Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
盤谷銀行 (ผันกู่อิ๋นหาง) จังหวะก้าวที่รอมานานกว่าครึ่งศตวรรษ             
โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
 

   
related stories

“ผันกู่” และ “หนงหมิง” ก้าวรุกของธนาคารไทยที่ต้องจับตา
ประสงค์ อุทัยแสงชัย China Expert
泰华农民银行 (ไท้หัวหนงหมิงอิ๋นหาง) โอกาสยิ่งใหญ่ เริ่มจากก้าวเล็กๆ

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
ประสงค์ อุทัยแสงชัย
Banking




การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) เมื่อปลายปีที่แล้วมิได้เป็นการรุกเข้าไปแบบแฟชั่น เหมือนกับที่นักลงทุนจากทั่วโลกนิยมทำกัน เนื่องจากมองว่า "ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่ประเทศจีน" แต่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองจีนของคนในตระกูล "โสภณพนิช" นั้น ได้วางเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 50 ปีมาแล้ว และเพิ่งจะเป็นรูปธรรมในวันนี้

หลังจากที่ธนาคารกรุงเทพได้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจากรัฐบาล กลางของจีน ณ นครหลวงปักกิ่ง ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีโอกาสทำธุรกิจการเงินครบวงจร สามารถรับฝาก-ถอนเงิน ปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินหยวน และเงินตราต่างประเทศ

การเกิดขึ้นของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) มิใช่ความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน แต่ธนาคารต้องใช้เวลา และความอดทนเป็นเวลานานถึงกว่าครึ่งศตวรรษ แต่การรอคอย ในครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

เพราะธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาต!

นักธุรกิจต่างก็รู้ดีว่าการเข้าถึงตลาดจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ในระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ แม้ว่าจีนจะมีนโยบายในภาคการเงิน การธนาคารเพื่อปฏิรูปอย่างจริงจังตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น

ประการสำคัญธนาคารของประเทศนี้ส่วนใหญ่รัฐบาลเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมด แม้ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังนี้รัฐบาลจีนจะพยายามผ่อนคลายให้ธนาคารรัฐแปรรูปบ้างก็ตามที

การลงทุนในจีนยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของจีนที่ใช้มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกฎหมายโดยรวมที่กำหนดจากรัฐบาลกลาง แต่ในขณะเดียวกันก็มีกฎหมายแต่ละมณฑล ควบคุมดูแลในแต่ละเมืองด้วย ทำให้กฎหมายเปลี่ยนบ่อยครั้ง

แต่จีนเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินต่างประเทศขอใบอนุญาตทำธุรกิจในรูปแบบธนาคารท้องถิ่นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และมีสถาบันการเงินรอเข้าคิวขอใบอนุญาตอย่างยาวเหยียด

ในขณะที่ประเทศจีนพยายามเปิดประเทศ เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าถึงได้ง่าย สถานการณ์ช่างตรงกันข้ามกับบรรยากาศในประเทศไทยในตอนนี้ที่การเมืองภายในยังคงร้อนแรงจนฉุดเศรษฐกิจให้ซึมลง

โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ที่โดนหางเลขการเมืองในรอบนี้เข้าไปไม่น้อย

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนในประเทศจะหันออกไปลงทุนในต่างประเทศ แทน และธนาคารกรุงเทพก็ได้รับใบอนุญาตพอดิบพอดี

สถาบันการเงินที่ได้ใบอนุญาตเป็นรายแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นธนาคารจากชาติตะวันตกขนาดใหญ่ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับธนาคารจีน ธนาคารเหล่านี้มีทั้งเงินทุนและบุคลากร

ตัวอย่างของธนาคารเหล่านี้ อาทิ HSBC ถือหุ้น 19% ในแบงก์ ออฟ คอมมูนิ เคชั่นส์ (Bank of Communications) ถือหุ้น 16.8% ในผิง อัน อินชัวรันส์ (Ping An Insurance) และถือหุ้นอีก 8% ใน Bank of Shanghai ซึ่ง HSBC ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Bank of America ถือหุ้น 9% ใน China Construction Bank ซึ่งเป็นแบงก์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในจีน หรือ Standardcharter ที่มีความร่วมมือกับ ICBC (The Industrial and Commercial bank of China) ให้บริการการค้าระหว่างประเทศ และให้บริการธุรกิจกองทุนในตลาดเกิดใหม่ และ Standardcharter ยังอนุญาตให้ ICBC ใช้ธนาคารสาขาให้บริการทางด้านการเงินด้วย

