"ผู้จัดการ" เคยเขียนถึง อำนวย วีรวรรณ มาสองครั้ง
ครั้งแรกเป็นเรื่องขึ้นปก "ผู้จัดการ" ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี 2526
ในขณะที่สื่อมวลชนอื่นยังไม่ได้จับตามองคนที่ชื่อ อำนวย วีรวรรณ นี้เลย
ครั้งที่สอง "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 18 ปี 2528 ได้บังอาจจัดตั้งรัฐบาลในฝันขึ้นมาและเราได้มอบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้อำนวย
วีรวรรณ เพราะ "ถ้าพูดถึงบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งผ่านทั้งภาครัฐบาลและเอกชนมาอย่างโชกโชนแล้วก็คงจะหาคนแบบ
ดร.อำนวย วีรวรรณ ได้ยาก อำนวย วีรวรรณ จัดได้ว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยที่มีอยู่ไม่กี่คนในทุกวันนี้
โดยการศึกษาแล้วเขาเรียนมาทางการบริหาร โดยอาชีพการงานแล้ว เขาเป็นคนหนึ่งในการสร้างระบบราชการต่างๆ
ในด้านการคลังของประเทศมาเป็นเวลายี่สิบกว่าปี บทบาทด้านหนึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของชีวิต
คือการเป็นคนที่รับผิดชอบในการสร้างโครงสร้างของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริม
โดยเป็นเลขาธิการ BOI คนแรกๆ จากการที่ได้เริ่มงานในกรมบัญชีกลางและกรมศุลกากร
ในฐานะอธิบดีตลอดจนเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และในที่สุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และในที่สุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำให้อำนวย วีรวรรณ เป็นคนที่เข้าถึงเส้นสนกลในของระบบการเงินการคลังได้อย่างดีเยี่ยม
ตลอดจนโครงสร้างของภาษีที่กำลังฆ่านักธุรกิจและคนระดับกลางอยู่ทุกวันนี้ช่วงหลังของชีวิตเขาได้ข้ามรั้วมาอยู่อีกฟากหนึ่ง
คือภาคเอกชนในบทบาทฐานะของประธานกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน ทำให้อำนวยต้องออกไปนอกประเทศในเรื่องการค้าขายขอบข่ายของสหยูเนี่ยนที่ค้าทั้งในและนอกประเทศ
ทำให้อำนวย วีรวรรณ เข้าใจถึงโครงสร้างปัญหาและอุปสรรคในการค้าขายของธุรกิจ
และในบทบาทของประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ อำนวยก็มานั่งอีกครั้งหนึ่งของวงการธุรกิจคือเป็นผู้จัดสรรเงินและทุนให้กับธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการ
จากบทบาทใหม่อันนี้ทำให้อำนวย วีรวรรณ รู้ลึกลงไปถึงวงจรต่างๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยเรียนรู้เมื่อสมัยที่อยู่ภาครัฐบาลและสมัยที่อยู่ในฐานะพ่อค้าที่ต้องกู้เงิน
การเงินการคลังและการพาณิชย์เป็นของที่อยู่ควบคู่กันไปตลอด เพราะมันเกี่ยวพันถึงการลงทุนการหมุนเวียนของเงินในวงจรธุรกิจการค้า
การเก็บภาษีจากธุรกิจการค้ามาใช้จ่ายและการกู้เงินเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้การผลิตดีขึ้นและเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น
ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนี้จึงเหมาะกับคนที่ชื่อ "อำนวย
วีรวรรณ ที่สุด" (จากหน้า 60-61 และ 62 "ผู้จัดการ" ฉบับที่
18 )
อำนวย วีรวรรณ กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ได้สร้างตำนานให้กับตนเองอย่างมากมายตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ
อยู่ที่จบปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแล้วกลับมาทำงานในกระทรวงการคลัง
และความจริงแล้วถ้าไม่ใช่เพราะจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ปรารภกับหลวงวิจิตรวาทการว่าต้องการคนหนุ่มมาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ
และถ้าไม่ใช่เพราะหลวงวิจิตรวาทการเป็นคนเสนออำนวย ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองอยู่กรมบัญชีกลางแล้ว
ป่านนี้วิถีชีวิตของอำนวยคงจะหันเหไปอีกแนวทางหนึ่งแน่
จากนั้น อำนวย วีรวรรณ ก็กลายเป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(BOI)
ในที่สุดตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นตำแหน่งที่ปูพื้นให้อำนวยได้กระโดดเข้าพบปะบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ
นักการธนาคาร ทั้งระดับในประเทศและนอกประเทศ
"ผมเริ่มทำงานกับอำนวยมาตั้งแต่สมัยผมยังเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพที่นิวยอร์ก
และอำนวยอยู่บีโอไอ เราต้องติดต่อประสานงานกันตลอดมา" พร สิทธิอำนวย
พูดถึงสายสัมพันธ์ที่เขามีกับอำนวย วีรวรรณ ให้ผู้ใกล้ชิดฟัง "อำนวยเป็นคนเก่ง
ถ้าวงการราชการไทยมีคนคุณภาพแบบเขาสักเพียง 25% ประเทศชาติก็จะเจริญกว่านี้"
พรสรุปถึงอำนวยให้ฟัง
และก็เป็นที่บีโอไอนี่แหละ จากการกล้าตัดสินใจและการกล้าบริหารงานของเขา
เป็นเหตุให้เรื่องที่บีโอไอสมัยเขากลายมาเป็นหอกที่ศัตรูทางการเมืองเอามาแอบแทงเข้าข้างหลัง
จนกระทั่งรัฐบาลชุดธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มีคำสั่งให้เขาออกไปจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
และผู้ที่แอบแทงเขาข้างหลังผู้หนึ่งก็คือผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาในกรมศุลกากรนั่นเอง
