ถ้าจะแบ่งตลาดแฟชั่นเมืองไทยกันโดยรวม ๆ แล้ว จะแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ
ตลาดระดับบน ตลาดระดับกลาง และตลาดระดับล่าง
ส่วนที่ว่าใครเป็นคนแบ่ง? และแบ่งกันอย่างไรนั้น? ส่วนหนึ่งมันอยู่ที่
"ความรู้สึก" ที่คนแบ่งกันเอาเอง แต่ถ้าจะมองกันตามหลักเกณฑ์แล้ว
"จุดต่างระดับ" นั้นอยู่ที่กำลังการผลิต คุณภาพของสินค้าและราคา
เป็นส่วนสำคัญที่สุด!
ตลาดบน ถูกมองโดยรวม ๆ ว่าเป็นตลาดของพวกเศรษฐี หรือผู้มีเงินเหลือใช้จากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
ไปจนถึงผู้ที่ "ติด" อยู่กับความเลิศหรูที่เข้าใจกันว่าเป็นสิ่งช่วยส่งเสริมความมีหน้าตาหรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดกันไป
จุดแบ่งตลาดบนออกจากตลาดระดับกลางหรือระดับล่างได้แก่ราคาที่มาเป็นอันดับ
ซึ่งราคาที่ต่างกัน (ไม่ใช่น้อย) นี้ เมื่อหักต้นทุนการผลิตออกไปแล้ว ส่วนที่เหลือมันก็กลายเป็นราคาค่าชื่อยี่ห้อร้าน
หรือชื่อดีไซเนอร์ รวมไปจนถึงราคาค่าที่บังเอิญต้องระเห็จขึ้นไปอยู่บนตึกที่มีชื่อว่า
"ศูนย์การค้า" ! ระดับเลิศ
ทั้งที่เมื่อจะมาดูกันถึงคุณภาพกันอย่างเอาจริงจังแล้ว อาจพูดได้ว่า สินค้าบางตัวมีคุณภาพเท่ากันพอดีกับสินค้าของตลาดระดับกลาง
ในที่นี้หมายถึงว่าอาจเป็นผ้าชิ้นเดียวกัน แบบเดียวกัน แม้กระทั่งฝีมือตัดเย็บที่พอ
ๆ กัน
ในด้านกำลังการผลิตซึ่งเป็นอีกตัวหนึ่งที่มีส่วนกำหนดการแบ่งระดับตลาดบนออกจากตลาดระดับกลางและระดับล่างนั้นเป็นส่วนที่มองได้ง่าย
และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป จะเห็นได้ว่ากำลังการผลิตของตลาดบนต่อแบบ ต่อชิ้นนั้นมีน้อยมาก
ดังนั้นลูกค้าของตลาดบนจึงสามารถวางใจได้เต็มที่ว่าจะเป็น "หนึ่งเดียวคนนี้"
ที่ได้สวมเสื้อยี่ห้อนี้ แบบนี้ในกทม.มิใช่สวมใส่แล้วมีอันต้อง "จ๊ะเอ๋"
กับใครให้ขวยเขิน
ดังนั้น เมื่อพูดถึงตลาดบน จะหมายถึงตลาดแฟชั่นของลูกค้าผู้มีอันจะกินกลุ่มหนึ่งที่นิยมเรียกกันว่า
กลุ่ม "HIGH SOCIETY" และเป็นที่รวมของบรรดา TOP DESIGNER COLLECTION
ของเมืองไทย ที่มีชื่อและผลงานอยู่ตามหน้าหนังสือแฟชั่นทั่วกรุงมีผลงานที่เป็น
COLLECTION โชว์ตามโรงแรมดัง ๆ โดยที่เก็บค่าชมแพง ๆ อาทิ เช่น สมชาย แก้วทอง
เจ้าของร้าน "ไข่" ธีรพันธ์ วรรณรัตน์ จากร้าน "ธีรพันธ์"
พิจิตรา บุญยรัตน์พันธ์ จากร้าน "พิจิตรา" องอาจ นิระมล จากร้าน
"ป๋อง" หรือ กีรติ ชลสิทธิ์ จากร้าน "ดวงใจบิส" เป็นต้น
ซึ่งผลงานจากบรรดาห้องเสื้อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่คนในวงการตลาดบนเรียกกันว่า
"HIGH FASHION"
และอีกส่วนหนึ่งที่นับอยู่ในตลาดบนแต่แบ่งระดับลงมาอีกนิด ตามระดับราคาและความมีชื่อของดีไซเนอร์
เป็นพวกที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับ "MIDDLE HIGH" ได้แก่บรรดาร้านหรือดีไซเนอร์ที่
NO NAME แต่มีฝีมือที่ทัดเทียมกับร้านดัง ๆ ทั้งหลาย ผลิตเสื้อออกมาแบบเดียวกัน
