ใครจะไปคาดคิดบ้างว่า อิตัลไทยฯ จะมีวันนี้กับเขาเหมือนกัน วันที่หมอชัยยุทธ
กรรณสูต เจ้าของอาณาจักรนับพันล้านนี้ถูกฟ้องต่อศาลในข้อหาฉ้อโกง ภายหลังจากขยายอาณาจักรของตัวเองเข้าสู่ธุรกิจคอนโดมิเนียมได้เพียงไม่กี่ปี
ปี 2524 เป็นปีที่อิตัลไทยกรุ๊ปขยายอาณาจักรขนาด 5,000 ล้านของตัวเองออกไปสู่ธุรกิจ
REAL EATATE ด้วยการก่อตั้งบริษัทอิตัลไทย เรียลเอสเททขึ้น อดิสร จรณจิตต์
ลูกเขยนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตร เจ้าของกรุ๊ปอันยิ่งใหญ่ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
อิตัลไทย เรียลเอสเทท เปิดธุรกิจของตัวเองโดยกระโจนเข้าสู่ธุรกิจคอนโดมิเนียมที่กำลังบูมอย่างแรงในยุคนั้นด้วยรายหนึ่ง
พื้นที่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดปากคลองสานของบริษัท ไทยเดินเรือทะเล
จำกัด จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ถูกบริษัท อิตัลไทยเรียลเอสเทท กว้านซื้อเอาไว้เพื่อดำเนินโครงการนี้
ด้วยราคาประมาณ 25 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2525
ล่วงเข้าปลายปี 2526 อาคารริเวอร์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม โครงการคอนโดมิเนียมระดับหรูเลิศของอิตัลไทยเรียลเอสเทท
ก็ผงาดขึ้นเหนือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านฝั่งธนบุรีอย่างน่าเกรงขาม
"THE ONLY CONDOMINIUM ON THE RIVER"
"CONDOMINIUM ON THE MOTHER OF WATERS"
"แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำอันสง่างาม สมควรเรียกว่าแม่แห่งลำน้ำ"
"แม่น้ำสีเหลืองและขุ่นข้น ด้านในริมฝั่งที่เป็นทรายนั้นงอกแซมด้วยพุ่มไม้
เมื่อสายลมพัดโชยเสียงคล้ายดั่งเหล่าผู้คนคุยกัน"
นั่นคือถ้อยคำโฆษณาริเวอร์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม บนหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ถูกถอดความออกมาแล้ว
อิตัลไทย เรียลเอสเททวางกลยุทธ์การตลาดของตัวเองได้อย่างสวยหรู โดยเฉพาะการวางโฆษณาตัวเองลงบนแผ่นหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทั้งรายวันและรายอื่น
ๆ ด้วยคำโฆษณาที่งามงด ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรียกว่าเศรษฐกิจคึกคัก
จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อโครงการนี้เพียงเริ่มต้น ก็มีผู้สั่งจองห้องชุดเข้ามาถึง
80% ในจำนวนห้องชุดที่มีอยู่จำนวน 56 ห้องชุด
"ราคาห้องชุดยูนิตละ 3.5-5 ล้านบาทซึ่งนับว่าแพงที่สุดในระยะนั้น ราคาพอ
ๆ กับคอนโดมิเนียมในใจกลางเมืองบนถนนสุขุมวิททีเดียว" ดร. สุระ สนิทธานนท์
กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเคเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแบงก์กรุงศรีอยุธยา
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ริเวอร์เฮ้าส์นั้น เป็นโครงการอีกโครงการหนึ่งของเครืออิตัลไทยที่ดูเหมือนว่าจะเดินไปสู่ความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น
และดูเหมือนว่าจะราบรื่น สดใส น่าจะเป็นโครงการอีกโครงการหนึ่งที่เสริมสร้างชื่อเสียงให้กับชัยยุทธ
กรรณสูต ประธานเครืออิตัลไทยอีกวาระหนึ่ง
เพียงแต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็คงจะไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมดกระมัง!!
อิตัลไทย เรียลเอสเทท, ชัยยุทธ กรรณสูต, อดิสร จรณจิตต์ ดูเหมือนจะประสบกับความสำเร็จในโครงการที่ตัวเองวาดกันเอาไว้นั้นก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ
แต่โครงการถูกผู้ซื้อฟ้องต่อศาลในข้อหาฉ้อโกง และความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค!!!
เป็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยแล้ว
"ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น ผมไม่อยากว่าหมอชัยยุทธ เพราะท่านเป็นคนที่ผมนับถือมาก
ก่อนที่ผมจะฟ้อง ผมก็ได้โทร. ไปบอกท่านก่อน ผมเคยทำหนังสือร้องเรียนถึง น.พ.
ชัยยุทธ โดยลงบัญชีหางว่าวของผู้ซื้อส่งไป แต่ดูเหมือนประธานเรืออิตัลไทยผู้นี้จะไม่สนใจกับการร้องเรียนของเราเลย
ดังนั้นถึงแม้คุณหมอจะไม่ได้ดำเนินการงานนี้โดยตรง แต่ลูกเขยคือ อดิสร เป็นคนดำเนินการในนามบริษัทอิตัลไทย
เรียลเอสเททที่หมอชัยยุทธเป็นประธานอยู่ ดังนั้นท่านต้องรับผิดชอบ"
ดร. สุระ สนิทธานนท์ พูดกับ "ผู้จัดการ"
เรื่องราวเป็นมาอย่างไรกันแน่?
