Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2529
บนเส้นทางค้าน้ำมันจะหากุหลาบสักดอกไม่ได้สำหรับผู้ค้ารายย่อย !             
โดย ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

   
search resources

ปตท., บมจ.
Caltex
เชลล์แห่งประเทศไทย, บจก.
Exxon Mobil Corporation
Oil and gas




ใครจะคาดคิดบ้างว่า สามบริษัทยักษ์ต่างชาติกับหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่ครองความเป็นจ้าวอยู่ในวงการค้าน้ำมันเมืองไทยมาตลอดอยู่ ๆ จะมาถูกตีท้ายครัวด้วยน้ำมือของบริษัทรายย่อยที่เกิดขึ้นใหม่เพียงไม่กี่บริษัท โดยในครึ่งปี 2529 ที่ผ่านมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายสูญเสียส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไปแล้วถึง 8% คิดเป็นมูลค่าแล้วเกือบ 2,000 ล้านบาท ภายในช่วงระยะ 6 เดือน ที่ผ่านมา ใครต่อใครต่างมองกันว่า หนทางของบริษัทย่อยเหล่านี้นั้น ช่างสวยหรูน่าเดินตาม และหลายคนเชื่อว่าโฉมหน้าของวงการค้าน้ำมัน อาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง...เรื่องเช่นนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ?

ตลาดน้ำมันทั้งหมดในบ้านเรา หากคิดเป็นมูลค่ารวม ๆ กันแล้ว จะมีมูลค่าถึงเกือบแสนล้านบาทต่อปี แต่ตลาดใหญ่โตมหาศาลนี้กลับตกอยู่ในเงื้อมมือการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติเพียงไม่กี่บริษัท หลังจากที่บริษัทซัมมิทออยล์เลิกกิจการและการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกระโดดเข้ามาแล้วก็เหลือเพียง 3 บริษัทฝรั่งกับ 1 รัฐวิสาหกิจนี้เท่านั้นที่ยังคงครองความเป็นจ้าวอยู่

ใครจะปฏิเสธบ้างว่า เมื่อพูดถึงวงการธุรกิจค้าน้ำมันแล้ว ภาพของเอสโซ่ เชลล์ คาลเท็กซ์ และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะไม่ปรากฏอยู่ ณ เบื้องหน้า

นานมาแล้วที่รูปโฉมของผู้ค้าเป็นลักษณะนี้ นานมาแล้วที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้องแย่งชิงตลาดที่ใหญ่โตนี้กับยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาดนี้อยู่

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่ในวงการค้าน้ำมันหรือผู้ที่ติดตามวงการนี้ คงเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง จากการแข่งขันกันอยู่ในแวดวงแคบ ๆ ของเหล่ายักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นมา กลับกลายเป็นมีหลาย ๆ บริษัทเข้ามาแย่งชิงตลาดนี้ด้วย

บริษัทที่เข้ามาใหม่ เป็นบริษัทของคนไทยเชื้อสายจีนที่ส่วนใหญ่เติบโตมาจากการค้าแก๊สแอลพีจี. ที่ใช้กับรถยนต์ในช่วงแห่งยุคน้ำมันแพงเกือบทั้งสิ้น (ดูล้อมกรอบ "ใครเป็นใครในบริษัทรายย่อย")

หากมองกันอย่างเผิน ๆ การแข่งขันก็ดูเหมือนจะกลายเป็นตลาดการแข่งขันอย่างแท้จริงแล้ว แต่หากมองกันอย่างลึก ๆ ล่ะ รูปโฉมวงการนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจริงหรือ?

ปรากฏการณ์ใหม่ของการแข่งขัน เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เมื่อปี 2527 เมื่อบริษัทรายใหม่ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมัน เริ่มต้นด้วยบริษัทน้ำมันอิสานของกลุ่มตระกูลธาระวณิชเป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบอนุญาต โดยอาศัยช่วงสถานการณ์ที่น้ำมันในตลาดโลกมีราคาต่ำลงมาอย่างรุนแรง ประกอบกับการเริ่มถูกจำกัดโควต้าการนำเข้าแก๊ส แอลพีจี. ในปีนั้น ทำให้บริษัทค้าแก๊สทั้งหลายต่างเริ่มมีความรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ และหาทางที่จะดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด

การยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันก็ตามกันมาเป็นขบวน

บริษัทน้ำมันอิสานได้รับใบอนุญาตไปก่อน ดั่งที่ว่า แล้วบริษัทพลังสยามของนกแก้ว ใจยืน บริษัทกรเพชรอิมปอร์ตเอ็กซ์ของนกแก้ว ใจยืนเช่นกันก็ได้รับใบอนุญาตพร้อม ๆ กับบริษัทสยามสหบริการของมงคล สิมะโรจน์ ห้างหุ้นส่วนไทยพานิชบริการ ของกลุ่มคุณ จิวเจริญ, ประสิทธิ์ ศักดิ์วัฒนกำจร, วิรัช วงศาโรจน์เหล่านี้ ได้รับอนุญาตด้วยลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในยุคโกศล ไกรฤกษ์

บริษัทรายย่อยที่กำเนิดใหม่และหันมาค้าน้ำมันกันนี้ ทุกบริษัทต่างค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากปัญหาทางด้านเงินทุนและตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นตลาดที่ใหญ่มากเรียกว่าเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำมันทั้งหมดรวมกันทีเดียว

อย่างไรก็ดี การกำเนิดของบริษัทค้าน้ำมันเหล่านี้ในตอนแรก ๆ นั้น ไม่ได้เป็นที่สนใจของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองความเป็นจ้าวอยู่เดิมเลย เนื่องจากอีกไม่กี่เดือนต่อมาบริษัทรายย่อย ๆ เหล่านี้ต่างก็ถูกถอนใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ไปตาม ๆ กัน ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถสร้างคลังเก็บน้ำมันได้ทันตามที่กฎหมายระบุเอาไว้คือ ภายใน 270 วันหลังจากได้รับในอนุญาต บริษัทที่เหลืออยู่ก็มีเพียงพลังสยาม และบริษัทน้ำมันอิสานเท่านั้นที่ยังวิ่งรอกจนยืนอยู่ต่อไปไม่ได้ กระทั่งสิ้นปี 2527 แล้วบริษัททั้งสองก็คว้าส่วนแบ่งตลาด (MARKET SHARE) ในตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วนี้ไปได้เพียง 0.78 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สำหรับยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์และ ปตท. ก็คงจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กมาก!

