ทุกคนที่รู้จักประพันธ์ พุกเจริญ มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประพันธ์นั่นเป็นคนประเภท
"ยอมหัก ไม่ยอมงอ" ชนิดที่สุดขั้วจริง ๆ
ประพันธ์ ชอบเล่นกอล์ฟโดยก๊วนที่เล่นกันเป็นประจำคือเพื่อนเก่าที่แบงก์ชาติและบ่อยครั้งที่จะไปเล่นกับลูกน้องในแบงก์ทหารไทย
วันใดที่เล่นแล้วแพ้ลูกน้อง ประพันธ์จะขอให้เล่นไม่ยอมเลิกเพื่อจะเอาชนะให้ได้
แม้บางครั้งง่ามมือฉีกประพันธ์ก็จะไม่หยุด
และมีอีกหลายเรื่องที่สะท้อนการ "ยอมหักไม่ยอมงอ" ของประพันธ์
ซึ่งก็รวมทั้งในเรื่องของการงานด้วย
ประพันธ์นั้นเคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี 2500 จนถึงปี 2511
ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ตรวจการ ธนาคารพาณิชย์ เขาเป็นศิษย์เก่าคณะบัญชีของธรรมศาสตร์และเคยเป็นลูกศิษย์ของประยูร
จินดาประดิษฐ์ ที่ต่อมาก็ได้ร่วมงานกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารทหารไทยตามลำดับ
ว่ากันว่าคนคู่นี้เคยรักใคร่กลมเกลียวกันมาก
ประพันธ์ลาออกจากฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานกับธนาคารทหารไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2511 ภายหลังจากที่ผู้บริหารคนหนึ่งของทหารไทยที่ชื่อเติมพันธ์ บุนนาค ได้แนะนำให้ประพันธ์รู้จักกับสุขุม
นวพันธ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการของธนาคารทหารไทยและสุขุมชักชวนให้ประพันธ์มาร่วมงานด้วย
เขาเริ่มต้นที่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ สังกัดฝ่ายตรวจสอบ หน้าที่ที่หลายคนอาจจะเปรียบเปรยว่าเป็น
"สายลับ" หรือ "เกสตาโป" ซึ่งจะคอยจับผิดพนักงานด้วยกันทั้งที่เจตนาจริง
ๆ ของฝ่ายบริหารแล้วก็คงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ในปี 2521 ภายหลังจากที่ประพันธ์ใช้ความรู้ความสามารถวางระบบการทำงานในฝ่ายตรวจสอบ
จนสามารถป้องกันการทุจริตและการรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าชื่นชมแล้ว
เขาก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นไปเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ
เป็นผู้บริหารอันดับที่ 6 ของทหารไทยหากนับจากกรรมการผู้จัดการลงมา
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ ประพันธ์ถูกคำสั่งย้ายให้ไปอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคาร
โดยผู้ลงนามในคำสั่งย้ายก็คือประยูร จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารทหารไทย
เป็นตำแหน่งที่ธนาคารเลิกไปแล้ว แต่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่อีกครั้งและประพันธ์ก็เป็นคนแรกที่ต้องไปนี่งในตำแหน่งที่กลับมีขึ้นมาอีกครั้งนี้
ก็ต้องไปด้วยความที่ประพันธ์ไม่เต็มใจอย่างยิ่ง
ประพันธ์อยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคารได้ 2 ปีโดยที่ผู้บริหารมองว่าไม่มีผลงานอะไร
วันที่ 25 มกราคม 2527 ธนาคารทหารไทยก็เลยต้องบอกเลิกจ้างประพันธ์
แล้วทั้งประพันธ์ พุกเจริญ กับธนาคารทหารไทยก็ต้องมีนัดพบกันที่ศาลแรงงาน
