Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2553
จุดอ่อนของศตวรรษที่ 21             
 


   
search resources

Political and Government




สิ่งที่จะทำให้โลกไร้เสถียรภาพในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจเหมือนในอดีตหากแต่เป็นประเทศที่ไร้อำนาจ

ไม่ว่าการเลือกตั้งวันที่ 7 มีนาคมในอิรักจะผ่านพ้นไปโดยไม่มีการคว่ำบาตรจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวอิรัก หรือไม่มีความรุนแรงใดๆ แต่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็คงต้องใช้เวลานานหลายเดือน และการจะทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก อิรักซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกอาหรับ แต่ขณะนี้ คงต้องยอมรับว่า แม้อิรักจะเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการอย่างมากจากประเทศเผด็จการภายใต้ Saddam ความรุนแรงลดลง เศรษฐกิจกำลังเติบโต และการเมืองกำลังพัฒนา แต่อิรักก็ยังคงเป็นประเทศที่อ่อนแอหลังจากที่ Saddam ถูกโค่นล้ม ความแตกแยกร้าวลึกยังคงมีอยู่ ระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดกับชาวอาหรับ และระหว่างชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นชนสวนใหญ่ของอิรักกับชาวสุหนี่ ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่า แต่เคยครองอำนาจในยุค Saddam และบางส่วนยังไม่อาจทำใจยอมรับได้ว่าฐานะของตนเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะแบ่งสันปันส่วนรายได้จากการขายน้ำมันอย่างไร และยังมีชาติเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านที่จ้องจะเข้ามายุ่งเกี่ยว ด้วยอีก

เหตุผลหลักข้อหนึ่งของการก่อสงครามอิรักคือ เพื่อสร้างอิรักให้เป็นประเทศประชาธิปไตยตัวอย่าง เพื่อให้ชาติอาหรับเจริญรอยตาม และขณะนี้อิรักก็กลายเป็นประเทศต้นแบบจริงๆ เพียงแต่ไม่ใช่ต้นแบบประชาธิปไตย หากแต่เป็นต้นแบบของประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งไม่สามารถปกป้องคุ้มครองตัวเองได้ รักษาความสงบภายใน หรือจัดการกับปัญหาต่างๆ ไม่ได้ หากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก ด้วยเหตุนี้ อิรักจึงกลายเป็นตัวอย่างของปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่สหรัฐฯ พึงตระหนักว่า จะต้องเผชิญ ต่อไปในศตวรรษนี้

การที่โลกจะต้องหันมาเป็นกังวลกับประเทศที่เป็นจุดอ่อน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของศตวรรษนี้ ในขณะที่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา มักเกี่ยวข้องกับการที่ประเทศที่แข็งแกร่งพยายามจะครองโลก อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่นในช่วงครึ่งศตวรรษแรกของศตวรรษที่แล้ว และสหภาพโซเวียต ในครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว รวมทั้งการต่อต้านของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ซึ่งกลายเป็นที่มาของสงครามโลก 2 ครั้งและสงคราม เย็นในศตวรรษที่ 20

แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อระเบียบโลก จะไม่ได้เกิดจากความอยากครอบครองโลกของชาติมหา อำนาจอีกต่อไป และความจริงแล้ว ชาติมหาอำนาจในทุกวันนี้ ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่ากับชื่อ รัสเซียซึ่งสืบต่อมาจากสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปแล้ว มีเศรษฐกิจแบบมิติเดียว และถูกกัดกร่อนด้วยปัญหาคอร์รัปชั่นและประชากรที่ลดจำนวนลง จีนถูกจำกัดด้วยจำนวนประชากรที่มากเกินไป และระบบการเมืองที่มาจากเบื้องบน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทั้งจีนและชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจอื่นๆ ต่างต้องการที่จะเป็นผู้จัดระเบียบโลก มากกว่าที่จะล้มล้างระเบียบ โลกที่มีอยู่แล้ว และสนใจที่จะร่วมมือกันมากกว่าจะปฏิวัติ

ดังนั้น ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดในศตวรรษนี้ จึงจะมาจากประเทศอ่อนแอทั้งหลาย อย่างปากีสถาน อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เฮติ เม็กซิโก คองโก ให้บังเอิญที่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้มีเหมือนกัน (นอกเหนือจากการที่บังเอิญเป็นประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงอิรัก) คือ การมีรัฐบาลที่ขาดความสามารถและเจตจำนง หรือทั้ง 2 อย่าง ที่จะปกครองประเทศ รัฐบาลประเทศเหล่านี้ไร้ความสามารถในการทำสิ่งที่รัฐบาลที่มีอธิปไตยพึงทำได้ คือการมีอำนาจควบคุมความเป็นไปภายในประเทศของตน ในอดีตนี่อาจไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงของโลก แต่ในปัจจุบัน ซึ่งโลกาภิวัตน์ได้ทำให้คนและทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก รวมถึงผู้ก่อการร้าย โรคระบาดร้ายแรง คนต่างด้าว อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จึงทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อนของความมั่นคงของโลกในศตวรรษที่ 21

