Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
ครอมเวลล์กับสาธารณรัฐในประเทศเครือจักรภพ             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 





ทุกครั้งที่ผมเดินทางในประเทศต่างๆ ผมจะสังเกตชื่อเมืองและศึกษาที่มาของชื่อนั้นๆ เช่นเอเชีย มักจะตั้งชื่อตามภูมิศาสตร์หรือประวัติของเมือง เช่นในจีน เมืองนานกิง แปลว่าเมืองหลวงทางใต้ เพราะมีที่มาจากพระเจ้าหมิงฮองวู หรือที่รู้จักกันในหนังกำลังภายในของไทย เช่น ฮ่องเต้ไท่จู่ หรือจูหยวน จาง เพราะขณะนั้นตอนเหนือของจีนยังอยู่ภายใต้พวกมองโกล เช่นเดียวกันในญี่ปุ่น เมืองเกียวโตแปลว่านครหลวง ส่วนโตเกียวแปลว่าเมืองหลวงตะวันออก เพราะในอดีตเมืองหลวงที่พระจักรพรรดิ ประทับคือกรุงเกียวโต ในขณะที่โชกุนปกครองบ้านเมืองที่เอโดะ (แปลว่าปากอ่าว หรือชะวากทะเล) ต่อมาเมื่อโชกุนคืนพระราชอำนาจให้พระจักรพรรดิเมย์จี หรือรู้จักกันในไทยว่า มัตสุโมโต พระองค์จึงยกเอโดะเป็นเมืองหลวงตะวันออก ขณะที่เมืองต่างๆ ในไทย ชื่อที่บอกที่มาของเมืองชัดเจน เช่น นครราชสีมา สิงห์บุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่ในยุโรปเมืองส่วนมากมีที่มาคล้ายกับเอเชีย เช่นเมือง นิวคาสเซิล หรือมิดเดิลโบรว์ (โบรว์ แปลว่า ป้อมปราการ) เอดินเบอระ แปลว่า ป้อมของดินเอดิน หรือ เมืองที่ลงท้ายด้วยแฮมในอังกฤษ คำว่า แฮม เป็นภาษาอังกฤษโบราณแปลว่าหมู่บ้านชาวนา ไม่ได้แปลว่าหมูแฮมแต่อย่างใด

ดังนั้นชื่อเขตในกรุงลอนดอนนั้นเดิมทีสมัยที่ลอนดอนเป็นเมืองเล็กๆ เวสต์แฮมคือชุมชนชาวนาทางตะวันตกของกรุง ทอตแนมคือชุมชนชาวนาของนายโททาที่เอ่ยไว้ในเรื่องแฮมเล็ตของเชคสเปียร์ ขณะที่ฟูแล่มมาจากคำว่า ฟูลล่าแปลว่าโคลน หมายถึง หมู่บ้านชายเลน เพราะเป็นที่นาที่แม่น้ำเทมส์ไหลผ่าน ไม่ได้แปลว่าหมูสนามอย่างที่แฟนบอลพรีเมียร์ลีกในบ้านเราเข้าใจแต่อย่างใด เช่นเดียวกับชื่อเมืองในฝรั่งเศส เช่นปารีส เป็นภาษาโบราณแปลว่าช่างศิลปะ เพราะเป็นเมืองที่มีช่างศิลป์จำนวนมากจากอดีตถึงปัจจุบัน หรือชื่อกรุงเวียนนาแปลตามภาษาโบราณคือลำธารกลางป่า

