ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตำแหน่งที่นักการเมืองต่างกล้าๆ กลัวๆ ในการที่จะเข้ามารับผิดชอบ อาจจะเป็นเพราะในอดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยขาด TECHNOCRAT ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเงินการคลังอย่างแท้จริง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็น TECHNOCRAT ที่ “ผู้จัดการ” เลือกเป็นตัวประชันกับว่าที่ รมว. คลังคนอื่นๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด เราถือว่า ดร.ศุภชัยเป็นหัวหอกของ TECHNOCRAT ระลอกใหม่ที่เข้ามาชิมลางกับการเมือง หลังจากที่ชะงักไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ถึงจะเป็นข่าวไม่ดังเปรี้ยงปร้างตึงตังเหมือนการปลดพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ก็เป็นข่าวโครมครามปึงปังไม่น้อยเมื่อ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินแห่งแบงก์ชาติประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง
คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงกับระบุไปเลยว่า เป็นว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลชุดต่อไป
แต่ไม่มีใครชี้ออกมาชัดๆ ว่ากระทรวงการคลังที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ถูกคาดการณ์ว่าจะไปเป็นรัฐมนตรีช่วยนั้น ใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการในเมื่อสมหมาย ฮุนตระกูล ท่านประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่า ท่านจะไม่เป็นแล้ว…สุขภาพท่านไม่แข็งแรง
ก็ไม่วายที่มีเสียงบอกว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นใครไม่ได้นอกจากสมหมาย ฮุนตระกูล
“ในครอบครัวลูกหลานก็ไม่มีใครอยากให้ท่านรับตำแหน่งนี้ตั้งแต่แรกแล้ว (รัฐบาลเปรม 2/มกราคม 2524) ถ้าจะเป็นต่อไปก็คงเพราะได้รับการขอร้องแบบที่ว่าขัดไม่ได้ ความจริงท่านเป็นคนที่มีแบ็กอัพแข็งมากนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันเพราะสามารถทำอะไรได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องห่วงเรื่องการเมืองจะมาขวาง” คนใกล้ชิดในครอบครัวสมหมาย ฮุนตระกูล เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
เจ้าตัวก็ไม่อยากเป็น ลูกหลานคนในครอบครัวก็ไม่อยากให้เป็น อายุอานามของท่านก็มากแล้ว…รับใช้ประเทศชาติมานานเต็มที ควรจะได้พักผ่อนอย่างสงบกับลูกหลานที่บ้านมากกว่า
อย่าได้ไปรบกวนท่านให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไปอีกเลย…
แล้วใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนสมหมาย ฮุนตระกูล?
มีมากมายนับเป็นสิบๆ คน ถ้า “ผู้จัดการ” จะมักง่ายลิสต์ชื่อกันตอนนี้เหมือนที่หลายๆ คนทำกันก็ย่อมได้แต่เราไม่ทำ เพราะในบรรดาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ว่ามีเป็นสิบๆ คนนั้น มีอยู่คนเดียวที่เห็นว่าน่าจะสมควรได้เป็นที่สุด คนคนนั้นก็คือ…
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
การเสนอชื่อ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ดีกรีของความท้าทายอาจไม่เทียบกับเมื่อครั้งที่ “ผู้จัดการ” เสนอคณะรัฐมนตรี TECHNOCRAT ในฝันที่มี “เกษม จาติกวณิช” เป็นนายกรัฐมนตรีในฉบับที่ 18 เพราะเมื่อมีการกล่าวอ้างว่า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ น่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็ดูเหมือนไม่มีใครคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย
เหตุผลที่พ้องต้องกันโดยไม่ได้พูดออกมาก็อาจจะเป็นว่า ทุกคนเห็นจะยอมรับความสามารถของดอกเตอร์หนุ่มจากค่ายบางขุนพรหมคนนี้อย่างเต็มเปี่ยม ถึงกับบอกว่า หากอยู่ที่ธนาคารชาติต่อไปมีโอกาสค่อนข้างมากที่จะได้เป็นถึงผู้ว่าการ
เพียงแต่ว่าขณะนี้…ตอนนี้ ด้วยวัยเพียง 40 ปี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ยังเยาว์เกินไป ด้อยบารมีเกินไปสำหรับตำแหน่งสำคัญเช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่กุมนโยบายการเงินการคลังของประเทศ
และถ้าจะถามว่า คนที่มีความรู้ความสามารถ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีอาวุโสมีบารมีจึงจะมากินตำแหน่งเจ้ากระทรวงการคลัง ก็ต้องบอกว่า จำเป็น…จำเป็นอย่างมากด้วย
แล้วทำไม “ผู้จัดการ” ยังยืนกรานที่จะเสนอชื่อ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อยู่อีกเล่า…
ย้อนหลังกลับไปในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีรัฐมนตรีว่าการมาแล้ว 6 คน ได้แก่ บุญชู โรจนเสถียร เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ สุพัฒน์ สุธาธรรม พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดร.อำนวย วีรวรรณ และสมหมาย ฮุนตระกูล แต่ละคนล้วนแต่มีอายุเกิน 50 ปี และแต่ละคนก็มีบารมีพอที่จะมานั่งคุมกระทรวงนี้ได้ ส่วนจะมีความสามารถเป็นที่ยอมรับกันได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในบรรดารัฐมนตรีคลังทั้ง 6 คนนี้ เป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในโควตาของพรรคการเมืองเพียง 2 คน คือ บุญชู โรจนเสถียร และ ดร.อำนาย วีรวรรณ ซึ่งจะว่าไปตามจริงแล้ว ดร.อำนวยก็ไม่เชิงนักหากจะเรียกว่าเป็นรัฐมนตรีที่สังกัดและขึ้นต่อพรรคการเมือง เนื่องจากเข้ามารับตำแหน่งเพราะได้รับการเชิญชวนจากบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ปี 2523) รวมทั้งเจ้าตัวก็เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของกระทรวงคลังเคยมีตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงนี้มาก่อน
หรืออย่างพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ช่วงที่ยังไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่ในนาม เพราะในทางปฏิบัติมีชาญชัย ลี้ถาวร ปลัดกระทรวงการคลังสมัยนั้น ร่วมกับ สุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการคอยให้คำปรึกษากำกับตลอดเวลา
สรุปแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาจากพรรคการเมืองและรับเอานโยบายของพรรคมาผลักดันที่กระทรวงการคลังอย่างจริงๆ จังๆ เพียงคนเดียวคือ บุญชู โรจนเสถียร ซึ่งตลอดเวลาที่รับผิดชอบกระทรวงนี้ก็โดนทิ่มโดนแทงจนเกือบไม่รอดมาเป็นผู้เป็นคน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ มีบารมีแล้ว ยังไม่สมควรที่จะเป็นผู้ที่สังกัดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เนื่องจากหากริเริ่มดำเนินนโยบายการเงินการคลังใหม่ๆ ออกมา ก็อาจถูกกล่าวหาได้โดยง่ายว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่พรรคหรือพวกตน อย่างเช่นที่บุญชู โรจนเสถียร โดนสับมาแล้วในโครงการเงินผัน
แล้วทำไม “ผู้จัดการ” ยังยืนกรานที่จะเสนอชื่อ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อยู่อีกเล่า….
