Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529
โปรดทราบ…เสถียรภาพมีโรงงานใหม่แล้ว หนี้เก่า 1,000 ล้าน เจ้าหนี้จะเก็บกับใครล่ะ             
 

   
related stories

เจ้าหนี้เสถียรภาพถึงขั้นจะหัวร่อก็มิออกร้องไห้ก็มิได้เสียแล้ว!

   
search resources

Ceramics
อุบล จุลไพบูลย์
เสถียรภาพอุตสาหกรรม, หจก.




ปีกว่ามานี้สำหรับกลุ่มเสถียรภาพแห่งตระกูล "จุลไพบูลย์" มันช่างเป็นคนละเรื่องกับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน 20 ก่อนหน้านั้น "จุลไพบูลย์" สร้างกลุ่มเสถีรภาพขึ้นมาด้วยเงินลงทุนและเงินกู้ก้อนใหญ่เป็นช่วงที่ชื่อเสียงกำลังหอมกรุ่นมาก แต่กว่าปีมานี้ "จุลไพบูลย์" กลับต้องเจอปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ชื่อเสียงและเครดิตพังพินาศในพริบตาเดียว "จุลไพบูลย์" กลายเป็นชื่อแห่งความอัปยศที่ "บิ๊กบอส" หลายคนในแวดวงการเงินได้ยินแล้วขยะแขยง เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเพราะใครกันแน่?

ก่อนหน้าเดือนสิงหาคม 2528 ถ้ามีคนพูดว่าอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายเครื่องเซรามิคของกลุ่มเสถียรภาพเจ้าของเครื่องหมายการค้า "เอสพี" และ "โลตัส" เป็นอุตสาหกรรมที่ทำกันเละเทะและกำลังจะเอาตัวไม่รอด

ก็คงจะไม่มีใครเชื่อคำพูดของผู้พูดเช่นนี้เด็ดขาด!

กลุ่มเสถียรภาพเป็นกลุ่มธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวกันขึ้นมาด้วยระยะเวลากว่า27 ปีอย่างต่อเนื่อง จากโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบโบราณขนาดเล็กๆ และดำเนินการในนามส่วนตัวโดยสองสามีภรรยา-พงษ์เทพและอุบล จุลไพบูลย์มาเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่จำนวน 7 โรงและดำเนินงานในรูปของบริษัทในเครือถึง4บริษัทซึ่งถือหุ้นโดยคนในครอบครัว "จุลไพบูลย์" จากสินทรัพย์เพียงไม่กี่แสนบาทมเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 800 ล้านบาท (หรืออาจจะกว่าพันล้านบาทตามราคาคุยของเจ้าของ) และจากกลุ่มที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักมาเป็นกลุ่มที่วงการธุรกิจอุตสาหกรรมรู้สึก "ทึ่ง" ตลอดจนเป็นกลุ่มที่มีเครดิตสูงเอามากๆ ในสายตาของสถาบันการเงินทั้งหลาย

ก็ขนาดนี้แล้วใครจะไปเชื่อคำพูดลม ๆ แล้ง ๆ เช่นนั้น !!!

ในทางตรงกันข้ามประตูห้องของผู้บริหารสถาบันการเงินกลับต้องเปิดให้เสมอสำหรับสองแม่ลูกผู้บริหารคนสำคัญแห่งกลุ่มเสถียรภาพ….อุบล จุลไพบูลย์และสุรีย์พร จุลไพบูลย์ นิมมานเหมินทร์…หากเธอทั้งสองนี้ต้องการพบเพื่อขอการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะ 10-20 ล้าน หรือ 100-200 ล้านบาทก็เถอะ ล้วนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

อุบล จุลไพบูลย์ นั้นเป็นคนที่ค่อนข้างจะนิ่มหากคู่สนทนาเป็นคนนิ่มแต่จะเปลี่ยนเป็นคนแข็งทันทีถ้าอีกฝ่ายแข็ง "คือเป็นน้ำเมื่อเราเป็นน้ำ และเป็นเหล็กเมื่อเราเป็นเหล็ก…" กรรมการผู้จัดการบริษัทการเงินแห่งหนึ่งที่ปล่อยเงินให้กลุ่มเสถียรภาพไปกว่า 10 ล้านพูดให้ฟัง

แต่สำหรับบางคนที่สนิทมานานก็ว่าอุบลเป็นคนประเภทที่ถ้าจะแทงคนแล้วก็จะแทงด้านหน้า…ค่อย ๆ เสียบมีดทีละนิด..แถมยังเอื้อนเอ่ยอีกว่า ใจเย็น ๆ นะเดี๋ยวก็ตายแล้ว?

อุบล เดิมเป็นคนพระประแดง จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนจงหัว มีพ่อชื่อแสง แม่ชื่อหงษ์ สกุลเดิมคือควรตระกูล เทือกเถาเหล่ากอเป็นคนไทยเชื้อสายจีน และเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งนอกจากอุบลแล้วก็ประกอบด้วย มณฑา พานิชวงศ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการโรงรับจำนำ 8 แห่งแต่งงานกับปรีชา พานิชวงศ์ อธิบดีศาลอาญา และอีกคนคือปัญญา ควรตระกูล เจ้าของหมู่บ้านปัญญารีสอร์ท นักธุรกิจในวงการค้าที่ดินและบ้านจัดสรรที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง

อุบลแต่งงานกับพงษ์เทพ จุลไพบูลย์เมื่ออายุ 23 ปี ก่อนหน้านั้นอุบลเริ่มงานด้วยการช่วยพ่อแม่ค้าขายในร้านขายของชำตั้งแต่อายุเพียง 17 ที่พระประแดง ครั้งแต่งงานแล้วก็แยกตัวมาทำการค้าเครื่องกระป๋อง บุหรี่และเครื่องเหล็กกับสามีที่กรุงเทพฯ

ถ้าพูดถึงเล่ห์เหลี่ยมพ่อค้า อุบลก็ค่อนข้างจะมีแพรวพราวมากในฐานะที่คลุกมาตั้งแต่เป็นสาวแรกรุ่นจนย่างเข้าความเป็นสาวรุ่นแรก (ปัจจุบันอายุ 63)

ในปี 2497 นั้นอุบลกับสามีได้ร่วมหุ้นกับน้อง ๆ ของมณฑา พานิชวงศ์ และปัญญา ควรตระกูล แล้วก็เพื่อน ๆ สร้างโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในนามบริษัทพอสเลนไทย จำกัด ลงเงินและลงมือสร้างโรงงาน แต่ยังไม่ทันลงมือผลิตก็ต้องล้มละลายไปเสียก่อน ว่ากันว่าหุ้นส่วนทุกคนหมดตัวไปตาม ๆ กัน

จะยกเว้นก็เพียงอุบลกับสามีที่ยังมีเงินเหลือพอจะรับซื้อกิจการนี้ได้จากกองล้มละลายกระทรวงยุติธรรมและก็เป็นการกันเหวิถีชีวิตสองสามีภรรยา "จุลไพบูลย์" จากเอเย่นต์บุหรี่ (ร้ายขายเครื่องกระป๋องบุหรี่และเครื่องเหล็กเติบโตจนสามารถได้เป็นเอเย่นต์ขายบุหรี่ในเวลาต่อมา) มาเป็นเจ้าของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเล็ก ๆ เมื่อปี 2501

