Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529
แผ่นดินภูเก็ตสมรภูมิการต่อสู้กลางเหมืองแร่ของคนจีนฮกเกี้ยน             
 

   
related stories

เบื้องหลัง "แทนทาลัม" ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์

   
search resources

Mining




ประวัติศาสตร์เกาะภูเก็ตที่พอจะจับความได้นั้นเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ดีบุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ศตวรรษ!

ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวภูเก็ตเป็นคนพื้นเมืองที่หน้าตากระเดียดไปทางมลายูและศรีลังกา ทำมาหากินด้วยการร่อนหาแร่ดีบุกเท่านั้น "…แร่ดีบุกเป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้และได้เกิดการค้าขายและที่ชาวเมืองได้อยู่เลี้ยงชีพไปได้ก็ดยอาศัยแร่ดีบุกนี้เอง เพราะพวกชาวเมืองขุดแร่ดีบุกนั้นไปแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าซึ่งนำสินค้ามาจากภายนอก การค้าดีบุกนี้กำไรมาก เพราะฉะนั้นบริษัทการค้าขายของฮอลันดาซึ่งไปทุกหนทุกแห่งที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ได้ จึงได้ตั้งห้างใหญ่ในเมืองนี้มาแต่เดิมแต่ได้เลิกไปสักสี่สิบห้าสิบปีมาแล้ว เหตุที่ต้องเลิกห้างไปนั้นก็เพระพวกฮอลันดาจะคิดเอาแต่กำไรฝ่ายเดียว พวกชาวเมืองกับพวกแขกมลายูที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองภูเก็ตจึงได้ฆ่าฟันพวกฮอลันดาเสียหมดสิ้น.." บาดหลวงมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสบันทึกเหตุการณ์ที่เมืองภูเก็ตไว้เมื่อปี 2229 ไว้อย่างเห็นภาพชัด

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เบื้องหลังสำคัญชัยชนะของท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร ที่มีต่อพม่านั้น แท้ที่จริงมาจากการที่สามารถส่งดีบุกไปแลกข้าวกับฟรานซีส ไลท์ ผู้ครองเมืองปีนังขณะนั้น โดยแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวปลาอาหารในการทำศึกอย่างต่อเนื่องได้

สมัย ร. 3-ร. 4 กลุ่มคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ระลอกแรกอพยพหนีภัยแล้งมาถึงเกาะภูเก็ต

กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนรอนแรมล่องเรือสำเภาสามเสาลงสู่ทะเลใต้ นักแสวงโชคทุกเพศทุกวัยเหล่านั้นประกอบด้วย กุลี ขอทาน รวมไปถึงศิลปิน (งิ้ว)-ผู้เดินทางมาพร้อมซอเก่า ๆ คอยบรรเลงกล่อมพี่น้องบนเรือให้ระลึกถึงความหลังเศร้า ๆ บนแผ่นดินใหญ่ สำเภาลำแล้วลำเล่าแวะเลียบส่งคนขึ้นฝั่งเป็นระยะ ๆ จากเกาะฟิลิปปินส์ บอร์เนียว ชวา สุมาตรา มะละกา มลายู ปีนัง และมาสุดทางที่เกาะภูเก็ต

ชาวจีนเหล่านั้นคือ กุลีทำงานในเหมืองแร่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก!

จากนี้จึงเป็นจุดเริ่มที่ชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนมากค่อย ๆ กลืนชาวพื้นเมืองจำนวนน้อย เกิดเป็นชุมชนใหม่ โรงเหล้า โรงยาฝิ่น ซ่องโสเภณี โรงหวยผุดขึ้นพร้อมกับคดีอาชากรรม

