Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
การเกิดใหม่ของอิรัก             
 


   
search resources

Political and Government




บางอย่างที่คล้ายกับ "ประชาธิปไตย" กำลังเริ่มต้นขึ้นในอิรัก แต่นี่มิใช่ความสำเร็จ หากแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

George W. Bush ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2003 ว่า ประชาธิปไตยในอิรักจะประสบความสำเร็จ และจะทำให้ซีเรียจนถึงอิหร่านต้องตระหนักว่า เสรีภาพคืออนาคตของทุกประเทศ การทำให้อิรักกลายเป็นประเทศเสรีตรงใจกลางของตะวันออกกลางจะเป็นจุดหักเหของประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาธิปไตยในโลก แต่ทั้งในเวลาเดียวกับที่ Bush กล่าวเช่นนั้นและหลังจากนั้น สิ่งที่เราเห็นในอิรักกลับมีแต่ความไม่สงบและการก่อการร้าย กองกำลัง สหรัฐฯ ในอิรักแทบทำอะไรไม่ถูก นอกจากตามไล่ล่าจับกุมชาวอิรัก นับพันๆ คน ผู้ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเข้ามา "ปลดปล่อย" ให้มีอิสรภาพนั่นเอง ไปขังคุก Abu Gharaib และทรมานพวกเขา อิรักเต็มไปด้วยความรุนแรงที่สังหารผลาญชีวิตทั้งชาวอิรักเอง ทหารอเมริกันนับพันนับหมื่นคน เป็นเวลาหลายปีจนถึงทุกวันนี้ ที่ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันต้องจ่ายเงินมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพียงเพื่อจะคงกำลังทหารอเมริกันนับหมื่นนับแสนนายไว้ในอิรัก เพราะกลัวว่าหากถอนทหารออกจากอิรักเร็วเกินไป จะทำให้การนองเลือดในอิรักยิ่งเลวร้าย และสงครามจะลุกลามไป ทั่วตะวันออกกลาง หาใช่ประชา ธิปไตยอย่างที่ Bush ต้องการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่าน ไปเกือบ 7 ปีที่เหมือนอยู่ในนรก บางสิ่งบางอย่างที่คล้ายกับประชา ธิปไตย ก็ได้ปรากฏขึ้นในอิรักและแม้อาจไม่ถึงขั้นเป็นแสงไฟส่องนำทางให้แก่ภูมิภาคตะวันออก กลาง อย่างที่ Bush เคยประกาศ แต่ก็นับเป็นจุดหักเหของประวัติ ศาสตร์ที่จะนำตะวันออกกลางเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์อันไม่เป็นประชาธิปไตยของภูมิภาคนี้

การเลือกตั้งในอิรักเมื่อวันที่ 7 มีนาคม มีผู้สมัคร ส.ส.ทั้งสิ้นถึง 6,100 คน จากทุกนิกายศาสนาและทุกพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แม้พวกเขาจะมีผลประโยชน์และความต้องการที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองอิรักเหล่านี้เห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า การทะเลาะทุ่มเถียงกันอย่างดุเดือด ทางการเมือง ได้เข้ามาแทนที่สงครามกลางเมืองแล้วจริงๆ และพวกเขาสามารถออกกฎหมายใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แม้จะด้วยความเชื่องช้าและเจ็บปวด แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่การที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้นำเผด็จการ หรือคำสั่งของผู้ยึดครองอย่างสหรัฐฯ อีกต่อไป

และด้วยการสอน ปกป้องและกระตุ้นจากสหรัฐฯ นักการเมืองรุ่นใหม่ของอิรักกำลังสร้างระบบการปกครองใหม่ของอิรักด้วยตัวเอง ในแบบที่พลเอก David Petraeus แห่งกองทัพสหรัฐฯ เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบอิรัก (Iraqracy) และหวังว่า หากโชคดี นักการเมืองเหล่านี้จะสร้างสถาบันหลักต่างๆ ที่จำเป็นต่อประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะทำให้ประชาธิปไตยที่แท้จริง สามารถเบ่งบานในอิรักได้ต่อไป