"พงษ์เทพเป็นคนขยันขันแข็งมาก เขาเที่ยวเดินทางไปสำรวจแหล่งวัตถุดิบหลายแห่ง ในที่สุดก็พบแหล่งดินขาวที่จังหวัดลำปางและดินเหนียวอย่างดีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ใช้เป็นวัตถุดิบหลักของโรงงานเอยมาจนถึงปัจจุบัน…" คนรุ่นเดียวกับพงษ์เทพ จุลไพบูลย์ช่วยฟื้นความหลังกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2503 พร้อม ๆ กับการก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเสถียรภาพอุตสาหกรรมขึ้นดำเนินกิจการแทนการดำเนินงานในนามบุคคลธรรมดานั้น พงษ์เทพกับอุบลได้ตัดสินใจทำให้ธุรกิจของเขามีหนี้ครั้งแรกจำนวน 2 ล้านบาทกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งก็เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2503 เหมือนกัน และห้างหุ้นส่วนจำกัดเสถียรภาพก็เป็นลูกค้าที่มากู้เงินเป็นรายแรกของบรรษัทอีกด้วย

เวลานั้นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของบรรษัทฯ ช่วงสั้น ๆ คาบเกี่ยวกับหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งระหว่างปลายปี 2502 ถึงเดือนสิงหาคม 2503 แล้วตามด้วยหม่อมหลวงเดชจนถึงปี 2504 ส่วนโรงงานเสถียรภาพได้รับเงินกู้งวดแรกในฐานะลูกค้าหมายเลข 1 เมื่อเดือนกันยายน 2503 วงเงิน 2 ล้านบาท) พระบริภัณฑ์ยุทธกิจอดีตรัฐมนตรีคลังดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ดูแลโครงการเงินกู้ก้อนนี้ของบรรษัทฯ ก็คือ ผดุง เตชะศิรินทร์ รองผู้จัดการทั่วไปในปัจจุบัน!

ก็อาจจะพูดได้ว่าผดุง เตชะศิรินทร์นั้นรับรู้เรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มเสถียรภาพดีมาก ๆ เพราะสัมพันธ์มาโดยตลอดไม่ว่าจะขึ้นไปอยู่ตำแหน่งสูงระดับไหน และก็ว่ากันว่าถ้าจำเป็นจะต้องหักด้ามพร้าด้วยเข่ากับพยายามประคับประคองกันอย่างถึงที่สุดแล้ว คนอย่างผดุงก็คงจะเลือกประการหลัง หากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเสถียรภาพของ "จุลไพบูลย์"?

เงินกู้งวดแรกที่พงษ์เทพกับอุบลกู้จากบรรษัทฯ นี้ถูกใช้ไปในการปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตจากเตาเผาแบบโบราณมาเป็นแบสมัยใหม่ ต่อมาก็มีการกู้อีกเป็นงวดที่สองในปี 2504 วงเงิน 6 แสนบาท ตามด้วยงวดที่ 3 ในปี 2505 วงเงิน 7 แสนเศษ และอีก 6 ล้านบาทเป็นงวดที่ 4 ในปี 2510 เพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนรูปการดำเนินงานจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมาเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพจำกัด

แล้วก็กู้มาเรื่อย ๆ เพื่อขยายกิจการจนท้ายที่สุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2528 นี้ กลุ่มเสถียรภาพมีหนี้สินอยู่กับบรรษัทฯ ทั้งสิ้น 134 ล้านบาทกับเศษอีกนิดหน่อยจัดเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง

"พวกเขามีความรับผิดชอบดีมากกู้ไปแล้วก็ไม่มีบิดพริ้ว ส่งทั้งต้นและดอกตรงตามเวลาตลอดมา กิจการก็เติบโตอย่างน่าพอใจ บรรษัทฯ ก็สบายใจ มาขอความช่วยเหลืออย่างไรก็ไม่อยากขัดข้อง นอกจากนี้เวลาคนของสถาบันการเงินจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาและดูงาน บรรษัทฯ ก็มักจะพาไปชมโรงงานของกลุ่มเสถียรภาพ เขาก็ทึ่งมาก ทึ่งในแง่เมื่อรับทราบถึงการสร้างเนื้อสร้างตัวจากเล็กสู่ใหญ่และก็ทึ่งที่ผู้บริหารตลอดจนคนงานกว่า 80 เปอร์เซนต์เป็นผู้หญิงล้วน ๆ…" อดีตลูกหม้อในบรรษัทเปิดเผยให้ฟังและยังเสริมด้วยว่า "ก็มีการกู้เงินหลายงวดในช่วงหลัง ๆ ที่ผู้บริหารไฟเขียวมาจากข้างบนแล้ว ข้างล่างก็ต้องว่ากันไปว่ามันดียังงั้นเหมาะสมอย่างงี้ สมควรปล่อยกู้ได้ ดู ๆ แล้วก็น่าสมเพชดี…"

ก็ไม่ทราบว่าบรรษัทฯ เอาใจใส่ดูแลลูกค้ากันอย่างนี้ทุกรายหรือไม่?

และเมื่อเครดิตกับบรรษัทฯ ดีซะอย่าง แหล่งเงินในภาคเอกชนก็ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับลูกค้าอย่างกลุ่มเสถียรภาพ

จากการที่ติดต่อกับบรรษัทฯ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็ทำให้พงษ์เทพและอุบล จุลไพบูลย์ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ ยม ตัณฑเศรษฐี กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2505-2507 และโดยที่ยม ตัณฑเศรษฐี ก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่งในบรรษัทฯ เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมาก่อน เขาจึงแนะนำเชิงฝากฝังให้พงษ์เทพและอุบลได้มีโอกาสกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งพงษ์เทพและอุบลก็กู้มาเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดมีหนี้กันอยู่ทั้งหมดราว ๆ 267 ล้านบาท

จากนั้นก็อีกหลายแบงก์โดยใช้วิธีใกล้ชิดคนหนึ่งเพื่อก้าวไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งคน ๆ นั้นอยู่ในระดับตัดสินใจด้วยกันทุกคน

เงินกู้ทุก ๆ ก้อนของกลุ่มเสถียรภาพนั้น ไม่เคยปรากฏว่าเป็นการเข้าตามตรอกออกตามประตู แต่มักจะมีลักษณะถูกสั่งจากเบื้องบนลงมาเบื้องล่างทุกครั้งไป… และนี่คือเคล็ดลับซึ่งถ่ายทอดกันต่อมาจนถึงชั้นลูก ๆ ของพงษ์เทพและอุบล โดยเฉพาะลูกสาวคนโตที่ชื่อสุรีย์พร…

พงษ์เทพ จุลไพบูลย์ เสียชีวิตในปี 2516 ขณะเมื่อกิจการเดินไปได้แล้วเกือบครึ่งทาง กิจการตกอยู่ในความรับผิดชอบของอุบลและลูก ๆ และในปีที่เขาเสียชีวิตนั้นก็ได้มีการแต่งตั้งอุบลเป็นประธานบริษัทแทนพงษ์เทพ สุรีย์พร จุลไพบูลย์ (ช่วงนั้นยังไม่แต่งงาน) เป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งเดิมเป็นตำแหน่งของแม่

สุรีย์พรมีชื่อเล่นว่า "ยุ้ย" เป็นลูกสาวคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ซึ่งนอกจากตัว "ยุ้ย" แล้วเรียงลำดับลงมาก็มี ศศิ หาญพานิชเจริญ (อายุ 31 แต่งงานกับทวีศักดิ์ หาญพานิชเจริญ) คนนี้ถูกกำหนดให้รับผิดชอบงานด้านการตลาดของกลุ่ม นุชนารถ จุลไพบูลย์ (อายุ 27) ดูแลงานทางด้านบัญชีและดุล จุลไพบูลย์ทายาทชายเพียงคนเดียวของพงษ์เทพกับอุบล (อายุ 25) ดูแลด้านการผลิต

