|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

จากเรื่องราวที่นำเสนอไปเมื่อเดือนมกราคม คราวนี้เป็นการสำรวจภาคสนามถึง 4 เส้นทางใหม่ที่สามารถเชื่อมไทยกับหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวแทบจะทุกประเทศ
"เห็นมีข่าวเหมือนกันว่าเข้ามาทางเมืองน่านได้ แต่ยังไม่สะดวกนัก เลยตัดสิน ใจนั่งรถเข้ามาทางเวียงจันทน์ ผ่านวังเวียง จนมาถึงหลวงพระบาง"
"หนูนั่งรถเข้ามาทางเชียงของ-ห้วยทราย มาตามถนน R3a ถึงหลวงน้ำทา จนถึงแยกนาเตย ก็นั่งรถต่อไปซำเหนือแล้วก็ลงมาที่อุดมไชย หลวงพระบาง"
และอีกหลากหลายคำบอกเล่าจากแบ็กแพ็กเกอร์ทั้งคนหนุ่มคนสาวชาวไทย ที่ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสได้พูดคุยขณะเดินขึ้นพระธาตุภูษี จุดศูนย์กลางของมรดกโลก เมืองหลวงพระบาง ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติที่ได้ขึ้นไปสักการะ พร้อมกับรอดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ก่อนที่จะลงมาเดินชอปปิ้งบนกาดมืด บนถนนหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว ย่ำค่ำของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา
"อีกไม่นาน เรากินข้าวเช้าที่เมืองน่าน แล้วต่อไปกินข้าวเที่ยงที่หลวงพระบาง ได้แน่"
เป็นคำยืนยันของวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทแพร่ธำรงวิทย์ ที่ได้รับสัมปทานปรับปรุงเส้นทางจากเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี ไปถึงเมืองปากแบ่ง แขวง อุดมไชย สปป.ลาว 1 ในเส้นทางเชื่อมต่อจากชายแดนเมืองน่าน (จุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน) ของไทยเข้าสู่หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ที่ยังคงเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
วรงค์บอกขณะที่นำทีมงานผู้จัดการ 360 ํ ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้างเส้นทางสายดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นที่ กม.0 กลางเมืองเงิน (ห่างจากด่านชายแดนไทยประมาณ 2 กม.) ซึ่งเป็น 3 แยก ถนนเส้น หนึ่งเลี้ยวซ้ายไปเมืองปากแบ่ง ส่วนอีกเส้น เป็นทางตรงไปยังเมืองหงสา
เส้นทางจากเมืองเงินไปถึงเมืองปากแบ่งระยะทาง 52.86 กิโลเมตร ภายใต้ โครงการ "ห้วยโก๋น-ปากแบ่ง" ที่ สปป.ลาว ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) มูลค่ารวม 840 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือ 30% เงินกู้ 70% (เงินกู้ตามสัญญา Loan No.NECF/L-002) มีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของลาวเป็นหัวหน้าโครงการ บริษัท AEC/LTEC เป็นที่ปรึกษาโครงการ และบริษัทแพร่ธำรง วิทย์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
เป็นการสำรวจภาคสนาม ต่อเนื่อง จากที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ได้นำเสนอเรื่อง "4 เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง" ไว้ในฉบับเดือนมกราคม 2553 (อ่านรายละเอียดได้ใน www.gotomanager.com)
เส้นทางสายนี้บริษัทแพร่ธำรงวิทย์เข้ารับงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ 30 มิถุนายน 2553 (เดิมระยะสัญญาสิ้นสุด 31 สิงหาคม 2552 แต่ได้รับการต่อสัญญาอีก 10 เดือน) โดยเป็นเส้นทางกว้าง 9 เมตร (ผิวทาง) 2 ช่องจราจร ไหล่ทาง 1 เมตร ผิวลาดยาง (Pavement) DBST พร้อมสะพาน 6 ตัว