ปีนัง-เมืองที่ถูกชาวอังกฤษยึดครอง ความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ดีบุกเริ่มต้นที่นั่น ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ถือว่าเกาะภูเก็ตก็เป็นแหล่งแร่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่รอจังหวะในการกอบโกยต่อไป ชาวจีนฮกเกี้ยนรุ่นที่แวะขึ้นฝั่งและปักหลักที่ปีนังก็มีอาชีพที่เกี่ยวกับเหมืองดีบุกเช่นกัน

"ชาวจีนกลุ่มนี้อพยพมาที่เกาะภูเก็ตอีกระลอก แต่การมาของพวกเขาไม่เหมือนกลุ่มแรก พวกเขามีเป้าหมายแน่ชัด คือประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือติดต่อซื้อแร่จากภูเก็ตไปขายให้อังกฤษ" นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องคนจีนในภาคใต้อธิบาย

คนจีนเหล่านี้นอกจากจะมีความรู้เรื่องเหมืองแร่แล้ว ยังมีทุนรอนที่ได้จากการสะสมไว้ก่อนหน้านี้

"คนจีนที่ทำงานในเหมืองคนจีนหรือคนไทยที่ภูเก็ต สภาพชีวิตความเป็นอยู่ลำบากมาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ แตกต่างจากชาวจีนรุ่นที่มาจากปีนัง ซึ่งเคยทำงานในเหมืองฝรั่ง ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้เกิดขบวนการอั้งยี่ และคนที่เป็นหัวหน้าก็จะเป็นคนจีนรุ่นหลังนั่นเอง" เขาเล่าต่อ

เป้าหมายการต่อสู้ของกลุ่มอั้งยี่ในระยะแรกเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเท่านั้น

บ่อยครั้งกลุ่มอั้งยี่บางกลุ่มก็เกิดวิวาทบาดหมางกันเอง จนกลายเป็นตำนานเล่าขานกันในกาลต่อมาว่า ได้ต่อสู้กันถึง 30 ปี โดยลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมเผาตายนับน้อยคน เป็นต้น

จะด้วยเหตุใดก็ตามชาวอังกฤษก็ยังไม่มาดำเนินการโดยตรงในประเทศไทย!?

ในสมัย ร. 5 กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีมหาดไทย!?

"พวกอังกฤษยุหนังสือพิมพ์ที่เมืองสิงคโปร์และเมืองปีนัง ทั้งพวกทำเหมืองแร่โฆษณากล่าวโทษเนือง ๆ ว่า พวกคนในบังคับของอังกฤษที่ไปทำเหมืองแร่ที่ภูเก็ต ไม่ได้รับความทะนุบำรุงตอบแทนเงินภาษีอากรที่ต้องเสียแก่ไทย เพราะรัฐบาลเอาเงินรายได้ตามตัวเมืองเข้าไปใช้สอยในราชธานีเสียหมด สมเด็จพระเจ้าหลวงตรัสปรารภกับหม่อมฉันว่า จะต้องจัดการแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะที่เขาว่านั้นเป็นความจริงอยู่บ้าง หม่อมฉันเห็นว่าทางที่แก้ไขต้องจัดบำรุงเมืองภูเก็ต เช่น ทำถนนหนทาง และจัดการ… ตามอย่างเมืองปีนังเท่านั้นที่จะทำได้…" กรมพระยาดำรงฯ เขียนบันทึกทูลสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ถึงมูลเหตุของการฟื้นฟูเมืองภูเก็ตเพื่อเชิญชวนชาวอังกฤษเข้าดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยตรง

กัปตันไมล์ เจ้าของบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ ได้เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่ในภูเก็ตโดยนำเรือดีบุกลำแรกมาใช้ในประเทศไทยปี 2540 พร้อมกันนั้นก็มีบริษัททุ่งคาคอมเปาวน์ และบริษัทสเตรทเทรดดิ้งซึ่งเข้าดำเนินการค้าแร่ดีบุก" กัปตันไมล์เข้ามาโดยื่นเงื่อนไขว่า ต้องให้แบงก์ชาเตอร์สมาเปิดสาขาที่ภูเก็ต และขอให้ตั้งโรงพักตำรวจหน้าแบงก์ด้วย" คนเก่าแก่ภูเก็ตเล่าให้ฟังซึ่งยืนยันได้จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน

บุคคลที่ได้รับการยกย่องในการพัฒนาเมืองภูเก็ตคราวนั้นคือ คอซิมบี้ หรือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ต้นตระกูล ระนอง

ว่ากันว่า กลุ่มอั้งยี่ได้ก่อคดีฆ่าฟันกันเป็นประจำ และมักจะเกี่ยวพันมาถึงผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ชาวอังกฤษ ถึงกับทางกรุงเทพฯ ต้องส่งเรือรบหลวงมาคอยระงับเหตุ

คอซิมบี้ในฐานะเจ้าเมืองภูเก็ตพลิกกลยุทธ์การปกครอง โดยเชิญพวกกุลี หัวหน้าอั้งยี่ มาปรับความเข้าใจ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการพิเศษช่วยปกครองบ้านเมือง "บรรดาคณะกรรมการพิเศษหรือบรรดาหัวหน้าอั้งยี่ต่อมาได้กลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของเมืองและสืบเชื้อสายมาจนทุกวันนี้" ผู้รู้บอก

ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นการให้กำลังใจอีกทางหนึ่งอาทิ หลวงอำนาจนรรักษ์ (ตันกวด) ต้นตระกูลตัณฑเวส พระอร่ามสาครเขตร์ (ตันเพ็กฮวด) ต้นตระกูลตันทัย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าของที่ดินค่อนเกาะภูเก็ต พระพิทักษ์ชินประชา (ตันม้าเสียง) ต้นตระกูลตัณฑวณิช หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (ลิ้มเจียน) ต้นตระกูลหงษ์หยก เป็นต้น

และนี่เองก็คือจุดเริ่ม CONNECTION ที่ผู้นำทางเศรษฐกิจของภูเก็ตเหล่านี้โยงมาถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมไปถึงราชนิกูล

ผู้นำเศรษฐกิจของเกาะภูเก็ตยุคดังกล่าวยังพอหลงเหลือและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ก็เห็นจะได้แก่ตระกูลหงษ์หยก และตระกูลเอกวานิช ซึ่งถือว่าเป็น 2 ใน 10 กลุ่มเศรษฐีภูเก็ตปัจจุบัน

ในบรรดาเศรษฐีภูเก็ตประมาณ 10 ตระกูลที่คุม "ชีพจร" เมืองภูเก็ตทั้งเกาะนั้น ได้เดินทางออกเป็น 2 สาย หนึ่ง-เกิดที่ภูเก็ต รวยที่ภูเก็ต และดำเนินธุรกิจปักหลักปักฐานที่ภูเก็ต หรือจังหวัดใกล้เคียงตลอดไป สอง-ทำตัวเป็น "พวกอพยพ" ไม่จบสิ้น ขยายอาณาจักรออกไปทั่วประเทศ หลาย ๆ ประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนระดับอินเตอร์ฯ ไปแล้ว "บางทีก็เป็นนักขนเงินออกนอกประเทศด้วย" ผู้มองโลกในแง่ร้ายบางคนตั้งข้อสังเกต

สายแรกได้แก่ หงษ์หยก เอกวานิช ณ ระนอง ถาวรว่องวงศ์ ตันติวิทย์ ซิ่นฮ่องซุ่ย (อุปติศฤงค์) สายที่สอง--บุญสูง งานทวี ยงสกุล วานิช