นอกจากนี้ก็มีน้องสาวบุญธรรมของ "ยุ้ย" อีกคนหนึ่งชื่อ นัดดา ผ่องศรี ซึ่งยิงตัวตายเมื่ออายุเพียง 28 (อ่านเรื่องของนัดดา ผ่องศรี ได้จากล้อมกรอบ) ดูแลด้านการเงิน

สุรีย์พร ปัจจุบันอายุ 39 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและโททางด้านเซรามิคและซีเมนต์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันตะวันตก เคยเข้ารับการฝึกงานทางด้านการก่อสร้างเตาเผาเซรามิคและพื้นฐานของเซรามิคที่บริษัท KERAMISCHE INDUSTRIES BEDARFS K.G. PAUL GATZKE และการผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (TABLE WARE) ที่บริษัท KONIGLICHE PORZELLAN MANUFACTOR ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเซรามิคของเยอรมันตะวันตก

ดูจากพื้นฐานการศึกษาตลอดจนประสบการณ์แล้ว สุรีย์พรก็ค่อนข้างจะเหมาะมากหากจะทำงานในฐานะวิศวกรที่ควบคุมการผลิตเซรามิค แต่สุรีย์พรก็ถูกดันให้ขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเพราะเผอิญมันเป็นกิจการของครอบครัวที่จะต้องหาคนในครอบครัวมารับผิดชอบ โดยที่ช่วงแรก ๆ อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดยังอยู่ที่แม่ (อุบล) เพียงคนเดียว และการหมุนเงินก็เป็นหน้าที่ของแม่

สุรีย์พรนั้นเป็นคนที่ถ้าใครรู้จักก็จะต้องบอกว่าเป็นคนที่มีบุคลิกตรงกันข้ามกับแม่ สุรีย์พรในสายตาคนทั่ว ๆ ไปเป็นคนเย่อหยิ่ง พูดจามะนาวไม่มีน้ำและค่อนข้างจะแข็งกร้าวซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกว่าเกิดมาบนกองเงินกองทองก็เป็นไปได้

"เขาเป็นคนชอบแสดงตัวร่ำรวยและยกตนข่มท่านตลอดเวลา ซึ่งก็พอ ๆ กับน้องสาวที่ชื่อ "ศศิ" เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินใหญ่แห่งหนึ่งพูดถึงสุรีย์พรและน้องในฐานะที่เคยติดต่อธุรกิจกัน

ส่วนทางด้านผู้บริหารในแวดวงการเงินหลายคนก็ว่า "ผมเบื่อมากเวลาคุยกับแก โดยส่วนตัวผมเห็นว่าแกไม่เป็นท่า ดูน่ารำคาญมาก…"

แต่สำหรับครอบครัว "จุลไพบูลย์" แล้วก็คงไม่มีใครที่ไม่ยอมรับ "ยุ้ย" และถึงแม้ว่า "ยุ้ย" จะมีบุคลิกที่ต่างจากแม่อย่างไรในสายตาคนภายนอก แม่ลูกคู่นี้ก็มีรสนิยมที่เหมือน ๆ กันอย่างหนึ่ง คือชอบ "เพชร" ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าทั้งคู่ล้วนเป็นตู้เพชรเคลื่อนที่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าไหร่

สุรีย์พร นั้นเขามารับผิดชอบงานของครอบครัวพร้อม ๆ กับความรู้สมัยใหม่ที่อุส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนมาจากเมืองนอก สุรีย์พรเป็นเจ้าของความคิดที่ให้ครอบครัวสร้างโรงงานที่หกขึ้นในปี 2518 เพื่อผลิตอิฐทนไฟซึ่งจะใช้สำหรับเตาเผาเซรามิคภายใต้อุณหภูมิเป็น 1,000 องศาเป็นโรงแรกในประเทศไทย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโรงงานโรงที่เจ็ดภายใต้การดำเนินงานของบริษัทบัวหลวงเซรามิคในปี 2523 เพื่อผลิต TABLE WARE คุณภาพสูงโดยเฉพาะ

"ตั้งแต่ยุ้ยขึ้นมารับผิดชอบ สำหรับกลุ่มเสถียรภาพก็เป็นช่วงก้าวกระโดดอย่างแท้จริง เฉพาะโรงงานที่เจ็ดนั้นก็ลงเงินไปกว่า 300 ล้านบาทหรือเอาอีก 6 โรงงานมารวมกันก็ยังลงทุนไม่เท่า มันเป็นช่วงไม่กี่ปีที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องกู้มา แต่จากการผูกขาดตลาด TABLE WARE นั้นก็ทำให้โรงงานที่เจ็ดนี้ ทำรายได้ให้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซนต์ของยอดขายทั้งหมด พวกโรงแรมชั้นหนึ่งสั่งกันจนผลิตแทบจะไม่ทัน และเพราะผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาดนี่แหละที่ทำให้เมื่อต้นปี 2526 กลุ่มเสถียรภาพเจ้าของ "โลตัส" ต้องทะเลาะกับกลุ่มเซ็นทรัลเจ้าของโรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า จำได้ไหมเล่า…" แหล่งข่าวในวงการผลิตกระเบื้องปูพื้นรายหนึ่งบรรยายยาวยืด

อย่างไรก็ตามเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้สำหรับโรงงานที่เจ็ดตลอดจนเงินใช้จ่ายหมุนเวียนนั้น ก็ "ยุ้ย" ผู้เย่อหยิ่งและไม่มีใครชอบขี้หน้านี่แหละที่เป็นผู้ไปเอามาจากแหล่งเงินหลายสิบแห่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารแหล่งเงินส่วนมากเหล่านี้ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่อยากจะติดต่อด้วย…" ก็เถอะ

ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ปมเงื่อนสำคัญแห่งการได้มาซึ่งเงินกู้นั้นอยู่ที่บารมีของคนชื่อ ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่เผอิญเป็นสามีของ "ยุ้ย"

ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา ศิรินทร์เกิดในครอบครัวผู้ดีเก่าทางภาคเหนือ พ่อของศิรินทร์ ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ และพี่ชายคนเดียวที่ชื่อธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นั้นปัจจุบันก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์

ศิรินทร์ เมื่อกลับจากนอกได้เข้าทำงานกับซิตี้คอร์ปในประเทศไทย จากนั้นก็ย้ายมาที่ธนาคารเอเซียและขณะนี้เขามีตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบด้านการเงิน

"ถ้าพูดถึงคนในรุ่นเขาที่เป็นเพื่อนรักกันก็เป็นผู้บริหารระดับ "ท้อป" ของธนาคารและบริษัทการเงินนับเป็นสิบ ๆ แห่งคนที่พอรู้จักศิรินทร์เปิดเผย

ศิรินทร์นั้นกึ่งเล่ากึ่งบ่นกับเพื่อน ๆ หลายคนว่า อุบลโกรธมากเมื่อทราบว่าลูกสาวจะแต่งงานกับเขา "เขาพูดนานแล้วว่าจะไม่ให้สมบัติสักชิ้น และจะต้องทำลายศิรินทร์ให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ที่ดินที่ศิรินทร์กับเมียปลูกบ้านอยู่ปัจจุบันนี้ก็น้าสาวของยุ้ยที่ชื่อมณฑา พานิชวงศ์ เป็นคนให้ โอย..คุณอุบลนี่บทแกจะหินแกหินจริง ๆ…" เพื่อนศิรินทร์คนหนึ่งเล่าอย่างเปิดอก ซึ่งก็ไม่มีใครทราบสาเหตุว่าทำไมอุบลจึงไม่ชอบลูกเขยอย่างศิรินทร์