เดือนมิถุนายน 2526 บริษัทอิตัลไทยจดทะเบียนตั้งบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ ขึ้นโดยที่มีบริษัทอิตัลไทย
เรียลเอสเททถือหุ้นอยู่ถึง 99% มีกรรมการบริหารชุดเดียวกัน การจดทะเบียนตั้งบริษัทนี้กระทำกันหลังจากที่ผู้ซื้ออาคารชุดเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดกับบริษัทอิตัลไทย
เรียลเอสเททแล้ว
ปลายเดือนสิงหาคม 2526 บริษัทอิตัลไทย เรียลเอสเทททำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่ตัวเองซื้อมาจากบริษัท
ไทยเดินเรือทะเล จำกัด จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ริเวอร์เฮ้าส์
คอนโดมิเนียมก่อตั้งอยู่ขายให้กับบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นใหม่นี้
เป็นจำนวน 1 ไร่ 18.7 ตารางวา
พื้นที่ที่ถูกตัดแบ่งไปดังกล่าว เป็นพื้นดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด บวกกับพื้นดินทางด้านทิศเหนือ
ซึ่งเป็นพื้นที่ดินติดคลองบ้านสมเด็จ ไปจนจรดทางเข้าริเวอร์เฮ้าส์ (โปรดดูแผนที่ประกอบ)
เมื่อพื้นดินริมแม่น้ำถูกตัดแบ่งขายไปหมดแล้วเช่นนี้ คอนโดมิเนียมที่ว่าอยู่เหนือริมแม่น้ำ
(CONDOMINIUM ON THE MOTHER OF RIVER) ก็กลายเป็นคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำจริง
ๆ ตามคำโฆษณา เนื่องจากถูกกั้นด้วยพื้นดินของบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ จำกัด ซึ่งบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำก็รีบเปิดภัตตาคารบนพื้นดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนั้นทันที
ภัตตาคารนั้นเปิดให้ "ห้อยเทียนเหลา" เช่าดำเนินการ
ผู้ซื้อที่หวังว่า จะมีที่อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำก็ต้องผิดหวังอย่างสุดเซ็ง
และที่สำคัญที่สุดก็คือ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้ซื้อทั้งหมดจะได้รับเป็นจำนวน
5 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวานั้น เมื่อถึงเวลาโอนจริง ๆ ก็กลับเป็นว่ามีที่ดินเหลือเพียง
4 ไร่ 1 งาน 80.3 ตารางวาเท่านั้น
"ผมเห็นใจอาจารย์รัศมี กลีบบัวมากที่สุด แกอุตส่าห์ซื้อถึง 5 ล้านบาท
บนชั้นที่ 14 โดยอ้างว่าเป็นเพ็นท์เฮ้าส์ราคา 5 ล้านบาทต่อยูนิตต่อหนึ่งห้องนะครับ
แล้วอิตัลไทยกลับกระทำเช่นนี้ มันน่าโมโหไหมล่ะครับ" ดร. สุระ สนิทธานนท์
กล่วกับ "ผู้จัดการ" ถึงผู้ซื้อที่ชื่อรัศมี กลีบบัว ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลรัศมีอันโด่งดัง
การแบ่งแยกโฉนดกระทำเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2526 และทำการขายให้กับบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ
จำกัด เมื่อต้นเดือนเมษายน 2527 ไม่มีการบอกกล่าวให้กับเหล่าผู้ซื้อซึ่งสมควรเป็นเจ้าของร่วมกันในอาณาบริเวณดังกล่าวของคอนโดมิเนียมทราบเลย
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกปกปิดเป็นความลับ
แม้กระทั่งการจดทะเบียนอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์ ก็เพิ่งมาทำกันเอาเมื่อวันที่
8 พฤษภาคม 2527 และเป็นการจดทะเบียนภายหลังจากที่ขายห้องชุดให้ผู้สั่งจองไปจนเกือบหมดแล้ว!
ดังนั้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนอาคารชุดขึ้น บริษัทอิตัลไทย เรียลเอสเทท
จำกัด จึงยังคงมีสิทธิเหนือที่ดินตามกฎหมาย ย่อมที่จะกระทำการอันใดบนผืนดินเหล่านี้ได้
"ผมไม่ทราบมาก่อนว่าเขาจะมีโครงการ 2 โครงการ ผมซื้อเพราะเห็นโฆษณาว่าเป็นคอนโดมิเนียมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
(ย้ำคำว่า ON THE RIVER) และคิดว่าภัตตาคารนั้นเป็นของคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ซื้อห้องชุดย่อมเป็นเจ้าของร่วมกัน"
เดวิด ไลแมนอดีตประธานหอการค้าไทย-อเมริกันกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
บ้าง
"คนที่ซื้อเป็นคนที่อยู่ในระดับมีชื่อเสียงในวงสังคมทั้งนั้น อย่างคุณรังสิมา
หวั่งหลี อย่างงี้ แล้วคนที่ซื้อเขาจ่ายเงินตั้งแต่สามล้านห้าถึงห้าล้านบาท
คุณเชื่อไหมว่าเขาจะจ่ายเงินขนาดนี้เมื่อห้าปีก่อน สำหรับเนื้อที่ในตัวอาคารแคบ
ๆ โดยพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำถูกตัดออกไปหมดทั้งซ้ายทั้งขวา ราคาแม้แต่ที่สุขุมวิทไพร์มแอเรีย
มันก็ยังไม่แพงอย่างนี้ และพื้นที่นี่มันจะมีค่าก็ต่อเมื่อมันเป็นที่ที่ติดริมแม่น้ำ
