เมื่อยกตลาดสนามหลวงมาไว้ที่สวนจตุจักรใหม่ ๆ นั้น มีที่ว่างให้คนมาจับจองขายของได้เหลือเฟือ
เรียกว่า ทาง กทม. พยายามลุ้นให้คนมาช่วยกันใช้ที่ว่าง ๆ เหล่านี้ไปทำประโยชน์ให้มากที่สุด
พื้นที่ซึ่งจัดไว้สำหรับให้คนมาขายของบริเวณสวนจตุจักรนั้น ทาง กทม. จะจัดแบ่งไว้เป็นซอย
ซอยหนึ่ง ๆ จะถูกแบ่งเนื้อที่ออกเป็นล็อค ๆ แต่ละล็อคกั้นไว้ด้วยฝาไม้ 3
ด้าน มีขนาดความกว้างประมาณเมตรกว่า ๆ ความยาววัดได้ประมาณ 2 เมตร
กทม. ออกกฎมาว่าให้คน ๆ หนึ่งมาเช่าที่ขายของได้ไม่เกิน 2 ล็อค โดยที่ทาง
กทม. จะไม่เรียกเก็บเงินค่าที่แต่อย่างใด นอกจากค่าบริการ อาทิ ค่าทำความสะอาด
ค่าเต๊นท์ ฯลฯ ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 45 บาท ต่อ 1 ล๊อคในเวลา 2 วัน คือ
งันเสาร์-อาทิตย์
พ่อค้า แม่ขายเริ่มเข้ามาจับจองเนื้อที่เพื่อใช้ขายสินค้าของตน ที่มีหลายประเภทตั้งแต่อาหาร
ข้างของเครื่องใช้ประดามี ไปจนถึงตลาดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ธุรกิจเสื้อผ้าที่เริ่มต้นในสวนจตุจักร เป็นธุรกิจการค้าเสื้อผ้าเก่าที่ใช้แล้วแต่สภาพยังดี
ที่ส่งมาจากทางอเมริกา ยุโรป และสิงคโปร์ โดยจะผ่านเข้ามาทางมาเลเซีย มาทางใต้ก่อนจะส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ
อีกทีหนึ่งทางรถไฟ ซึ่งบรรดานักค้าผ้าเก่าย่านสวนจตุจักรจะมารอรับสินค้ากันที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยในทุกวันศุกร์ตอนเช้าเพื่อเลือกของดี
ๆ ไปขายที่สวนจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์
จุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงจากการขายเสื้อผ้าเก่าที่สวนจตุจักรมาเป็นเสื้อผ้าใหม่ที่ออกแบบตัดเย็บเองอย่างทุกวันนี้
เป็นเพราะในระยะหลังเสื้อผ้าเก่าหายาก ไม่สวยและแพงขึ้น ไม่คุ้มกันนอกจากนั้นยังต้องรู้จักกับคนที่เป็นผู้คัดผ้าขายจึงจะมีโอกาสได้ของดี
ๆ ไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเส้นมีสายกันในวงในก็จะได้แต่ของเหลือ เมื่อนำไปขายก็ไม่มีคนซื้อ
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คนที่ขายของเก่าเริ่มเปลี่ยนแนวมาขายของใหม่ โดยการหาผ้าหาช่างมาตัดเย็บเอง
ออกแบบเอง
มาในวันนี้เมื่อธุรกิจการายเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มบูมขึ้น คนมาจับจองที่กันหมดแล้ว
ที่ว่าง ๆ ก็เริ่มมีราคาค่างวดขึ้นมา จากการที่เจ้าของเดิมเซ้งต่อให้เจ้าของใหม่
ซึ่งกลายเป็นลักษณะของธุรกิจไปแล้ว และการเซ้งต่อกันนี้จะไม่เกี่ยวกับทาง
กทม. เลย จะเป็นเรื่องระหว่างคนซื้อกับคนขายเท่านั้น
ที่ดินที่สวนจตุจักรนี้นับวันจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะที่ดินส่วนนี้กลับกลายเป็นแหล่งทำมาหากินที่น่าลงทุน
ดังนั้นจากที่ไม่มีราคาเลยจนถึงการเซ้งล็อคละเป็นพัน กระทั่งวันนี้ราคาพรวดขึ้นมาถึงล็อคละประมาณ
25,000 บาท เป็นอย่างต่ำ!
การลงทุนทำธุรกิจค้าขายเสื้อผ้าในลักษณะที่เกิดขึ้นที่สวนจตุจักรนี้เอง
เป็นผลสืบเนื่องให้เกิดธุรกิจแบบเดียวกันในแหล่งอื่น ๆ ตามกันมาติด ๆ
แหล่งแรกคือที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่กลายเป็นศูนย์รวมแฟชั่นสำหรับคนระดับกลางประเภทที่เงินในกระเป๋าไม่อำนวยให้แต่ใจยังรักจะสวย!
ลักษณะการขายในระยะเริ่มแรกเป็นการวางขายตามแผงลอยริมฟุตบาทเหมือนกับที่ย่านบางลำพู
แจะขายกันในตอนกลางคืน คล้าย ๆ กับ NIGHT BAZAAR ที่เชียงใหม่โดยเริ่มขายกันตั้งแต่
1 ทุ่มจนถึง 4 ทุ่มทุกวัน
ผู้ขายส่วนหนึ่งนั้นจะมาจากสวนจตุจักร เนื่องจากที่สวนจตุจักรมีข้อจำกัดที่จะขายได้แต่ในช่วงกลางวันของวันเสาร์-อาทิตย์
เท่านั้น
สินค้าที่ขายโดยส่วนใหญ่จะรับมาจากตลาดขายส่งที่ประตูน้ำ แต่จะมีบ้างบางส่วนที่เป็นลักษณะเดียวกับที่สวนจตุจักร
คือ หาผ้ามาจ้างช่างตัดเสื้อผ้าสำเร็จรูปขาย
ภายหลังเกิดศูนย์การค้า PEOPLE PLAZA และศูนย์การค้านาธานขึ้นมา คนขายบางส่วนก็ขยับขยายขึ้นไปเช่าที่บนศูนย์การค้า
โดยยังขายอยู่ในรูปแบบเดิมที่ทำกันอยู่ริมฟุตบาท เพียงแต่ทำให้ภาพพจน์ดูดีขึ้นมาอีกนิด
ตลาดแฟชั่นริมฟุตบาทยามค่ำคืนอีกแห่งหนึ่งคือที่สยามสแควร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ขายเทปแคสเซ็ทเพลงราคาถูก
และด้วยความฮิตที่ติดกันมาจากจตุจักรและอนุสาวรีย์ชัยฯ ก็ทำให้มีผู้คิดมาจับจองเนื้อที่ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปกันตามความนิยม
ศูนย์รวมแฟชั่นของตลาดระดับกลางและระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ชัยฯ
หรือสยามสแควร์ก็ดี มาในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งหาเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใสที่นับว่าช่วยให้การเงินสะพัดได้ไม่น้อยทีเดียว
ก็อย่างที่ว่ากันว่า…ไทยทำไทยใช้…แล้วใครล่ะจะเจริญ!..