|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนกับอินเดียดึงดูดความสนใจของโลกไปจนหมด จนทำให้การเติบโตที่น่าจับตาอีกแห่งถูกมองข้าม นั่นคือแอฟริกา ในปี 2007 และ 2008 ประเทศที่อยู่ทางใต้ของทวีปแอฟริกา ในเขตทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่า Great Lakes region คือ เคนยา แทนซาเนีย และอูกานดา แม้กระทั่งเอธิโอเปียซึ่งมีแต่ความแห้งแล้งและมีฉายาว่า Horn of Africa ต่างก็มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่เทียบได้กับจีนและอินเดีย 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย ปีที่แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำถึงขีดสุด แต่แอฟริกากลับเติบโตถึงเกือบ 2% ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราการเติบโตของตะวันออกกลางเลยทีเดียว ทั้งยังล้ำหน้าประเทศอื่นๆ อีกมากยกเว้นเพียงจีนกับอินดียเท่านั้น
ในปีนี้และปีหน้า IMF คาดว่าแอฟริกาจะเติบโตสูงถึง 4.8% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดถ้าไม่นับเอเชีย สูงกว่าแม้กระทั่งประเทศที่มักถูกกล่าวขวัญถึงอย่างชื่นชมอย่างบราซิล รัสเซีย เม็กซิโก และยุโรปตะวันออก อันที่จริง หากมองในแง่รายได้เฉลี่ย ต่อหัวเป็นหลัก ชาวแอฟริกันยังร่ำรวยกว่าชาวอินเดียด้วยซ้ำไป และประเทศแอฟริกาหลายสิบประเทศ ก็มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ย ต่อหัวสูงกว่าจีน
สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้นคือ การเติบโตส่วนใหญ่ของแอฟริกา หาได้มาจากการส่งออกวัตถุดิบอย่างน้ำมันหรือเพชร หากแต่มาจากตลาดภายในแอฟริกาเองที่กำลังเติบโต และนับเป็น ตลาดใหญ่ที่สุดในโลกนอกเหนือจากอินเดียกับจีน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การบริโภคสินค้าและบริการของชาวแอฟริกันมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของ GDP ของแอฟริกา Vijay Majahan ผู้เชี่ยวชาญด้าน การพัฒนาและผู้เขียนหนังสือ Africa Rising ประเมินว่าชนชั้นกลาง ในแอฟริกามีจำนวนมากถึง 300 ล้านคน จากประชากรในแอฟริกา ทั้งหมด 1,000 ล้านคน
แม้ว่าบรรดานักบัญชี ครู แม่บ้าน โชเฟอร์แท็กซี่ และคนค้าขายข้างถนนในแอฟริกา อาจมีรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง (disposable income) ไม่สูงมากเท่าชนชั้นกลางในเอเชียและตะวันตก แต่พวกเขาก็ผลักดันให้ความต้องการสินค้าและบริการอย่างโทรศัพท์มือถือ บัญชีธนาคาร อาหารชั้นดี และบ้านที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ในชาติแอฟริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแอฟริกา 10 ชาติ ปรากฏว่าภาคบริการมีสัดส่วนถึง 40% ของ GDP ซึ่งไม่ได้ห่างจากอินเดียที่อยู่ที่ 53% เท่าใดนัก ธนาคาร Standard Bank Group ซึ่งดำเนินธุรกิจใน 17 ประเทศแอฟริกาชี้ว่า การบริโภคกำลังเป็นความจริงใหม่ในแอฟริกา
ปัจจัยภายนอกมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างชนชั้นผู้บริโภคใหม่ในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการค้าที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาจากจีน และนวัตกรรมเทคโนโลยีของต่างชาติที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและกระตุ้นการเติบโตของแอฟริกา อย่างเช่นสายเคเบิลใยแก้วนำแสงมูลค่าหลายพันล้าน ดอลลาร์ ที่เชื่อมระหว่างแอฟริกากับประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าแอฟริกาจะมีปัญหาหนักเรื่องคอร์รัปชั่นและธรรมาภิบาล แต่หลาย ชาติในแอฟริกากลับเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเงียบๆ เนื่องมาจากการมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ด้วยแรงกระตุ้นจากนักลงทุน ทำให้หลายชาติในแอฟริกาค่อยๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลก็คือ ประเทศเคนยาและบอตสวานา มีโรงพยาบาลเอกชนที่ทันสมัยระดับโลก มีโรงเรียนแนวคิดใหม่แบบ charter school และมีทางด่วนที่ปลอดภัยต่อการขับขี่ ผลการศึกษาของโครงการ Africa Infrastructure Country Diagnostic ของธนาคารโลกพบว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของแอฟริกา มีสัดส่วนมากถึง 1% ของการเติบโตของ GDP ต่อหัว ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินหรือการคลังทำได้ ส่วนจำนวนการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เพิ่งถูกแปรรูป อย่างสายการบิน บริษัทเดินเรือ และโทรคมนาคม ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