แต่เมื่อถูกตัดออกไปหมดอย่างนี้มันก็เป็นเพียงพื้นที่ชั้นที่สามเท่านั้นเอง"
ดร. สุระ สนิทธานนท์ตอกย้ำ
รอบคอนโดมิเนียมถูกขวางด้วยกำแพงที่กั้นอยู่ เหลือเพียงทางออกเท่านั้น หากจะยืนดูสายน้ำไหลในแม่น้ำเจ้าพระยา
เจ้าของห้องชุดต้องขึ้นไปยืนดูบนห้องชุดของตัวเองเท่านั้น หรือหากจะยืนดูให้ติดริมแม่น้ำเพื่อให้ได้กลิ่นของโคลนและดินในแม่น้ำ
ก็ต้องไปยืนสูดดมกลิ่นตรงบริเวณที่เป็นภัตตาคารห้อยเทียนเหลาซึ่งไม่ใช่เป็นที่ดินของตนก็คงน่าเจ็บใจอยู่หรอก
กลุ่มผู้ซื้อนั้นต่างก็มองกันว่าพวกเขาถูกโกงในประเด็นใหญ่ 3 ประเด็นคือ
หนึ่ง พื้นที่โดยรอบคอนโดมิเนียมควรจะมี 5 ไร่เศษที่บอกกล่าวในโฆษณา ถูกเจ้าของโครงการแอบขายไปเหลือเพียง
4 ไร่กว่า ๆ เท่านั้น
สอง คอนโดมิเนียมไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาดั่งที่โฆษณากันเอาไว้ และพวกเขาเพิ่งมารับรู้หลังจากจ่ายเงินไปจำนวนหนึ่งในการสั่งจองห้องชุดแล้ว
สาม ในขณะซื้อพวกเขาคิดว่าภัตตาคารที่มีอยู่ปรากฏอยู่ในแผ่นโฆษณาจะเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม
คือเป็นของผู้ซื้อห้องชุดทั้งหมด
"ถ้าคุณอ่านโฆษณาแล้ว ในรายละเอียดของโฆษณาเหล่านั้น จะบอกว่ามีภัตตาคารอยู่ด้วยในพื้นที่
5 ไร่ ซึ่งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้อความในโฆษณาบอกว่า ภัตตาคารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารชุด
ผมเองยังไปคุยกับคนอื่นๆ เลยว่า เออดีนะ วันหลังเขาเอาภัตตาคารนี้ให้คนอื่นเช่าหรือต้อนรับแขกเหรื่อของเขาได้
หรือเขาเอารายได้จากอันนี้เป็นค่าใช้จ่ายของส่วนรวม และที่สำคัญที่สุดก็คือเขาไม่เคยบอกว่าที่เหล่านี้เขาจะตัดออกไป
เขาไม่เคยบอกว่าที่เหล่านี้จะแบ่งเป็นสองโครงการตั้งแต่แรก เขาไม่เคยบอกเลยว่าภัตตาคารจะเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของพวกเรา
โฆษณาที่เขาทำนั้นหลอกลวงประชาชนชัด ๆ" ดร. สนิทธานนท์ ระบายอย่างเหลืออด
เดือนพฤศจิกายน 2527 เป็นเดือนที่ผู้ซื้อห้องชุดของอาคารเหล่านี้ ต่างเริ่มทราบข้อเท็จจริงต่าง
ๆ เกี่ยวกับคอนโดมิเนียม
ในเดือนดังกล่าว ชัยยุทธ กรรณสูตร ได้รับจดหมายจาก ทรงพันธ์ สุวรรณสรางค์
ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายหนึ่ง ในหนังสือฉบับนี้มีข้อความปฏิเสธที่จะจ่ายเงินงวดสุดท้ายจำนวน
1,392,827 บาทแก่บริษัทอิตัลไทย เรียลเอสเทท โดยให้เหตุผลว่า
"ข้าพเจ้าได้ติดต่อสอบถามและได้รับการยืนยันจากคุณสุรีย์ ปูชิตาภรณ์
สมุหบัญชีของท่านว่า ตามใบโฆษณาขายอาคารชุด RIVER HOUSE ได้ระบุไว้ว่า ตัวอาคารจะสร้างขึ้นบนเนื้อที่
5 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมิได้อยู่ติดริมแม่น้ำตามที่ได้โฆษณาขายไว้
และในขณะนี้ยังมีข่าวว่าเนื้อที่ที่แท้จริงของ RIVER HOUSE CONDOMINUM เหลืออยู่เพียง
4 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ทั้งนี้เนื่องจากที่ดิน 1 ไร่ 18 ตารางวา ส่วนที่อยู่ติดริมแม่น้ำถูกโอนออกไปจากโฉนดเดิม
ข้าพเจ้าได้สอบถามทั้งคุณสุรีย์และคุณดุษฎี ศรีบุศยกาญจน์ (ผู้จัดการอาคาร)
แต่ยังมิได้รับคำชี้แจงยืนยันหรือปฏิเสธข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด อนึ่งการที่ข้าพเจ้าตัดสินใจซื้ออาคารชุดของ
RIVER HOUSE ถึง 2 ชุดจากท่าน เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า เจ้าของโครงการและผู้สร้าง
เป็นเจ้าของเดียวกับบริษัทอิตัลไทยฯ โดยมี น.พ. ชัยยุทธ กรรณสูตเป็นประธานกรมการ
ซึ่งท่านมีกิจการการค้าใหญ่หลายแห่ง และบริษัทของท่านก็เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในวงการธุรกิจและสังคม"
จดหมายฉบับดังกล่าวของทรงพันธ์ของทรงพันธ์ สุวรรณสรางค์ ได้รับการตอบกลับมาจากอิตัลไทยฯ
ซึ่งเป็นจดหมายลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 เนื้อความที่สำคัญกล่าวว่า
"ตามจดหมายที่ขอให้บริษัทฯ ชี้แจงเองของที่ดินของ ริเวอร์เฮ้าส์คอนโดมิเนียมนั้น
บริษัทขอเรียนชี้แจงให้ท่านทราบว่าตั้งแต่เริ่มแรก บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจัดทำโครงการ
2 โครงการ คือ โครงการอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์และโครงการภัตตาคาร โดยแบ่งแยกการบริหารงานกันเป็นของแต่ละบริษัท