ซึ่งในตอนหลังเมื่ออำนวยได้รับการเชื้อเชิญจากพรรคกิจสังคมให้เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมศุลกากรผู้นั้นถึงกับขอลาป่วยเป็นเวลา 1 เดือนทันที
ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีและเมื่อครบกำหนดวันเวลาก็ยื่นใบลาออกจากราชการไป
อำนวยใช้เวลาอยู่ที่บีโอไอประมาณ 4 ปี เศษ ก็ขอลาออกไปอยู่องค์การภูมิภาคเอเชีย
แปซิฟิก และภายหลังกลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังอีกประมาณ 1 ปึ ถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมศุลกากรใน
พ.ศ.2516 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
อำนวย วีรวรรณ ในขณะนั้นอายุเพิ่งจะ 42 ปี และอาวุโสในกระทรวงการคลังก็ยังน้อยกว่าข้าราชการอีกหลายคน
โอกาสที่จะได้เป็นปลัดกระทรวงดูเหมือนว่าจะมีแต่ขวากหนามและดูเป็นไปไม่ได้
แต่วิถีทางราชการของอำนวยดูเหมือนจะเปลี่ยนไปกะทันหันในต้นปี 2518 เมื่อรัฐบาลชุด
18 เสียงของกิจสังคม ที่มีบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาบริหารประเทศ
บุญชูไม่ต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ เพราะบุญชูเองก็ไม่มีเวลามาก เขาต้องการปลัดที่ทันสมัยเข้าใจความคิดของเขาได้
และสามารถดำเนินนโยบายที่เขาต้องการได้อย่างรวดเร็วฉับไว ที่สำคัญที่สุดปลัดคนนี้ต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ
พร้อมที่จะรับงานที่ท้าทายจากบุญชูได้
และในกระทรวงการคลังระดับอธิบดีก็มีแค่จำนวนคนเดียว อีกประการหนึ่งฝีไม้ลายมือของอำนวย
บุญชูเองก็รับรู้มาแล้ว
ในที่สุดอำนวยได้เป็นปลัดกระทรวงการคลังในเดือนเมษายน พ.ศ.2518 เมื่ออายุเพียง
43 ปีเท่านั้นเอง
การแต่งตั้งครั้งนั้นเป็นการพลิกโฉมหน้าของกระทรวงการคลังตั้งแต่นั้นมา
เพราะอำนวยเองเมื่อมาเป็นปลัดกระทรวงก็เป็นผู้ใช้ปรัชญาของการใช้คนหนุ่มมีความสามารถทำงานแทนการใช้ระบบอาวุโส
ระดับอธิบดีในกระทรวงการคลังในทุกวันนี้จะมีอายุกันไม่มากนักและผลพวงอันนี้ก็มาจากความคิดและแนวปรัชญาการใช้คนของอำนวย
ในช่วงการทำงานกับบุญชูนั้น อำนวยได้แสดงความสามารถหลายอย่างเต็มที่และบุญชูโชคดีที่ได้อำนวยมาเป็นตัวประสานแนวความคิดและแนวปฏิบัติ
ระหว่างรัฐมนตรีที่ต้องการทำงานให้สะดวกและรวดเร็ว เหมือนสมัยบุญชูอยู่ธนาคารกรุงเทพกับข้าราชการที่มีระบบและความอืดอาดล่าช้าบวกกับการตามไม่ทันความคิดของผู้ร่างนโยบาย
พอจะพูดได้ว่า ในช่วงนั้นกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่มีการเคลื่อนไหวและปรับปรุงภายในอย่างมากที่สุด
จากการที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับบุญชูมากเป็นพิเศษ และจากการที่ได้รู้จักสนิทสนมกับพรรคพวกในกลุ่มของบุญชูมาก่อนตั้งแต่สมัยอยู่ที่บีโอไอ
อำนวยเลยกลายเป็นคนของบุญชูไปโดยปริยายและนี่ก็เป็นดาบอีกคมหนึ่งซึ่งฟันใส่อำนวย
เมื่อธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มาเป็นนายกฯ ในปี 2519-2520
ในขณะที่ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นภาวการณ์ของการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตา
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวกโดนเพ่งเล็งอย่างหนักด้วยความสงสัยจะเป็นพวกที่หาทางล้มล้างรัฐบาลชุดธานินทร์
และการเพ่งเล็งมากเช่นนี้ ก็มีส่วนผลักดันให้บุญชูกลับเข้าทำงานธนาคารกรุงเทพอีกครั้งหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงกับการถูกสงสัยว่าอยู่เฉยๆ
จะทำอะไรกัน?
ส่วนอำนวยนั้นก็พลอยโดนหางเครื่องด้วย ในฐานะที่สนิทกับบุญชู โดยโดนเรื่องภาษีของบริษัทสยามคราฟท์ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการวินิจฉัยปัญหาตามปกติของคณะกรรมการบีโอไอ
เป็นครั้งแรกที่ดูเหมือนว่าอนาคตของอำนวยแทบจะดับวูบ เมื่อคำสั่งให้ออกจากราชการออกมา
แต่อำนวยก็สู้ต่อไปเพื่อหาความยุติธรรม หนึ่งในวิธีการคือการเขียนหนังสือชื่อ
"พ้นพงหนาม" ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ และเขาจำหน่ายงานโดยยกรายได้ทุกบาททุกสตางค์จากการขายให้กับเด็กกำพร้าบ้านราชวิถี
และมูลนิธิปัญญาอ่อน
วินาทีแรกที่อำนวยว่างงานมีบริษัทหลายแห่งพยายามติดต่ออำนวยให้ไปทำงานด้วย
สองในหลายแห่งนั้นคือ พี เอส เอ และโรงกลั่นน้ำมันไทย
พร สิทธิอำนวย พยายามดึงเอาอำนวย วีรวรรณ และอานันท์ ปันยารชุน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถูกหางไต้ฝุ่นของธานินทร์
กรัยวิเชียร เช่นกันให้ไปทำงานด้วย แต่อำนวยตัดสินใจที่จะไปสหยูเนี่ยนของดำหริ
ดารกานนท์
"อำนวยเป็นคนเก่ง ดำหริเขาเป็นเพื่อนอำนวยมานานแล้ว เขาเข้ามาเอาวิธีการใหม่ๆ
มาทำให้บริษัทไปได้ดี" เทียม โชควัฒนา เคยพูดถึงอำนวยให้ฟัง
ยุคนั้นอำนวยหันหลังให้กับอดีตทางราชการอย่างเด็ดขาด จะยุ่งเกี่ยวก็เฉพาะโอกาสที่จะทำให้ตัวเองบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาเท่านั้น
และในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่อำนวย เริ่มกลับเข้ามาใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพอย่างเป็นกิจจะลักษณะนอกเหนือจากการที่รู้กันดีพอสมควรแล้วแต่มาครั้งนี้อำนวยไม่มีตำแหน่งทางราชการที่เป็นเครื่องกีดขวางกัน
"ความจริงแล้วตระกูลวีรวรรณเป็นตระกูลที่ทำการค้ามาตั้งแต่สมัยก่อนนานแล้ว
และรู้จักใกล้ชิดกับคุณชิน โสภณพนิช อย่างดี" พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์
ผู้อำนวยการนิตยสารข่าวจัตุรัสเล่าให้ฟังเพิ่มเติม
อำนวยในปีนั้นเป็นช่วงที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพมากขึ้น เพราะสหยูเนี่ยนเป็นลูกค้าใหญ่รายหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ
สายสัมพันธ์ของอำนวยนอกจากทางบุญชูแล้ว กับชาตรี โสภณพนิช ก็สนิทสนมกัน
ถึงแม้ว่าข่าวคราว และภาพของอำนวยกับชาตรีไม่ค่อยปรากฏให้สาธารณะเห็นเท่าใดนัก
ในช่วงนั้น
"คุณชาตรีเคารพในฝีมือคุณอำนวยมาก และการเกี่ยวพันของคนสองคนนี้ มีผู้ร่วมงานอยู่ตรงกลางคือ
คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการบริหารของสินเอเซีย ซึ่งเป็นบริษัทของคุณชาตรี"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สินเอเซียกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"คุณชาตรีเขาเคยชวนผมไปเป็นประธานของสินเอเซีย แต่ผมบอกว่า ร่วมกันทำดีกว่า
เพราะอย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า สินเอเซียยังเป็นของคุณชาตรีอยู่
เขาก็คงจะต้องเป็นคนตัดสินใจ" อำนวยพูดให้ฟัง
สหยูเนี่ยนในช่วงของอำนวย วีรวรรณ เป็นสหยูเนี่ยนที่เริ่มหันออกไปค้าขายต่างประเทศมากขึ้น
เท็กซปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนล คือเทรดดิ้งคัมปะนีที่อำนวยตั้งขึ้น โดยมีนักธุรกิจที่มีชื่อเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
ในช่วงนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์พยายามดึงตัวบุญชูให้เข้ามาร่วมรัฐบาลโดยเก็บเอาตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไว้ให้
แต่คงจะเป็นเพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่ถูกชะตากับเกรียงศักดิ์ และในคำพูดของบุญชูที่ว่า
"ผมอยากจะให้คุณเกรียงศักดิ์พิสูจน์อะไรลงไปสักสองสามอย่างก่อนผมถึงจะเข้าไปร่วม"
สองสามอย่างของบุญชูนั้นมีอยู่อย่างคือ การที่เกรียงศักดิ์จะต้องเคลียร์ข้อกล่าวหาที่อำนวยถูกกลั่นแกล้งสมัยธานินทร์เป็นนายกฯ
ในที่สุดอำนวยก็ได้รับการเคลียร์จาก ก.พ.ว่า ไม่ผิดซึ่งหลายฝ่ายก็คิดว่าอำนวยคงจะหันกลับเข้าไปรับราชการอีก
แต่อำนวยได้ลั่นวาจาไว้แล้วว่า จะไม่กลับไปสู่ระบบที่เขาได้อุทิศทุกอย่างเพื่อประเทศชาติแต่กลับได้การกลั่นแกล้งเป็นเครื่องตอบแทน
และจะเป็นเพราะเกรียงศักดิ์ไม่ได้แสดงความจริงใจออกมาให้บุญชูเห็นอีกสองอย่างบุญชูก็เลยไม่ได้เข้าไปร่วม
หรือคงจะเป็นเพราะว่า บุญชูเริ่มเห็นแววของทหารม้าจากโคราชว่า ท่าทางจะมาแทนเกรียงศักดิ์ได้
ก็เลยตัดสินใจรอ
ซึ่งก็สมใจบุญชู เมื่อได้รับเชื้อเชิญจากรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้นไม่ต้องไปหาเพราะบุญชูมองไม่เห็นใครนอกจากอำนวย
และก็ไม่มีใครคัดค้าน แม้กระทั่งคนกิจสังคมเองถึงไม่ชอบให้คนนอกเข้ามา แต่กับตำแหน่งนี้ของอำนวยแล้วไม่มีใครส่งเสียง
การกลับเข้ากระทรวงการคลังอีกครั้งเหมือนกลับบ้านเก่า การกลับมาครั้งนี้
ทำให้ข้าราชการกระทรวงการคลังถึงกับพูดกันไม่หยุด อย่างน้อยก็มีข้าราชการระดับสูงของกรมศุลกากรคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการกล่าวหาอำนวยในสมัยธานินทร์ถึงกับตัดสินใจลาออกจากราชการทันทีหลังจากลาป่วย
เมื่อทราบข่าวว่าอำนวยจะกลับมาอีก"
"ท่านไม่ได้คิดถึงคนนั้นเลย และท่านก็ไม่เคยพูดถึง ท่านเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่อธิบดีหรือปลัดที่จะไปล้างแค้นแกล้งคนระดับกรม"
ผู้ใกล้ชิดอำนวยพูดให้ฟัง
รัฐบาลชุดเปรม 1 เป็นรัฐบาลชุดที่ต้องหาเงินเข้าประเทศเป็นอย่างมาก เพราะบุญชูต้องการใช้เงินและใช้เงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนและทำให้การค้าคึกคัก
เมื่อบุญชูต้องการใช้เงิน อำนวยก็ต้องเป็นคนหาเงิน
การหาเงินของอำนวยให้เข้ารัฐเป็นการหาเงินที่ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
ไม่เกรงคนใกล้ชิดบุญชู ไม่เกรงคนใกล้ชิดคึกฤทธิ์
อำนวยเป็นคนให้ขึ้นภาษีเบียร์และน้ำอัดลม เหตุผลของอำนวยจะผิดในปีสองปีแรกที่บริษัทน้ำอัดลมเริ่มจะขาดทุน
แต่เป็นการขาดทุนกำไรสะสม แต่เริ่มปีสามพวกเครื่องดื่มต่างๆ ก็มีกำไรกลับไปเหมือนเดิม
และก็เริ่มดีขึ้นกว่าเดิม
การขึ้นภาษีน้ำอัดลมคราวนั้นบางคนให้ข้อสังเกตว่า เป็นการไม่ไว้หน้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช ซึ่งมีหุ้นอยู่ในเป๊ปซี่ และพงส์ สารสิน ซึ่งเป็นเจ้าของโคล่าและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินของกิจสังคมอย่างแรง
อำนวยเป็นคนที่มีจิตวิทยาสูงและเป็นนักบริหารเต็มตัว เมื่อสมัยรัฐบาลเปรม
1 มีเพียงอำนวยคนเดียวในกลุ่มบุญชูที่ไม่โดนสื่อมวลชนแตะต้องเลยแม้แต่น้อย