ลองมาถกเหตุผลกันให้เป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ออกมาตรงๆ ว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2529 มีธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เกิน 8 ธนาคารจากจำนวนทั้งหมด 16 ธนาคารที่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้
ธนาคารพาณิชย์อีกครึ่งหนึ่งของระบบไม่มีสิทธิ์จ่ายเพราะไม่มีกำไร หรือถึงมีก็จำเป็นต้องสำรองเงินไว้สำหรับหนี้สูญหนี้เสียที่ตะบี้ตะบันเขียนลงไปในงบดุลว่าเป็นสินทรัพย์มาปีแล้วปีเล่า
วิกฤตการณ์สถาบันการเงินเมื่อปี 2522 และปี 2527 ยังเป็นฝันร้ายของประชาชนกลุ่มหนึ่งและแบงก์ชาติตราบเท่าทุกวันนี้
แต่หากเกิดมีวิกฤตการณ์ธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ มันจะเป็นฝันร้ายของคนทั้งชาติ และจะเป็นฝันร้ายอันแสนยาวนานด้วย
ด้านสถาบันการเงินก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ ดร.ศุภชัย “หัวเราะมิออก ร่ำไห้มิได้” เพราะตัวเองมีตำแหน่งล่าสุดในแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลควบคุมโดยตรง ซึ่งผลออกมาก็คือ สถาบันการเงินอิสระไม่มีธนาคารพาณิชย์หรือกระทรวงการคลังถือหุ้นที่เคยเป็นห่วงกันนักหนาว่าจะล้มครืนลงอีก เนื่องจากประชาชนจะไม่ให้ความเชื่อถือกลับดีวันดีคืนทันตาเห็น
แต่สถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้น หรือสถาบันการเงินในโครงการ 4 เมษายน จำนวน 25 แห่ง ดันทะเล้นขาดทุนได้ขาดทุนเอา
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เมื่อลาออกจากธนาคารชาติจึงชี้หน้าอย่างหมดเกรงว่า คนของทางการที่ส่งเข้าไปดูแลสถาบันการเงินในโครงการนั่นแหละคือ ตัวการที่ทำให้ขาดทุน มิไยแบงก์ชาติจะเสนอหลักการแนวทางในการแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะแบงก์ชาติเสนอได้แต่สั่งการไม่ได้
ผู้ที่สั่งการได้อย่างมนัส ลีวีระพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังก็ไม่ยอมสั่ง ตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กระทรวงการคลังที่มีรัฐมนตรีว่าการชื่อ สมหมาย ฮุนตระกูล ก็ไม่ยอมสั่ง
หรืออย่างร่างพระราชกำหนดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน 3 ฉบับที่เพิ่มอำนาจให้กับทางการเพื่อให้จับได้ไล่ทันกับผู้บริหารที่ทุจริตรวมทั้งบทลงโทษที่หนักและรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งร่างขึ้นโดยทีมงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีทีท่าว่าจะถูกโค่นในรัฐสภาชุดใหม่
แค่ปัญหา 3 เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี่ก็เหลือพอแล้วสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวความคิดทางการเมืองอย่าง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็ย่อมตระหนักรู้ว่า ลำพังนั่งอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยในตำแหน่งงานระดับผู้อำนวยการมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเป็นที่รู้จักในวงธุรกิจนั้น ไม่พอเสียแล้วสำหรับปัญหาระดับชาติแม้ตนจะมีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหานั้นเป็นอย่างดี
ที่จริงทางเลือกของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็มีอยู่หลายทางเหมือนกัน อย่างแรกก็ก้มหน้าก้มตาในหน้าที่ของตนต่อไป รอจนกว่าพนักงานที่อาวุโสเกษียณ แล้ววันหนึ่งอาจจะได้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติตามที่มีการคาดหมายกันเอาไว้
อย่างที่สองก็คือ ลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งไปทำงานภาคเอกชนเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานบางคนในอดีตเคยทำเวลาที่เจ็บช้ำน้ำใจเมื่อถูกการเมืองรังแก เหมือนกับคราว ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งขมขื่นกับการที่รัฐมนตรีสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ยอมนำร่างพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝากเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนเมื่อ 5 ปีก่อน
