Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529
คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานคร ตำนานที่อุเทนและตระกูลเตชะไพบูลย์ได้แต่นิ่งเงียบ!             
 


   
search resources

ธนาคารมหานคร
คำรณ เตชะไพบูลย์
Banking




ถ้าให้คำรณ เตชะไพบูลย์เลือกทางเดินชีวิตใหม่ตอนี้ เขาก็คงคิดว่า เขาน่าจะเป็นผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขาสระปทุมอยู่เหมือนอย่างเก่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคงจะดีกว่า

"คุณคำรณ ตอนนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารศรีนครอยู่สาขาสระปทุม แล้วคุณอุเทนก็ดึงตัวให้ไปทำธนาคารมหานคร" อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารมหานครคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ ตำแหน่งนายกสมาคมธนาคารเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็เป็นตำแหน่งที่เขาอึดอัดใจมาก เพราะในฐานะที่ดำรงตำแห่งนี้ เมื่อรัฐบาลขอให้สมาคมธนาคารเข้ามาช่วยธนาคารมหานครซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าธนาคารไทยพัฒนา อุเทนไม่มีทางเลือก เมื่อเพื่อน ๆ นายธนาคารทั้งหลายพากันลงมติให้ธนาคารช่วย แต่กลายเป็นอุเทนต้องช่วยอยู่เป็นส่วนใหญ่

"ตอนนั้นคุณอุเทนต้องเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารไทยพัฒนาไว้ร่วม 30 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของตระกูลเตชะไพบูลย์ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่อยากจะเข้า แต่ก็ต้องเข้าเพราะรัฐบาลขอมา

คำรณ เตชะไพบูลย์ก็เลยต้องหันเหชีวิตของตนเองออกมาอีกด้านหนึ่ง

บทบาทของคำรณ เตชะไพบูลย์ ในช่วงที่เข้าไปบริหารธนาคารมหานครนั้นเป็นบทบาทที่อุเทน เตชะไพบูลย์ไม่ได้สนใจอะไรเลย เพราะคิดว่าเป็นงานที่คนต้องรับผิดชอบก็ต้องทำกันไปอยู่แล้ว

"คุณอุเทนเป็นคนมีงานมากตอนนั้น พอคุณคำรณเข้าไปก็หมดเรื่องที่ต้องมาพบปะพูดคุยกันอีก" คนในวงการเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหันเหชีวิตของโครงสร้างทางอำนาจของจอมพลถนอมและประภาสแล้ว ยังมีผลกระทบต่อนักธุรกิจอีกหลายคนทั้งในแง่บวกและลบ

คำรณ เตชะไพบูลย์เองก็โดนกระทบด้วย แต่สำหรับคำรณแล้ว ผลกระทบนี้เขาคงคิดว่าเป็นเรื่องที่วิเศษสุดในชีวิตของเขาก็ได้

เพราะหุ้นของจอมพลประภาสประมาณ 26% ถูกคณะกรรมการยึดทรัพย์เสนอขายมาทางสมาคมธนาคาร ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ขอให้อุเทนฯ เป็นผู้ซื้อ

อุเทน เตชะไพบูลย์ ตัดสินใจซื้อโดยมอบหมายให้คำรณเป็นตัวแทนในการจัดการ

หุ้นของจอมพลประภาสก็เลยถูกเปลี่ยนมือ แต่ผู้ซื้อกลับกลายเป็นคำรณ เตชะไพบูลย์ไป เพราะว่า "ตอนนั้นพอคุณคำรณได้รับมอบหมายให้ไปซื้อหุ้นแทนคุณอุเทน แกก็หายตัวไปเลยตามตัวไม่เจอ คุณอุเทนก็ไม่ได้ตามเรื่องคิดว่าเรียบร้อยแล้ว โดยไม่รู้ว่าคุณคำรณแกแอบไปซื้อหุ้นไว้ในชื่อแกเอง และหลังจากนั้นแกก็เพิ่มทุนธนาคารมหานครจนหุ้นแกก็เป็นหุ้นใหญ่ที่สุดไป" กรรมการเก่าคนหนึ่งของธนาคารมหานครพูดกับ "ผู้จัดการ"

"เวลานั้นคุณคำรณอยากจะตั้งตัวเอง มีกิจการเป็นของตัวเองก็เลยคิดที่จะลงทุนในหุ้นของจอมพลประภาสด้วยตัวเอง" คนที่เคยอยู่กับคำรณมาก่อนเล่าให้ฟัง