Christopher Hill เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิรักชี้ว่า บททดสอบที่แท้จริงของประชาธิปไตยในอิรักหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ หาใช่ปฏิกิริยาของผู้ชนะ หากแต่เป็นปฏิกิริยาของผู้แพ้ ไม่ว่าการเลือกตั้งของอิรักครั้งนี้จะเป็นไปโดยสงบหรือเกิดความรุนแรง แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือกระทั่งหลายเดือน การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2005 กว่าอิรักจะได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ ก็ปาเข้าไปเดือน พฤษภาคมปีถัดไป ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นยังมีสหรัฐฯ เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด แต่ในครั้งนี้ สหรัฐฯ กำลังจะถอนทหารส่วนใหญ่ออกจากอิรัก โดยทหารอเมริกันในอิรักลดลงจาก 170,000 นาย เหลือไม่ถึง 100,000 นายในขณะนี้ และภายในเดือนสิงหาคมนี้ก็จะเหลือไม่เกิน 50,000 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า หากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในอิรักหลังเลือกตั้ง แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง ก็จะไม่มีทหารอเมริกันคอยช่วยห้ามทัพอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม รองประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ ประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ใน อิรักโดยเฉพาะ และพบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้นักการเมืองอิรัก จะชอบโวยวาย แสดงละคร ระเบิด วาจาและอารมณ์ที่รุนแรง และทำให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังจะเกิดการ เผชิญหน้า แต่สุดท้ายก็มักล่าถอยกลับไปที่เดิม ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากคณะกรรมาธิการของรัฐบาลอิรักซึ่งเป็นชีอะห์ สั่งตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งของผู้สมัครสุหนี่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึง Saleh al-Mutlaq หัวหน้าพรรค การเมืองใหญ่ที่สุดพรรคหนึ่งของสุหนี่ โดยกล่าวหาว่านักการเมือง สุหนี่เหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับพรรค Baath ของ Saddam Hussein สร้างความหวาดกลัวว่า จะเกิดการนองเลือดระหว่าง 2 นิกายขึ้นอีกครั้งหรือไม่ Mutlaq วิ่งพล่านโวยวายขอพบกับ Ahmad Chalabi ประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าว รวมถึงเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำอิรัก ซึ่งเขาคิดว่าอาจมีส่วนรู้เห็นกับ "อุบายสกปรก" นี้ แต่ก็ไม่ได้ผลอันใด

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนี่เอง ไม่มีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง ไม่มีนักการเมืองสุหนี่ออกมาตะโกนโหวกเหวกด้วยความโกรธแค้นที่หน้าจอทีวี เรียกร้องให้แก้แค้นชีอะห์ หรือกล่าวหาชาวเคิร์ดรวมหัวกับชีอะห์ แม้แต่ตัว Mutlaq เอง สุดท้ายก็ต้องยอมถอนแม้กระทั่งการเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม และการเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด สรุปแล้ว มีผู้ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งทั้งหมดเพียง 150 คนเท่านั้น จากทั้งหมดกว่า 6,000 คน

หากคนภายนอกอิรักยังมัวแต่สนใจประเด็นขัดแย้งเก่าๆ อย่างความเป็นศัตรูกันระหว่างชีอะห์ สุหนี่และเคิร์ด ก็อาจจะพลาดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอิรักไป Mowaffaq al-Rubaie อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาล อิรัก ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ชี้ว่า คำว่า "ประนีประนอม" ซึ่งในภาษา อาหรับคือ mosawama เริ่มมีความสำคัญมากกว่าความแตกแยกขัดแย้งระหว่าง 3 ฝ่ายข้างต้น และนักการเมือง อิรักเริ่มเรียนรู้ความยอกย้อนของคำคำนี้ ดังนั้น เคิร์ดกับชีอะห์อาจ "ประนีประนอม" กัน เพื่อผ่านร่างกฎหมายฉบับ หนึ่งแต่ชีอะห์กลับไป "ประนีประนอม" กับสุหนี่ เพื่อผ่านกฎหมายอีกฉบับและสุหนี่ก็ไป "ประนีประนอม" กับเคิร์ด เพื่อผ่านกฎหมายฉบับอื่น

