|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หาก ADB หรือ JBIC คือสถาบันการเงินที่อยู่ในยุทธศาสตร์การขยายบทบาททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยก็มีหน่วยงานอย่าง Neda ซึ่งมีบทบาทและความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร พม่า แต่หน่วยงานนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนัก
"...ถนนเส้นนี้ตัดจากช่องสะงำ" เชื่อมไปถึงพนมเปญระยะทาง 450 กิโลเมตร สมัยก่อนจากอันลองเวงถึงเสียมเรียบแค่ 130 กิโล เดินทางกัน 4-5 ชั่วโมง เพราะถนนขรุขระ แต่เดี๋ยวนี้ถนนเส้นนี้ (หมายเลข 67) มีการยืมเงินจากรัฐบาลไทยมาทำ คือกู้เงินจากฝั่งไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เลยทำให้สะดวกขึ้นเยอะ กัมพูชายังมีโครงการจะยืมมาอีกในช่วงหลังๆ ถนนหมายเลข 68 จากช่องจอมไปเสียมเรียบ ระยะทางพอๆ กัน แต่ตอนนี้เลิก ถอนออกไปหมดนะครับ..."
ภาษาไทยที่ให้เสียงวรรณยุกต์ผิดเพี้ยนไปบ้างของไกด์วัย 38 ปีชาวกัมพูชา ขณะกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทย
เขาบรรยายถึงถนนหมายเลข 67 จากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย ไปจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา พร้อมกับพาดพิงถึงเงินกู้ยืมเพื่อสร้างถนนหมายเลข 68 จากช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ที่ทางกัมพูชา ระงับที่จะรับเงินช่วยเหลือก้อนนี้ไป เพราะปัญหาการเมืองระหว่างผู้บริหารสองประเทศ แม้ว่าถนนเส้นดังกล่าวจะเป็นที่ต้องการของผู้คนในท้องถิ่น ที่หวังว่าเมื่อเหตุการณ์สงบ กัมพูชาจะยอมรับเงินกู้ก้อนนี้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจของสองประเทศ พัฒนาต่อยอดต่อไปได้อีกตามที่ประชาชนทั้งสองประเทศรอคอย
คนกัมพูชาก็ไม่ต่างจากคนไทย เมื่อพูดถึงเงินกู้ยืมระหว่างประเทศ ก็จะเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องความช่วยเหลือระหว่างรัฐต่อรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศไทยมีหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินบทบาทให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ไม่ต่างกับหน่วยงานจากประเทศพัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย หรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) หรือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JBIC) หรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) เป็นต้น
หน่วยงานเหล่านี้ส่วนใหญ่นอกจากมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประเทศเป้าหมาย ก็ยังแถมพ่วงด้วยหน้าที่การเป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อได้สิทธิ์ในการลงทุนหรือดำเนินการของภาคเอกชนจากประเทศของตน ที่อาจจะมีเทคโนโลยีเหนือกว่า หรือมีบริการไม่ต่างจากที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ ให้ได้สิทธิ์เข้ามาดำเนินงานโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือนั้น
สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. หรือชื่อภาษาอังกฤษย่อๆ ว่า Neda ของไทย ก็เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ ใกล้เคียงกันนั้นเช่นกัน และเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านการเงินของไทยที่ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วกว่า 4 ปี แต่ดูเหมือนว่าบทบาทของหน่วยงานด้านการเงินจากประเทศเล็กๆ อย่างไทย จะยังไม่เป็นที่รู้จักเอาเสียเลย อาจจะเป็นเพราะภาพพจน์การเงินของประเทศเอง ก็ยังมีปัญหาให้ถกเถียงกันบ่อยๆ ว่าจะมีปัญญาไปช่วยใครได้ หรือจำเป็นอะไรที่จะต้องมีบทบาทในการให้กู้เงินกับประเทศอื่นๆ
"เงินช่วยเหลือเราไม่มากปีหนึ่งแค่ 500 ล้าน แต่ทำแล้วให้ความรู้สึกที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราควรจะเข้าไปเพราะอยู่ใกล้กว่าอีกหลายประเทศ ดีกว่าปล่อยให้ประเทศที่อยู่ไกลกว่าเข้ามา หน้าที่ สพพ.คือสร้างแบรนด์ความช่วยเหลือจากไทย ที่เหลือภาคเอกชนต้องสานต่อ เรามีหน้าที่ทำให้เอกชนเข้าไปสะดวกขึ้น ดีขึ้น จุดไหนที่ทำแล้วคนไทยและเพื่อนบ้านได้ประโยชน์ มีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี เราจึงจะทำ"
อรรคศิริ บุรณศิริ ผู้อำนวยการ สพพ. กล่าวถึงบทบาทหนึ่งของไทยในการเป็นผู้นำการพัฒนาเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศรอบบ้าน
ก่อนหน้าที่อรรคสิริจะมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนที่ 2 ของ สพพ. เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 เขาเคยมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารอยู่พักหนึ่ง จึงถือเป็นคนคุ้นเคยกับหน่วยงานมานาน อีกทั้งสายงานที่ผ่านมาก็เกี่ยวพันกับการบริหารงานด้านเศรษฐกิจระดับประเทศมาตลอด โดยเคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ กระทรวงการคลัง ดูแลด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
แถมครั้งหนึ่ง เขามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการให้เงินช่วยเหลือประเทศยากจนผ่าน ADB ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทย เกิดการฉุกคิดกันว่า ทำไมไทยไม่มีหน่วยงาน นี้เสียเอง แทนที่จะต้องช่วยเหลือผ่านคนอื่น
"ตั้งแต่ 10 กว่าปีแล้ว ก็คิดกันว่าทำไม ต้องให้ผ่าน ADB แต่ตอนนั้นก็ยังตั้งกองทุนของตัวเองไม่ได้ เพราะการทำงานราชการค่อน ข้างติดขัด ตั้งงบลำบาก จนมาปี 2548 รัฐเห็น ความสำคัญในการสร้างสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ สพพ.จึงเกิดขึ้น ที่เกิดได้เร็วเพราะมีกฎหมายแม่บทอยู่แล้ว ผมเป็นคนเขียนแผนตรงนี้พอดี มติคณะรัฐมนตรีเห็น ชอบให้ตั้งสำนักงานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548"
4 ปีกว่าหลังจัดตั้ง สพพ.เริ่มจากให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 โครงการ แต่ถึงตอนนี้มีโครงการที่ให้ความช่วยเหลือกว่า 10 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เกินวงเงินที่มีอยู่ไปมากมาย
ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้เชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไทยสามารถเพิ่มบทบาท ตัวเองในเชิงเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ไปพร้อมกัน
ยุทธศาสตร์แบบนี้เป็นเรื่องที่ประเทศเงินถุงเงินถังใช้เป็นกลยุทธ์กันมานาน เพราะนอกจากทำให้การช่วยเหลือเห็นชัดเป็นรูปธรรม ยังเป็นใบเบิกทางที่ดีให้กับผู้ประกอบการของประเทศที่หยิบยื่นความช่วยเหลือ ได้เข้า ไปขยายกิจการในประเทศนั้นๆ อย่างราบรื่น หน่วยงานอย่าง สพพ. จึงเทียบได้กับการเป็น ทูตเชิงเศรษฐกิจระดับประเทศ ในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านผ่านการให้กู้ยืมเงิน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งปัจจุบันคิดกันเหมือนให้ยืมเปล่าในอัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปีเท่านั้น สำหรับระยะเวลาการกู้ที่ยาวนานถึง 30 ปี
