ข้อพิพาทระหว่างอดีตผู้บริหารของธนาคารทหารไทยที่ชื่อประพันธ์ พุกเจริญ
กับธนาคารทหารไทยนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ภายหลังการย้ายประพันธ์จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบไปอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคารที่ประพันธ์มองว่าเป็นการจับแขวน
เพราะความที่เขารู้มากไป คดีดำเนินไปได้เกือบหนึ่งปีศาลแรงงานได้ตัดสินยกฟ้องคดีที่ประพันธ์ฟ้องว่า
ธนาคารทหารไทยเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่กี่เดือนต่อมานี้ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง
การตัดสินใจของศาลฎีกาครั้งนี้เท่ากับได้สร้างบรรทัดฐานให้กับบรรดาธนาคารทั้งหลายในเรื่องของคำจำกัดความของ
"ค่าจ้าง" ส่วนประพันธ์นั้นเป็นคนประเภทที่ "ยอมหักไม่ยอมงอ"
ซึ่งบัดนี้เขาก็ถูก "หัก" ไปเรียบร้อยแล้ว
คดีที่ประพันธ์ พุกเจริญเป็นโจทก์ฟ้องธนาคารทหารไทยเป็นจำเลยต่อศาลแรงงานเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น
เป็นคดีที่ครึกโครมคดีหนึ่ง
ครึกโครมเพราะการฟ้องร้องของประพันธ์ได้มีการนำข้อมูลหลาย ๆ เรื่องมากล่าวอ้าง
เพื่อพิสูจน์ว่าตนอยู่ในสภาพที่ไปขัดผลประโยชน์ของผู้บริหารธนาคารทหารไทยบางคนเข้า
จึงถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีบทบาทและถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในที่สุด
และก็ครึกโครมเพราะประพันธ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายถึงกว่า 31 ล้านบาท
ธนาคารทหารไทยนั้นได้แจ้งการเลิกจ้างประพันธ์ พุกเจริญ เมื่อวันที่ 25
มกราคม 2527 จากตำแหน่งสุดท้าย-ผู้ตรวจการธนาคาร เงินเดือน 19,445 บาทกับมีค่าจ้างอื่น
ๆ อีก
ประพันธ์ก็ฟ้องธนาคารทหารไทยต่อศาลแรงงานกลางในเดือนมีนาคม 2527
รายละเอียดของการต่อสู้คดีระหว่างอดีตลูกจ้างกับนายจ้างคู่นี้โปรดอ่านจากส่วนที่เป็นล้อมกรอบของเรื่อง
ส่วนที่จะรายงานให้ทราบเสียก่อนก็คือ คดีนี้ได้ดำเนินไปจนถึงวันที่ 28
ธันวาคม 2527 ศาลแรงงานก็พิพากษายกฟ้อง (โดยคดีจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาทันที)
และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2529 ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง
เป็นอันสิ้นสุดกรณีพิพาทแรงงานระหว่างประพันธ์ พุกเจริญกับธนาคารทหารไทยอย่างสิ้นเชิง
ไม่มีน้ำตาจากผู้แพ้และก็ไม่มีเสียงหัวเราะจากผู้ชนะ สำหรับผู้บริหารของธนาคารทหารไทยนั้น
"สิ้นสุดก็คือสิ้นสุด..." เช่นเดียวกับประพันธ์ พุกเจริญ ที่เรียกหาความยุติธรรมก็ได้รับความยุติธรรมไปแล้ว
"เพียงแต่มันก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คำพิพากษาโดยเฉพาะเรื่องการเรียกค่าเสียหายนั้น
ก็คงจะต้องถูกใช้เป็นบรรทัดฐานที่คนในแวดวงการเงินตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่หากเกิดกรณีพิพาทแรงงานแล้วก็น่าจะศึกษาเรื่องระหว่างประพันธ์กับธนาคารทหารไทยนี้ให้มาก
ๆ..." แบงเกอร์คนหนึ่งพูดถึงบางสิ่งที่อาจจะยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว
หากแต่เป็นบทเรียนที่จะต้องถูกใช้กันต่อไปในอนาคตให้ฟัง
ประพันธ์ พุกเจริญ นั้นได้ยื่นฟ้องธนาคารทหารไทยโดยร้องขอต่อศาลให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอย่างไม่ชอบธรรมทั้งหมด
4 รายการคือ
