
221 ปีก่อนคริสต์ศักราช อิ๋งเจิ้งผู้สืบบัลลังก์แห่งรัฐฉินได้ปราบปราม 6 นครรัฐ อันประกอบไปด้วย รัฐฉู่ รัฐเจ้า รัฐเอียน รัฐฉี รัฐหาน และรัฐเว่ย จนราบคาบ รวบรวมแผ่นดินอันไพศาลเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยอิ๋งเจิ้งได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ "จิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้)"
ด้วยวิสัยทัศน์และความปรีชาของจิ๋นซีฮ่องเต้ พระองค์จึงกระชับอำนาจด้วยการผลักดันระบบการปกครองแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง หรือในภาษาจีนกลางคือ จงยังจี๋เฉวียนจื้อ หรือการรวมศูนย์อำนาจการปกครองทั้งหมดไว้ที่พระองค์เอง พร้อมกับดำเนินการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีไปในคราวเดียวกัน โดยการปฏิรูปดังกล่าวถือว่าได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศจีนจวบจนถึงปัจจุบัน เช่น การปฏิรูประบบการปกครอง ระบบการก่อสร้าง ระบบตัวอักษร ระบบเงินตรารวมไปถึงระบบชั่งตวงวัดด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น หนึ่งในการปฏิรูปใหญ่ครั้งยิ่งใหญ่ ดังกล่าว รวมไปถึงการที่พระองค์ตั้งเมืองเสียนหยัง (ปัจจุบันอยู่ใกล้ๆ กับเมืองซีอานในมณฑลส่านซี) ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรฉิน กำหนดมาตรฐาน ความกว้างและลักษณะของ "ถนน" และ "รถม้า"ที่เชื่อมไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วอาณาจักรให้เป็นหนึ่งเดียว โดยพระองค์กำหนดให้ถนน ต้องมีความกว้าง 50 ก้าว และจะต้องปลูกต้นไม้ริมถนนสองฝั่งทุกๆ 3 จั้ง (1 จั้งเท่ากับ 10 ฟุต) ส่วนกึ่งกลางถนนซึ่งเป็นเส้นทางเสด็จสำหรับองค์จักรพรรดิก็ต้อง มีความกว้าง 3 จั้ง ขณะที่ความกว้างของตัวรถม้านั้นก็ถูกกำหนดไว้ที่ 6 ฟุต[1]
การปฏิรูปครั้งสำคัญดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้การสัญจร การค้าขาย การดึงทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง และการเคลื่อนกำลังพลของกองทัพแห่งอาณาจักรฉินเป็นไปได้โดยสะดวก... ผมหวนนึกถึงการปฏิรูปครั้งสำคัญดังกล่าว เมื่อได้อ่านรายงานชิ้นหนึ่งของ หนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ที่กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการสร้างเครือข่ายรถไฟเพื่อเชื่อมประเทศจีนเข้ากับเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียและกับประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
รายงานชิ้นดังกล่าวระบุถึงคำให้สัมภาษณ์ของหวังเมิ่งซู่ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคมนาคมปักกิ่ง และสมาชิกของบัณฑิตสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีน ที่ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังเจรจาอย่างเงียบๆ อยู่กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ จำนวน 17 ประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงผ่านไปยังประเทศเหล่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรในประเทศนั้นๆ เข้ามายังประเทศจีน[2]
"ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง ซึ่งระดับการพัฒนาค่อนข้างล้าหลังแต่เฟื่องฟูด้วยแหล่ง แร่ธาตุและแหล่งพลังงาน โดยเงื่อนไขในการเจรจาคือรัฐบาลจีนต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปแลกกับ ทรัพยากร" เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.หวัง
ในส่วนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ในประเทศจีน หลายๆ ท่านคงอาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศจีนใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟ ความเร็วสูงของตนเองขึ้นมาจนทัดเทียมกับโลกตะวันตก โดยอาศัยพื้นฐานความรู้จากเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น[3]
