วันนี้ศิริชัย บูลกุล แม้จะมีเรื่องวุ่น ๆ ให้ขบคิดมากมายท้าทายชื่อเสียงที่พ่อและเขาสั่งสมมาแต่อดีตอย่างมาก
ด้วยวัย 47 ปี เขายังดูหนุ่มแน่นและแข็งแรงเพียงพอ และมีเวลามากพอจะฟันฝ่าต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านั้น
ศิริชัยชอบอ่าน "สามก๊ก" ชอบนักเขียน-ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปาโมช
และก็ชอบผู้นำอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บางคนบอกว่า เขาคิดจะมีวิทยายุทธทางธุรกิจเหมือนขงเบ้ง
ปรับตัวปรับความคิดเข้ากับสถานการณ์อย่างดี (อย่าใช้คำว่า "กะล่อน"
เลย) เหมือนหม่อมคึกฤทธิ์ และมีการตัดสินใจเฉียบขาดเฉกเช่นจอมพลสฤษดิ์
ว่าไปแล้วเขาเดินไปสู่เป้าหมายนั้นกว่าครึ่งทางแล้ว
วันนี้เขาเป็นเจ้าของกิจการกว่า 20 บริษัท เป็นวุฒิสมาชิกและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎไทย…นั่นเป็นความสำเร็จที่ใครก็มองข้ามไม่ได้…
ศิริชัยชอบเก็บตัว ไม่ชอบเป็นข่าวเหมือน ๆ กับนักธุรกิจไทย ประเภททำงานเงียบ
ๆ รวยเงียบ ๆ
ปี 2528 พายุข่าวลือเริ่มกระหน่ำศิริชัย และยิ่งโหมแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี
2529 มาจนถึงปัจจุบัน เขากำลังเป็นเดวี่ ครอกเก็ต ที่สวมบทบาทโดยจอห์น เวย์น
(ดาราภาพยนตร์ที่เขาชื่นชอบ) ผู้มีธรรมในหัวใจต่อสู้กับพวกอธรรมท่ามกลางทุ่งกว้างอย่างโดดเดี่ยวรักษาป้อม
ALAMO ก็ไม่ปาน
หลายคนเชื่อว่า 2-3 ปีมานี้การที่ธุรกิจของเขา DIVERSIFIED ออกจากแนวเดิมมาก
มาบุญครองเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าหินอ่อนมุมสี่แยกปทุมวันซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก
และกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมันในอารมณ์ของผู้คนนั้น เป็นธุรกิจที่ขัดแย้งกับสไตล์การทำงานเดิมของศิริชัยอย่างมาก
ๆ
ว่ากันว่าผลผลิตของข่าวลือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้
บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลฯ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ฐานะการเงินที่แสดง (ย่อมเผยแพร่ต่อสาธารณชน) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2528 แสดงให้เห็น
(ตามรูปบัญชี) ว่ามีปัญหาทางผลประกอบการ (สินทรัพย์หมุนเวียน ในรูปของลูกหนี้การค้า
วัสดุคงเหลือ 1.024 พันล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์หมุนเวียนในรูปเจ้าหนี้การค้า
เงินเบิกเกินบัญชี และหนี้สินหมุนเวียนอื่น ๆ 2.83 พันล้านบาท)
ข่าวลือก็เริ่มกระหึ่มมาเป็นระลอกคลื่นตั้งแต่ตอนนั้น!