ผ้าเดียวกัน แต่คิดราคาต่ำกว่ากัน จึงนับเป็นคู่แข่งที่เฉือนคมกับร้านระดับ
HIGH FASHION กันอยู่ตลอดเวลา
หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่นับว่าเป็นตลาดบนประเภท MIDDLE HIGH ด้วย ก็คือร้านมีชื่อที่ขายเสื้อโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น
ร้านประเภทนี้ไม่จัดอยู่ในประเภท TOP DESIGNER เพราะการดีไซน์แบบนั้นอาจจ้างช่างที่
NO NAME มาดีไซน์ให้ หรือนำเอายี่ห้อมีชื่อของเมืองนอกโดยเฉพาะของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่เข้ามาขาย
และผลิตสินค้าออกมาเองภายใต้ชื่อยี่ห้อนั้น ๆ ตัวอย่างร้านที่จัดเข้าประเภทนี้และนับว่าติดอันดับความนิยมของวัยรุ่นเมืองไทย
ได้แก่ร้าน DOMON ซึ่งเอาเกือบทุกยี่ห้อของญี่ปุ่นเข้ามาขาย เป็นต้นว่า LAFORET,
PASHU, COMME DESGARCON ฯลฯ
"เมื่อทำธุรกิจต่าง ๆ นาน ๆ เข้าเราก็จำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนยี่ห้อต่าง
ๆ หรือหาเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ไว้เป็นตัวสำรอง เพื่อว่าเมื่อ DOMON หมดความนิยมแล้ว
เราก็ยังมีสินค้าอื่นขึ้นมาแทนที่เพราะว่าธุรกิจแฟชั่นบ้านเรามันไม่มีใครอยู่นานหรอกนะ
มันต้องหมุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา คนไหนดัง ชื่อเสียงก็อาจจะดังอยู่แค่ 6-7
ปี แล้วก็หายไป เราจึงจำเป็นต้องมีหลาย ๆ ยี่ห้อ แล้วตอนนี้เราก็มีอยู่เกือบ
50 ยี่ห้อ ที่ผลิตออกมาแล้วประมาณ 20 กว่ายี่ห้อ บางยี่ห้อที่ผลิตออกมาแล้วเสื่อมค่านิยม
เราไม่ได้ผลิต.." บุญศักดิ์ วัฒนหฤทัย เจ้าของร้าน DOMON อธิบายเหตุผลในการผลิตสินค้าออกมาพร้อม
ๆ กันหลายยี่ห้อ
ในกลุ่ม MIDDLE HIGH นี้ บางร้านอาจมีอำนาจต่อรอง ในเรื่องการซื้อผ้าเป็นพิเศษ
โดยจะเป็นคนสั่งผ้าเอง หรือมีความสามารถตัดล็อทผ้ามาจากสำเพ็งได้ ซึ่งจะทำให้ได้ผ้าที่ไม่เหมือนใคร
ขณะเดียวกันก็จะดีไซน์แบบเอง หรืออาจไปซื้อตัวอย่างมาจากเมืองนอกบ้าง ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกกว่าพวก
HIGH FASHION มากดังนั้นร้านประเภทนี้จะขายได้ในราคาที่ถูกกว่า
ตัวอย่างร้านดังกล่าว ได้แก่ ร้าน JASPAL ที่มีเจ้าของเป็นชาวภารตะ และนับเป็นอีกร้านหนึ่งที่ฮิตติดหมัดอยู่ในหมู่วัยรุ่นและผู้ที่นิยมวิ่งไล่ตามแฟชั่นทั้งหลาย
สำหรับคำว่า "HIGH FASHION" ดีไซเนอร์ชื่อดังคนหนึ่งในวงการตลาดบนให้คำจำกัดความไว้ว่า
"คือ image ของลูกค้าที่ศรัทธาในตัวนักออกแบบ....เป็นเรื่องของความประทับใจระหว่างตัวผู้ซื้อกับผู้ออกแบบ
ผู้ซื้อจะต้องมีความรู้ในเรื่องพวกนี้มากพอสมควร เมื่อมีความรู้ก็จะเกิดความศรัทธาในตัว
DESIGNER แต่ละคนว่าการที่เขาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้นี่มันเป็นของที่มีค่า
เพราะฉะนั้นเมื่อมีของมีค่าแล้วเรายอมรับค่าอันนั้น มันก็เจอกันได้เรียกว่า
ค่าของมันประเมินมิได้..."
