Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529
เบื้องหลัง "แทนทาลัม" ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์             
 

   
related stories

แผ่นดินภูเก็ตสมรภูมิการต่อสู้กลางเหมืองแร่ของคนจีนฮกเกี้ยน

   
search resources

ไทยแลนด์แทนทาลัม อินดัสตรี
Mining
ไทยซาโก้
ไทยเพรเซ่น สเมลเตอร์
ไทยไพโอเนียร์ เอนเตอร์ไพรซ์
วุทธิพงศ์ โชติธรรมาภรณ์




อาจจะกล่าวได้ว่าคนไทยทุกคนหรือกว้างออกไปก็คงจะเป็นคนทั้งโลกนั้น อยากทราบกันมากว่าอะไรหรือใคร คือเบื้องหลังเหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานแทนทาลัมที่จังหวัดภูเก็ต และมีหลายคนพยายามจะอธิบายกันไปต่างๆ นานา ใกล้ตัวบ้าง ไกลตัวบ้าง แต่ก็เหมือนว่าจะไม่ช่วยให้คลายข้อคลางแคลงใจไปได้เท่าไหร่ “ผู้จัดการ” เองก็พยายามจะอธิบายตามแนวทางที่ได้ติดตามและรับทราบ แต่คงไม่ถึงกับพูดหรอกว่า นี่คือเบื้องหลังที่แท้จริงทั้งหมด

เรื่องราวบางเรื่องในใต้หล้ามีบ้างที่เกิดขึ้นแล้วจบลงโดยไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ

แต่ยังมีเรื่องราวอีกบางเรื่องที่กลับต้องการคำอธิบายและขุดคุ้ยหาสาเหตุ

ดังกรณีโรงงาน “แทนทาลัม” ที่ภูเก็ตก็คงจะเข้าข่ายเรื่องราวอีกบางเรื่องนี้

คำอธิบายเรื่องราวนานานั้นมักจะเป็น 2 ด้าน ปรากฏการณ์ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเนื้อแท้อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้น

ในการอธิบายเรื่องราวกรณีโรงงาน “แทนทาลัม” ที่บานปลายเป็นเหตุการณ์จลาจลเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีพูดกันทั้ง 2 ด้าน เพียงแต่แพร่หลายที่สุดล้วนเป็นด้านปรากฏการณ์ เพราะการอธิบายโดยยึดติดปรากฏการณ์เป็นเรื่องไม่ยาก

อาจจะเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปี 2529 เมื่อมีการเคลื่อนไหวศึกษาปัญหามลพิษจากโรงงานบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสทรีย์ (ทีทีไอซี) ของนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง ผลการศึกษาแม้ว่าจะไม่ได้คำตอบอะไรชัดเจนมากนัก แต่ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่ากรรมวิธีการผลิตทางเคมีของโรงงานจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูเก็ต

ต่อมามีกลุ่มนิสิตนักศึกษาในนามชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม 24 สถาบัน ซึ่งหลายคนเป็นคนท้องถิ่นที่ขึ้นไปเรียนในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ นำข้อสงสัยนี้มาเผยแพร่และทำงานความคิดให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้ร่วมรับทราบ

มีการนำวิดีโอเกี่ยวกับหายนะของโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ในอินเดียและภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ เดย์ อาฟเตอร์” เข้ามาประกอบให้สมเหตุสมผล พร้อมๆ กับการจัดตั้งแกนเคลื่อนไหวในนามกลุ่มประสานงานฯ ดึงปัญญาชนและผู้นำระดับท้องถิ่นเข้าร่วม และเผอิญช่วงนั้นก็มีข่าวดาวเทียมในจอทีวีเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้าปรมาณูเชอร์โนบิลของโซเวียตพอเหมาะพอเจาะด้วย

เพียงการเคลื่อนไหวช่วงสั้นๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบก็ทำให้บรรยากาศแห่งความกลัวตายเริ่มแพร่คลุมไปทั่วทั้งเกาะ

หัวข้อการบ่นสนทนาในช่วงนั้นก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องโรงงานนรกแห่งนี้?

หน่วยงานของทางการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า โรงงานแทนทาลัมจะเป็นพิษเป็นภัยจริงหรือไม่? เนื่องจากเอาเข้าจริงทั้งคนของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็บอกว่า เป็นเทคโนโลยีใหม่จะต้องไปเรียนรู้จากเยอรมันเสียก่อนจึงให้คำตอบได้

ส่วนฝ่ายโรงงานต้นเหตุก็แสดงท่าทีและกล่าวแก้ต่างอย่างกำกวม ตัวผู้บริหารโรงงานที่มีหน้าที่จะต้องแถลงข้อเท็จจริงอย่างเปิดใจนั้นก็อยู่ในสภาพที่ยิ่งพูดยิ่งพัง ยิ่งออกความเห็นก็เหมือนกับยิ่งยั่วยุ

มีนักข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งเคยถามอาทร ต้องวัฒนา ผู้ถือหุ้นของโรงงานและมีตำแหน่งเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ตว่า จะแก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างไร? อาทรก็ยืดอกตอบว่า ไม่ต้องห่วงหากถึงวันเปิดโรงงานเมื่อไร? จะเช่าเครื่องบินแอร์บัสเอานักข่าวจากส่วนกลางมาดูโรงงานด้วยตาตัวเอง รับรองว่าหนังสือพิมพ์ส่วนกลางจะกระพือข่าวไปทั่วประเทศแล้วทุกอย่างก็จะหมดปัญหา นักข่าวท้องถิ่นคนนั้นได้ฟังแล้วก็กัดฟันกรอดๆ