เกี่ยวกับเองนี้นั้นบริษัทได้เคยเรียนให้ท่านทราบแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ท่านแจ้งความประสงค์จะขอซื้อห้องชุดจากบริษัทฯ
ซึ่งท่านก็ได้รับทราบแล้วในขณะนั้น
ส่วนในกรณีเรื่องที่ดินที่ได้กล่าวในช่วงแรกเริ่มโครงการว่า มีเนื้อที่โดยประมาณ
5 ไร่นั้น ปรากฏว่าเมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างจริง ๆ ได้สำรวจพบว่า ที่ดินถูกน้ำเซาะขาดหายไปเหลือเพียงประมาณ
4 ไร่กว่าเท่านั้น ส่วนภัตตาคารที่สร้างขึ้นมานั้น ได้ก่อสร้างขึ้นโดยการถมที่ดินที่ขาดหายไป
ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับที่ดินของอาคารชุดเลย…"
อย่างไรก็ตามเหล่าผู้ซื้อก็ไม่เชื่อว่าคำแก้ต่างตามจดหมายข้างต้นจะเป็นอย่างนั้น
เนื่องจากก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ในระยะเวลาแค่ 2-3 ปี น้ำจะเซาะตลิ่งพังไปถึง
1 ไร่กับอีก 18 ตารางวา และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้รับทราบเลยว่าที่ตรงนี้ จะแบ่งออกเป็นสองโครงการ
และอีกประการหนึ่งพวกเขาไม่เชื่อว่าพื้นที่ที่เป็นภัตตาคารนั้นเกิดจากการถมที่ขึ้นใหม่
เมื่อถึงจุดนี้ เหล่าผู้ซื้อหลายคนซึ่งล้วนแต่เป็นนักธุรกิจใหญ่ของเมืองไทย
ก็เริ่มเดินเครื่องสู้กับอิตัลไทยฯ อย่างสุดเหวี่ยง
เดือนเมษายน 2528 ชัยยุทธ กรรณสูตได้รับจดหมายร้องเรียน มีผู้ลงนามเป็นรายชื่อบัญชีหางว่าวถึงสิบกว่าชื่อล้วนแล้วแต่เป็นผู้ซื้อห้องชุดในริเวอร์เอ้าส์คอนดมิเนียมของอิตัลไทยฯ
ทั้งหมดจดหมายร้องเรียนดังกล่าวมีเนื้อความว่า
"…พวกข้าพเจ้าพากันเข้าใจว่า การทั้งหลายจะเป็นไปตามที่บริษัทได้โฆษณาไว้เดิม
คือ คอนโดมิเนียมนี้จะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่มาบัดนี้ความปรากฏว่า คอนโดมิเนียมนี้หาได้อยู่ริมแม่น้ำดังที่โฆษณาไว้ไม่
มิหนำซ้ำทางออกด้านคลองบ้านสมเด็จ ก็มีอาณาเขตที่ดินกว้างเพียงไม่เกิน 34
เซนติเมตร เท่านั้นเอง…บรรดาพวกข้าพเจ้าผู้ซื้อมีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง
ได้เคยขอคำอธิบายจากฝ่ายจัดการก็ได้รับคำตอบที่ไม่มีเหตุผลอันเป็นที่พอใจ
พวกข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องซึ่งจะต้องทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน
และเห็นว่าคุณหมอเป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับนับถือของวงการทั่วไปแต่เพียงผู้เดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้
พวกข้าพเจ้าจึงใคร่ขอพบเพื่อชี้แจงและปรึกษาหารือในเรื่องนี้…"
ปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใดทั้งสิ้นจากอิตัลไทยฯ
และชัยยุทธ กรรณสูต ประธานเครืออิตัลไทย ซึ่งไม่ได้ลงมาดำเนินงานนี้โดยตรง
หากแต่ปล่อยให้ลูกเขยหรือ อดิสร จรณะจิตต์ ดำเนินงานนี้ ก็ยังแสดงท่าทีเฉยเมยตามปกติ
การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งมองว่า ตังเองเจอลูกเล่นพ่อค้าเข้าแล้ว
เริ่มรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
การประชุมระหว่างเจ้าของโครงการและผู้ซื้อ มีขึ้นหลายครั้ง แต่ก็จบลงด้วยการมองหน้ากันไม่ติดทุกครั้ง
มีการชี้หน้าถกเถียงกันอย่างรุนแรงและสาดเสียเทเสียก็หลายครั้ง
ในเดือนพฤษภาคม 2528 หรือหนึ่งเดือนต่อมา เมื่อปรากฏผลแน่ชัดว่า ชัยยุทธ
กรรณสูตไม่ยอมช่วยเหลือผู้ซื้อแน่ ๆ แล้ว สุระ สนิทธานนท์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท
อิต์เวสท์ดาต้า จำกัด ก็ตัดสินใจดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีก่อนเป็นรายแรก
ก็ฟ้องบริษัท อิตัลไทยเรียลเอสเทท จำกัดเป็นจำเลยที่ 1 ชัยุทธ กรรณสูต เป็นจำเลยที่
2 อดิสร จรณะจิต์ เป็นจำเลยที่ 3 และบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ จำกัดเป็นจำเลยที่
4 ในข้อหาผิดสัญญาขายตามคำพรรณา, ละเมิด, และขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
ในการฟ้องร้องได้บรรยายว่า เมื่อประมาณปี 2524 จนถึงต้นปี 2525 บริษัทอิตัลไทยเรียลเอสเททได้ลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ขายอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์ โดยบรรยายชักชวนว่าเจ้าของโครงการภูมิใจ ที่จะนำมาซึ่งการกลับไปดำเนินชีวิตแบ
"กลับสู่แม่น้ำ" อีกครั้งหนึ่ง ที่อยู่อาศัยที่จะซื้อจะมองเห็นทิวทัศน์แม่น้ำ