จุดเปลี่ยนนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ปรึกษาระดับสูงชาวอเมริกันของรัฐบาลอิรักชี้ว่า แม้นักการเมืองอิรักจะขัดแย้งกันอย่างดุเดือด แต่ก็สามารถผ่านกฎหมายใหม่ๆ ได้มากมาย ถึงแม้จะยังมีร่างกฎหมายสำคัญบางฉบับที่ยังค้างเติ่งอยู่ เช่นร่างกฎหมายการแบ่ง ผลประโยชน์ในทรัพยากรน้ำมันของอิรัก แต่เมื่อการโจมตีกันด้วยวาจาได้เข้ามาแทนที่การโจมตีกันด้วยลูกปืน รัฐสภาอิรักก็สามารถ ผ่านกฎหมายใหม่ได้ถึง 50 ฉบับในปีที่แล้วเพียงปีเดียว โดยมีการใช้สิทธิ์วีโต้เพียง 3 ฉบับเท่านั้น กฎหมายใหม่เหล่านั้นรวมถึงกฎหมายงบประมาณประจำปีนี้ การแก้ไขกฎหมายการลงทุน รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรเอกชนหรือ NGO ซึ่งกฎหมายหลังสุดนี้ นับเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดฉบับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

กระบวนการประชาธิปไตยในอิรักกำลังพัฒนาไปอย่างน่าทึ่ง ในปี 2005 ชาวอิรักต่างพากันไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอย่างล้นหลาม เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของ Saddam มานานหลายทศวรรษ ส่วนพรรคการเมืองที่ยังคิดเพียงว่า ยังไงชาวอิรักที่นับถือ นิกายเดียวกับพรรค ก็จะต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคก็จะต้องพบกับความผิดหวังเหมือนกับพรรค Islamic Supreme Council of Iraq ซึ่งใกล้ชิดกับอิหร่าน ในการเลือกตั้งสภาจังหวัด เมื่อ 1 ปีก่อน ประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญคือเรื่องไฟฟ้า การมีงานทำ น้ำสะอาด การรักษาพยาบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความมั่นคง นายกรัฐมนตรี Nuri al-Maliki ของอิรัก ได้เคยสร้างผลงานในเรื่องเหล่านี้ไว้ ทำให้ผู้สมัครในพรรคของเขาชนะเลือกตั้งใน 9 จังหวัด จากทั้งหมด 18 จังหวัด และยังมีคะแนนนำในการเลือกตั้งระดับชาติของอิรักครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังสงสัยกันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในอิรักขณะนี้ จะเปราะบางหรือไม่ และจะยั่งยืนเพียงใด สิ่งที่อันตรายที่สุดอาจเป็นการที่สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนใจ ชะลอการถอนทหารทั้งหมดออกจากอิรักให้ช้าลงกว่าที่กำหนดไว้ว่า จะถอนทหาร อเมริกันทั้งหมดออกไปจากอิรักภายในปีหน้า (2011) เพราะชาวอิรักจำนวนมากยังคงไม่พอใจกับการรุกรานของสหรัฐฯ และความไม่พอใจนี้ยังเลยไปถึงนักการเมืองอิรักที่ถูกมองว่าเข้าข้างสหรัฐฯ มากเกินไป Al Allawi อดีตรัฐมนตรีคลังและกลาโหมของอิรัก ในรัฐบาลอิรักยุคแรกๆ หลังโค่นล้ม Saddam มองพัฒนาการการเมืองในอิรักขณะนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบ "มักน้อย" เป็นประชา ธิปไตยในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด ที่มีนักการเมือง "รุ่นใหม่" เกี่ยว ข้องอยู่ประมาณ 500-600 คน