แต่พอถึงกลางปี 2528 รมช. กระทรวงพาณิชย์ คือ ประยูร จินดาศิลป์ ในยุคนั้นได้เซ็นใบอนุญาตค้าน้ำมันอีกครั้ง ให้กับบริษัทสยามสหบริการของมงคล สิมะโรจน์ พร้อม ๆ กับบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยามของวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ หรือเสี่ยเล้งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในเขตสมุทรปราการ บริษัทฮาร์ทออย์สยามอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต ของอร่าม กระบวนรัตน์กับ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร บริษัทมั่นคง ของวัฒนา อัศวเหม บริษัทคอสโมออยส์ ของบุญเลิศ ชาติวิวัฒน์พรชัย กับตระกูล ลาภประชาและบริษัท บอสตันออยล์ ของกลุ่ม จรรยาจิตต์ ผึ่งผายงาม

คราวนี้สี่ยักษ์ใหญ่จะไม่เหลือบชายตามองบ้างก็ไม่ได้แล้ว !

เพราะถึงสิ้นปี 2528 บริษัทรายย่อยเหล่านี้คว้าส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวมกันแล้วถึง 3.67 เปอร์เซ็นต์ (ไม่รวมยอดส่วนแบ่งของโมบิลที่อยู่ในตลาดนี้มานาน) โดยแยกแยะแต่ละบริษัทที่ได้ไปดังนี้คือ

บริษัทน้ำมันอิสานคว้าส่วนแบ่งตลาดไปได้มากที่สุดคือ 2.36%

บริษัทพลังสยามได้ 0.65%

บริษัทสยามสหบริการได้ 0.50%

บริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยามได้อีก 0.16%

การที่ต้องสูญเสียตลาดไปถึง 3.67 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอย่างเดียวนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็ก ๆ แน่ เนื่องจากหากคิดเป็นมูลค่าถึง 1,300 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของสี่ยักษ์ใหญ่หดหายไปถึงพันล้านบาทเพียงในปีเดียว

ยิ่งพอเริ่มต้นปี 2529 ไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างร้อน ๆ หนาว ๆ ไปตาม ๆ กัน เมื่อตลาดของบริษัทรายย่อยเติบโตขึ้นเท่าตัว ด้วยการแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไปได้ถึง 7.2% (ไม่รวมโมบิล) ซึ่งถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วก็จะประมาณถึง 712 ล้านบาท ภายในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่บริษัทพลังสยามของนกแก้ว ในยืน ซึ่งมัวแต่วิ่งหนีหนี้แชร์อยู่จะถูกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม บริษัทที่เหลืออยู่ต่างแบ่งมาร์เก็ตแชร์กันไปดังนี้คือ บริษัทน้ำมันอิสานได้ส่วนแบ่งตลาดไป 2.34% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 233 ล้านบาท บริษัทสยามสหบริการได้ไป 2.14% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 213 ล้านบาท บริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยามแซงหน้าทุกๆ บริษัทด้วยการได้ไป 2.66% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าก็จะประมาณ 264 ล้านบาท

ถึงตอนนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องเล็กกระมัง

"เรากระทบกระเทือนมาก ถ้าจะว่าไปเมื่อก่อนเขาคุยได้อยู่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ถึงตอนนี้เขาได้เพิ่มมาอีก 4 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่น้อยนะ มัน 8 เปอร์เซ็นต์เข้าไปแล้ว คุณลองคิดดูน้ำมันโซล่าตลาดของมันเท่ากับครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำมันทั้งหมดทีเดียว มันไม่ใช่น้อยเลย" ประยูร คงคาทอง กรรมการบริหารของบริษัทเอสโซ่บ่นอุบให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นั่นคือปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

"บริษัทรายย่อยอาศัยยุทธวิธีง่าย ๆ ก็คือ ขายให้ถูกกว่าเขาหนึ่ง ประกอบกับความกว้างขวางในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่สอง ขายให้ถูกกว่าก็คือว่า ขายในราคาต่ำกว่าที่บริษัทรายใหญ่เขาขายให้กับปั๊มโดยเน้นที่ขายให้ได้มากกว่าเข้าว่า ก็แค่นี้ คุณลองคิดดู ถ้าคุณเป็นปั๊ม คุณเคยซื้อในราคาเท่านี้กับบริษัทใหญ่เมื่อมีคนมาเสนอกับคุณว่าเอามั้ย ผมขายให้คุณต่ำกว่าเขาสองตังค์คุณซื้อมั้ย ถ้าคุณไม่มีข้อผูกมัดอะไรกับบริษัทใหญ่มากนัก คุณซื้อแหง" ผู้อยู่ในวงการค้าน้ำมันรายย่อยยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

การขายให้กับปั๊มน้ำมันที่เขามีตรายี่ห้ออื่นเช่นนี้ ความจริงแล้วถ้าหากกระทรวงพาณิชย์รับรู้ก็ย่อมมีความผิดตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตค้าน้ำมัน ขายน้ำมันให้กับปั๊มน้ำมันของบริษัทอื่น และบริษัทที่เป็นเจ้าของตรายี่ห้อปั๊มน้ำมันแห่งนั้นก็คงจะไม่ยินยอม

แต่ที่ขายกันอยู่ในทุกวันนี้ บริษัทรายย่อยได้อาศัยเทคนิคนิดหน่อย นั่นก็คือขายผ่านคนกลางที่เรียกกันในวงการค้าน้ำมันว่า "จอบเบอร์"