เป็นอาคารชุดแห่งเดียวที่รับประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า จะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดใดขึ้นมาขวางทิวทัศน์ของท่าน
เป็นการกลับไปสู่การดำเนินชีวิตของคนเมืองหลวงแบบเก่าอย่างแท้จริง ริเวอร์เฮ้าส์บนเนื้อที่
5 ไร่ โดยมีแม่น้ำอยู่ตรงบันไดประตูบ้านของท่าน โดยเจ้าของโครงการได้มีภาพประกอบคำบรรยาย
เป็นภาพอาคารชุดที่แสดงให้เห็นระเบียงที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา สนามหญ้าริมแม่น้ำ
และบันไดที่สามารถเดินลงสู่ท่าเรือริมแม่น้ำ
ดร. สุระ สนิทธานนท์ ได้สรุปคำฟ้องในตอนท้ายว่า อาคารชุดที่ได้สร้างผิดไปจากสัญญาคือ
-ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณชนทั้งทางบกและทางน้ำ แต่เพียงได้จดภาระจำยอมไว้กับบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ
จำกัด
-ไม่มีภัตตาคารอาหารทะเล อันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของผู้ซื้อห้องชุด
-ไม่มีบันไดขึ้นลงจากตัวอาคารชุดไปสู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
-ไม่มีที่จอดเก็บเรืออันเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง
-ไม่มีลานอเนกประสงค์ริมน้ำ อันเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง
และเรียกร้องต่อศาลให้เจ้าของโครงการคือจำเลยทั้งสี่ เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ถูกแบ่งไป
ทำการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามสัญญาและคำพรรณาในโฆษณา พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน
5,958,362.31 บาท หรือไม่ก็ต้องรีบโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับตน
คำฟ้องของ ดร. สุระ สนิทธานนท์ยังไม่มีคำตัดสินใดใดออกมา ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสืบพยานอยู่
"ก่อนที่ผมจะมาให้สัมภาษณ์กับคุณ ผมได้โทรศัพท์ไปหาคุณหมอชัยยุทธก่อนแล้ว
ผมบอกว่าคุณหมอครับ ผมได้รับทาบทามให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับริเวอร์เฮ้าส์ ทีแรกก็คิดว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ววันอังคารที่แล้ว นายอดิสร คือลูกเขยคือกรรมการผู้จัดการนี้
ได้ไปให้การในศาลและให้การในลักษณะที่บิดเบือนความจริงใส่ร้ายผม หาว่าผมปลอมแปลงเอกสาร
ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจที่จะให้สัมภาษณ์ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ก็อาจจะมีการพาดพิงถึงคุณหมอชัยยุทธ
เนื่องจากคุณหมอเป็นผู้ใหญ่ ผมจึงโทรศัพท์มาบอกเรียนขออภัยไว้ก่อน แล้วคุณหมอชัยุทธท่านก็ดีนะ
ท่านบอก เอาเลย ขอให้พูดกันตามความจริงเท่านั้น ผมก็บอกว่า แน่นอน คำพูดของผมต้องจริง
ผมถือว่า ผมเป็นอาจารย์สอนคนมาก่อน ผมถือว่าผมเป็นคนที่มีเกียรติคนหนึ่งถึงแม้จะไม่รวย
เพราะฉะนั้นผมจะพูดแต่ความจริง ถ้าไม่จริง ผมก็ถูกฟ้องได้ ผมไม่กลัว"
ดร. สุระ สนิทธานนท์ อดีตอาจารย์นิด้า เล่า
อันที่จริงก่อนหน้าที่ ดร. สุระ สนิทธานนท์ จะดำเนินคดีฟ้องร้องนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
จำกัด อันเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือของธนาคารกสิกรไทยโดยสุวรรณภา
สุวรรณประทีป กรรมการที่ปรึกษาทิสโก้ ก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มหนึ่งในการต่อสู้ปกป้องสิทธิ์
การต่อสู้ของทิสโก้นั้นก็มาในมาดที่แปลกมาก ๆ
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ได้ซื้อห้องชุดริเวอร์เฮ้าส์คอนโดมิเนียมนี้ไว้เช่นกันโดยเป็นการซื้อในนามบริษัท
ทุนธำรง จำกัด มิหนำซ้ำก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ของทิสโกยังชักชวนให้บุคคลหลายคนซื้อห้องชุดเหล่านี้ไว้และปล่อยเงินกู้ให้จำนวนหนึ่งด้วยความหวังที่ว่าทุก
ๆ สิ่งจะเป็นไปตามที่อิตัลไทยฯ ได้โฆษณาเอาไว้
แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกลับตาลปัตร ดูเหมือนว่าจะถูก "เบิกเนตร"
เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ของทิสโก้ก็เลยต้องออกมารับหน้าแทนลูกค้าของตน ช่วยวิ่งเต้น
เรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่าง
ครั้นไม่ได้มาดังที่หวัง ทิสโก้ก็ยังชวนลูกค้าของตนและผู้ซื้อรายอื่น ๆ
ร่วมกันฟ้องโดยแนะนำกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัทคือ สำราญ กัลยาณรุจ
