|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

สิ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังในวันนี้ คือการร่อนทองในแม่น้ำโขง เพื่อจะใช้เรื่องนี้อธิบายถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในจีนที่มีต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในระยะยาว
การร่อนทองในแม่น้ำมีมานมนานแล้ว แต่ปัจจุบันหาดูยาก ที่หนึ่งที่หาดูได้แบบเที่ยวไปดูไป คือแม่น้ำโขงแถวหลวงพระบางในช่วงน้ำน้อย วิธีการคือเมื่อไปถึง หลวงพระบางแล้ว ให้ซื้อตั๋วเรือล่องน้ำโขง (มีขายทั่วไปตามท่าน้ำริมแม่น้ำ) ตามเส้นทางยอดนิยม คือหลวงพระบาง-ถ้ำติ่ง ระหว่างทางท่านจะเห็นชาวบ้านถือภาชนะคล้ายๆ หมวก ตักทรายปนน้ำแล้วร่อนไปมาเพื่อให้ทรายและน้ำกระเด็นออกไปจนเหลือแต่สิ่งที่หนักกว่า ซึ่งถ้าโชคดี ก็จะมีเกร็ด (เล็กๆ) ของทองปนอยู่ด้วย ถ้าท่านนึกสนุกอยากลองก็น่าจะทำได้ ผมเคยเห็น ฝรั่งนักท่องเที่ยวทำอย่างที่ว่าบ่อยๆ
ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านขี้สงสัยคงมีคำถามมากมาย แต่ผมจะขอตอบเฉพาะส่วนที่พอรู้ ได้แก่ 1) ทองมาอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร และ 2) แล้วทำไมไม่ทำเป็นการค้า
ผมขอตอบคำถามข้อง่ายก่อน คือข้อ 2 คำตอบสั้นๆ คือไม่คุ้ม เพราะถ้าคุ้ม รัฐบาลลาวคงทำเป็นสัมปทานไปแล้ว นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่ามีแต่ผู้หญิง เด็ก หรือนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ร่อนทอง ศักยภาพในการพัฒนาที่พอมี คือพัฒนาให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
คำตอบสำหรับข้อ 1 ค่อนข้างยาว ถ้าจะให้ดีท่านควรจะจิบน้ำชาไปด้วยในช่วงต่อไป และถ้าเป็นไปได้ควรเป็นถ้วยชา ใส ใส่น้ำชาที่ชงจากใบชาจริงๆ แบบมีเศษ และฝุ่นใบชาอยู่ในถ้วยด้วย เพราะผมจะต้องขอให้ท่านทดลองไป อ่านไป
ทองแบบที่ร่อนได้ที่หลวงพระบาง เกิดจากสายแร่ที่ถูกกัดเซาะด้วยฝนและลำน้ำตามภูเขาที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง มีลักษณะเป็นเกร็ดเล็กๆ เกือบเหมือนเม็ดทรายแต่ไม่กลมเท่า ไหลมาตามกระแส น้ำจนถึงหลวงพระบางจึงเหนื่อย จึงหยุดเดินทาง
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับทองเท่านั้น แต่ยังเกิดกับแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย แต่ทองมีลักษณะพิเศษที่ไม่รวมตัวกับใครง่ายๆ มีความหยิ่งและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก และที่สำคัญคือเมื่อคนเห็นทองแล้วต้องสนใจ
แล้วทำไมเกร็ดทองถึงมาเหนื่อยเอา ที่หลวงพระบาง ผมขออธิบายดังนี้ จากข้อเท็จจริงว่าในช่วงต้นน้ำของแม่น้ำทุกสาย ท้องน้ำจะมีความชันสูง เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา น้ำไหลเร็วและแรง ทำให้สิ่งที่ไหลมากับน้ำตกตะกอนไม่ทัน
แล้วก็เป็นข้อเท็จจริงอีกว่า ความชันของท้องน้ำจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ตามทิศทางการไหล ยกตัวอย่างเช่นความลาดชันของแม่น้ำปิงที่เชียงใหม่มีค่าประมาณ 1 ต่อ 1,000 (หมายความว่า ระดับท้องน้ำลดลง 1 เมตรในช่วง 1 กิโลเมตรของความยาว) ในขณะที่ความลาดชันของแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ มีค่าประมาณ 1 ต่อ 10,000 (แม่น้ำปิงกับแม่น้ำเจ้าพระยา คือลำน้ำที่ต่อกันที่นครสวรรค์)
การที่ท้องน้ำลดความลาดชันลง ทำให้ความเร็วการไหลลดลงไปด้วย แน่นอนว่าจะต้องมีช่วงหนึ่งของลำน้ำที่ความเร็วของการไหลเหมาะกับการที่สิ่งที่ไหลมากับน้ำจะตกตะกอน
