Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529
เลือกตั้งนั้นเงินสะพัดแน่ แต่ใครจะได้มากน้อยแค่ไหน             
 


   
search resources

Economics




จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายวงการคาดกันว่าจะมีเงินสะพัดเข้ามาอัดฉีดวงการธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท วงการธุรกิจทั้งหลายที่เหี่ยวแห้งมาหลายปีกลับคึกคักเพื่อรอรับเงินก้อนนี้ ทุกคนดูจะมีความหวังใหม่เกิดขึ้นมาบ้าง หลังจากที่หวังลมๆ แล้งๆ กับรัฐบาลมานานเต็มที แต่บางทีความหวังกับความจริงนั้นก็ไม่แน่ว่าจะต้องสมพงษ์กันเสมอไป

หลังจากที่ป๋าเปรมประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 นี้ บรรดานักการเมืองทั้งหลายก็เริ่มเคลื่อนไหวสอดส่ายหาพลพรรคเป็นการใหญ่ ใครจะไปอยู่กับพรรคไหนหรือจะลุ้นใครให้เป็นนายกฯ ก็คงต้องคอยดูกันในเร็ววันนี้

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีส่วนทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่กำลังซบเซาอยู่กลับคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น เพราะอย่างน้อยก็มีเงินที่ใช้จ่ายในการหาเสียงก้อนหนึ่งที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ทั้งนักการตลาด นักวิชาการและนักสังเกตการณ์ทั้งหลาย ลงความเห็นตรงกันว่าจะเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้ากว่าครั้งใดๆ เพราะคาดกันว่าจะมีเงินก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา ซึ่งไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทเข้ามาแพร่สะพัดอัดฉีดในระบบธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์…เสื้อยืด…รถสองแถว…อาหารการกินเครื่องดื่ม…และอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงของพรรคและผู้สมัคร ส.ส.

เพียงแค่งบของทางราชการที่ทุ่มไปสำหรับการเลือกตั้งก็ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ส่วนเงินก้อนใหญ่จริงๆ คงมาจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สมัครเข้ามามากถึง 3,814 คน และถ้าทุกคนเล่นไปตามเกมแล้วแต่ละคนจะต้องใช้เงินในการหาเสียง 350,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด คือออกมาคร่าวๆ ก็ประมาณพันกว่าล้านบาท

แต่นักสังเกตการณ์ทั้งหลายลงความเห็นว่าเงิน 350,000 บาทนั้น บางคนอาจจะใช้ไม่ถึงก็ได้ แต่บางคนอาจจะทุ่มถึง 10 ล้าน เพราะดูตัวแปรต่างๆ เช่น พรรคการเมืองมีถึง 16 พรรค และมีผู้สมัครเป็น ส.ส. 3 พันกว่าคน คาดการณ์ได้เลยว่าคงจะมีการแข่งขันกันมันส์หยดจริงๆ และใครที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าบุญทุ่มอยู่แล้ว ในคราวนี้คงจะได้ทุ่มกันสุดใจขาดดิ้นแน่ๆ

เงินก้อนใหญ่นี้จะสะพัดเข้าไปในธุรกิจใดนั้น อย่างแรกที่รับทรัพย์กันไปก่อนใครเห็นจะเป็นโรงพิมพ์ที่พิมพ์โปสเตอร์…ใบปลิว…แผ่นพับต่างๆ

สิ่งเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการหาเสียงก็ว่าได้

จากการสอบถามเจ้าของกิจการโรงพิมพ์ทั้งหลายต่างลงความเห็นว่างานพิมพ์ครั้งนี้ค่อนข้างน้อยผิดจากที่คาดไว้มาก ซึ่งคงจะมาจากสาเหตุสองประการคือ ตอนนี้เป็นช่วงหน้าฝนซึ่งถ้าใช้สิ่งพิมพ์มากแล้วถ้าโดนน้ำฝนจะชำรุดได้ง่าย เป็นการสิ้นเปลือง แต่ละพรรคคงจะไปเน้นสิ่งอื่นกันมากกว่า

กับอีกประการหนึ่งที่ทำให้วงการพิมพ์ไม่คึกคักเท่าที่ควรคือกรุงเทพมหานครมีคำสั่งเชิงขอร้องไม่ให้ติดโปสเตอร์ตามกำแพง… ป้ายรถเมล์… สวนสาธารณะ.. เป็นต้น