โดยประพันธ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าธนาคารเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมพร้อมกับเรียกค่าเสียหายและค่าชดเชยรวมกันกว่า
31 ล้านบาท
การฟ้องร้องของประพันธ์ พุกเจริญนั้น ประพันธ์พยายามจะชี้ว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ
ได้ตรวจพบการทำงานที่ผิดพลาดหลายประการของผู้บริหารหลายคน ซึ่งอาจจะไปขัดผลประโยชน์หรือความคิดของคนเหล่านั้นเข้าก็เลยถูกเกลียดชัง
ไม่ชอบหน้า เพราะงานของประพันธ์ก็เป็นงานที่จะต้องไปจับผิดคนอื่นอยู่ด้วย
ผลที่สุดก็ต้องมีการย้ายประพันธ์ออกไปจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายฝ่ายตรวจสอบ
ให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ประพันธ์เห็นว่า "เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน
ไม่มีพนักงานใต้บังคับบัญชาอันจะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีพนักงานตรวจสอบอยู่ภายใต้การบังคับบัญชามากกว่า
50 คน"
ประพันธ์สรุปว่า เป็นสิ่งที่กรรมการผู้จัดการ (ประยูร จินดาประดิษฐ์) กับผู้บริหารอีกบางคนพยายามกลั่นแกล้งเพื่อหาทางบีบบังคับให้ประพันธ์ลาออกไป
ซึ่งเมื่อประพันธ์ไม่ยอมลาออกก็หาเหตุเอาประพันธ์ออกในที่สุด
ประพันธ์นั้น ได้นำเรื่องราวหลายเรื่องภายในธนาคารทหารไทยมาใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่า
ตัวเขาได้ค้นพบข้อผิดพลาดอะไรบ้างที่ทำให้ผู้บริหารหลายคนไม่ชอบหน้าและพยายามหาทางกลั่นแกล้งเพื่อจะได้พ้น
ๆ ทางไป
เขาบอกว่าเขาปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบข้อบังคับของธนาคารอย่างเคร่งครัด
ไม่เห็นแก่หน้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พนักงานทุกคน ทุกระดับ โดยรายงานไปตามข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยขณะเมื่อยังมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบของแบงก์ทหารไทย
การปฏิบัติงานบางเรื่องซึ่งเกี่ยวกับการอนุมัติให้สินเชื่อเกินอำนาจได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่เจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูงที่เกี่ยวข้องหลายคน
เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของธนาคาร
และนอกจากนั้น ยังฝ่าฝืนพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ด้วย
อย่างเช่นเมื่อตรวจพบและรายงานไปแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนไม่พอใจตัวเขามาก
ก็เห็นจะได้แก่การตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากธนาคาร
ซึ่งภายหลังการตรวจสอบประพันธ์ก็ได้ทำบันทึกข้อมูลเสนอสุขุม นวพันธ์กรรมการผู้จัดการขณะนั้นไป
2 ฉบับ ฉบับแรกสุขุมรับไว้ ส่วนฉนับที่สองไม่ยอมรับเพราะเป็นรายงานที่เป็นหลักฐานผูกมัดเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง
เป็นหลักฐานที่จะผูกมัดผู้บริหารที่มีส่วนในการตัดสินใจรับอุปการะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ
รายงานฉบับนั้นประพันธ์บันทึกข้อมูลและความคิดเห็นที่สำคัญๆ คือ(1) ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ไม่อยู่ในฐานะที่จะเชื่อถือได้