1. ค่าขาดผลประโยชน์ ค่าจ้างประจำซึ่งธนาคารทหารไทยจ่ายให้ประพันธ์เป็นรายเดือนและเป็นรายปีรวม
12 รายการประกอบด้วย
1.1 เงินเดือน เดือนละ 19,445 บาท
1.2 ค่าครองชีพเดือนละ 300 บาท
1.3 ค่าอาหารเดือนละ 400 บาท
1.4 เงินรางวัลและค่าครองชีพปีละ 97,225 บาท
1.5 เงินสะสมที่ธนาคารออกให้ 10% ของเงินเดือนตกปีละ 23,334 บาท
1.6 ค่าเครื่องแบบปีละ 700 บาท
1.7 ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท
1.8 ค่าน้ำมันรถเดือนละ 1,200 บาท
1.9 ค่าน้ำมันรถที่ให้เติมเดือนละ 300 ลิตรปีละ 42,120 บาท
1.10 ค่าภาษีเงินได้ที่ธนาคารออกให้ปีละ 97,791 บาท
1.11 ค่ารถประจำตำแหน่งหากเช่าวันละ 1,000 บาท ปีละ 365,000 บาท และ
1.12 โบนัสเฉลี่ยรายปี 60,000 บาท
รวมค่าเสียหายทั้ง 12 รายการเป็นเงินปีละ 943,310 บาท นับตั้งแต่ปีที่ประพันธ์ถูกเลิกจ้างเมื่ออายุ
51 ปี จนถึงปีที่เกษียณอายุเป็นเวลา 9 ปี รวมเป็นเงินค่าเสียหายเฉพาะรายการแรกนี้
8,489,790 บา
2. ค่าเสียหายเนื่องจากการถูกออกจากงานขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง
หากไม่ถูกกลั่นแกล้งและไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ประพันธ์ก็จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่ง
เลื่อนเงินเดือนขึ้นไปตามปกติ ทำให้ค่าจ้าง รายได้และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเงินเดือน
ค่าครองชีพ เงินรางวัล โบนัสพิเศษต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปอีก จึงทำให้ประพันธ์ต้องขาดประโยชน์อันควรจะได้ดังกล่าวไปเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า
12,000,000 บาท
3. ค่าเสียหายอันเนื่องจากประพันธ์ต้องเสียชื่อเสียงเกียรติคุณต่าง ๆ ที่ได้สะสมมาตลอดระยะเวลาการทำงานด้านการตรวจสอบธนาคารเพียงด้านเดียวเกินกว่า
30 ปี มีผลงานดีเด่นตลอดมาจนได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลในวงการธนาคารโดยทั่วไปอย่างดี
ต้องเสื่อมเสียไปจนหมดสิ้น ทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า
10 ล้านบาท
รวมเป็นค่าเสียหายตามฟ้องทั้งสิ้นเป็นเงิน 30,489,790 บาท (สามสิบล้านสี่แสนแปดหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยเก้าสิบบาท)
และ
4. ธนาคารทหารไทยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าการไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าแก่ประพันธ์อีกเป็นเงินรวมกัน
7 เท่าของอัตราเงินเดือนสุดท้าย เป็นเงิน 550,263 บาท (ห้าแสนห้าหมื่นสองร้อยหกสิบสามบาท)
เบ็ดเสร็จที่ประพันธ์ พุกเจริญ เรียกไปก็เท่ากับ 31,040,053 บาท (สามสิบเอ็ดล้านสี่หมื่นห้าสิบสามบาท)
"เมื่อยื่นฟ้องนั้นคุณประพันธ์ได้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ธนาคารทหารไทยรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่
และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมพร้อมกับนับอายุงานต่อจากเดิมก่อนเลิกจ้างจนกว่าจะกลับเข้าทำงานตามเดิม
หากธนาคารทหารไทยไม่รับกลับก็ขอให้ศาลพิพากษาให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายทั้ง
4 รายการข้างต้นให้คุณประพันธ์ แต่ในวันไต่สวนมูลฟ้องคุณประพันธ์ก็มีคำร้องขอว่าไม่อาจร่วมงานกับธนาคารได้
จึงขอสละคำขอที่จะกลับเข้าทำงานทิ้งไป คงเรียกค่าเสียหายอย่างเดียว...."