ถึงตอนนี้ ผมขอให้ท่านจิบชาแล้วเขย่าถ้วย เพื่อให้ตะกอนฟุ้งกระจายเต็มถ้วย จากนั้นให้ท่านสังเกตการตกตะกอนของเศษชา ท่านจะเห็นว่าเศษชาชิ้นใหญ่ๆตกลงก่อนชิ้นเล็กๆ เกร็ดทองและสิ่งที่ไหล มากับน้ำในแม่น้ำก็ทำตัวแบบเดียวกัน แต่ยุ่งกว่า เพราะแต่ละสิ่งมีความหนาแน่น รูปร่าง และขนาดไม่เท่ากัน เช่นเกร็ดทองหนักกว่าเม็ดทราย นอกจากนั้นน้ำยังมีความเร็ว และเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ไม่เหมือน กับน้ำในถ้วย
ทั้งหมดทำให้สิ่งที่ไหลมากับน้ำตกตะกอนที่จุดต่างๆ กันในแม่น้ำ เช่นเกร็ดทองตกตะกอนแถวหลวงพระบาง เม็ดทราย บางชนิดตกตะกอนที่มุกดาหาร (ทำให้เกิดท่าทราย-บริเวนที่คนขุดทรายมาขาย) ฯลฯ ในทางทฤษฎีสามารถทำนายบริเวณตกตะกอนได้อย่างหยาบๆ ข้อเท็จจริงนี้มนุษย์นำไปใช้ออกแบบเครื่องร่อนพลอย และอุปกรณ์อื่นๆ
ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายแบบวิชาการสมัครเล่นของผมว่าทองมาตกตะกอนที่หลวงพระบางได้อย่างไร
เพื่อไม่ให้ท่านที่ไปหลวงพระบางเสียเที่ยว ผมขอแนะนำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ท่านประทับใจกับหลวงพระบางยิ่งขึ้น ได้แก่ 1) พิพิธภัณฑ์ที่เดิมเป็นวังของเจ้ามหาชีวิต เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล็กกะทัดรัด แต่มีของมีค่าควรชมที่ไม่มีทางได้เห็นในประเทศไทย
2) เตา หรือไค เป็นสาหร่ายแม่น้ำโขงตากแห้ง ทำเป็นแผ่นบางๆ สีเขียว แขวนไว้และหาซื้อได้ในตลาด ดูไกลๆคล้ายเสื่อที่ใช้รองนั่ง เอามาปิ้งกินเป็นอาหารว่างหรือระหว่างดื่มเบียร์อร่อยมาก
3) ถ้าตื่นเช้า ผมแนะนำให้วิ่งออกกำลังกายช้าๆ ไปตามถนนในเมือง จะได้ดู เมืองมรดกโลกยามเช้า หรือถ้าอยากตักบาตร ขอให้วิ่งเฉี่ยวไปแถวตลาด (ไม่ยากวิ่งไปตามเส้นทางที่คนเดินหรือขี่จักรยานไป ก็จะเจอตลาดแน่นอน) ซื้อข้าวเหนียว (อย่างเดียวก็พอ) แล้วมาต่อคิว กับชาวบ้านรอตักบาตร จะได้ความประทับใจแบบที่หาไม่ได้ในเมืองอื่น เวลาตักบาตรขอให้ชะโงกดูในบาตรด้วยว่ามีอะไรบ้าง จะพบว่ามีแต่ข้าวเหนียว กับข้าวไม่ค่อยมี เป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะนำกับข้าวไปถวายที่วัดตอนสาย เรื่องนี้ผมเคยปล่อยไก่มาแล้ว จึงจำได้ไม่ลืม
4) วัด นอกจากวัดเชียงทองแล้ว วัดทุกวัดน่าดูทั้งหมด และอยู่ในระยะทางที่เดินไปได้สบายๆ
5) เฝอ อาหารเช้าที่หลวงพระบางที่ควรลองคือเฝอ ร้านไหนอร่อยถามได้จากโรงแรมที่ท่านพัก
6) ถ้าท่านสนใจด้านผังเมืองของหลวงพระบาง ผมแนะนำให้เดินขึ้นพระธาตุ ภูษี ทางขึ้นภูอยู่ตรงข้ามกับทางเข้าพิพิธภัณฑ์ บนยอดภูมีพระธาตุ เมื่อมองไปรอบๆ จะเห็นความเก๋าของนักผังเมืองชาวฝรั่งเศส ที่สามารถใช้ภูมิประเทศที่แม่น้ำสองสายสบกันให้เป็นประโยชน์ (ลำน้ำโขงกับลำน้ำคาน)
โดยรวมแล้ว ท่านจะเห็นอิทธิพลของแม่น้ำที่มีต่อวิถีชีวิตคนและชุมชน ทั้งด้านสาธารณูปโภค อาหาร ประเพณี และวัฒนธรรม
ในขณะที่ล่องเรือ ท่านอาจสังเกตว่า บนฝั่งแม่น้ำมีโรงเรือนที่ดูแล้วไม่น่าใช่บ้านคน เพราะมีโอ่งและกองไม้ฟืนจำนวนมาก บางแห่งก็มีควันไฟออกมา จะว่าเผาถ่านก็ไม่ใช่ ขอเฉลยครับ ว่าที่ท่านเห็นคือโรงกลั่นเหล้าแบบชาวบ้าน ไม่ต้องตกใจครับเพราะในประเทศลาว การกลั่นเหล้าไม่ผิดกฎหมาย บอกอย่างนี้หลายท่านอาจอยากลองชิม จะชิมกันทั้งทีก็ต้องเป็นแบบสุดๆ ขอแนะนำให้ลองเหล้าที่ทำจากข้าวเหนียว ดำ ที่ลาวเรียกว่าข้าวก่ำ รสชาติคล้าย 35 ดีกรี แต่หอมกว่ามาก แต่ต้องเตือนก่อนว่าให้ลองแบบพอเพียงนะครับ