ในขณะที่โลกเก่าอย่างยุโรปและเอเชียจะนิยมตั้งชื่อตามภูมิประเทศหรือการเมือง ในโลกใหม่จะนิยมตั้งชื่อด้วยสี่หลักการด้วยกัน หนึ่ง เอาแบบยุโรปคือตั้งตามภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ เช่น พอร์ตแลนด์ ไครส์เชิร์ช ต่อมาคือชื่อเมืองในโลกเก่าแต่เอามาดัดแปลง หรือเติมคำว่าใหม่ หรือไม่ก็ทิศทางลงไป เช่น นิวยอร์ก นิวอิง แลนด์ นิวแฮมเชียร์ นิวพลีมัธ หรือดันเนดินในนิวซีแลนด์ ก็มาจากชื่อกรุงเอดินเบอระคือ ดินเอดินเบอระนั่นเอง หลักการที่สามคือตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดิน เช่น ชาร์ลเรสตัน จอร์จทาวน์ วิคตอเรีย แอดเดอเลด ควีนส์แลนด์ ควีนส์ทาวน์ และสุดท้ายคือชื่อบุคคลสำคัญ เช่น นักการเมือง นักการทหาร หรือนักบุญมาตั้งเป็นชื่อเมืองเช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน เวลลิงตัน เนลสัน แฮมิลตัน ซานฟรานซิสโก ดาร์วิน วอชิงตัน เซนต์จอห์น เป็นต้น แต่เมื่อผม ผ่านเมืองหนึ่งในนิวซีแลนด์ทำให้นึกได้ว่าในโลกนี้มีเมืองชื่อนี้น้อยมาก ทั้งๆ ชื่อบุคคลที่เอามาตั้งเป็นชื่อนั้นเป็นบุคคลของโลกทีเดียว นั่นคือ ครอมเวลล์

ในนิวซีแลนด์เองก็มีเมืองเล็กๆ ประชากรเพียงสี่พันคนชื่อ ครอมเวลล์ ห่างจากควีนส์ทาวน์มีจุดขายคือเมืองผลไม้ นอกจากนี้ เมืองนี้ยังเคยมีนโยบายของรัฐบาลฝ่ายขวาสั่งให้ไขน้ำเข้ามาท่วมเมืองให้เป็นทะเล สาบ เพื่อสร้างเขื่อนปั่นไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อนึกถึงความน่า สงสารของเมืองนี้ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า ครอมเวลล์นั้นเป็นชื่ออาถรรพ์ เพราะคนของตระกูลนี้เป็นที่โจษจันกันมานานในประวัติศาสตร์อังกฤษว่า เขาเป็นคนรักชาติ หรือคนขายชาติ รักราชวงศ์หรือจาบจ้วงเบื้องสูง เป็นนักประชาธิปไตยหรือเป็นทรราช ที่สำคัญที่สุดเป็นชื่อที่สร้างรากฐานให้กับผู้นิยมสาธารณรัฐในเครือจักรภพ นั่นเอง

ผมจึงอยากเล่าประวัติศาสตร์ของครอมเวลล์กับกระแสสาธารณรัฐนิยม เพราะหลายท่านอาจไม่ทราบว่าตั้งแต่ ค.ศ.1500 ที่ผ่านมา ประเทศแรกในโลกที่ล้มล้างระบอบกษัตริย์และคิดระบอบสาธารณรัฐรวมทั้งมีประธานาธิบดีมาจากประชาชนธรรมดานั้นไม่ใช่อเมริกา ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย แต่เป็นอังกฤษ และเรื่องทั้งหมดก็เกิดจากครอมเวลล์ นั่นเอง

แรกเริ่มเดิมทีตระกูลครอมเวลล์นั้นเป็นตระกูลขุนนางที่ร่ำรวยในอังกฤษ และบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนแรกของตระกูลคือ ทอมัส ครอมเวลล์ ขุนนางชั้นเอิร์ลและยังเป็นอัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด แต่ปรากฏว่าทอมัส ครอมเวลล์ต้องการปฏิรูปการปกครองอังกฤษให้มีธรรมาภิบาล รวมทั้งผิดใจกับพระนางเจ้าแอน โบว์ลิน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป จึงพยายามใส่ความสมเด็จพระราชินีของตนเอง และพยายามสนับสนุนให้พระเจ้าเฮนรี่ที่แปดทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงแอน คลีฟ ส่งผลให้พระเจ้าเฮนรี่พิโรธถึงขั้นถอดบรรดา ศักดิ์ ฟันคอ ริบเรือน ตามประเพณีโบราณ คือพูดภาษาตอนนี้ก็คงประมาณว่า ยึดทรัพย์ เรียกคืนเครื่องราช และโดนประหารชีวิต เพราะบังอาจจาบจ้วงเบื้องสูง ตระกูลครอมเวลล์หลังนั้นก็ตกระกำลำบากเป็นชาวนา ความยากจนก็สืบทอดมาถึงรุ่นเหลนคือ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งต่อมาเป็นบุคคลสำคัญของอังกฤษ แม้จะเกิดมาในตระกูลเก่าแต่ก็มีชีวิตแบบรากหญ้าในชนบทมาตลอด แต่แล้ววันหนึ่ง ครอมเวลล์ก็ได้มรดกตกทอดจากตระกูลทางลุงมาถึงครอมเวลล์อย่างไม่คาดฝัน ทำให้เขามีฐานะและกลับไปอยู่ในดงผู้ดีอีกครั้ง