"อาจจะเป็นเพราะความเป็นสายเลือดผู้ดีเก่าของศิรินทร์มันเข้าไม่ได้กับเศรษฐีใหม่เชื้อสายจีนอย่างจุลไพบูลย์มั้ง…" เพื่อนคนเดิมถือโอกาสคาดเดา

แต่ศิรินทร์ก็เป็นคนรักเมียและเชื่อเมียมาก ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ไม่เคยสนใจเลยว่าธุรกิจของเมียกับแม่ยายเป็นอย่างไร ศิรินทร์จะรับทราบก็เฉพาะที่ "ยุ้ย" บอกเล่าให้ฟังเท่านั้น

ซึ่งข้อมูลที่ "ยุ้ย" พร่ำบอกยอดสามีก็คือ กลุ่มเสถียรภาพมีทรัพย์สินกว่าพันล้านบาทและมีหนี้สินอยู่ราว ๆ 300 ล้านบาท

ในช่วงต้นปี 2528 จนถึงก่อนหน้าเดือนสิงหาคมซึ่งรวมระยะเวลาเพียงไม่ถึง 8 เดือนนั้น เป็นช่วงที่อุบล จุลไพบูลย์ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างยาวนานเพื่อรักษาอาการปวดกระดูกสันหลัง (จะเป็นเพราะก้มนับเงินมากหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) สำหรับสุรีย์พรก็เป็นช่วงที่กำลังต้องการใช้เงินอย่างหนัก

"ดูจากข้อมูลที่พอจะค้นหาได้ก็พบว่าเพียงช่วงสั้น ๆ แค่ 8 เดือนนี้เองที่ยุ้ยทำหนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 800 ล้านบาทเป็นราว ๆ 1,600 ล้านบาท โดยไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง แต่มาคิดเอาภายหลังก็อาจจะเป็นได้ที่ยุ้ยเริ่มรู้แล้วว่าธุรกิจของเขากำลังแย่ เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำติดต่อกันหลายปี อีกทั้งรัฐบาลก็ยินยอมเปิดให้มีการนำเข้าถ้วยชามเซรามิคคุณภาพสูงได้ คู่แข่งก็เริ่มปรากฏตัวขึ้นหลายราย ก็ยังตัดสินใจไม่ได้เท่านั้นแหละ ว่า จริง ๆ แล้วยุ้ยต้องการกู้เงินจำนวนมากไปทำอะไร เพื่อพยุงฐานะหรือเพื่ออะไรกันแน่… " เจ้าหนี้กลุ่มเสถียรภาพรายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งเงินประมาณ 800 ล้านบาทก็ไหลจากแหล่งเงินเข้ากลุ่มเสถีรภาพภายใต้การกุมบังเหียนของสุรีย์พรอย่างไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย

ธนาคารไทยพาณิชย์ยอมปล่อยกู้ให้กว่า 260 ล้านบาท ตลอดจนสถาบันการเงินในเครืออีกราว ๆ 52 ล้านบาทด้วยบารมีของศิรินทร์ (และมีหลักทรัพย์คุ้มด้วย)

ธนาคารไทยทนุก็ตัดสินใจให้ไปจำนวนหนึ่ง เมื่อศิรินทร์คุยกับผู้บริหารใหญ่ที่นั่น

แล้วก็อีก 16 สถาบันการเงินที่ส่วนใหญ่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นเพื่อนกับศิรินทร์โดนไปอีกไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งหลายแห่งก็ให้ไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

"คือระดับนี้แล้ว มันอยู่ที่ความเชื่อใจกัน หลายคนก่อนให้ก็ถามศิรินทร์แล้วว่าฐานะเป็นอย่างไร ศิรินทร์ก็เอาข้อมูลที่เมียบอกคือมีหนี้ 300 ล้าน ทรัพย์สินกว่าพันล้าน ทุกคนก็โอเค ขอดูงบดุล ก็จัดเตรียมมาให้เสร็จ สืบทราบภายหลังก็ "เมค" เอาทั้งนั้น…" คนที่โดนมากับตัวเองเปิดใจ

นอกจากนี้ยังมีแบงก์ออฟโตเกียวอีกประมาณ 20 ล้านบาทที่ศิรินทร์อุตส่าห์เอาตัวเองเข้าค้ำประกัน (รวมแล้วศิรินทร์ค้ำให้ทั้งหมดไม่น่าจะน้อยกว่า 50 ล้านบาท) หรือแม้แต่กิจการของครอบครัวนิมมานเหมินท์ ที่เชียงใหม่ก็ยังช่วยดึงเงินมาให้อีก 10 ล้านบาท

"เอาเป็นว่าพี่น้องครอบครัวตลอดจนเพื่อนสนิทของศิรินทร์โดนหมด ไม่มีเหลือ…" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งสรุป

ก็แน่นอนที่ถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นทุกคนย่อมต้องเจ็บ โดยคนที่ดูเหมือนจะเจ็บหนักที่สุดคงไม่พ้น ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ "อัครมหายอดสามี" ของยุ้ย

แต่ถึงศิรินทร์จะต้องเจ็บอย่างไร ศิรินทร์ก็อาจจะแสดงออกหรือโวยไม่ได้ ส่วนคนที่เจ็บและจำเป็นต้องแสดงออกกลับมีคนหนึ่ง เขาคือชาตรี โสภณพนิช

ธนาคารกรุงเทพที่ชาตรี โสภณพนิชมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น ปล่อยเงินให้กับกลุ่มเสถียรภาพมานานแล้วโดยช่วงแรก ๆ ก็เป็นการติดต่อของอุบล จุลไพบูลย์ จะมีก็ช่วงก่อนเดือนสิงหาคมเพียงไม่นานมานี้เองที่ สุรีย์พร นิมมานเหมินท์ มาติดต่อขอกู้เงิน (เป็นเงินตราต่างประเทศ) 300 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารหลายระดับก็ตอบปฏิเสธกันหมด ก็เลยต้องเอาบารมีของ "นิมมานเหมินท์" เข้าพบกับชาตรี

ด้วยความเกรงใจในฐานะ "นิมมานเหมินท์" คนหนึ่ง ชาตรีก็รับปากว่าจะช่วย แต่เผอิญช่วงนั้นเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศ เรื่องก็ถูกโยนไปที่โชติ โสภณพนิชน้องต่างมารดาของชาตรี และโชติหลังจากอ่านเรื่องราวของเงินกู้ก้อนนี้ทั้งหมดแล้วโยนเข้าเรื่องราวของเงินกู้ก้อนนี้ทั้งหมดแล้วก็โยนเรื่องเข้าลิ้นชักล็อคกุญแจสนิท!