และ Citibank ที่มีความร่วมมือกับ Bank of China ให้บริการด้านจัดการเงินหยวน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้จีนเปิดประตูธุรกิจการเงินมากขึ้นเพราะว่าจีนต้องการความรู้ทางด้านการเงิน และเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วยพัฒนาสถาบันการเงินของจีนให้มีระบบมากขึ้น

มีข้อสังเกตว่า จีนเลือกในจังหวะ การเปิดเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจนพังพาบและยังอยู่ในอาการฟื้นฟู

สำหรับธนาคารกรุงเทพใช้เวลา 2 ปีในการขอใบอนุญาต ซึ่งประสงค์ อุทัย แสงชัย กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ และรองประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ยืนยันกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าไม่ช้าแต่อย่างใด เพราะสถาบันการเงินจากประเทศอื่นที่ได้ใบอนุญาตก่อน ธนาคารกรุงเทพเพียง 12 หรือ 18 เดือนเท่านั้น ที่ธนาคารเหล่านั้นรู้ก่อนล่วงหน้า เพราะมีประสบการณ์ร่วมทุนกับธุรกิจของจีน และมีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า

ดูเหมือนว่าธนาคารกรุงเทพจะตระหนักดีว่า แม้ธนาคารจะเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ มีสินทรัพย์ถึง 1.7 ล้านล้านบาทก็ตาม แต่ในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลยังมีสถาบัน การเงินยักษ์ใหญ่อยู่อีกมากมาย บนการแข่งขันในยุคโลกไร้พรมแดน

ในภูมิภาคนี้มี 2 ประเทศที่ขอใบอนุญาตในจีนได้ คือธนาคารกรุงเทพและธนาคาร ในสิงคโปร์อีก 3 แห่ง

แม้ว่าการแข่งขันจะดุเดือดขึ้นทุกวัน แต่ธนาคารกรุงเทพก็หาจุดยืนให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการขยายธุรกิจในจีนจากนี้ไป ยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพชัดเจนแจ่มแจ้ง และเป็นการก้าวเดินที่เร็วขึ้นและเร็วขึ้น

เพราะธนาคารได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่าภายใน 5-10 ปีจากนี้ไป ธนาคารจะขยายสาขาในเมืองจีนให้ครบ 50 แห่ง แบ่งเป็นสาขาธนาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ 20 แห่ง และเป็นธนาคารสาขาย่อยอีก 30 แห่ง

กฎเกณฑ์ในการขยายสาขาธนาคารของประเทศจีนจะมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรก เปิดสาขาให้บริการเต็มรูปแบบ สามารถขอใบอนุญาตได้ปีละ 2 สาขา เพราะการเปิดสาขา 1 แห่งต้องใช้เวลา 6 เดือน ส่วนสาขาย่อยสามารถเปิดได้หลายแห่งไม่จำกัดจำนวน

การให้บริการระหว่างสาขาเต็มรูปแบบและสาขาย่อยจะแตกต่างกัน คือสาขาเต็ม รูปแบบสามารถรับฝาก ถอน ปล่อยสินเชื่อและแลกเปลี่ยนเงินในสกุลเงินต่างๆ ได้ทั้งหมด มีพนักงานดูแล 20-30 คน

ส่วนสาขาย่อยให้บริการได้เช่นเดียวกับสาขาหลัก แต่ไม่มีระบบแบ็กออฟฟิศ ไม่มี ระบบฐานข้อมูล หรือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ เพราะต้องให้ธนาคารสาขาเป็นผู้อนุมัติ จะมีพนักงานประมาณ 5-10 คน

ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ มีสาขา 4 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เซี่ยะเหมิน และเซินเจิ้น