สำหรับตลาดระดับกลางนั้น อาจเรียกได้ว่า เป็นสนามที่กำลังมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดอยู่ในขณะนี้
เป็นอีกลักษณะหนึ่งของคนที่มีความสามารถในการออกแบบหรือสามารถที่จะแยกแยะความสวยงามของเสื้อผ้าได้
ทั้งที่อาจไม่มีความรู้ในการตัดเย็บเลยแต่โดดเข้ามาจับธุรกิจด้านนี้ โดยการไปซื้อผ้ามาแล้วไปจ้างช่างมาตัดเย็บเพื่อเอาไปขายตามแหล่งชุมชนต่าง
ๆ อย่างเช่นที่สวนจตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศูนย์การค้าสยาม หรือที่ท่าพระจันทร์
ถ้าจะพูดถึงคุณภาพของสินค้าในตลาดกลางแล้ว นับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะดีสินค้าบางชิ้นอาจดีเท่ากับสินค้าของตลาดบนเพราะอาจจะใช้ผ้าเหมือนกัน
แบบเหมือนกันจนมองไม่เห็นความต่าง!
"บางครั้งเราอาจได้ผ้าเหมือนกับตลาดบนเลย แต่เมื่อตัดมาขายเป็นตัวแล้วราคาจะถูกกว่า
เพราะตลาดบนต้องบวกค่าภาษีค่าเช่าที่ร้านบนศูนย์การค้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น
ๆ จิปาถะซึ่งมากกว่าเรา เราจึงขายได้ถูกกว่า ในขณะที่คุณภาพทัดเทียมกับของตลาดบน.."
แหล่งข่าวจากตลาดกลางในสวนจตุจักรรายหนึ่งบอก "ผู้จัดการ"
ส่วนกำลังการผลิตต่อแบบหนึ่ง ๆ มีไม่มากนัก ถ้าจะเทียบกับตลาดล่างแล้วจะต่างกันมาก
เพราะยังไม่ถึงกับจะเรียกว่าเป็น "ของโหล" แต่ขณะเดียวกันก็ผลิตมากกว่าตลาดบน
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตลาดกลางนี้ได้แก่กลุ่มวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่
ขณะที่ผู้ผลิตเองก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับกลุ่มลูกค้า
จึงสามารถรู้ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการของดีที่ราคากันเอง ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของตลาดกลางนั้นจึงค่อนข้างจะไปได้สวยและอยู่ในลักษณะที่กล่าวได้ว่า
กำลัง "บูม" เต็มที่
ทั้งนี้เป็นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความตื่นตัวในเรื่องแฟชั่นมากเป็นพิเศษ
ทำให้เกิด DEMAND ที่ค่อนข้างสูงตามไปด้วย การผลิตเพื่อสนองตอบต่อความต้องการนั้นจึงเกิดขึ้นตามกันเป็นทิวแถว
การเลียนแบบจากตลาดบนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตในตลาดกลางยังทำกันอยู่บ้างเป็นบางส่วน
โดยอาจจะใช้วิธีขึ้นไปดูตามห้างเอง หรือลอกเลียนมาจากหนังสือแฟชั่น
ผู้ผลิตรายหนึ่งที่ท่าพระจันทร์เล่าให้ฟังว่า "ที่ว่าเลียนแบบน่ะ...ใช่นะ...คือผมจะไปเดินดูตามร้านจองตลาดบน
แล้วก็เอามาตัดขาย แต่ที่ว่าเลียนแบบจริง ๆ แล้วจะเลียนแบบทางด้านเนื้อผ้ามากกว่า
เพราะผ้าของผมที่นำมาตัดเย็บ เป็นผ้าแบบเดียวกันกับผ้าของเขา เพราะซื้อจากร้านเดียวกันที่สำเพ็ง
เพราะฉะนั้นใครเลียนใคร ผมไม่ทราบ...."