ข่าวดูจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอีกนิดตอนที่บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ฯ ฟ้องเรียกค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นเงินประมาณ
22 ล้านบาท (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ปีที่ 3 ฉบับที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์
2529 เรื่อง "เบอร์ลี่ยุคเกอร์ฟ้องมาบุญครอง…และแล้วยักษ์ใหญ่ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง")
รายงานชิ้นที่ "ผู้จัดการ" แจงรายละเอียดถี่ยิบนั้น มีผลสะท้อนกลับมาพอประมาณ
วิกรม ชัยสินธพ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยสงวนเสรีวานิชวิศวกรม จำกัด ทำจดหมายชี้แจงมายัง
"ผู้จัดการ" (สำเนาส่ง ศิริชัย บูลกุล ประธานกรมการบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล
จำกัด) "…การติดตั้งระบบโทรศัพท์เอ็นอีซีให้มาบุญครองนั้นบริษัทฯ ในฐานะผู้จำหน่ายและมาบุญครองในฐานะผู้ซื้อ
ต่างก็ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยความถูกต้องทั้งสองฝ่าย จึงไม่เคยมีปัญหาใด
ๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น"
ขณะเดียวกัน "ผู้จัดการ" ได้รับจดหมายลงทะเบียนไม่ระบุผู้ส่ง
แต่เอกสารปะหน้าหัวกระดาษเป็นของบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ปั๊มอักษรสีแดงว่า
"CONFIDENTIAL" เอกสารกว่า 10 หน้ามีคำให้การของจำเลย (หมายถึงบริษัทมาบุญครองฯ)
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 จำนวน 9 หน้า อีกส่วนหนึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการตรวจรับมอบงานของมาบุญครอง
เห็นลายเซ็นของศิริชัย บูลกุล หราอยู่ เอกสารขอเบิกเงินจากฝ่ายธุรการของมาบุญครองเอง
ฯลฯ เป็นต้น
ความคิดของ "ผู้จัดการ" ตอนนั้น ไม่ต้องการสืบสาวราวเรื่องเกินเหตุ
ขอให้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินถูกผิดเถอะ
ที่เขียนคราวนี้ก็ต้องการจะบอก "อะไรบางอย่าง" ถึงศิริชัย บูลกุล
เท่านั้น!?
ต่อมาระยะหนึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ออกข่าวสนับสนุนเงินกู้อีกก้อนหนึ่งให้มาบุญครอง
แต่ข่าวกลับไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร
พอล สิทธิอำนวย แห่งกลุ่ม พีเอสเอ. มีปัญหาในการขุดน้ำมันของเขา เล่นเอาหุ้นของมาบุญครองในตลาดหลักทรัพย์ตกรูด
เนื่องจากเข้าใจกันว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยออฟชอร์
ปิโตรเลี่ยมด้วยกัน มาบุญครองจำต้องออกมาแก้ข่าวเป็นพัลวัน
มิถุนายน ที่ผ่านมาผู้คนที่ "จับจ้อง" มาบุญครองมีอาการ "ช็อค"
พอสมควร
ที่ศาลแพ่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี ฟ้องมาบุญครองฯ ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับตั๋วเงินจำนวน
5,151,232 บาท
และที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสรุปข่าวธุรกิจหลักทรัพย์นำรายงานงบการเงินของบริษัทมาบุญครองฯ
มาแสดง ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ระบุไว้ในรายงานซึ่งน่าสนใจ 2 จุด
หนึ่ง-"บริษัทได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทไทยออฟชอร์ปิโตรเลี่ยม จำกัด
เป็นจำนวนเงิน 70 ล้านบาท โดยบริษัทพีเอสเอ จำกัด ตกลงว่าจะซื้อหุ้นดังกล่าวกลับคืนในราคา
110 ล้านบาท และบริษัทยังได้ให้เงินกู้แก่บริษัทออฟชอร์ปิโตรเลี่ยม จำกัด
เป็นจำนวนเงิน 33 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าปัจจุบันของหุ้นดังกล่าวข้างต้น และความสามารถที่จะชำระหนี้คืนนั้นไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอน
นอกจากนี้บริษัทพีเอสเอ จำกัด ยังอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวคืน
และบริษัทก็มิได้มีการตั้งสำรองสำหรับมูลค่าของเงินลงทุนหรือเงินให้กู้ยืมแต่อย่างใด"
สอง-"ในขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหมายกำหนดการชำระเงินกู้ประเภทต่าง
ๆ ที่ถึงกำหนดชำระ ดังนั้นมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์อื่น ๆ ที่แสดงในงบดุลจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการเจรจาดังกล่าว…"
งบดุลที่แสดง-- หนี้สินหมุนเวียนในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกในปี
2528 ถึง 2 เท่า จาก 1,472 ล้านบาทเป็น 2,860 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก
394.3 ล้านบาท เป็น 978 ล้านบาท ที่สำคัญในไตรมาสแรกปี 2528 กำไรประมาณ 6
ล้านบาท แต่ไตรมาสแรกปี 2529 เริ่มขาดทุนครั้งแรก 23,000 บาท
นี่ถ้าไม่มีหมายเหตุความเห็นข้างต้น "ดีกรี" คงลดลงฮวบฮาบ
ไล่เลี่ยกันนั้น คืนวันที่ 10 มิถุนายน บริษัททำความสะอาดมาบุญครองฯ ฟองให้จ่ายเงินอีก!
