Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2553
TPMA กับกฎหมายผูกขาดตลาดยา             
 


   
www resources

โฮมเพจ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน

   
search resources

Pharmaceuticals
สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน




การเสวนาในหัวข้อ "สิทธิในการเข้าถึงยา ปัญหาที่รอการแก้ไข" ซึ่งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักวิชาการและนักกฎหมายจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงว่าด้วยการสาธารณสุขไทยอย่างน่าสนใจ เพราะเนื้อหาหลักของเวทีเสวนาดังกล่าวมุ่งเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 61 และ 62 ที่ล้วนแต่มีลักษณะเอื้อต่อการผูกขาดตลาดยาขององค์การภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเอกชนหมดโอกาสพัฒนา และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาคุณภาพของประชาชนในวงกว้าง

ภก.เชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เห็นได้จากที่หลายรัฐบาลนำนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพมาใช้ในการหาเสียง แต่สิ่งที่จะสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงยาอย่าง ถ้วนหน้าในเชิงของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกำลังเดินไปสู่ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

"มูลค่าของการพึ่งพาและนำยาเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้นทุกปี ไม่ใช่เพียงยาสิทธิบัตรที่เราไม่สามารถผลิตได้เองเท่านั้น ยังหมายความรวมถึงยาหมดสิทธิบัตรด้วยที่ต้องนำเข้า แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในการพึ่งพาตนเองทางด้านยาด้อยลงทุกวัน"

ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศมากถึง 165 โรงงาน และมีการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องอยู่มากกว่า 20,000 คน

"ปัญหาเกิดจากการผูกขาดของภาครัฐ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13 ซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการผลิตและจำหน่ายยาโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 61 และ 62 ที่โรงพยาบาลรัฐบาลจำเป็นต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมก่อน ถือเป็นความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดยุคการค้าเสรี"

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศบางรายสามารถผลิตยาที่ดีมีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกกว่าองค์การเภสัชกรรม โดยที่ยาบางชนิดมีราคาถูกกว่า 20-30% การที่องค์การเภสัชกรรมอ้างว่ามีภาระในการตรึงราคาและขายยาในราคาถูกบางรายการ

แต่ผลประกอบการขององค์การเภสัชกรรมในปี 2550 กลับปรากฏว่ามีกำไรมากกว่า 1,100 ล้านบาท และในปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมยังคงมีการวางตลาดผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ตามบัญชียาหลักแห่งชาติออกมา แข่งขันกับผู้ประกอบการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สิทธิพิเศษไม่ต้องขึ้นทะเบียนยากับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถออกวางตลาดได้เร็ว กว่าผู้ประกอบการฯ ประมาณ 2 ปี ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการฯ จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาสูตรตำรับ และขอขึ้นทะเบียนก่อนวางจำหน่ายประมาณ 4-5 ปี

ภายใต้เหตุผลดังกล่าวทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์ยาของผู้ประกอบการฯ ที่วางจำหน่ายและขายให้กับหน่วยงานภาครัฐอยู่ก่อนแล้วถูกองค์การเภสัชกรรมผูกขาดและแย่งตลาดไปโดยไม่มีการแข่งขันจึงทำให้ภาคเอกชนได้รับความเสียหาย

"องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรที่มีศักยภาพและมีความสำคัญมากแต่ควรดำเนินงานในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เช่น การเข้าถึงยาวัคซีน ยาเอดส์ หรือการผลิตยา CL เพราะผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่สามารถผลิตได้ แต่บทบาทขององค์การ เภสัชกรรมกลับพัฒนาศักยภาพโดยมุ่งเน้นการผลิตยาแข่งกับภาคเอกชน เพื่อสร้างผลกำไรเป็นหลัก" ภก.เชิญพรกล่าวย้ำ

ขณะที่เจษฎ์ โทณะวณิกประธานสถาบันเพื่อความเป็นเลิศ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า การเข้าถึงยาควรหมายถึงการเข้า ถึงยาเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ส่วนยาแผนปัจจุบัน ที่พูดถึงตาม พ.ร.บ.2510 ถ้ารัฐผลิตได้เพียงพอ ภาคเอกชนก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ที่สำคัญคือข้อกำหนดที่โรงพยาบาลรัฐบาลจะต้องซื้อยาจากหน่วยงานของภาครัฐก่อน ซึ่งข้อกำหนดนี้ถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือการจำกัดการแข่งขัน ดังนั้นการที่จะให้ภาคเอกชนเติบโตเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังมีข้อกฏหมายที่เอื้อต่อผู้ผลิตยา ในต่างประเทศอีกด้วย