แหล่งข่าวระดับสูงท่านหนึ่งเล่ากับ "ผู้จัดการ"
การพิจารณาคดีระหว่างประพันธ์ พุกเจริญ กับธนาคารทหารไทยนั้น ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นพิพาทเป็น
3 ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
ประเด็นแรก การเลิกจ้างประพันธ์นี้เป็นธรรมหรือไม่?
ประเด็นที่สอง ประพันธ์มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด ? และ
ประเด็นสุดท้าย ประพันธ์มีสิทธ์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่เพียงใด?
ซึ่งภายหลังการตรวจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยโดยตลอดแล้ว
ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามฟ้องฟังไม่ได้ว่าการเลิกจ้างโจทก์
(ประพันธ์) เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม" (อ่านจากล้อมกรอบ)
เท่ากับประเด็นแรกต้องตกไป เพราะศาลตัดสินว่าการเลิกจ้างประพันธ์นี้เป็นธรรมแล้ว
ซึ่งส่งผลให้บรรดาค่าเสียหายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมที่ประพันธ์
พุกเจริญ เรียกร้อง และขอให้ธนาคารทหารไทยชดใช้ (รายการที่ 1-3) รวมเป็นเงิน
30,489,790 บาทเป็นอันต้องตกไปด้วย
ส่วนในประเด็นข้อพิพาทที่ 2 และ 3 ศาลได้พิจารณารวมทั้ง 2 ประเด็นพร้อมกัน
"ทางศาลได้พิเคราะห์แล้วก็เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการที่ธนาคารทหารไทยเลิกจ้างประพันธ์นั้น
มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นประพันธ์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย หากมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา
582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย..." ผู้ที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นจนศาลตัดสินรายงานให้ฟัง
ธนาคารทหารไทยนั้นเมื่อมีคำสั่งเลิกจ้างประพันธ์ พุกเจริญ ก็ได้จ่ายเงินชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ประพันธ์เป็นเงิน
149,415 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันสี่ร้อยสิบห้าบาท) ซึ่งตอนแรกประพันธ์ไม่ยอมรับ
ต่อเมื่อทางธนาคารทหารไทยได้นำเงินจำนวนนี้ไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ กระทรวงยุติธรรมแล้ว
ประพันธ์จึงได้ตัดสินใจรับเงินจำนวนนี้ไป อันเป็นช่วงที่คดีระหว่างประพันธ์กับธนาคารทหารไทยนี้ดำเนินไปแล้วระยะหนึ่ง
และในการต่อสู่คดีประพันธ์ก็ยืนยันว่าตนยังได้เงินชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ยังไม่ครบ
เพราะประพันธ์คำนวณว่าธนาคารทหารไทยจะต้องจ่าย 550,263 บาท (ห้าแสนห้าหมื่นสองร้อยหกสิบสามบาท)
มิใช่เพียง 149,415 บาทที่ธนาคารจ่ายให้แล้ว
หรือพูดง่ายๆ ก็คือจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จะต้องใช้อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นฐานคำนวณนั้น
ทั้งประพันธ์และธนาคารทหารไทยใช้ฐานการคำนวณคนละฐาน ตัวเลขที่ปรากฏออกมาก็เลยต่างกันลิบลับ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยก็คือ อะไรบ้างที่ประกอบกันเป็นค่าจ้างเดือนสุดท้ายของประพันธ์
พุกเจริญ ขณะยังทำงานกับธนาคารทหารไทย?