บริษัทซีพีเอส (ประเทศไทย) บริษัทในเครือบอร์เนียว ประเทศไทย เป็นผู้รับจ้างทำความสะอาดอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ทั้ง
8 ชั้น ฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกเงินค้างจ่ายจำนวนถึง 3,649,234.41 (บวกดอกเบี้ย
7.5% จนถึงวันฟ้อง) กับมาบุญครองฯ
ว่ากันว่า ซีพีเอสได้พยายามทวงถามหนี้ก้อนนี้หลายครั้งหลายครา มาบุญครองฯ
สวมบทบาทเหนียวหนี้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น พีซีเอสจึงต้องพึ่งศาล
ไม่เพียงเท่านั้นซีพีเอสได้ติดต่อกับหนังสือพิมพ์ และนิตยสารบางฉบับโดยเลือกเอาฉบับที่เคยลงเรื่อง
"เบอร์ลี่ยุคเกอร์ฟ้องมาบุญครองฯ เพื่อให้รายละเอียดเรื่องนี้ ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า
ซีพีเอสอาจตั้งสมติฐานว่าหนังสือฉบับนั้นคงจะ "พอใจ" ที่จะเสนอข่าวเกี่ยวกับมาบุญครองฯ
ออกมาในแง่ลบ
"ผู้จัดการ" ก็เป็นรายหนึ่งที่ซีพีเอส ส่งคำฟ้องนั้นมาให้
ซีพีเอสหวังว่าวิธีนี้เขาอาจไม่ต้องรอรับเงินเกือบ 4 ล้านบาทหลังจากคดีเดินไปถึงที่สุดซึ่งก็คงนานหลายเดือน
ใคร ๆ ที่รักและนับถือศิริชัย บูลกุล ไม่อยากเห็นเขา "บิน" ต่ำลงกว่านี้
การติดขัดเรื่องหนี้ 20 กว่าล้านบาท (กับเบอร์ลี่ยุคเกอร์) หรืองบดุลแสดงการขาดทุนครั้งแรก
(ไตรมาสแรกปี 2529) ดูจะเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้สำหรับธุรกิจใหญ่เช่นมาบุญครองฯ
แต่อย่าให้ถึงขั้นแม้ "ค่าจ้างคนใช้" (ซีพีเอส) ก็ไม่มีปัญญาจ่ายเลย
ภาพมาบุญครองมีสินทรัพย์เกือบ 5,000 ล้านบาท อันดูมั่นคงตลอดมานั้น มันจะดูสั่นคลอนอ่อนไหวยังไงชอบกล
ศิริชัยต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง อย่าปล่อยให้กระแสลมร้ายพัดกระพืออย่างไม่อาทรร้อนใจ
การเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อย่างเดียวช่วยอะไรไม่ได้หรอก
ทุกอย่างมารวมอยู่ที่ ความคิด "ของศิริชัย แสดงความกล้าหาญ เปลี่ยนสไตล์การทำงานจากเงียบ
ๆ มาสู่วงกว้างตามลักษณะธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่
เอาอย่าง "เสี่ยหว่าง" (สว่าง เลาหทัย) สักทีปะไร ออกมา "เปิดอก"
ทีเดียว อะไร ๆ ที่มันร้อนจัด ๆ อุณหภูมิจะได้ลดลงบ้าง!!!
ขอให้เดวี่ ครอกเก็ต อย่างศิริชัย บูลกุล จงรักษาป้อมอลาโม่เอาไว้ให้ได้
อย่าได้เสียรังวัดเช่นนี้ให้บ่อยนักล่ะ