กลับจากต่างประเทศชาตรีก็พบกับการโวยวายจากสุรีย์พรกล่าวหว่าโชติดึงเรื่องโอ้เอ้ไม่ยอมให้การสนับสนุน ด้วยใจนักเลงชาตรีก็สั่งจ่ายเงินตามอำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่ทันทีทันควันเป็นเงินบาทให้สุรีย์พรไป 50 ล้าน ถือว่าช่วยกันไปพลาง ๆ ก่อน

สำหรับชาตรีนั้นก็คงจะไม่ต่างจากผู้บริหารสถาบันการเงินอีกหลาย ๆ คนในหลาย ๆ แห่งที่ก็ไม่ทราบว่ากลุ่มเสถียรภาพมีหนี้สินจริง ๆ อยู่เท่าไรและจากที่ไหนบ้าง เพราะจากเอกสารงบดุลที่จัดมาให้ดูก็แสดงฐานะไม่ต่างจากฐานะที่เจ้าหนี้ทั้งหลายรับทราบ คือยังปล่อยเงินได้สบายมาก

และชาตรีก็คงยิ่งไม่น่าจะทราบว่าช่วงที่ตัดสินใจปล่อยเงินไปให้อีก 50 ล้านบาทนั้น อุบลกับสุรีย์พร กำลังเผชิญหน้ากันอย่างเขม็งเกรียวด้วยปัญหาหนี้สินที่ฝ่ายแม่กล่าวหาลูกว่า สร้างเอาไว้จนเกินตัวทำให้ต้องแบกภาระเฉพาะดอกเบี้ยก็ตกเดือนละ 15 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ส่วนลูกก็ว่าแม่ไม่น่ามาก้าวก่ายเพราะถ้าให้เวลาก็สามารถล้างหนี้ได้ไม่มีปัญหา

การเผชิญหน้าระหว่างแม่ลูกคู่นี้ว่าตามจริงก็ไม่มีคนนอกคนใดที่สามารถทราบถึงตื้นลึกหนาบาง แม้แต่จะจริงเท็จอย่างไรก็คนคนที่รับรู้ยาก

แต่สรุปก็คือ สุรีย์พร ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในช่วงเดือนสิงหาคม 2528 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ากันว่าแม่จะต้องรับสภาพหนี้ไปทั้งหมดซึ่งรวมทั้งหนี้เก่าและใหม่เกือบ 1,600 ล้านบาท

ครั้นหลังจากสุรีย์พรพ้นตำแหน่งไปแล้วไม่กี่วัน กลุ่มเสถียรภาพก็หยุดการชำระหนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับชาตรีนั้นอุบลก็ถึงกลับบุกเข้าพบและบอกว่ากิจการเจ๊งแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตัวลูกสาวเพิ่งจะเอาเงิน 50 ล้านไปยังไม่ทันครบ 2 อาทิตย์ด้วยซ้ำ!!

ตามคำบอกเล่าจากหลาย ๆ ทางก็ระบุว่า "บิ๊กบอส" แบงก์กรุงเทพโกรธเป็นฟืนเป็นไฟมาก "ตอแหลเขาชัด ๆ นี่…" คนที่ทราบเรื่องราวมาโดยตลอดช่วยสะท้อนให้ฟัง

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดหรือเชื่อว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นแล้วกับกลุ่มเสถียรภาพนับแต่เดือนสิงหาคม 2528 เรื่อยมาจนขณะนี้!!

ในเดือนกันยายนมีเจ้าหนี้หลายรายค่อย ๆ เผยตัวและพยายามจะติดต่อทวงถามเรื่องหนี้สินแต่ก็ไม่มีใครได้รับคำตอบที่พึงพอใจ ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการส่งบริษัทเอสจีวี ณ ถลาง เข้าไปตรวจสอบบัญชี ซึ่งก็หงายหลังกลับมาในช่วงเวลาไม่ถึงเดือนพร้อม ๆ กับการให้คำตอบไม่ได้ว่าฐานะของกิจการอยู่ในสภาพเช่นไร บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่งและปล่อยเงินให้กลุ่มเสถียรภาพมาตั้งแต่ต้นก็ส่งทีมงานจำนวนกว่า 10 คนเข้าไปศึกษาปัญหา ก็ไม่ได้คำตอบที่พอจะทำให้คลายใจอีกเช่นกัน

ช่วงนั้นเจ้าหนี้เพิ่งจะแสดงตัวออกมาสิบกว่าราย ลองรวม ๆ ยอดเงินแล้วก็ตกประมาณ 500-600 ล้านก็ยังไม่ค่อยรู้สึกร้อนหนาวมาก แต่ภายหลังเมื่อฝ่ายเจ้าหนี้เริ่มมีการรวมตัวแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันแล้วยอดหนี้ก็ค่อย ๆ เพิ่มจาก 500-600 ล้านมาเป็น 900 ล้าน ขึ้นมาอีกเป็น 1,200 ล้านแล้วก็เกือบ 1,600 ล้านเมื่อจำนวนเจ้าหนี้เผยตัวออกมาทั้งสิ้นถึง 35 ราย…ทุกคนก็แทบจะตกเก้าอี้

ก็เป็นธนาคารพาณิชย์ของไทย 9 รายธนาคารต่างประเทศ 1 ราย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมอีก 1 สถาบันการเงิน 16 แห่งและในนามนิติบุคคลตลอดจนบุคคลธรรมดาอีก 8 รายด้วยกัน

คือแม้แต่น้องสาว (มณฑา) และน้องชาย (ปัญญา) ก็โดนไปด้วยรายละเป็น 10 ล้าน…เรียกว่าญาติสนิทก็ไม่เว้น

"พอยอดหนี้ถึงเกือบ 1,600 ล้านบาททุกคนก็บอกว่าหยุดเถอะ เอาแค่นี้แหละใครไม่ยอมแสดงตัวก็ช่วยไม่ได้แล้ว พวกที่เป็นซัพพลายเออร์เครดิตก็ไม่ต้องไปสนใจ เราจะมาออร์แกนไนซ์หนี้กันเฉพาะแค่นี้ก่อน ซึ่งดูตัวเลขก็แทบจะอ้วกแล้ว.." เจ้าหนี้รายหนึ่งเปิดเผยสถานการณ์ในช่วงต้น ๆ ปี 2529 กับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งก็สมควรจะ "อ้วก" อยู่หรอกเพราะข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเสถีรภาพที่เพิ่งจะรัทราบกันหลังจากนั้นก็คือ การบริหารงานกันอย่างเละเทะไม่มีชิ้นดีและไม่ใช่เพิ่งทำหากแต่ทำกันมาตั้งแต่เริ่มกิจการทีเดียวเชียว?

"ผมรับทราบด้วยความงุนงงว่าเขาปิดบังข้อมูลอยู่ได้อย่างไรเป็น 10-20 ปี โดยแม้แต่บรรษัทฯ ที่ปล่อยเงินให้เป็นรายแรกและโดยตลอด ก็บอกว่าไม่เคยทราบ…" กรรมการผู้จัดการสถาบันการเงินแห่งหนึ่งระบายความรู้สึก

มันเริ่มจากข้อมูลชั้นต้นว่าในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเสถีรภาพไม่ว่าจะเป็นยุคใด ๆ นั้น ปรากฏว่าไม่เคยมีการทำบัญชีกันเลยแม้แต่น้อย (ก็เลยทำให้เอสจีวี ณ ถลางเข้าไปแล้วทำอะไรไม่ได้)

"เรื่องนี้หลุดออกมาจากปากลูก ๆ ภายหลังจากที่แม่พูดกับทุกคนว่าปัญหาเกิดเพราะลูก และลูกแฉเบื้องหลังของแม่ตอบโต้เอาบ้าง เขาก็ว่าแม่นั้นเวลามีลูกค้าสั่งของก็จะทำออร์เดอร์ไปที่โรงงานให้จัดของตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ส่งของเสร็จแม่ก็จะเอาอินวอยซ์ตามไปเก็บเงิน ลูกค้าตีเช็คออกมาให้ แม่ก็จัดการฉีกอินวอยซ์ทิ้งแล้วเช็คสั่งจ่ายสินค้างวดนั้นจะไปเข้าบัญชีไหนก้ไม่มีใครทราบเนื่องจากไม่มีการเรคคอร์ด…" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งยกตัวอย่าง