หรือเมื่อภายหลังการชุมนุมใหญ่คัดค้านโรงงานแทนทาลัมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่มีคนมาร่วมราวๆ 6 หมื่นคนนั้น นักข่าวส่วนกลางฉบับหนึ่งถามธรรมเรศน์ สุวรรณภาณุ ผู้จัดการฝ่ายบริหารของโรงงานว่ารู้สึกอย่างไร? ธรรมเรศน์ก็บอกทำนองว่า ไม่ยั่น เพราะเชื่อว่าคนที่มาชุมนุมส่วนมากมากันแบบไม่รู้เรื่อง ก็เข้าทำนองตามแห่นั่นแหละ

ตามคำบอกเล่าของคนภูเก็ตจำนวนมากที่ “ผู้จัดการ” ลงไปสัมผัสโดยตรงกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “พูดดูถูกกันอย่างนี้เจ็บใจอย่างยิ่ง

จากการชุมนุมแสดงพลังครั้งแรกที่จัดโดยกลุ่มประสานงานฯ กลุ่ม 24 สถาบัน และกลุ่มตลาดสดกับกลุ่มบางเหนียว (กลุ่มตลาดสดกับกลุ่มบางเหนียวเป็นกลุ่มพลังที่ถือว่ามีพลังมากในภูเก็ต) ฯลฯ ซึ่งเป็นการชุมนุมคนที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ในเทศกาลกินเจที่ลือลั่นของภูเก็ตก็ดูเหมือนว่าแนวร่วมของกลุ่มคัดค้านจะขยายตัวกว้างขวางขึ้น และเมื่อขยายตัวการนำที่เคยเป็นเอกภาพก็เริ่มเข้าสู่จุดที่ไร้การจัดตั้ง เป็นช่วงที่นักการเมืองที่ลงสมัคร ส.ส. บางคนพยายามเข้าแทรกด้วยความหวังว่าจะได้คะแนนเสียง

และเริ่มจะมีเป้าหมายการคัดค้านต่างๆ ออกไปตามจุดยืนหรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม

บางกลุ่มระบุว่าไม่ต้องการโรงงานแทนทาลัมตั้งอยู่บนเกาะภูเก็ต

บางกลุ่มก็ว่าไม่ต้องการโรงงานแทนทาลัมในประเทศไทย

ส่วนบางกลุ่มอย่างเช่นกลุ่มของผู้สมัคร ส.ส. หมายเลข 6 พรรคพลังใหม่ที่ชื่อ เรวุฒิ จินดาพล ก็มาในมาดแปลก ด้วยการประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า ถ้าเขาได้รับเลือกเข้าสภาเป็น ส.ส. ก็จะต่อสู้เรื่องแทนทาลัมอย่างหัวชนฝาไม่ให้โรงงานนี้เปิดได้ และหากทำไม่สำเร็จเขาก็เตรียมโลงศพเอาไว้แล้ว 3 โลง โลงหนึ่งสำหรับผู้อนุญาตให้ตั้งโรงงานฯ อีกโลงหนึ่งสำหรับเจ้าของโรงงาน นายเอี๊ยบ ซุน อัน และโลงสุดท้ายสำหรับตัวเขา เพราะเขาจะยิงตัวตายทันทีที่หน้ารัฐสภา

และเพื่อเชิดชูจุดยืนให้ดูสมจริง ในวันที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ดร. จิรายุ อิศรางกูรฯ เดินทางมาภูเก็ตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนั้น เรวุฒิ จินดาพล ลูกชายเศรษฐีใหญ่เจ้าของสวนยางนับพันไร่คนนี้ก็พาสมัครพรรคพวกแบกโลงศพจริงๆ ทั้ง 3 โลงมาต้อนรับรัฐมนตรีจิรายุถึงสนามบิน และเหตุการณ์ก็เริ่มวุ่นวายตั้งแต่สนามบินเรื่อยมาจนถึงตัวเมืองภูเก็ต

ว่ากันว่าการกระทำของเรวุฒิ ผู้สมัครเบอร์ 6 ก็เพื่อดัดหลังซ้อนแผนของบันลือ ตันติวิทย์ ผู้สมัครพรรคราษฎรที่วันนั้นผู้ว่าฯ จะให้ความร่วมมือเพื่อทำให้บันลือเป็นขวัญใจประชาชน ต่อสู้เรียกร้องให้ปิดโรงงานได้สำเร็จ ซึ่งแผนของบันลือได้มีการตระเตรียมถึงขั้นจัดพวงมาลัยไว้ให้คล้องคอและมีคนชุดหนึ่งจะเอาบันลือแบกขึ้นบ่าแห่ไปรอบเมือง แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้คล้องพวงมาลัย แผนก็มาเริ่มเสียเมื่อเจอกับโลงศพของเรวุฒิเข้า

พร้อมๆ กับการขยายตัวของแนวร่วมคัดค้านโรงงานแทนทาลัมนี้เอง ผู้ว่าราชการจังหวัด สนอง รอดโพธิ์ทอง ก็กระโดดเข้ามาอย่างไม่มีต้นมีปลาย ผู้ว่าฯ สนองได้ทำหนังสือเชิญชวนกลุ่มพลังมวลชน 18 กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่เดิมและกลุ่มใหม่ๆ อย่างเช่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มาชุมนุมเสนอปัญหาให้รัฐมนตรีจิรายุรับทราบและฟังคำตอบว่ารัฐบาลจะจัดการปัญหาเช่นไรจากปากของรัฐมนตรีจิรายุ

จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันชุมนุมมีคนมาร่วมเป็นจำนวนแสน มีการเผาโรงงานและโรงแรมเมอร์ลิน ขว้างปาศาลาประชาคม และทำลายป้อมสัญญาณไฟจราจรทั่วเมือง เพราะเหตุจากความไม่สามารถควบคุมฝูงชนให้อยู่ในระเบียบ ขาดการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ปล่อยให้ฝูงชนเฝ้าคอยรัฐมนตรีจิรายุ ตั้งแต่เช้าจนบ่ายด้วยความกระวนกระวาย หิว เหนื่อย และคิดว่าตนถูกหลอกให้ต้องมานั่งตากแดดอย่างขาดความรับผิดชอบ