หงษ์หยก เป็นคนแซ่ตัน (คนแซ่ตันเต็มเมืองภูเก็ต) คนแรกที่พอจะสาวไปถึงชื่อตันเชกอูด มีลูกชายคนหนึ่ง-ตันจินหงวน ซึ่งต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงอนุภาษภูเก็ต เป็นคนแรกที่บุกเบิกกิจการทำเหมืองเป็นวิธีเหมืองสูบ และเป็นคนไทยคนที่สองที่มีเอขุดของตนเอง ตันจินหงวน ปัจจุบันมีกิจการทำสวนยาง โรงหล่อกลึง โรงน้ำแข็ง โรงงานไม้แปรรูป โรงสีข้าว และมีที่ดินในเมืองภูเก็ตจำนวนไม่น้อย

ตระกูลเอกวานิชมีลูกสาวหลายคน และในจำนวนนี้แต่งงานกับลูกเศรษฐีเมืองภูเก็ตด้วยกัน อาทิ ถาวรว่องวงศ์ งานทวี ด้วยเหตุนี้การดำเนินธุรกิจของเอกวานิชจึงดูเหมือนไม่มีความขัดแย้งกับใครโดยตรง

ณ ระนอง ชื่อตระกูลนี้มาจากคอซิมบี้หรือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี พ่อเมืองภูเก็ต ที่ได้รับการยกย่องว่า ได้เปิดเกาะภูเก็ตต้อนรับชาวต่างชาติ และพัฒนาเมืองภูเก็ต แต่ทว่าความเป็นเศรษฐีของตระกูล ณ ระนอง ปัจจุบันกลับมาจากตระกูลโภคารักษ์โดยมีขุนเลิศโภคารักษ์เป็นต้นตระกูล

ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ขุนเลิศโภคารักษ์นั้นเริ่มธุรกิจด้วยการรับเหมาส่งฟืนป้อนบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ บริษัทฝรั่งเศสรายแรกที่นำเรือขุดแร่เครื่องจักรไอน้ำเข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย

ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นฝรั่งเจ้าของบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ก็จำต้องถอยทัพกลับประเทศ ขุนเลิศฯ ผู้ซื่อสัตย์เก็บเอกสาร แผนที่สัมปทานเหมืองแร่ต่าง ๆ ไว้ให้ เมื่อลูกชายกัปตันไมล์ทายาทได้กลับมาฟื้นฟูทุ่งคาฮาร์เบอร์อีกครั้ง ขุนเลิศฯ ก็ได้รับผลตอบแทนความซื่อสัตย์ด้วยสัมปทานเหมืองแร่ชั้นดี ที่สามารถสร้างความร่ำรวยอันรวดเร็วเพียงอายุ 40 กว่าปีเท่านั้น

เขามีลูกสาวเพียงคนเดียว ชื่อกาญจนา ต่อมาได้แต่งงานกับอุ่น ณ ระนอง มรดกของขุนเลิศทั้งหมดจึงตกทอดมาอย่างเป็นกอบเป็นกำต่อมา คนที่ได้รับผลแห่งความซื่อสัตย์และอุตสาหะของเขาในปัจจุบันคือ วิจิตร ณ ระนอง หลานตานั่นเอง

ณ ระนอง หลังจากร่ำรวยอู้ฟู่จากกิจการเหมืองแร่ต่อมาภายหลังก็ DIVERSIFIED สู่กิจการโรงแรม อันได้แก่ โรงแรมเพิร์ล โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของภูเก็ตปัจจุบัน รวมทั้งรีสอร์ตที่หาดราไว

วิจิตร ณ ระนอง คนหนุ่มผู้มีอนาคตไกล ผู้กุมบังเหียนของตระกูลนี้ เน้นธุรกิจโรงแรมเป็นจุดหนัก อย่างไรก็ตามเขาเองก็ไม่ทิ้งกลิ่นอายของเศรษฐีภูเก็ตทั่วไปคือ มีกิจการสวนยาง และสวนปาล์มที่สุราษฎร์ฯ ในจำนวนไม่น้อยไม่มาก