ที่ผ่านมา สพพ.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐในการดำเนินงาน เพราะการให้ความช่วยเหลือแต่ละโครงการเกินกว่าเงินทุนที่ สพพ.มีอยู่ทั้งสิ้น การเจรจาจึงเหมือน เป็นการช่วยเหลือกันระดับรัฐต่อรัฐมากกว่าที่จะเห็นบทบาทของ สพพ.ในเชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ประโยชน์ที่เห็นได้ตรงๆ จึงมีเพียง การที่ผู้ประกอบการจากไทยมีโอกาสในการรับงานเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถต่อยอดความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจที่ลึกไปได้มากกว่านี้
แต่นับจากนี้ สพพ.จะสร้างบทบาทของตัวเองตามที่กำหนดมาให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการทำตัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย ทั้งกับคนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน
"ภารกิจเราคือร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อขยายการค้า การลงทุน และการพัฒนา โชคดีที่เรามีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางบกอยู่มากทำให้เราขยายการลงทุนพวกนี้ได้เร็ว" อรรคศิริกล่าวถึงจุดแข็งที่เอื้อต่อการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน
พื้นที่ของไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทางบก ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ยากจนที่มีพรมแดนติดกับไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่วนใหญ่พึ่งพิงสินค้าของไทย ขณะที่ประเทศที่มีพื้นที่ติดกับไทยทั้งลาว กัมพูชา พม่า ต่างก็มีศักยภาพการเติบโตสูง
"การค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดเป็นหมื่นล้านแล้ว ไม่ว่าทางหนองคาย แม่สาย ดังนั้นแทนที่เราจะพัฒนาเศรษฐกิจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เราก็พัฒนาจากรอบข้างเข้ามาช่วยเสริม"
ยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลมองเห็นและดำเนินการผ่าน สพพ. ในการให้ไทยมีบทบาทเข้าไปสร้างฐานเป็นผู้บุกเบิกให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นการขยายการพัฒนาเศรษฐกิจ ชายแดน แล้วค่อยๆ ขยายเข้ามาสู่ศูนย์กลาง
"ชายแดนของเพื่อนบ้าน บางทีสินค้าจากศูนย์กลางส่งมายากกว่าส่งจากไทยไป ดูอย่างเมืองเมียวดี ตรงแม่สอด เป็นจุดหนึ่งที่เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีผลต่อประเทศไทย ชัดเจนจุดหนึ่ง เราได้ทั้งแรงงานราคาถูก และแหล่งพักสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองเมียวดี"
โครงการช่วยเหลือของ สพพ.ที่ผ่านมาถือว่ามีลาวและกัมพูชาเป็นลูกค้าหลัก ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนน R3a ช่วงที่ 1 ใน สปป.ลาว และการซ่อมแซมถนนสายดังกล่าว ที่เริ่มชำรุด ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือในการซ่อม แซมดังกล่าวแล้วจำนวน 200 ล้านบาท (อ่านเรื่อง "ประตู (อินโด) จีนเปิดแล้ว!!!" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ส่วนในประเทศกัมพูชา สพพ.