เรื่องที่ไม่น่าเกิดก็เลยต้องเกิดและเป็นการเปิดโอกาสให้ “มือที่สาม” เข้าแทรกแซงก่อความวุ่นวายขึ้น

คำอธิบายแบบยึดติดปรากฏการณ์นี้สรุปแล้วก็ค่อนข้างจะง่ายและรวบรัด อีกทั้งยังเป็นคำอธิบายที่ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงว่าจะไปชนตออะไรเข้าอีกด้วย

แต่ที่ไม่ง่ายและไม่รวบรัด กลับเป็นคำอธิบายที่หยั่งลึกลงสู่เนื้อแท้ของปัญหาจริงๆ

ซึ่งแน่นอน…เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

คำอธิบายนี้แทนที่จะเริ่มกันตามคำอธิบายตัวปรากฏการณ์ข้างต้น ก็จะขอเริ่มกันตรงเหตุการณ์ในช่วงตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากถ้าพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมา เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้มันได้เริ่มก่อหวอดขึ้นจากจุดเล็กๆ ในช่วงนั้นอย่างเงียบเชียบ…

นับแต่โบราณกาลนั้น ความลับเรื่องตะกรันแร่ดีบุกจะมีราคาค่างวดอย่างไรยังไม่มีใครทราบ คนงานเหมืองแร่, คนภูเก็ต-พังงา ตลอดจนนายเหมืองชาวจีนที่ร่ำรวยขึ้นมาจากกิจการเหมืองแร่ทั้งหลายทราบกันแต่ว่ามันเป็นของที่ไร้ค่า จะใช้ประโยชน์บ้างก็เพียงการถมถนนหรือถมบริเวณบ้าน ทุกคนล้วนไม่ทราบว่าแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ที่ผสมอยู่ในตะกรันดีบุกคืออะไรด้วยซ้ำ?

ล่วงเข้าปี 2497 มีนักวิชาการด้านธรณีวิทยาของไทยบางคนที่ทราบว่า พื้นดินภาคใต้มีแร่แทนทาไลต์ในรูปของแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ปะปนอยู่กับแร่ดีบุก แต่เผอิญช่วงนั้นราคาแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ยังไม่สูงมาก และไม่ใช่แหล่งแร่แทนทาไลต์โดดๆ เหมือนเช่นบางประเทศในยุโรป การให้ความสำคัญในทางพาณิชย์ก็เลยไม่ปรากฏชัด คงมีเพียงการบันทึกทางด้านวิชาการไว้เท่านั้น

“จากการวิเคราะห์ทางวิชาการก็พบว่า ดีบุกในประเทศไทยจะประกอบด้วยดีบุกบริสุทธิ์ 73.4 เปอร์เซ็นต์ แทนทาลัมเพนต็อกไซด์ 1.1 เปอร์เซ็นต์ เหล็ก 0.5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นมลทินอื่นๆ” บันทึกทางวิชาการของกรมทรัพยากรธรณีระบุ

และในช่วงหลังๆ ก็มีการประมาณการว่าแทนทาลัมชนิดที่เกิดขึ้นในแหล่งแร่ดีบุกของไทยนี้มีปริมาณถึง 16 ล้านปอนด์ (หมายถึงเนื้อของแทนทาลัม) ซึ่งมากที่สุดในโลก (ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ของแทนทาลัมในโลกนี้) ทีเดียว

แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นความลับมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีเตาถลุงแร่แบบโบราณในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงที่ภูเก็ต พังงา ยุคที่มีการส่งแร่ไปถลุงในปีนังและมาเลเซีย หรือยุคที่มีการก่อตั้งโรงถลุงแร่เพียงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบันเมื่อปี 2508 บริเวณอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ตที่รู้จักกันในนามของไทยซาร์โก้แล้วก็ตาม

“คือนอกจากจะไม่เห็นคุณค่าของตะกรันแล้ว เวลาเอาแร่ไปขายก็ยังถูกหักค่ามลทินของดีบุกอีก โดยโรงถลุงเขาอ้างว่าแร่ธาตุที่เจือปนอยู่ทำให้ดีบุกมีความบริสุทธิ์น้อยลงและยุ่งยากในการถลุง เขาก็หักราคาไป โดยที่เจ้าของเหมืองก็ไม่ทราบว่าตัวแร่ธาตุที่โดนหักนั้นมันมีความลับมูลค่ามหาศาลแฝงอยู่…” คนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเหมืองแร่มานานเล่าให้ฟัง

กล่าวสำหรับไทยซาร์โก้หรือบริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่ง นับแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผู้ที่หยิบชิ้นปลามันโดยตลอด และก็ไม่มีใครสามารถทราบแน่ชัดว่าไทยซาร์โก้มีรายได้มหาศาลขนาดไหนจากการขายตะกรันแร่ไปต่างประเทศ?

ทุกคนทราบแน่ชัดเท่านั้นว่า ความลับเรื่องคุณค่าของตะกรันนี้ ไทยซาร์โก้รู้เรื่องมานานแล้ว

"จากสถิติที่เปิดเผยโดยกรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี 2518 ซึ่งปีนั้น ไทยซาร์โก้ส่งตะกรันไปขายเป็นมูลค่า 26.2 ล้านบาท คำนวณกลับไปในช่วง 9 ปีของการตั้งโรงถลุง ก็เชื่อว่าไทยซาร์โก้น่าจะได้กำไรโดยมิพักต้องลงทุนลงแรงอะไรเลยจากแทนทาลัมเพนต็อกไซด์นี้ประมาณ 200-600 ล้านบาท” นักวิชาการคนหนึ่งเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ”

