ลึกเข้าไปในซอยแคบๆ ชื่อ “นวลทอง” ซึ่งแยกจากถนนเศรษฐกิจ 1 ก่อนถึงโรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพเพียงไม่เกิน 100 เมตร ด้านซ้ายมือริมซอยบนที่ดินขนาด 7 ไร่เศษๆ ที่ครั้งหนึ่งไม่ถึงเดือนมานี้เคยเป็นร่องสวนรกๆ บัดนี้ดินได้รับการถมและปรับอย่างเรียบร้อย มีร่องรอยการวางศิลาฤกษ์แล้วและคนงานกำลังตอกเสาเข็มกันอย่างขมีขมัน
ชาวบ้านย่านนั้นทราบกันเกือบทุกคนว่าที่ตรงนี้จะใช้สร้างเป็นโรง “ถ้วยชาม” เหมือนๆ กับโรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพซึ่งก็คงจะหมายถึงโรงงานเซรามิก และก็ทราบด้วยว่าผู้ที่ดำเนินงาน ตั้งแต่ซื้อที่ถมที่ไปจนการควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดนั้นเป็นลูกสาวเจ้าของโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ
ชาวบ้านเรียกเธอว่า “คุณยุ้ย” หรือชื่อจริงของเธอก็คือสุรีย์พร นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ คนที่สร้างหนี้สินร่วมกับแม่-อุบล จุลไพบูลย์ ไว้ถึงเกือบ 1,600 ล้านบาท ก่อนจะสะบัดก้นลาออกจากตำแหน่งอย่างไม่ยี่หระกับเสียงครหาที่ดังมาตามหลัง
นับตั้งแต่สุรีย์พรหรือยุ้ยลาออกจากตำแหน่งนั้นก็มีข่าวติดตามมาในทันทีว่าเธอเดินทางไปต่างประเทศ เจ้าหนี้หลายรายที่อยากเจรจาวิสาสะด้วยก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กันจวบจนทุกวันนี้ก็ยังพูดกันไม่ขาดปากว่า “คุณยุ้ย” ยังไม่กลับ และก็คงจะไม่กลับอีกเป็นเวลานานนัก
แต่ก็มีไม่น้อยคนอีกเหมือนกันที่เชื่อว่าสุรีย์พรยังอยู่ในเมืองไทย และไม่น้อยคนนี้ถึงจะพูดไปโดยไม่มีอะไรมายืนยัน แต่ก็ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
“คุณยุ้ย” นั้นไม่ได้หนีหน้าไปไหน (ยกเว้นเจ้าหนี้)!!
ว่ากันว่าช่วงแรกๆ ที่จำเป็นต้องเก็บเนื้อเก็บตัวบ้างก็เพราะเผอิญมีคดีอาญาเกี่ยวกับเช็คกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย และอีก 2-3 สถาบันการเงิน ซึ่งจำนวนเงินก็แค่รายละ 2-3 ล้านบาท ครั้นคดีที่ว่านี้สามารถตกลงประนีประนอมกันได้โดย “ยอดสามี” ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้เจรจาขอร้องให้ สำหรับสุรีย์พรนั้นก็คงจะทราบดีว่า ต่อไปนี้เธอไม่จำเป็นต้องไปเกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ แล้ว เพราะอย่างมากก็เจอคดีแพ่ง หรือถ้าจะฟ้องล้มละลายถึงขั้นต้องปิดโรงงานเสถียรภาพสุรีย์พรก็คงจะไม่กลัวเนื่องจากเธอรวยแล้ว…ประทานโทษ…เธอไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของแม่ (อุบล จุลไพบูลย์) อีกต่อไปแล้วนั่นเอง
ดูเหมือนฝ่ายเจ้าหนี้ต่างหากที่จะต้องกลัวเพราะขืนบุ่มบ่ามไม่ดูตาม้าตาเรือก็คงจะต้องเตรียมตั้งสำรองหนี้สูญเอาไว้ล่วงหน้า