ส่วนทางด้านรายจ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายใหญ่ ๆ ได้แก่การจัดซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ วัตถุดิบและสิ่งของไม่ว่าจะมีมูลค่ามากหรือน้อยนั้น กลุ่มเสถียรภาพก็มีบริษัทกลางแห่งหนึ่งผูกขาดการจัดซื้อไว้เสร็จสรรพ "สุรีย์พรบอกว่าบริษัทนี้เป็นของแม่ ส่วนแม่ก็บอกว่าเป็นบริษัทของคนญี่ปุ่นที่เป็นที่ปรึกษามาตั้งนานแล้ว…" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าต่อ แต่ไม่ยอมเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุบลกับที่ปรึกษาญี่ปุ่นที่ว่ากันว่าใกล้ชิดกันมาก ๆ

ก็เลยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือมูลค่าการสั่งซื้อผ่านบริษัทกลางแห่งนี้เท่าที่มีหลักฐานก็ค่อนข้างจะเป็นตัวเลขที่สูงผิดปกติ โดยเฉพาะใช่วงที่กลุ่มเสถียรภาพประสบปัญหาวิกฤตแต่เจ้าหนี้ก็ยังปล่อยให้ "จุลไพบูลย์" ดำเนินกิจการต่อไปเรื่อย ๆ นั้น ก็พบว่าตัวเลขค่าวัตถุดิบที่สั่งซื้อสูงขึ้นพรวดพราดอย่างน่าตกใจ

นอกจากนี้งานทางด้านการตลาดก็ลึกลับซับซ้อนไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเท่าไหร่ในการขายสินค้าที่ออกไปจากโรงงานเสถียรภาพนั้น กลุ่มเสถียรภาพมีตัวแทนจำหน่ายที่สำคัญแยกเป็น 2 ส่วนคือส่วนตลาดทั่วไปและส่วนตลาดโรงแรมชั้นหนึ่งส่วนแรกแม่เป็นคนขายและเก็บเงิน สุรีย์พรขายและเก็บเงินส่วนหลัง ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่ยุ่งเกี่ยวกันโดยเด็ดขาด แม้ว่าเงินที่ได้จากการจำหน่ายจะไปอยู่ที่ไหนต่างฝ่ายต่างก็จะไม่สนใจกัน

"จากการศึกษาก็พบว่าบริหารกันแบบนี้เงินมันก็มีแต่การจ่ายออกไป แต่ที่รับเข้ามาไม่ปรากฏ หนี้มันก็สะสมเป็นดินพอกหางหมู แล้วถึงจุดหนึ่งก็รับสภาพไม่ไหว…" คนที่เข้าไปสัมผัสข้อมูลมาโดยตรงสรุปให้ฟัง

อย่างไรก็ดีที่พอจะใจชื้นกันบ้างก็เห็นจะได้แก่สภาพโรงงานและศักยภาพทางด้านการตลาดที่วางรากฐานมานานเท่านั้น

โรงงานทั้ง 7 โรงของกลุ่มเสถีรภาพ แม้ว่าจะมีบางโรงที่เครื่องจักรเก่าและกรรมวิธีการผลิตล้าหลังไปแล้ว แต่โดยภาพรวม ๆ ก็ยังนับว่าอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีโดยเฉพาะตัวโรงงานที่เจ็ด

"กิจการมันน่าจะเป็นไปได้ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องการบริหารได้ตกและเจ้าหนี้กล้าพอที่จะอัดฉีดเงินเข้ามาฟื้นฟูอีกจำนวนหนึ่ง…" หลายคนให้ข้อมูลตรงกัน

จากเหตุผลข้อนนี้เมื่อผนวกกับปัญหาทางเทคนิคที่ถ้าหากมีการหยุดเครื่องไม่ทำการผลิตอีกต่อไปแล้วเตาเผาที่เคยอยู่ในอุณหภูมิเป็น 1,000 องศาจำเป็นจะต้องเย็นลงในอุณหภูมิปกติ วัสดุทนไฟตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือหลายชิ้นก็คงต้องหมดสภาพไป เพราะสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ นอกจากนี้ถ้าปิดก็จะต้องมีการปลดคนงานและหากจะต้องเปิดอีกครั้งการเตรียมการทางด้านกำลังคนซึ่งจะต้องฝึกอบรมกันใหม่ก็คาดว่าคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เจ้าหนี้ทุกคนต้องขบคิดและระหว่างการขบคิดหทางออก หนทางที่เป็นไปได้ก็คือจะต้องปล่อยให้กิจการดำเนินงานกันต่อไป

ว่าไปแล้วก็เหมือนโชคช่างอยู่ข้าง "จุลไพบูลย์" เสียจริง ๆ จัง ๆ

เจ้าหนี้ของกลุ่มเสถีรภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 35 รายนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะมีจุดยืนเกี่ยวกับปัญหานี้ต่าง ๆ กันไปแล้วแต่ว่าใครจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อย เพราะที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มหนี้ที่มีอยู่เพียง 3 รายคือบรรษัทฯ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การก็คงไม่ค่อยจะรู้สึกวิตกกังวลเท่าไรนัก

ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงบางส่วนก็ค่อนข้างจะโลเลไม่รู้จะทำอย่างไรได้

ส่วนที่จำเป็นจะต้องเต้นกันอย่างขนานใหญ่ก็คือกลุ่มที่ปล่อยเงินไปโดยไม่มีหลักทรัพย์เลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสถาบันกรเงินที่ผู้บริหารเป็นเพื่อนรักของศิรินทร์ นิมมานเหมินท์

จากจุดยืนที่ต่างกันนี้ก็เลยทำให้ต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะคุมเชิงกันมากกว่าจะนำตัวลงไปคลุกกับปัญหาเพื่อหาข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันแน่

มีอยู่ช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้หลายเดือน วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของกลุ่มเสถียรภาพเพียง 10 กว่าล้านบาท พยายามที่จะเป็นแกนในการแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนของบรรษัทฯ เนื่องจากบรรษัทฯ ไม่กล้าออกหน้าเอง (อยากรักษาน้ำใจลูกค้าเก่าแก่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ) และบรรษัทฯ ก็ไม่แน่ใจว่ากลุ่มสถาบันการเงินจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงกับกลุ่มเสถียรภาพหรือไม่ ทางที่ดีจึงต้องเชิดวิโรจน์ขึ้นมาก่อน…เป็นการหยั่งท่าที ดีกว่าไปหลบ ๆ ซ่อน ๆ เคลื่อนไหวนั่นแหละ

ก็มีรายงานข่าวบอกว่า วิโรจน์ผิดหวังมาก "เขาทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยน่าเห็นใจทีเดียว แต่พอเรียกประชุมกลุ่มเจ้าหนี้ทุกคนส่งเด็ก ๆ ไปเป็นผู้สังเกตการณ์ เด็กก็กลับไปรายงานผู้ใหญ่ แล้วก็เงียบไม่มีคำตอบว่าจะเอากันอย่างไร ประชุมทุกครั้งก็เป็นกันอย่างนี้ วิโรจน์ก็เลยประกาศไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะขืนยุ่งนอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือแล้ว ก็ยังหาเรื่องเข้าตัวด้วย เพราะคนก็ต้องอดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะวิโรจน์เจ็บตัวหนักหือเปล่าจึงต้องโดดออกมาโลดเต้นอย่างนั้น…" ผู้บริหารบริษัทการเงินที่ค่อนข้างจะเห็นใจวิโรจน์พูดกับ "ผู้จัดการ"