ทั้งนี้ บริการรถไฟความเร็วสูงของจีนสายแรก ที่เปิดให้บริการเป็นสายแรกคือ รถไฟพลังแม่เหล็ก Meglev (Magnetic-Levitation) เทคโนโลยีนำเข้าเยอรมันที่เชื่อมสนามบินผู่ตงเข้ากับตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี 2547 สี่ปีถัดมาในเดือนสิงหาคม 2551 จีนได้เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง หรือ CRH (China Railway High-speed) ที่พัฒนาขึ้นเองบนเส้นทางนครปักกิ่ง-เทียนจิน ความยาว 114 กิโลเมตร ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสองเมือง จาก 1 ชั่วโมงครึ่ง ให้เหลือเพียง 30 นาที ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งปี ในเดือนธันวาคม 2552 จีนก็เปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะไกลสายแรกของประเทศ ซึ่งมีระยะทางกว่า 1,068 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยเข้ากับเมืองกวางเจา (หรือกว่างโจว) เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง โดยรถไฟขบวนดังกล่าวสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถือว่ามีสมรรถนะทัดเทียมกับรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นและยุโรป
สำหรับแผนระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างเครือข่ายรถไฟภายในประเทศของรัฐบาลจีน ซึ่งหลิว จื้อจวิน รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีน ออกมาเปิดเผยล่าสุดก็คือ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556) จีนจะสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 26,000 กิโลเมตร โดยในจำนวนสองหมื่นกว่ากิโลเมตรนี้ 9,200 กิโลเมตรจะเป็นทางรถไฟความเร็วสูง โดยแผนดังกล่าวส่งผลให้ภายในปี 2556 (ค.ศ.2013) จีน จะมีขบวนรถไฟความเร็วสูงประมาณ 800 ขบวนวิ่งอยู่บนรางเหล่านี้ และทำความเร็วได้อย่างน้อย 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนั้น ภายในปีนี้ด้วยการทุ่มเงินลงทุน จำนวนมหาศาลจะทำให้ระยะทางของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึงครึ่งหนึ่งของความยาวของทางรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกเลยทีเดียว
ด้วยสถานะความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟ ความเร็วสูงที่ล้ำหน้าเช่นนี้เอง ผมจึงไม่แปลกใจนักที่จีนจะฝันไกลถึงการผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ให้ออกสู่โลกภายนอก โดยรัฐบาลจีนพยายามทำให้ รถไฟความเร็วสูงของจีน (CRH) กลายเป็นมาตรฐานของรถไฟความเร็วสูงของทวีปเอเชีย โดยจากรายละเอียดที่ ศ.หวังได้เปิดเผยระบุว่า ขณะนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศที่จีนกำลังเจรจาอยู่กับ มิตรประเทศนั้นมีอยู่ 3 สายหลักๆ โดยบางสายขั้นตอนการเจรจาก้าวหน้าไปถึงขั้นลงลึกในรายละเอียด ทางด้านเทคนิคแล้ว ทั้งนี้ทางรถไฟ 3 สายดังกล่าวประกอบไปด้วย
สายที่ 1 จากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ไปยังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะต้องสร้างผ่านประเทศเวียดนาม ประเทศไทย พม่า และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่แน่ชัดยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา
สายที่ 2 จากเมืองอุรุมชี มณฑลซินเกียง (หรือซินเกียง) เชื่อมไปยังประเทศในแถบเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน โดยเส้นทางนี้หากเป็นไปได้จีนวางแผนให้เชื่อมต่อไปถึงประเทศเยอรมนี
สายที่ 3 จากมณฑลเฮยหลงเจียงขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นต่อไปทางเหนือผ่านประเทศรัสเซียและมุ่งไปยังปลายทางในทวีปยุโรป
ในเชิงเทคนิครถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 สายจะใช้มาตรฐานรางรถไฟและมาตรฐานขบวนรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนทั้งหมดคือ เป็นขบวนรถที่สามารถทำความเร็วได้สูงที่สุดถึง 350 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง โดยหากรัฐบาลประเทศใดแสดงความยินยอมและตกลงที่จะขายทรัพยากรธรรมชาติให้จีน รัฐบาลจีนก็พร้อมที่จะลงทุนทั้งในเรื่องเทคโนโลยี อุปกรณ์ หัวรถจักร โบกี้และค่าก่อสร้างให้ อย่างเช่น ประเทศพม่าที่รัฐบาลทหารยินยอมขายแร่ลิเธียมให้เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเงินในการก่อสร้าง ทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว
นอกจากพม่าแล้ว ประเทศในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออกอีกหลายแห่งที่ปัจจุบันส่งก๊าซขาย ให้กับจีนผ่านทางท่อก็แสดงความสนใจในโครงการเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ อย่างเช่น อิหร่าน ปากีสถาน และอินเดียก็แสดงออก ถึงความสนใจในเทคโน โลยีรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนไม่น้อย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เงื่อน ไขในการสนับสนุนดังกล่าวของรัฐบาลจีนก็รวมถึงข้อแม้สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประเทศใดที่มีแผนการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศอยู่แล้ว อย่างเช่น คีร์กีซสถาน หรือเวียดนาม ต้องล้มเลิกโครงการเดิมเสียและหันมาสร้างทางรถไฟซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับจีนแทน
สำหรับเมกะโปรเจ็กต์เกี่ยวกับเครือข่ายรถไฟ ความเร็วสูงข้ามประเทศ-ข้ามทวีปที่มีจุดมุ่งหมายหลัก 2 ประการคือ การดึงทรัพยากรธรรมชาติจากต่างประเทศเข้ามาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของจีน และกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ในแถบตะวันตกที่สภาพ เศรษฐกิจและสังคมยังล้าหลังอยู่มากนั้น ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคมนาคมปักกิ่งกล่าวว่า น่าจะเสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุดภายใน 15 ปีข้างหน้า หรือ ในปี 2568 (ค.ศ.2025) โดยเขาตั้งชื่อให้นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจีนว่า "นโยบายการทูตรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail Diplomacy)"
คล้อยหลังห้วงเวลาแห่งการรวมประเทศของจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ราวสองพันสองร้อยกว่าปี รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ วันนี้ซึ่งมีภาระหนักไม่แพ้จิ๋นซีฮ่องเต้ ในการฟื้นฟูสังคมและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศกลับไปยืนอยู่แถวหน้าของโลกได้อีกครั้ง ไม่เพียงนำนโยบายในลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิรูป "ถนน" และ "รถม้า" ของจิ๋นซีฮ่องเต้กลับมาพลิกแพลงใช้อีกในรูปลักษณ์ของการคมนาคมสมัยใหม่ คือ "รางรถไฟ" และ "หัวรถจักรความเร็วสูง" แต่ในระดับโลกจีนยังพยายามผลักดันความร่วมมือใหม่ๆ ในระดับนานาชาติ รวมทั้งก่อตั้งองค์กรใหม่-สร้างมาตรฐานใหม่-คิดค้นระบบใหม่ เพื่อทดแทนระบบและมาตรฐานของโลกเก่าที่ถูกครอบงำโดยประเทศตะวันตก
ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือใหม่ๆ ทางด้าน ความมั่นคง เช่น องค์กรความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) องค์กรด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคซึ่งจีนเป็นตัวตั้งตัวตีใน การก่อตั้งและร่วมมือกับเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย อย่างรัสเซีย คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน และถูกสื่อตะวันตกให้ฉายาว่าเป็น "นาโต้แห่งเอเชียกลาง", ระบบการเงินใหม่ๆ ที่ใช้เงินหยวน เป็นมาตรฐานของการแลกเปลี่ยนแทนดอลลาร์สหรัฐ หรือกองทุนเงินสำรองแห่งภูมิภาคเอเชีย (Regional Reserve Fund) ซึ่งมีทุนสำรองอยู่กว่า 1.2 แสนล้าน เหรียญสหรัฐ และมีบทบาทคล้ายกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)[4]
ทั้งนี้ ไม่นับรวมกับการสร้างมาตรฐานใหม่อื่นๆ อย่างมาตรฐานด้านภาษาคือภาษาจีนกลางและอักษรจีนอย่างย่อ (Simplified Chinese) มาตรฐานทางโทรคมนาคม มาตรฐานทางอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงมาตรฐานทางด้านพลังงาน เช่น รถ ไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งจีนกำลังพยายามเร่งพัฒนาให้แซงหน้าสหรัฐฯ และให้สามารถแข่งขันกับญี่ปุ่นได้
เมื่อเหลียวหลังมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน ณ วันนี้ก็คือภาพสะท้อนของอดีตที่หมุนเวียนกลับมาฉายซ้ำให้เราได้ชมอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
หมายเหตุ :
[1] โจว จยาหรง, ประวัติศาสตร์จีน, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ.2546 หน้า 58-62.
[2] Stephen Chen, China plans Asia-Europe rail network, South China Morning Post, 08 Mar 2010.
[3] On the Fast track, Chinese National Geog raphy English Edition, Issue 2 2010, p18-19.
[4] Rana Foroohar and Melinda Liu, When China rules the world, Newsweek, 22 Mar 2010, p24-29.
|