กรณีอิรักยังทำให้รู้ว่า เราไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการใช้กองทัพของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว เรื่องของอิรักทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำ และแม้ทหารต่างชาติจะเล่นบทผู้ช่วยที่แสนดีของรัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้น แต่ก็อาจทำให้รัฐบาลใหม่ถูกต่อต้านจากประชาชนของตนเอง ที่เกิดความรู้สึกชาตินิยมได้ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในประเทศ ที่เป็นจุดอ่อนเหล่านั้นให้ยิ่งเลวร้ายลงอีก นอกจากนี้ ยังไม่แน่เสมอไปว่าการใช้กำลังทหารเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศที่เป็นจุดอ่อนนั้น จะให้ผลที่ถาวรและคุ้มค่าพอกับการที่ต้องลงทุนด้วยเลือดเนื้อของทหาร ยังไม่รวมถึงเงินอีกมหาศาล อันเป็นชะตากรรมที่ทหาร สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ในอัฟกานิสถานในขณะนี้

สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียไปกับการเปลี่ยนแปลงอิรัก จากประเทศที่ล้มเหลวในปี 2003 มาเป็นประเทศที่มีสภาพดีขึ้น แต่ยังคงอ่อนแออย่างเช่นทุกวันนี้ คือชีวิตทหารอเมริกันมากกว่า 4,000 นาย และทหารอเมริกันที่ต้องถูกส่งไปประจำการในอิรัก อีกมากกว่า 100,000 นาย มาเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ซึ่งทำให้ สหรัฐฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางตรงถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เห็นได้ชัดว่า นี่คือการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง และความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นใดก็ตาม ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงแบบนี้ ที่ทั้งต้องสูญเสียอย่างไม่คุ้มค่า และยังสร้างความขัดแย้ง โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศที่อ่อนแอเหล่านั้น จะดีกว่า แม้ว่านี่จะเป็นงานที่ทั้งช้า และยากกว่า และต้องเริ่มนับตั้งแต่ศูนย์ เพราะอาจหมายถึงต้องเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และการวางกรอบพื้นฐานทั้งทางเศรษฐกิจ กฎหมายและการเมือง ไปจนถึงการฝึกตำรวจและกองทัพ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีก็ตาม

สหรัฐฯ ควรจะเร่งจัดตั้งกองกำลัง "สร้างชาติ" ซึ่งไม่ใช่ ทหาร แต่เป็นพลเรือน ซึ่งหากเป็นทางการทหารก็เปรียบเหมือน กับเป็นทหารกองหนุน เพื่อจัดส่งไปช่วยประเทศที่อ่อนแอเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง และควรจะขอให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อกระจายภาระหนักทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารของสหรัฐฯ ออกไปยังประชาคมโลก นอกจากนี้ ภารกิจใดๆ ที่แสดงว่า ได้รับการหนุนหลังจากสหประชาชาติ หรือองค์การระดับภูมิภาคอื่นๆ ยังมีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับ มากกว่าที่จะถูกต่อต้านหรือถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงประเทศ ที่เป็นจุดอ่อน

องค์ประกอบสำคัญของนโยบายดังกล่าวได้แก่ การให้ความช่วยเหลือ และการค้า การให้ความช่วยเหลือควรต้องมีเงื่อนไขคือแลกกับการที่รัฐบาลประเทศจุดอ่อนจะต้องมีธรรมาภิบาล และมีการวางแผนที่ดี ไม่เช่นนั้น ความช่วยเหลือที่ให้ไป ก็อาจจะกลับกลายเป็นการไปช่วยส่งเสริมคอร์รัปชั่นและความไร้ประสิทธิภาพในประเทศเหล่านั้นแทน ในส่วนของการค้า ชาติตะวันตกควรเปิดตลาดของตนรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของชาติที่เป็นจุดอ่อน เช่น สหรัฐฯ ควรยอมรับสินค้าสิ่งทอที่ส่งออกมาจากปากีสถาน

เราควรเรียนรู้บทเรียนหลายอย่างจากประสบการณ์ในอิรัก แต่ต้องระวังไม่เรียนรู้บทเรียนที่ผิด คือการไม่ยอมให้ความช่วยเหลือชาติที่เป็นจุดอ่อน จริงอยู่การช่วยพยุงประเทศเหล่านี้ ให้ยืนอยู่ได้ อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่ก็ยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการยกทัพเข้าไปบุกยึดครอง หรือหันหลังให้กับชาติ เหล่านี้ เพราะสุภาษิตที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ยังคงใช้ได้เสมอ

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us