ในระยะ 3 เดือนที่นั่งทำงานในธนาคารกรุงไทย ผมเห็นว่าปัญหาสำคัญของธนาคารกรุงไทยพอจะแยกแยะออกมาได้ 4 เรื่องด้วยกัน ประการแรก ก็คือเร่งการขยายตัวของกองทุนธนาคารเพื่อทำให้การปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ปัญหาที่สอง ก็คือการขาดประสิทธิภาพ ด้านบริหารการเงิน รวมทั้งขาดการประสานงานระหว่างฝ่ายงาน
และประการสุดท้าย ก็คือแม้กรุงไทยจะเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ แต่เท่าที่ผ่านมายังขาดในเรื่องการร่วมมือกับทางการโดยเฉพาะกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินด้วยกัน
สำหรับการขยายกองทุนของธนาคาร อย่างแรกทีเดียวจะต้องหาทางเพิ่มทุนให้ได้และเพิ่มอย่างเป็นกอบเป็นกำ คือในจำนวนที่มากพอสมควรไม่ใช่ทีละ 100 ล้านบาทอย่างที่ผ่านมา ในเรื่องนี้คณะกรรมการก็ได้มีมติออกมาว่าจะทำการเพิ่มทุนในจำนวนหุ้นที่เหลืออีก 611 ล้านบาท
เนื่องจากธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ การเพิ่มทุนจึงเป็นหน้าที่ที่ทางการจะต้องจัดหาเงินมาให้ เรื่องนี้ ผมได้พยายามประสานกับแบงก์ชาติว่าทำอย่างไรจึงจะจัดสรรเงินมาได้ เพราะถือว่าเป็นจุดที่สำคัญมากจุดหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่าหากฐานของเงินกองทุนไม่ขยายแล้วการที่จะขยายธุรกิจ หรือสร้างรายได้ที่จะเสริมฐานะทางการเงินของธนาคารกรุงไทยให้เข้มแข็งก็จะทำไม่ได้ เงินจะมีเหลือมากกว่าความจำเป็น อำนาจต่อรองในตลาดก็น้อย
เรื่องที่สอง ก็คือการที่ธนาคารกรุงไทยขาดการบริการการเงินที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะด้านการประสานงาน วิธีการแก้ไขก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ 3 ฝ่าย คือฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ฝ่ายการธนาคารในประเทศ และฝ่ายการต่างประเทศมาประชุมร่วมกันทุกเช้า เพื่อให้เขาสรุปว่าฐานะเงินบาทของธนาคารเป็นอย่างไร ฐานะเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะให้แนวทางว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ลักษณะนี้เป็นการทำงานของสำนักงานบริหารเงินของธนาคารพาณิชย์อื่น แต่ที่กรุงไทยเนื่องจากไม่มีสำนักบริหารเงินจึงต้องใช้วิธีการเช่นนี้
ด้านรายละเอียดในการปรับปรุงการบริหารเงิน เราได้ทำอย่างเป็นขั้นตอน เรื่องแรกก็คือปรับฐานะในการไปกู้ยืมจากแบงก์ชาติ ที่ผ่านมาเวลามีตั๋วเงินจากผู้ส่งออกทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สาขาหรือคนที่รับตั๋วก็เอาตั๋วไปขายลดกับแบงก์ชาติ เอาเงินเข้ามา ทั้งๆ ที่ฝ่ายกุมการเงินของกรุงไทยก็มีเงินเกินอยู่แล้ว ยังเอาเงินเข้ามาอีก เพราะขาดการประสานงานกัน
การปรับปรุงที่ทำไปแล้วก็คือการให้ระงับการเอาตั๋วเงินไปขายให้แบงก์ชาติในขณะที่มีเงินเหลืออยู่ สอง ขออนุญาตแบงก์ชาติซื้อตั๋วคืนก่อนกำหนด เพื่อจะได้คืนเงินให้กับแบงก์ชาติ วิธีนี้จะทำให้รายได้ในการรับซื้อตั๋วส่งออกตกอยู่กับกรุงไทยแทนที่จะต้องไปเสียดอกเบี้ยให้กับแบงก์ชาติ
