นัดดา ผ่องศรี (หน่อย) เป็นลูกบุญธรรมของอุบล จุลไพบูลย์ เจ้าของกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ
นัดดาได้รับอุปถัมภ์ค้ำชูมาแต่อ้อนแต่ออกจากอุบล ได้รับการส่งเสียให้เล่าเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
(ในขณะที่พี่ๆ บุญธรรมทุกคนจบจากนอก) และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงินของทุกบริษัทในเครือ (ซึ่งไม่มีอำนาจแท้จริง เพราะอำนาจแท้จริงอยู่ที่อุบลกับสุรีย์พร) จนภายหลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งของพี่สาวบุญธรรม สุรีย์พร จุลไพบูลย์ นิมมานเหมินท์ (สุรีย์พร ชอบเอานามสกุลเดิมวางไว้ตรงกลางพ่วงท้ายด้วยนามสกุลสามี-ศิรินทร์เช่นนี้) นัดดาถูกเชิดจากอุบลให้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนสุรีย์พร โดยหน้าที่หลักก็คือคอย “รับหน้า” บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย เนื่องจากช่วงนั้นกิจการของกลุ่มอุตสาหกรมเสถียรภาพเริ่ม “เป๋” แล้ว
นัดดาเข้ารับหน้าที่เป็น “หนังหน้าไฟ” เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2528 ช่วงที่สุรีย์พรกลับอุบลเริ่มหายหน้าหายตาไปจากวงสังคมและแวดวงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลาย
อย่างที่ใครก็คงไม่คาดคิด วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายนอีกราวๆ หนึ่งเดือนต่อมา นัดดา ผ่องศรีตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วย .38 รีวอลเวอร์ยี่ห้อสมิธแอนด์เวสสัน
นัดดาที่ปกติเป็นคนสุภาพอ่อนโยนยิงตัวตายขณะที่อายุเพิ่งจะ 28 ปี เป็นโสด ท่ามกลางคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุของการคิดสั้นเช่นนั้น?
หนึ่งชีวิตได้จากไปแล้วพร้อมๆ ปริศนา?
และถัดมาอีกราวๆ 8 เดือน ก็มีอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องจากไปด้วยกระสุนปืนเป็นศพที่สอง
จ่านายสิบตำรวจสมพล จันทรเมฆา อายุ 35 ปี อดีตตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ทิ้งเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มาใช้ชีวิตเป็นโจรเรียกค่าไถ่
จ่านายสิบตำรวจสมพลกับเพื่อนร่วมแก๊งอีกจำนวนหนึ่งได้ก่อคดีอุกอาจตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2529 นี้คือ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2529 พวกเขาได้ร่วมกันลักพาตัวนายดุลย์ จุลไพบูลย์ กับนางสาวนุชนารถ จุลไพบูลย์ 2 พี่น้องทายาทเจ้าของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ (เป็นลูกของอุบล และเป็นน้องชายน้องสาวของสุรีย์พร) และเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 4 ล้านบาท ขณะต่อรองค่าไถ่ตัวนั้นฝ่ายเจ้าทุกข์ปิดปากเงียบไม่ยอมให้เรื่องแพร่งพรายเข้าหูตำรวจ ส่วนฝ่ายคนร้ายก็ได้นำ 2 พี่น้อง “จุลไพบูลย์” ไปกักขังไว้ในกระท่อมร้างแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
แต่ตำรวจก็รู้จนได้ อีก 20 วันต่อมาทีมล่าตัวโจรเรียกค่าไถ่ก็ลงมือปฏิบัติการชิงตัวประกันได้สำเร็จทั้งดุลย์และนุชนารถปลอดภัย และจ่านายสิบตำรวจสมพล จันทรเมฆา คนร้ายซึ่งตามข่าวบอกว่ายิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกเป่าดิ้นสิ้นชีวิต มีปืนพกขนาด 11 มม. ปืนลูกซองสั้นกับระเบิดมืออีก 1 ลูกตกอยู่ข้างๆ ศพ
การตายของอดีตตำรวจ สภ.อ. สามพราน อย่าง จ.ส.ต. สมพลนั้น ถ้าจะว่าไปก็คงจะไม่มีอะไรที่ต้องตั้งคำถาม แต่คดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่นี้สำหรับผู้อยู่ในวงในหลายคนกลับเห็นว่าเป็นปริศนามาก
เพราะเผอิญมันเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพกำลังยุ่งๆ อยู่พอดีด้วย
“มันเป็นช่วงเวลาที่ตัวแม่คุณอุบลทะเลาะกับลูกสาวคือคุณสุรีย์พร เป็นช่วงที่เจ้าหนี้พยายามตามหาตัวลูกหนี้ แล้วจู่ๆ ก็ได้รับคำตอบว่าดุลย์กับนุชนารถซึ่งก็เป็นผู้บริหารอยู่ด้วยถูกจับตัวเรียกค่าไถ่หายหน้าหายตาไปพร้อมๆ กับแม่และพี่สาว เขาก็งงมากว่ามันอะไรกัน ส่วนขวัญและกำลังใจของคนงานก็กระทบกระเทือนมากเพราะส่วนมากก็เป็นคนของสุรีย์พร ที่จู่ๆ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง…” แหล่งข่าวที่อยู่วงในคนหนึ่งเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ”