ทั้งๆ ที่ตามใจ ขำภโต วิสิษฐ์ ตันสัจจา และบุญชู ดรจนเสถียร โดนโจมตีเสียน่วมไปเลย
ในความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับอำนวยนั้นถึงแม้ว่าจะรู้จักและใกล้ชิดสนิทสนมกัน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอำนวยเป็นคนของบุญชู เพราะอำนวยเองได้เกิดขึ้นมาในวงการเพราะ
บุญครอง วงศ์สวรรค์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพจน์ สารสิน บุญชูเพียงแต่เห็นความสามารถและต้องการใช้อำนวยเท่านั้น
ในขณะที่ทุกๆ เสาร์-อาทิตย์ บ้านพักที่หัวหินของบุญชูมีแต่คนของบุญชูไปห้อมล้อมและสังสรรค์กัน
แต่ในที่นั้นมักจะไม่มีอำนวยอยู่ด้วย
"ท่านเป็นคนทำงานตรง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านถามคุณบุญชูว่า เรื่องค้าขายของเถื่อนของเสี่ยจิวนี้จะเอายังไง
เพราะท่านเตรียมตัวจะให้กรมศุลกากรกวาดล้าง แต่คุณบุญชูบอกว่า ปล่อยเรื่องของเสี่ยจิวให้คุณบุญชูจัดการเองก็แล้วกัน"
ผู้ใกล้ชิดอำนวยในกรมศุลกากรเผยกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อกิจสังคมออกจากเปรม 1 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อำนวยตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะหวนกลับมาวงการธุรกิจอย่างเต็มตัวหลังจากโดนสหยูเนี่ยนแอบต่อว่าอย่างน้อยใจ
และในระยะที่อำนวยไปเป็นรัฐมนตรี บริษัทเท็กซปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก
เพราะการดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่ออำนวยกลับเข้ามาก็ต้องเข้ามาสะสางปัญหาต่างๆ
ยังผลให้มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารงานบางคน
ในช่วงที่สองที่อำนวยกลับเข้ามาสหยูเนี่ยนก็เป็นช่วงของการทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพ
เพราะเป็นระยะที่บริษัทสหยูเนี่ยนได้เข้าไปช่วยรับภาระของไทยเกรียงอุตสาหกรรมสิ่งทอ
และช่วยให้ไทยเกรียงพ้นภาวะล้มละลายไปได้
การกลับเข้ามาครั้งนี้ อำนวยได้รับการทาบทามจากชาตรี และชิน โสภณพนิช ถึงการเข้ามาสู่ธนาคารกรุงเทพ
แต่อำนวยไม่ยอมเข้ามาเต็มตัว เพราะมีข้อผูกพันทางใจกับสหยูเนียนอยู่มาก จึงขอเข้ามาทีละขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่เข้ามาอยู่เป็นกรรมการก่อนและภายหลังถึงได้มีการเพิ่มภาระหน้าที่ให้อำนวยดังที่ทราบกันอยู่
ก่อนหน้านั้นอำนวยเองได้รับการทาบทามจากบุญชูและตระกูลมหาดำรงค์กุลให้เข้ามาบริหารงานธนาคารนครหลวงไทย
แต่อำนวยปฏิเสธ เขาให้เหตุผลในการปฏิเสธว่า เป็นเพราะว่าเป็นงานที่ต้องอุทิศตนให้เต็มเวลา
แต่เขาไม่สามารถทิ้งสหยูเนี่ยนได้ แต่แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดระบุว่า "คุณอำนวยไม่ไปนครหลวงฯ
เป็นเพราะนครหลวงฯ ดูจริงๆ แล้วยังเล็กกว่าสหยูเนี่ยนกับบริษัทในเครือทั้งหมด
อีกประการหนึ่งคุณอำนวยไม่คิดและไม่ต้องการจะไปปฏิบัติงานในองค์กรที่ไม่ใช่กิจการของมหาชน"
ซึ่งการตัดสินใจของอำนวยก็ไม่ได้ผิดพลาดเลยแม้แต่นิดเดียว
เมื่ออำนวยเข้าไปธนาคารกรุงเทพครั้งแรกนั้น ตัวเขาเองก็ไม่ได้ต้องการจะเข้าไปเต็มตัว
เพียงแค่มาในฐานที่ปรึกษาครึ่งเวลาเท่านั้น แต่ชาตรีและนายห้างชิน โสภณพนิช
อยากจะให้เข้ามาเต็มตัว
"ผมไม่อยากจะเข้าไปเต็มที่เพราะการที่คนใหม่เข้าไปนั้น แน่นอนที่สุดก็จะต้องมีการ
Upset Balance ต่างๆ ที่เคยมีมาก่อน แต่ก็ต้องเข้าไปตามที่ถูกร้องขอมาจากคุณชาตรี
และคุณชิน" อำนวย วีรวรรณ เคยพูดกับ "ผู้จัดการ"
ต้นปี 2527 เป็นปีที่อำนวย วีรวรรณ ได้เข้ามาที่ธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัว
แต่ถึงแม้จะเพิ่งเข้ามาอย่างเต็มตัวในต้นปี 2527 อำนวย วีรวรรณ ได้ช่วยวางนโยบายของปี
2527 เอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2526
"ดร.อำนวยได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการชะลอสินเชื่อ และสร้างคุณภาพให้กับธนาคารกรุงเทพ
ท่านเป็นคนบอกและวางนโยบายว่าธนาคารกรุงเทพไม่ควรจะไปเน้นในเรื่องความใหญ่
แต่ควรจะเน้นในเรื่องคุณภาพจะดีกว่า" ชาตรี โสภณพนิช ย้ำข้อเท็จจริงให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
เหมือนกับว่าธนาคารกรุงเทพจะรู้ตัวว่าในปี 2527 นั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองถึงต้องเอาอำนวย
วีรวรรณ เข้ามาขัดตาทัพไว้ทันที
"คุณชาตรีต้องดึงเอา ดร.อำนวยเข้ามาเสริมเพราะความใหญ่ของธนาคารกรุงเทพนั้นมันใหญ่เกินกว่าคณะผู้บริหารงานที่มีอยู่จะแผ่บารมีคลุมไปถึง"
คนระดับอธิบดีในกระทรวงการคลังพูดให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในการเข้ามาของ อำนวย วีรวรรณ ในปลายปี 2526 ต่อต้นปี 2527 นั้น เข้ามาในจังหวะที่ธนาคารกรุงเทพกำลังมีปัญหาเรื่องภาพพจน์อย่างที่สุด
ธุรกิจที่ฮ่องกงล้มกันระเนระนาด รวมทั้งไฟแนนซ์เมืองไทยก็พังกันแบบวินาศสันตะโร
และธนาคารกรุงเทพก็โดนข่าวลือสะพัดไปถึงขั้นว่ากำลังจะล้ม
เหตุการณ์ในกลางปี 2527 ครั้งนั้นเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดของธนาคารกรุงเทพก็ว่าได้
