เมื่อว่ากันถึงการฟาดฟันช่วงชิงตลาด ในวงการธุรกิจค้าน้ำมันแล้ว ก็ต้องแยก
ปตท. หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยออกมากล่าว เนื่องจากองค์การรัฐวิสาหกิจองค์กรนี้ถูกกล่าวกันมากว่า
มันเหมือนกับการจัดให้นักมวยชกกัน แล้วมี ปตท. เป็นกรรมการ แล้วกรรมการอย่าง
ปตท. ก็ลงไปชกกับนักมวย ด้วย
กรรมการอย่าง ปตท. เป็นผู้กุมชะตาและสามารถที่จะชี้ความเป็นความตายแก่นักมวยทุกคน
โดยเฉพาะบริษัทรายย่อยนั้นจะยืนอยู่ได้หรือไม่อย่างไร? ก็ขึ้นอยู่กับ ปตท.
นี้ เนื่องจากบริษัทรายย่อย แต่ละบริษัทจะนำน้ำมันเข้ามาได้ก็ต้องขออนุญาตกันเป็นครั้ง
ๆ ไป และหากวันใด ปตท. เกิดเหม็นหน้านักมวยคนใดคนหนึ่งขึ้นมา แล้ว ปตท. ก็ส่งข้อมูลให้กับกระทรวงพาณิชย์โดยบอกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในช่วงนี้เพียงพอแล้ว
แค่นี้รายย่อยก็ต้องล้มกลิ้งอย่างไม่เป็นท่าแล้ว
แหล่งข่าวในวงการค้าน้ำมันผู้หนึ่งได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า
"หน่วยงานที่รับนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายปิโตรเลียมแห่งชาติมาปฏิบัตินั้นก็จะมีหน่วยงานที่สำคัญจริงๆ
อยู่ 2 หน่วยงาน หน่วยงานที่หนึ่งก็เป็น ปตท. ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ปตท.
ก็จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในนโยบายตั้งแต่เรื่องการขุดแก๊ส การซื้อแก๊สจากหลุมการซื้อน้ำมันดิบต่าง
ๆ รวมทั้งการขายปลีกขายส่ง อีกหน่วยงานหนึ่งก็คือกรมทะเบียนการค้า ในลักษณะที่กรมทะเบียนการค้ามีกองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่
กองน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีหน้าที่หลัก ๆ ส่วนใหญ่ก็คือ การกำหนดโควต้าการนำเข้าของแต่ละบริษัท
การควบคุมให้น้ำมันสำรองเป็นไปตามกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดก็คือการควบคุมการค้าภายใน
จะให้ใบอนุญาตค้าน้ำมันแก่ใครหรือจะไม่ให้ จะยึดใบอนุญาตหรือจะถอนใบอนุญาตของใครก็อยู่ที่นี่
เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงอำนาจต่อผู้ประกอบการค้าน้ำมันแล้วกรมทะเบียนการค้ามีอำนาจล้นฟ้าเลย
และก่อนที่จะไปดูที่การปิโตรเลียมซึ่งจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ มาดูที่กรมทะเบียนการค้าก่อน
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านน้ำมันและก๊าซของกรมทะเบียนการค้าก็คือ กองน้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งถ้าไปดูกำลังคนในกองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว จะเห็นว่ามีน้อยมาก เครื่องคอมพิวเตอร์สักเครื่องยังไม่มีเลย
คุณจะเห็นว่าเล็กมาก ผมว่าคนที่นั่งแออัดอยู่ในนั้นนับตั้งแต่พนักงานไปจนถึงผู้อำนวยการกองผมว่า