(2) สภาพคล่องของบริษัทนี้ไม่มีเลย (3) สินทรัพย์และลูกหนี้ของบริษัทคาดว่าจะเป็นหนี้สูญเป็นจำนวนมากกว่าเงินกองทุนหลายเท่าแสดงว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการต่อไปได้
และการตรวจสอบฯในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2523 ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารบางคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ
เป็นส่วนตัว เป็นต้นว่า ประยูร จินดาประดิษฐ์ ซึ่งนอกจากมีตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของธนาคารทหารไทยแล้ว
ก็ยังเป็นประธานกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามธนาการ และสยามธนาการนี้เป็นลูกหนี้ของนวธนกิจเป็นเงิน
70 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้อนุชาติ ชัยประภา ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปก็ได้อนุมัติเงินเบิกเกินบัญชีให้แก่นวธนกิจเกินกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติไป
20 ล้านบาทเศษ และยังตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของทหารไทยคือ โกวิทย์
จิระขันห์ กัลยา วิมลโลหะการ สมศักดิ์ กสิวัฒน์ และมานะ ประเสริฐภักดี เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นของนวธนกิจที่ค้างมานานแล้วอีกเช่นกัน
อีกเรื่องหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2523 ประพันธ์ก็ได้ตรวจพบว่าอนุกรรมการสินเชื่อมีอนุตร์
อัศวานนท์ เติมพนธ์ บุนนาค วิทยา สุพันธ์วณิชและคงศักดิ์ กฤษณะสมิต ซึ่งมีอำนาจอนุมัติในวงเงิน
10 ล้านบาทต่อลูกหนี้หนึ่งรายได้ อนุมัติ ทีอาร์ (ทรัสตรีซีส) เกินอำนาจให้กับลูกหนี้กลุ่มบริษัทกล่องกระดาษไทย
1967 ไปเป็นจำนวนมาก
ตรวจพบอีกว่า อำนวย สังขะวาสี ได้อนุมัติเบิกเกินบัญชีไปโดยไม่มีสัญญาและหลักประกันให้กับบริษัท
เฮงง้วนหลีจั่น ไปประมาณ 30 ล้านบาทเศษ
และอีกหลายเรื่อง ฯลฯ
ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คงไม่ต่างจากการสาวไส้ให้กากินดีๆ นี่เอง
"เราหนักใจมากเพราะกว่าที่จะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์โดยศาลหากข่าวแพร่สะพัดออกไปตามบรรยายฟ้องและคำให้การฝ่ายคุณประพันธ์
ธนาคารและสถาบันการเงินในเครือโดยเฉพาะนวธนกิจอาจจะเสียหายไปแล้ว ยิ่งช่วงนั้น
(ปี 2527-2528) เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินอยู่พอดี เราก็เลยต้องขอให้ศาลพิจารณาคดีโดยปิดลับ..."
คนของแบงก์ทหารไทยผู้หนึ่งพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งจู่ ๆ
ข่าวความขัดแย้งระหว่างประพันธ์กับธนาคารทหารไทยมีอันต้องเงียบหายไปเฉย ๆ
มันเป็นความหนักใจต่อผลที่เกิดจากการแพร่กระจายของข่าวธุรกิจที่ยืนอยู่บนความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน
ในขณะที่ตัวรูปคดีแล้วธนาคารทหารไทยกลับไม่ค่อยหนักใจเท่าไรนัก
"เราเชื่อว่าเราได้ทำไปตามหลักการที่ถูกต้อง และในการต่อสู้เราก็ยืนยันถึงความถูกต้องที่ได้ตัดสินใจทำไปเท่านั้น"
แหล่งข่าวคนเดิมบอกกับ "ผู้จัดการ"
ธนาคารทหารไทยได้ยืนยันว่า การย้ายประพันธ์จากผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบไปเป็นผู้ตรวจการธนาคารนั้น
มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือเป็นการย้ายขบวนการแต่อย่างใด หากแต่เป็นการย้ายสับเปลี่ยนและแต่งตั้งพนักงานเพื่อความเหมาะสมแก่กิจการธนาคาร
และให้เป็นไปตามนโยบายเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ให้พนักงานระดับบริหาร
ได้มีโอกาสปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมการสำหรับผู้บริหารระดับสูงในอนาคต
สำหรับตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคารนั้นก็มิได้กำหนดหรือตั้งขึ้นเพื่อประพันธ์โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ลักษณะของงานก็สูงกว่าตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบที่เป็นตำแหน่งเดิมของประพันธ์ระดับของตำแหน่งเงินเดือนสวัสดิการต่างๆ
ก็ได้รับเหมือนเดิม และเมื่อย้ายประพันธ์จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบแล้วธนาคารก็ได้แต่งตั้งสุธน
ปุณะหิตานนท์ มาเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบครั้นเมื่อเลิกจ้างประพันธ์ก็ได้แต่งตั้งสุธน
ปุณะหิตานนท์จากผู้จัดการตรวจสอบมาเป็นผู้ตรวจการธนาคารเพราะ ความที่ธนาคารเห็นความสำคัญของตำแหน่งนี้มาก
ๆ
"ส่วนทางฝ่ายตรวจสอบนั้นเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ช่วยแก้ไขและรายงานให้ผู้บริหารทราบเพื่อหาทางแก้ไข
มิใช่หน่วยงานที่มีหน้าที่จับผิด ในชั้นต้นที่รู้ว่าการทำงานบกพร่องนั้นได้ผ่านจากพนักงานตรวจสอบไปตามสายงานตามลำดับจนถึงตัวคุณประพันธ์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ
จึงไม่ใช่ความลับอะไร และคุณประพันธ์ก็มีหน้าที่เสนอผลงานการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่
การที่คุณประพันธ์อ้างต่อศาลว่าระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบมีเรื่องกระทบกระทั่งกับฝ่ายบริหารในเรื่องการให้สินเชื่อ
ในเรื่องนวธนกิจ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปทำเป็นพิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ประจำ
เมื่อรายงานเรื่องนี้เข้ามาก็ไม่มีอะไรที่ใครจะต้องไปโกรธเกลียด ในการที่จะรับนวธนกิจเข้ามาหรือไม่นั้น
ก็เป็นอำนาจของกรรมการธนาคาร ส่วนการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบเป็นเรื่องการตรวจสอบภายในเท่านั้นนอกจากนี้ธนาคารก็ยังมีผู้ตรวจบัญชี
ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาตรวจสอบด้วยอีก ที่คุณประพันธ์ว่ามานั้น
จึงไม่เป็นความจริง" แหล่งข่าวในธนาคารทหารไทยพูดถึงประเด็นที่ทางธนาคารได้ตอบโต้กลับไป
ทหารไทยยอมรับว่าในเรื่องที่ประพันธ์ระบุถึงการให้สินเชื่อเกินอำนาจนั้นเป็นความจริงและมีอยู่ทุกระดับ
แต่เมื่อให้สินเชื่อเกินอำนาจไปแล้ว ผู้อนุมัติสินเชื่อก็ต้องเสนอให้ผู้บริหารระดับเหนือขึ้นไปให้สัตยาบันอีกชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง
แม้แต่ประยูร จินดาประดิษฐ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็เคยอนุมัติให้สินเชื่อเกินอำนาจและสามารถขอให้กรรมการบริหารของธนาคารให้สัตยาบันได้เช่นกัน