เมื่อกลับมาเป็นผู้ดีมีเงิน ครอมเวลล์ก็เริ่มเล่นการเมือง เพราะในอดีตนั้นการจะเป็นทหารได้ต้องเป็นขุนนางก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกับบ้านเราเพราะในประวัติศาสตร์ไทยคนที่เป็นนักรบต้องเป็นพระยา คุณพระ คุณหลวง กันทั้งนั้น อังกฤษเองก็ต้องเป็นอัศวินที่เรียกกันว่า เซอร์ ดยุก เอิร์ล เช่นกัน ปรากฏว่าในยุคที่ครอมเวลล์เล่นการเมืองก็ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งซึ่งเป็นพระราชปนัดดา (เหลน) ของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดเช่นกัน

ก่อนรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลอังกฤษถูกปกครองโดยพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถ สองพระองค์ คือสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบทที่หนึ่ง มหาราชินีของอังกฤษ ซึ่งทรงทำสงครามชิงความเป็นมหาอำนาจกับสเปนและทำให้อังกฤษก้าวจากประเทศเล็กๆ มาเป็นมหาอำนาจของโลกจนถึงปัจจุบัน จากนั้นพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งทรงเป็นพระเจ้า แผ่นดินที่ทรงรวบรวมอังกฤษ ไอร์แลนด์ เวลส์ และสกอตแลนด์ให้เป็นหนึ่งเดียว พระองค์ยังลดภาษีอากร ต่างๆ ให้ต่ำที่สุด

แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลนั้นทรงดำเนินนโยบายตามพระทัยของพระองค์เอง ทำให้ขัดแย้งกับรัฐสภาอย่างมาก พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ฟุ่มเฟือยพระองค์หนึ่ง จะเห็นได้ว่าในบรรดาพระเจ้า แผ่นดินอังกฤษทั้งหมด พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งจะมีภาพวาดมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ เมื่อพระราชทรัพย์ขาดมือก็ทรงมีตราสารขอกู้ยืมเงินขุนนางที่ร่ำรวย หรือขอให้นำเงินขึ้นมาถวายให้พระองค์ และเคยมีรับสั่งให้สำนักพระราชวังสั่งเก็บภาษีเพิ่มเติมจากประชาชน สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน จุดนี้เองที่ได้ขยายวงออกไปจนเกิดการปฏิวัติในอังกฤษ เมื่อขุนนางชั้นอัศวินที่มีฐานะร่ำรวยห้าคนโดนสั่งจำคุกโดยการลงนามขององคมนตรีสองท่าน เนื่องมาจากบารอน โทมัส ดาร์เนล และขุนนางอีกสี่คนปฏิเสธที่จะถวายเงินให้พระเจ้าชาร์ล ทำให้ต้องโทษจำคุกโดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ ซึ่งขุนนางทั้งห้าได้อุทธรณ์ แต่อัยการคือเซอร์ โรเบิร์ต ฮีท กลับตีเรื่องกลับ โดยมองว่าการคุมขังซึ่งรับรองโดยองคมนตรีแม้จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจทั้งนิติบัญญัติ ปกครองและตุลาการ

ดังนั้น พระองค์ทรงให้รัฐบาล รัฐสภา และ ศาล หยิบยืมพระราชอำนาจเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และพระองค์สามารถเรียกคืนเมื่อใดก็ได้เป็นพระราชอภิสิทธิ์ (Royal Prerogative) เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายอีก เมื่อเซอร์ ฮีทได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งให้เป็นประธานศาลอุทธรณ์ และต่อจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา

แน่นอนครับ ฮีทเป็นแค่เฟืองตัวหนึ่งแต่เมื่อเอามาประกอบกับอะไหล่ชิ้นต่างๆ เช่น ท่านเอิร์ล ทอมัส เวนท์เวิร์ท แห่งสแตฟฟอร์ด ข้าหลวงใหญ่ในไอร์แลนด์และมีพฤติกรรมกดขี่ชาวไอริชได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงของสกอตแลนด์ ก่อนชาวเบรฟฮาร์ตจะพร้อม ใจกันลุกฮือต่อต้านจนทำให้กองทัพของพระเจ้าชาร์ลต้องล่าถอยออกจากภาคเหนือของประเทศ เพราะชาวสกอตไม่ยอมโดนกดขี่อีกต่อไป หลังจากเสียที่มั่นทางตอนเหนือไปหมด พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งทรงแสดงพระราชอำนาจด้วยการนำมหาดเล็กไปยังรัฐสภาและขึ้นนั่งบัลลังก์แทนประธานสภาพร้อมกับให้หาตัว ส.ส.ห้าคนที่ต้องสงสัยว่าจะกระด้างกระเดื่องต่อพระองค์ ปรากฏว่า ห้า ส.ส.หนีไปได้และการที่พระเจ้าชาร์ลเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่าพรมเขียวนั้นถือเป็นการฝ่าฝืนธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานับร้อยปีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากว่ารัฐสภาระบบอังกฤษนั้นมีการปูพรมสองสีคือสีแดงและเขียว โดยพรมแดงคือเขตของสภาขุนนางซึ่งให้บรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางเข้าไป ในขณะที่พรมเขียวเป็นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งห้ามขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์เข้าเช่นกัน การที่พระเจ้าชาร์ลทรงฝ่าฝืน กฎนี้ทำให้เกิดกระแสที่เรียกกันว่า Commonwealth คำนี้ปัจจุบันเราแปลว่าเป็นเครือจักรภพหรืออดีตอาณา นิคมของอังกฤษ แต่ที่จริงแล้วรากศัพท์นี้มาจากคำว่า Common Good and Well Being หมายถึง รัฐที่คำนึงถึงประโยชน์และความอยู่ดีกินดีของประชาชน

หลังเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาร์ลบุกสภา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้ย้ายราชสำนักจากกรุงลอนดอน ไปเมืองนอตติงแฮมในป่าเชอร์วูด ทรงประชุม ไพร่พล ขุนทหาร เพื่อขับไล่รัฐบาล และยังทรงได้เจ้าชายรูเพิร์ต พระญาติของพระองค์เป็นทัพหน้า สามารถตีทัพรัฐบาลแตกพ่ายยับเยินไปจนถึงค่ายหลวงของฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลโรเบิร์ต ดูเวอโร เอิร์ลแห่งเอสเสคที่เอดจ์ฮิลล์ ปรากฏว่าแม้ทางฝ่ายรัฐบาลมีไพร่พลมากกว่าแต่ก็เอาชนะกองทัพนิยมเจ้าไม่ได้ จนท่านจอมพลต้องเลิกทัพเข้าไปตั้งมั่นที่วอร์ริก ด้านกองทัพหลวงก็เลยตามตีได้เมืองออกซ์ฟอร์ด เรดดิ้ง ท่านจอมพลเห็นท่าไม่ดีก็เลยหนีรวดเดียวเข้ากรุงลอนดอนไปขอทหารเพิ่ม และได้ยกทัพที่ไพร่พลมากกว่ากองทัพนิยมเจ้าถึงเท่าตัวแต่ก็ไม่กล้าเข้าตี ในโค้งแรกนั้นทัพรัฐบาลออกรบเมื่อไหร่ก็แพ้เป็นส่วนมาก แม้แต่แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล พลเอกเซอร์ ทอมัส แฟร์แฟกซ์ ก็แตกทัพที่ซีครอฟต์มาแล้ว

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงครามและการก้าวสู่อำนาจของครอมเวลล์นั้นเริ่มมาจากการที่รัฐบาลพ่ายแพ้ต่อกองทัพหน้าของเจ้าชายรูเพิร์ตอย่างยับเยินในยุทธการที่ Newark on Trent ส่งผลให้รัฐบาลหันมาสนใจพันเอกโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่ได้สร้างกองทัพม้าแบบใหม่ ซึ่งได้ฉายาว่า Ironside โดยเป็นกองทหารม้าเกราะเบาคือ สวมเกราะแค่ที่อก ด้านหลังและ หมวกอัศวิน ทำให้ได้เปรียบทหารม้าเกราะเหล็กที่เคลื่อนที่ช้าเพราะความหนักของเกราะ และมีความแข็งแกร่งต่อการตั้งรับมากกว่าทหารม้าทั่วไปที่ไม่ใส่เกราะเวลารบ

