ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรือดำน้ำของสหรัฐฯ มาลอลำในทะเลท้ายเหมืองของพังงา
เรือดำน้ำนั้นบังเอิญมีนาวิกโยธินคนหนึ่งจากรัฐคอนเนคติคัตที่เป็นนักธรณีวิทยามาก่อนเกิดสงครามชื่อว่า
เกรแฮม อาชิบอลด์ เนลสัน ได้ลงไปดำน้ำดูความงดงามของปะการังอันแสนจะงดงามใต้ท้องทะเลอ่าวพังงา
ความงามของโลกสีครามใต้ท้องทะเลย่านนั้นทำให้เนลสันดำลึกลงไปเรื่อย ๆ จนสังเกตเห็นว่าพื้นทะเลแทนที่จะมีทรายสีขาวเหมือนกับที่อื่น
ๆ กลับมีแต่ทรายสีดำ และเมื่อดำลงไปดูอย่างใกล้ชิด เนลสันก็คงอยากตะโกนกู่ออกมาทั้ง
ๆ ที่อยู่ในน้ำว่า เทพเจ้าแห่งโชคลาภได้ยื่นพระหัตถ์มาหาเขาแล้ว
เพราะทรายสีดำที่เขาเห็นนั้น จากความรู้ทางธรณีวิทยาที่มีอยู่ มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากแร่ดีบุก
เกรแฮม อาร์ชิบอด์ เนลสัน เก็บความลับของขุมแร่ดีบุกใต้อ่าวพังงาไว้อย่างเงียบเชียบ
จนกระทั่งมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง และตัวเขาปลดประจำการ เนลสันหนุ่มผู้ยากไร้ก็เดินทางกลับมาที่พังงาอีก
เที่ยวตระเวนดำเอาตัวอย่างแร่มาวิเคราะห์จนแน่ใจว่าท้องทะเลแถบนั้นคือแหล่งแร่ดีบุกจำนวนมหาศาล
เมื่อกลับไปสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เขาก็เริ่มเขียนรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่เขาค้นพบออกมาเป็นโครงการเสนอให้แก่บริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์
บรรษัทการค้าระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายธุรกิจมากมายรวมทั้งกิจการเหมืองแร่ในอเมริกากลาง
เนลสันได้เพียรตื๊อจนกระทั่งบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ตัดสินใจส่งคณะสำรวจชุดแรกเข้ามาที่ภูเก็ต
ซึ่งเนลสันร่วมเดินทางมาด้วยในฐานะผู้จัดการโครงการ
ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นผู้กุมอำนาจปกครองสูงสุดของประเทศไทย
บริษัทชื่อว่าบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ ก็ได้ก่อตั้งสำเร็จเรียบร้อยโดยมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด
16 คน และในจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 คน ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร
ปี 2506 เดือนพฤษภาคม รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ให้สัมปทานสำรวจแร่บริเวณชายฝั่งทะเลแถบจังหวัดระนอง
พังงา ภูเก็ต ชุมพรและสุราษฎร์ธานีแก่บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ กินเนื้อที่กว้างถึง
47,000 ไร่ และหลังจากนั้นเดือนเดียวก็ได้มีการก่อตั้งบริษัทไทยซาร์โก้ขึ้นในประเทศไทย
บริษัทไทยซาร์โก้มาจากชื่อเต็มว่าบริษัทไทยแลนด์ สเมลติ้ง แอนด์ รีไฟนิ่ง
จำกัด ก่อตั้งในปี 2506 เพื่อสร้างโรงงานถลุงแร่ดีบุกแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย
ค้นทะเบียนบริษัทมานับร้อย ๆ กิจการแล้ว "ผู้จัดการ" ยังไม่เคยเจอรายงานการประชุมของบริษัทไหนซึ่งสะท้อนภาพการร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่าง
"ทุนข้ามชาติ" กับ "ผู้ปกครองประเทศ" โจ๋งครึ่งเหมือนบริษัทนี้มาก่อน
ในวาระที่ 4 ของการประชุมตั้งบริษัทไทยซาร์โก้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน
2506 มีเนื้อหาสาระปรากฏตามรายงานดังต่อไปนี้
"ทุนของบริษัทกำหนดไว้เป็นจำนวน 18 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นชนิด ก.
(ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย) 2,700 หุ้น หุ้นชนิด ข. (ผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติ)
12,600 หุ้น และหุ้น "ผู้เริ่มการ" 2,700 หุ้น (หุ้นละ 1,000 บาท)
หุ้นชนิด ก. และ ข. ของบริษัทเป็นหุ้นสามัญที่ต้องชำระเป็นเงินสดจนเต็มมูลค่า
หุ้น "ผู้เริ่มการ" เป็นหุ้นสามัญมีสิทธิเท่าเทียมกันกับหุ้นชนิด
ก. และ ข. ในการรับเงินปันผล แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงและไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งสินทรัพย์เมื่อบริษัทเลิกกิจการ
หุ้น "ผู้เริ่มการ" จะออกให้แก่บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ
จำกัด เหมือนหนึ่งว่าได้ชำระเต็มมูลค่าแล้ว เมื่อมีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม
พ.ศ. 2505
ในแบบและเนื้อหาเป็นที่พอใจแก่กรรมการชนิด ก. และกรมการชนิด ข.
รวมทั้งเป็นการตอบแทนบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด ในการที่ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่และดีที่สุดเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์พิเศษตามพระราชบัญัติดังกล่าว
เพื่อให้ได้รับการยกเว้นบางประการเกี่ยวกับภาษีและอากร"
เขาถึงว่าคนใหญ่คนโตสมัยก่อนเขาหากินกันง่าย ๆ อย่างนี้แหละ อยากตั้งโรงงานอะไรสักอย่างก็จัดการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม
ในแบบที่พวกพ้องของตัว "พอใจ" แล้วก็ประชุมกันตกรางวัลให้กับตัวเองเป็น
"หุ้นลม" อย่างหน้าตาเฉย
ผู้ถือหุ้นชนิด ก. นำด้วยท่านหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ พลเอกถนอม กิตติขจร
พลตรีลม้าย อุทยานานนท์ ฯลฯ คนละ 1 หุ้น ส่วนใหญ่ให้ออกเสียงผ่านพลตรีลม้าย
อุทยานานนท์ หุ้นอีก 2,692 หุ้นถือโดยบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจโดยพลตรีลม้าย
อุทยานานนท์ เป็นตัวแทนอีกเช่นกัน
ผู้ถือหุ้นชนิด ข. ก็คือตัวแทนจากบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์เกือบทั้งหมด มีคนไทยอยู่เพียงคนเดียวคือ
วิพัฒน บุนนาค แต่ก็อยู่ในฐานะลูกจ้างของบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ โดยมีหน้าที่เป็นทนาย
และผู้ถือหุ้นฝ่ายบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ หรือกรมการบริษัทไทยซาร์โก้ ย่อมจะขาดอดีตนาวิกโยธินที่ชื่อเกรแฮม
อาชิบอลด์ เนลสันไปไม่ได้
โรงงานไทยซาร์โก้เริ่มเปิดถลุงแร่ดีบุกในปี 2508 โดยใช้เตาถลุง 2 เตา มีกำลังการผลิตดีบุกได้ปีละ
20,000 ตัน และต่อมาในปี 2510 ได้ขยายกำลังผลิตเป็นปีละ 38,000 ตัน ขยายทั้ง
ๆ ที่ตั้งแต่เปิดโรงงานมายังไม่เคยผลิตได้เต็มขีดความสามารถเนื่องจากมีปริมาณแร่ดีบุกป้อนโรงงานไม่เพียงพอ
(แม้กระทั่งจนถึงปัจจุบันนี้)
เหตุที่ปริมาณแร่ดีบุกไม่เพียงพอต่อการป้อนโรงงานแม้จะมีคำสั่งของรัฐบาลห้ามส่งออกแร่ดีบุก
บรรดานายเหมืองชายไทยเชื้อสายฮกเกี้ยนก็ยังหาทางที่ส่งไปขายที่มาเลเซียและสิงคโปร์เพราะไม่ต้องเสียทั้งภาษีและค่าภาคหลวง
แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่สุด
ท่ามกลางความงุนงงของนายเหมืองชาวไทยที่ไม่เข้าใจว่าทำไมไทยซาร์โก้ถึงขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กำลังผลิตเดิมแดีบุกก็ไม่พอถลุงอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่งงและมั่นใจในการกระทำของตัวเองก็คือ
กรรมการบริหารของไทยซาร์โก้โดยเฉพาะเกรแฮม อาชิบอลด์ เนลสัน
เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าแหล่งแร่จำนวนมหาศาลไม่ได้อยู่เฉพาะในเหมืองบนบกของพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา
หากอยู่ในบริเวณชายทะเลแถบนั้นด้วย!
