|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จีนควรตระหนักว่า ตลาดเสรีจำเป็นต้องมีเสรีทางความคิด
การปะทะกันระหว่าง Google กับจีน อาจนับเป็นศึกช้างชนช้างครั้งแรกในยุคศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้ Google และจีนต่างเป็นผู้ที่เปลี่ยนเกมการแข่งขันในตลาดที่สำคัญหลายตลาด ด้วยความได้เปรียบทั้งด้านเทคโนโลยี ความสามารถในการผลิตและพลังด้านวิศวกรรม ทำให้ Google สามารถรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่าง e-mail, GPS, smart phone ระบบปฏิบัติการเครื่องคอมพกพาขนาดเล็ก netbook โดยมิพักต้องแยแสกับการแข่งขันและสามารถกอบโกยกำไรได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนทำให้คู่แข่งต้องท้อใจไปตามๆ กัน
แต่ขณะนี้ หนึ่งในบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก กำลังขู่ที่จะถอนตัวออกจากหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับ Google และอนาคตของ Google แต่ยิ่งก่อให้เกิดคำถามที่ใหญ่กว่านั้นกับจีนว่า จีนจะสามารถเป็นประเทศที่ร่ำรวย โดยปราศจากความมีเสรีได้หรือไม่
นักประวัติศาสตร์นำโดย David Landes จาก Harvard บอกว่า เป็นไปไม่ได้ โดยพยายามชี้ว่า ในขณะที่ทั้งการปฏิรูปศาสนาคริสต์ (Reformation) และการตรัสรู้ (Enlightenment) ของศาสนาพุทธกำลังถึงคราวเสื่อม แต่สิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย กลับกำลังรุ่งเรือง ซึ่งยิ่งช่วยส่งเสริมการปฏิวัติของทุนนิยม หลายศตวรรษที่ผ่านมาชาติพัฒนาแล้วต่างใช้ประชาธิปไตยนำเศรษฐกิจ และก่อร่างสร้างตัวเองให้กลายเป็นอาณาจักรการค้าที่เป็นประชา ธิปไตย ได้แก่ อังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ต่อด้วยสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 20 หากปราศจากอิสระทางความคิด ก็ยากที่จะมีตลาดเสรีได้ และในทางกลับกันก็เช่นกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนา เศรษฐกิจ โดยที่ยังคงควบคุมการไหลของข้อมูลข่าวสาร นักประวัติศาสตร์โลกบอกว่า ประเทศที่พยายามจะทำอย่างนั้นจะไม่เติบโตและจะล่มสลายไป อย่างเช่นอดีตสหภาพโซเวียต หรือไม่เช่นนั้นพลังของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก็จะนำไปสู่การเปิดเสรีทางการเมืองในที่สุด เหมือนกับที่เกิดในชิลี
ตลอด 30 ปีมานี้ จีนได้ทดลองโมเดลใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน คือการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนน่าหวาดเสียว แต่ขณะเดียว กันกลับควบคุมเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำพาประเทศเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความน่าประทับใจทางด้านเทคโนโลยี ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินและตึกระฟ้าใหม่ๆ ที่สวยงามทันสมัย จีนเบียดขึ้นแท่นแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะตลาดรถที่ใหญ่ที่สุดในโลกและกำลังจะเบียดแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนดึงดูดบริษัทยักษ์ ใหญ่ของอเมริกาให้เข้าสู่ตลาดจีน แม้ว่าพวกเขาต้องยอมแลกด้วยการ ยอมรับผู้ร่วมทุนที่เป็นบริษัทท้องถิ่น ยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และต้องยอมเรียนรู้วัฒนธรรมการค้าของที่นี่ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้บริหารอาจถูกรัฐบาลจับขังคุกได้ เหมือนที่เกิดกับบริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ Rio Tinto ของออสเตรเลีย สุดท้ายยังต้องยอม มองข้ามการขาดเสรีภาพทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ General Motors หรือ KFC จึงขายเพียง "สินค้า" ในจีน ไม่ใช่ "หลักการ" แต่พวกเขาก็ต้องยินยอม เพราะหากไม่เข้าไปในตลาดจีน คู่แข่งจากประเทศ อื่นๆ ก็จะเข้าไปแทน
และ Google ก็เข้ามาด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันนั้น แต่ Google ไม่เหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของอเมริกาที่ประสบ ความสำเร็จในจีน เพราะธุรกิจของ Google คือขายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โมเดลธุรกิจของ Google จำเป็นต้องมีเสรีภาพของการเชื่อมต่อ และเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้บริษัทสื่อ และบริษัทที่เกิดขึ้นยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งรวมถึง Google ด้วย ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในจีน
Google มีส่วนแบ่งตลาดในตลาด search engine ของจีนเพียง 14.1% เท่านั้น เทียบกับ Baidu เว็บ search engine ของจีนที่ครองส่วนแบ่งถึง 62.2% นอกจากนี้ Google ยังต้องกลายเป็นเสมือนกับผู้สมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลจีน ในการทำสิ่งที่ขัดแย้งกับปรัชญาธุรกิจของตัวเอง (คำขวัญของ Google คือ "ไม่เป็นคนไม่ดี") จากการที่ Google ยอมตัวอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของรัฐบาลจีน
ขณะที่ Google สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ ด้วยซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบเปิด แต่จีนกลับเชื่อว่า การที่จีนร่ำรวยขึ้นมา ได้นั้น เป็นเพราะการควบคุมประชาธิปไตยอย่างเข้มงวด ผู้นำของจีนเชื่อว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จีนจะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชากร ที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน และแตกต่างกันถึง 56 เชื้อชาติ รวมทั้งการพัฒนาที่ยังไม่ทั่วถึง หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งเสรี มีสังคม และการเมืองที่เสรี หายนะจะต้องเกิด กับจีนแน่นอน จีนยังมองว่า ประชาธิปไตยคือตัวขัดขวางการเติบโต ผู้นำ จีนพยายามจะชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้ ไต้หวันและอินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตที่ลดลงทันที หลังจากเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จีนเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจและประสิทธิภาพ
แม้จีนจะมีวัฒนธรรมบริโภคนิยมและมีกลไกตลาดเหมือนกับสหรัฐฯ แต่จีนไม่เคยยอมปล่อยมือจากการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจข้อมูลข่าวสารอย่างเว็บ search engine มีการพยายามล้วงเจาะข้อมูลบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ในจีน โดยใช้ อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ วิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งจีนแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ยิ่งทำให้จีนเชื่อมั่นในโมเดลของตนมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนปฏิเสธว่า การกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนควบคุมอินเทอร์เน็ตเป็นคำกล่าวหาที่เกินจริง จีนเพียงแต่เซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เช่นเรื่องลามกอนาจาร ข้อมูลที่ยุยงให้เกิดการเกลียดชังทางเชื้อชาติ และการไม่ยอมให้มีข้อมูล ที่ละเมิดรัฐธรรมนูญจีนและล้มล้างรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ต่างๆ ของจีน มักกำหนดขึ้นตามอำเภอใจ คลุมเครือและกลับไปกลับมาอยู่เสมอ
จีนเปิดเผยอย่างภูมิใจว่า นับถึงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 338 ล้านคน ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 700 ล้านคน และผู้ใช้ blog อีก 180 ล้านคน เป็นจำนวนผู้ใช้ที่มากพอที่จะสร้างธุรกิจได้ด้วยตัวเอง โดยที่จะมีหรือไม่มี Google ก็ได้
แต่จีนจะยังสามารถเติบโตต่อไป โดยไม่ยอมให้ Google หรือบริษัทอื่นๆ ที่คล้าย Google มีเสรีภาพในจีนได้จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกอย่างก็ยังไปได้สวยในจีน อย่างไรก็ตาม จีนควรรู้ไว้ว่า มีข้อควรระวังอยู่ 2 ประการ
ประการแรก จีนยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยจริงๆ เศรษฐกิจของจีนในขณะนี้ เพิ่งเทียบได้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในยุคปี 1900 เท่านั้นเอง โดยขณะนี้จีนมี GDP ต่อหัวประมาณ 5,000 ดอลลาร์ แรงงาน 40% อยู่ในภาคเกษตร เพิ่งจะพัฒนาอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองมาได้เพียง 30 ปี เส้นทางเศรษฐีของจีนจึงยังต้องใช้เวลาเดินทางอีกยาวไกล
ประการที่สอง การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายชาวนาจาก ภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างงานในจีนในอนาคตจะขึ้นอยู่กับภาคบริการ และธุรกิจที่อยู่ในภาคบริการส่วนใหญ่ของจีน คือบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อ ล้วนแต่ยังอยู่ในมือของรัฐ แต่การจะทำให้เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่บนภาคบริการ สามารถจะเจริญรุ่งเรืองได้ โดยที่ยังคงควบคุมการติดต่อสื่อสารและการแสดงออก คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ยาก จีนจึงกำลังเจอปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่ต้องการจะปิด กั้นข้อมูลข่าวสาร ด้วยเหตุผลด้านเสถียรภาพทางการเมือง แต่การทำเช่นนั้นก็จะเท่ากับเป็นการปิดกั้นการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาภาคบริการ
และนี่ก็คืออุปสรรคที่แท้จริงต่ออนาคตการพัฒนาของจีน ระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นแบบใด เผด็จการหรือประชาธิปไตย ต่างก็สามารถจะสร้างความเจริญภายนอกได้ไม่ต่างกัน โซเวียตเคยถึงขนาดสร้างอาวุธนิวเคลียร์และดาวเทียมได้ จีนก็เช่นกัน สามารถสร้าง "ฮาร์ดแวร์" ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสุดยอด อย่างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง และรถไฟความเร็วสูง แต่ขณะนี้จีนกำลังต้องการ "ซอฟต์แวร์" ที่ยอดเยี่ยม เพื่อที่จะสามารถพัฒนาประเทศ ต่อไปได้ในอนาคต จีนจึงจำเป็นจะต้องมีวัฒนธรรมที่สนับสนุนการไหลเวียนอย่างเสรีของ "ข้อมูลข่าวสาร" ไม่ใช่เพียงการไหลของ "สินค้า" ที่จับต้องได้เท่านั้น
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
|
|
|