ในวงการค้าน้ำมันต่างรู้กันดีว่า พวกบริษัทรายใหญ่เองต่างก็ได้อาศัยพวก "จอบเบอร์" เหล่านี้ ตีท้ายครัวบริษัทคู่แข่งตามปั๊มน้ำมันต่าง ๆ มานานแล้ว มันไม่ใช่ว่าเพิ่งเริ่มจะมี

ดังนั้นจะไปโทษใครได้ล่ะก็ในเมื่อบริษัทรายใหญ่ทั้งหลายต่างปูทางไว้เองและสร้างจุดบอดให้มี "จอบเบอร์" ขึ้นมาเอง

พวก "จอบเบอร์" เหล่านี้ แต่เดิมก็เป็นผู้รับบริการขนส่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่พอนาน ๆ เข้ามีลูกค้าตามปั๊มน้ำมันต่าง ๆ มากเข้า ก็กลายเป็นผู้ขายน้ำมันให้กับปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ไปโดยปริยาย ลักษณะการหากิจของ "จอบเบอร์" เหล่านี้ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจอย่างแจ่มชัดขึ้น ก็คือว่ารับซื้อน้ำมันจาก บริษัท ก. แล้วก็เอาน้ำมันนี้ไปขายให้กับปั๊มน้ำมันที่มีตราของบริษัทอื่นด้วยการลดราคาลงมาให้ต่ำกว่าที่บริษัทเจ้าของยี่ห้อปั๊มนั้นขาย

พวก "จอบเบอร์" ใช้วิธีนี้หากินกันมานาน

และเมื่อบริษัทรายย่อยกำเนิดขึ้นมา "จอบเบอร์" ทั้งหลายต่างก็ชอบใจ เนื่องจากสามารถซื้อน้ำมันจากบริษัทเหล่านี้ได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิมเสียอีก

บริษัทรายย่อยทุก ๆ บริษัทต่างก็อาศัยจุดบอดที่มี "จอบเบอร์" นี่แหละเป็นตัวขยายตลาดของตัวเอง

บริษัทสยามสหบริการของเสี่ยหมงเป็นบริษัทหนึ่งที่อาศัยยุทธวิธีเช่นนี้ และทำให้บริษัทมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

"เสี่ยหมงนั้นแกได้จอบเบอร์รายใหญ่รายหนึ่ง คือ ส. สุวรรณ ซึ่งขึ้นชื่อลือชามากในด้านการตัดราคา อย่างจอบเบอร์รายอื่นขายให้ปั๊ม ห้าบาทเก้าสิบตังค์ เขาก็จะขายถูกกว่าหนึ่งตังค์หรือสองตังค์ ปั๊มต่าง ๆ ก็เทมาทางเขามาก" แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เสี่ยหมงหรือ มงคล สิมะโรจน์ ผู้นี้นั้น เป็นที่พูดกันมากในวงการค้าน้ำมันว่าเป็นบุคคลที่เล่นราคาอย่างเดียวจนสามารถดึงจอบเบอร์รายใหญ่ ๆ วิ่งเข้ามาหากันมากประกอบกับคลังน้ำมันของเขานั้นตั้งอยู่ที่ราษฎร์บูรณะทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถูกกว่าของบริษัทอื่น ๆ เมื่อขนน้ำมันลงทางใต้ มงคล สิมะโรจน์ จึงได้ลูกค้าในแถบ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี เหล่านี้มากกว่ารายอื่น ๆ

ทางด้านบริษัทรายย่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อาศัยการตัดราคาเป็นกลยุทธ์หลักแม้ในปัจจุบันจะมีการพยายามที่จะรวมตัวกันของกลุ่มบริษัทรายย่อยเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องมาตัดราคากันเอง แย่งชิงจอบเบอร์กันเอง แต่ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก

"ในการประชุมกันแต่ละครั้ง เสี่ยหมงแกส่งลูกน้องมาประชุมทุกที พอเราตกลงกันว่า เอาล่ะนะต่อไปนี้เราอย่ามาตัดราคากันเองเลยนะ แบ่งกันไปเลยนะตลาดใครตลาดมัน อย่ามาฟัดกันเอง เราร่วมกันไปฟัดกับบริษัทใหญ่อย่างเดียวจะดีกว่า ลูกน้องของเสี่ยหมงเขาก็ตอบ โอเค. โอเค. ทุกที แต่พอไปปฏิบัติ เสี่ยหมงกลับทำอีกอย่างหนึ่งก็เลยยืนราคาใดราคาหนึ่งไม่ได้เสียที"

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การแข่งขันของบริษัทรายย่อยเหล่านี้พูดไปแล้ว ก็เป็นลักษณะแย่งกันกัดก้อนเค้กที่บริษัทใหญ่ถืออยู่ในมือนั่นเอง แย่งกันมาก้อนเค้นก็ย่อมหดหายไปมาก เพราะต่างฝ่ายต่างดิ้นรน และเป้าหมายก็คือปั๊มน้ำมันของบริษัทใหญ่เกือบทั้งสิ้น

แต่บริษัทน้ำมันอิสานดูจะโชคดีเป็นที่สุด เพราะเป็นบริษัทแรกที่เริ่มค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เมื่อตอนที่บริษัทน้ำมันอิสานเริ่มค้าน้ำมันดีเซลนั้นยังไม่มีใครสนใจมากนัก จอบเบอร์จำนวนมากจึงเทมาที่น้ำมันอิสานแห่งเดียว ทำให้ช่วงที่ผ่านมาบริษัทน้ำมันอิสานมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก กัดก้อนเค้กแต่ละคำจึงได้แต่คำใหญ่ แต่ในปัจจุบันก้อนเค้กที่เคยได้ กลับถูกแย่งชิงโดยบริษัทย่อยด้วยกันเอง บริษัทน้ำมันอิสานเองจึงพยายามอย่างมากที่จะตกลงกับบริษัทรายย่อยอื่น ๆ เพื่อตกลงแบ่งตลาดกันและยืนราคาใดราคาหนึ่ง ซึ่งคู่หูของบริษัทน้ำมันอิสานก็คือบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม ของเสี่ยเล้งหรือวรวิทย์ วีรบวรพงศ์

