ตั้งแต่เปิดสำนักงานขึ้นที่กรุงเทพฯ วันแรกจนถึงปี 2529 นี้ เจแปนแอร์ไลน์ดำเนินธุรกิจการบินในประเทศไทยมาได้
30 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงจะพบอุปสรรคบ้าง มีปัญหาบ้าง แต่เจเอแอลก็ได้พัฒนาและขยายขอบข่ายงานให้ก้าวหน้าและกว้างขวางยิ่งขึ้นเสมอมา...จนถึงวันนี้ถ้าเจเอแอลเป็นนกกระเรียนจริง
ก็คงจะเป็นนกที่ยิ่งบินยิ่งสูง ....แต่ไม่รู้ว่ายิ่งสูง ยิ่งหนาวหรือเปล่า!
มิทราบได้
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เจเอแอลจัดแถลงข่าวครบรอบ 30 ปี ที่ดำเนินธุรกิจการบินในเมืองไทยที่ดุสิตธานีมีผู้บริหารระดับสูงมานั่งแถลงข่าวเพียบ
ตามด้วยการโชว์ตัวแอร์โฮสเตสสาวไทย 4 คนแรกในรอบ 30 ปี (ความจริงน่าจะมีก่อนหน้านี้นานแล้ว)
ซึ่งทางเจเอแอลเรียกอย่างสวยหรูว่า "คณะฑูตสันถวไมตรี" จะคอยให้บริการต้อนรับแบบไทย
ๆ แก่ผู้โดยสารในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-โตเกียว โตเกียว-กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนกันยา-ตุลานี้
นอกจากนั้นก็มีการร่ายยาวกิจกรรมและสาธารณะประโยชน์ที่ทางเจเอแอลได้ทำมาตลอด
30 ปี "....เจเอแอลได้ให้ทุนนักศึกษาไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้มีนักศึกษาจากประเทศไทยไปศึกษาแล้วกว่า
60 คน...มีการส่งเสริมสนันสนุนโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น..."
ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของเจเอแอลกล่าวถึงกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
แต่สำหรับในโลกธุรกิจแล้วคงจะไม่มีอะไรที่ราบรื่นตลอดไปเจเอแอลก็เช่นกันไม่แคล้วที่จะต้องเจอหลุมอากาศทางการตลาดเหมือน
ๆ กับสายการบินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขายตั๋วตัดราคา, ปัญหายอดขายตก
เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ
"เมื่อ 3-4 ปีก่อนลดค่าเงินบาท ช่วงนั้นเศรษฐกิจดีเราขายดีมาก พอลดค่าเงินเศรษฐกิจก็ทรุดลง
ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การขายตั๋วลดลงมาก เพราะการขายตั๋วส่วนใหญ่ปีหนึ่ง
ๆ ได้จากการจัดรายการสมนาคุณของของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เช่น บริษัทขายรถยนต์
บริษัทขายเครื่องไฟฟ้า ปีหนึ่ง ๆ ถ้าเอเย่นต์ขายได้มากก็ให้รางวัลจัดไปทัวร์ปีละ2-3
ครั้ง แต่พอเศรษฐกิจแย่ เขาก็อาจจัดน้อยลงอาจปีละครั้ง หรืออาจจัด 2-3 ครั้ง
แต่ละจำนวนที่นั่งลง เช่นกรุ๊ปหนึ่งเคยจัด 60-70 คนก็ลดลงเหลือ 25 คน ซึ่งอันนี้ทำให้เราขายตั๋วได้น้อยลง"
ประธาน พงศ์ศิวาภัย ผู้จัดการแผนกขายตั๋วผู้โดยสารกล่าวถึงปัญหาที่สายการบินต้องประสบ
"นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาขายตั๋วตัดราคากัน เพราะสายการบินมีเพิ่มอยู่ตลอดเวลา
และยังเอาจัมโบ้ซึ่งจุคนได้ 300-400 ที่นั่งมาบินแข่งกันอีก ต่างคนก็อยากขายที่นั่งก็ต้องตัดราคากันและบางสายการบินที่มีตารางเวลาไม่ค่อยดีนัก
เช่น จังหวะบินดึกไปหรือเช้าไป มีเที่ยวบินน้อยกว่าสายการบินอื่น ๆ ก็พยายามขายตั๋วให้ราคาต่ำกว่าคู่แข่ง
เรื่องนี้ทางสายการบินต่าง ๆ ก็ได้รวมตัวกันเพื่อควบคุมไม่ให้มีการขายตัดราคา
โดยจ้างบริษัทกลางเพื่อคอยตรวจสอบ หากพบผู้ฝ่าฝืนจะปรับอย่างรุนแรง แต่ก็ยังจับได้เสมอ"
ถ้าจะมีปัญหาไม่ว่ามากหรือน้อย สำหรับเจเอแอลเมื่อบินมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องบินต่อไปกิจกรรมและกลยุทธ์ต่าง
ๆ ที่จะเพิ่มยอดขายก็งัดออกมาใช้ โดยเฉพาะช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีนี้กับต้นปี
2530 ซึ่งตรงกับปีแห่งการท่องเที่ยวในประเทศไทยทางเจเอแอลได้จัดให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองไทยโดยใช้งบประมาณ
16 ล้านบาท ออกโฆษณาทางโทรทัศน์จัดทำโปสเตอร์ โบรชัวร์ ฯลฯ เผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น
เพื่อชักชวนชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทย
"…ถึงประเทศไทยจะขาดดุลญี่ปุ่นมาก แต่ผมคิดว่าการที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยจะช่วยลดการขาดดุลได้บ้าง...ในปี
2528 มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 221,500 คน ผมคิดว่าในช่วงการส่งเสริมของเจเอแอลจะทำให้ชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นประมาณ
10% ประธาน พงศ์ศิวาภัย กล่าวอย่างมั่นใจก่อนจะจบการแถลงข่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขา
"ผู้จัดการ" ดีใจด้วยที่ 30 ปีของเจเอแอลเป็น 30 ปีแห่งความสำเร็จและ
30 ปีแห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการโปรโมทให้ชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น
ซึ่งก็คงจะเป็นอย่างที่ผู้บริหารเจเอแอลพูดในวันแถลงข่าวว่าพอจะช่วยลดดุลการค้าได้บ้าง
ก็น่าเสียดายที่ในวันนั้นไม่มีคนของเจเอแอลสักคนบอกได้ว่า "คนไทยแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละเท่าไร"