ส่วนพื้นที่เป้าหมายที่จะเปิดสาขาอีก 10 แห่ง คือ 1. ซูโจว 2. กว่างโจว 3. เทียนจิน 4. ตงก่วน 5. หนิงปอ 6. ชิงต่าว 7. อู่ฮั่น 8. ฉางซา 9. ต้าเหลียน และ 10. สือเจียจวง

ยุทธวิธีการขยายสาขาของธนาคารกรุงเทพเน้นเปิดสาขาที่ใกล้กับชายฝั่งตะวันออก (east coast) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจริญแล้วของจีน นอกจากนี้ยังเลือกเปิดสาขาอิงไปกับลูกค้าเดิมของธนาคารกรุงเทพ ในจีน โดยเฉพาะลูกค้าชาวไต้หวันซึ่งมีอยู่ถึงกว่าร้อยละ 70 ที่กำลังจะย้าย หรือได้ย้ายโรงงานเข้ามาอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

นั่นคือยุทธศาสตร์การก้าวต่อไปในอนาคต...

หากสำเร็จผลตามที่ตั้งเป้าหมาย เอาไว้ ขนาดของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) อาจจะใหญ่กว่าธนาคาร กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ในประเทศไทยหลายเท่า

เพราะเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะประเด็นค่าเงิน ระหว่างเงินหยวนและ เงินบาท เงิน 1 หยวนสามารถแลกเป็นเงินไทยได้ 5 บาท

สินเชื่อที่ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ปล่อยให้กับลูกค้า 1 ราย ในวงเงิน 1 พันล้านหยวน เมื่อเทียบเป็นเงินไทย ก็สูงถึง 5 พันล้านบาท

หากใน 5 ปีที่จะถึงนี้ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าประเภทนี้ได้สัก 400 ราย สินเชื่อรวมของธนาคารแห่งนี้จะสูงถึง 2 ล้านล้านบาท

มากกว่าสินทรัพย์รวมของธนาคารกรุงเทพในประเทศไทย ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามีอยู่ 1,771,931.62 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2552 ไปแล้ว

เพียงแค่เริ่มต้น ธนาคารกรุงเทพในไทยได้ใส่เงินลงทุนสำหรับการจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ไปแล้วถึง 2 หมื่นล้านบาท มากพอๆ กับกำไรที่ธนาคารทำได้ในปี 2552 เลยทีเดียว

ว่าไปแล้ว ธนาคารกรุงเทพมิได้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขยายกิจการเข้าไปในประเทศ จีน เพียงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น

แต่วิสัยทัศน์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่ชิน โสภณพนิชเข้ามามีบทบาทในการบริหาร งานอย่างเต็มตัวในธนาคารแห่งนี้ใหม่ๆ ในปี 2495 หลังจากมีส่วนร่วมในการก่อตั้งเมื่อปี 2487

และธนาคารกรุงเทพก็ยังคงวิสัยทัศน์นี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

"ชิน โสภณพนิชเกิดในครอบครัวยากจนในตระกูลแต้จิ๋ว ที่ปักหลักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยา เมื่อเรียนจบชั้นประถมแล้วเขาเดินทางไปเรียนต่อในโรงเรียนพาณิชย์ในประเทศ จีน เขาผ่านประสบการณ์การทำงานมากมายนับตั้งแต่เป็นกุ๊ก กรรมกรท่าเรืออยู่กับร้านค้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องเขียน และในที่สุดเป็นเจ้าของร้านค้าวัสดุก่อสร้างเองแล้วเข้าไปเป็นนายหน้าให้รัฐบาลทำหน้าที่ติดต่อกับบริษัทขายสินค้าคอนซูเมอร์ นอกเหนือจากนี้เขายังมีความสามารถพิเศษอันสืบเนื่องจากการทำกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วย

เริ่มแรกชินมีชื่อเสียงในหมู่ผู้ทำกิจการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศว่า เป็นผู้ที่สามารถคำนวณได้รวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ประการที่สองชินมีประสบการณ์การค้าทองและกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมาอย่างโชกโชนในช่วงระหว่างสงคราม ทำให้ชินมีฐานะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไทย เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางการค้าเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด และการค้าทองจากพม่า ลาว เขมร และเวียดนาม โดยเฉพาะ ในช่วงปลายทศวรรษ 2480 ต่อต้นทศวรรษ 2490