"เสี่ยเล้งแกมองว่าถ้ารายย่อยยังแข่งขันกันอย่างนี้ ผลประโยชน์มันก็จะตกไปอยู่ที่จอบเบอร์หมด แต่ถ้ารายย่อยช่วยกันยืนในราคาเดียว ต่ำกว่ารายใหญ่นิดหน่อยจอบเบอร์ก็ต้องวิ่งมาหา"

แหล่งข่าวในกลุ่มบริษัทรายย่อย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เสี่ยเล้งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ผู้นี้ จึงไปได้ดีกับบริษัทน้ำมันอิสานของกลุ่มตระกูลธาระวณิช แต่จากการที่เสี่ยเล้งเองมักจะยืนยันกระทำในสิ่งที่ตัวเองคิดนี้ ผลที่ออกมาก็คือการขายของเสี่ยเล้งนั้นไปได้ช้ามากกว่ารายย่อยอื่น ๆ แม้ว่าตามตัวเลขในสามเดือนแรกของปีนี้ ยอดขายของเสี่ยเล้งจะดีกว่ารายอื่น ๆ ก็ตาม

ทางด้านบริษัทใหญ่ทั้งหลาย ได้แต่ยืนมองกันตาปริบ ๆ ต่างก็ไม่พอใจในการกระทำของรายย่อยเหล่านี้ หลายบริษัทพยายามที่จะหาทางแก้เผ็ด และลดอัตราการเติบโตของตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ เพราะถ้าหากขืนยังปล่อยไปเช่นนี้ ตลาดของตัวเองต้องหดหายมากกว่านี้แน่

"คาลเท็กซ์ดูจะเสียหายมากที่สุดเนื่องจากให้ส่วนลดกับปั๊มและจอบเบอร์น้อยกว่าเพื่อน รองลงมาก็เห็นจะเป็น ปตท. เนื่องจากการทำงานด้านการขายของ ปตท. เองยังหละ ๆ หลวม ๆ" ทำกันแบบข้าราชการ เอสโซ่จะแข็งที่สุด เชลล์เองก็สู้ไม่ได้"

"คาลเท็กซ์นั้น ตั้งแต่ได้ปั๊มน้ำมันของซัมมิทเข้ามาแล้ว การคอนแทคกับปั๊มน้ำมันค่อนข้างอ่อนและกำลังความสามารถของคาลเท็กซ์เองเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่อื่น ๆ แล้ว ยังสู้เขาไม่ได้ คาลเท็กซ์จึงเสียหายมากที่สุด หลุดเยอะเลย"

แหล่งข่าวในวงการค้าน้ำมันกล่าววิจารณ์

ดู ๆ แล้วเส้นทางสายนี้จะสดสวยและงดงามสำหรับบริษัทรายย่อย ลงทุนไม่มากนัก ไม่ต้องสร้างปั๊มเอง เพียงแต่สั่งน้ำมันเข้ามา อาศัยปั๊มของบริษัทอื่นขายเท่านั้นเอง แค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว

แต่คนในวงการค้าน้ำมันในกลุ่มของบริษัทรายย่อยเองหลายกลุ่มกลับไม่มองเช่นนั้น

ยิ่งในช่วงเวลานี้ บริษัทรายใหญ่ทั้งหลายต่างเริ่มตื่นตัวขึ้นมามากแล้ว ต่อไปขนมเค้กที่เคยแย่งกันแทะนั้นคงจะไม่ง่ายนักแน่

"เราจับตามองเขาอยู่ทุกวันในตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง? เขาขายราคาเท่าไร ? กำไรเท่าไหร่? แต่เราก็ไม่ใช่ว่าคิดจะฆ่าเขาให้ตาม ไม่ใช่นะ ถึงแม้เราจะเป็นบริษัทใหญ่มีทุนมาก แต่เราก็ไม่อยากลดราคาลงไปหั่นแหลกให้เขาอยู่ไม่ได้ แต่เราอยากขอร้องนะ ถ้าจะขายก็ควรจะแข่งขันวิธีเดียวกันกับเรา ในแบบวิธีเดียวกัน ไม่ใช่ว่าสั่งน้ำมันเข้ามา แล้วก็สูบใส่รถ แล้วก็เอาไปขายตามปั๊มต่าง ๆ ของเรา ที่เราลงทุนเอาไว้"

ประยูร คงคาทอง กรรมการบริหารของเอสโซ่บอกผ่าน "ผู้จัดการ"

เป็นที่น่าจับตามองมากว่า บริษัทรายใหญ่นั้นจะมีการตอบโต้อย่างไร? โดยไม่ให้เสียเหลี่ยมของตนเอง และยังทำกำไรได้อยู่เช่นเดิม ซึ่งความจริงถ้าจะว่ากันไปแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่นั้นได้เปรียบในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน นับตั้งแต่เรื่องราคาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า บริษัทรายย่อยสามารถซื้อน้ำมันในราคาที่ถูกกว่าบริษัทใหญ่ เนื่องจากซื้อน้ำมันจากตลาดจรซึ่งขณะนี้มีราคาจมดิ่งลงไป เหลือเพียง 7 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น

"คุณอย่าลืมนะว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เขาซื้อน้ำมันจากบริษัทแม่เข้ามาขายดังนั้นผมจึงไม่เชื่อหรอกว่า ในความเป็นจริงแล้วนั้น บริษัทใหญ่จะเซ่อพอที่จะซื้อน้ำมันในราคาสูงกว่าที่ขายกันอยู่ในตลาดจร เราเชื่อหลักฐานจากสัญญาซื้อขายเหล่านั้นไม่ได้หรอก"

นักสังเกตการณ์ผู้หนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดเราเห็น ๆ กันอยู่ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้านั้นบริษัทรายใหญ่ได้เปรียบมาก ประการแรกคือด้านภาษี

แม้ว่าทางรัฐบาลจะกำหนดอัตราการเก็บภาษีออกมาเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็กขนาดไหนก็ตาม แต่ช่องโหว่อันนั้นก็ยังมี