แต่ก็ไม่ทราบว่าอุเทน เตชะไพบูลย์จะว่าอะไร? แต่ที่แน่ ๆ เองธนาคารมหานคร สำหรับอุเทนแล้วมันได้สิ้นสุดขาดจากตัวอุเทนเมื่อคำรณเข้าไปถือหุ้นของจอมพลประภาสในนามของตัวเขาเอง

จากวันนั้นเป็นต้นมา คำรณ เตชะไพบูลย์ดูเหมือนจะเหินห่างจากตระกูลอย่างมาก ๆ ไม่ว่ากิจกรมของตระกูลหรือการค้าขาย

"คุณพูดได้ว่ายังคงเป็นพี่น้องกัน แต่ก็ต่างคนต่างอยู่" แหล่งข่าวในวงการพูดออกมาให้ฟัง

เคยมีคนมาถามอุเทน เตชะไพบูลย์ว่า เป็นเจ้าของธนาคารมหานครด้วยหรือ? ทุกคนก็จะได้คำตอบมานานแล้วว่า "ธนาคารมหานครนั้นเป็นของคุณคำรณ เตชะไพบูลย์เขา"

ก็คงพอจะพูดได้ว่าธนาคารศรีนครนั้นขาดกับธนาคารมหานครมานับตั้งแต่วันที่คำรณแอบฮุบหุ้นจอมพลประภาสเป็นของตัวเอง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ การกระทำของคำรณนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎของตระกูล "ในบรรดาเตชะไพบูลย์ด้วยกันเขาถือว่าคุณคำรณนั้นเป็นคนนอกมานานแล้วและจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย แม้แต่การประชุมของตระกูลเขาก็ไม่ได้เชิญคุณคำรณ" คนจีนรุ่นเก่าคนหนึ่งพูดเป็นภาษาจีนให้ฟัง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อคำรณเอาวิรุฬห์ เตชะไพบูลย์เข้าไปเป็นกรรมการธนาคารมหานครด้วย พออุเทนรู้เข้าก็สั่งให้วิรุฬห์ถอนตัวออกมาทันที

การดำเนินการของธนาคารมหานครในช่วงนั้นก็ดำเนินต่อไป โดยหลายต่อหลายครั้งก็จะใช้ฐานลูกค้าของธนาคารศรีนครด้วย

แต่มาระยะหลังธนาคารมหานครได้แสดงความเป็นอิสระของตัวเองด้วยการหาลูกค้าเอง และบางครั้งก็ประกาศเจตนารมณ์ออกมาอย่างเด่นชัดแจ้งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารศรีนคร หรือกิจการในเครือเตชะไพบูลย์

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อโครงการวังเพชรบูรณ์กำลังเริ่มนั้น คุณคำรณก็ประกาศว่า ธนาคารมหานครมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เข้ามาทำวังเพชรบูรณ์เลย" คนเก่าของคำรณเล่าให้ฟัง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าคำรณคงคิดว่าตัวเองโตพอแล้วก็ได้

เวลานั้นแทบจะทุกคนในตระกูลก็ได้แต่เงียบเพราะทุกคนก็รู้ว่า คำรณ เตชะไพบูลย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลนี้มานานแล้ว และคำรณก็เข้าใจเลือกเวลาประกาศ การไม่ได้เกี่ยวข้องในจังหวะที่เขากำลังต้องการความมั่นใจจากสาธารณชนในเรื่องวังเพชรบูรณ์

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่คนในตระกูลจะเก็บเอามาคิด เพาะชั่วดีอย่างใดมันก็คงจะเป็นสายเลือดเดียวกัน!

"ในช่วงที่แม่โขงกำลังมีปัญหากับหงส์ทองนั้น ธนาคารมหานครก็เข้าไปสนับสนุนเหล้าหงส์ทอง ซึ่งมันก็เห็นได้ชัดแล้วว่าธุรกิจเขาแยกกันมานานแล้ว" คนในวงการเหล้าพูดให้ฟัง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าตระกูลก็คงจะไม่ยอมพูดอะไรเลย ถึงแม้ "ผู้จัดการ" จะพยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ "ท่านบอกว่าไม่มีอะไรจะพูดเพราะเองของคุณคำรณนั้นท่านไม่เคยรู้เรื่องเลย และก็ไม่ได้เกี่ยวพันกันมานานแล้ว เกรงว่าพูดไปแล้วจะผิดพลาด" เลขาอุเทนตอบให้เราฟัง

แต่ที่แน่ ๆ ในจิตใจของชายวัย 74 นี้ก็คงจะไม่สงบเท่าใดนัก เพราะอย่างไรก็ตาม คำรณ เตชะไพบูลย์ ก็ยังคงเป็นน้องชายคนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่คำรณมีปัญหายิ่งพูดไม่ออก ถึงแม้จะเป็นอะไรก็คงต้องเป็นห่วง

