ผมเคยถามคำถามนี้กับคนที่เรียนเอ็มบีเอไม่ว่าจะเป็นภาคค่ำของธรรมศาสตร์หรือไม่ก็บรรดาคนเรียนจีบ้าของจุฬาฯ
แม้กระทั่งของนิด้าที่ตกต่ำไปมาก ๆ ในด้านคุณภาพ (จากการสรุปของบรรดาศิษย์เก่านิด้าทั้งหลาย
ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจารย์นิด้าทางด้านบริหารธุรกิจนั้นทำงานด้านที่ปรึกษาให้กับบริษัทเป็นงานหลักและสอนนักเรียนเป็นงานอดิเรก)
ส่วนใหญ่ที่เรียนเอ็มบีเอก็จะบอกผมว่ามันได้ประโยชน์ เพราะมันทำให้รู้อะไรมากขึ้นและกว้างขึ้น
แต่พอผมถามว่าแล้วเอามาใช้กันได้หรือเปล่า?
ทีนี้ก็มีหลายคำตอบที่อึกอักตะกุกตะกักกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่เรียนจีบ้าที่เอาหลักสูตรและอาจารย์ฝรั่งมาจาก
Northwestern University
จริง ๆ แล้วเราต้องยอมรับกันว่า MBA ในช่วง 2-3 ปีนี้กำลังเป็นแฟชั่นที่ผู้รักความก้าวหน้าพากันแสวงหาและไขว่คว้าเอาเกียรติบัตรเข้ามาประดับกาย
แต่ผมมีคำถามให้กับบรรดาคณาจารย์ทั้งหลายที่มุ่งมั่นแข่งขันกันจัดหลักสูตรกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ชอบขนเอาหลักสูตรฝรั่งและอาจารย์ฝรั่งมาทั้งดุ้นนั้นว่า
MBA ที่สอนกันนั้นมักทำให้คนเรียนกลายเป็น practical และวิชาที่เรียนนั้นมัน
applicable กันบ้างหรือเปล่า?
ผมเชื่อว่าต้องมีคนตอบว่าจะ practical หรือ applicable หรือไม่นั้นมันก็ย่อมขึ้นอยู่กับว่าคนเรียนเอาไปใช้เป็นหรือเปล่า?
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสสอบถามคนเรียนวิชา Finance ในโครงการ MBA
ต่าง ๆ ว่าเขาสอนอะไรในเรื่อง Finance ให้บ้าง?
อนาคตมหาบัณฑิตในวิชาบริหารธุรกิจก็พูดให้ฟังอย่างเคร่งขรึมว่า "ก็มีเรื่อง
cash flow forecast, financial management, เรื่อง Receivable aging, เรื่องการกู้เงินต่างประเทศและการกู้ภายในประเทศการใช้
syndication ฯลฯ
ผมฟังแล้วก็รู้สึกดีใจที่ผู้เรียนได้เข้าไปรับรู้ modern-day finance ที่โลกตะวันตกเขาเรียนรู้กัน
แต่ผมก็ดีใจไม่นานก็ตกใจ เพราะคนเดียวกันนั้นพูดกับผมว่า "มันได้ประโยชน์ดีแต่มันใช้กับเมืองไทยไม่ได้หรอก"
"ที่เขาสอน ๆ กันอยู่นั้นมันเป็นลักษณะของการที่เราต้องเป็นองค์กรใหญ่
เช่นเครือซิเมนต์ไทย ที่สามารถจะมี facilities ในการ utilize การเงินแบบอย่างที่เขาสอนได้
แต่สำหรับผมแล้วการเล่นแชร์ การหมุนเช็ค และการกินข้าวกับผู้จัดการแบงก์ก็เพื่อขอเกินวงเงินชั่วคราวยังเป็นอยู่"
คนพูดคนเดิมพูดต่อ
นั่นน่ะซิ!
จริง ๆ แล้วสำหรับ cash flow forecast นั้นมันไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร?
สำหรับคนทำธุรกิจส่วนตัวก็รู้ว่าตัวเองเงินจะขาดเมื่อไหร่และเพราะอะไร?