ถาวรว่องวงศ์ คนจีนฮกเกี้ยนแซ่อ๋องต้นตระกูลคือ อ๋องซิมพ่าย นับเป็นแบบฉบับนักธุรกิจใหญ่ที่ปักหลักปักฐานที่เมืองภูเก็ตอย่างแท้จริง ปัจจุบัน ติลก ถาวรว่องวงศ์ คือผู้นำกลุ่มธุรกิจนี้

เขาโตมาจากเหมือง และติลกร่ำเรียนที่ปีนังเหมือน ๆ ทายาทของผู้มีอันจะกินคนอื่น ๆ ทั่วไปบนเกาะภูเก็ต ตระกูลถาวรว่องวงศ์ถือเป็น "นายหัว" เหมืองแร่คนแรกที่กระโจนมาจับธุรกิจโรงแรม

ภูมิหลังแรงจูงใจนี้มีการเล่าปากต่อปากมาจนทุกวันนี้ว่า ผู้ที่ผลักดันให้อ๋องซิมพ่าย สร้างโรงแรมได้แก่ จอมพลสฤศดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีอำนาจล้นฟ้าในช่วงกึ่งพุทธบาล

โรงแรมถาวร สูง 5 ชั้น เปิดกิจการเมื่อ 2506 ก่อสร้างด้วยเงินประมาณ 10 ล้านบาท ในสมัยนั้นถือเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งที่โอ่อ่ามาก

จากจุดนี้เอง ถาวรว่องวงศ์ จึงเดินเครื่องธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และที่ดิน โดยมีปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างสินทรัพย์เป็นหลัก อาทิ หมู่บ้านนิมิตร โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า บาร์-ไนต์คลับ กิจการฟาร์มจระเข้ ในขณะนี้กำลังเร่งก่อสร้างโรงแรมที่ริมหาดกะรน และหาดนาคาเร ด้วยเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ติลกส่งลูกสาว-ลูกชายไปเรียนเมืองนอก ศึกษาวิชาธุรกิจโรงแรมอย่างตรงเป้า ถาวรวงศ์ เป็นเศรษฐีภูเก็ตที่มีที่ดินจำนวนมากในเมือง และเป็นเอเย่นต์เพียงรายเดียวในการจำหน่ายสุรายี่ห้อแสงโสมและหงส์หยก ของกลุ่มหงส์ทอง ที่คนภูเก็ตชอบดื่ม โดยไม่รู้ว่าเป็นของพงส์ สารสิน (ในขณะที่แอนตี้ไม่ดื่มโค้ก)

บุญสูง ถือกันว่าเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองภูเก็ต หรือจะกล่าวให้ใกล้เคียงความเป็นจริงก็ว่า อันดับหนึ่งของภาคใต้เลยทีเดียว และความจริงบุญสูงไม่ได้เริ่มปักหลักที่ภูเก็ตเป็นแห่งแรก คนบุญสูงถือว่าตนเองกำเนิดที่พังงา และทว่าปัจจุบันบุญสูงกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่งอกเงยในทุกพื้นที่ หลายประเทศ จนมีบางคนบอกว่า เขายังตัวเหมือนคนจีนฮกเกี้ยนเมื่อ 100 กว่าปีก่อนที่อพยพไปทุกที่ที่ทำมาหากินร่ำรวยได้อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

จุติ บุญสูง คือคนแรกที่นำบุญสูงขึ้นสูงเด่น หากค้นคว้าให้ไกลกว่านั้นในยุคนั้นจะพบว่า บรรพบุรุษของเขาคือ เอ่งเซ่ง หรือเรียกกันว่า พ่อแดงอันเป็นสิ่งแสดงสัญลักษณ์ของหัวหน้าอั้งยี่ธงแดงในยุคนั้นนั่นเอง เขาคบค้ากับอังกฤษและเข้ามาชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยก็เพราะต้องการแร่ดีบุกไปขายพวกอังกฤษ บุญสูงร่ำรวยอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากคบค้าขายกับญี่ปุ่น "คุณจุติคบกันญี่ปุ่นอย่างเพื่อนและซื่อสัตย์ต่อญี่ปุ่นมาก เมื่อญี่ปุ่นหวนกลับมาเมืองไทยอีกครั้งภายหลังสงคราม คุณจุติจึงเป็นคนแรก ๆ ที่พวกญี่ปุ่นคิดถึงบุญคุณ" แหล่งข่าวว่า และนี่ก็คือที่มาของการลงทุนร่วมกับญี่ปุ่นอย่างสนั่นหวั่นไหวในเวลาต่อมาจนผู้คนฉงนสนเท่ห์