ครั้นแล้วเหตุการณ์ก็เริ่มผันแปรเปลี่ยนไปในช่วงปี 2516

ช่วงนั้นสำหรับประเทศไทยก็คือช่วงของการตื่นตัวทางการเมือง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม คว่ำรัฐบาลถนอม-จอมพลประภาส และพลังมวลชนเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการครอบงำของต่างชาติ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม (ต่อมาก็เกิดกรณีเท็มโก้ซึ่งเป็นกิจการเหมืองแร่เครือเดียวกับไทยซาร์โก้)

ส่วนในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกก็เป็นช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ที่สามารถผลิต “ไมโครชิป” ได้สำเร็จ และวัสดุที่ต้องใช้ในการผลิตตัวสำคัญก็คือ แทนทาลัม จากความต้องการใช้แทนทาลัมที่เพิ่มขึ้น ราคาของแร่ธาตุที่ใช้ผลิตแทนทาลัมก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จากไม่กี่เหรียญต่อปอนด์ก็เริ่มขึ้นเป็นสิบเหรียญยี่สิบเหรียญ!

เหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศเช่นนี้ ได้ทำให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเริ่มให้ความสนใจกับการส่งออกตะกรันดีบุกของโรงงานไทยซาร์โก้มากขึ้น หลังจากที่ไม่เคยสนใจเลยแม้แต่น้อยตลอดระยะเวลา 8 ปีเต็มๆ ก่อนหน้านั้น “ก็พบว่าตะกรันที่ไทยซาร์โก้ส่งไปขายในสหรัฐฯ นั้นมีปริมาณแทนทาลัมเพนต็อกไซด์อยู่ในระดับสูงหรือในระดับไฮเกรด ก็เลยต้องมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายและกำหนดให้เรียกเก็บค่าภาคหลวงจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำกันอย่างเป็นระบบอะไร? เป็นเรื่องตื่นตามกระแสมากกว่า…” นักวิชาการคนเดิมขยายความต่อ

สำหรับนายเหมืองหลายแร่ที่เพิ่งจะตาสว่าง ก็เจ็บใจมากที่ตลอดเวลาถูกไทยซาร์โก้ปิดบังมาเรื่อย ดูเหมือนสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้วในใจของนายเหมืองคนไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้ เพียงแต่การผูกขาดโรงงานถลุงแร่ไว้เพียงโรงเดียว พร้อมๆ กับมาตรการห้ามนำสินแร่ออกขายต่างประเทศก็ยังทำให้พูดอะไรไม่ได้มาก

ในปี 2517 เรื่อยมาจนถึงปี 2520 ราคาแทนทาลัม (เพนต็อกไซด์) ก็ยังสูงต่อไปเรื่อยๆ คือในปี 2519 อยู่ในระดับราคาปอนด์ละ 25 เหรียญยูเอส แล้วก็ขึ้นเป็นเกือบ 30 เหรียญยูเอสในปี 2520

ซึ่งในช่วงปี 2520 นี้เอง ที่ตะกรันโบราณบนเกาะภูเก็ตที่ถูกทอดทิ้งนับเป็นร้อยๆ ปีเริ่มกลายเป็น “สมบัติเจ้าคุณปู่” ที่มีค่าขึ้นมาทันตาเห็น

มีเรื่องเล่าว่ามันเกิดจากหัวหน้าช่างของไทยซาร์โก้คนหนึ่งที่ชื่อ สมหมาย มีทรัพย์หลาก

สมหมายผู้นี้มีลูกน้องคนหนึ่งชื่อ สุจิตต์…เป็นคนตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วป่า พังงา แหล่งถลุงแร่ในยุคโบราณของภาคใต้

ทั้งสมหมายและสุจิตต์รู้เรื่องคุณค่าของตะกรันมานานแล้ว แต่ตลอดมาก็ได้แต่มองความร่ำรวยของไทยซาร์โก้ตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งราคาตะกรันสูงขึ้นอย่างพรวดพราด วันหนึ่งสุจิตต์ก็นำตะกรันโบราณแถวๆ บ้านที่ตำบลกระโสมมาให้สมหมายตรวจสอบปริมาณแทนทาลัมเพนต็อกไซด์

จากการตรวจสอบนั้นก็พบว่าเป็นตะกรันที่มีแทนทาลัมเพนต็อกไซด์อยู่ในเปอร์เซ็นต์สูง สมหมายกับสุจิตต์ก็ลาออกจากไทยซาร์โก้มาทำธุรกิจรับซื้อตะกรันโบราณจากตำบลกระโสม แล้วติดต่อจนสามารถส่งไปขายต่างประเทศได้ โดยผ่านบริษัทนายหน้าชื่อฟิลลิป บราเดอร์ เพียงช่วงสั้นๆ ก็สร้างความร่ำรวยให้หุ้นส่วนทั้งสองคนนี้อย่างน่าอิจฉา

แต่ไม่นานต่อมาสุจิตต์ก็ถูกยิงตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนสืบสวนแล้วเชื่อว่าเป็นการหักหลังกันทางธุรกิจค้าตะกรันแร่

นับแต่นั้นมาทั่วเกาะภูเก็ตก็เข้าสู่ยุคตื่นตะกรัน มีพ่อค้ารับซื้อเกิดขึ้นอีกหลายราย ส่งไปขายมาเลเซียบ้าง สิงคโปร์บ้าง

ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ตถูกตรวจสอบกันอย่างละเอียดเพื่อจะให้ทราบว่า มีที่ดินตรงไหนบ้างที่คนโบราณเคยเอาตะกรันแร่ไปถม ถนนบางสายจู่ๆ ก็มีคนมาเสนอกับเทศบาลว่าจะขอขุดโดยยอมเสียเงินให้จำนวนหนึ่งและเมื่อขุดเสร็จจะสร้างให้ใหม่ดีกว่าเก่าเสียอีก