สำหรับปูนซิเมนต์ไทยถ้า cash short สัก 20 ล้าน ผมเชื่อว่าคุณสิงห์หมุนโทรศัพท์แกร็กเดียวก็ได้แล้วในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากด้วย
แต่สำหรับเถ้าแก่แล้วคงจะไม่มีฤทธิ์เดชอย่างคุณสิงห์เขาหรอก แกอาจจะต้องใช้วิธีแลกเช็คหรือตั้งวงแชร์ขึ้นมา
หรือไปขอร้องให้แบงก์เขาเพิ่มวงเงินอีก
หรืออย่างที่เขาให้ออกหุ้นบุริมสิทธิเวลาขาดเงินนั้น ลองไปสอนคนที่มีธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางดูซิรับรองว่าพี่แกหัวร่อฟันโยกฟันคลอนเลย
ยังมีตัวอย่างอีกมากที่วิชา MBA บ้านเราสอนอยู่ แต่มันขัดกับความจริงโดยสิ้นเชิง
กับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
ที่เขียนวันนี้มิใช่จะมาทำลายกัน เพียงแต่อยากจะยกเรื่องนี้ให้เป็นอุทาหรณ์ให้บรรดาสถาบันทั้งหลายได้รับรู้ว่า
วิชาความรู้และหลักสูตรที่เอามาจากต่างชาตินั้น ก่อนอื่นต้อง Screen และเอามาปรับปรุงผสมสิ่งที่เป็นจริงในบ้านเรา
และค่อยสร้างขึ้นมาเป็นหลักสูตรเสียก่อน แล้วค่อยเอามาสอน
ครั้งหนึ่งจีบ้าเคยพูดอย่างภูมิใจว่าคนที่เรียนจีบ้านั้นสามารถโอนหน่วยกิตตัวเองไปเรียนต่อที่
Northwestern University ได้
ความภูมิใจของจีบ้านั้นกลับเป็นความห่อเหี่ยวหัวใจของผมที่เห็นสถาบันยังหลงงมงายกับเรื่องนี้อยู่
นี่แสดงว่า miss objective กันหมดเลย
การที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงนั้นให้ความสนใจกับ MBA ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วน่าจะยกย่อง
แต่ถ้าสถาบันนั้นสามารถจะทำ MBA ที่เข้ากับสภาพสภาวะของสังคมไทยได้อย่างเต็มที่แล้วละก้อกลับเป็นเรื่องที่ต้องสรรเสริญเพิ่มเติม
นอกจากจะยกย่องไปแล้วชั้นหนึ่ง
ถ้าอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวานิช สามารถแต่งตำรารัฐศาสตร์ของเมืองไทยขึ้นมาได้
ผมไม่เชื่อว่าอาจารย์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นิด้าทางด้านบริหารธุรกิจจะไม่สามารถแต่งตำราทางด้านนี้ได้
ผมเคยคุยกับอาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจหลายท่านซึ่งก็บอกว่าจะหา case บ้านเราที่สามารถหาข้อมูลเขียนกันให้ละเอียดไม่ค่อยได้
อันนี้น่าเห็นใจ แต่ผมก็เชื่อว่าทำได้ ถ้าท่านจะพยายาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสถาบันการศึกษาไปขอความร่วมมือขอข้อมูลจากกระทรวงการคลังกับธนาคารชาติกับรัฐบาลนั้น
ผมว่าจะได้รับความร่วมมือยิ่งกว่าการที่พวกผมไปขอข้อมูลพื้นฐานเสียอีก
เพียงแต่ผมคิดว่าคณาจารย์ในสถาบันการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจหรือพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชียังพยายามไม่พอ
และบางแห่งนอกจากจะไม่พยายามแล้วก็ยังชุบมือเปิบไปเอาหลักสูตรฝรั่งมาครอบคนไทยเข้าไปอีก
ความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจนั้นมีความจำเป็นมากในสังคมไทยและความรู้เหล่านี้จำเป็นต้องให้กันหลายระดับ
ระดับผู้บริหารจริง ๆ แล้วสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็คงให้เขาไม่ได้เพราะไม่มีใครมีคุณวุฒิ
และประสบการณ์มากพอจะสอนคนอย่างอากร ฮุนตระกูลหรือชุมพล ณ ลำเลียง หรือกังวาฬ
ตันติพิพัฒนพงษ์ ฯลฯ ได้หรอก แต่สถาบันน่าจะนึกถึงคนระดับล่างที่ต้องดำเนินธุรกิจขนาดเล็กหรือกำลังเจริญเติบโตขึ้นมาในองค์กร
ที่สมควรจะรับรู้เรื่องราวการบริหารธุรกิจที่ประเทศและสังคมไทยได้ดำเนินอยู่
และสถาบันเหล่านี้ก็คงจะสอนอะไรก็ตามที่เขาเอาไปใช้ได้จริง ๆ
ระบบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเราล้มเหลวมาตลอด ที่สอนแต่ให้คนมุ่งหวังปริญญาเพื่อความก้าวหน้าและเพื่อเป็นเกียรติประวัติ
วันนี้เราก็ประสบผลสำเร็จที่เรามีบัณฑิตมากมายไปหมดแต่ตกงานกันเป็นแถว
และก็ไม่รู้ว่ามีกี่คนที่เอาปริญญาใส่กรอบแล้วจุดธูปไหว้ก่อนนอนทุกคืน
เดี๋ยวนี้เด็กจบรัฐศาสตร์มาสมัครเป็นนักขาย จบการศึกษา มาเป็นคนคุมสต็อค
จบนิติศาสตร์มาเป็นโอเปอร์เรเตอร์ จบบริหารธุรกิจมาเป็นเสมียนพิมพ์ดีด ฯลฯ
ในต่างประเทศเองก็มีปัญหากับ MBA เพราะนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็น MBA มักจะบ่นว่าพวกนี้ทำงานเป็นทีมเวอร์คกันไม่เป็น
และที่สำคัญที่สุดคือที่เรียนมาเอามาใช้กับงานไม่ได้ เพราะไม่เคยถูกสอนว่าความจริงมันเป็นอย่างไร
?
ก็คงอีกไม่นานเกินรอหรอกที่ MBA คงจะเฟ้อตลาดกันอีก
แล้วถึงวันนั้น MBA คนไหนเรียนวิชาที่เอามาใช้ได้ก็จะเป็นคนที่ได้เปรียบที่สุด
และเมื่อถึงวันนี้น สถาบันที่ผลิต MBA ที่ใกล้ชิดกับความเป็นจริงในสังคมไทยมากที่สุดก็คงจะได้เปรียบที่สุดมิใช่หรือ?