นอกจากความสนใจว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะมีผู้สมัครชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมากหรือน้อยเท่าไรแล้ว
ดูเสมือนว่าความสนใจเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ตลอดจนตัวบุคคลที่จะได้รับการโหวตให้เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ก็เป็นจุดสนใจอีกจุดหนึ่งที่คนวิจารณ์กันเซ็งแซ่ ภายหลังการยุบสภาเพียงไม่กี่วันนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์พุ่งตรงไปที่ศักยภาพของศูนย์อำนาจสองศูนย์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีรักษาการ-พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ศูนย์หนึ่ง และอีกศูนย์หนึ่งก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
ทั้งสองศูนย์นี้ผู้สังเกตการณ์การเมืองระบุว่ามีศักยภาพแห่งดุลกำลังก้ำกึ่งกันมาก หลังจากผลัดกันรุกและรับมาเป็นระยะ…ระยะ…โดยที่ก่อนหน้าการประกาศยุบสภาดูกำลังด้านพลเอกเปรม ดูจะเป็นฝ่ายรุกได้ถนัดถนี่ขึ้นเมื่อกล้าตัดสินใจไม่ต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์ แต่กลับถูกรุกโต้ตอบจนกลายเป็นก้ำกึ่งเมื่อพระราชกำหนดของรัฐบาลถูกคว่ำ อันมีผลให้พลเอกเปรมจำเป็นต้องถอยมาตั้งหลักใหม่ด้วยการประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน
ช่วงนั้นไม่มีใครกล้ายืนยันแล้วว่าการเมืองไทยในอนาคตจะออกหัวหรือออกก้อย พลเอกเปรมจะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้หรือไม่ และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกสำหรับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เคยคิดกันว่า “ไม่มีเป็นอื่น” ก็อยู่ในสภาพที่ “ไม่มีอะไรแน่นอน” อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้หากพิจารณาทางด้านพรรคการเมือง พลเอกเปรมก็มีความหวังที่มั่นคงอยู่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคมนั้นเล่าก็กำลังระส่ำระสาย มีโอกาสกลายเป็นพรรคเล็กค่อนข้างมาก เปรียบเทียบกับพรรคสหประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคนายบุญเท่ง-พันเอกพล-ตามใจ ขำภโต กับพรรคมวลชนที่ประกาศหนุนพลเอกอาทิตย์อย่างออกนอกหน้าแล้ว ก็อยู่ในสภาพที่จะพูดว่าพลเอกเปรมเป็นฝ่ายได้เปรียบไม่ได้เด็ดขาด
โดยเกมแล้วลักษณะชี้ขาดก็น่าจะอยู่ที่การกำหนดจุดยืนของพรรคการเมือง ที่วางตัวเป็นกลางต่อศูนย์อำนาจทั้งสองศูนย์อย่างเช่นพรรคชาติไทยและพรรคราษฎรของพลเอกเทียนชัยและพลเอกมานะ เป็นต้นเท่านั้น
ภายหลังการยุบสภาไม่นานนัก ความพยายามที่ต่างฝ่ายต่างจะดึงพรรคใหญ่สองพรรคนี้เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยจึงกระทำกันอย่างเข้มข้นและล้ำลึก
และค่อนข้างจะเห็นชัดว่าฝ่ายคัดค้านพลเอกเปรมนั้นได้เปรียบระดับหนึ่ง โดยเฉพาะท่าทีของพรรคชาติไทยที่ผ่านทางพลตรีประมาณหัวหน้าพรรคที่ไม่กินเส้นเอามากๆ กับท่านนายกรัฐมนตรีรักษาการ มิไยที่พลตรีชาติชายและบรรหาร ศิลปอาชา จะพยายามประสานอย่างไรก็ไม่เป็นผล
กล่าวสำหรับพลเอกเปรมแล้ว การรักษาอำนาจให้ดำรงอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า (โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง) นั้น ก็มีสิ่งที่จะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 2 ประการด้วยกันก็คือ