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขต่างๆ ในอิรักวันนี้ ดูเหมือนจะช่วยส่งเสริมให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในอิรักดีขึ้น มากกว่าจะเป็นการบ่อนทำลาย หลังจากผ่านความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสร่วมกันมานาน หลายปี ทำให้ชาวอิรักในวันนี้ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มากขึ้นกว่าความแตกแยกในอดีต เพราะต่างรู้สึกเหมือนว่ารอดชีวิตมา ด้วยกัน สภาพความเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เริ่มกลับคืนมายังเมืองใหญ่อย่างกรุงแบกแดดและเมือง Basra ภัตตาคารร้านอาหารเริ่มกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ร้านจำหน่ายสุราที่แทบจะต้องปิดตายในช่วงสงครามกลางเมือง กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง และนักศึกษามหาวิทยาลัยก็มีอิสระมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงผิวเผิน Douglass North นักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของหนังสือ Violence and Social Orders ชี้ว่า กุญแจของการสร้างสังคมที่มีเสถียรภาพคือ การสร้างเครือข่ายของสถาบัน ที่สามารถจะเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ยามเมื่อรัฐบาลหรือการเมืองล้มเหลว และอิรักก็กำลังเริ่มสร้างเครือข่ายสถาบันเหล่านี้ ขณะนี้ อิรักไม่เพียงมีสื่อที่มีเสรีภาพมากที่สุดในตะวันออกกลาง แต่ยังมีความแข็งแกร่งมากที่สุดด้วย หนังสือพิมพ์ และสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ที่มีมากกว่า 800 แห่งของอิรัก ตามติด เปิดโปงและกัดไม่ปล่อยนักการเมืองและนักธุรกิจขี้ฉ้อ ขณะนี้อิรักมีผู้พิพากษามากกว่า 1,200 คน และศาลอิรักได้ตัดสินโทษข้าราชการระดับสูงในข้อหาคอร์รัปชั่นไปแล้วมากมาย กลุ่มสิทธิสตรีก็มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น และกำลังผลักดันให้สมาชิกสภาจังหวัดเป็นผู้หญิง 25% พร้อมเรียก ร้องให้กระทรวงศึกษาธิการเลิกล้มความคิดที่จะแยกโรงเรียนเป็นชายล้วนหญิงล้วน

บางทีสถาบันที่ดูจะเข้มแข็งมากที่สุดของอิรักในขณะนี้ อาจเป็นกองทัพของอิรัก ซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในสถาบันที่ได้รับความนับถือมากที่สุดในอิรัก แม้ Al Qaeda ในอิรักจะยังคงก่อเหตุระเบิดปลิดชีพตนเอง และคาดกันว่าผู้ก่อการร้ายจะลงมือมากขึ้น หากความแตกแยกทางนิกายศาสนาในอิรักเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังถอนทหารออกจากอิรัก แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาเหล่านี้จะไม่สามารถคุกคามอิรักได้อีกต่อไป นักวิเคราะห์ยังไม่กลัวด้วยว่า กองทัพอิรักจะเข้มแข็งมากเกินไป จนก่อรัฐประหารยึดอำนาจเสียเอง Hill เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอิรักกล่าวว่า ไม่มีสัญญาณเลยว่ากองทัพอิรักต้องการจะยุ่ง เกี่ยวกับการเมือง