ส่วนทางด้านตลาดล่างนั้น เป็นตลาดแฟชั่นของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมของราคาไม่แพงเกินกำลัง
ในขณะที่อาจได้แบบที่เหมือนกับร้านบนศูนย์การค้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงด้านเนื้อผ้าหรือฝีมือตัดเย็บเท่าไหร่นัก?
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตลาดล่างซึ่งนับเป็นจุดที่แบ่งระดับออกมาจากตลาดบนและตลาดกลางอย่างเด็ดขาด
ก็คือกำลังการผลิตที่มีจำนวนมาก จนเรียกกันว่า "ของโหล" ที่เมื่อคิดต่อครั้ง
ต่อแบบหนึ่ง ๆ แล้วก็จะปั๊มกันออกมาไม่น้อยกว่า 100 ตัว
แหล่งของตลาดล่างในส่วนที่เป็นตลาดขายส่ง จะมีแหล่งใหญ่อยู่ที่ประตูน้ำและที่โบ๊เบ๊
ซึ่งแต่เดิมนับรวมถึงที่บางลำภูด้วย แต่ในปัจจุบันบางลำภูกลายเป็นแหล่งขายปลีกเป็นส่วนใหญ่
โดยจะรับมาจากประตูน้ำหรือที่โบ๊เบ๊อีกทอดหนึ่ง
การดำเนินธุรกิจของตลาดขายส่งนั้นนับว่ามีลักษณะที่เป็นธุรกิจอย่างเต็มตัวถ้าจะมองกันในแง่ของการลงทุน
เพราะจุดใหญ่ที่ผู้ผลิตคำนึงถึงเป็นเรื่องของปริมาณการผลิตที่ให้มากเข้าไว้
เพื่อส่งขายในหลาย ๆ ที่ ทั้งนี้รวมถึงการส่งออกนอกประเทศด้วย ดังนั้นจึงแทบจะไม่ต้องมองกันในด้านคุณภาพ
เพราะต้นทุนการผลิตที่ใช้นั้นค่อนข้างต่ำ การเลียนแบบตลาดบนจึงได้เพียงแบบหรือแนวความนิยมเท่านั้น
ไม่สามารถจะเลียนแบบในด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้
ในภาวะเศรษฐกิจอย่างปัจจุบัน ธุรกิจทุกวงการหนีไม่พ้นการแข่งขัน รวมถึงธุรกิจตลาดแฟชั่นนี้ด้วย
ซึ่งการแข่งขันในจุดใหญ่ที่มองเห็นนั้นก็คือ การทำศึกแย่งชิงลูกค้าทั้งตลาดบน
ตลาดกลาง และตลาดล่าง ทั้งนี้เป็นเพราะปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละตลาดต้องเผชิญอยู่ผลักดันให้จำต้องหากลยุทธ์ฉมัง
ๆ ที่จะช่วยประคับประคองธุรกิจของตัวให้อยู่รอดต่อไปได้
ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อตลาดบนประเภท HIGH FASHION นั้นเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในวิธีการซื้อของลูกค้าระดับ
HIGH SOCIETY ที่ลดปริมาณการซื้อลง แล้วหันไปอุดหนุนร้านประเภท MIDDLE HIGH
ซึ่งราคาถูกกว่าแทน เรื่องนี้ สมชาย แก้วทอง DESIGNER ชื่อดัง เจ้าของร้าน
"ไข่" ยกตัวอย่างให้ฟังว่า......