ชินคือผู้คิดเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ว่า "เราควรให้บริการในสิ่งที่ธนาคารต่างชาติให้บริการกับลูกค้าของพวกเขา"

(จากเรื่อง "การต่อสู้ของชิน โสภณ พนิช กับธนาคารอาณานิคม" โดยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2530 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.gotomanager.com)

ความที่ชินมีเชื่อสายจีน จึงมีความผูกพันกับดินแดนบ้านเกิดของต้นตระกูลอยู่ ไม่น้อย

"ชิน โสภณพนิช เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 6 มีบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ เกิดในบริเวณตลาดน้ำวัดไทร บางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี ชินมีแซ่ตั้ง มีชื่อภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ตั้งเพียกชิ้ง" (จีน: ) ซึ่งคนไทยเชื้อ สายจีนจำนวนไม่น้อยนิยมเรียกชินในชื่อนี้" ข้อมูลจากวิกีพีเดีย ภาษาไทย ระบุ

พ.ศ.2497 ชินได้ขยายสาขาของธนาคารกรุงเทพออกไปตั้งยังต่างประเทศเป็นแห่งแรกบนเกาะฮ่องกง

ธนาคารกรุงเทพก็มีฐานะคล้ายคลึง กับธนาคารไทยทั่วไปนั่นเอง ผิดกันแต่ว่าคณะผู้บริหารชุดใหม่ต้องการเน้นการไฟแนนซ์ในการค้าระหว่างประเทศ โดยธนาคารให้บริการความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้าด้วยวิธีการธรรมดาที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้น แต่หลักประกันที่ธนาคารต่างชาติต้องการนั้น ชินสามารถจัดหาให้ด้วยตัวเองคือทองแท่งคุณภาพดีที่สุด

ปัญหาน่าสนใจที่สุดในช่วงนั้นคือธนาคารสามารถหาลูกค้าที่ทำการค้าระหว่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการได้อย่างไร เพราะธนาคารกรุงเทพก็ยังต้องจ่าย เงินในอัตราสูงลิ่วให้ธนาคารต่างชาติอยู่ และยังต้องเก็บค่าธรรมเนียมให้บริการในส่วนของตนจากลูกค้าด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีพ่อค้ามากพอสมควร ที่พร้อมจะติดต่อกับทางธนาคารเมื่อมีข้อเสนอว่า สามารถดำเนินการให้พ่อค้าเหล่านี้ควบคุมการค้าการนำเข้าส่งออกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งธนาคารยุโรปหรือสถาบันการค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีกว่า เพราะพ่อค้าชาวจีนไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ หรือหาหลักประกันได้ครบตามที่ธนาคารอาณานิคมเรียกร้องได้ แต่ธนาคารกรุงเทพสามารถแก้ปัญหาสำคัญทั้ง 2 ข้อนี้ได้" เป็นเนื้อหาอีกตอนหนึ่งของเรื่อง "การต่อสู้ของชิน โสภณพนิช กับธนาคารอาณานิคม"

เมื่อชินถูกสถานการณ์ทางการเมืองบีบให้ต้องลี้ภัยไปอยู่ในฮ่องกงในปี 2501 เขาจึงมีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับการวางยุทธศาสตร์การขยายตัวของธนาคารกรุงเทพในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนได้อย่างใกล้ชิด

"นับตั้งแต่ยุคธนาคารอาณานิคมมีอิทธิพลเป็นต้นมา ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าในท้องถิ่นของลูกค้าสำคัญกับธนาคารต่างชาติในประเทศไทยอยู่ในระดับแย่มาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ธนาคารยุโรปไม่ต้องการหรือไม่เต็มใจจะเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่มีโอกาสทำไฟแนนซ์เพื่อการค้าแม้ว่าจะมีนักธุรกิจมากมายที่จำเป็นต้องใช้บริการด้านนี้ก็ตาม แต่สภาพการณ์แบบนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อชินถูกบีบให้ออกจากประเทศไทยไปอยู่ฮ่องกงในปี 2500