ตลอดเส้นทางจาก กม.0 เมืองเงิน ถึงเมืองปากห้วยแคน (ริมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งแขวงไชยะบุรี กม.ที่ 38+100-39+800) ที่จะต้องข้ามแพขนานยนต์ไปยังเมืองปากแบ่ง (ริมฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งแขวงอุดมไชย) จุดสิ้นสุดโครงการนี้เป็นถนนที่ตัดทอดผ่านเทือกเขาสูง สองฝั่งถนนผ่านหมู่บ้านชนเผ่า ชาว พื้นถิ่น หลายหมู่บ้าน
แพร่ธำรงวิทย์เข้ารับงานนี้ 100% ก่อนที่จะแบ่งให้หุ้นส่วนใน สปป.ลาว คือบริษัทน้ำทาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับช่วงก่อสร้างตั้งแต่ท่าแพขนานยนต์ ฝั่งตรงข้าม เมืองปากห้วยแคนไปจนถึงเมืองปากแบ่ง ระยะทางประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร
(รายละเอียดของบริษัทน้ำทาก่อสร้าง อ่านเรื่อง "เปิดตลาด (อินโด) จีน" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www.gatomanager.com ประกอบ)
"วันนี้ ถนนจากเมืองเงิน-ปากห้วยแคนเสร็จ 90% แล้ว เหลือเพียงงานตีเส้น ติดป้ายจราจร แต่ฝั่งปากแบ่งที่ทางบริษัท น้ำทาก่อสร้างเข้ามาทำค่อนข้างล่าช้า เมื่อ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2552) เราจึงเจรจาขอเข้าทำเองทั้งหมด หลังจากนี้ก็จะทุ่มกำลังคนและเครื่องจักรเข้าไป เชื่อว่าจะเสร็จและส่งมอบงานได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนสิ้นสุดสัญญา 1 เดือน" วรงค์ยืนยัน
เพียงแต่โครงการนี้ไม่รวมสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมเส้นทางจากเมืองปากห้วยแคนไปยังเมืองปากแบ่ง ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มว่ารัฐบาล สป.จีนจะให้การสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างแล้ว ในวงเงินประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสายนี้นอก จากจะเป็นเส้นทางบกสายใหม่ที่สามารถเดินทางจากประเทศไทยเข้าไปยังเมืองหลวงพระบางได้แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายการคมนาคม ตามแผนพัฒนา Logistic ของ สปป.ลาว ได้อีกหลากหลายช่องทาง
อาทิ ถนนจากเมืองเงินแล้วย้อนกลับมาผ่านเมืองเชียงฮ่อน (66 กม.จากพรมแดนไทย) เมืองเมืองคอบ (50 กม. จากพรมแดนไทย) แขวงไชยะบุรี มาเชื่อมจุดผ่านแดนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ที่ สพพ.ได้มีมติให้การสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางกับรัฐบาล สปป.ลาวไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552
ถนนจากเมืองเงินไปถึงเมืองปากแบ่ง ต่อเนื่องไปถึงเมืองไชย แขวงอุดมไชย (144 กม.) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าถนนสาย R2
ระหว่างทางจากเมืองปากแบ่งไปถึงเมืองไชย จะผ่านหมู่บ้านชนเผ่าที่หลากหลาย ทั้งขมุ ลาวโซ่ง ไทยใหญ่ ไทยลื้อ รวมถึงม้ง ฯลฯ
เมื่อไปถึงเมืองไชยจะพบกับ 3 แยก ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างเส้น R2 กับเส้นทางสาย 13 (เหนือ) ทางหลวงสายหลักของ สปป.ลาวที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ของประเทศ