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีระยะการหาเสียงค่อนข้างจะน้อย ดังนั้นลักษณะงานพิมพ์จะต้องกระจายไปตามโรงพิมพ์ต่างๆ เพราะเป็นงานที่เร่งด่วน ทำให้แต่ละโรงพิมพ์ไม่สามารถจะรับงานไว้ได้มาก โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ทั้งหลายที่มีงานประจำอยู่แล้วเลยชวดโอกาสที่จะฟันเงินก้อนใหญ่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“ถ้ามีการเลือกตั้งเป็นไปตามวาระในปี 2530 แล้ว ตามโรงพิมพ์ใหญ่ๆ จะได้เปรียบมากกว่านี้ เพราะหลายแห่งเตรียมการที่จะเหมาพิมพ์งานกันระยะยาวไว้แล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ส่วนมากซึ่งมีงานประจำอยู่แล้วจึงรับงานหาเสียงไม่ได้มาก ตอนนี้จึงเป็นลักษณะกระจายกันไปทุกโรงพิมพ์ ทั้งเล็กและใหญ่” เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งกล่าวอย่างเสียดาย

แต่เจ้าของกิจการโรงพิมพ์หลายแห่งก็ยังคงคาดหวังอยู่บ้าง เพราะเพิ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้นของการหาเสียงเท่านั้นในช่วงปลายๆ ที่มีการแข่งขันกันเข้มข้นขึ้น เชื่อแน่ว่าผู้สมัครทั้งหลายคงจะทุ่มหาเสียงด้วยการใช้สื่อสิ่งพิมพ์กันมากขึ้น ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มาก็มักจะเป็นเช่นนี้

ถึงอย่างไรก็ตาม วงการพิมพ์ทั้งหลายลงความเห็นกันว่า โรงพิมพ์มังกรการพิมพ์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ขนาดกลางแห่งหนึ่งน่าจะได้เงินจากงานพิมพ์หาเสียงในครั้งนี้มากกว่าแห่งอื่นๆ เพราะถึงกับตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจสำหรับกวาดงานนี้โดยเฉพาะ โดยมีลูกค้ากระเป๋าหนักอย่างพรรคชาติไทยเป็นขาใหญ่ยืนพื้น นอกนั้นก็เป็นรายบุคลจากพรรคต่างๆ คละกันไป

นอกจากนี้ก็มีโรงพิมพ์วิคตอรี่ซึ่งรับงานของพรรคประชาธิปัตย์ โรงพิมพ์กรุงเทพก็ผูกขาดเหมางานของพรรคกิจประชาคมไปทั้งหมด ส่วนโรงพิมพ์อื่นๆ เช่นพลชัยเกษมการพิมพ์ จะรับงานในลักษณะรายบุคลมากกว่า

การรับงานของแต่ละโรงพิมพ์นั้นจะถือเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลัก เพราะเกรงว่าจะเก็บเงินไม่ค่อยได้ เนื่องจากเป็นที่รู้กันในวงการธุรกิจว่างานพิมพ์หาเสียงเช่นนี้มักจะโดนผู้สมัครเบี้ยวประจำ

และเงินในส่วนของงานพิมพ์นี้คงจะหมุนเวียนอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัด เพราะโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ ส่วนมากจะมีแท่นพิมพ์ที่ทันสมัย สามารถพิมพ์งานได้รวดเร็วกว่า ผู้สมัครต่างจังหวัดจึงนิยมเข้ามาพิมพ์ในกรุงเทพฯ มาก หลายคนยอมเสียเวลามานั่งรองาน เพียงครึ่งวันก็สามารถขนโปสเตอร์กลับไปหาเสียงได้เลย

ช่วงเวลางานที่ฉุกละหุกมากที่สุดในการพิมพ์นั้นคือ วันที่เริ่มมีการจับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยช่างพิมพ์ของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งได้เล่าเหตุการณ์ให้ทราบว่า

“ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลกจากที่เคยเห็นมา เพราะก่อนหน้าวันที่จับหมายเลขนั้นโรงพิมพ์ของเราจะเตรียมเพลทของผู้สมัครทุกคนพร้อมหมดแล้ว เพียงแต่รอหมายเลขเท่านั้น เช้าวันที่ 9 พอผู้สมัครจับหมายเลขกันได้ก็รีบโทรศัพท์ทางไกลมาที่โรงพิมพ์ ทางเราก็เอาหมายเลขติดลงในเพลทแล้วก็พิมพ์กันเดี๋ยวนั้นเลย พอตอนเย็นวันเดียวกันก็มีโปสเตอร์หาเสียงติดตามท้องถนนเต็มไปหมดแล้ว