และอำนวย วีรวรรณ คือหัวหอกในการเดินเรื่องแก้เกมให้กับธนาคารกรุงเทพอย่างสุขุมรอบคอบ
ทุกอย่างคลี่คลายไปด้วยดี (อ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 11 เดือนกรกฎาคม
2527)
บทบาทของอำนวย วีรวรรณ ในการเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารนั้น
เป็นบทบาทที่ตัวเองอึดอัดมากที่สุดเพราะ ""การที่ผมเข้ามานี้มีคนตั้งความหวังว่า
ผมจะต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปหมด ซึ่งไม่จริงเพราะรากฐานของคนทำงานที่นี่จะอยู่กันมานานแล้ว
การเปลี่ยนอะไรนั้นมันต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องทำในลักษณะที่ออมชอมให้ทุกฝ่ายเห็นว่า
เรามีเป้าหมายเดียวกัน"" อำนวยเคยพูดให้ผู้เขียนฟังในช่วงแรกที่เริ่มเข้าไปนั่งทำงาน
การเข้าไปของอำนวย วีรวรรณ นั้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีปฏิกิริยาไม่พอใจอยู่บางส่วน
ผู้บริหารบางคนก็อาจจะเก็บความไม่พอใจเอาไว้โดยไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย
"มันเป็นของธรรมดาขององค์กรที่เมื่อมีการนำคนข้างนอกเข้ามา คนข้างในก็ต้องมีปฏิกิริยา
โดยเฉพาะองค์กรอย่างธนาคารกรุงเทพ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่จะเป็นลูกหม้อที่ทำงานมานานแล้วเป็นสิบๆ
ปี"" อาจารย์ทางด้านพฤติกรรมองค์กร (Organization Behavior) ที่ธรรมศาสตร์พูดหลักการให้ฟัง
ก็คงเป็นด้วยเหตุนี้ อำนวย วีรวรรณ ก็คิดว่าบทบาทประธานกรรมการบริหารของตนนั้น
น่าจะเป็นบทบาทที่ต้องพยายามทำตัวให้ Low Profile ที่สุดภายในองค์กร และพยายามให้ทุกคนเห็นว่าตนเองนั้นเข้ามาเพื่อช่วยสร้างทุกอย่างให้ดีขึ้น
แต่บางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนที่ไม่รู้จริงต้องเข้าใจผิด เช่นกรณีความขัดแย้งของโชติ
โสภณพนิช กับชาตรี โสภณพนิช ซึ่งเป็นผลทำให้โชติต้องยื่นใบลาออกไปครั้งหนึ่ง
คนภายนอกอาจจะเข้าใจว่าโชติออกเพราะไม่พอใจที่อำนวยมาดึงเอางานทางด้านต่างประเทศต่างประเทศไปคุม
"โชติกับผมเป็นพี่น้องกัน สมัยก่อนการทำงานมีอะไรก็ถึงพ่อ (ชิน) พอมาตอนหลังต้องมาถึงผม
ก็เลยต้องมีการปรับวิธีการทำงานกันใหม่ แต่ ดร.อำนวยท่านเป็นคนดีมาก ช่วยประสานและแก้ปัญหาความขัดแย้งอันนี้ได้ดีที่สุด
คนข้างนอกไม่รู้หรอก" ชาตรีพูดกับ "ผู้จัดการ""
อำนวย วีรวรรณ เป็นคนหนึ่งที่โชติให้ความไว้วางใจมากและมักจะเข้ามาปรึกษาเมื่อมีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง
ในข้อเท็จจริงแล้วอำนวยคุมสายทางด้านต่างประเทศและวาณิชธนกิจอยู่ ในเวลานั้นโชติ
โสภณพนิช อยากลาออกเพราะไม่มีงานที่มอบให้รับผิดชอบ ซึ่งอำนวยเองคิดว่าโชติเป็นคนเก่งไม่อยากให้ออก
ก็บอกชาตรีว่าให้แบ่งงานของเขาเองให้โชติไป ชาตรีมอบงานสายวาณิชธนกิจให้ไป
ซึ่งโชติก็ยังเห็นว่าน้อยไป ด้วยความที่อำนวยเองก็ไม่ต้องการมานั่งทางด้าน
Operation เท่าใดนัก และก็ต้องการให้โชติอยู่ธนาคารกรุงเทพต่อ ก็เลยขอให้ชาตรีมอบสายต่างประเทศให้โชติด้วย
เมื่อรูปแบบการจัดตั้งออกมาเป็นแบบนี้ก็กลายเป็นว่า อำนวย วีรวรรณ ถูกลดอำนาจไป"ท่านประธาน
(อำนวย) เป็นคนเสนอให้โชติรับงานสายต่างประเทศกับวาณิชธนกิจเอง ผมอยากให้ท่านมีบทบาทมากขึ้น
แต่ท่านกลับอยากจะทำด้านนโยบายและการพัฒนามากกว่า" ชาตรีพูดกับ"ผู้จัดการ""
ถึงเรื่องนี้
จริงๆ แล้วการกำหนดทิศทางของธนาคารนั้นอำนวยเป็นคนได้มีบทบาทอย่างสูงมาก
และนอกจากนั้นอำนวยเองยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้ธนาคารกรุงเทพหลุดพ้นจากการขาดทุนถึง
2,400 ล้านบาทในปี 2527
"ในปี 2527 หลังจากที่คุณอำนวยได้กำหนดทิศทางให้ธนาคารกรุงเทพลดการขยายตัวและให้เพิ่มคุณภาพนั้น
เป็นช่วงที่เงินบาทกำลังประสบภาวะวิกฤติมาก"" เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารเท้าความเรื่องเก่าๆ
ให้ฟัง
ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทในปี 2527 นั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารชาติกำลังหนักอกเพราะ
demand ของเงินดอลลาร์นั้นมีมากกว่า supply
"เงินดอลลาร์นี่คนที่จะ supply ให้ได้คือผู้ส่งออกเท่านั้นและช่วงนั้นได้มีการ
speculate กันแล้ว ทุกคนก็พากันเก็บดอลลาร์ไว้หมด โดยไม่ยอมขายเมื่อตลาดมี
speculation กันสูง เงินก็หายไปหมด ปัญหาใหญ่ของธนาคารชาติก็คือว่าจะหาดอลลาร์ที่ไหนเข้ามาเพื่อจ่ายหนี้หรือขายให้
Importer ที่ต้องจ่ายเงินออกไปให้เจ้าหนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก""
เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติผู้หนึ่งอธิบายเหตุการณ์ในช่วงนั้นให้ทราบ
ในเวลานั้นอัตราค่า forward ประมาณ 22-25 สตางค์ต่อหนึ่งดอลลาร์ซึ่งสูงอย่างน่ากลัว
และคงจะมีคนรู้กันไม่มากว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในปี 2526 และต้นปี
2527 ได้ขายดอลลาร์ล่วงหน้า (oversold) ไปเป็นจำนวนมหาศาล
เฉพาะทางธนาคารกรุงเทพเองก็ oversold ไปประมาณ 600 กว่าล้านเหรียญ! ถ้ารัฐบาลลดค่าเงินบาททันทีในเวลานั้นดอลลาร์ละ
4 บาท ธนาคารกรุงเทพก็จะขาดทุนทันที 2,400 ล้านบาท!