"สมมติคุณ A เคยไปซื้อเสื้อที่ร้านครั้งละ 10 ชุด ตอนหลังอาจจะไปซื้อครั้งละ
ชุดเดียวหรือ 2 ชุด แล้วก็เอา 2 ชุดนั้นไปหาซื้อผ้าเอง แล้วเอาไปให้ร้านที่คิดว่าคาคาถูกกว่าทำ
ตัดออกมา เขาก็สามารถที่จะใส่เสื้อในลักษณะเดียวกับของเราได้ในราคาที่ถูกกว่า....."
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ตลาดบนต้องประสบกันอยู่ เป็นเรื่องของ DEMAND ที่ลดน้อยลง
ในขณะที่ SUPPLY มีมากขึ้น นั่นคือมีร้านในระดับเดียวกันเกิดขึ้นมามากทำให้ลูกค้าสามารถเลือกได้มากขึ้น
ทำให้จำนวนลูกค้าประจำที่เคยมีลดน้อยลงไป เพราะกระจายไปยังร้านอื่น ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการเลียนแบบจากตลาดกลางและตลาดล่างด้วย
"มันทำให้พวก TOP DESIGNER ต้องตื่นตัวในการผลิตเหมือนกัน คือพยายามทำเสื้อให้ดี
แล้วก็ราคาถูกลง เพื่อที่จะต่อรองกับสินค้าราคาถูกได้ แต่เราก็ไม่ถึงกับลดตัวลงไปขายในราคาถูกเกินไป
มันก็แล้วแต่ AIM ของแต่ละร้านด้วย มันไม่เหมือนกัน...." นักออกแบบเสื้อผ้า
ชื่อดังในวงการแฟชั่นเมืองไทยพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น...
การแก้ไขปัญหาเพื่อคงธุรกิจของตลาดบนให้อยู่รอดวิถีทางหนึ่งก็คือ การขยายตลาดให้กว้างขึ้น
โดยกระจายกลุ่มเป้าหมายออกไป ที่เคยเน้นขายกลุ่มเป้าหมายเดียว ก็ขยับขยายเพิ่มแบบ
เพื่อสไตล์ออกไปสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เดิมเคยขายแต่เสื้อผ้าของคนวัย
25-40 ก็เพิ่มแนวมาขายเสื้อสำหรับเด็กวัยรุ่นบ้าง หรือจากที่เคยขายเสื้อเฉพาะผู้หญิงก็ขยายตลาดมาขายเสื้อผ้าผู้ชายบ้าง
อย่างเช่นที่ร้าน "ไข่" ให้รุ่นหลานแยกตัวออกมาเปิดร้านเสื้อสำหรับวัยรุ่นโดยใช้ชื่อว่า
"ไข่ จูเนียร์" เป็นการทำสินค้าอีกระดับหนึ่งสำหรับอีกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง
กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเลียนแบบจากตลาดระดับต่ำกว่านั้นบางร้านในตลาดบนจะใช้ยุทธวิธีในการควบคุมราคา
โดยเน้นคุณภาพ คิดกำไรน้อย เพื่อให้ระดับราคาไม่ต่างไปจากตลาดระดับต่ำกว่ามากนัก
ร้านที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้คือร้าน DOMON ที่บุญศักดิ์ วัฒนหฤทัย บอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "สินค้าเรามีคุณภาพอยู่แล้ว เราจึงใช้นโยบายควบคุมราคาขณะที่ตลาดล่างขายตัวหนึ่ง
150-160 บาท แต่ของ DOMON ขาย 200 กว่า แต่มีคุณภาพที่ดีกว่า ราคาเรายืนอยู่ในระดับสายกลางไม่สูงไปและไม่ต่ำไป
เมื่อราคาต่างกับตลาดล่างไม่เท่าไหร่ ขณะที่ได้ของมีชื่อ และมีคุณภาพ ผู้ซื้อจะเลือกอย่างไหนล่ะ"
และด้วยวิธีนี้ ลูกค้าจะหันมาซื้อของที่มียี่ห้อ ที่เพียงเพิ่มเงินอีกไม่กี่มากน้อย
แต่ได้ความภูมิใจที่ยิ่งกว่า !