จากการที่ “ผู้จัดการ” สำรวจตามโรงพิมพ์หลายแห่งพบว่าแนวโน้มของปีนี้นิยมพิมพ์ภาพสี่สีกันมากที่สุด รองลงมาคือสองสี และผู้สมัครในต่างจังหวัดจะทุ่มกับงานพิมพ์โปสเตอร์มากกว่ากรุงเทพฯ เพราะไม่มีกฎห้ามปิดโปสเตอร์เข้มข้นเหมือน กทม. ของมหาจำลอง

นักสังเกตการณ์คาดการณ์กันว่าธุรกิจโรงพิมพ์คงจะมีส่วนแบ่งเงินก้อนใหญ่นี้ไปประมาณ 20% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นจริงวงการนี้คงจะมีชีวิตชีวากันพอสมควร

ที่เข้าคิวมาขอเอี่ยวด้วยเป็นอันดับสองคือธุรกิจทำป้ายหาเสียง

ป้ายหาเสียงเป็นที่ฮือฮากันมากเมื่อครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา เพราะแต่ละค่ายที่ลงสมัครทุ่มเงินทำป้ายโฆษณากันมาก และมีการแข่งขันกันทำป้ายขนาดยักษ์เกือบทุกค่ายใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กินขาดทุกค่ายต้องยกให้ป้ายยักษ์ของมงคล สิมะโรจน์ ซึ่งมีขนาด 20 เมตร x 30 เมตร ติดอยู่เด่นเป็นสง่าตามสี่แยกต่างๆ คาดกันว่าราคาตกประมาณป้ายละหลายหมื่นบาท

ว่ากันว่างานเลือกตั้ง กทม. ครั้งที่ผ่านมาร้านเขียนป้ายแต่ละแห่งฟันงานกันแฮปปี้ถ้วนหน้า

แต่ในการหาเสียงครั้งนี้บรรยากาศค่อนข้างจะเงียบลงไปบ้าง เพราะโดนงานโปสเตอร์ติดไม้อัดตีกระจุย

“ตอนเลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้ ชนะ รุ่งแสงเป็นคนนำวิธีการนี้มาใช้ก่อน คือพิมพ์โปสเตอร์แล้วเอาไปอาบพลาสติก แล้วนำไปติดกาวใส่ไม้อัด วิธีการนี้จะถูกกว่าทำป้ายมาก แถมยังได้งานที่เร็วและทนทานกว่าด้วย” แหล่งข่าวจากโรงพิมพ์แห่งหนึ่งกล่าว

บรรยากาศการแข่งขันเรื่องป้ายคัตเอาต์ในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับสิ่งพิมพ์คือไม่ค่อยจะคึกคักเนื่องจาก กทม. มีกฎห้ามติดป้ายในบางสถานที่ สนามรบของปายคัตเอาต์จึงไปบูมกันที่ต่างจังหวัดกันมากกว่า

ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งมาว่าแชมป์ป้ายคัตเอาต์ปีนี้คงจะต้องยกให้เจ้าสัวบุญชู โรจนเสถียรเสียแล้ว เพราะมีผู้สนับสนุนทำป้ายคัตเอาต์ยักษ์ขนาด 105 เมตร x 30 เมตร ปักหลักอยู่ที่หน้าอำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นถิ่นที่บุญชูลงสมัคร ช่างทำป้ายที่กรุงเทพฯ ตีราคาคร่าวๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 7 แสนบาท

สำหรับงานพิมพ์เสื้อยืดในการหาเสียงครั้งนี้ก็ไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะกำลังโดนมรสุมทางเศรษฐกิจเล่นงานอย่างหนัก เนื่องจากค่าวัสดุมีราคาสูงขึ้นถึง 30% จึงมีเฉพาะโรงงานใหญ่ประมาณ 20% ที่สามารถรับงานครั้งนี้ได้

“คนในวงการเขากลัวจะถูกผู้สมัครเบี้ยว ถ้าจะรับงานหาเสียงจะต้องให้จ่ายเงินกันล่วงหน้า 100% เลย และการรับงานตอนนี้แต่ละพรรคต้องการความเร็วมาก โรงงานแต่ละแห่งจึงไม่กล้ารับเพราะกลัวทำให้ไม่ทัน อย่างงาน 1 หมื่นตัวจะให้เสร็จภายใน 1 อาทิตย์ เราไม่สามารถทำให้ได้ เพราะถ้ามีวัตถุดิบพร้อมเรายังใช้เวลาทำอย่างเร็วก็ 10 วัน และยิ่งตอนนี้วัสดุราคาแพงจึงไม่มีโรงงานไหนทอเสื้อตุนเอาไว้ ส่วนมากจึงรับงานไม่ทัน” แหล่งข่าวจากวงการทำเสื้อยืดเปิดเผย