อำนวย วีรวรรณ ตระหนักถึงปัญหานี้ ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเริ่มวางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหานี้ทันที
ทีมของอำนวย วีรวรรณ มี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นหัวหอกได้คิดดึงเอาระบบการใช้
packing credit เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาดอลลาร์ขาดตลาด
อำนวย วีรวรรณ เอาข้อเสนอนี้ไปจับเข่าคุยกับนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าธนาคารชาติในขณะนั้น
ซึ่งก็เห็นด้วยกับวิธีการ เพราะจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาการลดค่าเงินตราจากแรงผลักดันของ
speculation จึงกำหนดไปให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชนไปหารายละเอียดและวิธีการทำงานกัน
""packing credit ในเวลานั้นได้ผลมาก เพราะผู้ส่งออกสามารถเลือกเอา
order ต่างประเทศมา pack กับธนาคารชาติโดยผ่านธนาคารพาณิชย์แล้วได้เงินไปในอัตราดอกเบี้ยเพียง
7% ในขณะที่ prime rate ประมาณ 17% ผู้ส่งออกเห็นประโยชน์ตัวนี้ก็เลยยอมเอา
order ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมาขายล่วงหน้าให้ตามระเบียบ"" เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติคนเดิมเล่าให้ฟัง
packing credit ที่อำนวย วีรวรรณ และดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เสนอแนะให้ใช้เป็นกลไกครั้งนี้ได้ผลทันตาเห็น
เพียงแค่ 3 อาทิตย์แรกที่นโยบายนี้ได้ถูกนำมาใช้ forward rate ลดลงมาเหลือเพียงแค่
7 สตางค์
""ผู้จัดการ"" พยายามถามเรื่องนี้ไปกับอำนวย วีรวรรณ แต่ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ
เพียงแต่กล่าวว่า "ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ staff แบงก์กรุงเทพได้ร่วมกันทำงานชิ้นนี้
ไม่ใช่เพราะผมคนเดียวหรอก" แต่ที่แน่ๆ อำนวย วีรวรรณได้ประหยัดเงินธนาคารกรุงเทพไป
2,400 ล้านบาทแล้ว!
บทบาทหนึ่งของอำนวย วีรวรรณที่ทำมาตลอดในฐานะที่เป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์คือ
การเป็นตัวแทนของธนาคารออกไปพบปะและสร้างสัมพันธ์กับโลกภายนอก
""วงการธนาคารบ้านเราแคบ พอออกไปต่างประเทศแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร?
และในโลกธุรกิจทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยและฉับไวมากนั้น การเปิดตัวออกไปสู่โลกภายนอกเป็นสิ่งที่จำเป็น""
นักธุรกิจในด้านพืชไร่เล่าให้ฟัง ""ผมค้าขายกับต่างประเทศมาตลอด ผมรู้ว่าธนาคารเราเป็นอย่างไร
และยิ่งบทบาทของนายธนาคารที่ต่างชาติจะรู้จักและยอมรับกันนั้นเห็นจะมีแต่ดร.อำนวย
วีรวรรณ เท่านั้นที่เขารู้จักกันอย่างกว้างขวาง"" นักธุรกิจส่งออกคนเก่าพูดต่อ
ในแง่แห่งความเป็นจริงแล้วกลับเป็นเรื่องจำเป็นมากที่ธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งช่วยสนับสนุนการส่งออกมากที่สุด ต้องมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องเปิดตัวและทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักและให้ต่างประเทศยอมรับ
เพราะการเป็นนายธนาคารที่ดีนั้นก็ต้องทำหน้าที่เป็นคนช่วยลูกค้าหาตลาดต่างประเทศด้วย
"ผมไม่รู้ว่าคนในธนาคารเขาจะคิดกับดร.อำนวยเช่นไรนะ? แต่ผมเองคิดว่าธนาคารกรุงเทพโชคดีมากที่ได้ดร.อำนวยไปทำหน้าที่นี้ด้วย
ต้องถือว่าเขาเป็น Asset ของธนาคาร ผมเชื่อว่าธนาคารอื่นก็คงอยากทำ แต่หาคน
Calibre แบบนี้คงหายาก" นักธุรกิจส่งออกคนเก่าพูดต่อ
บทบาทของอำนวย วีรวรรณ ในการเข้าไร่วมกิจกรรมในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทขนาดใหญ่ในโลกนี้มีอยู่มาก
คงจะเป็นนักบริหารของคนไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรติให้เป็นที่ปรึกษาสำคัญของบริษัทที่ทำตั้งแต่เครื่องยนต์ไอพ่น
แทรกเตอร์ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตหนังสือ เช่น McGraw Hill หรือแม้กระทั่งบริษัทที่ผลิตเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของโลก
เช่น AT & T การไปเป็นที่ปรึกษานั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ไปพบเสวนาฟังข้อคิดเห็นจากจากคนระดับประธานกรรมการของกิจการขนาดใหญ่ๆ
ทั่วโลก เช่น
- James E. Olson ประธานกรรมการบริษัท AT & T
- Harry J. Gray ประธานบริษัท United Technologies
- Lee L. Morgan ประธานบริษัท Caterpillar Traetor
