Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2553
นโยบายการอยู่อาศัยในนิวซีแลนด์             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Law




ทุกครั้งที่ผมได้พบนักธุรกิจชาวไทยที่ทราบว่าผมอยู่นิวซีแลนด์มานาน คำถามที่ผมมักจะได้รับคือการทำอย่างไรที่จะได้สิทธิในการได้วีซ่าถาวรในการอยู่อาศัยที่เรียกกันว่า Permanent Resident ซึ่งเป็นชื่อสากล โดยวีซ่าชนิดนี้ในหลายประเทศจะใช้ขอบสีเขียวทำให้คนส่วนมากในโลกโดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐอเมริกาที่ได้วีซ่าชนิดนี้เรียกกันติดปากว่า Green Card ซึ่งแต่ละประเทศจะมีนโยบายในการให้สิทธิการอยู่อาศัยถาวรต่างกันไป ในนิวซีแลนด์จะเรียกตามอังกฤษคือ PR ซึ่งผมจึงถือโอกาสนี้เขียนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวของนิวซีแลนด์

ก่อนที่จะพูดถึงขั้นตอนการขอสิทธิ ผมต้องขออนุญาตเล่าถึงประโยชน์ของการได้สิทธิดังกล่าวเสียก่อน สิทธิชาวต่างชาติที่ถือ PR ของนิวซีแลนด์ นั้นประกอบด้วยการที่จะได้รับสิทธิทั้งหมดที่ชาวนิวซีแลนด์ได้ เริ่มจากสิทธิทางการเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการประกอบธุรกิจทุกชนิดซึ่งรวมทั้งการถือหุ้น เปิดธุรกิจ ลงทุนในพันธบัตร สิทธิการ ทำงานซึ่ง PR จะได้รับการปกป้องจากกฎหมาย Equal Employment Opportunity (EEO) ซึ่งนายจ้างจะไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้สมัครจากเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือสีผิว หรือเรื่องส่วนตัว ไม่อย่างนั้นจะโดนดำเนินคดีทางกฎหมายได้ และที่สำคัญคือสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งเริ่มจากระดับประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งถ้าเข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล นักเรียนจะจ่ายค่าเล่าเรียนในราคาที่ชาวนิวซีแลนด์จ่ายซึ่งอยู่ประมาณสามพันถึงแปดพันบาทต่อปี

ขอย้ำนะครับว่าบาทไม่ใช่ดอลลาร์ ขณะที่นักเรียนจากต่างประเทศต้องจ่ายปีละสองแสนถึงสี่แสนบาทโดยประมาณ พูดง่ายๆ คือค่าเล่าเรียนปีละ ไม่กี่ร้อยดอลลาร์ หรือหนึ่งถึงห้าเปอร์เซ็นต์ของที่นักเรียนไทยจ่ายกันในปัจจุบัน เพราะการศึกษาภาค บังคับของนิวซีแลนด์คือต้องจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทำให้ค่าเล่าเรียนต้องถูกที่สุด โดยมีข้อแม้คือต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่โรงเรียนตั้งอยู่

ส่วนในระดับอุดมศึกษา นักศึกษาที่มาจากต่างประเทศต้องเสียค่าเล่าเรียนปีละสี่แสนห้าหมื่นถึงหกแสนบาท ในขณะที่นักศึกษาที่ถือ PR หรือชาวนิวซีแลนด์จะจ่ายเพียงหนึ่งแสนถึงหนึ่งแสนสอง หมื่นบาทต่อปี เรียกว่าจ่ายเพียงหนึ่งในห้าของนักศึกษาต่างประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษอีกสองอย่าง อย่างแรกคือการกู้ยืมค่าเล่าเรียนจากรัฐบาลโดยไม่เสียดอกเบี้ยโดยทำเรื่องกู้ผ่านกระทรวง สวัสดิการสังคม โดยในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ค่าเล่า เรียนที่กู้ยืมไปจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและการจ่ายคืน คือให้ทางสรรพากรเป็นคนเก็บจากเงินเดือนที่ได้รับ