การดำเนินการดังกล่าวบางสาขาอาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะเดิมทีการขายตั๋วสามารถทำได้เอง สาขาหาดใหญ่ก็เอาตั๋วไปขายที่สำนักงานแบงก์ชาติที่หาดใหญ่ หรือสาขาใหญ่ๆ ของกรุงไทย เช่น เยาวราช ราชวงศ์ ปทุมวัน ฯลฯ เวลารับตั๋วเข้ามาก็เอาไปขายเลยโดยไม่ปรึกษากับสำนักงานใหญ่
ปัจจุบันผมถือว่าเมื่อใดที่สั่งระงับไม่ให้ขายจะต้องหยุดทันที โดยใช้เงินที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์เสียก่อน ช่วงใดขาดเงินสำนักงานใหญ่จะแจ้งไปว่าให้เอาตั๋วไปขายได้ วิธีการที่จะทำให้สะดวกรวดเร็วก็คือการแจ้งด้วยวาจา โดยมอบหมายให้ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่หรือผู้จัดการฝ่ายการธนาคารในประเทศเป็นผู้แจ้ง เพราะเป็นฝ่ายงานที่รู้สถานะการเงินของธนาคาร
เรื่องที่สอง ธนาคารกรุงไทยจะต้องหาลู่ทางในการลงทุนให้มากขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยไม่เคยลงทุนในการประมูลตั๋วเงินคลัง แต่ไปใช้วิธีซื้อต่อจากแบงก์ชาติซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมนียมให้แบงก์ชาติ รวมทั้งทำให้ขาดสภาพคล่อง เพราะตั๋วเงินคลังที่ไปซื้อต่อจากแบงก์ชาติจะมีเงื่อนไขว่าห้ามขายคืนก่อนกำหนด เช่น ซื้อมากำหนด 60 วันก็จะต้องถือไปจนครบ 60 วัน
ในเรื่องนี้ผมได้ให้ธนาคารกรุงไทยไปประมูลซื้อตั๋วเงินคลังแข่งกับแบงก์ชาติ และธนาคารพาณิชย์อื่น ให้เข้าไปดูความเคลื่อนไหวของตลาดว่ามีอะไรบ้าง ที่จะเป็นดัชนีชี้อัตราที่ควรประมูลก็อาจจะมีความได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะสูตรที่แบงก์ชาติใช้ในการประมูลนั้น เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานอยู่ที่แบงก์ชาติได้เป็นคนคิดขึ้นมาเอง
ผลที่ออกมาก็คือในระยะหลังๆ นี้แบงก์ชาติประมูลสู้ธนาคารกรุงไทยไม่ได้ และในการประมูลครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ธนาคารกรุงไทยสามารถประมูลตั๋วเงินคลังได้ทั้งหมด ก็ทำให้การบริหารเงินของกรุงไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากที่เคยเสียประโยชน์ให้แบงก์ชาติไปโดยไม่สมควร
ในเรื่องตลาด INTER BANK ก็จะพยายามขยายขอบเขตให้กว้างยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ จำกัดตัวเองกับลูกค้าไม่กี่ราย รวมทั้งจะพยายามชักจูงบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เข้ามาด้วย
หลังจากที่ปรับฐานะในด้านการเงิน 34 ประการนี้แล้ว ธนาคารกรุงไทยเริ่มมีฐานะที่จะต่อรองกับผู้กู้ได้ เพราะในอดีตทุกคนเห็นว่ามีเงินล้นเซฟอยู่ตลอดเวลา มากู้เมื่อไหร่ก็ได้
และก็มีหลายแบงก์ที่ใช้ประโยชน์จากเงินของธนาคารกรุงไทยเอาไปหากำไรต่อ!