นอกจากนี้ครอมเวลล์ได้ใช้วิธีการรบแบบสู้ตาย โดยแบ่งทหารม้าในกองพันเป็นสามส่วน ส่วนหน้าเป็นหน่วยกล้าตาย เรียกว่าเข้าโจมตีก่อนพอเริ่มรวน กองที่สองให้เข้าหนุนไม่ให้กองแรกหนีกลับมาได้แต่ศัตรูก็ตั้งรับไม่ทัน และกองสุดท้ายมีหน้าที่ชาร์จ ตามถ้าสองกองท่าไม่ดี โดยจัดทุกกองให้บุกเป็นแผงหน้ากระดาน เนื่องจากการจัดระบบทหารม้าแนวใหม่ทำให้กองพันทหารม้าของครอมเวลล์ได้รับชัยชนะเรื่อยมา จุดเปลี่ยนของสงครามมาจากในยุทธการมาร์สตันมัวร์และเนสบี้ กองทัพของครอมเวลล์ได้ชัยชนะเด็ดขาดเหนือกองทัพเจ้าชายรูเพิร์ต ซึ่งเป็นจุดจบของกองทัพนิยมเจ้าของพระเจ้าชาร์ล และส่งผลให้เกิดการล้มราชวงศ์สจวต โดยครอมเวลล์ และพรรคพวกได้ปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่งและยุบสภาขุนนางเป็นของแถม

ในยุคหลังการปฏิวัติ การเมืองวุ่นวายเพราะสถาบันอย่างรัฐสภามีอำนาจแต่ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจจริง มีแต่รายการกำจัดศัตรูทางการเมือง ต่อมาชาว สกอตติชแม้ว่าในตอนแรกจะไม่พอใจกับการปกครองของพระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง แต่กลับไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐสภาของอังกฤษบังอาจปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน จึงให้การสนับสนุนองค์มกุฎราชกุมารขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลที่สองด้วยพระชนมายุเพียง 19 การขึ้นครองราชย์ดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลให้ระดมพลไปปราบ ปรากฏว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือ พลเอกทอมัส แฟร์แฟกซ์ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะทำสงครามกับพระเจ้าชาร์ลที่สองซึ่งไม่มีความผิดใดๆ จึงลาออก รัฐบาลจึงมีคำสั่งเลื่อน ครอมเวลล์ซึ่งทำศึกติดพันกับทางไอร์แลนด์อยู่ ให้เป็นพลเอกและผู้บัญชาการทหารแทน แฟร์แฟกซ์ พร้อมกับจัดทัพไปปราบพระเจ้าชาร์ลที่สอง ศึกคราวนี้ ครอมเวลล์ระดมพลได้ทหารราบเพียงหมื่นนายและ ทหารม้าแค่ห้าพันนาย เรียกว่าเป็นกองทัพขนาดที่เล็กมาก ในขณะที่พระเจ้าชาร์ลที่สองทรงแต่งตั้ง พลเอกเซอร์เดวิด เลสลี่ คู่ปรับคนสำคัญของครอมเวลล์เป็นแม่ทัพหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ทัพอังกฤษได้เสบียงในการรบจึงสั่งให้เทครัวหัวเมืองทางใต้และทำลายที่มั่นหรือพืชผลทั้งหมด ยกเว้นเมืองดันบาร์ซึ่งเป็นเมืองท่าห่างจากกรุงเอดินเบอระ 40 กม. จากนั้นแม่ทัพสกอตติชสั่งห้ามไม่ให้ยกพลออกรบแต่ให้ตั้งมั่นรักษากรุงเพียงอย่างเดียวไม่ให้ทัพอังกฤษตีหักได้ กองทัพของครอมเวลล์เมื่อเข้าตีกรุงเอดินเบอระ ผลออกมาตรงกับที่เลสลี่คาดไว้ เมื่อตีไม่สำเร็จ เสบียงอาหารก็ขาดแคลน จากกองทัพหมื่นห้าพันนาย ปรากฏว่ารบไม่กี่วันเหลือทหาร 11,000 ครอมเวลล์เห็นท่าไม่ดีก็เตรียมถอยทัพไปดันบาร์เพื่อเอาเสบียงและรอทัพหนุนจากอังกฤษ ซึ่งตรงตามแผนของเลสลี่ เมื่อครอมเวลล์ถอนทัพ เลสลี่ก็เคลื่อนพลทันทีด้วยความที่ชินภูมิประเทศ เลสลี่ไปถึงดันบาร์ก่อน เมื่อเข้าเมืองก็สั่งเคลื่อนทัพขึ้นดูนฮิล เพราะชัยภูมิเหมาะสม เนื่องจากอยู่เหนือตัวเมือง และมองเห็นถนนที่ครอมเวลล์จะเดินทัพมา ด้านครอมเวลล์เห็นเลสลี่ตั้งทัพบนเขาก็ใจเสีย จะหนีก็ไม่ได้ จะย้อนกลับ ไปตีเอดินเบอระก็จะโดนขนาบ เลยรั้งทัพไว้ก่อน ด้านเลสลี่รู้ทันก็ไม่ยอมเข้าตีเพราะรอครอมเวลล์หมดเสบียงก่อน

