเมนต์ทั้ง 3 ยี่ห้อของปูนนครหลวงฯ ไม่ว่าจะเป็น ตรานกอินทรี ตราเพชร หรือตราสามเพชร เป็นปูนซีเมนต์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพว่า เป็นปูนชั้นยอดตัวหนึ่ง แต่เมื่อมองสภาพความเป็นจริงของตลาดที่ต้องแข่งขันกันสูง ต้องใช้กลยุทธ์หลายหลากตลอดจนมือโปรเข้ามา Run งาน

จุดนี้ให้น่าเป็นห่วงปูนซีเมนต์นครหลวงไม่น้อย!!!

"ที่ปูนนครหลวงฯ โตขึ้นมาได้นั้น ต้องถือว่าความเฮงของตลาดมีส่วนช่วยเหลือไม่น้อย แต่ในอนาคตไม่อาจคาดหวังได้อย่างนั้นอีกแล้ว และทีนี้ล่ะจะพิสูจน์กันเสียทีว่า เก่งกับเฮงที่เกิดขึ้นจะมีอายุยืนยาวเพียงใด ถ้าบริษัทฯ ไม่บีบคั้นการเติบโตของพนักงาน ให้การฝึกอบรมและศึกษามากขึ้นโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะก็มีมาก" แหล่งข่าวกล่าว

มาถึงประเด็นการโยกย้ายสับเปลี่ยนภายในบริษัทฯ ที่เป็นกิจพึงควรปฏิบัติของทุกองค์กรฯ ทั้งนี้ เพื่อหาวิธีการที่จะปลุกเร้าการทำงานและการแก้ไขปัญหาให้ได้ดีที่สุด กล่าวโดยของปูนซีเมนต์นครหลวงนั้นมีน้อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย แต่ถึงคราวจะเปลี่ยนสักครั้งก็เล่นเอาเถิดวุ่นวายไม่น้อย ดังจะดูได้จากบทเรียนของคำสั่งโยกย้ายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528

ครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นคำสั่งแรกของสมเกียรติที่ให้มีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงโดย้ายวีรศักดิ์ อิงคโรจนฤทธิ์ จากฝ่ายขายเป็นฝ่ายปฏิบัติการ และให้สุนทร กิติยวัฒน์จากฝ่ายปฏิบัติการตลาดไปประจำฝ่ายขายผลที่ออกมาก็คือเกิดการตีกันข้อมูลไม่ให้ความกระจ่างชัดแก่กันและกัน ผู้ถูกโยกย้ายไม่เคลียร์ในนโยบาย จนเกิดความสับสนขึ้นอย่างมากในบริษัทฯ พนักงานไม่มีจิตใจทำงาน

บทเรียนแบ่งแยกแล้วปกครอง หากเป็นการปกครองที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างฝ่ายอย่างสูง ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า "กับการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายแทนตำแหน่งประมวลที่จะขึ้นจะเกิดอาการตีกันข้อมูลให้วุ่นวายจนทำให้บริษัทซวนเซอีกครั้งหรือไม่"

คำตอบนี้ สมเกียรติ ลิมทรง คงเป็นผู้ให้การชี้แจงแถลงไขได้ดีกว่าใคร"!?

สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายอาจผ่านความเห็นชอบจากสมเกียรติให้ขึ้นมาเป็นตัวรองจากตนแทนประมวล ศกุนตนาค โดยมองจากคนภายในมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งในส่วนการตลาดมือรองลงไปจากประมวลมีด้วยกัน 7 คนคือ

เสถียรภาพ พันธุ์ไพโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล

วีรศักดิ์ อิงคโรจนฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย

จำลอง นิมบุญจาช ผู้จัดการฝ่ายขาย

สุนทร กิติยวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

ธงชัย จันทรางกูล ณอยุธยา รองผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ

ดวงกมล สุชาโต ผู้จัดการฝ่ายบัญชี

สุวิทย์ นารถวังเมือง ผู้จัดการฝ่ายบริการตลาดและกรรมการผู้จัดการ ทีจี. เซรามิคส์

ทั้ง 7 คนมีโอกาสยิ้มแย้มและร้องไห้ในระดับอัตราเสี่ยงที่แตกต่างมากน้อยกว่ากันไม่มากนัก เพราะแต่ละคนก็มีจุดเด่นจุดด้อยแยกแยะกันออกไป