ในช่วงเดือนพฤษภาคมตลาดเงินในประเทศเริ่มตระหนักถึงบทบาทใหม่ของธนาคารกรุงไทย เพราะหลังจากที่ปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารเงิน ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งก็ทำให้ไม่มีเงินเหลือหรือเราก็ได้ล็อกเงินไว้หมดแล้ว เมื่อมาเจรจาในตลาด INTER BANK ก็ทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น จากเดิมที่เงินกู้แบบ OVERNIGHT LOAN คิดดอกเบี้ยแค่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ก็ขยับขึ้นมาเป็น 10-11 เปอร์เซ็นต์
บังเอิญในช่วงเดียวกัน รัฐวิสาหกิจได้ถอนเงินจากธนาคารกรุงไทยในช่วงที่เราเอาเงินไปล็อกไว้หมด จึงจำเป็นต้องไปดึงเงินจากตลาดเงิน ตลาดก็ตกใจเพราะกรุงไทยเคยแต่ให้กู้ อยู่ๆ ไปเรียกเงินกลับก็ตกใจ
ในขณะนี้ทุกคนจำเป็นต้องจับตาดูธนาคารกรุงไทย เพราะโดยความเป็นจริงแล้วกรุงไทยเป็น NET SUPPLIER รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อเรารู้สถานภาพการเงินของเรา เราก็พลอยรู้สถานะของตลาดก่อนธนาคารอื่น ข้อนี้จึงเป็นข้อได้เปรียบของธนาคารกรุงไทย
สรุปก็คือธนาคารกรุงไทยในปัจจุบันมีอำนาจควบคุมตลาดเงินได้พอสมควร มีอำนาจต่อรองกับผู้กู้ ไม่ให้คิดกันว่ากรุงไทยต้องอยู่ในฐานะง้อให้กู้ และสามารถปรับฐานะทางการเงินกับแบงก์ชาติเพื่อทำให้ความเคลื่อนไหวของตลาดเงินเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม เริ่มเป็นธนาคารในลักษณะ LEAD BANK มากขึ้น
ประการที่สาม ธนาคารกรุงไทยในด้านการพัฒนาธุรกิจของตัวเองยังไม่ทันกับตลาด เพราะตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ธุรกิจธนาคารไม่ได้เป็นเพียงแค่รับเงินฝากเข้ามาแล้วให้กู้ออกไปในรูปของ โอ.ดี. หรือเงินกู้ที่มีระยะเวลาแน่นอน เพราะปัจจุบันตลาดการเงินของเรามีสินค้าหลายแบบหลายลักษณะ
ด้านลูกหนี้ธุรกิจเดิมๆ นั้น เห็นได้ว่ากรุงไทยไม่มีโฟกัส ไม่รู้ทิศทางในการดำเนินธุรกิจ ทิศทางที่ชัดเจนมีอยู่อย่างเดียว คือให้กู้กับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่แน่นอนเพราะเป็นธนาคารของรัฐ แต่กรุงไทยประกอบธุรกิจธนาคารจึงควรมีเป้าหมายทิศทางที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาด้านโครงสร้างประกอบและโครงสร้างตลาดที่จะบุกออกไป
โครงสร้างประกอบของธนาคารกรุงไทยด้านเงินฝากเป็นส่วนที่ได้เปรียบธนาคารอื่น เนื่องจากมีเงินฝากอุปถัมภ์หรือเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ ในตลาดกรุงเทพฯ เงินฝาก 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของรัฐวิสาหกิจ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอกชน ส่วนตลาดในต่างจังหวัดตัวเลขกลับข้างกันคือเป็นของราชการเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอกชน
สำหรับตลาดในกรุงเทพฯ นั้นผมเห็นว่าธนาคารกรุงไทยแข่งกับแบงก์อื่นที่มีขนาดเดียวกันได้ยาก เพราะเป็นธนาคารของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสนับสนุนโครงการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ประการที่สอง ทำเลที่ตั้งสาขาของธนาคารอยู่ในจุดที่อ่อนแอกว่าแบงก์อื่น ประการที่สาม ประสิทธิภาพด้านบริหารด้อยกว่าโดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ
เมื่อสรุปได้อย่างนี้ก็พอมองเห็นว่าเข็มมุ่งของธนาคารกรุงไทยจะต้องออกไปสู่หัวเมือง เพราะเป็นจุดที่กรุงไทยค่อนข้างเด่น และหากจะแบ่งกลุ่มลูกค้าของเราออกเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง กับขนาดเล็กแล้ว ค่อนข้างแน่นอนว่าเราไม่พร้อมสำหรับลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้ารายใหญ่ที่เรามีอยู่ก็ยังมีปัญหาเรื่องหนี้ที่เป็นข่าวรู้กันทั่วไป
ฉะนั้นธนาคารกรุงไทยจะต้องมุ่งไปหาลูกค้าขนาดย่อม หรือขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก ผมตั้งเป้าหมายว่ากรุงไทยจะต้องมุ่งไปสู่ธุรกิจในลักษณะของ MASS เนื่องจากธนาคารสามารถอาศัยสาขาในต่างจังหวัดที่มีอยู่ 180 สาขา ในขณะที่สาขาในกรุงเทพฯ มีอยู่ 40 สาขา อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นธุรกิจขนาดย่อมก็จำเป็นต้องมีแนวทาง ไม่ใช่ว่าจะให้กู้กับใครก็ได้
ขณะนี้เราจึงอยู่ในช่วงที่กำลังหากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็เห็นอยู่หลายกลุ่มแล้วว่าทิศทางที่ธนาคารกรุงไทยจะมุ่งไปหานั้นเป็นอย่างไร และจะพยายามให้สอดคล้องกับนโยบายให้สินเชื่อของทางการด้วย
ส่วนจะเป็นธุรกิจกลุ่มไหน แนวไหนผมคิดว่ายังเป็นความลับในเชิงธุรกิจ ประเด็นสำคัญก็คือว่าธนาคารกรุงไทยจะต้องมีทิศทางในการประกอบธุรกิจ
ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องระบบการทำงานของธนาคารกรุงไทย เท่าที่เห็นรู้สึกว่า CENTRALIZE มาก เอกสารกองเต็มห้องผมไปหมด ไม่มีการกระจายออกไปเลย เรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงโดยเร็ว จะต้องจัดสรรอำนาจหน้าที่กระจายออกไป มีขอบข่ายชัดแจ้ง สิ่งที่ผมเน้นก็คือต่อไปการทำงานต้องมีแผน ทำเป็นระบบและเป็นทีม
ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเมื่อก่อนเขาทำงานกันอย่างไร!
เรื่องสุดท้าย คือเรื่องลูกหนี้ที่มีปัญหา ธนาคารกรุงไทยนอกเหนือไปจากลูกหนี้ 4 รายที่เป็นข่าวอยู่เสมอก็แทบไม่มีปัญหาเลย เพราะเป็นธนาคารที่คอนเซอร์เวทีฟในเรื่องการให้สินเชื่อมาก ทั้งวิธีการและหลักประกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อเศรษฐกิจในบางภาคตกต่ำ ธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับผลกระทบเลย เช่น เรื่องน้ำตาล โรงเหล้า หรือช้อปปิ้งเซ็นเตอร์
สำหรับลูกหนี้ 4 กลุ่มใหญ่ที่มีปัญหา (กลุ่มศรีกรุง กลุ่มสยามวิทยา กลุ่มชะอำ ไพน์แอปเปิ้ล และกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์) ก็ได้จัดการให้มีการแยกดำเนินการเป็นเฉพาะรายไป มีการตั้งคณะทำงานเป็นเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ เพราะปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มซับซ้อนมาก มีลูกหนี้หลายตัวในกลุ่มเดียวกัน ส่วนลูกหนี้ทั่วไปที่เป็นขนาดกลางหรือขนาดย่อมก็มีคณะกรรมการดูแลขึ้นมาชุดหนึ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาและปรับปรุงหนี้
ผมเชื่อว่าในการแก้ปัญหาเรื่องลูกหนี้รายใหญ่ของเราไม่ใช่เรื่องที่สุดวิสัย หากมีการเจรจากันโดยที่ธนาคารกรุงไทยอาจจะยอมเสียประโยชน์ในเรื่องรายได้ไปบ้าง เช่น อาจจะมีการ RESTRUCTURE หนี้กันใหม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับรายที่ไม่ยอมเจรจากับเรา ธนาคารก็ไม่มีทางเลี่ยงที่จะต้องดำเนินการตามแนวธุรกิจของธนาคารต่อไป