ประการแรก สลายศูนย์การนำของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เพื่อทำให้กองทัพอยู่ในเงื่อนไขที่พร้อมจะหนุนพลเอกเปรมต่อไปและยังเท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวพรรคการเมืองบางพรรคอย่างเช่น พรรคสหประชาธิปไตยและพรรคมวลชน ที่อาศัยบารมีพลเอกอาทิตย์ไปด้วยในตัว
ประการที่สอง แยกสลายบทบาทการนำของพลตรีประมาณในพรรคชาติไทย เพื่อเสริมความมั่นคงให้พรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง
ซึ่งถ้าจะว่าไปก็ต้องถือว่าเป็นงานใหญ่มาก สำเร็จหรือไม่สำเร็จอาจบางทีต้องขอให้ “ฟ้าช่วยบันดาล” ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประการแรก
แล้ว “ฟ้า” ก็บันดาลยืนข้างพลเอกเปรมจริงๆ
จากความพร้อมตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม และผ่านการตระเตรียมกำลังเพื่อควบคุมสถานการณ์อีกสามวัน
เช้าวันอังคารที่ 27 พฤษภาคมวิทยุแห่งประเทศไทยก็ออกประกาศข้อความสั้นๆ… ปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกับแต่งตั้งพลเอกชวลิตเข้ารับตำแหน่งแทน
ดุลกำลังทางฝ่ายพลเอกเปรมก็พุ่งขึ้นสูงพรวด
ส่วนดุลกำลังฝ่ายพลเอกอาทิตย์ต้องตกอยู่ในสภาพฝ่ายรับอีกครั้ง
ผู้สมัครหลายคนที่เตรียมจะลงเลือกตั้งในนามพรรคสหประชาธิปไตยต่างก็ถอนตัวไปลงพรรคอื่นกันจ้าละหวั่น
ซึ่งก็รวมทั้งกลุ่มปรีดา พัฒนถาบุตร กับ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ที่แยกไปตั้งเป็นพรรคเสรีนิยมด้วยอีกกลุ่ม
มันเป็นสถานการณ์ที่พลิกชั่วข้ามคืน แม้จะมีข่าวระแคะระคายกันมาบ้างก่อนหน้านั้น แต่ก็อาจจะเป็นเพราะบ้านเราเมืองเรานั้นเต็มไปด้วยข่าวลือ หลายคนก็เลยคิดว่า ข่าวนี้ก็คงจะเป็นเพียงข่าวลืออีกชิ้นหนึ่งซึ่งปราศจากข้อเท็จจริงทั้งสิ้น
หลังจากสถานการณ์ผ่านไปได้อีกช่วง
การเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบเชียบก็เกิดขึ้นกับพรรคชาติไทย
พลตรีประมาณหลุดจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และผู้ที่ก้าวขึ้นมาแทนคือพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ
เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่ “ฝนตกเมฆไม่ตั้งเค้า”
แต่ผลก็คือฐานทางด้านการเมืองฝ่ายพลเอกเปรมแน่นขึ้นอย่างไร้ผู้ต่อต้าน
“ผู้จัดการ” จึงขออนุญาตเขียนแปะติดข้างฝาไว้เดี๋ยวนี้เลยว่า ภายหลังการเลือกตั้งนั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น
ส่วนพรรคการเมืองที่จะได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างน้อยก็มีตัวยืนอยู่ 3 พรรคคือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และกิจสังคม
ฝ่ายค้านก็จะมีพรรคสหประชาธิปไตย พรรคมวลชน ชาติประชาธิปไตย
และที่ค่อนข้างจะวางตัวเป็นกลางอย่างเช่น พรรคกิจประชาคม ราษฎร และพรรคเล็กๆ ที่เหลือซึ่งล้วนมิใช่ตัวแปรที่สำคัญ
สิ่งที่ยังเป็นปัญหาสำหรับพลเอกเปรมในตอนนี้ก็เห็นจะอยู่ที่การตระเตรียมฟอร์มรัฐบาลซึ่งคาดว่ากว่าจะลงตัวได้นั้นจะต้องทุลักทุเลเอามากๆ
และก็คงจะเป็นรัฐบาลที่อย่าไปตั้งความหวังไว้มากมายนัก