อย่างไรก็ตาม จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่นักการเมืองอิรักจะพยายามใช้กองทัพเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม นายกรัฐมนตรี Maliki ของอิรัก ซึ่งมีอำนาจสั่งการโดยตรงกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายในสังกัดกองทัพอิรัก ถูกกล่าวหาว่าใช้กองกำลังดังกล่าว กำจัดนักการเมืองสุหนี่ แต่พลโท James Dubik นายทหารนอกราชการกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการฝึกกองทัพอิรักระหว่างปี 2007-2008 ชี้ว่า บรรดาผู้บัญชาการอิรักเอง รู้ซึ้งถึงอันตรายของการตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และจะไม่ทำสิ่งใดที่ฝืนความต้องการของประชาชน

อิหร่าน ชาติเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิรักมานาน ยังคงพยายามจะแข่งขันสร้างอิทธิพลในอิรักด้วยการใช้ทุกวิถีทางทั้งการค้า ความสัมพันธ์ทางศาสนา การทูต และความสัมพันธ์แบบลับๆ กับกลุ่มติดอาวุธที่มีเป้าหมายโจมตีทหารอเมริกันในอิรัก แต่หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอิหร่านเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวายและยืดเยื้อภายในอิหร่าน มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้อิทธิพลของอิหร่านในอิรักลดลง Seyyed Sadeq เป็นชาวชีอะห์ซึ่งเคยรับการฝึกจากกองกำลัง Badr Brigades ซึ่งอิหร่านหนุนหลัง เขาเคยอยู่ในอิหร่านตลอดทศวรรษ 1990 แต่ขณะนี้เขาเป็นหัวหน้าตำรวจในเมือง Al Amarah ของอิรัก เปิดเผยว่า กองกำลังที่เรียกว่า Quds Force ซึ่งเป็นสาขาในต่างประเทศของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน จะต้องเยือนอิรักเป็นประจำทุกเดือน แต่ขณะนี้ยืดไปเป็นทุก 6-7 เดือน เพราะกอง กำลัง Quds Force มัวยุ่งอยู่กับการจัดการความวุ่นวายทางการเมืองภายในอิหร่านเอง จนไม่มีเวลาสนใจอิรักเหมือนเคย

แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดในระยะยาวของอิรักคือ การแบ่งผล ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มหาศาลในอิรัก ระหว่างชาวเคิร์ดในภาคเหนือของอิรัก ชาวชีอะห์ในภาคใต้ และชาวสุหนี่ในภาคตะวันตก โดยที่ยังไม่มีกฎหมายแบ่งผลประโยชน์ระหว่าง 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน ขณะนี้ รัฐบาลอิรักกำลังติดต่อกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ เพื่อจะหาทางใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันล้ำค่านี้ นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมน้ำมันเชื่อว่า อิรักสามารถจะเพิ่มผลผลิตน้ำมันจากเกือบ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อ วัน เป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ รายได้จากน้ำมันของอิรักเมื่อปีที่แล้วมีมากถึง 39,000 ล้านดอลลาร์

และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ชาติเพื่อนบ้านอิรักต้องหวาดกลัวอย่างแท้จริง แม้กระทั่งประชาธิปไตยที่เพิ่งตั้งไข่ของอิรัก ก็ยังดูดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน (อาจยกเว้นเพียงเลบานอน) แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ รากฐานของการที่จะทำให้อิรักกลายเป็น ชาติมหาอำนาจในระดับภูมิภาค กำลังเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว และอาจสามารถท้าทายชาติใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านได้ในอนาคต นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การที่อิหร่านพยายามจะมีอาวุธนิวเคลียร์ หาใช่เพียงเพื่อข่มขู่สหรัฐฯ และอิสราเอลเท่านั้น แต่เพื่อขัดขวางอิรักซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาอีกครั้งด้วย ไม่ว่าอิรักจะดีขึ้นหรือเลวลง จะเป็นประชาธิปไตยสำเร็จหรือไม่อย่างไร แต่อิรักจะต้องกลายเป็นชาติมหาอำนาจหนึ่ง ที่ใครก็ประมาทไม่ได้ และนั่นก็อาจถือเป็นชัยชนะที่ซ่อนเร้นของสหรัฐฯ ในที่สุด

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us