มิเพียงเท่านั้น จุติยังมี CONNECTION อันลึกซึ้งกับราชนิกูล และตระกูลสารสินผู้ยิ่งยงทางธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งของเมืองไทยที่บรรดาธนาคารพาณิชย์พยายามเก็บตกคนตระกูลนี้มาเป็นกรรมการในปัจจุบัน "คุณจุติรู้จักคุณพจน์ สารสิน สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการยุคจอมพลสฤษดิ์ฯ ที่รับผิดชอบกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรธรณี เรียกว่าสนิทกันมาก ๆ จนไม่รู้จะใช้คำขยายอย่างไรดี" ผู้รู้ปักใจเชื่ออย่างมาก

มรว. พงศ์อมร กฤดากร เพื่อนของจุติ บุญสูง เขียนคำไว้อาลัยวันลาจากโลกของจุติบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของเขากับจุติ

ตระกูลบุญสูงมีกิจการในเครือไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท โดยพุ่งเป้า JOINTVENTURE กับญี่ปุ่น อาทิ อิซูซุมอเตอร์ ไทยบริดจ์สโตน นิปปอนเดนโซฯลฯ

หากจะกล่าวไปแล้ว ธุรกิจที่ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของบุญสูงในประเทศไทย เพียงแต่ว่าที่ภูเก็ตเป็นจุดแรก ๆ ที่เขาสะสมความร่ำรวยต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

งานทวี เศรษฐีภูเก็ตอีกคนที่อาณาจักรกว้างออกไปมาก สไตล์การขยายอาณาจักรคล้าย ๆ กับบุญสูง จะต่างก็เพียง 2 จุด หนึ่ง-งานทวีปัจจุบันมีพื้นฐานกิจการสวนยางค่อนข้างมาก ว่ากันว่ามีพื้นที่สวยมากที่สุดในปะเทศไทย เป็นธุรกิจที่งานทวียังรุกไม่ถอยหลังจากกิจการเหมืองแร่ซบเซา สอง-งานทวีไม่คบญี่ปุ่น หากคบไต้หวันแทน "เขามีอดีตที่ไม่ลงรอยกับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และญี่ปุ่นเองก็คิดถึงประวัติศาสตร์เสียด้วย หรือพูดให้ชัด งานทวีนั้นสายก๊กมินตั๋งเต็มตัว" คนภูเก็ตเก่าแก่บอก และชี้ว่าการลงทุนของงานทวีในต่างประเทศปัจุบันจึงมีอยู่ที่ไต้หวันไม่น้อย

เขาเป็นคนจีนฮกเกี้ยนจากปีนัง มาปักหลักที่ภูเก็ต อาศัยบารมีของพระพิทักษ์ชินประชา และค่อย ๆ ขยายอาณาจักรออกไปในหลายจังหวัดภาคใต้ มีกิจการเหมืองแร่ สวนปาล์ม หมู่บ้านจัดสรร สไตล์ธุรกิจของกลุ่มค่อนข้างไม่พยายามยุ่งเกี่ยวกับใครมากนัก

