ปัญหามลพิษของมาบตาพุดเป็นที่ทราบกันอยู่โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศส่งผลให้โรงเรียนที่เคยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตอุตสาหกรรมต้องย้ายออกไป
ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานพยายามศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าผลการสำรวจสารอินทรีย์ระเหยง่าย จากการเก็บตัวอย่างอากาศในพื้นที่มาบตาพุดของกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี พ.ศ. 2548 แสดงว่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายกว่า 40 ชนิดที่กระจายทั่วไปในบรรยากาศ เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ในจำนวนนี้มี 19 ชนิดที่เกินระดับการเฝ้าระวังขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (USEPA) และสอดคล้องกับผลสรุปเบื้องต้นของโครงการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงภัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่มีความเห็นว่า ขณะนี้ประชาชนในชุมชนมาบตาพุด อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ และอยู่ในภาวะ เสี่ยงภัยทางสุขภาพต่อการเกิดโรคจากพิษของเบนซีน ประกอบกับข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษที่ทำการตรวจ วัดสารทำละลายเบนซีนในบรรยากาศในพื้นที่มาบตาพุดจำนวน 6 สถานีตรวจวัด พบว่ามี 5 สถานีตรวจวัดที่มีค่าสูงสุดเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด สถาบันมะเร็งแห่งชาติก็พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดและตับของคนที่อาศัยอยู่ที่มาบตาพุดสูงกว่าที่อื่นในประเทศโดยรวม ทั้งที่เป็นเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. และเชียงใหม่
ปัจจัยหลักของการเกิดปัญหามลพิษ ทางอุตสาหกรรมของไทย อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 2 ประการหลักๆ ที่เสริมซึ่งกันและกัน คือปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้ว มายังประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและภูมิภาคเอเชีย และปัจจัยภายในของเราเอง คือนโยบายการพัฒนาและการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม
ขณะนี้โลกาภิวัตน์ของอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วพยายามลดต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรม โดยการย้ายฐานการผลิต (outsource) โดยเฉพาะขั้นตอนของการประกอบอุตสาหกรรม (manufacturing process) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ำสุดในห่วงโซ่การผลิต (global supply chain) มายังประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานที่ถูกกว่า จะเห็นได้ ว่า ในปี 2007 ปีเดียวมีการเพิ่มของการลงทุนโดยตรง (FDI) มายังภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) สูงขึ้นถึง 30% ในขณะที่ประเทศ พัฒนาแล้วจะควบคุมส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสุด ได้แก่ การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงเจ้าของยี่ห้อ (brand name) ในกรณีอุตสาหกรรมอิเล็ก ทรอนิกส์ที่มีห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน (ดูรูปที่ 1)
แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะสรุปว่า การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นเรื่องของการลดต้นทุนด้านการผลิตโดยตรง ไม่เกี่ยวกับการลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม แต่การศึกษาระยะหลังๆ ก็เริ่มชี้ให้เห็นว่าการย้ายฐานการผลิตอาจเกี่ยว ข้องกับการผลักภาระด้านสิ่งแวดล้อมออกจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนา เช่น การศึกษาของ Mukhopadhyayn ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษให้กับกลุ่มประเทศ OECD แล้ว ในประเด็นนี้หากมองในเชิงต้นทุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะมีผลกระทบพอสมควร เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ได้แก่ กฎหมายในการป้องกันและแก้ปัญหาการปนเปื้อน (contamination) ของดินและน้ำใต้ดินจากการทำอุตสาหกรรม ทำให้เกิดต้นทุนเฉพาะที่ดูแลปัญหานี้สูงถึง 16,900 ล้านเยน ทั้งนี้ยังไม่รวมต้นทุนในการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางน้ำและอากาศ ในขณะเดียวกันถ้าประเทศเหล่านี้มาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีกฎหมายในการดูแลปัญหาด้านการปนเปื้อนของดินและน้ำใต้ดินดังกล่าว หรือการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เข้มงวดเช่นกรณีของไทย ก็ทำให้เขาสามารถประหยัดต้นทุนไปได้มาก
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลายประเภทยังก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศพยายามผลักภาระความรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกจากประเทศของตน (offshore of GHG) ในประเด็นนี้ อาจยิ่งทำให้มีแรงจูงใจมากขึ้นในการย้ายฐานการผลิต ที่ทั้งก่อมลพิษ กากของเสียอันตราย และก๊าซเรือนกระจก ออกจากประเทศของตนได้
ขณะเดียวกัน หากหันมามองปัจจัยภายใน ได้แก่ นโยบายการพัฒนาของไทย เอง ที่ผ่านมาไม่ได้วางอยู่บนหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมีแนวโน้มที่จะละเลยมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญแต่มิติด้านเศรษฐกิจ แม้แต่ด้านเศรษฐกิจเองก็มีแนวโน้มที่จะเน้นแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น การละเลยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันธรรมรัฐฯ (GSEI) ได้มีการประเมินต้นทุนของผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะการประกอบฮาร์ดดิสก์สูงถึง 2,200 ล้านบาทในปี 2004 ขณะที่ TDRI ประเมินต้นทุนด้านสุขภาพที่เกิดจากปัญหามลภาวะสูงถึง 18,000 ล้านบาทในปี 2003 เป็นต้น
นอกจากนี้แนวนโยบายด้านการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม ยังขาดการมีวิสัยทัศน์ระยะยาวในการยกระดับสถานะของเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากการเป็นฐานการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่มีแต่ค่าแรงต่ำ สู่ระดับการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นในห่วงโซ่การผลิต ด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่อยู่บนฐานของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือความคิดที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย ทั้งๆ ที่คนไทยก็มีศักยภาพ อยู่พอสมควร
นโยบายในลักษณะนี้มีส่วนทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงเทคโน โลยีและการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ขาดอำนาจต่อรองกับการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นอุตสาหกรรม ที่สามารถย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นได้ง่าย เนื่องจากไทยไม่มีเทคโนโลยีหรือความสามารถเฉพาะที่อุตสาหกรรมจะต้องพึ่งพา เมื่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมา นักลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็สามารถขู่ที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ทำให้ไทยไม่สามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขได้ ต้องยอมรับสภาพปัญหาดังกล่าว เพราะเกรงการย้ายฐานไปลงทุนที่ประเทศอื่น
