|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สปป.ลาว กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม 2010 เป็นวันเปิดดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ลาว ในการนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาทางการเงินจากไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีส่วนทำให้กำหนดการนี้ปรากฏเป็นจริง บทบาทของทีมการเงินจากไทยครั้งนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ "Indochina Leader" ที่วิเชฐ ตันติวานิช พยายามผลักดัน
บรรยากาศในห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานใหญ่ธนาคารการค้าต่างประเทศ ลาว ช่วงเช้าวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา คึกคักเป็นพิเศษ
บริษัท ห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ ที่ทำธุรกิจอยู่ใน สปป.ลาวต่างส่งตัวแทนเข้าร่วม การสัมมนาในหัวข้อ "การตระเตรียมความพร้อมของวิสาหกิจ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว"
บริษัทบางแห่ง เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดเข้ามานั่งฟังการสัมมนาด้วยตัวเอง
จำนวนผู้เข้ามารับฟังการสัมมนาครั้งนี้สูงถึง 80 คน
การสัมมนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่ง สปป.ลาวและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เนื้อหาของการสัมมนาเริ่มต้นเป็นการปูพื้น โดยบอกถึงกฎระเบียบและคุณสมบัติเบื้องต้นของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.)
(ดู "คุณสมบัติบริษัทที่จะกระจายหุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว" ประกอบ)
หลังจากนั้นเป็นช่วงที่มีตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์จากประเทศไทย ขึ้นไปพูดถึงขั้นตอนการนำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป ก่อนที่บริษัทจะเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียน
เป็นการพูดโดยนำประสบการณ์จริงที่เคยพบในการกระจายหุ้นในประเทศไทย มาบอกเล่าให้ผู้เข้าสัมมนาได้รับฟัง
การสัมมนาครั้งนี้ใช้ระยะเวลา 3 วัน โดยตัวแทนของบริษัทหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินจากประเทศไทย ที่ไปร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้ประกอบด้วยสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอสเซท โปร เมเนจเม้นท์ สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส และประเสริฐ ตันตยาวิทย์ Head of Investment Banking Group บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้
ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกิจการใน สปป.ลาวที่แสดงความสนใจจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ซึ่งใกล้เวลาที่จะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเข้ามาทุกที
ทางการ สปป.ลาวได้กำหนดตัวเลขการเปิดตลาดหลักทรัพย์ลาวเอาไว้ที่ 10-10-10
นั่นคือวันที่ 10 เดือนตุลาคม 2010 คือวันที่ตลาดหลักทรัพย์ลาวจะเริ่มเปิดดำเนิน การเป็นวันแรก
ซึ่งมีความหมายว่า ตลาดการเงินของ สปป.ลาวจะมีครบองค์ประกอบทั้งตลาดเงิน และตลาดทุน
ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่อยู่ในตลาดทุนจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิด สปป.ลาวมากที่สุด
และตรงกับยุทธศาสตร์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้วางเอาไว้ว่าจะต้องเป็น "Indochina Leader" โดยมีวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน
"เราต้อง positioning ตัวเอง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ กับตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ต่อไปธุรกิจ ดีๆ ในไทยก็อาจโดนแย่งไปจดทะเบียนในประเทศอื่น" วิเชฐอธิบายถึงที่มาที่ไปของยุทธศาสตร์นี้กับผู้จัดการ 360 ํ
แนวคิดเรื่องการปฏิรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้ว และหลายประเทศพยายามวางกลยุทธ์และจัดวางตำแหน่งของตลาดหลักทรัพย์ของตนไว้อย่างชัดเจน
ประเทศในเอเชีย ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงวางตำแหน่งตนเองเอาไว้ว่าจะต้องเป็น China Gateway ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ก็วางตำแหน่งตนเองไว้ที่ Global Exchange หรือตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียที่กล้าบอกกับทุกคนว่าตนเองเป็นเจ้าแห่ง Islamic Product
