Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2529
บางกอกโพสต์ได้ผู้สืบทอดแล้วถึงเริ่มช้า ยังดีกว่าไม่เริ่ม             
 


   
search resources

โพสต์ พับลิชชิง,บมจ
เท่ห์ จงคดีกิจ
Newspaper
ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล




บางกอกโพสต์นั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อย่างเดอะเนชั่นแล้ว ก็จะพบว่าไม่ค่อยจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าในหลายยุคจะยังเหนือกว่าเดอะเนชั่นก็เถอะ "ผู้จัดการ" ได้เคยพูดไว้แล้วว่าบางกอกโพสต์ยุคนี้ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะแรงกระทบจากภายนอกและภายใน ซึ่งก็เป็นจริงเพราะบางกอกโพสต์ในวันนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงและได้ตัวทายาทไปแล้ว

สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในไทย 2 ฉบับอย่าง "บางกอกโพสต์" และ "เดอะเนชั่น" นั้น ก็น่าที่จะต้องแสดงความขอบใจซึ่งกันและกัน

"เดอะ เนชั่น" ควรจะขอบใจ "บางกอกโพสต์" ในการที่ "บางกอกโพสต์" ช่วยเป็นเบ้าหลอมให้ในยุคก่อตั้งเมื่อ 15 ปีที่แล้วควรจะขอบใจที่ "บางกอกโพสต์" ไม่มีนโยบายส่งเสริมคนไทยเจ้าของถิ่นขึ้นมานั่งในตำแหน่งบริหารระดับสูงและก็ควรขอบใจการที่ "บางกอกโพสต์" หยุดนิ่งไม่ยอมปรับตัวเอง อันเป็นช่องว่างที่ทำให้ "เดอะ เนชั่น" แทรกตัวเข้ามาในตลาดได้สำเร็จ

ส่วน "บางกอกโพสต์" เองก็ควรจะขอบใจ "เดอะ เนชั่น" ด้วย

เพราะการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดเวลาเพื่อแย่งชิงตลาดผู้อื่นของเดอะ เนชั่น" นั้น ถ้าจะว่าไปก็คือแรงผลักดันอย่างรุนแรงที่ทำให้หนังสือพิมพ์ที่ยึดแนวการบริหารที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมมาก ๆ เช่น "บางกอกโพสต์" จำเป็นต้องปรับตัวเองครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

และสิ่งนี้ก็คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะเป็นผลพวงของการแข่งขันอย่างเสรีของระบบ

ก่อผลสะเทือนให้เกิดแรงบีบเค้นจากภายใน

จนในที่สุดต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

"บางกอกโพสต์" ในช่วงเดือนมีนา-เมษา 29 นี้ เป็น "บางกอกโพสต์" ที่ร้อนรุ่มเสียยิ่งกว่าอากาศของฤดูร้อนในช่วงนั้นเสียอีก

มีข่าวลือเกิดขึ้นกับ "บางกอกโพสต์" หลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่กระทบรุนแรงที่สุดก็คือเรื่องที่พูดกันว่า "บางกอกโพสต์" กำลังจะถูกเทคโอเวอร์จากบางกลุ่ม

ส่วนคู่แข่งอย่าง "เดอะ เนชั่น" ก็กำลังรณรงค์ตัวเองอย่างหนัก โดยใช้วาระการก่อตั้งครบรอบ 15 ปีเป็นหัวหอกของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

"ช่วงนั้นเดอะ เนชั่น เขาทำโปรโมชั่นก่อนหน้าวันเกิดถึงเกือบ 3 เดือน มีจัดนิทรรศการเรื่องกรุงเทพฯ ในอดีตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็อัดโฆษณาทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ตัวเองตลอดจนโทรทัศน์อย่างหนัก เป็นการครบรอบการก่อตั้งที่ทั้งพิเศษและพิกล แต่ก็ได้ผล เพราะคนก็ฮือฮามาก" นักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโสคนหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับคนของ "บางกอกโพสต์" แล้ว ภาพการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของ "เดอะ เนชั่น" เมื่อเปรียบเทียบกับอาการสงบนิ่งของ "บางกอกโพสต์" ก็ดูเหมือนจะมีหลายคนที่ทนไม่ได้ เพราะถ้าจะเป็นการ "สงบเพื่อสยบทางการเคลื่อนไหว" ก็คงจะไม่ใช่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้แน่ อีกทั้งก็ "สงบ" มานานเต็มที่แล้วยังไม่เห็น "สยบ" ใครได้สักที