ประพันธ์นั้น ได้ระบุในคำฟ้องว่าค่าจ้างที่ธนาคารทหารไทยจ่ายให้เป็นรายเดือนและเป็นรายปีมีทั้งหมด
12 รายการด้วยกันคือ
1. เงินเดือน เดือนละ 19,445 บาท
2. ค่าครองชีพเดือนละ 300 บาท
3. ค่าอาหารเดือนละ 400 บาท
4. เงินรางวัลและค่าครองชีพปีละ 97,225 บาท
5. เงินสะสมที่ธนาคารออกให้ 10% ของเงินเดือนตกปีละ 23,334 บาท
6. ค่าเครื่องแบบปีละ 700 บาท
7. ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท
8. ค่าน้ำมันรถเดือนละ 1,200 บาท
9. ค่าน้ำมันรถที่ให้เติมเดือนละ 300 ลิตรปีละ 42,120 บาท
10. ค่าภาษีเงินได้ที่ธนาคารออกให้ปีละ 97,791 บาท
11. ค่ารถประจำตำแหน่งหากเช่าวันละ 1,000 บาท ปีละ 365,000 บาท และ
12. โบนัสเฉลี่ยรายปี 60,000 บาท
ในการต่อสู้คดีธนาคารทหารไทยได้ยอมรับว่ามีเงิน 4 ประเภทเป็นเงินค่าจ้างที่ให้กับประพันธ์
พุกเจริญ คือ เงินเดือน เดือนละ 19,445 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 300 บาท ค่าอาหารเดือนละ
400 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ 1,200 บาท
รวมแล้วก็เป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 21,345 บาท
เมื่อบอกเลิกจ้างประพันธ์ ธนาคารทหารไทยก็เลยจ่ายค่าชดเชย 6 เดือนกับสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้าอีก
1 เดือน จากฐานค่าจ้างอัตราดังกล่าว ซึ่งก็เป็นเงิน 149,415 บาทตามที่ประพันธ์ได้รับไปแล้วจากสำนักวางทรัพย์
ส่วนเงินอีก 8 ประเภทที่ประพันธ์อ้างถึงนั้นธนาคารทหารไทยให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่ค่าจ้าง
ก็เป็นหน้าที่ที่ศาลจะต้องวินิจฉัย ซึ่งศาลก็ได้วินิจฉัยเป็นประเภท ๆ ดังนี้
1. เงินรางวัลและเงินค่าครองชีพปีละ 97,225 บาทประพันธ์อ้างว่าเป็นค่าจ้างประจำซึ่งธนาคารจ่ายให้
ทางด้านธนาคารก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่รายได้ประจำที่จ่ายให้ทุกเดือน หากแต่เป็นการจ่ายให้ไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับผลกำไรและการดำเนินงานและจ่ายให้เป็นงวด อย่างต่ำปีละ 4 ครั้ง
ส่วนหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็แล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดไม่มีข้อผูกพันกับพนักงาน
ถ้าขาดทุนอาจจะไม่จ่ายเงินจำนวนเงินนี้ก็ได้ ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
ที่ประพันธ์อ้างว่าเงินค่าครองชีพในข้อนี้ก็ซ้ำซ้อนกับค่าครองชีพที่ธนาคารจ่ายให้ไปจำนวนหนึ่งข้างต้นแล้ว
ส่วนเงินรางวัลเป็นเงินที่จ่ายให้จากผลกำไรซึ่งแล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดเอาเอง
และไม่แน่นอนจึงมิใช่เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของวันทำงาน
หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้
2. เงินสะสมที่ธนาคารออกให้ 10% ของเงินเดือนปีละ 23,334 บาท ประพันธ์อ้างว่าเงินจำนวนนี้ธนาคารจ่ายให้ทุกเดือนธนาคารไม่ได้หักเงินเดือน
แต่ธนาคารออกเงินสมทบให้ตามอายุทำงานและจะจ่ายให้เมื่อออกจากงานครั้งเดียว
ฝ่ายธนาคารทหารไทยอ้างว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้หักจากเงินเดือน ไม่ได้จ่ายเป็นประจำ