"มันเป็นเรื่องธรรมดาทางธุรกิจที่ลูกค้ามีปัญหาเร่งด่วน ก็ต้องช่วยแก้ไขกันไปจากนั้นจึงค่อยให้สัตยาบันให้ถูกต้องภายหลัง"
แหล่งข่าวกล่าว
ประพันธ์ พุกเจริญ ให้การต่อศาลในประเด็นต่อมาว่าเมื่อเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการธนาคารแล้วนั้น
เขาต้องนั่งทำงานโดยมีเลขาเพียงคนเดียว ไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้และไม่มีพนักงานใต้บังคับบัญชา
และในระหว่างดำรงตำแหน่งใหม่นี้ก็ได้รับมอบหมายงานจากประยูร จินดาประดิษฐ์เพียง
2 ครั้งในระยะ 2 ปีเศษ ประพันธ์จึงไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในปี 2525 และ
2526 รวม 2 ปีติดต่อกัน เนื่องจากการไม่มีกำลังคน เครื่องมืออีกทั้งไม่ได้รับคำสั่งจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้พนักงานและหน่วยงานอื่นของธนาคารต้องให้ความร่วมมือ
การทำงานของประพันธ์จึงทำไม่ได้เพราะขาดข้อมูลในการปฏิบัติงานมาเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารแก่กรรมการผู้จัดการได้
แต่ประพันธ์ก็ได้หาข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้แก่ธนาคารตลอดเท่าที่จะทำได้
เขาบอกว่าภายหลังการไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนในปี 2525 แล้วนั้น
ในเดือนมีนาคม 2526 อนุตร์ อัศวานนท์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ได้เชิญเขาไปพบและแจ้งว่า
ขอให้หางานใหม่ทำเสียจะดีกว่า โดยธนาคารจะจ่ายเงินเดือนให้ 6 เดือนพร้อมทั้งผลประโยชน์และสิทธิต่าง
ๆ ที่พึงมีพึงได้ตามระเบียบของธนาคาร และธนาคารจะออกหนังสือรับรองให้อย่างดี
ประพันธ์ระบุว่าอนุตร์ขอให้เขาเอาเรื่องนี้ไปคิดทบทวนดูแล้วจะขอคำตอบภายหลัง
จนล่วงเข้าวันที่ 14 มีนาคม 2526 อนุตร์ก็เรียกเขาไปถามถึงเรื่องการตัดสินใจ
ซึ่งเขาก็ตอบอนุตร์ไปว่า ไม่ขอลาออก อนุตร์ก็บอกกับเขาว่าถ้าอยู่ต่อไปแล้วไม่ได้ขึ้นเงินเดือนติดต่อกัน
2 ปีก็ต้องออกไปตามระเบียบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2526 ประพันธ์ได้รับหนังสือจากประยูร จินดาประดิษฐ์แจ้งให้ทราบว่าประพันธ์ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในปี
2525 มาแล้ว 1 ปี หากไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในปี 2526 นี้อีก ก็จะต้องออกตามคำสั่งที่
132/2523 ของธนาคาร
ถึงต้นปี 2527 ประยูรเรียกประพันธ์ไปพบแจ้งผลการพิจารณาเงินเดือนประจำปี
2526 ว่า ยังไม่สมควรที่จะพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ ประยูรได้เกลี้ยกล่อมให้ประพันธ์ลาออกโดยจะจ่ายเงินเดือนให้
7 เดือนและเงินสะสมให้ทันทีพร้อมกับจะออกหนังสือรับรองให้ด้วย แต่ประพันธ์ยืนกรานไม่ยอมลาออก
วันเดียวกันนั้นเองที่ประพันธ์ระบุว่าประยูรได้ส่งหนังสือเลิกจ้างมาถึงเขา
ส่วนทางฝ่ายธนาคารทหารไทยพูดถึงเรื่องราวในประเด็นนี้เกือบจะเป็นคนละเรื่องกับประพันธ์
ทหารไทยกล่าวว่า ภายหลังการแต่งตั้งประพันธ์เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการธนาคารนั้น
ในวันที่ 4 มกราคม 2525 ประพันธ์ก็ได้ไปพบกับประยูร จินดาประดิษฐ์ เพื่อขอรับนโยบายเกี่ยวกับตำแหน่งใหม่