หรือไม่อีกที บางร้านก็ใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ด้วยการโดดลงมาเล่นกับตลาดข้างล่างเสียเลย
เป็นกลเม็ดในการใช้ชื่อยี่ห้อเข้าสู้! อย่างเช่นร้าน "ไข่" ผลิตเสื้อในลักษณะของ
MASS PRODUCT หรือสินค้าโหล แล้วเอาไปขายที่สวนจตุจักรอยู่ทุกวันนี้
ส่วนปัญหาของตลาดระดับกลางนั้นได้แก่การตัดราคาระหว่างตลาดระดับเดียวกัน
ที่ขายสินค้าเหมือนๆ กัน และปัญหาการ "หนีแบบ" จากตลาดบน
มุขเด็ด ๆ ที่ใช้แก้ไขปัญหาก็คือความพยายามหาเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ความพยายามในการดึงลูกค้าให้มาเป็นลูกค้าประจำ
ในขณะที่ต้อง "ตามแบบ" ตลาดบนอย่างชนิดไม่ให้คลาดสายตา!
ปัญหาของตลาดล่างอยู่ที่คู่แข่งในตลาดเดียวกัน ที่เถ้าแก่คนหนึ่งในตลาดล่างเปิดเผยว่า...
"วงการนี้มีเรื่องสกปรกเยอะ มีการขโมยแบบ ลอกแบบกันอยู่เป็นประจำ อย่างบางทีเราดีไซน์แบบใหม่ตัดออกมาแขวนโชว์หน้าร้าน
คู่แข่งจะให้หน้าม้าทำเป็นลูกค้ามาซื้อไป แล้วนำไป COPY แบบตัดออกมาขายในราคาที่ถูกกว่าเป็นการตัดราคากัน...ทำอะไรไปก็ไม่ได้...ไม่มีประโยชน์
นอกจากว่าทำอย่างไรมา เราก็ตอกกลับไปอย่างนั้น...."
ยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อดึงลูกค้า จึงไปเน้นที่การตกแต่งร้านเพื่อดึงดูดใจลูกค้าถ้าเดินไปประตูน้ำในปัจจุบันจะเห็นว่าเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตมากมาย
แต่ละร้านมีการเปิดเพลงประเภทเอาใจวัยรุ่น รวมไปถึงการตกแต่งด้วยไฟสีต่าง
ๆ จนเผลอ ๆ ก็นึกไปว่ากำลังเดินอยู่บนศูนย์การค้าอย่างไรอย่างนั้น!
ทางด้านคุณภาพสินค้าของตลาดล่างก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผู้ผลิตสินค้าขายส่งรายหนึ่งย่านประตูน้ำบอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "มีอยู่บ่อย ๆ ที่คนจากตลาดบนมาเดินเลือกซื้อเสื้อจากที่นี่ไปหลาย
ๆ ตัว แล้วเอาไปติดยี่ห้อของเขา ขึ้นไปขายบนศูนย์การค้าในราคาที่แพงกว่ามาก...."
นั้นหมายถึงว่าคุณภาพของสินค้าตลาดล่างในขณะนี้คงจะพอเทียบเคียงกันได้กับตลาดบนเข้าบ้างแล้ว
!
ตลาดแฟชั่นเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดบน ตลาดกลาง หรือตลาดล่าง ยังเป็นธุรกิจที่ทำเงินอยู่
และยังเป็นธุรกิจที่ถูกมองว่า "น่าเล่น" อยู่เสมอ ตราบใดที่คนเรายังต้องใส่เสื้อผ้าพร้อม
ๆ ไปกับความใส่ใจในตัวเอง ถึงแม้จะประสบปัญหาต่าง ๆ อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเป็นหนองนี้
แต่ในวงการใดเล่าที่ดำเนินธุรกิจได้โดยไม่พบกับปัญหา
ธุรกิจแฟชั่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีวันตาย เพียงแต่ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไปอย่างไรเท่านั้น
....!?