พูดง่ายๆ คือจ่ายภาษีแพงกว่าคนอื่นระยะหนึ่ง สมมุติว่าคนที่ทำงานได้เงินเดือนแสนบาท ปกติ ต้องจ่ายภาษีสองหมื่นบาท ก็ต้องจ่ายสองหมื่นหกพันบาท เงินส่วนต่างคือหกพันบาทจะเอาไปหักกับค่าเล่าเรียนที่เคยกู้ไป ซึ่งเมื่อทำงานได้สี่ห้าปี เงินที่กู้มาเรียนก็หมด สรรพากรก็จะลดภาษีลงมาเหลือที่สองหมื่นบาทเท่าเดิม ซึ่งเรียกว่าแทบจะไม่กระทบอะไรเพราะนายจ้างจะหักภาษีก่อนจ่ายให้สรรพากรเอง สิทธิที่สองคือการขอเงินช่วยเหลือจากกระทรวง สวัสดิการสังคม

ถ้าหากนักศึกษาชาวนิวซีแลนด์ไม่ได้ทำงานพิเศษเกินกว่าสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ พวกเขาจะมีสิทธิขอเงินช่วยเหลือโดยจะได้ราวๆ อาทิตย์ละสามพันห้าร้อยบาทถ้าอยู่กับผู้ปกครอง หรือหกพันห้าร้อยบาทถ้าอยู่เอง ซึ่งเป็นเงินกินเปล่าเดือนละหมื่นห้าพันถึงสองหมื่นเจ็ดพันบาท โดยมีข้อแม้ว่านักศึกษา ที่ขอเงินตรงนี้ต้องเรียนให้ผ่านมากกว่ากึ่งหนึ่งของวิชาที่ลงทะเบียนไว้ ในทุกๆ ปี และจะมีกำหนดให้เงินดังกล่าวเป็นเวลาห้าปี คือระยะเวลาปกติที่คนส่วนมากใช้เรียนปริญญาตรีในทุกๆ สาขา เพราะสาขาเช่น แพทย์ หรือนิติศาสตร์นั้นต้องเรียนมากกว่าสาขาอื่นเพราะต้องสอบใบประกอบการ นักศึกษา ที่ขยันเงินก้อนดังกล่าวสามารถครอบคลุมได้ถึงปริญญาโทเสียด้วยซ้ำเพราะปริญญาตรีสามารถจบได้ในสามปีถ้าขยันจริงๆ

นอกเหนือจากด้านการศึกษาแล้วการได้ PR ยังมีสิทธิเพิ่มเติมคือการขอสัญชาตินิวซีแลนด์ ซึ่งถ้าผู้ที่ถือ PR นานถึงห้าปี ย่อมมีสิทธิในการขอสัญชาตินิวซีแลนด์รวมทั้งหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์ ซึ่งสามารถเข้าออกประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศในโลกรวมทั้งอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพียงมีหนังสือ เดินทางนิวซีแลนด์แล้วอยากไปเที่ยวยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ต้องการเพียงตั๋วเครื่องบิน นอกจากนี้ถ้าผู้ถือหนังสือเดินทางอายุไม่ถึง 25 ปีจะมีสิทธิขอ Working Holiday คือวีซ่าท่องเที่ยวและทำงานในอังกฤษ ยุโรปกับญี่ปุ่นได้หนึ่งปี นอกจากนี้ถ้าถือหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์เท่ากับว่าได้ PR ของออสเตรเลียไปในตัว จึงสามารถข้ามไปทำงาน อยู่อาศัย หรือเรียนต่อที่ออสเตรเลียในราคาเดียวกับชาวออสซีได้ทันที