พนักงานระดับหัวหน้าฝ่ายหลายคนก็เลยต้องทำหนังสือถึงบรรณาธิการ-เท่ห์ จงคดีกิจ เรียกร้องขอให้ "บางกอกโพสต์" ปรับปรุงตัวเอง

และจะเป็นด้วยหนังสือฉบับนี้หรือไม่ก็เหลือเดา การสับเปลี่ยนตำแหน่งภายในกองบรรณาธิการก็เกิดขึ้นอย่างไม่กระโตกกระตาก พร้อมทั้งการตระเตรียมปรับโฉมหน้าใหม่ของหนังสือพิมพ์

ด้วยแรงกดดันทั้งจากคู่แข่งและคนภายในนั้น สำหรับผู้บริหารของ "บางกอกโพสต์" ไม่ว่าจะเป็น เอียน ฟอเซท ตัวกรรมการผู้จัดการบริษัทโพสต์พับลิซซิ่ง เจ้าของ "บางกอกโพสต์" ตลอดจนบรรณาธิการเท่ห์ จงคดีกิจ ก็ดูเหมือนจะต้องเลือกการตัดสินใจทำอะไรบ้างสิ่งบางอย่างแล้ว เพราะในเดือนเมษายนทั้ง 2 คนก็จะต้องไปนั่งตอบคำถามให้กับคณะกรรมการบริษัทซึ่งจะจัดประชุมประจำปีโดยที่ผู้บริหารเองก็คงไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า ผลการประชุมจะออกมาในรูปใด

และบางสิ่งบางอย่างทั้งเอียน ฟอเซทและเท่ห์ จงคดีกิจ ได้ตัดสินใจทำก่อนหน้าการประชุมบอร์ดก็เห็นจะมี 2 สิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด

สิ่งแรก "บางกอกโพสต์" ได้เพิ่มเซ็คชั่นที่ 3 ขึ้นเป็นส่วนที่เรียกว่า "OUT LOOK"

สิ่งต่อมาก็คือการรับผู้บริหารเพิ่มอีก 2 คน

ดร. ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล ถูกรับเข้ามาประจำ "บางกอกโพสต์" ในตำแหน่งบรรณาธิการร่วม (ASSOCIATED EDITOR)

และประสิทธิ เมฆวัฒนา เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแทนเดวิด โทมัส ชาวอังกฤษ ที่ออกเพราะครบเกษียณ (เดวิด โทมัส อายุ 60 เริ่มงานกับ "บางกอกโพสต์" ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเมื่อปี 2524)

"ใครจะพูดวิจารณ์อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับคนที่พอจะรู้จักจารีตประเพณีของบางกอกโพสต์แล้ว ก็จะทราบได้ว่า ทั้งการเพิ่มเซ็คชั่นใหม่และการรับผู้บริหารคนไทยไม่ใช่ฝรั่งเข้ามาในตำแหน่งหัวใจทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควรแล้ว.." คนเก่าของโพสต์ให้ความเห็นอย่างเปิดอก

"แต่มันก็ฟ้องอยู่ในตัวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น บางกอกโพสต์ไม่เคยนึกคิดถึงเรื่องตระเตรียมคนกันเลย พอจะทำให้เรียกว่าจวนเจียนคือเอียน ฟอเซทอายุ 64 ส่วนเท่ห์ก็ 69 เข้าไปแล้ว..." คนนอกหลายคนวิจารณ์