ให้เป็นทนายให้ ซึ่งลูกค้าหลายคนก็ให้ความเชื่อถือและสำราญ กัลยาณรุจ นั้นก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในธนาคารกสิกรไทย
โดยนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของธนาคารกสิกรไทยอยู่ด้วย
ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2528 ผู้ซื้อจำนวน 6 คนคือ สมถวิล อมาตยกุล,
ทรงพันธ์ สุวรณสรางค์, บริษัท ทุนธำรง จำกัด, น.พ. อุดม เอื้อจงมณี, อนงค์นารถ
อุลปาธรณ์ และมนูญ นาวานุเคราะห์ ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยมอบให้สำราญ
กัลยาณรุจ เป็นทนายความให้
การฟ้องร้องได้กระทำกันในสองเดือนดังกล่าว ดู ๆ แล้วแรงกดดันครั้งนี้ ชัยยุทธ
กรรณสูต คงต้องลงแรงต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อย
แต่การฟ้องร้องยังไม่ทันข้ามเดือนที่สี่ สำราญ กัลยาณรุจ นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงของธนาคารกสิกรไทยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
จำกัด ก็ถอนฟ้อง
"ผู้จัดการ" ได้รับคำยืนยันในเวลาต่อมาจากผู้ซื้อคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่มอบให้สำราญ
กัลยาณรุจ เป็นทนายความให้ว่าเขาไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ ในการถอนฟ้องของสำราญ
กัลยาณรุจเลย แต่เนื่องจากได้มอบให้สำราญ กัลยาณรุจ เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำแทนเป็นทนายไปแล้ว
ถึงตอนนี้จะกลับมาฟ้องอีกก็ไม่ได้แล้ว
เป็นเรื่องน่างุนงงและชวนคิดไปได้หลายแง่จริง ๆ สำหรับการตัดสินใจถอนฟ้อง
"ผมเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของทิสโก้ ก็คงชักชวนด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะว่าคุณสำราญ
ก็เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงและที่สำคัญก็เป็นกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทอยู่ด้วย
แต่ว่าผมเองไม่ยอมใช้ทนายผู้นี้ เนื่องจากว่าผมเห็นวิธีการพูดจาในที่ประชุมของเขา
มันพิกล ๆ ผมเองก็ถูกชักชวนว่าเอาน่า ฟ้องร่วมกัน แต่ผมเห็นว่า จากที่ทางบริษัทอิตัลไทยฯ
ได้เรียกประชุมทั้งสองครั้งนั้น การพูดจาการแสดงออกทั้งสองครั้ง ผมเห็นว่ามันแปลก
ๆ ทั้ง ๆ ที่ทิสโก้เชิญเขาไปในฐานะตัวแทนของผู้ซื้อ แต่การพูดจาหรือการอะไรกันนั้น
พฤติกรรมต่าง ๆ มันคล้ายกับสู้ไปเราก็แพ้" ดร. สุระ สนิทธานนท์ กล่าวเพิ่มเติมกับ
"ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นหาข้อมูล "ผู้จัดการ" ได้รับเอกสารชิ้นหนึ่ง
ซึ่งเป็นเอกสารจดหมายที่เป็นการโต้ตอบกันระหว่างสำราญ กัลยาณรุจกับ น.พ.
ชัยยุทธ กรรณสูต
จดหมายของสำราญ กัลยาณรุจ เลขที่ 872/2528 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2528 มีข้อความโดยย่อ
ๆ ว่า
"ผมขอถือโอกาสนี้เรียนตรงมายังคุณหมอ เพื่อยืนยันความตกลงที่ได้เจรจาผ่านศาสตราจารย์ประพนธ์
ศาตะมาน ในเรื่องที่เกี่ยวกับคดีอาญา ที่ผมเป็นทนายโจทก์… ฝ่ายโจทก์ ทุก
ๆ คดีที่ผมเป็นทนายอยู่ดังกล่าว จะถอนฟ้องคดีเสียเมื่อ
1. คุณหมอจัดให้บริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ จำกัด โอนโฉนดเลขที่ 20306…เนื้อที่
1 ไร่ 18.7 ตารางวา คืนเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอิตัลไทยเรียลเอสเทท จำกัด
โดยจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์
2. คุณหมอจัดให้บริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ จำกัด เช่าและจัดให้บริษัทอิตาเรียลไทยเรียลเอสเททให้เช่าที่ดินที่เป็นภัตตาคารดังกล่าวมีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน
15 ปี นับจากวันที่มีการโอนกรมสิทธิ์ในอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์ (สำหรับค่าเช่านั้น
จะกำหนดอย่างไรก็สุดแล้วแต่คุณหมอจะดำเนินการ) เมื่อครบกำหนดการเช่า ฝ่ายโจทก์ทุก
ๆ คนจะลงคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในที่ประชุมของเจ้าของห้องชุดอาคารริเวอร์เฮ้าส์
(ถ้าหากจะมีขึ้น) เพื่อให้ความยินยอมเกี่ยวกับการโอนที่ดินกลับคืนมา และการให้เช่าที่ดินดังกล่าว
และจะไม่คัดค้านในการที่จะให้ผู้เช่าได้ร่วมใช้ที่ดินที่เป็นส่วนที่นอกเหนือไปจากที่ดินที่เป็นที่ตั้งของภัตตาารนั้นด้วย
ฝ่ายโจทก์ทุก ๆ คน (รวมทั้งผมในฐานะส่วนตัวที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้จากผู้ซื้อหรือเจ้าของห้องชุดอีกหลายราย