เสถียรภาพ พันธุ์ไพโรจน์ เป็นบุคคลที่สนิทชิดเชื้อกับสมเกียรติมากที่สุด เป็นบุคคลที่ถ่ายทอดความเป็นสมเกียรติจนเกือบทุกกระเบียดนิ้วเว้นไว้เสียแต่การแต่งกายที่บางครั้งออกจะหรูหราล้ำหน้าอยู่นิด ๆ

สิงห์ดำจากจุฬาฯ ผู้นี้เคยผ่านการเป็นเซลส์ปูนซีเมนต์ไทยมาก่อน ไปศึกษาต่อที่นอร์ท เวสเทิร์น แล้วเข้ามาทำงานในปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นคนที่วางระบบเงินเดือนให้กับบริษัทฯ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดรูปแบบการบริหารงาน สมเกียรติให้ความเชื่อใจมากในการเป็นตัวแทนติดต่อราชการเพราะตัวเสถียรภาพเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างศาลแรงงานกลางอีกด้วย

ครั้งที่พนักงานเรียกค่าชดใช้เสียหายเป็นเงิน 68.1 ล้านบาท กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคราวโอนย้ายพนักงานส่วนหนึ่งของบริษัทฯ ให้ไปประจำที่บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือตั้งใหม่ (2527) เสถียรภาพเป็นคนที่พูดกลางงานเลี้ยงปีใหม่ว่า "ตราบใดที่ผมยังเป็นผู้พิพากษาอยู่บริษัทฯ ต้องเป็นผู้ชนะเสมอ"

ซึ่งเขาก็ทำได้จริง ๆ เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2529 ยืนยันให้บริษัทฯ เป็นผู้ได้เปรียบ และนั้นเท่ากับเป็นการเปิดรอยแผลให้กับพนักงานส่วนหนึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว มองในแง่ความร่วมมือร่วมใจเสถียรภาพดูจะมีน้อยที่สุดกับพนักงานทั่ว ๆ ไป

สุนทร กิติยวัฒน์-สมัยที่ศุลียังบริหารงานอยู่ สุนทรได้ชื่อว่าเป็นคนที่ศุลีมอบหมายงานให้ทำมากที่สุด จนมองดูเป็นตัวตายตัวแทน แต่เมื่อศุลีจากไปบทบาทของเขาก็ลดน้อยลง ๆ จนเคยบ่นกับคนใกล้ชิดว่า ถ้าไม่เป็นห่วงเงินเดือนที่ได้รับอย่างสูงก็ไม่อยากอยู่ที่นี่อีกต่อไป

สุนทรจบด้านบัญชีจากธรรมศาสตร์และ เอ็มบีเอ. จากนิด้า เป็นผู้จัดการแผนกที่ลูกน้องรักใคร่มากที่สุด เป็นนักวางแผนตัวฉกาจ ถ้าศุลียังคงอยู่แล้วเชื่อเหลือเกินว่าอาคตของสุนทรกับชีวิตที่ฝากฝังไว้กับปูนนครหลวงฯ คงพุ่งไม่หยุดยั้งแน่นอน

ทว่าวันนี้คงต้องพูดกันยาวนานหน่อย!!!

ธงชัย จันทรางกูล ณ อยุธยา-เป็นรองผู้จัดการแผนกคนล่าสุดที่สมเกียรติทาบทามตัวมาจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อไม่นานมานี้มองกันได้ว่า ธงชัยอาจเป็นมือซ้ายคนสำคัญของสมเกียรติในอนาคต การเข้ามาอย่างฉับพลันทันด่วนของเขาสร้างความสนเห์และไม่สู้พึงพอใจบางส่วนแก่พนักงานเก่า ๆ ที่ควรได้รับสิทธิให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามในแง่การทำงานดูสมเกียรติจะพึงพอใจในตัวธงชัยไม่น้อยเลย

สุวิทย์ นารถวังเมือง กับวีรศักดิ์ อิงคโรจนฤทธิ์-สองคนนี้แม้จะเป็นลูกหม้อเก่าที่มีอายุงานไม่น้อยไปกว่าคนอื่น แต่บทบาทที่ผ่านมายังไม่อาจระบุลงไปได้อย่างเด่นชัดว่าพร้อมต่อการเป็นแคนดิเดทเช่นเดียวกับบุคลทั้งสาม โดยเฉพาะวีรศักดิ์ที่มีคดีติดตัวคราวคำสั่งโยกย้าย 1 มกราคม 2528 ทำให้ความหวังยิ่งลดน้อยลงไปอีก

เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องให้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงาน นอกจากเป็นการเสริมความรอบรู้ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจทางอ้อม ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเป็นไปตามระบบทำนองคลองธรรมที่สมเหตุสมผล เมื่อประมวล ศกุนตนาค ต้องพ้นวาระ จึงเท่ากับเป็นการพิสูจน์และวัดใจผู้บริหารระดับสูงให้รู้ว่า

ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องหาคนขึ้นมารับช่วงการทำงาน และเป็นการวางฐานครั้งสำคัญต่อการพัฒนาบริษัทฯ ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต ท่าทีเช่นนี้ผู้บริหารระดับสูงพร้อมหรือยังที่จะเห็นความสำคัญของนักบริหารมืออาชีพ ใจกว้างเพียงใดกับการยอมให้คนเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมบริษัทฯ อย่างแท้จริง!!!

ในอดีตปูนซิเมนต์นครหลวงอาจจำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจเด็ดเดี่ยวและเฉียบขาดของใครคนหนึ่งอย่างเช่น สมเกียรติ ลิมทรง เป็นแรงผลักดันให้ขับเคลื่อนขบวนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่วิถีทางในอนาคตที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากหลาย การแข่งขันที่จะเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น

หัวคิดของคน ๆ เดียวก็ไม่แน่นักว่าจะสัมฤทธิ์ผลเหมือนอย่างที่เป็นมา???

จริงหรือไม่จริงคงต้องถาม สมเกียรติ ลิมทรง เจ้าเก่าอีกนั่นแหละ!!!

ปัญหานี้หากมองในแง่ตัวสมเกียรติ เขาอาจจะไม่หนักใจอะไรเลย เพราะในวัย 45 ปี สมเกียรติยังคิดอยู่เสมอว่า เวลาในการทำงานที่จะชักบังเหียนควบม้าผ่าศึกของตัวเองยังมีเหลืออีกมาก และอาจมีเหลือเฟือพอที่จะได้ดูว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ปั้นมากับมือมันจะงดงามแท้จริงหรือไม่เมื่อถึงวาระที่ต้องอำลา…

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจจนเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย ที่สำคัญยิ่งสำหรับปูนซีเมนต์นครหลวงก็เห็นจะไม่พ้นการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ให้สูงถึงปีละ 4.6 ล้านตัน ซึ่งแม้จะคาดหวังกันว่าความต้องการของตลาดจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2530 แต่ขณะเดียวกันการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ผลิตทั้งหลายพร้อมใจกันขยายกำลังการผลิต (ดูตารางประกอบ)

สภาพที่ต้องเกิดขึ้นก็คือ ผลผลิตของแต่ละแห่งอาจเหลืออยู่มาก ภาระอย่างนี้ในส่วนของปูนซีเมนต์ไทยอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะมีสายงานธุรกิจอื่นคอยรองรับอยู่แล้ว แต่กับปูนซีเมนต์นครหลวงที่เพิ่งตัดสินใจขยายงานไปยังสายธุรกิจอื่นตามภาวะบังคับ

นี่ต่างหากที่เป็นเงื่อนปมที่จะต้องหาทางออกรองรับให้ดีที่สุด!!!

เมื่อนำมาพิจารณา ควบคู่กับการวางรากฐานต่าง ๆ ของบริษัทฯ ที่มีการวิจัยแล้วพบว่า ปูนซีเมนต์นครหลวงมีสภาพเหมือนกับพีรามิดที่เอาหัวตั้งลง เบื้องบนดูแข็งแกร่งแต่ฐานล่างยังเปราะบางก็ไม่ผิดอะไรกับการเอาแท่งทองปักลงไปในขี้เลนที่มีโอกาสถูกดูดซึมทุกเวลา

มิใยที่จะเปรียบได้กับท้องทะเลในวันที่คลื่นลมสงบ แต่จะมีใครรู้บ้างว่าพายุร้ายที่ก่อตัวเงียบ ๆ อาจรอวันถั่งโถมกวาดกระหน่ำทุกสิ่งทุกอย่างให้แหลกเป็นจุลในพริบตา

เราเองก็ไม่ปรารถนาเห็นภาพเช่นนั้นปรากฏขึ้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็วอย่างใด