ผู้ประกอบการในแอฟริกายังเพิ่มมากขึ้นด้วย หลังจากสมอง ไหลกลับแอฟริกา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับจีนและอินเดียในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อชาวจีนและอินเดียโพ้นทะเลพากันเดินทางกลับ ประเทศบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งผลก็คือยิ่งช่วยดึงดูดคนเก่งๆ และเงินทุนจากภายนอกเข้าไปในประเทศมากขึ้น ผู้ประกอบการชาวแอฟริกันที่ย้ายกลับประเทศบ้านเกิดครั้งนี้ ก็คงจะสามารถเปลี่ยนแปลงแอฟริกาได้เช่นกัน แม้ว่าปัญหาสมองไหลจะยังคงเป็น ปัญหาเรื้อรังในบางชาติ อย่างบูรุนดีและมาลาวี ซึ่งจัดว่ายากจนที่สุด ในโลก แต่ประเทศแอฟริกาที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดอย่างกานา บ๊อตสวานาและแอฟริกาใต้ กำลังเกิดสมองไหลกลับอย่างที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วมีแรงงานฝีมือถึง 10,000 คนเดินทางกลับ ไนจีเรีย และชาวแองโกลาที่มีการศึกษาสูงต้องการกลับไปทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่าเป็น 1,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
Bart Nnaji เมินตำแหน่งศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Pittsburgh เพื่อย้ายกลับไนจีเรียในปี 2005 และเข้าบริหารบริษัท Geometric Power บริษัทไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกในแอฟริกา sub-Sahara โรงไฟฟ้ามูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ กำลังการผลิต 188 เมกะวัตต์ของ Nnaji จะเปิดให้บริการในปีนี้ ในฐานะผู้ให้บริการไฟฟ้าเพียงรายเดียวของเมือง Aba ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน Afam Onyema วัย 30 ปี ผู้มี ดีกรีจาก Harvard และ Stanford Law เมินรายได้ 6 หลักในบริษัทกฎหมาย เพื่อกลับไปก่อตั้งโรงพยาบาลเอกชนทันสมัยมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ในไนจีเรีย เป็นโรงพยาบาลซึ่งจะมีมูลนิธิการกุศล รับรักษาคนจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียด้วย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าด้วยฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เพิ่ง ขยายตัวดังกล่าว ทำให้แอฟริกากำลังจะกลายเป็นเหมือนกับอินเดีย เมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างผิดหูผิดตา อันเป็นผลจากการพัฒนาเมืองและผลักดันภาคบริการและโครงสร้างพื้นฐาน แอฟริกาก็กำลังจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่เช่นกัน ขณะนี้แอฟริกามีอัตราการพัฒนาเมืองสูงที่สุดในโลก ซึ่งช่วยให้แอฟริกาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการประหยัดจากขนาด ข้อมูลจาก U.N. Centre for Human Settlements ของสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้ ประชากร 1 ใน 3 ของแอฟริกาอาศัยอยู่ในเมือง และสร้างรายได้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของ GDP โดยรวมของแอฟริกา แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของแอฟริกาที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของประชากร
เมือง Lagos ของไนจีเรีย เป็นเมืองตัวอย่างที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดขึ้นของชนชั้นผู้บริโภคใหม่กับการพัฒนาเมืองได้ชัดเจนที่สุด Lagos กลายเป็นมหานครที่มีประชากรหนาแน่น ถึง 18 ล้านคน มีความเจริญทุกอย่างไม่ต่างจากฉงชิ่งของจีนหรือมุมไบของอินเดีย ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ Victoria Island ศูนย์กลางของ Lagos แพงลิ่วเหมือนในแมนฮัตตัน การก่อสร้างมีอยู่ทุกหนแห่ง คอนโดหรู อาคารสำนักงานทันสมัย ถนนตัดใหม่ มีแม้กระทั่งเมืองใหม่ที่โผล่ขึ้นจากทะเล ซึ่งจะรองรับคน 5 แสนคน ทุกอย่างยังขาดแคลนในไนจีเรีย แทบทุกธุรกิจจึงมีอัตราการเติบโตสูงลิ่ว
Aliko Dangote วัย 53 ปี คือมหาเศรษฐีที่เป็นผิวดำที่ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกา เขามีสินทรัพย์สุทธิ 2,500 ล้านดอลลาร์จากการจัดอันดับของ Forbes เริ่มสร้างอาณาจักรธุรกิจในปี 1978 ด้วยบริษัทนำเข้าอาหารทารก ซีเมนต์ และปลาแช่แข็ง และขณะนี้ หันมาเน้นผลิตสินค้าและบริการที่สนองความต้องการ ที่มาพร้อมกับการเติบโตของไนจีเรีย ด้วยการผลิตซีเมนต์สำหรับการก่อสร้างอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าทันสมัย สร้างคอนโดหรูให้เช่า ผลิตบะหมี่ แป้งและน้ำตาล และกำลังขยายธุรกิจไปยังการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G และบริการขนส่ง "ไม่มีที่ไหน ที่คุณจะทำเงินได้เหมือนไนจีเรีย นี่เป็นความลับที่โลกเก็บรักษาไว้อย่างดี" Dangote กล่าว
แต่ความลับไม่มีในโลก ผลการศึกษาล่าสุดของ Paul Collier นักเศรษฐศาสตร์ Oxford พบว่า บริษัทแอฟริกา 954 แห่งที่อยู่ในตลาดหุ้น สามารถสร้างรายได้ในช่วงปี 2000-2007 ได้สูงกว่าบริษัทในจีน อินเดีย เวียดนามและอินโดนีเซียถึง 65% เพราะค่าจ้างแรงงานในเอเชียแพงกว่ามาก ส่วนต่างกำไรโดยเฉลี่ยของบริษัท แอฟริกาอยู่ที่ 11% สูงกว่าในเอเชียและอเมริกาใต้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในแอฟริกามีส่วนต่างกำไรในอุตสาหกรรมนี้สูงที่สุด ในโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่าง Unilever, Nestle และ Swissport International ต่างรายงานการเติบโตของธุรกิจสูงที่สุด ในบางชาติของแอฟริกา
ข้อมูลจากองค์การ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ยังชี้ว่าแม้กระทั่งเงินทุน ที่ไหลเข้าแอฟริกาเมื่อปี 2008 ยังสวนกระแสเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โดยกระโดดขึ้นไปถึง 16% ไปอยู่ที่ 61,900 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดทำลาย สถิติ ทั้งๆ ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปีเดียวกันนั้น ตกต่ำ ถึง 20% ทั่วโลก แม้กระทั่งบริษัทจีนยังคิดจะย้ายฐานการผลิตขั้นพื้นฐานไปยังแอฟริกา ขณะนี้ ธนาคาร โลกกำลังช่วยจีนจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในเอธิโอเปีย ซึ่งจะเป็นแห่งแรก ในแอฟริกา อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเขตการค้าเสรีที่เคยกระจายไปทั่วจีนและช่วยเปิดเศรษฐกิจจีนได้สำเร็จในช่วงทศวรรษ 1980
อย่างไรก็ตาม แอฟริกายังคงอยู่เป็นเพียงชายขอบของการจะเป็นตลาดเกิดใหม่เท่านั้น ข้อมูลจาก IMF ชี้ว่า ความลำบากและต้นทุนการดำเนินธุรกิจในแอฟริกายังคงสูงที่สุดในโลก ปัญหา คอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาใหญ่ใน 36 ชาติแอฟริกาจากทั้งหมด 53 ชาติ แอฟริกามักถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเข้าไปทำธุรกิจ
แต่ Robert Zoellick ประธานธนาคารโลกชี้ว่า หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้นักลงทุนระยะยาวเริ่มตระหนักว่า แม้กระทั่งการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วก็มีความเสี่ยงมากได้เช่นกัน แอฟริกาจึงได้รับประโยชน์จากความจริงข้อนี้ไปเต็มๆ เหมือนกับที่จีนและอินเดียเคยได้รับ แอฟริกากลายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของระเบียบโลกใหม่ที่แสดงว่า แม้แต่ชาติที่ยากจนที่สุด ก็ยังสามารถค้นพบหนทางที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
 |
|
|