สงครามนั้นหลายต่อหลายครั้งแม่ทัพที่มีความสามารถและมีกองทัพที่เหนือกว่าศัตรู จะพ่าย แพ้ ไม่ใช่เพราะพิชัยสงคราม แต่เกิดจากการเมือง เช่น ขงเบ้งถอนทัพจากเขากิสาน หรือพลเรือเอกรอส เฮสเวนสกี้ของรัสเซียที่แตกทัพเรือในยุทธการสึชิม่า ต่างก็มีเหตุมาจากการเมืองทั้งสิ้น เลสลี่ก็เช่นกันที่อยู่ๆ ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากว่าบรรดานักบวชในดันบาร์เห็นกองทัพของเลสลี่ไปตั้งอยู่บนเขาแทนที่จะรักษาเมืองก็กังวลว่า ถ้าครอมเวลล์เข้าเมืองได้จะทำให้โบสถ์เสียหายจึงไปกดดันกับรัฐบาล นิยมเจ้าให้เลสลี่ถอนค่ายมารักษาเมือง นอกจากนี้แม่ทัพนายกองที่เป็นสาวกของโบสถ์ก็ประท้วงเลสลี่ให้ถอนค่าย เมื่อโดนการเมืองกดดัน เลสลี่ก็ไม่มีทางเลือกก็ต้องยอม ด้านครอมเวลล์ย่อมไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป ตอนกลางคืน ครอมเวลล์สั่ง ให้ย้ายชัยภูมิให้เหมาะสมและให้เข้าตีค่ายใหม่ของเลสลี่เป็นแนวเดียว ฝ่ายทหารนิยมเจ้าได้ยินเสียงก็ตกใจแตกทัพกันเป็นอลหม่าน แม้แต่แม่ทัพเลสลี่ต้องตีฝ่าครอมเวลล์หนีไปได้ก็เหลือทหารตามไปเพียง ห้าพันนาย ส่วนที่โดนจับเป็นเชลยนั้นราวหมื่นนายไม่รวมอีกหลายพันที่ตายในสนามรบ แถมยังฉวยโอกาสตามตีเข้าเมืองเอดินเบอระและล้อมปราสาทได้ในหนเดียว เมื่อเสียเมืองท่ากับเมืองหลวงไปเลสลี่ ก็กลับไปตั้งมั่นที่เมืองสเตอริงซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน สู่เมืองสโกนที่พระเจ้าชาร์ลประทับอยู่

อย่างไรก็ตาม แผนของเลสลี่ที่จะรบยืดเยื้อก็มาจบที่การเมืองตามเคย เมื่อบรรดาอำมาตย์ต่างเพ็ดทูลพระเจ้าชาร์ลที่สองให้ทรงยกทัพเข้าไปรบในอังกฤษ และหวังว่าประชาชนจะหลั่งไหลกันมาร่วมทัพเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเถื่อน แต่เลสลี่กลับค้านว่า การรบแบบตั้งรับในสกอตแลนด์อาจจะช้าแต่อังกฤษ ตีหักไม่ได้ก็จะอ่อนแรง เพราะเลสลี่รู้ว่าบรรดาขุนนาง เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง อังกฤษในตอนนั้นเป็นสาธารณรัฐไปแล้ว ประชาชนเองก็เบื่อหน่ายทั้งสองฝ่ายและจะไม่ออกมาสู้ แต่เมื่อพระเจ้า ชาร์ลทรงเชื่อคำเพ็ดทูลและมีรับสั่งให้เลสลี่เตรียมทัพพระองค์จะเสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง

ด้านครอมเวลล์รู้ข่าวว่าพระเจ้าชาร์ลที่สองนำทัพมาเองก็ดีใจ เพราะพยายามตีเลสลี่ที่สเตอริง มาตลอดปีก็ไม่สำเร็จจนถึงขั้นล้มป่วย ครอมเวลล์รีบออกคำสั่งให้แม่ทัพทุกคนล่อให้กษัตริย์หนุ่มนำทัพ เข้าไปตั้งมั่นที่วูสเตอร์ ซึ่งห่างจากลอนดอนราวร้อยไมล์ เมื่อพระเจ้าชาร์ลเข้าเมือง ทหารของรัฐบาล ก็ออกมาล้อมเมืองไว้ทุกทางด้วยกำลังพลที่มากกว่าฝ่ายกษัตริย์ถึงสองเท่าตัว ผลการรบทำให้กองทัพนิยมเจ้าแตกพ่ายทุกค่าย และแม่ทัพคนสำคัญรวมทั้ง เลสลี่ต่างโดนจับไปจองจำที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอน พระเจ้าชาร์ลที่สองต้องหลบหนีถึงหกอาทิตย์กว่าจะ ออกจากอังกฤษได้ บางครั้งต้องซ่อนพระองค์ในโพรงของต้นโอ๊กทำให้เกิดชื่อเรียกต้นโอ๊กของอังกฤษว่า รอยัลโอ๊ก ซึ่งมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อเสร็จศึกนอกแล้วครอมเวลล์ก็ต้องมาจัดการศึกในประเทศ เนื่องจากการปกครองโดยสภา อย่างเดียวนั้นก็มีแต่การพูดกันไปพูดกันมาแต่ไม่สรุป เสียที ครอมเวลล์จึงให้เหตุผลว่าควรคืนอำนาจให้ประชาชนเสียทีเพราะอยู่เกินสมัยมานานแล้ว สภานี้ ถูกเลือกปี 1640 ลากยาวมาถึง 1648 ก็เกิดการปฏิวัติ จากนั้นก็อยู่มาถึงปี 1653 เรียกว่าเลือกตั้งหนเดียวได้รัฐบาลมา 13 ปี ครอมเวลล์เหลืออดกับการอิดออดของ ส.ส.จึงยุบสภา โดยเรียกทหารเข้ามาไล่ ส.ส.ออกจากสภา จากนั้นครอมเวลล์ให้โบสถ์ทั่วประเทศส่งตัวแทนมาทำหน้าที่ในสภาจนกว่าจะหาระบอบการปกครองมาแทนระบอบกษัตริย์ได้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่สภาโจ๊กได้เลือกครอมเวลล์ให้เป็นผู้นำตลอดชีพโดยเรียกตำแหน่งว่า เจ้าผู้ปกป้อง (Lord Protector) ของอังกฤษซึ่งเปรียบเสมือนประธานาธิบดีของรัฐเผด็จการทหาร

จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าสภาใหม่นี้ไม่ใช่สภาโจ๊ก ครอมเวลล์ร่างกฎหมายมา 84 ฉบับ สภาไม่อนุมัติเลยแม้แต่ฉบับเดียว จึงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ได้สภาที่ไม่ฟังเจ้าผู้ปกป้องอีก ทำให้ครอมเวลล์และบรรดานายพลตัดสินใจตั้งสภา ความมั่นคงและให้มีนายพลสิบสองนายปกครองโดยขึ้นตรงต่อครอมเวลล์เท่านั้น ทำให้ครอมเวลล์เองได้รับฉายาว่าเป็นทรราชจากคนยุคหลัง เมื่อครอมเวลล์เสียชีวิต และรัฐสภาใหม่ได้เข็ดหลาบต่อระบอบสาธารณรัฐจึงกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้า ชาร์ลที่สองกลับมาครองแผ่นดิน บรรดาผู้จงรักภักดี ต่อราชวงศ์ได้พากันจับตัวนายทหารและขุนนางที่เป็น กบฏมาประหารโดยการตัดหัวเสียบประจาน รวมทั้ง คนที่ตายไปแล้วอย่างครอมเวลล์ก็โดนขุดศพขึ้นมาตัดหัวเสียบประจานตลอดรัชกาลของพระเจ้าชาร์ลที่สอง จนกระทั่งตอนปลายรัชกาลได้เกิดลมพายุพัด เอาเสาที่เสียบหัวของครอมเวลล์หักลงไปและศีรษะของอดีตประธานาธิบดีอังกฤษได้ถูกนำไปประมูลขาย ซึ่งก็เปลี่ยนมือกันมานักต่อนักแล้ว