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง หลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มตระหนักถึงการแข่งขันกันเองระหว่างตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นมาดังกล่าวและมีความพยายามที่จะวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปออกมาในการจัดวางตำแหน่งของตนเองให้เป็น Indochina Leader
"แต่ความเป็น Leader ในที่นี้ไม่ได้ หมายความว่าเราจะไปแข่งกับเขา แต่เราจะไปช่วยเขาพัฒนา โดยใช้ประสบการณ์ของเราเป็นตัวอย่าง เราไม่ต้องการเป็นหัวหน้าเขา เราต้องการที่จะถ่ายเทสิ่งที่เรา มีอยู่ให้เขายืนขึ้นมาได้เท่าๆ กับเรา แล้วจะได้เป็นพลังในกลุ่มอินโดจีนร่วมกัน"
วิสัยทัศน์ Indochina Leader ถูกขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น หลังจากวิเชฐได้รับมอบหมายให้เข้ามาวางยุทธศาสตร์ทางการตลาดให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 2 ปีก่อน
แต่ก่อนหน้านั้นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านได้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันแล้วบนโต๊ะประชุมของผู้บริหารเพียงแต่เป็นคนละบริบท
5 ปีที่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะ สปป.ลาวและกัมพูชา เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ของตนเองขึ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งอยู่ติดกัน และมีการพัฒนาระบบการซื้อขายมานาน จนได้รับการยอมรับในมาตรฐาน
จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบการซื้อขายดังกล่าวไปขายให้กับตลาดหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ
แต่ก็มีคู่แข่ง เพราะตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ก็ได้เข้ามาเสนอขายระบบให้กับทั้งรัฐบาล สปป.ลาว และกัมพูชาด้วยเช่นกัน
"แสดงว่าเกาหลีใต้ก็มองเห็นถึงความสำคัญของประเทศในอินโดจีน"
ในตอนท้ายทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชาก็ตัดสินใจที่จะซื้อระบบการซื้อขาย พร้อม ร่วมทุนกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นในทั้ง 2 ประเทศ
เฉพาะใน สปป.ลาวได้มีพิธีลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ระหว่าง รัฐบาล สปป.ลาวกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมปีที่แล้ว (2552) ที่เมืองหลวงพระบาง และมีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารตลาดหลักทรัพย์ลาว ในวันที่ 29 กันยายน
ที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ลาวอยู่บนถนนกำแพงเมือง หมู่บ้านโพนตานเหนือ ตำบล ไชยเชษฐา ตรงข้ามกับศูนย์แสดงสินค้าไอเทค ในนครหลวงเวียงจันทน์
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาวและกัมพูชาครั้งนี้ เหมือน ซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นกับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เวียดนามเมื่อหลายปีก่อน
ในครั้งนั้น ตลาดหลักทรัพย์เวียดนามได้เข้ามาขอความรู้และช่วยเหลือจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ให้ความร่วมมือเต็มที่ ถึงขนาดที่ให้ยืมระบบการซื้อขายไปทดลองใช้ก่อน
ปรากฏว่าตลาดหลักทรัพย์เวียดนามก็ได้ใช้ระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทยซื้อขายจนเปิดตลาดไปได้ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนมาใช้ระบบที่ตนเองพัฒนาขึ้นมา
เรียกว่าความช่วยเหลือในครั้งนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ได้รับอะไร ที่เป็นการรีเทิร์นกลับมา
แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้ เพราะตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ยังไม่ได้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับกลุ่มประเทศในอินโดจีน และไม่ได้วางตำแหน่งของตนเองให้เป็น Indochina Leader เหมือนในทุกวันนี้
"ตรงนี้ ถือว่าเราช้าไปแล้ว 1 ก้าว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะผลักดันตัวเองให้ขึ้นไปเป็น Indochina Leader ให้ได้ เราจะต้องบุกให้หนักขึ้น" วิเชฐบอก
คำถามคือแล้วการบุกหนักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้จะใช้อะไรเป็นธงนำ...?