"ในช่วงที่มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับธนาคารมหานครนั้น พอดีลูกชายคุณคำรณแต่งงาน ซึ่งก็มาขอเชิญคุณอุเทนให้ไปเป็นประธานในงาน ซึ่งในงานนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของธนาคารชาติ และผู้ใหญ่หลายคนในวงราชการก็ไปด้วย ปรากฏว่าจากการที่คุณอุเทนไปปรากฏตัว ก็มีข่าวว่าธนาคารมหานครกับศรีนครช่วยซึ่งกันและกัน" คนในวงการธนาคารพูดขึ้นมา

อุเทน เตชะไพบูลย์ ก็คงอึดอัดใจอย่างมาก ๆ เพราะแน่นอนที่สุด การไปปรากฏตัวในงานก็ต้องทำให้เกิดข่าวลือ แต่คุณอุเทนก็ต้องไปเพราะตัวเองเป็นหัวหน้าตระกูลในงานมงคลสมรสของหลาน ถ้าไม่ไปอุเทนก็คงไม่ใช่อุเทนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

และก่อนหน้านี้อุเทนเองก็ไปเป็นเจ้าภาพให้หลานคนอื่นด้วย ฉะนั้นถ้าเป็นคนในตระกูลเดียวกันก็ต้องเป็นเจ้าภาพให้ตามธรรมเนียม โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์

อุเทนรักน้องและไม่เคยทำลายน้อง มีอยู่ครั้งหนึ่งมีฝรั่งนายแบงก์จากต่างประเทศมาถามอุเทนว่า ธนาคารมหานครเป็นไงมาไง อุเทนก็ได้แต่ตอบไปอย่างนิ่มนวลว่าคำรณเขาโตแล้ว เขาควรจะมีกิจการเป็นของตนเอง

สำหรับคำรณ เตชะไพบูลย์ ชีวิตนี้คงจะต้องเหนื่อยไปอีกนาน เพราะข้อกล่าวหาของธนาคารชาติกับการหลบของคำรณนั้นทำให้เส้นขนานเส้นนี้ดูกว้างมากขึ้นไปอีก

"เมื่อวันแต่งงานลูกชายแก คุณคำรณเองก็บอกคุณอุเทนว่าตัวแกไม่มีอะไรเหลือแล้ว แม้แต่บ้านจะอยู่ เพราะหลักทรัพย์ทุกอย่าง แม้กระทั่งบ้านที่ลูกอยู่ก็โอนไปให้ธนาคารหมด ในต่างประเทศก็ไม่ได้มีอะไรเก็บไว้ เพราะแกเองขาดทุนจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่" ลูกน้องคนสนิทของคำรณเล่าให้ฟัง

ตำนานธนาคารมหานครก็คงเป็นอีกตำนานหนึ่งที่ต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อให้ความจริงเปิดออกมา ซึ่งก่อนที่ความจริงนั้นจะเปิดออกมาก็คงต้องมีคำถามอีกมากมายที่ต้องตั้งให้กับคำรณ เตชะไพบูลย์ และตัวธนาคารชาติเองด้วย เช่นว่า:-

จริง ๆ แล้วที่ขาดทุนนั้น ขาดทุนจากการดำเนินการเพราะขาดทุน เพราะคำรณโกงเงินไป?

คำรณเอาเงินไปเล่นที่ฮ่องกงหรือเปล่า?

ก็คงจะมีสักวันที่เราคงได้คำตอบเหล่านั้น

และก่อนที่วันนั้นจะมาถึง อุเทน เตชะไพบูลย์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าตระกูลก็คงต้องยืดอกรับข่าวลือทุกประเภทอย่างเงียบสงบ เหมือนอย่างที่เขาว่ากัน "ต้นไม้ใหญ่ต้องเจอลมแรง"

ส่วนบรรดาเตชะไพบูลย์ทั้งหลายในวันนี้ก็มีแต่ความอึดอัดใจ เพราะการนิ่งเงียบไม่ยอมพูดออกมาก็อาจจะถูกแปลได้หลายอย่างไปทางผิด

แต่ถ้าพูดออกมาก็จะกลายเป็นว่าคำรณก็ต้องถูกตำหนิแน่ และคนข้างนอกก็จะมองว่าพอคำรณล้มก็เหยียบย่ำซ้ำเติม

เหมือนอย่างที่ภาษิตจีนเขาว่า "จะหัวร่อก็มิออก ร้องไห้ก็ไม่ได้"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us