เช่นเดียวกับบ้านหลายหลังถูกรื้อทิ้งเพื่อขุดเอาตะกรันโดยเฉพาะ

“คุณอย่าเห็นเป็นเรื่องขำนะ…รู้ไหม เมื่อปี 2521-2523 นั้น ราคาแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ปอนด์ละเท่าไหร่ เฉพาะปี 2523 ราคามันขึ้นไปถึงปอนด์ละ 120 เหรียญเชียวนะ….” เศรษฐีภูเก็ตคนหนึ่งบอกให้ฟัง

และในช่วงนี้เองที่เมืองภูเก็ตเกิดพ่อค้ารับซื้อตะกรันโบราณขึ้นคนหนึ่ง เขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานถึงเกือบ 20 ปีแล้ว เกิดและเรียนหนังสือในมาเลเซีย (ว่ากันว่าเรียนมาด้านวิศวะเหมืองแร่) เป็นคนจีนฮกเกี้ยน เข้ามาอยู่ภูเก็ตครั้งแรกด้วยการทำงานกับมหาเศรษฐีเจ้าของเหมืองแร่และสวนยางที่แซ่เดียวกันชื่อเจียร วานิช (บิดาของเอกพจน์ วานิช ที่ปัจจุบันมีกิจการสวนปาล์มใหญ่โต)

เขาชื่อ เอี๊ยบ ซุน อัน (YEAR SOON AUN) ที่ต่อมาแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วก็เปลี่ยนชื่อตามสัญชาติเป็น วุทธิพงศ์ โชติธรรมาภรณ์

เอี๊ยบ ซุน อัน ปัจจุบันอายุอยู่ในวัย 50 กว่า ๆ เกือบ 60 มีลูกสาว 2 คนที่เติบโตและเรียนหนังสือในไทย คนในตลาดสดภูเก็ตเกือบทุกคนรู้จักเขาในภาพของอาแป๊ะที่แต่งตัวธรรมดาๆ ไม่พิถีพิถัน พูดภาษาใต้สำเนียงภูเก็ตคล่องแคล่วชัดถ้อยชัดคำ ชอบออกจ่ายตลาดในช่วงเช้าทุกเช้า กินอยู่ง่ายๆ แบบชาวบ้าน เป็นคนมีฝีมือในการทำงานที่ “เถ้าแก่เจียร” รักมาก และออกจะเป็นขมิ้นกับปูนกับลูกชายคนเดียวของ “เถ้าแก่เจียร” ที่ชื่อเอกพจน์ วานิช อย่างรุนแรง เพียงแต่จะด้วยสาเหตุอะไรกลับไม่มีใครทราบ?

เอี๊ยบ ซุน อัน นั้นภายหลังการตายของเจียร วานิช ก็ออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว เขาก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส. เอ. มิเนอแร็ลส์ ขึ้น ทำกิจการรับซื้อตะกรันแร่ดีบุกส่งไปที่มาเลเซีย และสิงคโปร์และจากความเฉลียวฉลาดบวกกับความคร่ำหวอดมานานในวงการเหมืองแร่ ก็ได้ชักนำให้เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทเฮอร์แมน ซี สตาร์ค เบอร์ลิน เจ้าของเทคโนโลยีและโรงงานผลิตแทนทาลัมระดับยักษ์ของโลกแห่งเยอรมนีตะวันตก

ในช่วงต้นๆ ปี 2522 เอี๊ยบ ซุน อัน เดินทางเข้าออกเป็นว่าเล่นระหว่างไทยมาเลเซียและเยอรมนีตะวันตก พร้อมกับกระเป๋าเอกสารใบหนึ่ง ที่ภายในนั้นบรรจุโครงการก่อสร้างโรงงานแทนทาลัมขึ้นเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย

ไม่มีใครทราบว่ามันเป็นโครงการของเอี๊ยบหรือบริษัทสตาร์คกันแน่?

แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งยืนยันว่าเดิมนั้นเอี๊ยบเสนอโครงการนี้ให้ธนาคารภูมิปุตตราของมาเลเซียพิจารณา เรื่องดำเนินไปบ้างแล้วบางส่วน แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เพราะช่วงนั้นบังเอิญธนาคารเริ่มประสบปัญหา (ธนาคารภูมิปุตตราซวดเซอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา)

และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่โครงการจะได้เกิดหรือไม่ได้เกิดนี้ก็ดูเหมือนโชคจะอยู่ข้างเอี๊ยบเอามากๆ

เพราะช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมดีบุกในประเทศไทยเป็นการเผชิญหน้าอย่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันอีกต่อไป ระหว่างกลุ่มไทยซาร์โก้กับกลุ่มนายเหมืองกลุ่มใหญ่ภายใต้การนำของ 3 ตระกูล บุญสูง-งานทวี-ยงสกุล

จากการเคลื่อนไหวโจมตีไทยซาร์โก้ว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติที่ผูกขาดและกอบโกย, ความขัดแย้งกับนายเหมืองเกี่ยวกับการซื้อขายแร่ การกำหนดเปอร์เซ็นต์และภาษีบางอย่าง ได้ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งโรงถลุงแร่เพิ่มขึ้น และรัฐบาลในยุคนั้น (2520) ก็อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานถลุงแร่ดีบุกได้อีก 2 แห่ง คือบริษัทไทยเพรเซ่น สเมลเตอร์ ที่จังหวัดนครปฐม และบริษัทไทยไพโอเนียร์ เอนเตอร์ไพรซ์ ที่จังหวัดปทุมธานี

โรงงานไทยเพรเซ่น สเมลเตอร์นั้นก่อตั้งโดยกลุ่มธุรกิจผลิตภาชนะจากดีบุกที่เรียกว่า “พิวเตอร์” กิจการดำเนินไปได้ช่วงหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เจ้าของก็ขายใบอนุญาตให้กับกลุ่มนายเหมืองภูเก็ตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่กลุ่มบุญสูง-งานทวี-ยงสกุล ที่รอท่ามานานแล้วนั่นเอง

เมื่อได้ใบอนุญาตก็มีการวิ่งเต้นขอเปลี่ยนที่ตั้งโรงถลุงจากนครปฐมมาลงที่ภูเก็ต ช่วงนั้นก็มีการออกข่าวว่าโรงถลุงนี้จะมีกำลังการผลิตปีละ 8,000-10,000 ตันเป็นการร่วมทุนกับบริษัทมาโมเร่ของบราซิล ใช้ทุนดำเนินงาน 450 ล้านบาท แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการสร้างโรงถลุงที่ว่านี้ขึ้นแต่ประการใด?