เมื่อพูดถึงสิทธิและโอกาสแล้ว ผมก็ขอพูดถึง การขอ PR ในนิวซีแลนด์ ก่อนอื่นผมต้องขอออก ตัวสักนิดว่าผมเองก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ สำหรับตัวผมเองซึ่งได้สิทธิดังกล่าวมากว่าสิบปีแล้วจึงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมว่าในปัจจุบันนี้เขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผมขอชี้แจงสักนิดนะครับว่า การทำเรื่อง PR ในนิวซีแลนด์ สามารถขอได้จากคน แค่สองกลุ่มคือผู้สมัครเองหรือสำนักงานทนายความในนิวซีแลนด์เท่านั้น

ดังนั้น เอเยนต์ด้าน Immigration ที่ไม่ได้รับ การ accredit หรือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอเยนต์จากสำนักงานทนายความในนิวซีแลนด์จะไม่มีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ผมจึงได้ไปขอความรู้จากบริษัท Canterbury Business Consultant Corporation (CBC Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทแนะนำและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนและการทำธุรกิจในนิวซีแลนด์ รวมถึงการทำ PR โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัท CBC Corporation เป็นตัวแทนการทำตลาดในประเทศไทยโดยตรงของสำนักงานทนายความ Brookfields Law และธนาคาร SBS Bank โดย Brookfields Law เป็นสำนักงานทนายที่ใหญ่ติดอันดับสี่ (Top 4) ของนิวซีแลนด์และ specialize ในการทำเรื่อง PR และ immigration มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและธนาคาร SBS Bank ก็เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตั้งมายาวนานถึง 140 ปี

การขออนุมัติ PR นั้นแบ่งเป็นสองระดับคือการขอโดยใช้ประสบการณ์และความสามารถ (Skill Migrant) และการขอผ่านการลงทุน (Business Investment Category) ซึ่งทั้งสองระบบใช้มาตรฐาน ในการพิจารณาค่อนข้างแตกต่างกัน สำหรับ Skill Migrant นั้นการพิจารณามาจากการเก็บคะแนนโดยผู้สมัครหรือทนายความของผู้สมัครต้องกรอก Expression of Interest (EOI ซึ่งเป็นการเก็บคะแนน โดยมีจุดมุ่งหมายง่ายๆ คือต้องเก็บคะแนนให้ได้ 140 คะแนนเพื่อให้ได้ PR หรือต้องให้ได้อย่างน้อย 100 คะแนน เพื่อจะได้มีชื่อในการจับฉลากประจำเดือน โดยคนที่ถูกจับขึ้นมาจะได้ PR คะแนนดังกล่าว จะมาจากไหน ผมขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ

คะแนนกลุ่มแรกมาจากห้าส่วนประกอบ ซึ่งคะแนนแรกได้ทีเดียว 50-60 คะแนน คืองานที่เรียกว่า Skill Employment โดยมีส่วนประกอบคือต้องเป็นงานที่นิวซีแลนด์ต้องการและผู้สมัครต้องได้รับการว่าจ้างจากบริษัทในนิวซีแลนด์ และงานที่ได้ต้องตรงกับวิชาที่จบมาจากมหาวิทยาลัย เช่นถ้าจบบัญชีและมีใบประกอบการ Charter Accountant จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ อเมริกา หรือแคนาดา ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทในนิวซีแลนด์ ตรงนี้ได้ 50 คะแนน แต่ถ้าทำงานอยู่แล้วและเจ้าของบริษัทยื่นสัญญานานกว่า 1 ปีให้จะได้ 60 คะแนน