ก็ได้ให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือในการก่อสร้างถนนหมายเลข 48 และหมายเลข 67 และเงินช่วย เหลือแบบให้เปล่าแก่พม่าในการสร้างถนนเชื่อมจากแม่สอดไปถึงกอกะเร็ก ระยะทาง 18 กิโลเมตร หรือแม้แต่โครงการกู้เงินเพื่อสั่งซื้อเครื่องจักรทำการเกษตรในเวียดนามที่ปัจจุบัน ก็อยู่ในช่วงการทยอยคืนเงินกู้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 คณะกรรมการของ สพพ.ได้อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาล สปป.ลาว ในการสร้างโครงข่ายถนนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนกลาง (Central Corridor) ซึ่งประกอบด้วยถนนจากด่านบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ผ่านเมืองคอบ ไปจนถึงเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ถนนจากเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ไปถึงเมืองเชียงแมน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับเมืองหลวงพระบาง ถนนจากด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ไปถึงเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี และถนนจากนครหลวงเวียงจันทน์ มาจนถึงเมืองปากลาย
โครงการเหล่านี้กำลังจะเริ่มต้นการก่อสร้างในระหว่างปี 2553-2554 นี้ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นการเชื่อมโครงข่ายคมนาคม ระหว่างประเทศไทย ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ที่สะดวกที่สุดอีกโครงข่ายหนึ่ง
(อ่านเรื่อง "4 เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือน มกราคม 2553 และเรื่อง "เส้นทางใหม่สู่หลวง พระบาง หาใช่แค่...ไปกินมื้อเที่ยง" นิตยสารผู้จัดการ 360 ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือที่ผ่านมา โครงการเกือบทั้งหมดที่ สพพ.เข้าไปมีส่วน โดยมากเป็นโครงการพัฒนาถนน จนสพพ. เป็นที่รู้จักในฐานะ Mister Road" ซึ่งอรรคศิริ บอกว่า นับจากนี้เขาพยายามจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ โดยจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ช่วยเหลือด้าน อื่นด้วย โดยมองว่าการพัฒนาด้าน Hardware และ Resource ควรจะเดินไปควบคู่กัน
"ที่เป็นมิสเตอร์โรด เพราะเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเมืองก็หนีไม่พ้นการสร้างถนน หลังๆ นี้เราก็เริ่มมองมากขึ้นว่า นอกจากสิทธิ์ในการจ้างงานผู้รับเหมาไทย เราก็จะดูว่า โอกาสอื่นๆ สำหรับประเทศมีแค่ไหน ไม่ถึงขั้นว่าจะต้องขอสัมปทานมากมายเหมือนประเทศอื่น แต่เราก็เห็นเหมือนที่หลายประเทศ เห็น ว่าทรัพยากรเพื่อนบ้านมีอยู่มหาศาล"
ถนนเส้นหนึ่งที่เปรียบเทียบให้เห็นการแลกเปลี่ยนหลังจากหยิบยื่นการช่วยเหลือได้ดีที่สุด ก็คือถนน R3a ในประเทศลาว ที่ช่วง หนึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ส่วนอีก ช่วงเป็นของจีน ที่มีคำกล่าวว่า "ไทยแลกไม้ จีนแลกแร่" ถนนช่วงที่ไทยสร้างป่าไม้จึงหายไปจากสองข้างทางนับสิบกิโล ขณะที่จีนขอเข้าไปขนแร่เป็นหลัก
จากมิสเตอร์โรดซึ่งเปรียบเป็นฮาร์ดแวร์ สพพ.กำลังมุ่งไปที่เป้าหมายเดิมให้ชัดขึ้นในการยื่นมือช่วยเหลือการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ซึ่งโครงการล่าสุดตอนนี้คือการเข้าไปให้ความช่วยเหลือพัฒนาบุคลากรด้านการรถไฟ ที่สพพ.เป็นหน่วยงาน กลางในการเข้าไปช่วยเหลือสร้างรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ที่เป็นส่วนขยายของทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรกของ สปป.ลาว ทั้งด้านพัฒนาบุคลากร ด้านการดูแล และซ่อมบำรุง