ก่อนหน้าการตัดสินใจ ของกลุ่มบุญสูง-งานทวี-ยงสกุล ช่วงจะรับซื้อใบอนุญาตตั้งโรงถลุงดีบุกเพียงนิดเดียวนั้น เอี๊ยบ ซุน อัน ก็นำโรงการก่อสร้างโรงงานแทนทาลัมมาปรึกษากับกลุ่ม 3 ตระกูลนี้

ก็ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายเอี๊ยบ ซุน อัน และฝ่ายบุญสูง-งานทวี-ยงสกุล มีความเห็นสอดคล้องกันว่างานนี้จะต้องเป็นงานใหญ่ที่จะต้องทำกันแบบครบวงจร คือมีโรงถลุงแร่ดีบุก และตะกรันแร่ที่ถลุงได้ก็จะใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานแทนทาลัมที่จะใช้เทคโนโลยีของบริษัทสตาร์ค ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้ก็ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาโรงถลุงของไทยซาร์โก้อีกต่อไป

จากนั้นในปี 2522 ก็มีการตั้งบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสทรีย์ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 100 ล้านบาท ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มเอส. เอ. มิเนอแร็ลส์ ของเอี๊ยบ ซุน อัน ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆ นอกจากบุญสูง งานทวี และยงสกุลแล้ว ก็ประกอบด้วยกลุ่มเอกวานิช เจ้าของที่ดินจำนวน 120 ไร่ ที่ขายให้เป็นที่ตั้งโรงงาน ด้วยมูลค่า 15 ล้าน 6 แสนบาท และเอาเงินที่ขายที่ดินได้ 3 ล้านบาทมาซื้อหุ้นในไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสทรีย์อีกต่อหนึ่ง

ต่อมาก็มีการดึงกลุ่มพงส์ สารสิน เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย โดยอาศัยการติดต่อผ่านทางกลุ่มบุญสูง ที่สนิทกับพงส์ และร่วมกันลงทุนอยู่แล้วหลายแห่ง

แล้วก็ยื่นโครงการเข้าบีโอไอเพื่อขอรับการส่งเสริมลงทุน

“ช่วงนี้เรียกว่าบทบาทของเอี๊ยบหลบไปอยู่ข้างหลัง เพราะเอี๊ยบกับนักการเมืองตลอดจนกลไกของรัฐไม่มีสายสัมพันธ์กันเลยก็ว่าได้ ผู้ที่ทำหน้าที่ออกหน้าก็มีแต่อาทร ต้องวัฒนา ลูกเขยของบุญสูงที่สนิทกับอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมช่วงนั้นคนเดียว…และก็บวกกับบารมีของพงส์ สารสิน เข้าไปด้วย…” แหล่งข่าวรายหนึ่งพูดกับ “ผู้จัดการ”

และช่วงนั้นอีกเหมือนกันที่ไทยซาร์โก้ไหวตัว ด้วยการยื่นโครงการสร้างโรงงานแทนทาลัมเข้าขอรับการส่งเสริมประกบกับโครงการของไทยแลนด์แทนทาลัมฯ

ผลก็ออกมาว่าโครงการของไทยแลนด์แทนทาลัมได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ส่วนโครงการของไทยซาร์โก้ก็ต้องตกไป ด้วยเหตุผลที่คนฝ่ายไทยซาร์โก้บอกว่า “รัฐบาลเขาไม่อยากให้เกิดการผูกขาดโดยเรา…”

พงส์ สารสิน เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ตอนนั้นพลเอกเปรมเป็นประธานคณะกรรมการบีโอไอ พลเอกเปรมเป็นคนบอกให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นโครงการนี้ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ถามคุณสมหมายบอกไม่มีตังค์” แทนที่จะเป็นรัฐบาลเข้าไปถือ เรื่องก็โยนมาให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม ช่วยเข้าไปถือหุ้นแทน

จากบรรษัทเงินทุนฯ ก็มาถึงธนาคารกรุงเทพกับธนาคารไทยพาณิชย์ และด้วยการติดต่อผ่านทางบรรษัทฯ โครงการซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าจะให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ามหาศาลนี้ ก็ได้รับเงินกู้จากหน่วยงานของธนาคารโลกที่ชื่อ ไอเอฟซี (INTERNATIONAL FINANCE CORPORATION) ในการก่อสร้างโรงงานที่หากสร้างเสร็จก็จะมีมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท และไอเอฟซีก็เข้าร่วมถือหุ้นด้วย 12 เปอร์เซ็นต์

โรงงานได้เริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2527 มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ปี พร้อมๆ กับช่วงใกล้เคียงกันนี้ไทยแลนด์แทนทาลัมก็ทำสัญญาซื้อตะกรันแร่ดีบุกจากโรงงานไทยซาร์โก้

“ซึ่งไทยซาร์โก้ก็ไม่มีบิดพลิ้วไม่ขาย เพราะมาตรการส่งเสริมของบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ในการห้ามส่งตะกรันในประเทศไปขายข้างนอก อาจจะขายได้ก็ในเงื่อนไขที่ไทยแลนด์แทนทาลัมไม่ซื้อ และในขณะเดียวกันไทยแลนด์แทนทาลัมก็มีสิทธิในการนำเข้าตะกรันจากต่างประเทศ หากตะกรันในประเทศไม่พอเพียงป้อนโรงงาน…” นักธุรกิจภูเก็ตคนหนึ่งพูดด้วยน้ำเสียงเหมือนอยากจะร้องไห้แทนซาร์โก้