เท่าที่ผมทราบหลายสาขา เช่น พยาบาล แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเงิน นักการบัญชี ครู นักบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเกษตร นักการตลาด พวกนี้อยู่ใน Skill Employment หมด แต่หลายแขนง อาจจะต้องมีใบประกอบการหรือสอบใบประกอบการ ในนิวซีแลนด์ก่อน คะแนนในส่วนที่สองจะมาจาก ประสบการณ์ทำงาน ซึ่งถ้ามีประสบการณ์อย่างน้อย สองปีจะได้ 10 คะแนนและขึ้น 5 คะแนนจากทุกๆ สองปี โดยคะแนนสูงสุดคือ 30 คะแนนจากประสบ การณ์สิบปี คะแนนในส่วนที่สามมาจากอายุผู้สมัคร ซึ่งถ้าอายุไม่เกิน 29 ปีจะได้ 30 คะแนน ถ้าอายุไม่เกิน 39 จะได้ 20 คะแนน โดยผู้สมัครที่อายุ 50-55 ปีจะเหลือคะแนนเพียงห้าคะแนน คะแนนส่วนที่สี่ มาจากวุฒิการศึกษา ซึ่งปริญญาตรีจะได้ 50 คะแนน และวุฒิที่สูงกว่าปริญญาตรีจะได้ 55 คะแนน และคะแนนสุดท้ายมาจากญาติสนิทในนิวซีแลนด์จะได้อีก 10 คะแนน

นอกจากนี้ยังมีคะแนนเสริมให้เก็บได้อีกมาก เช่นงานที่ได้รับการว่าจ้างเป็นงานที่รัฐบาลกำหนดว่า เป็นสาขาที่นิวซีแลนด์ขาดแคลน จะได้อีก 10 คะแนน ถ้าเป็นงานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติจะได้ 10 คะแนน ถ้ามีคู่สมรสได้งานที่เป็น Skill Migrant จะได้ 20 คะแนน และถ้าบริษัทที่ว่าจ้างตั้งอยู่นอกนครโอ๊กแลนด์จะได้ 10 คะแนน

นอกจากนี้โบนัสในส่วนทำงานก็เหมือนกัน ถ้าทำงานเสียภาษีในนิวซีแลนด์หนึ่งปีได้เพิ่มห้าคะแนน สองปีได้ 10 คะแนน และสามปีได้ 15 คะแนน หากมีประสบการณ์ทำงานจากสายงานที่ถูกระบุว่าเป็นงานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะได้ 10 คะแนนถ้าทำงานมา 2-5 ปี และมากกว่า หกปีได้ 15 คะแนน

นอกจากนี้ถ้าเรียนจบในนิวซีแลนด์จะได้คะแนนเสริมคือ จบปริญญาบัตรใช้เวลาเรียนมากกว่าสองปีได้ 5 คะแนน จบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในนิวซีแลนด์ได้ 5 คะแนน จบปริญญาโทหรือปริญญาเอก ได้สิบคะแนน และถ้าคู่หมั้นหรือคู่สมรส จบปริญญาตรีหรือสูงกว่าในนิวซีแลนด์จะได้เพิ่ม 20 คะแนน สมมุติว่าคำนวณจากผู้สมัครอายุ 23 ปี จบ ปริญญาตรีในนิวซีแลนด์ทำงานพิเศษสามปีจะได้คะแนนคร่าวๆ 115 คะแนน ซึ่งเพียงพอต่อการได้จับฉลาก และถ้าได้งาน Skill Employment ทำที่ไครส์เชิร์ชจะได้ 175 คะแนน ยิ่งมีคู่หมั้นทำงาน Skill และจบนิวซีแลนด์ คะแนนจะพุ่งไปถึง 215 คะแนน ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การจะทำเรื่องว่าเป็น Skill Employment นั้นอาจจะต้องให้ทนายที่มีประสบ การณ์ดูให้เพราะงานที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ใช่งานที่เห็นง่ายๆ ว่าเป็น Skill Employment มักจะโดนปฏิเสธ ดังนั้นผู้สมัครก่อนที่จะรับงานหรือยื่น EOI มักจะให้ทนายความที่มีประสบการณ์ดูให้ก่อนว่าควรรับงานไหม งานเข้าข่ายหรือไม่ เพราะคนที่ไม่เข้าใจหลายคนเชื่อว่างานบางอย่างเป็น Skill Employment แต่พอยื่นไปแล้วโดนปฏิเสธ