แต่ยังมิได้ยื่นฟ้อง) จะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด ชี้ชวนหรือชักจูงให้ผู้ที่ซื้อห้องชุดอยู่แล้วในขณะนี้เห็นชอบ
และยอมตามด้วยความที่กล่าวมานี้
3. คุณหมอจัดให้มีการโอนทะเบียนกรมสิทธิ์ที่ดินตามความที่กล่าวในข้อ 1 ข้างต้นเสร็จก่อนวันที่
12 กันยายน 2528 (เพราะศาลเร่งรัดให้เสร็จก่อนกำหนดวันนัดคราวต่อไปที่นัดไว้วันที่
12 กันยายน 2528) กับจัดให้มีการทำสัญญาเช่าเสร็จในกำหนดเดียวกันด้วย…"
และจดหมายของ น.พ. ชัยยุทธ กรรณสูตได้ตอบกลับว่า
"ตามหนังสือที่ 872/2528 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2528 ของท่านนั้น ผมขอเรียนว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในข้อ
1 และ 2 เว้นแต่ขอที่ว่า ให้กรรมสิทธิ์ในอาคารตกเป็นของบริษัทอิตัลไทยเรียลเอสเทท
จำกัด และเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์ เมื่อครบกำหนดการเช่านั้น
ผมขอเปลี่ยนข้อความตอนนี้เป็นว่า เมื่อครบกำหนดการเช่า 15 ปีแล้ว นิติบุคคลอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์กับบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ
จำกัด จะได้ตกลงกันเกี่ยวกับค่าเช่าหรือข้ออื่น ๆ ต่อไป อีกประการหนึ่ง ปรากฏว่า
โฉนดเลขที่ 20306… ถูกบริษัทอิสต์เวสท์ดาต้า จำกัด อายัดต่อสำนักงานที่ดิน
(เนื่องจากมีการฟ้องร้องกันอยู่ระหว่างบริษัทอิสต์เวสท์ดาต้ากับอิตัลไทยฯ…
"ผู้จัดการ") ฉะนั้นการโอนโฉนด…การทำสัญญาเช่า…และการจดทะเบียนจึงยังคงทำไม่ได้
เมื่อมีการถอนอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 20306 เมื่อใด ผมจะจัดการโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดริเวอร์เฮ้าส์ตลอดจนทำสัญญาเช่า
และจดทะเบียนการเช่าต่อไปทันที
…จึงขอให้ท่านในฐานะทนายโจทก์ในคดีทั้ง 6 สำนวนดังกล่าวข้างต้น กรุณาถอนฟ้องคดีทั้ง
6 สำนวนต่อศาลอาญาด้วย และสำหรับบุคคลอื่นอีก 4 คน ที่ได้มอบให้ท่านดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน
ขอท่านกรุณาทำบันทึกว่าบุคลทั้ง 4 ดังกล่าวนั้น สละสิทธิ์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยอีกต่อไป…"
วันที่ 12 กันยายน 2528 สำราญ กัลยาณรุจ ก็ถอนฟ้องในคดีเหล่านั้นที่ตัวเองเป็นทนายอยู่ทั้งหมด
"เรื่องนี้มองได้หลายแง่ คือถ้าหมอชัยยุทธ ยินดีที่จะทำตามข้อเสนอของเหล่าผู้ซื้อ
ตามที่สำราญ กัลยาณรุจ เสนอนั้น ทำไมจึงต้องมายินยอมเอาตอนนี้ ทำไมไม่ยินยอมก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องกัน
เนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่คนอื่น ๆ จะฟ้อง ก็มีการประชุมกันหลายครั้งแล้ว
ประเด็นที่สำคัญ คือ หมอชัยยุทธเพียงต้องการให้คนอื่นถอนฟ้องให้หมดหรือเปล่า
เพราะเมื่อถอนฟ้องหมดก็ไม่อาจกระทำการฟ้องใหม่อีกได้ ถ้าหากเกิดการเบี้ยวกันขึ้นมาอีก
ทุกคนก็ต้องเงียบแล้ว และที่น่าสนใจคือ ผู้ซื้อต่างบอกกันว่า พวกเขาไม่ได้ยินยอมถอนฟ้องเรื่องนี้น่าจับตามอง"
นักสังเกตการณ์ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาตลอด กล่าวแล้วดูเป็นนัย ๆ กับ "ผู้จัดการ"
นับแต่การถอนฟ้องครั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรคืบหน้า มีเพียงการฟ้องร้องของกลุ่มผู้ซื้ออื่น
ๆ ที่ติดตามมา และการจดภาระจำยอม ให้ผู้ซื้ออาคารชุดใช้พื้นที่ของบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำเป็นเวลา
15 ปี
"เขาทำภาระยินยอม ก็เนื่องจากเห็นว่ามีการประท้วงขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม
คนที่ทำภาระยินยอมก็คือบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ ซึ่งผู้ถือหุ้น 90% คือกลุ่มหมอชัยยุทธและนายอดิสร
เขาจะถอนภาระยินยอมเมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ คนจ่ายเงินในราคาขนาดนั้น
ไม่ได้ซื้อภาระยินยอมใช่ไหม? เขาซื้อกรรมสิทธิ์ แล้วคำว่าภาระยินยอมนั้นเขาเรียกว่าจะมีแต่ชื่อ
เพราะการใช้อะไรมันไม่สะดวก การก่อสร้างมันผิดแบบไปหมด ถ้าผมจ่ายแค่ 3 แสน
โอ.เค. ผมหลับหูหลับตาซื้อ แต่นี่ผมต้องจ่ายถึง 3 ล้านห้า ทุกครั้งที่ผมเข้าผมออก
ผมต้องผ่านที่ของคนอื่นคือที่ของบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ ซึ่งเป็นที่ที่เขาตัดออกไปให้กับบริษัทนั้น