ยงสกุล เริ่มมาที่ภูเก็ต เพราะต้องการขยายกิจการค้าหลัก นำสินค้าจากตะวันตกมาขายให้กับผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ชาวฝรั่ง ซึ่งได้ขยายกิจการมาสู่ภูเก็ตเช่นเดียวกัน ในที่สุดก็ปักหลักทำธุรกิจเหมืองแร่ที่นี่ด้วย ในบรรดาเศรษฐีภูเก็ตที่กล่าวมาแล้วและจะกล่าวต่อไป ยงสกุลได้ชื่อว่า "ขี้เหนียว" ที่สุด ชอบเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร บางคนบอกว่าหากยงสกุลมาถอนเงินฝากไปเพียงคนเดียวที่ธนาคารแหลมทอง สาขาภูเก็ต ธนาคารจะไม่มีปัญญาจ่าย

การดำเนินธุรกิจมักจะติดสอยห้อยตามบุญสูง มีการลงทุนในต่างประเทศประปราย และค่อนข้างเงียบ ๆ

บริษัทเหมืองแร่ลุ่นเส็งของเขาได้ชื่อว่าได้รับสัมปทานต่อจากฝรั่งรายแรกที่มาหากินที่ภูเก็ต อาทิ บริษัททุ่งคาคอมเปาวน์ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซะเทินคินตา ที่ ต. เกาะแก้ว-สะป่า อ. เมืองภูเก็ต เป็นต้น

ยงสกุลนอกจากทำเหมืองแร่แล้วว่ากันว่าทำอย่างอื่นไม่ค่อยเป็น จึงออกมาในลักษณะร่วมทุนเท่านั้น

วาณิช คนแซ่เอี๊ยบ เช่นเดียวกับเอี๊ยบ ซุน อัน เจ้าของโครงการอื้อฉาวที่ถูกเผาไปไม่นานมานี้ (เรื่องที่ "ผู้จัดการ" พยายามเขียนอยู่ขณะนี้) กำพืดของเขาเริ่มจริง ๆ ที่พังงา ตามสูตรก็เศรษฐีภูเก็ตทุกคนร่ำรวยจากการขุดของมีค่าในดินไปขาย (ไม่มีเทคนิคอะไรซับซ้อน) เจียร วาณิช หรือ "เถ้าแก่เจียร" คือคนที่ธนาคารกรุงเทพลืมไม่ได้ ในฐานะผู้บุกเบิกสาขาธนาคารแห่งนี้ในเขตภาคใต้โดยเริ่มยึดหัวหาดที่ภูเก็ตเป็นแห่งแรก

"เถ้าแก่เจียร" มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยซาร์โก้ เพราะแต่แรกคนที่มีอำนาจเหนือทั้งไทยซาร์โก้และธนาคารกรุงเทพคือกลุ่มสี่เสาเทเวศร์

เถ้าแก่เจียรมีลูกชายคนเดียวชื่อ เอกพจน์ วุฒิสมาชิกคนดังของภาคใต้ที่ชอบกีฬายิงปืนเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้ไทยซาร์โก้เจียดเงินมาสร้างสนามยิงปืนเมื่อภูเก็ตเป็นเจ้าภาพกีฬาเขต

เขากับเอี๊ยบ ซุน อัน นั่นคือขมิ้นกับปูน เมื่อเอี๊ยบอยู่กับเถ้าแก่เจียร และเป็น "หลงจู๊" ที่เถ้าแก่รักใคร่มาก เอกพจน์ก็คงค่อนข้างอึดอัด ดังนั้นเมื่อเถ้าแก่เจียรลาโลกไป ลูกชายคนเดียวเช่นเขาจึงมีโอกาสอันชอบธรรมที่จะกุมชะตาชีวิตธุรกิจในตระกูลวาณิชต่อไป เอี๊ยบ ซุน อัน จึงจำต้องระเห็จออกจากบ้านวาณิชตั้งแต่นั้นมา