การสร้างเขื่อนในจีนอาจจะทำให้เกร็ดทองไม่ตกตะกอนที่หลวงพระบางอีกต่อไป หรือทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดลงอย่างที่เป็นข่าวที่ผ่านมา ผมไม่ขอให้ความเห็น แต่ที่ผมเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นช้าๆ จนเป็นปัญหาใหญ่ในช่วง 20 ปีข้างหน้า คือ การกัดเซาะตลิ่งในช่วงบน และตะกอนทับถมในช่วงล่างของแม่น้ำ
ตัวอย่างเช่น การกัดเซาะตลิ่งตั้งแต่เมืองเชียงรุ่งในจีนจนถึงหนองคายจะมากขึ้น ท้องน้ำและสันดอนทรายจะลึกลง ในทางตรงกันข้าม ท้องน้ำจากหนองคายถึงอุบลราชธานีจะตื้นขึ้น สันดอนทรายจะมากขึ้น ร่องน้ำลึก (ที่สำคัญต่อการเดินเรือ และเส้นแบ่งเขตแดน) จะเปลี่ยนแปลงเร็วและบ่อยขึ้น คอนพระเพ็งจะขยายออกทางกว้างมากขึ้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำนายได้และรู้จักกันในชื่อว่า river degradation (http://www.mo-rast.org/Meetings/12-07/Chapman.pdf) เพราะเกิดมาแล้วในทุกลำน้ำที่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ผลที่กล่าวมาเป็นเพียงประมาณการเบื้องต้น เท่านั้นยังมีผลสืบเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ที่มีต่อประชาชนที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง
กลไกที่ทำให้เกิด river degradation เป็นกลไกธรรมชาติ แบบเดียวกับที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนและตกตะกอนของเกร็ดทองคำ อธิบายง่ายๆ คือถ้าคิดว่าน้ำมีชีวิต กระแสวนของน้ำทำให้น้ำมีความหิว มากน้อยตามความรุนแรงของความวน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วการไหลของน้ำ อาหารที่น้ำต้องการคือวัสดุที่ประกอบกันเป็นท้องน้ำ
การกักเก็บน้ำในเขื่อน ทำให้ความเร็วของน้ำในอ่างลดลง เกิดการตกตะกอน ในอ่าง น้ำที่ไหลออกจากอ่างผ่านกังหันไฟฟ้า (ประตูน้ำหรือทางน้ำล้น) จะมีความเร็วสูงและใสกว่าน้ำที่ไหลเข้าอ่าง ทำให้น้ำที่ไหลออกจากอ่างมีความหิวมาก จึงกัดกินท้องน้ำและตลิ่งขณะที่ไหลไปเรื่อยๆ การกัดกินท้องน้ำจะหยุดก็ต่อเมื่อน้ำหายหิว (ปริมาณตะกอนในน้ำได้สมดุลกับความเร็ว) และตกตะกอนเมื่อความเร็วลดลง
เนื่องจากในแม่น้ำทั่วไป ความเร็วการไหลจะค่อยๆ ลดลงตามทิศทางการไหล จึงเกิดการกัดกร่อนในช่วงต้นน้ำและเกิดการตกตะกอนในช่วงท้ายน้ำ กลไกที่ว่า นี้คือตัวการที่ทำให้เกิด river degradation
ยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายนอกเหนือจาก river degradation ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์ ทำให้เกิดขึ้น หรือทำให้เกิดเร็วขึ้น ทั้งที่ผ่าน มาและที่จะเกิดในอนาคต คำถามคือแล้วเราควรจะกังวลไหม หรืออะไรคือสิ่งที่เราควรกังวล
คำตอบของผมคงไม่มีความหมายเท่ากับคำตอบที่ประเทศที่เกี่ยวข้อง (ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ร่วมกันตอบเป็นเสียงเดียว โดยผ่านองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นร่วมกัน (Mekong River Commission: http://www.mrcmekong.org/)
คำตอบที่องค์กรนี้ให้ คือเราควรจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไร จึงจะทำให้มีน้ำให้ใช้อย่างยั่งยืนไปจนชั่วลูกชั่วหลาน องค์กรนี้ได้คิดสิ่งดีๆ ออกมามากมาย แต่การนำไปปฏิบัติให้เกิดผลยังเป็นเรื่องยาก ท่านที่สนใจว่าแล้วไทยมีบทบาทอะไร? ใครดูแล หาอ่านได้ที่ http://www.dwr.go.th/writc/Untitled-2.htm
หมายเหตุ :
"อสยาน" เป็นนามแฝงของผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงโดยตรง แต่เนื่องจากเกรงจะกระทบต่องานที่ทำ จึงไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้
|
|
 |
|
|