ก็เลยมีแต่โรงงานใหญ่เพียง 2-3 แห่ง เช่นโรงงานอำนวยการ์เมนต์รับออร์เดอร์ของพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 1 หมื่นตัว โรงงานนิวเอเซียรับงานของพรรคราษฎรและพรรคสหประชาธิปไตยแห่งละประมาณ 500 ตัว นับว่าจิ๊บจ๊อยจริงๆ

ราคาเสื้อยืดในปัจจุบันตกตัวละ 18-24 บาท ซึ่งจะทำให้โรงงานมีกำไรเพียงตัวละประมาณ 50 สตางค์ถึง 1 บาท คาดกันว่ามูลค่าในการทำเสื้อยืดคราวนี้ตกอย่างมาก 2 ล้านบาท

ที่ครึกครื้นขึ้นมาในช่วงนี้ก็คงจะเป็นธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจบริการ เพราะจากการสอบถามไปยังผู้อำนวยการศูนย์ของพรรคใหญ่ๆ หลายแห่งพอจะสรุปได้ว่าค่าใช้จ่ายในการหาเสียงประมาณ 1/3 จะเป็นค่าอาหาร คิดเป็นมูลค่าราวๆ 500 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายตั้งแต่งานเลี้ยงประชุมพรรคเลี้ยงหัวคะแนน ตลอดจนเลี้ยงพรรคพวกที่มาช่วยงานและสนับสนุนพรรค…ฯลฯ

เงินในส่วนนี้จะกระจายไปยังโรงแรมและร้านอาหารทั่วไปทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ ได้รับการจองห้องไปอย่างทั่วถึงจากผู้สมัครต่างถิ่นที่จะเข้าไปวัดดวงกับเจ้าถิ่น

และที่กลายมาเป็นสื่อที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้ก็คือสื่อรถกระจายเสียง ซึ่งนับวันยิ่งจะมีบทบาทในการช่วยหาเสียงมากขึ้น

นักการตลาดวิเคราะห์ว่าการหาเสียงด้วยการใช้รถกระจายเสียงนั้นมีประสิทธิภาพมาก เพราะจากเดิมจะใช้สื่อนี้เพียงบอกกล่าวให้ประชาชนทราบว่าจะมีการปราศรัยที่ไหนบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ได้พัฒนาใหสามารถกระจายเสียงคำปราศรัยของพรรคสลับกับเพลงมาร์ชของพรรคไปด้วย

แต่ละพรรคในกรุงเทพฯ จะว่าจ้างรถสองแถวที่รับส่งผู้โดยสารมาเป็นสื่อกระจายเสียงไม่ต่ำกว่า 30 คันต่อหนึ่งพรรค ค่าจ้างโดยทั่วไปตกประมาณ 600-1,000 บาท จะเริ่มงานกระจายเสียงตั้งแต่ 8.00-18.30 น. จะมีการแบ่งเส้นทางให้รถแต่ละคันวิ่ง และโดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้างานและหลังเลิกงานแล้ว กลายเป็นเวลาทองที่รถกระจายเสียงเหล่านี้จะต้องคอยตระเวนไปให้ทั่วทุกเส้นทางเพื่อให้ประชาชนได้ยินคำปราศรัยได้ทั่วถึง

และที่เนื้อหอมเป็นที่ต้องการมากสำหรับการหาเสียงในครั้งนี้เห็นจะเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษากันอยู่ หรือบัณฑิตที่เพิ่งจะจบใหม่ๆ โดยเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะวิชาส่วนมากไม่ต้องเข้าห้องเรียน จึงมีเวลาทุ่มให้กับงานหาเสียงได้มาก

แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองแห่งหนึ่งเล่าให้ “ผู้จัดการ” ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษาเหล่านี้มาเป็นอาสาสมัครว่า “ส่วนมากเราจะคัดมาจากนักศึกษาที่ทำกิจกรรมให้กับสถาบัน เพราะเด็กพวกนี้จะมีความเข้าใจในงานของพรรคฯ และสามารถลุยงานได้ดี”