บริษัทรายใหญ่นั้นจะอาศัยช่องอันนี้ได้เช่น กรณีการเสียภาษีสำหรับสต็อคสำรองน้ำมัน ที่กฎหมายระบุเอาไว้ว่าทุกบริษัทจะต้องมีสต็อคน้ำมันสำรองเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของที่ค้า

บริษัทใหญ่จะทำให้มีสต็อคสำรองโดยไม่ต้องเสียภาษี ก็โดยอาศัยระบบการหมุนเวียนของการนำเข้าที่มีจำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การนำเข้ามาแต่ละล็อตนั้นมันเป็นจำนวนมาก เมื่อเรือเข้ามาถึงหน้าท่า เขาก็จะสูบน้ำมันใส่ถังเก็บไว้ เก็บใส่ถังนี้ไว้แล้วก็จะแจ้งขอเลื่อนการเสียภาษีสำหรับสต็อคนี้เอาไว้ก่อน ด้วยข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งกว่าจะเดินเรื่องเสียภาษีได้ก็กินเวลา 3 วันเข้าไปแล้ว หรือบางทีก็ดึงเรื่องไว้ถึง 7 วัน และรัฐเองก็เคยยอมให้ถึง 1 เดือนหรือเดือนกว่าก็เคยมี พอเอาน้ำมันใส่ถังนี้เต็มก็เลื่อนเสียภาษีเอาไว้ก่อนดั่งที่ว่า เลื่อนไปเลื่อนไปจนถึงนี้หมด เรือลำใหม่เข้ามา ก็จะสูบถังใหม่ ไม่สูบเข้าถังเดิม ถังใหม่ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีสำหรับสต็อคสำรอง แต่จะมาเสียเอาลำที่หนึ่ง ด้วยระบบการหมุนเวียนกันแบบนี้ทำให้ผลประโยชน์ตกเป็นของบริษัทรายใหญ่อยู่ฝ่ายเดียวในขณะที่บริษัทรายย่อยไม่อาจจะทำเช่นดั่งนี้ได้

"เราไม่มีเครดิตพอกับทางรัฐบาลที่จะขอเลื่อนการเสียภาษีเหล่านี้ได้ การนำเข้ามาในแต่ละล็อตมันน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริษัทรายใหญ่" แหล่งข่าวในบริษัทรายย่อยบอก

สต็อคสำรองของบริษัทรายย่อยนั้นโดยทั่วๆ ไปจะประมาณ 6 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น และในแต่ละปีก็นำเข้ามาหลาย ๆ ครั้ง เมื่อคิดเฉลี่ยแต่ละเดือนจึงน้อย การที่จะไปขอให้ทางรัฐเลื่อนการเสียภาษีให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่ง ก็คือจากการที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายปิโตรเลียมแห่งชาติได้กำหนดราคาการนำเข้าด้วยการคิดราคาเฉลี่ยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยใช้ราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์มาเป็นเกณฑ์ คณะกรรมการนโยบายฯ จะเก็บราคาถั่วเฉลี่ยในแต่ละวันที่สิงคโปร์ดังที่ว่านำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วคำนวณราคาถั่วเฉลี่ยของสัปดาห์แรกออกมา ราคาที่ถั่วเฉลี่ยออกมานี้ รัฐบาลก็จะถือเป็นราคานำเข้าของทุกบริษัทในสัปดาห์ที่สองราคานำเข้านี้ก็จะมีผลต่อการคำนวณเงินชดเชยหรือเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมัน

ซึ่งเงินสมทบกับชดเชยก็จะแตกต่างกันตรงที่ว่า ถ้าราคาเมืองนอกสูง รัฐก็จะชดเชยเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ค้า แต่ถ้าราคาเมืองนอกต่ำ รัฐก็จะเก็บเงินบางส่วนเข้ากองทุนน้ำมัน เมื่อรัฐใช้ตัวนี้เป็นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่าราคาเมืองนอกนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลง ๆ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคานำเข้าทุกสัปดาห์ก็จริง แต่ก็จะช้ากว่าทางต่างประเทศอยู่ประมาณเกือบสัปดาห์ เนื่องจากรัฐบาลต้องเก็บราคาถั่วเฉลี่ยของสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันอาทิตย์ เก็บไปเรื่อย ๆ จนถึงวันศุกร์แล้วก็นำเอามาเป็นราคาของสัปดาห์ถัดไป

ซึ่งการคิดราคานำเข้าสัปดาห์ละครั้งเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์และข้อได้เปรียบให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะในกรณีที่น้ำมันในต่างประเทศลดต่ำลงมา เนื่องจากราคาน้ำมันถึงเวลามันลงแล้วมันก็จะไหลแบบลาดชันขึ้นไป จากลักษณะนี้ เช่นสมมติว่า น้ำมันราคาลงวันที่หนึ่งราคา 14 เหรียญ พอถึงวันที่เจ็ดราคา 12 เหรียญต่อบาร์เรลเมื่อคิดเฉลี่ยแบบคร่าว ๆ ราคาก็จะเท่ากับ 13 เหรียญต่อบาร์เรลรัฐบาลก็จะใช้ราคานี้เป็นราคาน้ำมันที่นำเข้าในสัปดาห์ถัดไป เมื่อรู้แล้วว่าเขาใช้ตัวนี้เป็นราคานำเข้า ถึงวันจันทร์บริษัทสามารถเช็คได้ว่าสามารถซื้อได้ในราคา 12 เหรียญต่อบาร์เรลแล้วบริษัทก็สามารถเอาน้ำมันเข้ามาได้ทันก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงอัตรานี้ในอีก 4-5 วันข้างหน้า และเมื่อถึงภาคปฏิบัติจริง ๆ บริษัทก็สามารถเอาเข้ามาได้ทันจริง ๆ ผลก็คือรัฐบาลใช้ 13 เหรียญเป็นตัวคิดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ราคาที่บริษัทซื้อจริงกลับเป็น 12 เหรียญ