ยังไม่ถึง 30 คนเลย งบประมาณแต่ละปีนั้นน้อยนิดมาก ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่กองน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีพาวเวอร์พอที่จะไปรับรู้ข้อมูลต่าง
ๆ ทั้งด้านการขึ้นลงของราคาในต่างประเทศหรือปริมาณความต้องการที่แท้จริงภายในประเทศ
กองน้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้องพึ่งข้อมูลจากคนอื่น และแหล่งข้อมูลที่พึ่งอยู่ในปัจจุบันก็คือ
ปตท. และเมื่อต้องพึ่งข้อมูลจากปตท.นั้นก็เท่ากับว่า ปตท. กลายเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด
คือกลายเป็นผู้กำหนดโควต้าไปด้วย เพราะถ้าข้อมูลมันบูด ๆ เบี้ยว ๆ แล้วแม้คนในกองน้ำมันเชื้อเพลิงจะขยันกันสักเพียงใด
งานที่ออกมาก็ย่อมที่จะบูด ๆ เบี้ยว ๆ ไปด้วยแน่ ๆ"
ดังนั้นการที่ ปตท. ลงมาเป็นทั้งนักมวยเป็นทั้งกรรมการเช่นนี้ ชัยชนะก็ย่อมเป็นของ
ปตท. จึงเปรียบเสมือนหนึ่งคนกุมชะตากรรมวงการนี้
ตัวอย่างอันหนึ่งที่ชี้ชัดก็คือ การห้ามนำเข้าแก๊สปิโตรเลียมเหลวเมื่อต้นปี
2528 ของกระทรวงพาณิชย์ ใครจะปฏิเสธบ้างว่าการห้ามนำเข้าครั้งนั้นไม่ได้ผลมาจาก
ปตท.
ปลายปี 2527 ปตท. สร้างโรงแยกแก๊สหน่วยที่ 1 เสร็จก็ประกาศออกมาว่าเมื่อโรงงานแยกแก๊สนี้เดินเครื่อง
เราก็จะมีแก๊สปิโตรเลียมเหลวเพียงพอที่จะใช้ภายในประเทศโดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเข้าอีก
เมื่อโรงแยกแก๊สเริ่มเดินเครื่องในปี 2528 บริษัทรายย่อยทั้งหลายที่เคยเอนจอยอยู่กับการนำเข้าแก๊สแอลพีจี.
ต่างก็พากันกระอักเลือด ไม่เว้นแม้แต่ เชลล์และคาลเท็กซ์ ที่นำเข้าแก๊สเช่นกัน
เอสโซ่เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ยิ้มออกได้ เนื่องจากเอสโซ่มีโรงกลั่นน้ำมันดิบของตัวเองอยู่แล้ว
เอสโซ่จึงไม่กระทบกระเทือนต่อการห้านนำเข้าครั้งนี้ เนื่องจากแก๊สปิโตรเลียมเหลวก็คือส่วนเหลือ
(WASTE) จากการกลั่นน้ำมันดิบนั้นเอง
แหล่งข่าวระดับสูงคนเดิม ได้ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้กับผู้จัดการว่า
"อย่าว่าแต่บริษัทรายย่อยเลยที่จะเลิกค้าแก๊สกัน แม้แต่เชลล์ แม้แต่คาลเท็กซ์เองเขาก็ค้าไปเพื่อรักษาตลาดไว้อย่างนั้นแหละ
เขาก็อยากจะเลิกค้าแก๊ส เพราะการถูกห้ามนำเข้า การที่เขาต้องซื้อแก๊สจาก
ปตท. นั่นก็เท่ากับว่า เขาต้องเป็นเอเย่นต์ให้กับ ปตท. ไปโดยปริยาย ซึ่งความจริงเราก็ไม่มายด์หรอกกับการที่จะเป็นเอเย่นต์ให้กับเขา
แต่นี่ ปตท. ให้เรากิโลละ 3 สตังค์ คุณลองคิดดูเวลาคุณเติมแก๊สให้กับรถยนต์
มันต้องมีส่วนหนึ่งล่ะที่หายไป แล้วใครมันจะคุ้มก็ไม่ว่ากันหาก ปตท. อยากจะค้าแต่ผู้เดียว
นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ ปตท. ได้และ ปตท. จะทำอย่างไรกับน้ำมันต่อไปอีกก็ต้องรอดูกันต่อไป