เมื่อถึง 3 แยกนี้ หากเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางเหนือประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ จะพบกับอีก 3 แยกหนึ่งที่เมืองนาเตย แขวงหลวงน้ำทา 3 แยกนี้เป็นจุดบรรจบระหว่างเส้นทางสาย R3a กับเส้นทางสาย 13 หากเลี้ยวซ้ายกลับไปทางสาย R3a ก็จะถึงเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
แต่หากวิ่งขึ้นเหนือต่อไปทางสาย 13 จะถึงเมืองบ่อเต็น เมืองชายแดนระหว่าง สปป.ลาว กับ สป.จีน
ระยะทางระหว่างเมืองไชยถึงชาย แดนลาว-จีน ยาว 120 กิโลเมตร
จากเมืองไชยยังมีเส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่มุ่งไปทางทิศตะวันออก ปลายทางของถนนสายนี้คือพรมแดนระหว่าง สปป.ลาว กับเวียดนาม ที่เมืองเดียนเบียนฟู
ระยะทางจากเมืองไชย ชายแดนลาว-เวียดนาม ยาว 163 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวว่ารัฐบาลพม่า มีโครงการจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองเชียงตุง ผ่าน สปป.ลาว ทะลุเข้าเวียดนาม ได้ที่เมืองเดียนเบียนฟูแห่งนี้
จากสามแยก จุดสิ้นสุดถนนสาย R2 ที่เมืองไชย หากเลี้ยวขวาลงมาตามเส้นทางหมายเลข 13 จะมาถึงเมืองน้ำบาก ซึ่งจะมีอีกสามแยกหนึ่ง หากตรงไปจะไปถึงเมืองซำเหนือ ซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนามเช่นกัน
แต่หากเลี้ยวขวาลงมาตามเส้นทางหมายเลข 13 อีก 100 กว่ากิโลเมตรจะถึงเมืองหลวงพระบาง
ถนนระหว่างเมืองไชยถึงเมืองน้ำบาก ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นเส้นทางบนเขาสูงชัน แม้จะลาดยางแล้ว แต่ก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ รอการปรับปรุงอยู่
นอกจากถนนสาย R2 แล้ว เส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองเงินกับหลวงพระบางยังมีถนนอีก 2 เส้น
เส้นแรก เป็นเส้นทางระหว่างเมืองเงิน เมืองหงสา เมืองจอมเพชร เมืองเชียง แมน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับเมืองหลวงพระบาง
เมื่อมาถึงเมืองเชียงแมน เพียงข้าม แพขนานยนต์ก็สามารถเดินทางเข้าสู่จุดกึ่งกลางของเมืองหลวงพระบางได้ที่ท่าเรือ ซึ่งอยู่ห่างจากทางขึ้นพระธาตุภูษีไม่ถึง 500 เมตร
ถนนสายนี้ยาวเพียง 160 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่สามารถเดินทางจากพรม แดนไทยไปยังหลวงพระบางได้ ปัจจุบันเส้นทางสายนี้เป็นถนนลูกรัง ชาวบ้านในพื้นที่สามารถใช้สัญจรได้ แต่ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยเฉพาะหน้าฝน
สพพ.อนุมัติวงเงิน ช่วยเหลือในการก่อสร้าง-ปรับปรุงเส้นทางสายนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยคาดว่า จะใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี
กลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ของ สพพ.ก็ได้เดินทางมา สำรวจรายละเอียดของเส้นทางสายนี้แล้วส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง คือเส้นทางจากหลวงพระบาง ลงไปตามถนนหมายเลข 4 ผ่านเมืองน่าน เมืองปากขอน ข้ามแม่น้ำโขงด้วย แพขนานยนต์ ไปถึงเมืองท่าเดื่อ แขวงไชยะ บุรี จนไปถึงเมืองไชยะบุรี
ที่เมืองไชยะบุรีเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางที่ไปยังที่ต่างๆ ได้อีกหลายจุด