ประยูรก็ได้ชี้แจงให้ประพันธ์ทราบถึงภาระหน้าที่ซึ่งต้องช่วยเหลือกรรมการผู้จัดการใหญ่ทำงาน
และต้องการให้ผู้ตรวจการธนาคารออกไปตรวจเยี่ยมสาขาแทนด้วยนอกจากนี้ก็จะให้ประพันธ์มีเลขาตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้และพนักงานโดยจะให้อัครเดช
(อัครเดชพืชผล ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนา) มาพบภายหลัง ต่อมาได้ทำเรื่องย้ายไปเป็นเลขาให้
แต่ประพันธ์ก็ไม่มีผลงานเสนอ วัน ๆ ได้แต่นั่งในห้องทำงาน
ประมาณกลางเดือน มกราคม 2525 ประยูร ได้มอบหมายให้ประพันธ์ตรวจสอบเรื่องเงินสดหายที่ส่วนการเงินฝ่ายเงินฝาก
ประพันธ์ก็ทำรายงานเสนอ ส่วนการออกตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่างๆ ประพันธ์ไม่ปฏิบัติ
ในการประชุมเจ้าหน้าที่บริหารประพันธ์ก็ไม่มีข้อเสนอแนะใด ๆ ต่อที่ประชุม
ประยูรได้ชี้แจงภาระหน้าที่ให้ฟังก็ไม่มีผลกลับมา
ครั้นวันที่ 16 มิถุนายน 2525 ประพันธ์ได้มีหนังสือถึงประยูร ขอให้ชี้แนะการปฏิบัติงานประยูรก็ได้บันทึกถึงประพันธ์ระบุภาระหน้าที่ของผู้ตรวจการให้ทราบ
จากนั้นประพันธ์ก็ได้ทำข้อเสนอแนะถึงประยูร รวม 8 เรื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอทั้งสิ้น
ในปี 2525 ประพันธ์ก็เลยไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน
ปี 2526 ตั้งแต่ต้นปี ประพันธ์ในสายตาของธนาคารก็ยังไม่มีผลงานต่อไป ประพันธ์คงมาที่ธนาคารแล้วนั่งอยู่แต่ในห้อง
ตอนเย็นก็กลับบ้านปฏิบัติเช่นนี้อยู่จนถึงปลายปี 2526 อนุตร์ อัศวานนท์ จึงได้เชิญมาพบ
เพื่อตักเตือนให้ทำงาน อนุตร์ชี้แจงว่าประพันธ์ไม่มีผลงานหรือมีน้อยไม่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่ควรรับผิดชอบทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคารไม่ว่าในเรื่องการประสานงาน
งานสังคม และการประชุม เจ้าหน้าที่บริหารและไม่ตั้งใจที่จะปฏิบัติงานนับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่นและอาจจะถูกเลิกจ้างได้
ประพันธ์ก็พูดกับอนุตร์ว่า ถ้าธนาคารเลิกจ้างประพันธ์จะต่อสู้
หลังจากนั้นอีกไม่นานนักประยูร ก็ได้นำเรื่องของประพันธ์เข้าหารือต่อที่ประชุมกรรมการบริหารของธนาคารอีก
ที่ประชุมตกลงให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
ประยูรนั้นได้เชิญประพันธ์มาพบและชี้แจงให้ทราบถึงผลงานพร้อมกับแนะนำให้ประพันธ์พิจารณาตัวเองดีกว่า
ที่จะให้ธนาคารเลิกจ้าง เนื่องจากเงินเดือนไม่ขึ้น 2 ปีติดต่อกัน แต่ก็ปรากฏว่าประพันธ์เคยปฏิบัติตัวเฉยเมยอย่างไรก็ยังคงเฉยเมยอย่างนั้น
สิ้นปี 2526 เมื่อมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี ประพันธ์ก็เลยไม่ได้รับการพิจารณาอีกเป็นปีที่
2 ติดต่อกัน
วันที่ 25 มกราคม 2527 ผู้บริหารชั้นสูงได้เชิญประพันธ์มาพบและรายงานให้ทราบถึงผลการขึ้นเงินเดือนปี
2526 และแจ้งว่าผลงานของประพันธ์ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
2 ปีติดต่อกันเข้าเกณฑ์เลิกจ้างได้ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างประพันธ์ตั้งแต่วันที่
1 กุมภาพันธ์ 2527 เป็นต้นไป