นอกจากนี้คนที่จบนิวซีแลนด์จะได้เปรียบ เพราะว่าเขาสามารถทำงานระหว่างเรียนปริญญาตรี หรือปริญญาโท ทำให้ได้คะแนนโบนัสมาเสริม บวก กับดีกรีที่จบจะได้คะแนนหลายสิบคะแนน นอกจากนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์มีนโยบายคนที่จบมหาวิทยาลัย ในนิวซีแลนด์จะได้รับ Open Work Visa ซึ่งเป็นวีซ่าที่มีอายุหนึ่งปีไว้สำหรับหางาน Skill Employment เมื่อได้งานแล้วก็สามารถโอนขอ PR ได้ทันที เมื่อผ่านขั้นตอน EOI แล้วทาง Immigration จะตรวจ สอบว่าคะแนนถูกต้องก่อนเรียกให้ผู้สมัครส่งเอกสาร ประกอบเพื่อพิสูจน์และยืนยันที่มาของคะแนนทั้งหมด ทั้งใบปริญญา หนังสือผ่านงาน ใบแจ้งการเสียภาษีอากร สัญญาว่าจ้างงาน และถ้ามีคู่หมั้นหรือคู่สมรส ต้องมีหลักฐานการอยู่ด้วยกัน ใบสมรส ใบปริญญาและสัญญาจ้างงานเช่นกัน ส่วนมากเมื่อถึงขั้นตอนนี้ทางทนายความที่มีประสบการณ์จะเป็นผู้ตรวจสอบ เอกสารก่อนส่ง ซึ่งจะช่วยให้รัดกุมมากขึ้น จากนั้นก็เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือรอการอนุมัติเท่านั้น

การขอแบบที่สองหรือ Business Investment Category นั้นมีสิ่งที่ต่างจาก Skill Migrant แน่ๆคือการใช้เงินเพื่อมาลงทุนและการอาศัยที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจควบคู่กับทนายความที่มีประสบการณ์รวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อทำเรื่องในการลงทุน ซึ่งขั้นตอนนี้จะแตกต่างจาก Skill Migrant มากเพราะในระดับ Skill Migrant นั้นผู้สมัครสามารถเสี่ยงดวง ได้จากการจับฉลาก เพราะถ้าไม่ได้ 140 แต่ได้ 100 ยังมีสิทธิวัดดวงได้อีกรอบ

แต่สำหรับ Business Investment Category จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญคือ วงเงินลงทุน ลักษณะ ธุรกิจที่ลงทุน แผนการลงทุนในระยะสามปี แผน การพัฒนาธุรกิจ ขนาดของธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้สมัครจำเป็นต้องใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น Brookfield กับ CBC เพื่อความปลอดภัย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจทำเรื่องเอง ซื้อธุรกิจเอง แล้วไปจ้างทนายราคาถูกที่ไม่มีประสบการณ์ด้าน Immigration มาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายปรากฏว่าเสียเงินไปเป็นสิบล้านบาทแล้วก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะ Business plan ทำเองจะไม่มีความเป็นมืออาชีพ ทนายที่ขาดประสบการณ์ด้านนี้ก็ไม่สามารถช่วยดูเรื่องการลงทุนที่ถูกต้องได้ และจะทำให้เอาเงินมาผลาญอย่างเสียเปล่า เพราะข้อกำหนดในการลงทุนต้องใช้วงเงินระหว่าง 500,000 ถึง 10 ล้านดอลลาร์ หรืออย่างต่ำสิบสองล้านห้าแสนบาทไปจนถึงสองร้อยห้าสิบล้านบาททีเดียว

การลงทุนแบ่งเป็นสามแบบ คือวงเงินต่ำที่ใช้อย่างต่ำห้าแสนดอลลาร์ถึงหนึ่งล้านสี่แสนดอลลาร์ (12 ล้าน 5 แสนถึง 35 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก หรือ SME ในบ้านเรานั่นเอง ข้อกำหนดคร่าวๆ คือการนำเงินอย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์เข้ามาลงทุน โดยมีข้อกำหนดว่า จะต้องเป็นธุรกิจขนาด SME ที่ว่าจ้างลูกจ้างชาวนิวซีแลนด์อย่างน้อยสามคนเต็มเวลา และสัญญาเป็นระยะเวลากว่าสามปี