เอกพจน์ปัจจุบันได้กลายเป็นนักลงทุนกิจการสวนปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และถึงขั้นร่วมทุนกับบริษัทยูนิลิเวอร์ยักษ์ใหญ่คอนซูเมอร์โปร์ดักส์ เชื้อสายเดียวดัช-อังกฤษ (เช่นเดียวกับเชลล์)

ท่ามกลางอาณาจักรธุรกิจที่ขยายตัวจากภูเก็ต ทั่วพื้นที่ภาคใต้ และข้ามไปสู่ระดับโลกนั้น ปัจจุบันเอกพจน์ วาณิช ยังมี "โหงวเฮ้ง" และบารมีจะเป็นรัฐมนตรีกับเขาด้วยคนหนึ่ง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล

ตันติวิทย์ ตระกูลเก่าอีกตระกูลหนึ่ง ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 3 GENERATION บันลือ ตันติวิทย์ ดูจะเป็นนักธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในภูเก็ตคนหนึ่ง เขาเริ่มจากเหมืองแร่ จนถึงปัจจุบันกำลังหันเหไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว โดยร่วมทุนกับญาติที่ปีนัง (เศรษฐีภูเก็ตมีญาติที่ปีนังเกือบทุกคน) สร้างรีสอร์ตที่หาดป่าตอง นอกจากที่ภูเก็ตแล้วตันติวิทย์ยังมีกิจการเหมืองแร่ที่ระนองอีก

บันลือยังมีน้องชายชื่อบันเทอง ตันติวิทย์ ซึ่งเก่งเรื่องการเงินมาก ปัจจุบันเป็นผู้บริหารไฟแนนซ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

สุดท้าย อุปติศฤงค์ ตระกูลนักธุรกิจใหญ่ที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า "ซิ่นฮ่องซุ่ย" ได้ชื่อว่าเป็นราชาสนยางแห่งภาคใต้ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับงานทวี ซึ่งเคยมีอดีตที่ขมขื่นระหว่างตระกูลทั้งสองเกี่ยวกับสวนยางหลายแสนไร่เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน มีคดีฆ่ากันตายอื้อฉาวไปทั้งเมืองภูเก็ต ว่ากันว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สองตระกูลไม่คบค้ากันอีกเลย

ในด้านการลงทุนที่ชี้ความสัมพันธ์ทั้งเบื้องลึกและเบื้องสูงก็คือ ซิ่นฮ่องซุ่ยเป็นเอเย่นต์เบียร์สิงห์ของภูเก็ต รวมทั้งมีข่าวว่าถือหุ้นในบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ อีกด้วย

เศรษฐีภูเก็ตในปัจจุบันที่มีการ "เกาะตัว" อย่างเหนียวแน่น" จะเห็นได้แก่ บุญสูง ยงสกุล และงานทวี บ่อยครั้งที่กลุ่มพวกนี้ประกาศออกมาค่อนข้างชัดแจ้งในการ "ต่อสู้" กับนายทุนต่างชาติอีกลุ่มหนึ่งที่มาปะทะทางผลประโยชน์ในกิจการเหมืองแร่ที่ภูเก็ตและบริเวณริมฝั่งด้านทะเลอันดามัน

อย่างไรก็ตามพวกเขามิได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เขาได้กระโจนไปอีกฝ่ายหนึ่งที่มี KNOW-HOW อันเป็นยุทธวิธีต่อสู้มาหลายยุคหลายสมัย (โปรดอ่านในเรื่องนี้ประกอบ)

และอย่างไรก็ตาม มีบางคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า พวกเขาบางตระกูลเหล่านี้จะแตกต่างอะไรกับ "ต่างชาติ" อื่น ๆ เล่าในเมื่อพวกเขาทำตัวเป็นพวกอพยพไม่จบสิ้น จนไม่รู้แล้วว่า เขาคือสวนหนึ่งของภูเก็ตหรือสังคมไทยหรอไม่?!?! หรือพวกเขาคำนึงถึงแต่ตัวเองเท่านั้น!?!?!?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us