ปี 2511 จึงได้หายงงกันถ้วนหน้า เมื่อได้มีการก่อตั้งบริษัทเท็มโก้ขึ้นมาโดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายไทยคือบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ
(หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียชีวิตเมื่อปี 2506 หุ้นส่วนใหญ่ก็อยู่ในการครอบครองของจอมพลถนอม-ประภาส
ชำนาญ เพ็ญชาติ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์) ร่วมกับบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ เพื่อประกอบการทำเหมืองแร่ในทะเล
ด้วยทุนจดทะเบียน 42 ล้านบาท
ทั้งไทยซาร์โก้และเทมโก้เมื่อตั้งขึ้นมาไม่นาน ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยคือบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจก็ได้ขายหุ้นของตนให้กับยูเนี่ยนคาร์ไบด์จนหมด
หุ้นเกือบร้อยเปอร์เซนต์จึงเป็นของบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ จะมีหุ้นของคนไทยก็เฉพาะเจ้าหน้าที่บริหารบางคนที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเท่านั้น
เมื่อความลับเกี่ยวกับแหล่งแร่ในทะเลของไทยแพ่กระจายออกไป บรรษัทข้ามชาติอื่น
ๆ ก็อยากจะเข้ามามีเอี่ยวด้วย ซึ่งในจำนวนหลายบริษัทนั้น บริษัท บิลลิตัน
บี.วี. บริษัทในเครือของรอแยล ดัทช์ เชลล์ เช่นเดียวกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยที่กำลังขุดแร่ในทะเลอยู่ที่อินโดนีเซียก็รวมอยู่ด้วย
รวมทั้งเป็นบริษัทเดียวที่บริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ให้ความสนใจ เพาะบิลลิตันเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการทำเหมืองแร่ในทะเลอยู่แล้ว
ต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ ยูเนี่ยนคาร์ไบด์จึงขายหุ้นในไทยซาร์โก้ให้กับบิลลิตัน
บี.วี. จำนวน 3,600 หุ้นในปี 2514 รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามาทำการขุดแร่ในสัมปทานของแทมโก้ซึ่งก็เป็นเอกสิทธิ์ของยูเนี่ยนคาร์ไบด์อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตามยังไม่ทันที่บิลลิตัน บี.วี. จะทำอะไรได้เต็มไม้เต็มมือ ก็เกิดเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ล้มคว่ำต้องเดินทางออกจากประเทศไทย
กิจการใดที่อดีต 2 ผู้นำนี้ทำไว้ก็ถูกขุดคุ้ยขึ้นมา ประกอบกับเกิดกระแสต่อต้านสหรัฐฯ
ที่ระบุว่าครอบงำสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ไทยซาร์โก้และเทมโก้ก้กลายเป็นเป้าที่กลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ เคลื่อนไหวโจมตีว่าเป็นตัวการปล้นทรัพยากรธรรมชาติของไทย
หนังสือพิมพ์ก็พยายามเสนอข่าวเปิดเผยเบื้องหลังความเป็นมาของทั้ง 2 กิจการที่ได้รับความสนับสนุนจากนายทุนท้องถิ่นก็เริ่มเอาเรือออกไปดำหาแร่ดีบุกในพื้นที่สัมปทานของบริษัทเทมโก้