ธนาคารคำนวณลงบัญชีของพนักงานแต่ละคนไว้และจะจ่ายให้เมื่อลาออกหรือเกษียณอายุ
มีหลักเกณฑ์การจ่ายตามเอกสารที่ธนาคารใช้เป็นหลักฐานต่อสู้คดี ศาลเมื่อพิเคราะห์เอกสารประกอบด้วยแล้ว
ก็เห็นว่า ตามระเบียบธนาคารว่าด้วยเงินสะสม 2520 ได้นิยามคำว่าเงินสะสมไว้ว่า
หมายถึงเงินที่ธนาคารสะสมให้เป็นทุนสำหรับพนักงานด้วยเงินของธนาคารซึ่งมิได้หักออกจากเงินเดือนของพนักงาน
โดยธนาคารจะขึ้นบัญชีแยกไว้เป็นรายบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผดุงฐานะพนักงานเมื่อออกจากงาน
ด้วยวิธีให้มีเงินทุนไว้เป็นบำเหน็จตามสมควร และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารจ่ายเงินทุนสะสมแก่บุคคลนั้น
ๆ เช่นนี้จึงเห็นได้ว่า เงินประเภทนี้มิใช่เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้
3. ค่าเครื่องแบบปีละ 700 บาท ประพันธ์บอกว่าค่าเครื่องแบบนี้จ่ายทุกปี
แต่ธนาคารแย้งว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะจ่ายให้ปีละครั้งเดียว ไม่ใช่รายได้ประจำ
ศาลก็เห็นว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่นายจ้างจัดสรรให้ลูกจ้าง
มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นค่าจ้างแต่ประการใด
4. ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท ประพันธ์กล่าวว่าเป็นรายได้ประจำอย่างหนึ่ง
ฝ่ายธนาคารก็ว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ธนาคารจ่ายให้แก่พนักงานที่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง
จึงไม่ใช่รายได้ประจำ ศาลพิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องที่ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการกลางอนุมัติให้ประพันธ์ได้รับการช่วยเหลือค่าทะเบียนรถประจำปีเช่นเดียวกับพนักงานชั้น
ก. เท่านั้น ไม่ใช่ค่าจ้างประจำ
5. ค่าน้ำมันรถที่ให้เติมเดือนละ 300 ลิตรปีละ 42,120 บาท ประพันธ์แจ้งต่อศาลว่าคิดค่าน้ำมันลิตรละ
11.70 บาท และธนาคารจะเป็นผู้เติมให้ประพันธ์ใช้ในการปฏิบัติงานใน 1 เดือน
แต่ในเดือนไหนถ้าเบิกเกินบ้างนิดหน่อยก็ยังเติมได้ ถ้าหากเดือนไหนใช้น้ำมันไม่ถึง
300 ลิตร เช่นใช้ไปเพียง 200 ลิตร ก็จะได้แค่ 200 ลิตรตามความเป็นจริง ธนาคารระบุว่า
ตามรายการนี้เป็นจำนวนวัสดุหรือน้ำมันที่ใช้ในการปฏิบัติงานเมื่อใช้รถประจำตำแหน่ง
ถ้าใช้รถน้อยจำนวนน้ำมันก็ลดลง ถ้าใช้มากก็มีจำนวนสูงขึ้นและมีสิทธิเบิกส่วนที่เพิ่ม
และไม่มีสิทธินำน้ำมันนี้ไปขาย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าค่าน้ำมันรถตามรายการนี้ซ้ำซ้อนกับค่าน้ำมันรถเดือนละ
1,200 บาท ที่ธนาคารจ่ายให้แก่ประพันธ์ไปแล้ว และถึงแม้จะมีการจ่ายให้ก็มิใช่มีจำนวนที่แน่นอน
ธนาคารมิได้เหมาจ่ายให้เป็นจำนวนที่แน่นอนจึงมิใช่เงินค่าจ้าง
6. ค่าภาษีเงินได้ที่ธนาคารออกให้ปีละ 97,791 บาท ประพันธ์ยืนยันว่าเป็นรายได้ประจำที่ธนาคารจ่ายให้อีกเช่นกัน
ข้างฝ่ายธนาคารก็ว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินภาษีในตอนสิ้นปีที่ส่งไปยังกรมสรรพากรโดยตรงไม่ได้ผ่านประพันธ์
จึงไม่ใช่รายได้ประจำศาลพิเคราะห์ตามเอกสารอันเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่าย มีข้อความที่แสดงว่าเป็นภาษีที่ธนาคารออกให้ จึงเห็นว่าเป็นเงินที่ไม่ได้จ่ายให้ประพันธ์โดยตรง