- Dr. Alfred Herrhausen ประธานกรรมการของ Deutsche Bank AG ของเยอรมนี
- Sir Kenneth Durham ประธานกรรมการบริษัท ยูนิลีเวอร์ ของอังกฤษ
- Giovanni Agneli ประธานบริษัทรถยนต์เฟี้ยต ของอิตาลี
- Alexander M. Haig Jr. อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ
- Dr. Wisse Dekker ประธานกรรมการบริษัท ฟิลิปส์ ของเนเธอร์แลนด์ นักธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียที่อำนวย
วีรวรรณ ต้องพบปะและสัมพันธ์ด้วย ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทเหล่านี้ ก็มี อาทิ
- Washington Sycip เจ้าของสำนักตรวจสอบบัญชี SGV Group
- YoshiZo Ikeda อดีตประธาน Mitsui Group
- Sir Yue Kong Pao เจ้าของสายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- Ichiro Hattori ประธานบริษัทไซโก จำกัด
- Woo Choong Kim ประธานกรรมการ Daewoo Group ของเกาหลี ฯลฯ การประชุมในฐานะที่ปรึกษานั้นก็สุดแล้วแต่วาระ
ซึ่งเจ้าภาพก็จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้หมดในฐานะแขกวีไอพี ทั้งตั๋วเครื่องบิน
ตลอดจนดูแลรับรองเรื่องค่าใช้จ่ายและที่พักอาศัย
บางครั้งอำนวย วีรวรรณ ก็จะถือโอกาสเดินทางต่อไป เพื่อดูแลและติดต่อกิจการต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อธนาคาร
ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ค่าใช้จ่ายในช่วงนั้นธนาคารกรุงเทพก็ต้องเป็นผู้จ่าย
กรณีนี้ได้มีการโจมตีอำนวยในการใช้เงินของธนาคารเพื่อเดินทางไปประชุมกับบริษัทต่างๆ
ที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษา ตลอดจนการพูดถึงอำนวย วีรวรรณ ใช้จ่ายเดินทางอย่างฟุ่มเฟือย
โดยมีการเช่าเครื่องบินและเช่ารถยนต์ "ผู้จัดการ"ได้สอบถามไปยังฝ่ายงบประมาณของธนาคารซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
"ท่านประธานจะเบิกก็เฉพาะช่วงการเดินทางไปเยี่ยมสาขาต่างประเทศเพื่อติดต่อธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อธนาคารเท่านั้น
ส่วนการเช่าเครื่องบินนั้นก็ไม่มี แต่เช่ารถนั้นมีบ้างเพราะเป็นของปกติ แม้แต่คุณชิน
คุณบุญชู คุณชาตรี ไปต่างประเทศก็ใช้วิธีการเช่ารถ ถ้าไปประชุมธนาคารโลก
หรือไปนิวยอร์กซึ่งสาขาธนาคารไม่มีรถใช้ และไม่มีคนขับ เพราะใช้วิธีเช่าเขาถูกกว่า"
เจ้าหน้าที่ควบคุมด้านงบประมาณของธนาคาร พูดกับ "ผู้จัดการ"
"ผู้บริหารธนาคารทุกคนตั้งแต่ระดับประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ลงมา
จะมีงบประมาณค่าใช้จ่ายเดินทาง และค่าใช้จ่ายรับรองอนุมัติไว้ให้เป็นรายบุคคล
จะจ่ายเกินหรือจ่ายฟุ่มเฟือยไม่เข้าหลักเกณฑ์ไม่ได้อยู่แล้ว ประธานกรรมการบริหารเองจะประหยัดในเรื่องเหล่านี้
และมักจะเดินทางโดยเครื่องบิน Business Class ของการบินไทย ซึ่งถูกกว่า ถ้าบินอยู่ในภูมิภาคนี้"
เจ้าหน้าที่งบประมาณคนเดิมอธิบายหลักเกณฑ์ให้ฟัง
จากบทบาทที่อำนวย วีรวรรณ ต้องการจะ low profile ในแง่โครงสร้างผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพและจากการเป็นคนกลางประนีประนอมให้โชติ
โสภณพนิช ได้งานสำคัญไปทำเพราะอำนวยต้องการให้โชติอยู่ในธนาคารต่อไป ทำให้มีคนเข้าใจไปว่า
อำนวย วีรวรรณ ถูกลดบทบาทและกำลังถูกชาตรีบีบ
"คนอย่างดร.อำนวย ถ้าธนาคารไม่เอาไว้ก็บ้าแล้ว คนมีความรู้ความสามารถอย่างท่านใครๆ
ก็อยากได้ ผมเป็นคนขอให้ท่านแสดงตัวในด้านอำนาจในการบริหารในฐานะท่านประธานกรรมการบริหาร
แต่ท่านกลับไม่ใช้ คนมันพูดกันเสียหายไปหมด เรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายเหมือนกัน
คนไม่รู้เรื่องก็เข้าใจว่าฝ่ายบริหารใช้กันเยอะ ที่จริงแล้วแผนกอื่นๆ ก็มักจะปัดค่าใช้จ่ายมาให้ฝ่ายบริหาร
เช่น ฝ่ายต่างประเทศจัดเลี้ยงในงานของเขา แต่เกิดเชิญผมหรือท่านประธานไปเป็นเจ้าภาพของงาน
เขาก็โอนค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาให้ผม หรือท่านประธานทั้งๆ ที่ไม่ใช่งานของผม""
ชาตรีเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างหงุดหงิดพอสมควรในเรื่องนี้
"งบประมาณเดินทางท่านประธานมีอยู่ปีละประมาณ 1 ล้านบาท แต่ในปี 2529
นี้จนถึงสิ้นสุดสิงหาคม ท่านเพิ่งใช้ไปแค่แสนกว่าบาทเท่านั้นเอง" เจ้าหน้าที่งบประมาณคนเดิมเล่าให้ฟัง
อำนวย วีรวรรณ ในปี 2529 นี้เป็นปีที่บางคนเข้าใจว่าถูกผู้บริหารคนหนึ่งที่สูญเสียอำนาจโจมตี