และที่แน่นอนคือ มิใช่ว่าเมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแล้วทุกอย่างจะลงเอยอย่างไรหอมหวานเสมอไป

เซ็คชั่นใหม่ที่เชื่อ "OUT LOOK" นั้นก็ยังต้องรอผลว่าผู้อ่านจะนิยมมากน้อยแค่ไหน

ส่วนทายาทใหม่ก็จะต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเองให้ประจักษ์ชัด

ประสิทธิ เมฆวัฒนา นั้นปัจจุบันอายุ 37 ปีมีท่วงทำนองเป็น "มาร์เก็ตติ้ง แมน" เต็มตัว

เพียงแต่ไม่เคยผ่านงานหนังสือพิมพ์มาก่อนเท่านั้น

ประสิทธิ์โดยประวัติส่วนตัวเรียนชั้นประถมที่อัสสัมชัญ บางรัก ไปเรียนชั้นมัธยมที่เซนต์ สตีเวน คอลเลจ ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปี แล้วไปอยู่สหรัฐอเมริกาอีก 10 ปี เต็ม ๆ ซึ่งระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ ประสิทธิได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นโอเรกอนสเตรท และปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ

เขากลับเมืองไทยเมื่อปี 2517 จับงานชิ้นแรกด้านการตลาดสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักกับบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ดูแลสินค้าสบู่และตอนหลังก็มีหลอดไฟฟ้าเป็นหลัก

ในเดือนกันยายน 2519 เมื่อเบอร์ลี่ยุคเกอร์ซื้อกิจการนมอลาสกา ประสิทธิก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทอลาสกา มิลค์ อินดัสทรีย์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงเดือนธันวาคม 2523 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2524 ภายหลังการลาออกจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์แล้ว ประสิทธิได้เข้าไปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทฟูดส์ โปรเซสซิ่ง กิจการร่วมทุนระหว่างไทยออสเตรเลียที่ปัจจุบันกลายเป็นของออสเตรเลียฝ่ายเดียวไปแล้ว

"ที่นี่ก็มีผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารว่างอย่างพวกมันมัน เป็นต้น" ประสิทธิ เมฆวัฒนา บอกกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับเล่าว่าทำงานอยู่ที่นี่จนถึง 2528 เท่านั้น

จากนั้นเขาเข้ารับตำแหน่ง VICE PRESIDENT ทางด้านการตลาดอีกช่วงสั้น ๆ กับธนาคารเอเชีย ก่อนที่จะลาออกในเดือนมีนาคม

และเข้าร่วมงานกับโพสต์พับลิชชิ่งในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเมื่อเดือนเมษายน 2529 นี้เอง

"งานของผมก็จะเป็นงานทางด้านการตลาดของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเครือซึ่งนอกจากบางกอกโพสต์ ก็มีบางกอกเวิรล์ สติวเดนท์ เป็นต้น งานนั้น 2 งานใหญ่ ๆ ที่ต้องรับผิดชอบก็คือทางกลุ่มผู้อ่านที่เราจะต้องสำรวจศึกษาแล้วพยายามขยายจำนวนผู้อ่าน แล้วอีกงานก็คือการขายโฆษณาซึ่งผู้จัดการโฆษณาจะขึ้นตรงกับผม.." ประสิทธิ ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ"

สำหรับประสิทธิแล้ว งานที่โพสต์นี้เขารู้สึกว่า "มันเป็นงานที่ท้าทายมาก…"

"คุณก็ทราบใช่ไหมว่า มันเป็นงานที่จะต้องมีสินค้าออกสู่ตลาดทุกวัน มีเดดลายน์ทุกวัน มันไม่เหมือนสินค้าอื่น ๆ ที่เดดลายน์อาจจะมีเวลาให้คุณได้เตรียมตัวหรือแก้ไขอะไรได้ แต่ไม่ใช่งานหนังสือพิมพ์และนี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับผม" ประสิทธิเปิดใจ