นอกจากนี้จะต้องมีแผนการดำเนินการทางธุรกิจ แผนการที่จะขยายธุรกิจ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะทำกำไรหลังการลงทุน ซึ่งต้องใช้ Business Consultant ที่มีความรู้ในการร่างให้ และต้องการทนายความรับรองเอกสารต่างๆ พูดง่ายๆ คือต้องลงทุนเปิดหรือเทกโอเวอร์ธุรกิจโดยมีนักกฎหมายรับรองและมีที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจร่างแผนดำเนินการให้ ซึ่งถ้าทำถูกขั้นตอนและวิธีถึงจะได้ PR

การลงทุนแบบที่สองคือใช้เงินตั้งแต่ 1 ล้าน 5 แสนดอลลาร์ถึง 9 ล้าน 5 แสนดอลลาร์ (37 ล้าน 5 แสนบาทถึง 237 ล้านบาท) การขอลงทุนในระดับนี้เรียกได้ว่าโอกาสที่จะได้ PR นั้นสูงมากและข้อบังคับในระดับ SME โดนตัดออกไปคือ ไม่ต้องว่าจ้างลูกจ้างนิวซีแลนด์ ซึ่งการลงทุนในวงเงินนี้จะสามารถลงทุนในหลายๆ แบบ โดยไม่ต้องลงไปทำธุรกิจด้วยตนเอง แต่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์มา บริหาร หรือการลงทุนในหลายๆ รูปแบบ ตรงนี้จะมีผู้เล่นเพิ่มเติมในขั้นตอนการทำเรื่องคือ ธนาคารพาณิชย์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และสำนักงานกฎหมาย เพราะต้องมีการร่างแผนการลงทุน ความเป็นไปได้ในการจ่ายภาษี ที่มาของเงินและการกระจายการลงทุน ซึ่งทำโดยธนาคารและที่ปรึกษาทางธุรกิจ ก่อนที่จะให้นักกฎหมายรับรองและยื่นเรื่อง ซึ่งวงเงินที่ประสบ ความสำเร็จมากที่สุดอยู่ที่ลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ และมีวงเงินสำรองที่ 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนแบบนี้ถ้ามีที่ปรึกษาที่มีความรู้จะทำให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในการลงทุน

การลงทุนแบบที่สามคือวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์ (250 ล้านบาท) ขึ้นไป ซึ่งตรงนี้เป็นการได้ PR ที่ง่ายที่สุด คือการนำเงินก้อนใหญ่มาลงทุนในนิวซีแลนด์ โดยจำกัดวิธีและชนิดการลงทุน ซึ่งโดยมากต้องการทนายทำเรื่อง ที่ปรึกษาเขียนแปลนการลงทุน และธนาคารในการช่วยเหลือ ซึ่งเท่าที่คุณเบนจามินได้เล่าให้ผมฟัง คนที่ใช้วงเงินขนาดนี้มาลงทุนจะสามารถลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลหรือแม้แต่ของธนาคารหรือรัฐวิสาหกิจในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเมื่อทำเรื่องและกระจายซื้อพันธบัตรแล้วก็ยื่นขอสิทธิทำให้ได้ PR ได้ง่ายที่สุด