หากจะกลับมาที่เมืองเงินสามารถวิ่งย้อนกลับขึ้นมาทางเหนือ ตามเส้นทางหมายเลข 44 มาสิ้นสุดที่เมืองหงสา ซึ่งอยู่ ห่างเมืองเงินประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร
ถนนสาย 44 จากเมืองไชยะบุรีถึงเมืองหงสา ระยะทางประมาณ 150 กิโล เมตร ยังเป็นถนนลูกรังและวิ่งผ่านเขาสูงชัน ในช่วงหน้าฝน รถที่จะสัญจรผ่านได้ ต้องเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น
จากเมืองไชยะบุรี หากวิ่งลงไปตาม เส้นทางหมายเลข 4 ผ่านเมืองปากลายจะไปสิ้นสุดที่เมืองแก่นท้าว ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ อ.ท่าลี่ จ.เลย
แต่เมื่อถึงเมืองปากลายแล้ว ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา (2552) สพพ.ก็ได้อนุมัติความช่วยเหลือในการก่อสร้างถนนจากเมืองปากลาย ที่จะเข้าไปเชื่อมต่อกับด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ระยะทางรวม 30 กิโลเมตรใช้งบประมาณทั้งสิ้น 520 ล้านบาท
ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมารับการปรับปรุงถนนสาย 4 ช่วงจากหลวงพระบางมาถึงปากลาย ซึ่งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ให้เงินกู้แก่รัฐบาล สปป.ลาว ในการปรับปรุงเส้นทางเป็นเงินรวม 2,000 ล้านบาท
ในการสำรวจภาคสนามครั้งนี้ ผู้จัดการ 360 ํ ใช้เส้นทางจากเมืองเงิน-เมืองปากแบ่ง-เมืองไชย-หลวงพระบาง เป็นเส้นทางขาไป และใช้เส้นทางจากหลวงพระบาง-เมืองน่าน-เมืองไชยะบุรี-เมืองหงสา-เมืองเงิน เป็นเส้นทางขากลับ
ซึ่งที่เมืองหงสายังมีมีเส้นทางอีกเส้นหนึ่งซึ่งจะเข้าสู่เข้าสู่เหมืองลิกไนต์และโครงการโรงไฟฟ้าจากถ่านหินของกลุ่มบ้านปูที่ดำเนินการในนามบริษัทหงสา เพา เวอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับปรุงเส้นทางให้ดียิ่งขึ้นภายในปีนี้ (2553)
ทั้งนี้ตลอดการเดินทางของผู้จัดการ 360 ํ ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนทั้งเล็กและใหญ่เข้ามาปักหลักเปิดร้านค้าขายตั้งแต่ "ไม้จิ้มฟันยันจานดาวเทียม" ตลอดแนวเส้นทาง เช่นเดียวกับที่พบเห็นได้ ในเส้นทางที่ถนนสายคุนมั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) พาดผ่าน
(อ่านเรื่อง "ตั้งรับอิทธิพลจีน" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองเงิน หัวเมืองชายแดนลาวที่ติดกับ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, เมืองไชย, หลวงพระบาง, เมืองไชยะบุรี ล้วนแต่มีสินค้าและร้านรวงของชาวจีนเปิดให้บริการตลอดทุกจุด
ในเมืองเงินมีร้านขายจักรยานยนต์ที่ผลิตจากจีนกำลังเข้ามาเร่งทำการตลาด ส่วนที่เมืองไชย แขวงอุดมไชย มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่แล้วมากกว่า 30%
เมืองไชยะบุรี มีตลาดจีนที่เปิดอย่างใหญ่โตเมื่อประมาณ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ในนามศูนย์การค้าจีนครบวงจรไชยะบุรี โดยบริษัทก้าวหน้าลาว
ประเด็นเรื่อง "จีนในลาว" นี้ เริ่มสร้างความกังวลลึกๆ ให้กับรัฐบาล สปป. ลาวมากขึ้นทุกขณะ จนเริ่มมีการเข้มงวดในการอนุญาตให้คนจีนเข้ามาปักหลักอาศัย ในลาวบ้างแล้ว
แต่จะถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายหรือไม่นั้น ดูเหมือนจะยังอีกไกล
และประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นบทเรียนที่ดียิ่งสำหรับไทยได้เช่นกัน
|
|
 |
|
|