โดยสร้างความเข้าใจผิดหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่แรงงานบางคน
ข้อหาที่โจมตีก็คือการใช้จ่ายค่าเดินทางอย่างฟุ่มเฟือย ในขณะที่ธนาคารกำลังมีรายได้ลด
ตลอดจนส่งเสริม ไชย ณ ศิลวันต์ ซึ่งเป็นบุตรเขยให้ก้าวหน้าในตำแหน่งงานอย่างเร็วผิดปกติ
"เรื่องทั้งหมดนี้เขาไม่เข้าใจกัน ท่านประธานไม่ได้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนอย่างที่ผมชี้แจงไปแล้ว
ส่วนเรื่อง ไชย ณ ศีลวันต์ นั้นเขาเป็นคนเก่งและผมเป็นคนเสนอให้เขาเป็น AVP
เอง"ชาตรี พูดให้ฟัง
คงจะมีน้อยคนที่รู้ว่า ในการที่ธนาคารมีรายได้ลดลงมากจนเป็นผลให้โบนัสของพนักงานระดับสูงลดลงนั้น
อำนวยเป็นคนพิจารณาไม่ให้ลดโบนัสของพนักงานชั้นผู้น้อยจนถึงชั้นโท
"โบนัสของคุณชาตรีก็ยอมลดลงมาอย่างมาก และของดร.อำนวยก็ลดของตัวเองลงมาอย่างมากเช่นกัน
แต่ท่านไม่เคยบอกให้ใครรู้" คนใกล้ชิดอำนวย วีรวรรณ เล่าให้ฟัง
แต่เรื่องการโจมตีนั้นไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับอำนวย วีรวรรณ หรอกเพราะข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องไม่มีข้อเท็จจริงและเป็นการชกใต้เข็มขัด
โดยป้อนความเท็จให้เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน
สำหรับอำนวยแล้ว วิถีชีวิตเกือบทำให้เขาต้องกลับเข้าไปวงการราชการอีกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
"คุณเปรมเชิญผมไปปรึกษาว่า คุณอำนวยเป็นคนเช่นไรและเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไหม?
ผมก็บอกท่านนายกฯ ว่าคุณอำนวยเขาเหมาะสมที่สุด และก็จะไม่มีใครเหมาะเท่าเขา"
บุญชู โรจนเสถียร เล่าให้ผู้เขียนฟังในโต๊ะอาหารค่ำคืนวันที่ 8 สิงหาคม ที่โรงแรมอิมพีเรียล
"ผมคิดว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ผมมีชื่อในการพิจารณาของท่านนายกฯ
แต่ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ ไปว่าผมอาจจะยังไม่พร้อม และอีกประการหนึ่ง ผมคิดว่ายังมีคนที่มีความสามารถอีกหลายท่านที่ไม่มีข้อผูกพันกับหน่วยงานใดที่อาจจะพร้อมที่จะรับงานได้ทันที"
อำนวย วีรวรรณ ตอบคำถามผู้เขียน
อำนวย วีรวรรณ จะตัดสินใจถูกหรือผิดก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ชิน โสภณพนิช
กล่าวขอบคุณคุณอำนวยที่ไม่ทิ้งธนาคารไป
"องค์กรทุกองค์กรจะต้องมีทิศทาง และจะต้องมีคนคอยกำหนดทิศทางขององค์กรนั้น
ธนาคารกรุงเทพก็เช่นกัน หน้าที่กำหนดทิศทางนั้นก็เป็นตำแหน่งของประธานกรรมการบริหาร
ซึ่งดร.อำนวย วีรวรรณ ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ทิศทางที่จะกำหนดนั้นมันมาได้หลายทาง
เช่น มาจากการวิจัย จากหลักเศรษฐศาสตร์ จากความสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
จากความรู้และประสบการณ์ ทั้งหมดนี้ดร.อำนวยเขาเป็นคนที่พร้อมที่สุดและเหมาะที่สุด
สมัยก่อนธนาคารกรุงเทพรู้แต่ว่าจะค้าขายอย่างเดียว จะโตอย่างเดียวแต่ดร.อำนวยเขาเข้ามากำหนดว่าหยุดโตแล้ว
หันมาหาคุณภาพกันเสีย และนี่เป็นบทบาทที่ดร.อำนวยในฐานะประธานกรรมการบริหารได้กระทำอย่างถูกต้องที่สุด
คือเป็นคนกำหนดนโยบายให้ข้างล่างปฏิบัติตามกัน" อาจารย์สอนนโยบายธุรกิจโครงการ
MBA ภาคค่ำของธรรมศาสตร์อรรถาธิบายให้เราฟัง
บางครั้งบทบาทของการกำหนดทิศทางนั้นเป็นบทบาทที่อาจจะไม่ได้ปรากฏออกไปสู่สาธารณชน
เพราะเป็นเรื่องภายในองค์กร และในบางกรณีก็เป็นความลับขององค์กรด้วย ด้วยเหตุนี้อำนวยจึงถูกมองโดยสายตาข้างนอกว่า
ไม่มีบทบาทมาก
"ธนาคารกรุงเทพถ้าใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของคุณอำนวยแล้วก็ควรจะใช้ให้เต็มที่เสียตอนนี้
เพราะคุณค่าของคนคนนี้มีมากกว่าที่จะมานั่งอยู่ที่ธนาคารแห่งนี้อีกหลายร้อยเท่า
ชาติบ้านเมืองในภาวการณ์ของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ ผมดูแล้วหาคนที่มีคุณสมบัติอย่างคุณอำนวยที่จะเข้าใจความต้องการของภาคเอกชน
เข้าใจระบบราชการไทย และรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและธุรกิจโลกได้ยาก
และคนอย่างคุณอำนวยคือคนที่ประเทศต้องการมาก" นายพลเอกของกองทัพบกที่สำคัญมากคนหนึ่งพูดกับ
""ผู้จัดการ""
วันนั้นจะมาถึงเมื่อไร "ผู้จัดการ" ไม่ทราบ ทราบแต่ว่า ถ้าวันนั้นมาถึง
ตำแหน่งนั้นก็คงจะต้องใหญ่ รัฐมนตรีคลังอย่างแน่นอนที่สุด! แล้วคอยดูคำทำนายของ
"ผู้จัดการ"ต่อไปก็แล้วกัน