โอ.เค. ไอ้จุดที่เข้าออกมันไม่มีอะไรขวางกั้น ใช่ ขณะนี้ไม่มีอะไรมาขวางกั้น
และถ้าไม่มีคนโวยขึ้นมาเขาก็ไม่เคยคิดที่จะจดภาระจำยอม คุณไปเช็คเวลาดูได้
วันที่เขาจดภาระจำยอมนั้น มันเป็นวันที่หลังจากที่มีคนเขาโวย มีการประท้วงกันแล้ว
และคุณจ่ายเงินขนาดนั้น คุณซื้อภาระจำยอมหรือกรรมสิทธิ์ ทุกวันนี้ถ้าผมจะเดินเข้าออกบนพื้นที่ของผมเอง
ผมต้องตะแคงตัวเดิน ผมถึงจะเดินออกได้บนพื้นที่ของผมเอง ไม่งั้นผมก็ต้องเดินผ่านที่ของคนอื่น
แล้วเขาก็บอกว่า โอ๊ย คุณเข้าออกได้ สมมติว่าไม่มีใครโวยขึ้นมานะ อยู่วันดี
คืนดี เขาบอกรถคันหนึ่งเข้าออกครั้งหนึ่งต้องเก็บสิบบาท อย่างนี้เขาทำได้
เพราะฉะนั้นเราซื้อกรรมสิทธิ์ครับ เราซื้อกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ภาระจำยอมอะไร"
ดร. สุระ สนิทธานนท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พูดถึงภาระจำยอมให้ผู้ซื้ออาคารชุดใช้พื้นที่ของบริษัทหยาดฟ้าริมน้ำเป็นทางเข้าออกคอนโดมิเนียม
และทางเดินลงสู่ท่าเรือริมน้ำ แล้วทำไมยังไม่ยุติ
ในช่วงที่ ดร. สุระ สนิทธานนท์ และกลุ่มผู้ซื้ออื่น ๆ กำลังมีปัญหาอย่างหน้าดำคร่ำเรียด
อีกผู้หนึ่งที่ต้องกล่าวถึง ก็คือ เดวิด ไลแมน อดีตประธานหอการค้าไทย-อเมริกัน
เดวิด ไลแมน เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันเดินทางเข้ามาทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย
เป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท เอ็ม. เอส. เจ. (โอเรียนท์)
จำกัด และเป็นเจ้าของบริษัท ตีลีกี แอนด์ กิบบิ้น จำกัด
กว่ายี่สิบปีที่เดวิด ไลแมนผู้นี้เปิดธุรกิจทนายความของตัวเองในประเทศไทย
เขาได้มีโอกาสรู้จักกับจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี นักธุรกิจใหญ่ชาวอิตาเลี่ยนผู้สร้างอิตัลไทยร่วมกันมากับ
น.พ. ชัยยุทธ กรรณสูต ขยายอาณาจักรอิตัลไทยจนใหญ่โตในทุกวันนี้
"จีออร์จีโอ แบร์ลิ่งเจียรี่ เป็นเพื่อนที่ผมเชื่อมั่นมากคนหนึ่ง ตอนที่โครงการริเวอร์เฮ้าส์ของอิตัลไทยเริ่มจะมีขึ้น
แบร์ลิ่งเจียรี่เขาเพิ่งตายไปไม่นาน ถ้าเป็นของบริษัทอื่นผมไม่ซื้อแน่ เนื่องจากกฎหมายอาคารชุดของประเทศไทยยังเป็นของใหม่
ตอนที่ผมทำสัญญาจะซื้อจะขายกับอิตัลไทยฯ ในสัญญาก็เขียนเอาไว้อย่างหละหลวม
แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะถูกโกงในตอนนั้น ผมยังเชื่อบริษัทอิตัลไทยฯ ถึงแม้ว่าหมอชัยยุทธ
เขาจะไม่ค่อยชอบคุยกับผมอยู่เดิมก็ตาม ที่สำคัญที่สุดก็คือโฆษณา ผมเห็นโฆษณาเขาเขียนและบอกว่าเป็นคอนโดมิเนียมริมน้ำ…"
เดวิด ไลแมน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เดวิด ไลแมน ได้ซื้อห้องชุดของริเวอร์เฮ้าส์อนโดมิเนียมเอาไว้ในนามของบริษัท
เอ็ม. เอส. เจ. (โอเรียนท์) จำกัด เนื่องจากกฎหมายอาคารชุดในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเป็นเจ้าของห้องชุดของอาคารชุดได้
เดือนตุลาคม 2528 บริษัท เอ็ม. เอส. เจ. (โอเรียนท์) จำกัด ของเดวิด ไลแมน
ได้ยื่นฟ้อง บริษัทอิตาเรียลไทยเรียลเอสเทท จำกัด จำเลยที่ 1 ชัยุทธ กรรณสูต
จำเลยที่ 2 อดิสร จรณะจิตต์ จำเลยที่ 3 บริษัทหยาดฟ้าริมน้ำ จำกัด จำเลยที่
4 ต่อศาลอาญาธนบุรีในข้อหา "ฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค
พ.ศ. 2522
คดีของเดวิด ไลแมน ศาลอาญาธนบุรี ได้พิพากษายกฟ้อง โดยพิพากษาว่า ที่โจทก์อ้างว่าการก่อสร้างอาคารชุดมิได้อยู่ในเนื้อที่
5 ไร่นั้น ตามสัญญาจองไม่ได้ระบุไว้ว่ามีเนื้อที่เท่าไหร่ และที่ว่าไม่มีส่วนใดติดริมแม่น้ำนั้น
ตามสภาพอาคารชุด ห้องในแต่ละชั้นย่อมติดแม่น้ำไม่ได้อยู่ในตัวเอง กับที่ว่าไม่มีทางออกสู่ถนนนอกจากทางแคบ
50 เซ็นติเมตรนั้น ตามภาพถ่ายกมีความกว้างของสะพานที่เข้าออกซึ่งจำเลยได้จดภาระจำยอมกันไว้แล้ว
และที่โจทก์อ้างว่า ซื้อขายสิทธิโดยไม่ต้องการใช้สอยในลักษณะภาระจำยอมนั้น
ก็ชอบที่จะฟ้องร้องกันในทางแพ่ง ศาลจึงเห็นว่าไม่มีมูลความผิดทางอาญา
คำพิพากษาของศาลอาญา ได้พิพากษาออกมาเมื่อต้นปี 2529 และริษัท เอ็ม. เอส.
เจ. (โอเรียนท์) ของเดวิด ไลแมน ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาธนบุรี เมื่อวันที่
13 มีนาคม 2529
ขณะนี้ยังไม่มีคำตัดสินจากการยื่นอุทธรณ์
เรื่องวุ่น ๆ ของคอนโดมิเนียมแห่งนี้จะลงเอยอย่างไรนั้น ทุกฝ่ายก็คงจะต้องรอให้ศาลช่วยตัดสินชี้ขาดต่อไป