และบริษัทได้ตอบโต้โดยอ้างสิทธิ์ของตนเองโดยให้เจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้านอย่างเฉียบขาด
และนี่คือวาระสุดท้ายของเทมโก้ เพราะกระแสคัดค้านได้แผ่ขยายกว้างออกไป
มีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสัมปทานของบริษัท ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาในขณะนั้นก็คือ
ธวัช มกรพงศ์ ก็เห็นด้วยจึงนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และในต้นปี
2518 รัฐบาลเดือนเดียวของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็สั่งยกเลิกสัมปทานของบริษัทเทมโก้
เมื่อรัฐบาลไทยชุด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันถึงการถอนฐานทัพออกจากประเทศไทยในต้นปี
2519 ก็ส่งผลให้บริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ตัดสินใจถอนตัวออกจากประเทศไทยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับดีบุกอย่างสิ้นเชิง
โดยโอนขายหุ้นให้กับบิลลิตัน บี.วี. ทั้งหมด
นับแต่นั้นมาบริษัทไทยซาร์โก้หรือไทยแลนด์ สเมลติ้ง แอนด์ รีไฟนิ่ง จำกัด
ก็ได้เปลี่ยนเจ้าของฝรั่งสัญชาติอเมริกันมาเป็นฝรั่งเชื้อสายดัชท์ผสมอังกฤษในปี
2522 เพิ่มทุนเป็น 50 ล้านบาท ปี 2523 เปลี่ยนราคาหุ้นจากหุ้นละ 1,000 บาท
เหลือหุ้นละ 100 บาท และเพิ่มทุนขึ้นเป็น 200 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทไทยซาร์โก้มีบริษัทบิลลิตัน บี.วี. แห่งเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดถึง
1,999940 หุ้น อีก 60 หุ้นกระจายให้ผู้บริหาร 6 คนถือคนละ 10 หุ้น
ส่วนเกรแฮม อาชิบอลด์ เนลสัน ก็เดินทางกลับสหรัฐฯ พร้อมกับทีมงานของยูเนี่ยนคาร์ไบด์ด้วยฐานะอันมั่งคั่งสมกับความใฝ่ฝันของเขาตอนที่ดำผุดดำว่ายอยู่เหนือพื้นทรายสีดำเมื่อกว่า
40 ปีก่อน และผลจากกรค้นพบของเขาได้เจือจานความร่ำรวยให้กับคนไทยอีกหลายต่อหลายคนในช่วงเวลาต่อมา
ขอบคุณมาก "เนลสัน" ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่แห่งใดในโลก ความใฝ่ฝันของคุณทำให้ประเทศไทยมีโรงงานถลุงแร่ดีบุกเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
และคุณคงไม่รู้ตัวว่าคุณโชคดีแค่ไหนที่ตอนคุณพบผืนทรายสีดำนั้น คุณไม่รู้หรอกว่านอกจากดีบุกแล้วมันยังมีธาตุอันล้ำค่าอ่างแทนทาลัมเจือปนอยู่ด้วย
เพราะถ้าคุณรู้คุณอาจจะสำลักโชคเสียจนช็อคตายในน่านน้ำพังงานไปนานแล้วก็เป็นได้
และก็ขอบคุณที่อุตส่าห์ขนสมัครพรรคพวกข้ามน้ำข้ามทะเลมาขุดกอบโกยนำความมั่งคั่งกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของคุณ
ทิ้งเศษกระดูกให้กับคนไทยบางคนที่ขายชาติขายแผ่นดินช่วยเหลือพวกคุณกอบโกยจนสำเร็จ!