แต่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ กลับไปเลือกทางที่สาม คือเมื่อมีโอกาสเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ก็ตัดสินใจลาออกจากแบงก์ชาติลงสมัครด้วย เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างเต็มตัว ในการเข้าไปต่อสู้กันในวิถีของการเมืองและผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาตามแนวคิดของตนผ่านทางพรรค
ไม่ต้องคอยแอบซ่อนเป็นทีมงาน TECHNOCRAT ของพรรคโน้นพรรคนี้หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เผชิญกับปัญหาที่แหลมคมและจำเป็นต้องออกมายืนแถวหน้า ก็อาจจะถูกตอกได้ว่า “คุณเป็นใคร มาจากไหน ประชาชนเขาเลือกคุณมาแก้ปัญหาของบ้านเมืองหรือเปล่า” เหมือนอย่างที่โกศล ไกรฤกษ์ เคยตอกหน้า ดร.วีรพงษ์ รามางกูร มาแล้วในเรื่องนโยบายส่งออกข้าว
เพียงแค่ TECHNOCRAT จากค่ายแบงก์ชาติคนหนึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว “ผู้จัดการ” เชียร์ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียเต็มที่ก็ออกจะเกินไปหน่อย คงจำเป็นต้องพาไปดู BACK GROUND ของ ดร. หนุ่มคนนี้ที่มีลักษณะพิเศษน่าสนใจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2489 บิดาชื่อ พร พานิชภักดิ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คนชอบเรื่องหมัดมวยรุ่นเก่าคงคุ้นกับชื่อนี้ดี เพราะเคยเป็นนายสนามมวยราชดำเนินหลายปี
วัยเด็กจัดได้ว่าเรียนได้เก่งและเร็วมาก โดยเรียนจบมัธยมต้นที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล และได้รับทุนเรียนฟรีมัธยมปลายแต่เจ้าตัวเห็นเพื่อนพากันไปสอบที่เตรียมอุดมกันเยอะ ก็เลยตามไปสอบและเรียนจนจบมัธยมปลายที่นั่น
อายุแค่ 16 ปี ก็สามารถสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จุฬาฯ ได้ เรียนได้ไม่ถึงปีสอบชิงทุนได้ไปเรียนแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ไปเนื่องจากต้องรอให้อายุถึง 18 ปีเสียก่อน ไปญี่ปุ่นไม่ได้ก็จึงไปสอบได้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2505 อาจารย์ป๋วยเห็นว่านักเรียนทุนแบงก์ชาติไปสหรัฐฯ ก็มากแล้ว ไปอังกฤษก็ไม่น้อย ก็แนะนำให้ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากขณะนั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังมากของเนเธอร์แลนด์ชื่อว่า ศาสตราจารย์แจน ทินเบอร์เกน
ใช้เวลา 6 ปีแรกเรียนจบปริญญาโท อีก 4 ปีต่อมาทำปริญญาเอกโดยมีอาจารย์ผู้สอน และรับรองชื่อศาสตราจารย์แจน ทินเบอร์เกน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้รับประสบการณ์ในการนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์กับสังคมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากได้ติดตามศาสตราจารย์ทินเบอร์เกนไปศึกษาเศรษฐกิจจากหลายๆ ประเทศ เพื่อสร้างแนวความคิดเศรษฐศาสตร์แนวใหม่
และก่อน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ จะกลับเมืองไทย ศาสตราจารย์ทินเบอร์เกนก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นคนแรกของโลก ในฐานะที่นำวิชานี้มารับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีความแตกต่างกัน
ซึ่งก็น่าจะเป็นที่มาของแนวความคิดของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะที่เป็นศิษย์เอกของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้นี้ ที่มีความเชื่อเสมอว่า เศรษฐศาสตร์สามารถทำประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ว่าเอาแนวคิดหรือทฤษฎีหนึ่งใดมาใช้อย่างเถรตรง
เริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฝ่ายวิชาการตั้งแต่ปี 2516 มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีเมื่อได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากทำหน้าที่เหมือนเลขาธิการคณะกรรมการบริหารแล้วยังมีหน้าที่เป็นโฆษกของแบงก์ชาติไปในตัวด้วย