เมื่อไม่ต้องกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ สุรีย์พรในช่วงเดือนกว่าๆ มานี้ก็จัดการติดต่อซื้อที่ดินจากชาวบ้านย่านใกล้ๆ โรงงานเก่าของเธอเป็นจำนวน 7 ไร่เศษ ราคาซื้อขายก็ 1 ล้าน 2 แสนบาทเศษอีกนิดหน่อย (เจ้าของบอกกับ “ผู้จัดการ” ว่าขายให้คุณยุ้ยในราคาไร่ละ 1 แสน 8 หมื่นบาท) จัดการเช่าอาคารพาณิชย์ใกล้ๆ กับบริเวณที่ดินเอาไว้ 2 คูหาทำเป็นสำนักงานชั่วคราว ถมที่ดินทันทีหลังจากชำระเงินซื้อขายกัน เสร็จแล้วก็ลงมือก่อสร้างโรงงานเซรามิก
เดือนเศษๆ มานี้สำหรับสุรีย์พรแล้วก็คงจะมีงานยุ่งเป็นพิเศษ และก็ต้องเข้ามาตรวจตราการก่อสร้างโรงงานอย่างน้อยที่สุดก็ 2 วันครั้ง
“แหม คุณคลาดกับคุณยุ้ยนิดเดียว ถ้ามาเร็วกว่านี้ก็พบกันแล้ว” เจ้าของร้านขายเครื่องดื่มหน้าโรงงานที่กำลังสร้างพูดกับ “ผู้จัดการ”
มีข่าวที่พูดกันระดับวงในว่า โรงงานแห่งนี้ยื่นขออนุญาตตั้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในนาม
มณฑา พานิชวงศ์ น้าสาวของสุรีย์พร แต่ไม่มีใครทราบว่าได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอแล้วหรือไม่ “คือถ้าไม่ได้บีโอไอนี่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการตั้งโรงงานเซรามิกถ้าจะแข่งขันได้มันต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองจากรัฐบาลด้วย…”
กรรมการผู้จัดการบริษัทการเงินแห่งหนึ่งตั้งปุจฉา
และก็มีข่าวแพร่สะพัดไม่แพ้กันว่า คนงานของโรงงานใหม่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนงานที่ลาออกมาจากโรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ รวมทั้งระดับบริหารบางตำแหน่งด้วย
“ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายคนเริ่มทยอยลาออกไปบ้างแล้ว และก่อนหน้านี้คนงานจำนวนหนึ่งที่ภักดีกับคุณยุ้ยก็พูดกันให้แซดว่า เขาเชื่อว่าคุณยุ้ยต้องไม่วางมือจากวงการนี้ง่าย ๆ” คนที่รู้ความเป็นไปภายในโรงงานเสถียรภาพเล่าให้ฟัง
ก็อาจจะยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าสุรีย์พรนั้นมีเลือดของความเป็นนักประกอบการอยู่เต็มตัว
นักประกอบการนั้นมักจะมีอยู่ 2 ประเภทเมื่อกิจการเจ๊ง
ประเภทแรก เจ๊งเพราะปัจจัยบางประการ แต่ยังมีคุณธรรมและความรับผิดชอบพอที่จะทำให้เจ้าหนี้หรือวงสังคมยังให้ความเชื่อถือ คนประเภทนี้ถึงล้มก็ยังมีคนอยากช่วยค้ำชูให้ลุกขึ้นอีกครั้ง
ประเภทที่สอง เจ๊งแล้วรวย ก็คงไม่ต้องบอกก็ได้กระมังว่าระดับคุณธรรมนั้นมีอยู่แค่ไหน
สำหรับสุรีย์พร นิมมานเหมินท์ นั้น หลายคนกำลังเฝ้ามองอยู่ว่าเธอจะเป็นนักประกอบการประเภทไหนกันแน่?