การที่บริษัทซื้อน้ำมันด้วยราคา 12 เหรียญต่อบาร์เรลนี้ เมื่อคิดเป็นเงินบาทก็จะเท่ากับ 12 เหรียญคูณด้วย 26.50 บาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญเท่ากับ 26.50 บาท) หารด้วย 159 ลิตร (เพราะ 1 บาร์เรลจะประมาณเท่ากับ 159 ลิตร) คิดแล้วก็จะเท่ากับ 2 บาทต่อลิตร แต่ที่เราสมมติกันว่ารัฐบาลคิดในราคา 13 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น เมื่อบวกลบคูณหารกันแล้วก็จะเท่ากับ 2.17 บาท

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าบริษัทสามารถนำน้ำมันเข้ามาได้ทันก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงราคาการนำเข้า ด้วยราคาที่ซื้อคือ 12 เหรียญ บริษัทก็จะประหยัดเงินไปแล้วถึง 17 สตางค์ต่อลิตร และเงินจำนวนนี้ก็ไม่น้อยเลย เนื่องจากการนำเข้าของบริษัทรายใหญ่โดยเฉลี่ยจะตกประมาณครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านลิตร เมื่อรวมหลาย ๆ ครั้งแล้วก็มหาศาล และนี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่บริษัทรายใหญ่ได้เปรียบ เนื่องจากบริษัทรายใหญ่สามารถนำน้ำมันเข้ามาได้เพียงในช่วงระยะเวลาแค่ 3-4 วัน ในขณะที่บริษัทรายย่อยต้องใช้เวลาถึง 8-10 วัน

"บริษัทรายย่อยกว่าจะเปิดแอลซีได้กว่าจะคอนแทคกับต่างประเทศได้ และถ้าไม่มีเรือของตนเองก็ต้องให้ต่างประเทศเขาหาเรือให้อีก แค่นี้ก็กินเวลาเข้าไปถึง 4 วันแล้ว และกว่าเรือจะเดินทางออกจากท่า ก็ต้องผ่านพิธีทางศุลกากร ผ่านร่องน้ำอะไร ๆ ก็เสียเวลาเข้าไปอีก 1 วันเต็มรวมแล้วก็เป็น 5 วันเข้าไปแล้ว และระยะการเดินทางอย่างเร็วที่สุดกว่าจะถึงหน้าท่าบ้านเรา ก็อีก 4 วัน รวมแล้วก็จะประมาณ 9 วัน เกินหนึ่งสัปดาห์เข้าไปแล้ว มันไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ที่แค่ยกหูโทรศัพท์ทางโน้นก็จัดให้ทันที ประสิทธิภาพของเรืออะไรก็ดีกว่ามาก"

แหล่งข่าวรายหนึ่งแฉ

ซึ่งนั่นเป็นกรณีที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงแต่ถ้าเป็นกรณีที่น้ำมันขึ้นราคา ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน วิธีการมันก็จะกลับข้างกัน รายใหญ่เขาก็จะยืดระยะการเดินทางของเรือออกไป ไม่รีบร้อนที่จะนำเข้า

อย่างไรก็ดี การที่จะนำน้ำมันเข้ามาก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงราคาการนำเข้านั้น นอกจากต้องอาศัยประสิทธิภาพการคอนแทคกับต่างประเทศที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยการติดต่อกับคนในราชการที่ดีด้วย เนื่องจากจะสามารถทำให้รู้ราคาที่ทางรัฐบาลกำหนดนั้นได้เร็ว และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ต้องมีเงินหรือไฟแนนซ์ที่จะรับประกันในช่วงการเปิดแอลซี.นั้นไว้พร้อม มิฉะนั้นแล้วการเปิด แอลซี. กว่าจะทำได้ก็จะช้าและไม่ทันการ

เสี่ยเล้งหรือวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยามเข้าใจถึงประเด็นนี้ดี ได้บทเรียนมาหลายบทแล้ว

"เสี่ยเล้งแกไม่ค่อยคล่องในการติดต่อกับคนในหน่วยงานราชการนัก ในขณะที่คนอื่นเขารู้กันภายในวันศุกร์ แต่แกกลับไปรู้เอาวันจันทร์หรือไม่ก็วันอังคารทุกทีคือช้ากว่าเขา และก็เลยนำเข้ามาไม่ทัน"

คนใกล้ชิดเสี่ยเล้ง เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

อย่าว่าแต่เสี่ยเล้งเลยแม้แต่มงคล สิมะโรจน์ คนดังก็เถอะ เสียหายจากประเด็นนี้หลายล็อตเหมือนกัน

แต่ในกรณีของมงคล สิมะโรจน์นี้ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากพื้นฐานของเขาเป็นคนที่อยู่ในแวดวงราชการมาก่อน ทางด้านเรือของเขาก็มีพร้อม คือมีถึง 5 ลำ ซึ่งโดยปกติทั่วไปคนที่เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากการค้าน้ำมันเหล่านี้ และมีเรือของตัวเองพร้อมอยู่แล้ว เขาจะให้เรือรออยู่ที่สิงคโปร์อยู่แล้ว แต่มงคลเองกลับทำไม่ทัน

"ที่ผ่านมาสองล็อต แกเจ๊งทั้งสองล็อต เอาเข้ามาไม่ทัน ปัญหามันเป็นปัญหาทางด้านการเงินของแกเอง ทำให้กว่าจะเปิด แอลซี. ได้ต้องใช้เวลาหลายวัน แล้วกว่าจะเอาเข้ามาได้ก็ไม่ทัน"

แหล่งข่าวรายหนึ่งไขข้อข้องใจ

นั่นคือข้อได้เปรียบที่บริษัทรายใหญ่มีต่อรายย่อย และเป็นข้อได้เปรียบเพียงในบางประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้เห็นกันชัด ๆ เท่านั้น

ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าเชลล์ เอสโซ่หรือคาลเท็กซ์ก็ตาม หากจะลดราคาลงมาสู้กับบริษัทรายย่อย ๆ เหล่านี้จริง ๆ แล้ว เขาก็ย่อมจะทำได้