การขยายตัวทั้งในแนวราบและดิ่งของปูนซีเมนต์นครหลวง ถ้าจะมองถึงกำลังตั้งรับและหนุนรุกเข้าไปมีส่วนแชร์ตลาดโดยมองจากสภาพที่ผ่านมาอย่างคร่าว ๆ คงต้องยอมรับระดับหนึ่งว่าฐานการตลาดของค่ายนี้มิได้ต่ำต้อยน้อยหน้าคู่แข่ง มิฉะนั้นแล้วคงไม่เติบโตอย่างพรวดพราดแน่นอน (ดูตารางส่วนแบ่งตลาด)

แต่ถ้าจะดูกันให้ถึงแก่นรูรั่วของกำลังปฏิบัติการด้านนี้ก็มีอยู่บานเบอะเช่นกัน

โดยเฉพาะในแง่ยุทธวิธีการขายที่บริษัทฯ ยังคงยึดติดอยู่กับหลักการ SAILING CONCEPT ที่ว่า เป็นอย่างไรก็ช่างขอให้ได้ทำเป้ามากที่สุดเป็นพอใจ อดีตพนักงานขายของบริษัทฯ คนหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า สมเกียรติ เคยแทงคำสั่งลงมาสั้น ๆ เพียง 3 บรรทัดเท่านั้นว่า "ยอดขายต้องเข้าเป้า" ซึ่งเมื่อถูกแย้งและเสนอความคิดกลับไป คำตอบที่ได้รับกลับมาซึ่งเล่นเอาพนักงานทุกคนงงเป็นไก่ตาแตกก็คือว่า

"หลักการตลาดแผนการขายที่คุณเสนอมากันนั้น คุณมั่นใจแล้วหรือว่าจะเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น"

สรุปกันง่าย ๆ คือว่า "ไม่ยอมรับ"

SAILING CONCEPT ซึ่งให้ความสนใจกับเป้าการขายอาจเป็นหลักการที่สอดคล้องกับสภาพตลาดในอดีตที่ลักษณะตลาดเป็นของผู้ขาย ทำให้ผู้ผลิตสนใจเพียงการผลิตสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม่นำพาต่อสภาพความต้องการบางแง่มุมของผู้บริโภค

แต่สภาพตลาดในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนมือมาเป็นของผู้บริโภคมากขึ้น MARKETING CONCEPT ที่เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคควรเป็นหลักการที่เหมาะสมที่สุด เช่นการทำวิจัยตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าต้องการอย่างไร เรื่องหญ้าปากคอกอย่างนี้กล่าวโดยปูนซีเมนต์นครหลวงแทบจะไม่มีการทำเลย

จากการทำวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทนิด้าพบว่า ในจำนวนผู้ผลิตทั้ง 3 แห่ง ปูนซีเมนต์นครหลวงมีการนำเอายุทธวิธีการเพิ่มยอดขายแบบใหม่ (MARKETING CONCEPT) มาใช้น้อยที่สุด

"บริษัทฯ มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์และค่อนข้างประหยัดเก็บตัวมากที่สุด จนน่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงในอนาคตเพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไปมาก" บทสรุปสั้น ๆ ที่พูดถึงปูนนครหลวงฯ

นักการตลาดหลายท่านให้ข้อคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในอดีตปูนซีเมนต์นครหลวงอาจฮึกเหิมลำพองกับยุทธวิธี SAILING CONCEPT มองดูตัวเลขการขายที่พุ่งสูงขึ้น ๆ ในเส้นกราฟแต่ละปี แต่เมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนไป หากบริษัทฯ ยังติดยึดอยู่กับหลักการดั้งเดิม

ที่สุดของหลักการนั้นอาจเป็นจุดจบอย่างน่าเวทนาที่สุดก็เป็นได้!

"คิดดูแล้วกันบริษัทฯ ไม่สนใจเลยที่จะให้การส่งเสริมอบรมเพิ่มความรู้แก่ตัวแทนจำหน่าย หรือพนักงานของบริษัทฯ เอง เมื่อมีลูกค้าสอบถามรายละเอียดบางทีเราก็ตอบเขาไม่ได้ ผิดกับปูนซีเมนต์ไทยที่เน้นความสำคัญในเรื่องนี้ค่อนข้างสูง" ตัวแทนจำหน่ายรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

และที่ต้องขบคิดกันอย่างหนักก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งสั้น ๆ ของสมเกียรติที่แทงลงมายังฝ่ายขายว่า "ต้องพยายามควบคุมไม่ให้ดีลเลอร์รายหนึ่งรายใดโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่" จุดประสงค์ของคำสั่งนี้เป็นเพราะสมเกียรติเกรงว่า หากปล่อยให้ดีลเลอร์รายหนึ่งรายใดโตมากขึ้นจะทำให้เกิดอาการแข็งข้อหรือสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทฯ มากขึ้น

ไม่ว่าเป็นการต่อรองใด ๆ สำหรับสมเกียรติแล้วนั้นเขาเกลียดมันที่สุด!!!

เพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาที่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในวันหนึ่งวันใด นโยบายของสมเกียรติที่นำมาใช้กับปูนซีเมนต์นครหลวงก็คือ พยายามขยายการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่าปฏิบัติการเช่นนั้นจะนำมาซึ่งการแย่งลูกค้าด้วยกันเองและดีลเอร์ที่ตั้งขึ้นมาส่วนมากก็ยังหละหลวมไม่มีประสิทธิภาพ

"ผิดกับของปูนซีเมนต์ไทยนั่น เขาพยายามส่งเสริมให้ดีลเลอร์เติบโตมากขึ้น แต่เรื่องนี้คุณสมเกียรติแกไม่แคร์สิ่งที่แกต้องการมากที่สุดคือ ตัวเลขการขายที่มากขึ้นหรือไม่ลดลงไม่ว่าตัวแทนและแห่งของเราจะแก่งแย่งกันก็ตาม" พนักงานขายของบริษัทเล่าให้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฟัง

เพราะนโยบายนี้ ก่อให้เกิดความแค้นเคืองขึ้นบ้างแล้วกับดีลเลอร์รายใหญ่ทางภาคตะวันออกกับอีสาน โดยสองดีลเลอร์นี้ไม่สู้พอใจที่บริษัทฯ พยายามคุมกำเนิดกิจการของตน หนักข้อถึงที่ว่าครั้งหนึ่งที่เคยประกาศที่จะเลิกราการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างไม่ใยดี ร้อนถึงผู้บริหารบางคนต้องปลุกปลอบขวัญกันยกใหญ่

"ห้ามไฟไม่ให้มีควันได้อย่างไรกัน นั่นเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการท้าทายเท่านั้น ยังมีกระแสที่คุกรุ่นอีกมากมาย ซึ่งถ้าบริษัทฯ ไม่ทำความเข้าใจหรือพยายามสร้างความผูกพันกับดีลเลอร์เหล่านั้นให้มากขึ้นแล้ว ก็ให้น่าหวั่นไหวว่าการขยายธุรกิจไปในสายงานอื่นของบริษัทฯ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาดีลเลอร์เหล่านั้นสร้างตลาดจะเกิดปัญหาแน่นอน" พนักงานขายคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่ในข้อด้อยของปูนซีเมนต์นครหลวงก็มีจุดแข็งที่น่าพิจารณารวมอยู่ด้วย ประเด็นที่น่ามองก็คือว่า การสร้างดีลเลอร์ของบริษัทฯ พยายามมุ่งเน้นการจูงใจค่อนข้างสูงกว่าทุกบริษัท มีการให้เครดิตระยะยาวนานถึง 60-90 วัน มีการแจกของกำนัลให้โดยไม่มีข้อแม้ว่าต้องซื้อสินค้าในปริมาณที่กำหนด และยังมีการจัดส่งที่ตรงต่อเวลาอีกด้วย นั่นเป็นสิ่งมัดใจดีลเลอร์หลายรายให้รักใคร่ได้ไม่น้อย

ทว่าถึงที่สุดย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าดีลเอร์แต่ละรายคงไม่พอใจที่จะหยุดยั้งการเติบโตของตัวเองให้เป็นไปอย่างที่บริษัทฯต้องการ ด้วยว่าสัญชาตญาณมนุษย์ที่ยังไม่ละสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา มีไม่มากคนนักที่จะพอใจหยุดตอบสนองสิ่งเร้ากับตัวเอง

ความเปราะบางอีกเรื่องหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและขยายตลาดของบริษัทฯ ก็คือความไม่พยายามจะประสีประสาในเรื่องการประชาสัมพันธ์หรือแก้ไขภาพพจน์ตัวเองให้เป็นที่รู้จักของสังคมฯ ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจสินค้าทางอ้อม