"คือกรณีนี้มันเป็นกรณีที่เกิดจากการตัดสินใจของผู้ใหญ่ระดับสูงของแต่ละสถาบันการเงิน ทุกคนรู้ปัญหามากกว่าคนของตนที่อยู่ระดับล่าง และการแก้ปัญหาก็อยู่ที่ระดับท้อปนี่แหละที่จะบอกว่าจะเอาอย่างไร…" ผู้บริหารสถาบันการเงินอีกคนหนึ่งให้ข้อคิด

แต่ก็ไม่มีใครอยากแสดงตนเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาจนแล้วจนรอด

"จะเป็นความฉลาดของแม่ลูกคู่นี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะ แต่หนี้ที่มีกับทุกแห่งนั้น มันไม่มีใครเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งสิ้น ทุกรายรับกันไปพอดี..พอดี..ไม่มากแต่ก็ไม่น้อย ที่ใหญ่หน่อยก็เป็นร้อยล้าน กลาง ๆ ก็เป็นสิบล้าน รองลงมาก็ไม่ถึงสิบล้าน เป็นอย่างนี้ มันต่างกับที่เกิด ๆ มาคือมีรายใหญ่อยู่รายหรือสองราย นอกนั้นไม่มาก พวกรายสองรายนั้นเขาก็ต้องปักหลัก ในฐานะที่มันกระทบถึงเขาแรงที่สุด ทีนี้เมื่อทุกคนกระจายหนี้ออกไปเช่นนี้ ก็ไม่มีใครอยากออกไปยืนข้างหน้าแสดงความรับผิดชอบ เพราะขืนโผล่ออกไปก็อาจจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า โดนอีกแล้ว…ไอ้นี่…สงสัยจะเจอเข้าไปมาก มันเสีย ทุกคนก็เลยเอาแต่คอยว่าใครจะขยับอย่างไร ถ้าเป็นประโยชน์ก็เอาด้วย เสียก็ไม่ยอมร่วมมือ ทางฝ่ายลูกหนี้ก็ยิ้มร่าไป…" แหล่งข่าวคนหนึ่งชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและสถานการณ์ระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้กับลูกหนี้ช่วงที่ผ่าน ๆ มา

อย่างไรก็ตามบรรดาเจ้าหนี้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะบรรษัทฯ นั้นก็ค่อนข้างจะมีความเห็นที่สอดคล้องต้องกันว่า จะเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง หากมีเจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดตัดสินใจใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องล้มละลายกลุ่มเสถียรภาพ เพราะนั่นเท่ากับจะต้องมีการปิดโรงงานซึ่งเมื่อปิดโรงงานที่คาดกันว่าทรัพย์สินจะมีประมาณ 800 ล้านบาทนั้น ก็คงจะเหลือเป็นเศษหินอิฐมูลค่าไม่เกินอุปกรณ์ตลอดจนเตาเผาจะต้องเสื่อมคุณภาพลง เพราะอุตสาหกรรมเตาเผานี้จะต้องอยู่ในอุณหภูมิสูงตลอดเวลาเป็นสาเหตุสำคัญ)

ในช่วงแรก ๆ ดูเหมือนทุกคนจะกลัวท่าทีของชาตรี โสภณพนิชมากที่สุด ชาตรีด้วยความเจ็บใจที่ถูก "แหกตา" เอาเงินไป 50 ล้านบาท ช่วงนั้นได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า ไม่ขออยู่แผ่นดินเดียวกันกับสองแม่ลูก "จุลไพบูลย์" และจะขอดำเนินคดีประการเดียว

แต่ด้วยการขอร้องจากหลาย ๆ คนที่เป็นเจ้าหนี้ด้วยกัน ชาตรีก็สัญญาว่าจะรอดูผลการแก้ปัญหาอีกช่วงหนึ่ง หากไม่มีวี่แววว่าจะแก้กันได้ตกตนก็จะใช้มาตรการที่เตรียมไว้ ไม่มีอ่อนข้อให้เด็ดขาด

"คุณชาตรีเขาพูดชัดเจนเลยว่า จะต้องแยกกิจการออกจากตัวเจ้าของ เขาไม่สบายใจมากที่เจ้าหนี้รายใหญ่ 2-3 รายยังปล่อยให้อุบลและลูก ๆ ที่เหลือดำเนินกิจการกันต่อไป และยังต้องอุปถัมภ์ค้ำชูกันด้วยวงเงินอีกนับ 10 ล้านบาท" คนที่ไปสัมผัสกับชาตรีบอก "ผู้จัดการ

ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ 2-3 รายที่ว่านั้นก็คงจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่บรรษัทฯ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ โดยตัวหลักจริง ๆ ก็คือบรรษัทฯ

บรรษัทฯ เป็นฝ่ายที่แสดงท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้นที่จะค้ำชูกิจการของกลุ่มเสถีรภาพดำเนินงานได้ต่อไป แม้จะต้องเสียสละเลือดหยดสุดท้ายให้ บรรษัทฯ ก็จะทำ ซึ่งท่าทีเช่นนี้เจ้าหนี้หลายรายไม่พอใจมาก โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ปักใจเชื่อว่าผู้บริหารของกลุ่มเสถียรภาพมีเจตนาตุกติดมาตั้งแต่ต้น

ส่วนไทยพาณิชย์ ก็อาจจะเป็นเพราะธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ยังผะอืดผะอมไม่หายในฐานะญาติคนหนึ่ง ก็อยู่ในสภาพที่แล้วแต่ทางบรรษัทฯ และกรุงเทพฯ พาณิชยการเองก็คงกระโดดโลดเต้นไม่ได้ เพราะปัญหาภายในที่เพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ยังรัดคออยู่ บรรษัทฯ จะทำอย่างไร กรุงเทพฯ พณิชยการจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ขัดข้อง

"ก็ไม่มีใครรู้ว่ากิจการมันจะเสียหายไปอีกมากหรือไม่ เพราะข่าวที่ได้รับการยืนยันออกมาอยู่เสมอว่าจู่ ๆ สินค้าก็หายไปจากสต็อคเป็นจำนวนมาก ๆ โดยจับมือใครดมไม่ได้ เมื่อถามทางบรรษัทฯ ทุกคนก็ส่ายหน้าบอกว่าไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่มีคนของบรรษัทฯ นั่งเฝ้าอยู่ แต่ก็นั่นแหละเขาอาจจะคิดว่าให้มันแกล้ง ๆ หายไปบ้าง เผื่อบางทีมันจะเปลี่ยนเป็นเงินมาหล่อเลี้ยงกิจการ…" คนวงในคนหนึ่งวิจารณ์มาตรการของกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่โดยพุ่งเป้าไปที่บรรษัท

ว่าไปแล้วความสัมพันธ์อันดีกว่า 27 ปีระหว่างกลุ่มเสถียรภาพกับบรรษัทฯ ก็สามารถสะท้อนได้อย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตนี่เอง?

กลุ่มเสถียรภาพนั้นนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2528 เป็นต้นมาแล้วที่ไม่ปรากฏแม้แต่เงาของสุรีย์พรเยี่ยมกรายเข้าไปในโรงงาน ส่วนอุบลก็หายหน้าหายตาไปหลังจากการหายหน้าหายตาของลูกสาวไม่นานนัก

มีข่าวว่าทั้งคู่หลบไปอยู่ต่างประเทศ โดยอุบลไปอยู่สิงโปร์

แต่เอกสารสำคัญหลายอย่างก็ยังปรากฏว่าถูกลงนามโดยอุบล จุลไพบูลย์อยู่ตามปกติ?