ในปี 2527 อีกเช่นกันที่กลุ่มไทยแลนด์แทนทาลัมรุกคืบหน้าอีกก้าวในส่วนของโรงงานถลุงดีบุก ด้วยความพยายามที่จะเข้าไปรับซื้อกิจการของบริษัทไทยไพโอเนียร์ เอนเตอร์ไพรซ์ ซึ่งตั้งโรงถลุงระบบไฟฟ้าอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เพราะโรงงานอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัว

โรงงานนี้ได้รับการส่งเสริมเมื่อปี 2522 ภายหลังจากได้ใบอนุญาตมาพร้อมๆ กับโรงงานที่นครปฐมเมื่อปี 2520 ซึ่งกลุ่มบุญสูง-ยงสกุล-งานทวี (หรือกลุ่มไทยแลนด์แทนทาลัมนั่นแหละ) ซื้อไปแล้ว

“ถ้าเปรียบเทียบกับโรงถลุงของกลุ่มไทยซาร์โก้ โรงงานนี้ก็ได้เปรียบตรงที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยไม่ต้องจ่ายภาษีการค้า 4.4 เปอร์เซ็นต์ที่โรงงานจะหักเก็บจากผู้ผลิตแร่แก่รัฐ คือโรงงานเก็บไว้ได้เลย ลองคิดดูก็แล้วกันว่าถ้าเขาเอาส่วนนี้มาเพิ่มราคารับซื้อแร่จากลูกค้า คนจะแห่มาใช้โรงถลุงของเขากันมากแค่ไหน…” คนในวงการเหมืองแร่หลายคนพูดให้ฟัง

ไทยไพโอเนียร์ เอนเตอร์ไพรซ์ เริ่มก่อตั้งและดำเนินงานโดยกลุ่มทุนที่ประกอบด้วย สุชาติ ภูพานิช ถาวร พรประภา ประสิทธิ์ ณรงค์เดช เพียรศักดิ์ ซิโสตถิกุล สุชาติ หวั่งหลี และประเสริฐ ฟูตระกูล เป็นต้น ส่วนนอกนั้นก็เป็นสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ของพร สิทธิอำนวย

ไทยไพโอเนียร์กำหนดทุนดำเนินการไว้เบื้องต้น 155 ล้านบาท โดยเป็นทุนจดทะเบียน 70 ล้าน เงินกู้จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม 55 ล้าน และอีก 30 ล้านเป็นเงินกู้จากนอกประเทศ นอกจากนั้นก็ได้รับเครดิตสำหรับเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อแร่และค่าใช้จ่ายในการผลิตจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารฮ่องกงแอนด์เซี่ยงไฮ้ ในวงเงินอีกราวๆ 300 ล้านบาท

ดำเนินกิจการไปได้พักใหญ่ๆ กิจการก็ประสบปัญหาวิกฤต มีหนี้สินถึง 300 ล้าน โดย 200 ล้านเจ้าหนี้คือธนาคารกรุงเทพ

และมีการติดต่อเจรจาระหว่างชาตรี โสภณพนิช กับกลุ่มไทยแลนด์แทนทาลัมฯ เพื่อหาข้อตกลงซื้อขายกิจการนี้กันอยู่นาน ถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ “ก็เกี่ยงกันเรื่องการยอมรับสภาพหนี้ ซึ่งเชื่อเถอะ ในที่สุดโรงถลุงนี้ไม่พ้นมือกลุ่มไทยแลนด์แทนทาลัมหรอก…” แบงเกอร์คนหนึ่งวิจารณ์

ก็คงจะไม่มีสิ่งใดที่จะมาหยุดยั้งกลุ่มไทยแลนด์แทนทาลัมฯ ผู้พร้อมด้วยเทคโนโลยี (จากสตาร์ค), ทุน (ตระกูลมหาเศรษฐีภูเก็ตที่มีสายสัมพันธ์กว้างและลึก) และเส้นสายทางการเมือง (ผ่านทางพงส์ สารสิน) ไม่ให้เดินออกไปข้างหน้าอย่างผู้ชนะบนผลประโยชน์เป็นหมื่นๆ ล้านของอุตสาหกรรมดีบุกและแทนทาลัมแล้วกระมัง

ทุกอย่างสำหรับกลุ่มนี้กำลังอยู่ใกล้แค่เอื้อม

มีใบอนุญาตตั้งโรงถลุงอยู่ในมือแล้วหนึ่งใบ

กำลังเจรจาจะซื้อโรงถลุงสมัยใหม่อีกโรงหนึ่งที่ปทุมธานี

และในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2529 นี้โรงงานแทนทาลัมที่ห่างจากคฤหาสน์ของเอกพจน์ วานิช เพียงไม่เกิน 300 เมตรบริเวณโรงไฟฟ้าดีเซลจังหวัดภูเก็ตก็จะแล้วเสร็จพร้อมที่จะทดลองเดินเครื่องได้

โชคลาภมหาศาลและความแค้นที่สั่งสมมานานของกลุ่มนายเหมืองที่รอการชำระก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้ว

แต่ชะตากรรมจะตกอยู่กับใครเล่า? ถ้าโชคไปอยู่ข้างไทยเลนด์แทนทาลัม!