การขยายตัวที่น่าเกรงขามและน่าเกรงภัยอีกจุดหนึ่งก็คือ การที่ชวน รัตนรักษ์ ประกาศจะบุกเบิกให้ ทีจี. เซรามิคส์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในยุทธถ้วยชามที่แท้จริง เพราะเดี๋ยวนี้เมื่อสิ้นอุตสาหกรรมเสถียรภาพกับบัวหลวงเซรามิคของตระกูล "จุลไพบูลย์" แล้วนั้นคงไม่มีเสี้ยนหนามที่จะคอยทิ่มตำให้เจ็บปวดอีกต่อไป

ทีเจ. เซรามิคส์ เมื่อเริ่มเข้าสู่ตลาดออกตัวว่า ผลิตภัณฑ์ของตนเกรดสูงกว่าทุกยี่ห้อ เพราะเป็นสไตล์เดียวกับเครื่องถ้วยชาม "รอสเซ็นทราว" ที่สังคมผู้ดีอังกฤษนิยมใช้กัน แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดจริง ๆ จัง ๆ ในราวเดือนธันวาคม 2528 ยอดขายไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ทั้งนี้อาจมาจากสาเหตุที่ของยังไม่ได้คุณภาพ

เมื่อถึงปี 2529 ที่มีการอัดฉีดเพิ่มประสิทธิภาพเข้าไปอีกหลายสิบล้าน จึงทำให้ชวนกับสมเกียรติ ออกจะมีความมั่นอกมั่นใจสูงว่า ถึงเวลาที่จะเป็นปีทองของ ทีจี. เซรามิคส์เสียที

แต่ฝันของคนทั้งคู่ก็ใช่ว่าจะสวยสดนักทีเดียว เนื่องจากมีกระแสข่าวลับลมคมในรายงานทุกระยะว่าในบรรดากลุ่มผู้บริหารของ ทีจี. เซรามิคส์ ที่นอกจากจะมี ชวน รัตนรักษ์ สมเกียรติ ลิมทรง แล้วยังมี วีรพันธุ์ ทีปสุวรณ ลูกเขยอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ที่มีบทบาทไม่น้อยรวมอยู่อีกคนนั้น

"ยามนี้น้ำต้มผักที่เคยว่าหวาน ปานกลับจะเป็นน้ำผึ้งสุดขมเอาเสียให้ได้ เพราะการที่กลุ่มของชวนกับสมเกียรติพยายามเน้นบทบาทให้สูงขึ้น ทำความไม่น่ารักให้เกิดกับกลุ่มของวีรพันธุ์ไม่น้อย ซึ่งปัญหาภายในเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

ความเปราะบางอีกเรื่องหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการขยายตลาดของบริษัทฯ โดยปริยายก็คือ ความที่ไม่พยายามจะประสีประสาในเรื่องการประชาสัมพันธ์แก้ไขภาพพจน์ตัวเองให้เป็นที่รู้จักของสังคม หรือการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือสังคมซึ่งถือได้ว่า เป็นการสร้างฐานตลาดในทางอ้อม ในบรรดาผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสามแห่งไม่ยากเลยที่จะสรุปว่า "ปูนซีเมนต์นครหลวงมีการประชาสัมพันธ์หรือสร้างสาธารณะประโยชน์ต่ำที่สุด"

และดูเหมือนว่าจุดบอดดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเล็กไปเสียแล้วสำหรับผู้บริหารบางคน

เรื่องนี้แม้แต่พนักงานของบริษัทฯ อดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เหมือนกันว่าในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ บริษัทฯ ควรที่จะเข้าไปมีบทบาทสนองตอบช่วยเหลือต่อสังคมบ้าง เอาแค่ง่าย ๆ สร้างศาลาที่พักผู้โดยสารก็ยังดี

หลังจากที่ถูกตีจุดบอดจุดนี้มาไม่น้อย ปูนซีเมนต์นครหลวงดูจะให้ความสนใจขึ้นมาบ้าง ดังจะสังเกตได้จากโครงการโอ่งน้ำที่ได้มอบปูนซีเมนต์ตรานกอินทรีจำนวน 520 ตันให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำไปใช้ในการฝึกอบรมวิทยากรปั้นโอ่งในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 17 จังหวัด 238 อำเภอ

4 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันมอบปูนซีเมนต์ตรานกอินทรีจำนวนแรกผ่านมือของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ อ. คง จ. นครราชสีมา วันนั้นวันที่ท้องฟ้ามีสีสวย เป็นวันที่สมเกียรติ ลิมทรง มีความชุ่มชื่นใจเหลือคณานับ หลายคนมีโอกาสได้เห็นรอยยิ้มที่แย้มยากของเขาเสียที