และถึงจะเป็นงานแขนงใหม่ แต่ประสิทธิก็เชื่อว่าเป็นงานที่เขาสามารถเรียนรู้ได้

"ผมสบายใจที่ได้ทำงานร่วมกับมิสเตอร์เอียน ฟอเซท และผมคงจะได้เรียนรู้อย่างมากจากเขา เอียน ฟอเซท เป็นคนที่หาได้ยากยิ่ง เขายืนอยู่บนจุด 1 จุด อย่างคนที่รู้จริง คือธุรกิจและงานกองบรรณาธิการ" ประสิทธิ เปิดเผยพร้อมกับกล่าวยกย่องความสามารถของกรรมการผู้จัดการ

ซึ่งก็น่าจะต้องยกย่องเพราะเอียน ฟอเซท นั้นนอกจากจะเป็นคนที่เก่งจริง ๆ แล้ว นอกเหนือสิ่งอื่นใด เขาก็คือผู้ตัดสินใจสำคัญในการเลือกประสิทธิเข้าร่วมงาน ก่อนจะเสนอชื่อไปให้คณะกรรมการบอร์ดอนุมัติ

เอียน ฟอเซท ได้ตัดสินใจให้บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งสำรวจและส่งรายชื่อผู้บริหารที่จะเอาเข้ามาแทนเดวิด โทมัสผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปีนี้แล้ว ซึ่งประสิทธิ เมฆวัฒนา ก็เป็น 1 ในจำนวนไม่กี่คนที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอชื่อเข้าไปและหลังการสัมภาษณ์โดยเอียน ฟอเซท ประสิทธิก็ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแทนเดวิด โทมัส

"เอาเป็นว่าเราอย่าคุยกันในประเด็นนี้เลย..." ประสิทธ ออกตัวเมื่อ "ผู้จัดการ" ขอให้พูดถึงขั้นตอนการเข้ามาในโพสต์

ส่วน ดร. ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล ก็เข้ามาเพราะเอียน ฟอเซท จะต่างกับประสิทธิก็ตรงที่ผู้ที่ตัดสินใจร่วมกับเอียน ฟอเซท ก็คือ เท่ห์ จงคดีกิจ ด้วยอีกคน

ดร. ปรัชญาทวี นั้นรู้จักถึงขั้นสนิทสนมกับทั้งเท่ห์และเอียน ฟอเซท มานับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะเท่ห์เองก็เห็น ดร. ปรัชญาทวีมาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ด้วยซ้ำ

ดร. ปรัชญาทวี เป็นบุตรชายของ ทวี ตะเวทิกุล ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ร่วมกับ แมค โดนัลด์ ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ และอีกหลายคนที่ส่วนใหญ่จะมีอดีตเป็นเสรีไทยหรือคนสนิทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)

ทวี ตะเวทิกุล เสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์ "กบฏวังหลวง" โดยถูกยิงที่จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะนั้นลูกชายของเขา-ดร. ปรัชญาทวี เพิ่มจะมีอายุได้เพียง 1 ขวบ

"ผมก็เพิ่งจะทราบเรื่องราวของท่านในภายหลัง เพราะก่อนหน้านั้นครอบครัวก็พยายามปิดบังและจากเรื่องราวที่หลาย ๆ คนเล่าให้ฟัง ผมรู้สึกภูมิใจในตัวท่านมาก ท่านเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ เป็นนักการทูต เป็นนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเสรีไทยที่ช่วยกู้ชาติ เป็นนักธุรกิจที่เคยทำธุรกิจนำเข้าส่งออก เป็นนักการธนาคารเคยทำงานเป็นผู้บริหารธนาคารเอเชียและเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ชีวิตผมนั้นเป็นเหมือนท่านได้สักอย่างสองอย่างก็คงจะดีมากแล้ว" ดร. ปรัชญาทวี กล่าวถึงบิดาด้วยน้ำเสียงชื่นชม