เมื่อมาดูถึงวงเงินที่ต้องลงทุนแล้วอาจจะดูมากแต่ถ้ามานั่งคิดถึงผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่นิยมส่งบุตรธิดามาเรียนต่อในต่างประเทศแล้ว จะพบว่าที่จริงแล้วถ้าผู้ปกครองส่งลูกของตนเองสักสองคนมาเรียนต่อมัธยมปลายและปริญญาตรีในนิวซีแลนด์จะต้องใช้เงินราวๆ 12 ถึง 15 ล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามองในแง่ธุรกิจแล้วการเอาเงินก้อนดังกล่าวมาลงทุนและสามารถได้เงินจากธุรกิจ เมื่อมาคำนวณจริงๆ แล้วจะพบว่าการทำเรื่องลงทุนแบบ Business Investment Category นั้นถูกกว่าการส่งบุตรธิดามาเรียนต่ออย่างเดียวเสียอีก

เมื่อผมมามองนโยบาย Immigration ของนิวซีแลนด์ ทั้ง Skill Migrant และ Business Investment Category ผมได้ถามตนเองว่าทำไมรัฐบาล นิวซีแลนด์ถึงทำนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ทำให้ผมพบ ว่าเขานำนโยบายดังกล่าวเพื่อพัฒนาประเทศโดยไม่แคร์ต่อกระแสชาตินิยม เพราะการพัฒนาประเทศนั้นแค่ความรักชาติอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องการบุคลากรระดับมันสมองที่เรียกว่า Effective Population เข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาสมองไหลเพราะชาวนิวซีแลนด์เก่งๆ ต่างตัดสินใจไปทำงานในอังกฤษ อเมริกา หรือออสเตรเลีย ทางรัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการลดภาษี ให้ประชาชนระดับมันสมองไม่เดินทางไปจ่ายภาษีที่แพงกว่าในต่างประเทศและอาจจะดึงสมองกลับ

นอกจากนี้ก็ต้องดูดสมองจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ประเทศเจริญขึ้น ซึ่งถ้ามองไปทั่วโลกก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในอเมริกาหรืออังกฤษเอง บุคลากรระดับมันสมองจากทั่วโลกก็เข้าไปพัฒนาประเทศของเขา โดยมีคำพูดกันว่าสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศอินเดียในอังกฤษและอเมริกาคือชาวอินเดียผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรปเป็นผู้นำของโลก ขณะที่ประเทศอินเดียเองยังล้าหลังต่อไป สินค้าส่งออกจากเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ที่อเมริกาและยุโรปต้องการคือ บุคลากรระดับมันสมอง โดยเฉพาะจากไทยและฟิลิปปินส์ที่ไปเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ในองค์กรระดับโลก บางคนเข้าไปอยู่หน่วยงานระดับโลกอย่างนาซ่าล็อกฮีดมาร์ตินส์ ซึ่งสร้างจรวดไปนอกจักรวาล ขณะที่ในประเทศไทยมีแต่จรวดบั้งไฟเอาไว้ยิงเล่นอย่างเดียว ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคที่ประชาชนสื่อสารได้ในโลกที่ไร้พรมแดน

ดังนั้น อาการสมองไหลจึงเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ปัญหาด้วยการปลุกชาตินิยม ในประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดเพราะเรามีคำพูดมานานแล้วว่าคับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก ยิ่งไปปลุกกระแสมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับคนระดับมันสมองจริงๆ ของประเทศเท่านั้น บางทีประเทศไทยอาจจะต้องการดึง มันสมองจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศของเราและอาจจะสกัดการเจริญเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาแบบที่ประเทศพัฒนาแล้วทำอยู่ก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ คุณฉัตรชัย ธนาฤดี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาจากบริษัท Canterbury Business Consultant Corporation (CBC Corporation) และ Mr.Benjamin Lam ทนายความซึ่งเชี่ยวชาญด้านการทำเรื่อง immigration จากสำนักงานทนายความ Brookfield Law ที่ได้ให้ความรู้กับผมอย่างเต็มใจทำให้ผมได้มีโอกาสนำมาเขียนบทความในครั้งนี้

หวังว่าบทความของผมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับนักธุรกิจและนักลงทุนที่สนใจในการที่จะเปิดตลาดการลงทุนในประเทศนิวซีแลนด์ไม่มากก็น้อย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us