ก็จะไม่ให้ครึกครื้นได้อย่างไร เพราะการแก้ภาพพจน์เที่ยวนี้ สมเกียรติ ลั่นกระสุนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว เพราะเบื้องหลังโครงการนี้พนักงานที่รับผิดชอบกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมาว่า "ที่คุณสมเกียรติแกเดินหมากเกมนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนรู้ว่าปูนตรานกก็ใช้ปั้นโอ่งได้ ไม่ใช่มีแต่ปูนตราเสืออย่างเดียว ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านทางภาคอีสานที่เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่บอกว่า ปูนตรานกไม่ดีปั้นโอ่งสู้ตราเสือไม่ได้"

เพราะอย่างนั้นสมเกียรติเลยต้องยอมตัดสินใจให้มีโครงการโอ่งซีเมนต์ขึ้นมาด้วยเจตจำนงทางการค้าที่แยบยลจนมองแทบไม่ออกเหมือนกัน!

วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของปูนนครหลวงฯ

จุดแข็ง

1. มีการให้ส่วนลดและสินเชื่อกับลูกค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัทมากกว่าปูนซีเมนต์ไทย โดยให้เครดิตระยะยาวนานถึง 60-90 วัน ขณะที่ปูนซีเมนต์ไทยให้เพียง 30-60 วัน

2. มีตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่แต่ละแห่งเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้สะดวก

3. กำลังผลิตสูง สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที อีกทั้งการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยต่ำ

4. LOCATION ของโรงงาน ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถกระจายสินค้าไปที่อื่น ๆ ได้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย

จุดอ่อน

1. ภาพพจน์ของบริษัท ไม่ค่อยดี บริษัทฯ มีความรับผิดชอบต่อสังคมในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสาธารณะประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือให้ทุนการศึกษา

2. มีสินค้าน้อยทั้ง WIDTH และ LENGTH ใน PRODUCTLINE การที่ PRODUCT น้อยประเภททำให้อำนาจการต่อรองกับตัวแทนจำหน่ายไม่สูงเพราะตัวแทนจำหน่ายจะได้ PROFIT MARGIN จากการขายปูนซีเมนต์น้อยมาก แม้ว่าบริษัทฯ จะเริ่มขยับสายผลิตภัณฑ์ด้านอื่นเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

3. การโฆษณาไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้รู้จักชื่อเสียงของบริษัทและปูนซีเมนต์ยี่ห้อต่าง ๆ ของบริษัทน้อย

4. การคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ตัวแทนมีมากรายจริงแต่ก็เป็นไปอย่างหละหลวม และขาดระบบควบคุมที่ดีพอจนตัวแทนหลายแห่งแย่งชิงลูกค้ากันเอง

5. ขาดการส่งเสริมการขายไม่ว่าจะเป็น

- CONSUMER PROMOTION

- TRADE PROMOTION

- SALES-FORCE PROMOTION

- CONSUMERPROMOTION บริษัททำโฆษณาไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความเชื่อมั่นในตราเมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ห่างกันอีกมาก

- TRADE PROMOTION บริษัทไม่มีการอบรมความรู้แก่ตัวแทนจำหน่ายทำให้ตัวแทนมีการบริการที่ยังไม่ดีนัก อันจะส่งผลเสียถึงภาพพจน์ของบริษัทฯ ในระยะยาว

- SALES-FORCE PROMOTION บริษัทฯ จ่ายแต่เฉพาะเงินเดือนให้กับพนักงานขาย มีโบนัสปลายปีแต่ไม่มีการตั้งเป้าให้คอมมิชชั่นตามยอดขาย ทำให้ไม่เกิดแรงกระตุ้นต่อพนักงานมากนัก

6. การบริหารงานภายในแม้จะคล่องตัวรวดเร็ว ทว่ามองดูถึงการขยายตัวในอนาคต ลักษณะการบริหารที่อยู่ในรูป ONE-WAY-COMMUNICATION พนักงานระดับล่างเป็นเพียงผู้รับนโยบายและปฏิบัติตาม ตลอดจนการขาดการส่งเสริมหรือพัฒนาบุคลากรในทุกระดับจะเป็นผลเสียอย่างมากเมื่อบริษัทฯ ใหญ่โตขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us