ทุกฝ่ายต่างก็เฝ้ามองกันว่า ยักษ์ใหญ่จะทำอย่างไร กับตัวเล็ก ๆ แสบ ๆ เหล่านี้

ในช่วงที่หลาย ๆ คนกำลังเฝ้ามองก็มีข่าวออกมาจากแวดวงในการค้าน้ำมันว่า เชลล์เริ่มเปิดฉากโต้กลับอย่างเงียบ ๆ โดยการสนับสนุนให้ อร่าม กระบวนรัตน์ เจ้าของบริษัท ฮาร์ทออยล์สยามอิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตลงมาค้าน้ำมันเช่นเดียวกับบริษัทรายย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลงมาฟัดกับรายย่อย แย่งมาร์เก็ตแชร์คืน

"ข่าวนี้มีทางเป็นไปได้มาก เพราะว่าคุณอร่าม แกเคยเป็นจอบเบอร์รายใหญ่ให้กับแชลล์มาก่อน และถ้าเราสาวให้ดี ๆ จะเห็นว่า ถังน้ำมันที่บริษัทฮาร์ทออยล์เช่านั้น มันก็คือถังของเชลล์นั่นเอง และความสนิทสนมระหว่างเชลล์และคุณอร่ามนั้นมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยแกยังเป็นนายกสมาคมผู้ค้ำน้ำมันอยู่"

แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

อย่างไรก็ดี ข่าวนี้ก็เพียงออกมาในช่วงหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว ก็ได้ข่าวออกมาว่า เชลล์ได้เลิกล้มโครงการนี้ไป เนื่องจากเกิดความไม่ไว้วางใจ อร่าม กระบวนรัตน์ ขึ้นมา และไม่มีความมั่นใจว่าจะควบคุมหรือคอนโทรลคนผู้นี้ได้

"คุณอร่าม แกไปดึงพันเอกประจักษ์ เข้ามาลงทุน ในนามบริษัทฮาร์ทออยล์ ซึ่งเขาว่ากันว่า จะนำน้ำมันเข้ามาจากไนจีเรียซึ่งพันเอกประจักษ์แกมีพรรคพวกอยู่ที่นั่น การดำเนินงานของบริษัทก็อาศัยเงิน อาศัยพรรคพวกประจักษ์ทั้งนั้น ทำไปทำมาอร่ามแกไม่มีเงิน ประกอบกับเชลล์เลิกสนับสนุนขึ้นมา ทางไนจีเรียเขาก็ไม่มั่นใจขึ้นมาว่าบริษัทนี้จะไปรอด เขาก็ไม่รอ ก็หลุด พรรคพวกคุณประจักษ์เขาก็เสีย คุณประจักษ์ก็หงุดหงิดพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร"

คนใกล้ชิดกับ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เมื่อเชลล์เลิกสนับสนุน บริษัทฮาร์ทออยล์สยามอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตก็ไปไม่รอดแล้วก็ถูกถอนใบอนุญาตไปเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถสร้างคลังเก็บน้ำมันได้ทันตามที่กฎหมายระบุ

ทางด้านของเชลล์เอง เมื่อเลิกล้มโครงการนี้ไปแล้ว ก็ได้ดำเนินการด้วยการพยายามที่จะเลิกขายกับจอบเบอร์ พยายามที่จะตัดคนกลางให้เหลือน้อยลง แล้วก็ขายให้กับปั๊มต่าง ๆ ให้มาก รักษาการคอนแทคกับปั๊มของตัวเองให้ดีที่สุดเอาไว้

เอสโซ่และคาลเท็กซ์ก็ทำเช่นนี้

กลยุทธ์เช่นนี้ก็คือการตั้งรับ นั่นเองเพียงแต่ทำให้มันแข็งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

และโดยสภาพความเป็นจริงทั่ว ๆ ไป บริษัทรายย่อยทั้งหลายก็คงจะไม่มีการเติบโตมากกว่านี้อีกแล้ว นอกจากจะหาทางร่วมลงทุนกับบริษัทต่างประเทศที่ยังไม่มีใบอนุญาตนำเข้าของตัวเอง เช่นโมบิล ซึ่งมีข่าวว่าจะร่วมกับมงคล สิมะโรจน์

"ที่เสี่ยหมง แกออกข่าวว่าจะร่วมกับโมบิล และแกจะขอขยายการนำเข้าเพิ่มเป็นอีกเท่าตัวนั้น คนในวงการเขาอ่านข่าวแล้วเขาก็หัวเราะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เสี่ยหมงแกช่างฝันไปหน่อย"

แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

"ถ้าเสี่ยหมงแกจะค้า แกก็ค้าได้อยู่แค่นี้แหละ ปีละประมาณแสนตันเท่านั้น ถ้ามากกว่านี้แกก็จะสะดุดแล้ว บริษัทใหญ่เขาก็มองออก คนในวงการเขาก็หัวเราะว่าแกเพ้อที่คิดจะไปจอยกับโมบิล แล้วจะสร้างปั๊มของตัวเองขึ้นมาเอง"

"ความจริงบริษัทโมบิล ก็ไม่ได้ไปไหน ก็ยังอยู่ในประเทศไทย และยังค้าขายอยู่ ถ้าเขาคิดที่จะมาลงทุนให้ใหญ่กว่านี้ ในเมืองไทย เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปร่วมกับเสี่ยหมงหรอก"

แหล่งข่าวในวงการค้าน้ำมันอีกผู้หนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

และถ้าดูกันจริง ๆ แล้วก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้ามองไปถึงผู้ที่จะอนุญาตให้ คือหน่วยราชการ คงเป็นไปไม่ได้ที่ หน่วยงานทางด้านราชการจะสนับสนุนให้มีบริษัทข้ามชาติขึ้นมาอีก ก็ในเมื่อรัฐบาลอุตส่าห์สร้าง ปตท. ขึ้นมาคานกับ 3 ยักษ์ใหญ่เอาไว้แล้ว ก็ไม่น่าเป็นไปได้ ที่โครงการชิ้นนี้ของ มงคล สิมะโรจน์ จะประสบความสำเร็จ

และถ้ามองดูบริษัทอื่น ๆ ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า กำลังจะไปไม่รอดกันทั้งนั้น