"ถ้าเกาหลีเขาบุกทางด้านฮาร์ดไซด์ มาสร้างอาคาร เอาระบบการซื้อขายเข้ามา ให้ธงของเราก็ต้องเป็นด้านซอฟต์ไซด์ นั่นก็คือเรื่องการให้ความรู้ประชาชน เรื่องการสร้างฐานผู้ลงทุน การเทรนนิ่ง การให้ใบอนุญาตของโบรกเกอร์หรือที่ปรึกษาทางการเงิน คนที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เขาจะให้ใบอนุญาตกันอย่างไร ค.ล.ต.จะดูแลอย่างไร"
2 ปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เข้าไปทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาว มีการส่งวิทยากรไปให้ความรู้ และนำเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่ง สปป.ลาวที่ถูกวาง ตัวให้เป็นทีมงานจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เข้ามาดูงานในประเทศไทยหลายครั้ง รวมถึงการส่งวิทยากรไปให้ความรู้พื้นฐานแก่เจ้าของกิจการ ตลอดจนประชาชนที่มีเงินออมเกี่ยวกับการนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่การเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในการจัดตั้งตลาด หลักทรัพย์ลาวครั้งนี้มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน
เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่มีเป็นระดับ แตกต่างกันไปตามความสำคัญของบทบาท
ในระดับเบาสุดคือการส่งวิทยากร ไปจัดอบรมให้ความรู้กับบริษัทจดทะเบียน หรือการไปเป็นที่ปรึกษาในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการหลักทรัพย์ประเภท ต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจขอคิดค่าธรรมเนียม เพราะเป็นการทำงานที่มีต้นทุน
ระดับในสูงขึ้นมา คือเมื่อเริ่มมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจากไทย เข้าไปทำหน้าที่สปอนเซอร์ ให้กับบริษัทที่สนใจจะเข้ามาระดมทุน
ปัจจุบันธนาคารแห่ง สปป.ลาววาง แนวทางเบื้องต้นเอาว่าจะให้ใบอนุญาตทำธุรกิจหลักทรัพย์กับประเทศที่ สปป.ลาว เห็นว่าเหมาะสมก่อน 3 ประเทศ ประเทศละ 1 แห่ง ได้แก่ ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ และประเทศไทย คาดว่าจะได้แก่บริษัทหลักทรัพย์เคที ซีมิโก้
แต่ใบอนุญาตในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้นยังไม่มีการกำหนดโควตา
ระดับที่สูงสุดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสนอไป คือหากบริษัทใน สปป.ลาว ซึ่งต้องการระดมทุนในวงเงินขนาดใหญ่ แล้วตลาดหลักทรัพย์ลาว หรือตลาดการเงินลาวยังไม่พร้อมก็ขอให้บริษัท เหล่านั้นเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อน จนเมื่อตลาดการเงินของลาวและตลาดหลักทรัพย์ลาวมีความพร้อม บริษัทเหล่านี้ก็สามารถกลับเข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลาว ในลักษณะ Duo Listing
บริษัทเป้าหมายตามเงื่อนไขนี้ก็คือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของ สปป.ลาวที่กำลังต้องการเงินทุน รวมถึงบริษัท โดยเฉพาะจากประเทศไทยที่ได้เข้ารับสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ อยู่ใน สปป.ลาวขณะนี้
"คือคนที่เขาต้องการเงิน เขาก็ต้องการเงินตรงนี้ ถ้าเขายังไม่พร้อมก็ขอให้เข้ามาทำ IPO ในประเทศไทยก่อนได้ไหม เพราะไม่เช่นนั้น บริษัทเหล่านี้อาจจะเข้าไปทำ IPO ที่สิงคโปร์"
เงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่เสนอไปเหล่านี้ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับจากตลาดหลัก ทรัพย์ลาว
"เป็นการสร้างฐานภูมิปัญญาของการลงทุน วัฒนธรรมของการลงทุน บนประเทศเขา เพื่อให้มีความพร้อมที่จะตอบรับกับธุรกิจของเราที่จะเข้าไปทำ แล้วเขาก็จะได้ประโยชน์ เพราะประเทศเขากำลังจะโตขึ้นมา เราก็จะได้ประโยชน์ ก็จะได้กันหมดทุกฝ่าย"
ปัจจุบันใน สปป.ลาวมีบริษัทและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความพร้อมจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน หลายแห่งด้วยกัน
บริษัทเหล่านี้ อาทิ กลุ่มบริษัทดาวเรือง เจ้าของธุรกิจกาแฟ และร้านค้าปลอด ภาษี บริษัทลาว บริวเวอรี่ ผู้ผลิตเบียร์ลาว ธนาคารพงสะหวัน รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว ฯลฯ
หากดูจากปริมาณเงินออมในระบบ ณ ไตรมาส 2 ของปี 2552 ที่ประกาศโดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว ซึ่งมีอยู่ 10,629.1 พันล้านกีบ เงินจำนวนนี้หากแปลงเป็นเงินบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 258 กีบ) จะเท่ากับ 41,198 ล้านบาท
คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน หากบริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้นเกิดความต้องการใช้เงินทุนขึ้นมาพร้อมๆ กัน
หากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเดินหน้าผลักดันวิสัยทัศน์ Indochina Leader อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ถึงแม้จะผ่านวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 ซึ่งตลาด หลักทรัพย์ลาวเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการไปแล้ว
นักลงทุนบ้านเราอาจมีโอกาสได้ลงทุนในหุ้นของเบียร์ลาว หุ้นธนาคารพงสะหวัน หรือหุ้นเขื่อนน้ำงึม 2 ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปก่อนระยะหนึ่ง
ก่อนที่บริษัทเหล่านี้จะกลับเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวในภายหลัง
|
|
|
|
|