ดร. ปรัชญาทวี เป็นศิษย์เก่าเซนต์คาเบียลและโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ชีวิตวัยเด็กเป็นชีวิตที่ค่อนข้างจะระเหเร่ร่อน อยู่กับญาติบ้างอยู่กับยายบ้าง ไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัว และด้วยการใช้ชีวิตที่ไม่อยู่ติดบ้านก็ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปเสี่ยงโชคที่สหรัฐฯ ด้วยเงินในกระเป๋าเพียง 2,000 เหรียญ

ด้วยความมานะพยายามและการเป็นคนเรียนเก่งเป็นทุนเดิม เขากลายเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยที่เรียนตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีจนได้ปริญญาเอกโดยไม่ต้องควักเงินส่วนตัวเลย

"ผมเรียนที่นั่น 3 ปริญญา คือตรีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่โอคลาโฮมาสเตรท แล้วได้โททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เสร็จแล้วก็ไปเรียนที่เนบราสกา ปริญญาเอกสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจ โดยประเทศที่สนใจตอนนั้นก็คือจีนและญี่ปุ่น...." ดร.ปรัชญาทวี เปิดเผยให้ฟัง

ดร.ปรัชญาทวี เรียนและทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่สหรัฐฯ เป็นเวลา 11 ปี ก็เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2519 พร้อมกับภรรยาที่เป็นหลานสาว พล.อ.ท. ประหยัด ดิษยศริน) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลดิษยศริน

ก็เป็นการกลับมาอย่างไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าว่าจะทำอะไร?

เขาตระเวนไปคุยกับหลาย ๆ คนที่เคยสัมพันธ์กับพ่อ

ดร. ป๋วย อึ้งภาภรณ์ ที่ช่วงนั้นเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์และเคยเป็นลูกศิษย์ของพ่อเขา ก็ชักชวนให้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ ระหว่างการตัดสินใจเขาไปเยี่ยมประสิทธิ ลุลิตานนท์กับเท่ห์ จงคดีกิจ ที่บางกอกโพสต์ ดร. ปรัชญาทวี ได้รับข้อเสนอให้เขียนบทความลงบางกองโพสต์ซึ่งเขาก็เขียน จนกระทั่งพิชัย รัตตกุลที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอ่านพบข้อเขียนของเขาเข้า ก็ทาบทามขอให้สมัครสอบเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ

เขาสมัครสอบและก็สอบเข้าทำงานในกรมการเมืองได้เป็นที่ 1 แต่ตอนที่บรรจุนั้นพิชัย รัตตกุลก็ต้องพ้นตำแหน่งไปแล้วด้วยการยึดอำนาจของคณะปฏิรูประหว่างเกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ยุคนั้นเป็นยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มีอุปดิษย์ ปาจริยางกูร เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

"ผมก็อยู่กรมการเมืองได้พักเดียวรัฐมนตรีก็เรียกตัวให้ไปทำงานข้างบนที่สำนักเลขาฯ ผมก็ทำตั้งแต่ประจำสำนักงานจนเป็นเลขานุการรัฐมนตรี 3 ปีกว่ารัฐมนตรีอุปดิษย์พ้นไป รัฐมนตรีสิทธิ เศวตศิลา เข้ามา รัฐมนตรีอรุณ ภานุพงษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วย ซึ่งท่านก็เป็นลูกศิษย์พ่อผมคนหนึ่ง ทีแรกผมก็คิดว่าจะลงไปอยู่ข้างล่างแล้วก็พอดีท่านรัฐมนตรีช่วยอรุณบอกว่าอยู่ช่วย ๆ กันก่อน ผมก็เป็นเลขาฯให้ท่านซึ่งโดยตำแหน่งก็คือผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ก็ต้องอยู่อีก 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ครึ่งไม่ได้ออกไปประจำต่างประเทศเลย.." ดร. ปรัชญาทวี เล่าถึงช่วงชีวิตช่วงหนึ่งในกระทรวงต่างประเทศ

ภายหลังที่อรุณ ภาณุพงษ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ดร. ปรัชญาทวี ก็ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 11 เดือน จากนั้นก็ขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศ

และก็เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนการตัดสินใจลาออกมาร่วมงานกับโพสต์เต็มตัว

"โดยที่ระหว่างทำงานกระทรวงการต่างประเทศก็เขียนบทความส่งมาลงที่โพสต์เป็นประจำ มีนามปากกาว่า สวัสดี..." นักข่าวอาวุโสคนหนึ่งบอก

การเข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการร่วมของ ดร. ปรัชญาทวีนั้น ในแง่ความเป็นมาแล้วก็พูดกันไปหลายทาง ซึ่งทางที่พูดกันมาก ๆ ก็ว่า เท่ห์กับเอียน ฟอเซท เป็นคนไปดึง ดร. ปรัชญาทวีมาด้วยสัญญาข้อตกลงบางประการที่เกี่ยวกับตำแหน่งบรรณาธิการในอนาคต เมื่อเท่ห์ต้องวางมือจากวงการบวกกับค่าตอบแทนที่เกือบถึงหลักแสนบาท

แต่สำหรับ ดร. ปรัชญาทวีเอง "ผมลาออกมาก่อน คือผมคิดว่าจะหยุดพักผ่อนสักพักเนื่องจากเป็นโรคปวดหลังแล้วก็ตกลงไว้กับบริษัทหนึ่งว่าจะเขียนหนังสือให้เขาเล่มหนึ่ง พอคุณเท่ห์ทราบว่าลาออกก็โทรมาคุย แล้วก็นัดทานข้าวกันมีคุณเอียนด้วยอีกคนเป็น 3 คน เราก็คุยกันแล้วผมก็ตัดสินใจมาซึ่งก็ไม่มีสัญญาอะไรอย่างที่ว่านั่นหรอก..."

"สำหรับผมเบื้องหลังการตัดสินใจก็คือ มันเหมือนกับเราได้กลับบ้านเก่ามากกว่า ที่นี่มันไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับผมทางด้านวัตถุหากแต่เป็นทางด้านจิตใจคืออย่างคุณเท่ห์นั้น ก็เห็นผมมาตั้งแต่ผมเล็ก ๆ เห็นแม้กระทั่งตอนที่พ่อผมตายเขาต้องล้มคลุกคลานมามาก เขาเป็นหลักอันหนึ่งของโพสต์ และผมอยากจะพูดว่าเขาได้กลายเป็นสถาบันไปแล้ว" ดร.ปรัชญาทวี กล่าวพร้อมกับยืนยันว่า

"การที่จะไปแทนที่คุณเท่ห์นั้นผมจึงไม่เคยคิด ผมคิดแต่ว่าจะต้องใช้ความสามารถของผมให้เต็มที่ และก็หวังว่าจะเป็นที่พอใจของคณะกรรมการทุกคน..."

ซึ่งก่อนที่จะถึงวันแห่งการแสดงออกซึ่งความสามารถอย่างเต็มที่ของ ดร. ปรัชญาทวีนั้น สำหรับวันนี้ของเขาก็คือการเรียนรู้งานในหน้าที่ของบรรณาธิการจากเท่ห์ จงคดีกิจ

"ผมก็หวังว่าผมจะเรียนรู้ให้ได้เร็วที่สุด.." เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งเท่ห์และเอียน ฟอเซท ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้เพราะสำหรับเท่ห์และเอียนนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทั้งโฉมหน้าของหนังสือพิมพ์และการเสาะหาทายาทผู้จะมาสืบทอดการบริหารต่อไปในอนาคตเขาได้กระทำลงไปแล้ว ซึ่งก็เป็นที่พออกพอใจของบอร์ดเพราะการประชุมบอร์ดก็ไม่มีกรรมการท่านใดติติงให้ทิศทางของการแก้ปัญหาต้องหันเหเป็นอื่น

อาจจะดูสายไปบ้าง แต่ทุกอย่างก็ได้เริ่มกันไปแล้ว

ที่จะต้องเฝ้ารอดูกันต่อไปก็คือผลของการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภายนอกและภายในอาณาจักรแห่งนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us