บริษัทเจริญมั่นคง ของวัฒนา อัศวเหมก็กำลังจะถูกถอนใบอนุญาต หลังจากขออนุญาต เลื่อนการสร้างคลังเก็บน้ำมันมาสองครั้งแล้ว วัฒนา อัศวเหม คนดังผู้นี้ ตอนแรกก็หวังมากว่าจะได้น้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการดึงประเทศจีนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งตอนแรก ๆ ท่าทางจะไปได้ดี แต่ต่อมาทางจีนเขาก็ถอนตัว ก็เลยสะดุด

"ทางจีนแดง เขาเข้ามาแบบมีเงื่อนไขว่า ถ้าลงทุนแล้วต้องไม่ขาดทุน แล้วเขาก็ไปจ้างบริษัทคนไทยบริษัทหนึ่งให้วิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนแล้วเมื่อผลมันออกมาว่าไม่น่าลงทุน เขาก็ถอนตัว"

แหล่งข่าวในวงการค้าน้ำมันบอก

เรื่องเหล่านี้มาแฉเอา ก็หลังจากทางจีนกลับไปแล้ว วัฒนา อัศวเหมก็ได้สร้างโครงการขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง คือโครงการสร้างโรงงานแยกไขน้ำมัน ที่อ.ฝาง โดยยื่นเรื่องขอกู้เงินเพื่อโครงการนี้ต่อแบงก์ต่าง ๆ ทางแบงก์ก็ไม่ยอมปล่อยให้

ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในวงการค้าน้ำมันว่า วัฒนา อัศวเหม เป็นหนี้แบงก์ต่าง ๆ อยู่มาก และยื่นโครงการนี้เข้าไปให้กับแบงก์เพื่อสร้างความสามารถชำระหนี้เก่า

"ซึ่งถ้าวัฒนา อัศวเหม ผู้นี้ เป็นเช่นนี้แล้วก็แสดงว่าเขาไม่มีเงินแล้ว เพราะการลงทุนค้าน้ำมันมีเงินซัก 30 ล้านก็ค้าได้แล้ว คนอย่างระดับวัฒนานั้น เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าเงินระดับนี้สำหรับเขานั้น ไม่น่ามีปัญหา"

คนในวงการค้าน้ำมันกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อีกบริษัทหนึ่งซึ่งได้รับใบอนุญาตแต่ดูไม่สู้ว่าจะไปทางไหนก็คือ บริษัทคอสโมออยส์ ของบุญเลิศ ชาติวิวัฒน์พรชัยกับกลุ่มตระกูลลาภประชา

การคอนแทคกับต่างประเทศ และการค้าขายของบริษัทนี้ ติดตะกุกตะกักมากยอดการจำหน่ายในแต่ละเดือนแทบจะมองไม่เห็น และรู้ ๆ กันว่า เจ้าของและผู้ถือหุ้นกำลังจะขายกิจการ และขณะนี้ก็มีการวิ่งตามบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังยื่นขอใบอนุญาตเพื่อขายบริษัทของตนเองที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วด้วยราคา 27 ล้านบาท แต่ยังไม่มีบริษัทใดยอมรับ

ส่วนบริษัทบอสตันออยล์ ของจรรยาจิตต์ ผึ่งผายงาม ก็ถูกถอนใบอนุญาตไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยตัวเจ้าของไม่ได้โวยวายและอิดเอื้อนใดๆ เซ็นชื่อยอมรับการตรวจของเจ้าหน้าที่แต่โดยดี

ปัญหาที่บริษัทรายย่อยทั้งหลายประสบกันมากก็คือ สถานภาพทางการเงินดังที่กล่าวมาแล้ว

"บริษัทใหญ่นั้น เขามีความยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้แบงก์ต่าง ๆ ไม่กล้าให้การสนับสนุนบริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้ บริษัทเหล่านี้จึงโตยาก ผู้ที่เกิดใหม่ถ้าไม่ใหญ่จริง หรือทางด้านต่างประเทศไม่ให้การสนับสนุนจริง ๆ แล้วล่ะก้อโตยาก"

คำพูดของผู้ที่อยู่ในวงการค้าน้ำมันรายย่อย ที่กล่าวกับ "ผู้จัดการ" นี้ น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุด

และเมื่อไหร่ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง บริษัทรายย่อยเหล่านี้ก็คงจะกระอักเลือดกันอีกครั้ง แล้วก็เลือนหายไป

บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างก็เฝ้ารอคอยให้ราคาน้ำมันขึ้นมาอีกครั้ง

และตัวแปรอีกตัวหนึ่ง ที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นตัวแปรที่ใครต่อใครว่ากันว่า กุมชะตาวงการค้าน้ำมันที่แท้จริงนั่นก็คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (โปรดดูล้อมกรอบ "ปตท. กรรมการที่ลงมาชกกับนักมวย") บริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลที่ถูกปล่อยให้ลงมาฟาดฟันกับเขาด้วยในวงการธุรกิจนี้ บทเรียนรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) เมื่อต้นปี 2528 นั้น ใครจะปฏิเสธบ้างว่าการห้ามนำเข้าครั้งนั้น ไม่ได้เกิดมาจากการผลักดันของ ปตท. แล้วใครจะคาดการณ์ต่อไปได้บ้างว่า ปตท. จะเล่นบทอย่างไรอีก ในวันข้างหน้า?

ทั้งหมดนั้นคือ ความไม่สะดวกและอุปสรรคทั้งหลายแหล่ในเส้นทางสายนี้ ก่อนหน้านั้นสามยักษ์ใหญ่อาจจะเคยเปิดช่องโหว่ให้บริษัทรายย่อยเจาะตลาดขอองตัวเองได้ รัฐวิสาหกิจอาจจะเคยเปิดช่องทางให้บริษัทรายย่อยกำเนิดได้ แต่ในวันข้างหน้าล่ะ

วงการค้าน้ำมัน จึงยังคงพอดูออกว่าลึก ๆ ของมันจริง ๆ แล้ว ยักษ์ใหญ่ก็ยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ ผู้ที่เข้ามาใหม่ก็เป็นเพียงเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว โฉมหน้าของวงการนี้จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง...เชื่อเถอะ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us