หากแต่เป็นเงินภาษีที่ธนาคารส่งไปยังกรมสรรพากรเพื่อชำระภาษีให้ มิใช่เงินค่าจ้างอีก
7. ค่ารถประจำตำแหน่งหากเช่าวันละ 1,000 บาท ปีละ 365,000 บาท ประพันธ์บอกว่าเมื่อต้องออกจากงานแล้วก็ทำให้ไม่มีรถยนต์ใช้
ต้องใช้รถของส่วนตัวเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวกับความเดือนร้อน ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเงินประเภทนี้ไม่ใช่รายได้ประจำหากเป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนในการใช้รถ
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง
8. โบนัสเฉลี่ยรายปี ปีละ 60,000 บาท ประพันธ์กล่าวว่า ตนนั้นมีรายได้เป็นโบนัส
5 เท่าซึ่งเป็นเงินที่กรรมการอนุมัติให้กรรมการผู้จัดการนำมาแบ่งและจัดสรรให้เจ้าหน้าที่บริหาร
ประพันธ์ได้รับเงินมาทุกปีแต่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว และเคยได้รับลดลงธนาคารกล่าวว่า
เงินประเภทนี้เป็นเงินที่ธนาคารจัดสรรยอดกำไรจำนวนหนึ่งให้กรรมการผู้จัดการจ่ายให้แก่พนักงานคนใดก็ได้
ไม่ได้จ่ายให้แก่ทุกคนและจ่ายเมื่อถึงงวดปิดบัญชี ศาลพิเคราะห์แล้วว่าไม่ใช่ค่าจ้างประจำ
เพราะฉะนั้นค่าจ้างที่ธนาคารใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินค้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จ่ายให้กับประพันธ์ไปแล้วเป็นเงิน
149,415 บาท จึงถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องคุ้มครองแรงงาน
ศาลวินิจฉัยว่าประพันธ์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากธนาคารอีก
สรุปตามการวินิจฉัยทุกประเด็นของกรณีพิพาทกรณีนี้แล้ว ศาลแรงงานกลางจึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีระหว่างประพันธ์ พุกเจริญกับธนาคารทหารไทยนี้เมื่อวันที่
28 ธันวาคม 2527
ประพันธ์ก็ยื่นอุทธรณ์ทันควัน
โดยเป็นการอุทธรณ์ข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง 23 ข้อ ซึ่งศาลพิเคราะห์คำอุทธรณ์แล้วก็สั่งว่า
อุทธรณ์ตั้งแต่ข้อ 3 ถึง ข้อ 20 เป็นยกข้อเท็จจริงเรื่องที่ประพันธ์อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ศาลถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ข้อ 21 ที่ประพันธ์บอกว่าตนมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดหรือไม่
เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ และอุทธรณ์ข้อ 22 กับข้อ 23 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
จึงให้รับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 21, 22 และข้อ 23 ไว้ดำเนินการต่อไป
วันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ 2528 ประพันธ์ยื่นคำร้อง ระบุว่าอุทธรณ์ข้อ 3
ถึง ข้อ 20 เป็นอุทธรณ์ในปัญหากฎหมายทั้งสิ้นและคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อ
3 ถึงข้อ 20 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องนี้
และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2529 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง
โดยที่อุทธรณ์ของประพันธ์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น