ด้านชื่อครอมเวลล์นั้นก็ยังเป็นชื่อต้องสาปถึง ทุกวันนี้ แม้แต่ในนิวซีแลนด์เมื่อมีการตั้งเมืองตาม เหมืองทองที่เจอ ในตอนแรกเรียกเมืองนั้นว่า Junction เพราะเป็นชุมทาง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นครอมเวลล์ มีชาวบ้านย้ายไปทำไร่นากัน เกิดเป็นเมืองขึ้นมา รัฐบาลฝ่ายขวาซึ่งนิยมเจ้าของเซอร์โรเบิร์ต มัลดูน ก็มีนโยบายสร้างเขื่อนโดยไขน้ำให้ท่วมเมืองเป็นทะเลสาบ โดยตั้งชื่อว่า Lake Dunstan ซึ่งถ้าผู้ทราบประวัติศาสตร์อังกฤษจะทราบว่าครอมเวลล์ขึ้นเป็นใหญ่จากศึกที่วูสเตอร์ แต่ในเมืองเดียวกันนั้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนมีนักบุญที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์จนได้เป็นองคมนตรี คือ สาธุคุณดันสตัน

ผมไม่ทราบว่าลึกๆ แล้ว เซอร์มัลดูนคิดอย่างไร แต่การตั้งชื่อโดยเอาประวัติศาสตร์มาเล่นนี้ เป็นการบอกชัดว่าฝ่ายจงรักภักดีท่วมพวกสาธารณรัฐ ต่อมานายกรัฐมนตรีเฮเลน คล้าก ซึ่งฝักใฝ่แนวคิดสาธารณรัฐ ก็มีคำสั่งให้ปล่อยน้ำออกจากทะเลสาบดันสตัน ให้เมือง ครอมเวลล์ที่จมน้ำเป็นทศวรรษได้โผล่มาให้เห็นกันอีก ส่วนรัฐบาลใหม่ของฝ่ายขวาจะไขน้ำมาท่วมเมืองอีกหรือไม่ก็สุดจะหยั่งรู้ได้

ในอดีต นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเคยประกาศว่า ชาติเสือต้องไว้ลายชาติชายต้องไว้ชื่อ ถ้าดูจากประวัติของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์แล้วผมออกจะเห็นด้วยว่าเขาอยู่อย่างเสือและตายอย่างมีชื่อ ชื่อของครอมเวลล์ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดสาธารณรัฐในอังกฤษและเครือจักรภพมานานกว่าสี่ร้อยปี

ประโยคที่ผมชื่นชอบมากเวลาที่เราพูดถึงการดำเนินชีวิตคือ ตอนอยู่ทำให้คนเขารัก ตอนจากไปทำให้เขาอาลัย ผมเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าประเทศใดที่มีผู้นำที่ดี ตอนอยู่พยายามทำความดี ให้ทุกคนเขารัก เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จะเป็นที่จดจำ ไปอีกนานเท่านาน ไม่ต้องตกเป็นที่สงสัยหรือครหานินทาของคนรุ่นหลังนับร้อยๆ ปีแบบครอมเวลล์ที่เมื่ออยู่ก็ทำให้คนเพียงกลุ่มเดียวรัก และไปฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้ความเมตตา เมื่อจากไปคนที่รัก เขาก็ชื่นชม คนที่เกลียดก็ก่นด่า สาปแช่ง แม้แต่ศพ ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เมืองที่เอาชื่อมาใช้ก็โดนน้ำท่วม สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ทั้งที่ตนเองมีชีวิตอยู่หรือจากโลกนี้ไปแล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us