อีกประการหนึ่งมาจากปัจจัยภายใน คือการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมซึ่งขาดธรรมาภิบาล การศึกษาของสถาบันธรรมรัฐฯ ได้สรุปเงื่อนไขของธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมดังนี้
1) การคานและถ่วงดุลอำนาจที่ก่อ ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบได้ (check and balance) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
2) การมีแรงจูงใจที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและการสามารถเอาผิด รวมทั้งการชดเชยผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิผลและยุติธรรม
3) การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และการมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้
4) การสร้างองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยี การสร้างกระบวนการเรียนรู้และค้นหาข้อมูล โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
5) การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การลดอำนาจในการใช้วิจารณญาณ (discretional power) ของเจ้าพนักงาน หรือการลดการเกิดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ขัดแย้งกัน (conflict of interest) และทำให้เกิดการตรวจสอบและรับผิดชอบ ด้วย (accountability)
6) การทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลดต้นทุนหรือการสูญเปล่า (transaction costs) ในการดำเนินนโยบาย และดำเนินการจัดการต่างๆ และการนำเครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์ (economic instruments) และการจัดการมาช่วย
7) การส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึก อีกทั้งการสร้างหลักประกันให้เกิดความมั่นใจในการกระทำ ที่เหมาะสม
ที่ผ่านมา ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมไม่ค่อยจะมีธรรมาภิบาล เพราะความอสมมาตรของอำนาจ และการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมกับชุมชน ตลอดจนอสมมาตรของข้อมูลระหว่างกลุ่มทุนและผู้มีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรม ทำให้การตรวจสอบและการเอาผิดกระทำได้ยาก จนเกิดเป็นความเคยชินว่า ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบ เปรียบเสมือนคนทำดีได้ชั่ว คนทำชั่วได้ดี การอสมมาตรของข้อมูลระหว่างกลุ่มทุนและผู้มีหน้าที่กำกับดูแลระหว่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมกับชุมชน ตลอดจนอุตสาหกรรม ทำให้การตรวจสอบ และการขาดธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ย่อมมีส่วนทำให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากอุตสาหกรรม (ดูรูปที่ 2)
โดยสรุป การจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนโยบายจะต้องมีการปรับให้ไทยมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น ผ่านการพัฒนา เทคโนโลยีที่เหมาะสมและความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้นแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับให้ระบบของการจัดการสิ่งแวดล้อมมีการคานและถ่วงดุลอำนาจ โดยให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลปัญหาได้มากขึ้น เช่น การสร้างระบบตรวจสอบ (monitoring) ปัญหามลพิษและระบบฐานข้อมูลที่ชุมชนสามารถเข้าถึงและมามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือคนผิดต้องรับผิดชอบ เช่นการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม หรือการมีระบบประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้บริษัทประกันต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบด้วย เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายหากเกิดปัญหา เช่นผลกระทบจากกรณีสารเคมีรั่วไหล เป็นต้น
ในด้านการพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามปัญหามลพิษ ตลอดจนระบบฐานข้อมูลที่ชุมชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลปัญหาสิ่งแวด ล้อมได้ด้วยตนเอง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น โดยการพัฒนาระบบดังกล่าว ควรอาศัยภูมิปัญญาของคนไทย ไม่จำเป็นต้องซื้อระบบจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะแพงแล้ว ยังมีข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม มักจะเป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีความเหมาะสมกับผู้ใช้และบริบทของการใช้งานที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งการนำเข้าระบบเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ทั้งหมดมักจะมีปัญหา
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าถ้าประเทศไทยจะเริ่มมีนโยบายที่สร้างความสามารถของการแข่งขันอยู่บนฐานของความรู้และเทคโน โลยี ด้วยการเริ่มส่งเสริมการพัฒนาเทคโน โลยีของตนเองขึ้นมา ก็น่าจะลองให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวด ล้อม ซึ่งต้องอาศัยทั้งวิทยาการสมัยใหม่ และภูมิปัญญาของไทยเอง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งานในสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เอกสารอ้างอิง :
1. ข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ สำนักระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุข จ.ระยอง
2. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI): รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, สนับสนุนโดย สกว. พ.ศ.2546
3. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI): รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พ.ศ.2549
4. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI): รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการข้อเสนอทางเลือกของมาตรการการป้องกันและฟื้นฟูความเสียหายจากการปนเปื้อนดินและน้ำใต้ดิน, สนับสนุนโดย สกว. พ.ศ.2550
5. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI): รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาทางกฎหมายและการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลง
6. หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนโดย สกว. พ.ศ.2552
7. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI): การพัฒนาวิธีการประเมินความรับผิดชอบร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนโดย สกว. พ.ศ.2552
8. ASEAN Investment Report 2008
9. Mukhopadhyayn, Kakali. "Impact on the Environment of Thailand's Trade with OECD Countries", Asia-Pacific Trade and Investment Review, Vol.2, No.1, May 2006
10. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย: การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: เครื่องมือเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ 2549
|