ที่จะไม่ปกติก็คือไม่มีเจ้าหนี้รายใดได้พบกับอุบล

การหายหน้าไปจากวงการของอุบลเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแบบชนิดขัดตาทัพของประสาน ตันประเสริฐ ลูกชายพ่อค้าข้าวใหญ่-ปรีชา ตันประเสริฐ

ประสานปัจจุบันอายุ 38 จบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และปริญญาโทบริหารธุรกิจจากสหรัฐฯ เดิมเขามีอาชีพทางค้าพืชไร่และรับเหมาก่อสร้าง และเคยทำงานเป็นหัวหน้าส่วนวิเคราะห์โครงการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ อยู่ช่วงหนึ่ง

ประสานเข้ามาในตำแหน่งนี้ของกลุ่มเสถียรภาพ เพราะการขอร้องจากเพื่อนที่ชื่อศศิซึ่งเป็นลูกสาวคนที่สองของอุบล มีหน้าที่หลักก็คือการเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย "ในฐานะลูกหม้อเก่าของบรรษัทฯ และบุคลิกตลอดจนความสามารถส่วนตัว บรรดาเจ้าหนี้ก็รู้ได้ทันทีว่าพบยอดฝีมือเข้าให้แล้ว…" เจ้าหนี้รายหนึ่งพูดถึงประสาน

ก็เป็นที่เชื่อกันว่าด้วยบทบาทของประสาน ตันประเสริฐ ปัญหาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้รายนี้ก็คงจะรักษาสถานการณ์ไปได้ช่วงหนึ่ง อย่างน้อยถ้าอุบลคิดจะทำอะไรบางอย่าง? ก็ยังพอมีเวลา

หรืออาจจะพอเหมาะพอเจาะกับที่ฝ่ายเจ้าหนี้คิดค้นหาทางออกแล้วก็เป็นได้

ถ้าจะว่าไปก็เป็นการซื้อเวลาที่ไม่ต่างไปจากกรณีการส่งบริษัทไทย-เยอรมันเซรามิคเข้าไปศึกษาปัญหาของกลุ่มเสถีรภาพ เพียงแต่ประสานนั้นเข้ามาด้วยข้อเสนอทางฝ่ายลูกนี้ ส่วนไทยเยอรมันเซรามิค เข้ามาเพราะการติดต่อของบรรษัทฯ กับธนาคารไทยพาณิชย์…ฝ่ายเจ้าหนี้

"ซึ่งผมว่าไม่สำเร็จหรอก เขาเป็นคู่แข่งกันอยู่ เขาจะไปรับมาทำไม แต่ก็นั่นแหละกรณีนี้สำหรับเจ้าหนี้บางรายมันก็เหมือนกับขอนไม้ลอยมาก็ต้องเกาะเอาไว้ก่อน คิดอะไรได้แล้วค่อยว่ากันใหม่…" แหล่งข่าวคนหนึ่งพยากรณ์ถึงท่าทีในอนาคตของกลุ่มไทย-เยอรมันเซรามิค ซึ่งแรก ๆ ก็บอกว่าจะขอเวลาศึกษาปัญหาของกลุ่มเสถียรภาพ 1 เดือน ครั้งต่อมาก็บอกว่ามีปัญหามากอาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน

ไม่มีใครทราบว่าไทย-เยอรมันเซรามิคต้องการเวลาอีกเท่าไหร่ในอนาคต ก่อนที่จะให้คำตอบว่าจะช่วยสะสางปัญหาคับอกของเจ้าหนี้ได้อย่างไรกัน

กลุ่มไทย-เยอรมันเซรามิคนั้นเริ่มส่งคนของตนจำนวนกว่า 20 คนเข้าไปในโรงงานกลุ่มเสถียรภาพที่อ้อมน้อยตั้งแต่ต้น ๆ เดือนมิถุนายน 2529

การเข้าไปของไทย-เยอรมันเซรามิคนี้ช่วยให้บรรดากลุ่มเจ้าหนี้ได้มีเวลาทบทวนปัญหากันอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะความสนใจของคนก็มุ่งไปที่การให้เวลากับกลุ่มไทย-เยอรมันเซรามิคก่อนจะได้คำตอบกันเป็นส่วนใหญ่ โดยกลยุทธ์แล้วก็เป็นการยุติการเคลื่อนไหวและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางลบนั่นเอง

ดังนั้นข้อเสนอที่จะให้มีการแปลงหนีเป็นหุ้นโดยลดหนี้ให้เหลือเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาทก็ออกมาในช่วงไล่เลี่ยกันเช่นเดียว กับข้อเสนอให้มีการจัดทีมบริหารมืออาชีพชุดใหม่เข้าไปแทนกลุ่ม "จุลไพบูลย์" และการอัดฉีดเงินเข้าไปอีกก้อนพอท้วม ๆ

หลังจากคาราคาซังกันมาร่วมปี ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเริ่มจะคลี่คลายลงบ้างแล้ว

ที่จะต้องทำกันต่อไปก็คือนำหลักการที่กำหนดไว้มาแปลงเป็นรายละเอียดและให้เจ้าหนี้ทุกรายยอมรับเท่านั้น

แต่ก็คงเป็นเพราะฟ้าลิขิตกระมัง!

ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนจึงต้องมีข่าวสะพัดเข้าหูบรรดาเจ้าหนี้ว่า สุรีย์พรกำลังตระเตรียมสร้างโรงงานเซรามิคแห่งใหม่ใกล้ ๆ กับโรงงานเก่าด้วยความช่วยเหลือชนิดเกือบจะให้เปล่าจากกลุ่มทุนเยอรมันตะวันตก

ตรวจสอบแล้วก็พบว่าทุกอย่างเป็นความจริง ที่ยังสงสัยกันอยู่ก็คือเงินสร้างโรงงานนั้นเป็นเงินของเยอรมันหรือเงินจากไหนกันแน่?

เมื่อเรื่องราวแปรเปลี่ยนไปเช่นนี้บรรยากาศที่ค่อย ๆ สงบก็ร้อนรุ่มขึ้นอีกครั้งโดยธนาคารกรุงเทพที่รอดูท่าทีมาโดยตลอดจัดการยื่นฟ้องล้มละลายกลุ่มเสถียรภาพ แล้วทุกอย่างก็กลับมาเริ่มกันในจุดที่ทุกคนวิตกมาตั้งแต่ต้น

จะต่างกันก็แต่ครั้งก่อนนั้น เป็นเพียงคำประกาศจาก "บิ๊กบอส" ส่วนคราวนี้เป็นการเดินหน้าชนเต็มตัวและก็คงไม่มีใครกล้าไปขอร้องกันได้อีกแล้ว

ปัญหาของกลุ่มเสถียรภาพจะลงเอยกันเช่นไรก็คงอีกไม่นานแล้วที่จะรู้ผล

และนี่ก็คืออีกบทเรียนหนึ่งของการบริหารงานภายใต้ระบบครอบครัวที่ไม่ยอมพัฒนากันเลยสักนิด แม้ว่าจะมีการพัฒนาตัวโรงงานและกรมวิธีการผลิตกันอย่างขนานใหญ่มาตามลำดับ

เป็นบทเรียนที่ยืนยันได้อย่างดีว่า วงการธุรกิจอุตสาหกรมไปจนถึงวงการเงินนั้นก็เล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ในวงแคบ ๆ เส้นดีก็เอาเงินไปใช้ได้ ไม่มีเส้นก็รอกันต่อไป

แต่เมื่อถึงบทจะต้องเจ็บตัวแล้ว ทุกอย่างก็คือเงินฝากของประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยสักนิด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us