ช่วงแรกๆ บรรดาเจ้าหนี้หลายรายก็เลยอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องตลก ซึ่งถ้าไม่กลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์แล้วทุกคนก็คงจะไม่เชื่อ
และถึงแม้ว่าจะต้องเชื่อก็ยังมีเงื่อนปมให้คลางแคลงใจอีกนั่นแหละ
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้คลี่คลายคดีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปักใจเชื่อโดยพยานหลักฐานหนาแน่นว่า แก๊งโจรจับคนเรียกค่าไถ่นี้มีหัวหน้าแก๊งชื่อร้อยตำรวจโทประจวบ จันทรเมฆา อดีตนายตำรวจประจำอยู่กองตรวจภาษี ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการเพราะมั่วสุมการพนันเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
ร้อยตำรวจโทประจวบเป็นญาติกับจ่านายสิบตำรวจสมพลที่ถูกยิงเสียชีวิตเพราะต่อสู้ขัดขืนการจับกุม และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เขามีภรรยาทำงานอยู่ในบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรการ
และทุกคนในโรงงานเซรามิกนี้ล้วนทราบดีว่า ภรรยาของร้อยตำรวจโทประจวบเป็นคนสนิทของสุรีย์พร
ในช่วงที่ร้อยตำรวจโทประจวบถูกจับกุมตัวในฐานะหัวหน้าแก๊งคนร้ายนั้น หัวหน้าฝ่ายธุรการคนนี้หายหน้าหายตาไปจากโรงงานพักหนึ่ง โดยอ้างว่ามีธุรกิจส่วนตัวที่จะต้องดำเนินการ หลังจากนั้นก็กลับเข้ามาทำงานตามปกติ
ก็นั่งทำงานประจันหน้ากับเหยื่อโจรค่าไถ่ทั้งดุลย์และนุชนารถอย่างไม่สะทกสะท้านท่ามกลางความงุนงงของพนักงานทุกคนในโรงงาน
“ผมทราบแล้วก็มึนไปหมด ไม่รู้ว่ามันอะไรกันแน่…” แม้แต่เจ้าหนี้ของกลุ่มเสถียรภาพรายหนึ่งก็อดงุนงงไปด้วยไม่ได้
ถ้าจะว่าไปก็คงเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยปริศนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฆ่าตัวตายของนัดดา ผ่องศรี ซึ่งวิจารณ์กันมากว่าสาเหตุเพราะถูกกดดันอย่างหนักจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่เลี้ยง
“เท่าที่ทราบลูกเลี้ยงคนนี้รับรู้เรื่องราวไว้มากพอสมควร แม่กับพี่สาวทำอะไรรู้หมด ก็เป็นได้ที่อาจจะไม่พอใจการกระทำหลายๆ อย่าง แต่ต้องเก็บกดไว้เพราะเกรงใจผู้มีพระคุณ อีกอย่างก็เป็นคนหงิมๆ ไม่ค่อยมีปากมีเสียงและขี้ใจน้อยอยู่ด้วย เท่าที่ฟังมาก็มีสภาพเช่นนี้เป็นพื้นฐาน…”
ผู้รู้ระดับวงในคนหนึ่งสาธยายให้ฟัง
ว่ากันว่าจุดระเบิดที่ทำให้นัดดาตัดสินใจคิดสั้นนั้น เป็นช่วงที่นัดดาถูกเชิดให้อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนพี่บุญธรรม ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เจ้าหนี้หลายรายพยายามส่งคนเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อจะหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพไม่สามารถชำระหนี้ได้
แหล่งข่าวจากหลายสายระบุว่า นัดดาจะด้วยเจตนาเช่นใดไม่ทราบ ได้นำข้อมูลภายในบางอย่างไปบอกกับเจ้าหนี้
“เธออาจจะยังอ่อนหัดอยู่ด้วยก็ได้ เลยทำไปเช่นนั้น” บางคนวิจารณ์ และผลก็คือนัดดา ถูกด่าว่าอย่างสาดเสียเทเสียจากแม่เลี้ยง
หลังจากนั้นไม่นานนัดดาก็ยิงตัวตาย!!
สำหรับเจ้าหนี้ทั้งหลายนั้นรับทราบข่าวการตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองของนัดดาด้วยความรู้สึกที่สลดใจเอามากๆ แรกๆ หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นเพราะการบีบรัดเรื่องหนี้สินที่ทำลงไปหรือไม่
แต่เมื่อได้ข้อมูลเข้ามาบ้างแล้วว่าอะไรเป็นอะไรนั่นแหละจึงค่อยสบายใจขึ้น
“ผมว่าเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เจ้าหนี้หลายรายรู้สึกขยาดไปอยากไปแตะต้องกลุ่มนี้มาก…” เจ้าหนี้รายหนึ่งพูดกับ “ผู้จัดการ”
แต่สำหรับผู้เป็นต้นเหตุล่ะ… จะรู้สึกสำนึกถึงบาปบ้างหรือไม่ และนี่ก็คือปริศนาสุดท้ายสำหรับการตายของคนสองคนที่อีกสักพักทุกคนก็คงจะลืมๆ กันไป