เมื่อมองจากมุมมองใหม่ ชินประจักษ์แก่ตาตัวเองว่า ธนาคารต่างชาติปฏิบัติต่อนักธุรกิจในท้องถิ่นแย่มาก และเมื่อเห็นโอกาสให้สำหรับธนาคารของเขา ชินไม่รีรอที่จะฉวยโอกาสนี้เปิดสาขาขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" อีกตอนหนึ่งของบทความชิ้นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง ก็ไม่ได้ราบรื่นหนัก หลังจากต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่จากข่าวลือว่าสาขาฮ่องกงจะล้มละลาย ในปี 2527

ข่าวลือแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วจนทำให้นักธุรกิจที่ฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเทพ ทั้งในฮ่องกงและไทย ต่างแห่ไปถอนเงินออก ร้อนถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องกระโดดลงมาช่วยกู้สถานการณ์จนทำให้ธนาคารรอดพ้นจากวิกฤติ

(อ่านเรื่อง "เกือบไปแล้วไหมล่ะ เบื้องหลังที่ถูกอัด" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2527 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

แม้ว่าจะมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น แต่การขยายสาขาต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปโตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และการขยายสาขาไม่ได้จำกัดเขตอยู่ในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ยังได้ขยายสาขาไปยังฝั่งอเมริกา และยุโรป โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การเปิดสาขาในลอนดอนนี้ทำให้ชินได้รู้จักและค่อนข้างสนิทสนมกับธนาคารจีน (Bank of China) จนสามารถ ดึงผู้บริหารในธนาคารแห่งนี้มาร่วมงานในยุคขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้

เมื่อชินเสียชีวิตลงในวันที่ 4 มกราคม 2531 ชาตรี โสภณพนิช ลูกชายคนที่สองที่เกิดกับชางไวเลาอิง ภรรยาคนแรก เข้ามามีบทบาทในการบริหารงานในธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัว

ชินมีลูกชาย 2 คนที่เกิดจากภรรยาคนแรก คือระบิล ซึ่งมีชื่อในฮ่องกงว่าโรบิน ชาน กับชาตรี ซึ่งมีชื่อในฮ่องกงว่า อังเดร

ส่วนชื่อภาษาจีนของทั้งคู่ คือ ขี่เห่ง แซ่ตั้ง (ระบิล) และอู่เข่ง แซ่ตั้ง (ชาตรี)

"เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าลูกจากภรรยาคนแรกคือระบิลและชาตรีนั้น ในฐานะพี่ชายคนโตของน้องๆ มีอาณาจักรธุรกิจของตัวเองที่ยิ่งใหญ่เอามากๆ ทั้ง 2 คนเกิดในจีนผืนแผ่นดินใหญ่มาตุภูมิเดียวกับบิดา ตำบลเตี๋ยะเอี๊ย มณฑลซัวเถา และ เติบโตในวัยเยาว์ที่นั่น ระบิลหรือโรบิน ชาน (ชื่อในสารบบสำมะโนประชากรฮ่องกง) นั้น มีบริษัทโรบิน ชานโฮลดิ้งของตนเอง ขณะที่ชาตรีมีบริษัทชาตรีโสภณเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนี

ระบิลดูแลอาณาจักรธุรกิจของตัวเองและบางส่วนประมาณ 30% ของพ่อในฮ่องกง และฐานธุรกิจบางส่วนในย่านเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีฐานธุรกิจหลักอยู่ที่ THE COMMERCIAL BANK OF HONG KONG ซึ่งระบิลถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% ขณะที่แบงก์กรุงเทพและโตไกแบงก์ถืออยู่แห่งละ 10% เท่านั้น

ระบิลเป็นคนฉลาด เขาใกล้ชิดกับชินมากในฐานะพ่อกับลูกที่ใช้ชีวิตร่วมกันในฮ่องกงเป็นเวลานาน ในช่วงสมัยที่ชินต้องอพยพลี้ภัยการเมืองไปอยู่ฮ่องกงสมัยจอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ

เมื่อชินกลับมาอยู่เมืองไทย และไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกง หลังยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาระบิลทำงานเคียงคู่กับชินมาตลอด จึงทราบดีว่าอาณาจักรธุรกิจของชินในย่านแปซิฟิกริมมีอะไรบ้าง" จากเรื่อง "หลังชิน เส้นทางการบริหารมรดกธุรกิจ" ตีพิมพ์ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2531 อ่านรายละเอียดได้ใน www.gotomanager.com

นโยบายขยายสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ในยุคของชาตรียิ่งเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการการเงินในระดับภูมิภาค

การขยายสาขาในยุคของชาตรีจึงเริ่มขยายไปไต้หวัน เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และพม่า จนปัจจุบันมีสาขา 23 แห่งใน 13 ประเทศ

สำหรับในจีน ธนาคารกรุงเทพเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในปักกิ่ง ในปี 2529 และเปลี่ยนมาเป็นสาขาปักกิ่งในปี 2548 โดยก่อนหน้านั้นได้เปิดสาขาที่เซี่ยงไฮ้ ในปี 2536

แม้ว่าธนาคารกรุงเทพจะคลุกคลีอยู่ในจีนมา 25 ปีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงธนาคารกรุงเทพเริ่มศึกษาจีนอย่างจริงจังเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดสาขาเซี่ยงไฮ้เป็นแห่งแรก

การศึกษาตลาดจีนอย่างจริงจัง ธนาคารกรุงเทพจึงมีหน่วยงานธุรกิจสัมพันธ์จีนขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ตลาดจีนโดยเฉพาะ เจาะลึกหลายแง่มุม ที่สำคัญพนักงานแผนกนี้แทบทุกคนพูดภาษาจีน

การขยายสาขาในจีนมีอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดสาขาเซียะเหมินในปี 2541 และสาขา เซินเจิ้น ในปี 2550 จะเห็นได้ว่าการขยายสาขาในช่วงระยะหลังจะช้าลง การเปิดตัวในแต่ละสาขาจะห่างกันนานราว 10 ปี

ทว่า "จังหวะ" และ "โอกาส" ของธนาคารกรุงเทพก็มาถึงจนได้ เมื่อได้รับอนุญาต ให้ตั้งธนาคารท้องถิ่น และเป็นความโชคดีของธนาคารที่มีบุคลากรมีประสบการณ์ด้านต่างประเทศมายาวนานมากกว่า 50 ปี

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประสงค์ อุทัยแสงชัย กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เขาเป็น บุคคลที่ร่วมงานกับตระกูลโสภณพนิชมา 3 รุ่น ตั้งแต่ในยุคของชิน ชาตรี มาจนถึงชาติศิริ โดยเฉพาะชินได้สอนเขามากมายในการทำธุรกิจต่างประเทศ วิธีการมองธุรกิจ ประเมินนิสัยผู้ร่วมทำธุรกิจ หรือแม้กระทั่งดูจากโหวงเฮ้ง

ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ของประสงค์ในธนาคารกรุงเทพ คือการทำงานในต่างประเทศ เขาฝึกงานที่ลอนดอน และทำงานสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

ด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับประเทศจีน จึงทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น "China Expert" ประสบการณ์ของเขาได้นำมาใช้อีกครั้งในประเทศจีน บวกกับประสบการณ์ที่เขาทำงานอยู่ในไต้หวันมา 9 ปี เขาจึงมุ่งเจาะลูกค้าไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน

โอกาสที่ประสงค์เห็นจากลูกค้าไต้หวัน ก็คือไต้หวันติดปัญหาด้านกฎหมายในการขยายธนาคารไปต่างประเทศ จึงทำให้ธนาคารกรุงเทพสามารถเข้าไปอุดช่องว่างดังกล่าวได้

วิธีการเข้าไปของธนาคารกรุงเทพเพื่อช่วยเหลือนักลงทุนไต้หวัน นำเงินไปฝากที่ฮ่องกง หลังจากนั้นโอนเงินเข้าไปลงทุนในจีน