กลางปี 2528 สำหรับนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ทางภาคใต้คนหนึ่งนั้น เขาว่าชะตากรรมทั้งหมดจะตกอยู่กับคนภูเก็ตหรืออาจจะคนไทยทั้งชาติ เพราะสาเหตุที่โรงงานแทนทาลัมจะปล่อยมลพิษออกมาทำลายสภาพแวดล้อม

เขามีเอกสารชุดหนึ่งเขียนบรรยายในเชิงตั้งข้อสงสัยถึงกรรมวิธีการผลิตแทนทาลัมของโรงงานที่จะต้องมีการใช้กรดกัดแก้ว เห็นได้ชัดว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหามลภาวะและสภาพแวดล้อม และเอกสารถูกส่งไปถึงสื่อมวลชนหลายฉบับ แต่ไม่ได้รับการสนใจเพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเกมการเมือง ที่ประชาธิปัตย์คนนี้ต้องการ “อัด” กับ พงส์ สารสินโดยเฉพาะ

ผ่านมาอีกช่วงหนึ่งในช่วงต้นๆ ปี 2529 ก็มีนักศึกษาใต้กลุ่มหนึ่งอ้างตนว่าเป็นกลุ่ม 24 สถาบัน และชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปเผยแพร่ความคิดเรื่องมลพิษจากโรงงานแทนทาลัมกับคนภูเก็ต

การเคลื่อนไหวขยายตัวจนมีการก่อตั้งแกนนำเป็นกลุ่มประสานงานต่อต้านมลพิษจังหวัดภูเก็ต มีเสริมศักดิ์ ปิยะธรรม เป็นประธานกลุ่มฯ ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องที่ถึงกับปิดบังว่าเสริมศักดิ์นั้นเป็นยุวประชาธิปัตย์มาก่อนในช่วงที่ยังเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง

อีกทั้งเสริมศักดิ์ก็แสดงแววว่าเขาจะต้องเล่นการเมืองต่อไป ซึ่งหากเขาจะต้องลงสมัครเป็น ส.ส. จังหวัดภูเก็ต แล้วเขาก็คงต้องเข้ามาแทนจรูญ เสรีถวัลย์ ส.ส. 2 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังลงชิงชัยในภูเก็ตเป็นสมัยที่ 3 อยู่ขณะนี้

เพียงแต่ถ้าจรูญยังสามารถยึดตำแหน่ง ส.ส. ได้อย่างเหนียวแน่นต่อไปเรื่อยๆ เสริมศักดิ์ก็คงต้องนั่งรออยู่ข้างเวทีอีกพอสมควร

ในช่วงของการรณรงค์คัดค้านมลพิษจากโรงงานแทนทาลัมระยะแรกๆ จนถึงการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนนั้น ก็อาจจะพูดได้ว่าทิศทางการคัดค้านยังคงเส้นคงวาและมีเอกภาพภายใต้การนำของกลุ่มประสานฯ

แต่หลังวันที่ 13 มิถุนายน อันเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครผู้ลงชิงชัยตำแหน่ง ส.ส. ที่มีเพียง 1 ที่นั่งของภูเก็ตแล้ว เห็นได้ชัดว่ามีผู้สมัครจำนวนหนึ่ง (จากผู้สมัครทั้งหมด 6 คน) พยายามจะใช้กระแสการคัดค้านนี้กวาดคะแนนเข้าตัวให้มากที่สุด

ซึ่งสำหรับนักเคลื่อนไหวมวลชนที่พยายามจะผลักดันกระแสการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานให้เกิดขึ้นในจังหวัดพอเหมาะพอเจาะเช่นนี้ ก็ย่อมรู้ได้โดยไม่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งว่ามันจะก่อให้เกิดปัจจัยที่สำคัญอย่างน้อย 2 สิ่ง

ประการแรก ขบวนที่คัดค้านจะมีลักษณะผสมปนเป ร่วมมือบ้าง ทำลายกันบ้างและก็จะไม่มีใครสามารถสาวลงถึงต้นตอที่แท้จริงของการเคลื่อนไหว ถ้ามีการชักใยผู้ชักใยนั้นก็จะไม่เป็นเป้าที่ชัดเจนหรือถึงขั้นถูกแฉภายหลังออกมา เพราะ “แพะ” ก็จะมีอยู่ทั่วไปทั้งขบวน

ประการที่สอง ขบวนนี้เมื่อขยายตัวไปสู่ระดับหนึ่งแล้วจะควบคุมไม่ได้และในที่สุดก็พร้อมที่จะอยู่ในสภาพที่จะให้หันเหไปในทางทิศใดก็ได้ ถ้ามีการกระตุ้นอย่างถูกจังหวะ ก็อาจจะหมายถึงการแสดงอารมณ์ที่บ้าคลั่งด้วย

“ผู้จัดการ” นั้นอยากจะเชื่ออย่างยิ่งว่า เฉพาะเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 23 มิถุนายน โดยพื้นฐานแล้วเกิดขึ้นอย่างไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ มันเป็นอุบัติเหตุของม็อบที่อยู่ภายใต้สถานการณ์กดดันหลายๆ ด้าน แล้วความบ้าคลั่งก็ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างอัตโนมัติ

เชื่อว่าผู้ว่าฯ สนองกระทำการไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ตก และอยากให้คนภูเก็ตได้สบายใจว่าผู้ว่าฯ คนนี้ถ้าจะทำอะไรแล้วทำได้และทำจริง

เชื่อว่าผู้สมัครจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นจรูญ เสรีถวัลย์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ บันลือ ตันติวิทย์ ที่ขอลงประชาธิปัตย์แล้วไม่ได้ลง ต้องมาลงพรรคราษฎร ตลอดจนเกษม สุทธางกูล พรรคกิจสังคม ก็ล้วนแล้วแต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวคัดค้านนี้อย่างบริสุทธิ์ใจ และพยายามเล่นในเกมมาโดยตลอด

และเชื่อว่าแกนนำทุกๆ กลุ่มนั้นโดยเฉพาะระดับผู้ปฏิบัติงานเป็นคนประเภทไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ ทั้งสิ้น

ที่ “ผู้จัดการ” จะยังตะขิดตะขวงใจอยู่นิด ก็เห็นจะเป็นคำถามที่ว่า

หลังจากทุกคนทำกันลงไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นนี้แล้ว

ใครกันที่ได้ประโยชน์?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us