ก็เผอิญในปี 2524 ประเทศไทยได้มีการประกาศลดค่าเงินบาทครั้งแรกของรัฐมนตรีคลังสมหมาย ฮุนตระกูล ทำให้ ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังโดนคอลัมนิสต์เขียนโขกสับเอาไม่มีดี เพราะเป็นผู้ที่รับภาระในการชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องลดค่าเงินบาท จนต้องลาออกจากตำแหน่งไปในที่สุด
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะของโฆษกของแบงก์ชาติ ก็เลยต้องรับภาระพูดแจงให้ประชาชนเข้าใจต่อไป จะเป็นเพราะเป็นคนพูดเก่งหรือกระแสความกราดเกรี้ยวเรื่องลดค่าเงินบาทมันซาลงแล้วก็ตาม
ก็เลยกลายเป็นนักวิชาการที่ได้รับเชิญไปพูดเรื่องการลดค่าเงินบาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มันเฉพาะที่กรุงเทพฯ ก็เกือบ 20 ครั้ง ไม่รวมต่างจังหวัดที่เดินสายไปพูดทุกภาค
ในช่วงกลางปี 2527 เมื่อวิกฤตการณ์สถาบันการเงินครั้งที่ 2 ก่อตัวขึ้นโดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนเป็นโดมิโนตัวแรก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ก็ต้องรับหน้าที่ควบเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินอีกตำแหน่งหนึ่ง ร่วมกับผู้อำนวยการฝ่ายซึ่งตอนนั้นคือเริงชัย มะระกานนท์ ต่อมาในปลายปีเดียวกันจึงเลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแทนเริงชัย
ที่ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร
และจากประสบการณ์สมัยที่เป็นโฆษกแบงก์ชาติที่ถูกเชิญไปพูดเรื่องการลด่าเงินบาทอยู่บ่อยๆ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จึงได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการที่ช่ำชองในการพูดเรื่องยากๆ ทางเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย จึงได้รับเชิญไปพูดทั้งปีโดยเฉพาะในต่างจังหวัดยุคที่ กรอ. บูม ดร.ศุภชัยก็ได้รับเชิญจากหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ให้ไปพูดในช่วงวันหยุดแทบทุกเดือน
ประกอบกับระยะเวลาตั้งแต่ต้นปี 2527 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการจำกัดการขยายสินเชื่อไม่เกิน 18 เปอร์เซ็นต์ ทำความปั่นป่วนให้กับนักธุรกิจท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ อย่างมหาศาล ทำให้นักธุรกิจเหล่านั้นตื่นตัวหันมาสนใจเศรษฐกิจระดับประเทศมากยิ่งขึ้น ก็ไม่พ้น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อีกเช่นกันที่ได้รับเชิญไปพูดชี้แจงให้เข้าใจ
ในทางกลับกัน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนนักวิชาการในด้านอื่นๆ ที่มักจะร่วมไปเป็นวิทยากรในการอภิปรายแต่ละครั้ง รวมทั้งได้มีโอกาสได้พบปะนักธุรกิจท้องถิ่นรับทราบปัญหาในขอบข่ายที่กว้างขวางเท่าเดิม ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำแนวความคิดที่ว่า ลำพังใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคงไม่เพียงพอหรือทันอกทันใจเป็นแน่
และก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจว่า อย่างไรเสียตนคงต้องลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนแน่ๆ แต่ก็คงไม่ได้คิดว่าโอกาสนั้นจะมาเร็วกว่าที่คาดไว้ เพาะการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่มีราชรถมาเกยหรือตัดสินใจแบบตกบันไดพลอยโจนเนื่องจากได้เตรียมตัวเตรียมใจมานานพอสมควรแล้ว
ไม่เชื่อลองไปถาม ดร. กระมล ทองธรรมชาติ ดร.พิจิตต รัตตกุล หรือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อีกคนก็ได้…เอ้า
จาก BACK GROUND ทั้งหมดพอสังเขปเกี่ยวกับ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ “ผู้จัดการ” คิดว่ามีน้ำหนักพอในการสนับสนุนให้เป็น “ผู้ประชัน” ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่
เพราะเราเห็นว่านอกจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จะเป็น TECHNOCRAT ที่เชี่ยวชาญชำนาญการด้านการเงินการคลังโดยตรงแล้ว ยังเคยมีประสบการณ์ได้รับรู้ปัญหาเศรษฐกิจในแนวกว้าง ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่จะก้าวขึ้นมากุมนโยบายการเงินการคลัง ที่จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย
ในส่วนที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์สังกัดพรรคการเมืองอาจจะเกิดปัญหาว่าไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้หากมีผลประโยชน์ของพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงไม่รู้จะอธิบายอย่างไร นอกจากตอบแทนว่าถ้าไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ลงเลือกตั้งไม่ได้ ติดขัดทั้งกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ติดขัดทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย
และต่อไป ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องให้เครดิตกันในฐานะที่เป็นอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นสถาบันอันทรงเกียรติเชื่อถือได้ในความสุจริตแห่งหนึ่งของประเทศนี้ ตัว ดร.ศุภชัยเองก็เป็นนักวิชาการมาตลอด ไม่เคยมีผลประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจใดมาก่อน ซึ่งถ้าทบทวนอดีตกันสักหน่อยจะเห็นว่าสมัยที่บุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกรคลังนั้น จุดที่ถูกโจมตีโดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เพราะสังกัดพรรคการเมือง แต่ถือว่าบุญชูเป็นตัวแทนของนักธุรกิจนายทุน ทำอะไรก็โดนตีว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพรรคพวกของตน
สมมุติให้เห็นง่ายๆ อย่างนี้ว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนต่อไปชื่อว่าบุญชู โรจนเสถียร ตามใจ ขำภโต หรือแม้แต่พงส์ สารสิน แล้วเกิดความจำเป็นทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องประกาศลดค่าเงินบาท
คงไม่ต้องเดาว่าแต่ละคนจะโดนจวกแหลกขนาดไหน หรือในทางตรงข้ามหากประเทศชาติจำเป็นต้องลดค่าเงินจริงๆ แต่บุคคลเหล่านี้เกรงว่าจะเกิดผลเสียทางการเมืองไม่ยอมประกาศลด…ก็พังพินาศหนักเข้าไปอีก
ดังนั้นแม้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จะสังกัดพรรคการเมือง แต่ความที่เป็น TECNOCRAT บวกกับประวัติการทำงานที่ไม่เคยด่างพร้อยก็คงพอเป็นยันต์คุ้มภัยให้ได้บ้าง หากจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ค่อนข้างรุนแรง
เหตุผลประการสุดท้ายฟังดูแล้วเหมือนกับคำพูดแบบกำปั้นทุบดินในการสนับสนุน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็คือ
“ผู้จัดการ” เชื่อว่า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์อยากเป็น
แม้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จะพูดเสมอในทำนองที่ว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังตำแหน่งการเมืองในรัฐบาล เพียงแต่ต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจตามแนวความคิดของตนเท่านั้น
แต่คงไม่ปฏิเสธกระมังว่าหากสามารถได้ดาบอาญาสิทธิ์ของขุนคลังหรือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมให้ผลในการผลักดันนโยบายเศรษกิจที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน เมื่อเทียบกับการเป็น
ส.ส. ธรรมดา (ถ้าได้รับการเลือกตั้ง) หรือเป็นเพียงแค่สตาฟเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่
ผู้ที่อาวุโสกว่าและอาจจะมีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์นั้นมีอยู่เป็นของแน่
เพียงแต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่อยากมาเป็น หรือไม่แสดงความ “จริงใจ” ออกมาว่าจะขออาสามาแก้ไขเยียวยาปัญหาของบ้านเมือง
เลิกกันเสียทีเถิดระบบเอาราชรถไปเกย เชื้อเชิญใครต่อใครมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคลัง โดยที่เจ้าตัวเขาไม่เต็มใจ
เอาคนที่เขาเต็มใจ จริงใจ มีเป้าหมายนโยบายในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนมาเป็นจะดีกว่า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อาจจะอ่อนพรรษาไปบ้าง แต่ก็มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งมี “คุณธรรม” เป็นบารมีอยู่
ดูอย่างผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันนั่นปะไร อายุอานามเมื่อเทียบกับผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนๆ ก็อ่อนอาวุโสกว่ามาก
มีใครกล้าไปว่าท่านไหมว่าไม่มี “บารมี”