นอกเหนือจากนั้นประสงค์ยังมองเห็นว่าการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของจีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไต้หวันเมื่อ 20 ปีก่อน หรือเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ดังนั้น ธนาคารจึงเกาะกลุ่มไปกับลูกค้าไต้หวันที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน นักธุรกิจไต้หวันที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ ก้าวเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่ 3 และ 4 ไปแล้ว

ความสัมพันธ์ของลูกค้าไต้หวันกับธนาคารกรุงเทพมีมานานถึง 47 ปี หลังจากที่ธนาคารไปตั้งสาขาแห่งแรก และปัจจุบันมีสาขาให้บริการในไต้หวัน 3 แห่ง

ธนาคารกรุงเทพระบุว่า กลุ่มลูกค้าในจีนเป็นกลุ่มคอมเมอร์เชียล เป็นกลุ่มลูกค้าไม่ใช่ขนาดใหญ่ หรือธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีขนาดรายได้ตั้งแต่ 3 พันล้านบาทไปจนถึงหมื่น ล้านบาท หากเปรียบเทียบธุรกิจในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่มากแล้ว

แม้ว่าปัจจุบันจะมีธนาคารแข่งขันในจีนถึง 27 แห่ง แต่ว่ารูปแบบการให้บริการจะแตกต่างกันออกไปถึงกว่า 20 รูปแบบ

กลุ่มลูกค้าที่ธนาคารกรุงเทพมองไว้จะเป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของจีน และของธนาคารต่างประเทศอื่นๆ ที่เข้าไปก่อน เช่น ซิตี้แบงก์ เอชเอสบีซี หรือแบงก์ออฟอเมริกา

เพราะธนาคารเหล่านี้หากไม่เน้นขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดบนที่เป็นจุดแข็งของเขาอยู่แล้ว เช่น สินค้าในตลาดทุน ขายพันธบัตร หุ้นกู้ หรือบริการที่ปรึกษาร่วมทุนก็จะลงตลาดล่าง คือเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ให้บริการบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะฐานประชากรชาวจีนซึ่งมีมากถึง 1,300 กว่าล้านคน

"เรามองกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลาง คือกลุ่มผู้ประกอบการ" ประสงค์บอกกับผู้จัดการ 360 ํ

ตามเป้าหมายการขยายสาขา 50 แห่งภายใน 5-10 ปีในจีน ทำให้ประสงค์ใช้วิธีการคัดเลือกคนท้องถิ่นหรือคนจีนเข้ามาทำงานในตำแหน่งการตลาดประมาณ 5-10 คน และวิธีการดังกล่าวประสงค์ได้เคยใช้เมื่อทำงานอยู่ในไต้หวัน เพราะในความเห็นของเขา วิธีการใช้คนดึงคนเข้ามาร่วมงานยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าวิธีการของฝรั่งที่มักจะจ้างบริษัทหาคน หรือที่เรียกกันว่า head-hunter

ประสงค์ยอมรับว่า ในปัจจุบันนอกจากลูกค้าที่เป็นชาวไต้หวันซึ่งย้ายเข้าไปลงทุน ในจีน หรือลูกค้าชาวไทยอย่างกลุ่มซีพี บ้านปู หรือมิตรผล ที่ได้เข้าไปลงทุนในจีนอยู่แล้ว ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ที่เป็นคนจีนจริงๆ ยังมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ในอนาคตหลังจากที่ขยายสาขามากขึ้น เชื่อว่าจะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

"แบงก์กรุงเทพ โดยเฉพาะในจีน เราต้องโตแบบออแกนิกส์ เรามีเงิน และคนจำกัด เราทำแบบใหญ่ๆ ไม่ได้ แต่สิ่งที่รู้ว่าเท่ากัน คือเวลา"

การหวนกลับสู่ประเทศจีนอันเป็นรากเหง้าต้นตระกูลโสภณพนิช จะเป็นไปอย่างราบรื่นเพียงใด คงยังบอกไม่ได้ ณ เวลานี้

แต่ที่แน่ๆ ธนาคารกรุงเทพมองว่า จีนในเวลานี้คือหัวมังกรในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us