(อ่านเรื่อง "หินฟู พญางูใหญ่ และช้างเผือก" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือน เมษายน 2552 หรือใน www.gotomanager. com ประกอบ)
การช่วยเหลือที่เกินเงินทุน ทำให้ สพพ.เป็นที่รู้จักในระดับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในระดับท้องถิ่นหน่วยงานนี้กลับยังไม่มีตัวตน เป้าหมายหนึ่งของการทำงานจึงรวมเรื่องการประชาสัมพันธ์องค์กรกับคนท้องถิ่นไว้ด้วย
"แบรนด์ของเราระดับรัฐบาลรู้จักแล้ว แต่เราต้องทำให้รู้จักในพื้นที่ที่เราสร้าง คงต้องเข้าไปปักป้ายเสียหน่อยว่าถนนเส้นนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยผ่าน สพพ. ภาษีจากไทยช่วยเหลืออยู่ ต้องมีแบรนด์ ให้รู้ว่าไทยไม่ได้หาประโยชน์อย่างเดียวแต่ให้ความช่วยเหลือด้วย"
จากงบประมาณตั้งต้นที่ได้รับมา 500 ล้านบาท ปล่อยกู้ไปแล้ว 6,000 ล้านบาท แถมปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยถูก สพพ.จะมีวิธีบริหารเงินอย่างไร ภายใต้เป้าหมายว่าจะต้อง บริหารเงินทุนที่มีอยู่ได้อย่างยั่งยืน และพัฒนาหน่วยงานไปสู่การเป็นสถาบันการเงินที่พร้อม จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างแท้จริง ในอนาคต ที่มีบทบาท และอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่พึ่งพางบประมาณรัฐเพื่อสร้างเครดิตให้ตัวเองไปพร้อมกัน
"Funding เริ่มแรกเรามาจากรัฐบาลเป็นแบบท็อปดาวน์ แล้ว สพพ.เข้าไปช่วยงบน้อยก็เป็นความยากลำบากที่ทำให้เราต้องตั้งงบล่วงหน้าถึง 2 ปี เพื่อแก้ปัญหาเราก็พยายามเพิ่มบทบาท สร้างมูลค่าเพิ่มของโครงการ โดยมองว่านักลงทุนไทยจะทำอะไรได้บ้าง จากโครงการใหญ่ๆ เช่นถนนสายหลัก ก็อาจสร้างถนนต่อเข้าเมืองเล็กๆ หรือสร้างศูนย์การค้าชายแดนเป็นโครงการขนาดเล็กที่เป็นมูลค่าเพิ่ม แล้วไม่ต้องพึ่งเงินงบประมาณ"
แผนการพัฒนา สพพ.ที่อรรคศิริมองไว้ เขาบอกว่าจะไม่ต่างจากการพัฒนาของหน่วยงานจากประเทศอื่นๆ ที่ก็เริ่มจากโครงการเล็กๆ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการช่วยเหลือผ่านเข้ามาทางผู้ประกอบการ เช่นเงินกู้ยืมจากไทยก็ต้องผู้รับเหมาไทยทำ ซื้อสินค้าไทย เงินที่ให้ยืมไปอย่างน้อย 50-70% ก็จะกลับเข้า ประเทศ ส่วนผู้ประกอบการไทยก็เติบโตในต่างประเทศจากผลงานที่ทำมา
"เหมือนผู้รับเหมาไทยที่ทำเขื่อนน้ำเทิน ก็กลายเป็นผู้รับเหมาอินเตอร์ เดี๋ยวนี้ก็เติบโตเพิ่มเป็นหมื่นล้านแล้ว ตัดภูเขา เปลี่ยนทางน้ำ ทำได้ทุกอย่าง"
ส่วนเบื้องหลังเงินที่มาสนับสนุนนั้น นอกจากเงินก้นถุง ตอนนี้ สพพ.จับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM) และธนาคารออมสิน แต่เบื้องต้นจะเน้นความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลซึ่ง EXIM มีศูนย์วิจัยในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้วที่ สพพ.จะนำมาใช้ประโยชน์ได้
"จริงๆ สองหน่วยงานนี้ไปด้วยกัน วัตถุประสงค์เหมือนกันปล่อยกู้เพื่อนบ้าน เมื่อก่อนญี่ปุ่นก็มีสองหน่วยงานแล้วสุดท้ายก็รวมกัน แต่ไม่เวิร์กก็แยกกันอีก ของเราแยกเพราะต่างกัน เราให้เงินกู้ยืมถูก ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลานาน เน้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ แต่ของ EXIM เงินกู้เพื่อการส่งออก" อรรคศิริบอก
อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM ยอมรับกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าบทบาทของ EXIM กับ สพพ.มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงต้องเป็นไปในทางเดียวกันแต่ บทบาทอาจแตกต่างกัน
บทบาทที่แตกต่างกันดังกล่าว อาทิ ขณะที่ สพพ.ให้การสนับสนุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน EXIM ก็มีบทบาทในการให้สินเชื่อโดยตรงกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนกับรัฐบาลในประเทศนั้นๆ
ตัวอย่างของโครงการที่ EXIM ได้ให้ การสนับสนุนโดยตรง อย่างเช่นโรงงานน้ำตาล มิตรลาวของกลุ่มมิตรผล ในแขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว โครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเทิน-หินบุน ในแขวงบอลิคำไซของบริษัทจีเอ็มเอส พาวเวอร์ ในเครือบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ฯลฯ
ส่วนโครงการที่ EXIM ให้การสนับสนุน โดยอ้อม เช่นการให้เงินกู้กับรัฐบาล สปป.ลาว จำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้เข้าไปถือหุ้น 25% ในโครงการเขื่อนและโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ในแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง
(อ่านเรื่อง "EXIM Bank กับบทบาทใน GMS" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2551 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นอกจากการแชร์ข้อมูลระหว่างกันแล้ว EXIM จะสนับสนุนด้านเงินกู้ทั้งโดยตรงให้แก่ สพพ.และให้กับผู้รับเหมา ซึ่งได้มีการคุยกันในหลักการ และเซ็น MOU ร่วมกันแล้ว
"EXIM ไม่ต้องสกรีนผู้เหมาจากเรา ถ้าเข้าต้องการ Working Cap เราก็อำนวยความสะดวกผ่าน EXIM ปล่อยกู้เงินในอัตราพิเศษได้เลย" อรรคศิริซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริหารของ EXIM จึงมีความเข้าใจในบทบาทที่สามารถทำงานร่วมไปด้วยกันได้ของทั้ง 2 หน่วยงานนี้บอก
ตอนนี้ สพพ.มีเงินทุนในหลักพันล้าน จากเงินกู้ที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาเป็นรายได้สม่ำเสมอ นำไปหมุนเวียนปล่อยกู้โครงการ พร้อมกับการสร้างและรักษาเครดิต เพื่อเป้าหมายของการระดมทุนด้วยตัวเองในอนาคต
"คาดว่าอนาคตเราก็จะสามารถระดม ทุนได้ การระดมทุนได้เองจะทำให้ต้นทุนต่ำสุด มากกว่าไปหาเงินกู้จากที่อื่น เป็น Securitization กลไกคล้ายๆ ธนาคารพาณิชย์ ต้องแอคทีฟมากกว่าจะมารอรัฐบาลเสริมการสนับสนุน อย่างโครงการถนนเล็กๆ จาก R3a ที่ยกตัวอย่างไว้ ซึ่งเรามองว่าถ้าช่วยให้เขาเศรษฐกิจดี เขาก็ซื้อสินค้ามากขึ้น ทุนน้อยอย่างเราจะไปแข่งตรงๆ กับประเทศใหญ่ก็ยาก เราต้องมองทางอ้อมที่ทำให้เกิดประโยชน์ ต่อไทยด้วย"
ก่อนจะไปสู่จุดของการระดมทุน ภารกิจของอรรคศิริตอนนี้ เขาบอกว่าขอสร้างฐานของ สพพ.ให้แน่น สร้างเครดิตให้ดี เพื่อวันหนึ่งเมื่อได้รับการประเมินเครดิตดี และต้องการระดมทุนด้วยตัวเอง พันธบัตรของสพพ.คงจะได้รับการตอบรับ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้อย่างไม่ผิดหวัง
ที่สำคัญเป้าหมายแรกตอนนี้ ขอเพียง ให้ทีมงาน 32 คน เมื่อมีโครงการเข้ามาแล้ว สามารถจัดหาเงินกู้จากแบงก์ สู่การช่วยเหลือ ได้ตามเป้าหมายเสียก่อน เพราะนั่นจะทำให้ฐานสู่อนาคตที่กำหนดไว้อัดแน่นมั่นคงขึ้นตามลำดับ
|
|
|
|
|