อัตราค่าจ้างของการเป็นอาสาสมัครพรรคการเมืองนั้นตกในราว 70-120 บาทต่อวัน แล้วแต่ความยากง่ายของงาน

จากการสอบถามอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาของแต่ละพรรคนั้นส่วนมากต้องการมาหาประสบการณ์ในชีวิตมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนค่าจ้างนั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำงาน ซึ่งค่าจ้างที่ได้นี้ส่วนมากจะนำไปใช้จ่ายซื้อหาสิ่งของจำเป็น และก็มีบางส่วนที่จะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษา

การใช้สื่ออาสาสมัครเพื่อทำการสำรวจทัศนคติของประชาชนตามท้องที่ต่างๆ นั้น ผู้บุกเบิกมาก่อนก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถช่วยในการหาเสียงได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันนี้เกือบจะทุกพรรคจึงหันมาใช้วิธีการนี้กันมากขึ้น

แต่ละพรรคจะใช้อาสาสมัครเหล่านี้ประมาณ 150-200 คน ซึ่งจะมีเงินสะพัดเข้าในสื่อนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทในช่วงที่มีการหาเสียงนี้

ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งซึ่งเข้ามามีบทบาทในการหาเสียงอย่างมากในปัจจุบันนี้ก็คือหัวคะแนนผู้สมัครจากหลายพรคฯ วิจารณ์กันว่าหัวคะแนนเดี๋ยวนี้ฉลาดขึ้นมาก เพราะจะไม่สังกัดอยู่พรรคฯ ใดพรรคหนึ่งตลอด แต่จะรับเงินค่าจ้างได้จากทุกพรรคฯ ส่วนจะลงคะแนนเสียงให้พรรคไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ผู้จัดการ” ได้รับการเปิดเผยจากผู้สมัครเลือกตั้งพรรคหนึ่งว่า เนื่องจากอาชีพหัวคะแนนนั้นสามารถทำเงินให้ชาวบ้านได้ดีมาก ในการหาเสียงครั้งนี้จึงสังเกตว่ามีชาวนาหลายคนยอมทิ้งไร่นาเพื่อมาเป็นหัวคะแนนกันมากขึ้น…

ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับหัวคะแนนนั้นคงไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ ต้องขึ้นอยู่กับสนามที่จะลงแข่งด้วย ถ้าไปเจอเอาคู่แข่งที่เป็นเจ้าบุญทุ่มหรือมีการชิงไหวชิงพริบกันมาก ค่าใช้จ่ายของหัวคะแนนต่อหัวก็คงจะสูงตามไปด้วย

ยังมีธุรกิจอีกหลายอย่างที่มีสิทธิจะเข้ามามีส่วนแบ่งในเงินหาเสียงก้อนนี้ด้วย เป็นต้นว่าธุรกิจเครื่องเสียง…ห้องอัดเสียง…สื่อมวลชนที่รับทำโฆษณาต่างๆ …อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน… ฯลฯ นอกจากนี้นักการตลาดวิเคราะห์ว่ายังมีอีกหลายธุรกิจที่แม้ว่าจะไม่มีส่วนโดยตรงกับการหาเสียงในครั้งนี้แต่ก็อาจจะมีส่วนแบ่งโดยทางอ้อมก็ได้ เช่นวัสดุก่อสร้าง…ข้าวสาร…น้ำปลา… รองเท้าแตะ… ฯลฯ แต่ก็คาดการณ์กันว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ของแจกเหล่านี้อาจจะมีน้อยเพราะติดอุปสรรคที่เวลาในการหาเสียงที่มีจำกัดมาก ฉะนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะมีการอัดฉีดกันเป็นเงินสดแทนสิ่งของเหล่านี้มากกว่า

ถ้ามองในภาคเศรษฐกิจส่วนรวมแล้ว การมีเงินจำนวน 3 พันล้านเข้ามาอัดฉีดในธุรกิจต่างๆ นั้นก็สามารถทำให้ธุรกิจทั้งหลายของประเทศที่ซบเซากันมาหลายปีกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง และยังมีส่วนดีตรงที่สามารถถ่ายเงินจากผู้สมัครหรือผู้สนับสนุนที่เป็นคนรวยให้เข้ามาอยู่ในกระเป๋าคนจนบ้าง กระจายเงินจากคนกรุงเทพฯ ไปสู่ชนบท ถึงแม้ว่าเงินเหล่านี้ในที่สุดแล้วก็คงจะต้องหวนกลับเข้าไปอยู่กระเป๋านายทุนตามเดิมก็ตาม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us