"ถ้าต้องการทำให้อุตสาหกรรมเจริญเติบโตและต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ยา CL บาง ประเภทที่องค์การเภสัชกรรมใช้วิธีนำเข้า อาจเปลี่ยนมาให้เอกชน เป็นผู้ผลิตตามคำสั่งของรัฐ เพราะผู้ประกอบการไทยหลายรายก็มีศักยภาพ บริษัทยาข้ามชาติมีขนาดใหญ่มีเงินทุนมหาศาล เทคโนโลยีสูงมาก แต่ถ้าบริษัทในประเทศไทยรวมตัวกันหลายบริษัท ก็อาจจะพอแข่งขันกับต่างชาติได้"

ปัญหาในลักษณะดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอุตสาหกรรมยาเท่านั้น เพราะ อุตสาหกรรมที่สามารถทำกำไรได้ หน่วยงานภาครัฐมักจะใช้หน่วยงานเหล่านี้เป็นกลไกในการแสวงหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งองค์การ เภสัชกรรมก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รับการกำหนดให้มีบทบาทตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไว้ที่การผลิตยาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา และแสวงหาเงินเข้ารัฐ

"หน้าที่ของรัฐควรปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ควรแข่งขันกับเอกชน ถ้าเอกชนเอากำไรกับประชาชนมากเกินไป รัฐถึงเข้าแทรกแซง ไม่ควรทำการค้าแข่งกับเอกชน" ดร.เจษฎ์ กล่าว

ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ชี้ว่า ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทยคือ กฎระเบียบของภาครัฐที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดทางการค้า จะส่งผลในหลายด้าน เช่น ผู้บริโภคต้องซื้อยาแพงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่มีกลไกในการควบคุมราคา ผู้ผูกขาดเองขาดแรงจูงใจในการพัฒนาจากการ แข่งขัน และส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์ระดับ 11 อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ในแง่ของแพทย์คือการที่ประชาชน ถูกผูกขาดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นับเป็นมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้รัฐบาลกำลังจะล้มละลาย สาเหตุหลักมาจากยาหลาย ประเภท เช่น ยาจำเป็นต่อชีวิตที่มีปัญหาเป็นยากลุ่มที่พัฒนาจาก ยาต้นตระกูลที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งแพงกว่ายาต้นตระกูลที่สามารถผลิตเองได้ภายในประเทศหลายสิบเท่า แต่คนไทยไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วให้ผลแทบไม่ต่างกัน

ปัญหาประการต่อมาคือยาบรรเทาอาการที่ไม่ได้ชะลอและรักษาโรค หลายชนิดราคาแพงมาก ยาตระกูลนี้เป็นยาสำคัญ ที่ทำให้งบของประเทศล้มละลาย โดยเฉพาะงบการรักษาของข้าราชการ อีกส่วนหนึ่งคือยาบางชนิดที่อยู่ในบัญชียาหลักของชาติ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในการรักษา บางชนิดก็มีพิษ แต่ก็ยังถูกใช้อยู่ สุดท้ายคืออาหารเสริมที่เทียบเท่ากับยา หลายชนิดที่ถูกพิสูจน์ว่ามีประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับเอางานวิจัยจากวารสารที่ผลิตเองมาอ้างอิง

"การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มจากการจำกัดว่ายาอะไร ที่จำเป็นต่อประเทศ หมอในประเทศไทยมีอิทธิพลต่อการใช้ยาของประชาชน แต่กลับเสียรู้ต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการไม่หา ความรู้ของหมอ เชื่อผู้แทนยา หรือมีผลประโยชน์สีเทา ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวการควบคุมระบบการใช้ยาของประเทศไทย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

แม้ว่าบทบาทขององค์การ เภสัชกรรมจะตกเป็นเป้าที่ถูกกล่าวหาในเวทีเสวนา แต่ดูเหมือน ทุกฝ่ายยังเชื่อว่าประเทศไทยยังคงต้องมีองค์การเภสัชกรรม เพราะ สำคัญมากต่อการยกระดับการพึ่งพาตนเองทางด้านสาธารณสุขและมาตรฐานอุตสาหกรรมยาไทย

"เอกชนผู้ผลิตยาในประเทศพร้อมจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนี่คงเป็นเวลาที่แต่ละฝ่ายต้องมาหารือกันว่าจะเดินไปในทิศทางใด เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาชน สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม แต่จะสะท้อนในด้านนโยบายเพื่อประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไข" เชิญพรสรุป

ถึงที่สุดแล้ว ข้อเรียกร้องของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาคงไปไกลเกินกว่าการแก้ไขกฎหมาย หากแต่กำลังแสวงหากลไกที่จะกำหนดทิศทาง มาตรฐานและนโยบายสาธารณสุข เพียงแต่จะมีหน่วยงานใดออกมาขานรับข้อเสนอเหล่านี้หรือไม่เท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us